ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 October 2024 00:13
- Hits: 2131
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ สธ. เสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต การนำเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้ง การควบคุมกำกับดูแลและการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. ผู้มีสิทธิขออนุญาต |
||
1.1 วัตถุประสงค์ในการขออนุญาต |
● การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติด ● การวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ |
|
1.2 คุณสมบัติผู้ขออนุญาต |
● เป็นหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานในกำกับของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ● เป็นสภากาชาดไทย ● เป็นสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ● เป็นผู้รับอนุญาตด้านยา ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง หรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือผู้รับอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้อง ● เป็นผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ |
|
2. กระบวนการขออนุญาต |
||
2.1 การยื่นคำขออนุญาต |
การยื่นคำขออนุญาตจะใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานที่แตกต่างกันไปตามประเภทของบุคคลที่เป็นผู้ขอรับใบอนุญาต โดยให้ดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก |
|
2.2 ระยะเวลาการพิจารณาคำขออนุญาต |
● ให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระ ● ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้อนุญาตแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต เมื่อผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตให้ผู้ขออนุญาต ● ในกรณีที่ผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต พร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ |
|
3. สิทธิและหน้าที่ของผู้รับอนุญาต |
||
3.1 การขอใบแทนใบอนุญาตและการแก้ไขรายการในใบอนุญาต |
● ในกรณีที่ใบอนุญาตผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 สูญหาย ถูกทำลาย หรือเสียหายในสาระสำคัญให้ผู้รับอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตตามแบบคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ● ผู้รับอนุญาตประสงค์จะแก้ไขรายการในใบอนุญาตให้ยื่นคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้น พร้อมด้วยข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาต |
|
3.2 หน้าที่ของผู้รับอนุญาต |
● นำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ในแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออก ● ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เฉพาะสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น ● จัดให้มีการเก็บวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 แยกจากยาหรือวัตถุอื่น ● จัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 สูญหายหรือมีการนำไปใช้โดยมิชอบ ● แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาต หากประสงค์จะทำลายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ซึ่งคงเหลือจากการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาต ● จัดให้มีการทำบัญชีรับจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามที่ได้รับอนุญาตโดยต้องเก็บรักษาบัญชีไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาในขณะเปิดดำเนินการ ● เสนอรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อผู้อนุญาตเป็นรายเดือนภายในระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันสิ้นเดือน ● จัดให้มีฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 |
|
4. อัตราค่าธรรมเนียม |
||
● กำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังนี้ (1) ใบอนุญาตผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 10,000 บาท (2) ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 10,000 บาท (3) ใบอนุญาตส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 1,000 บาท (4) ใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 1,000 บาท (5) ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 500 บาท (6) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราววัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ฉบับละ 500 บาท (7) การต่ออายุใบอนุญาต ฉบับละ กึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น ● กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีผู้ขออนุญาตเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย องค์การมหาชน และหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข |
||
5. บทเฉพาะกาล | ||
● กำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวงเดิมใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่กฎกระทรวงนี้ มีผลใช้บังคับ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 8 ตุลาคม 2567
10268