หนังสือสัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit): GIZ)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 October 2024 16:37
- Hits: 1704
หนังสือสัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit): GIZ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหนังสือสัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit): GIZ) และอนุมัติให้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาดังกล่าว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. กรมอุตุนิยมวิทยา โดยศูนย์ภูมิอากาศ ได้เห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนางานและบุคลากรของหน่วยงาน จึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการตามที่ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวข้างต้น ในหัวข้อ เรื่อง “Urban-Act Project Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon & Resilient” เพื่อขอรับทุนกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Integrated Urban Climate Action for low carbon and resilient cities: Urban-Act) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและยกมาตรฐานการให้บริการด้านภูมิอากาศในระดับสากลตามกรอบการดำเนินงาน การให้บริการด้านภูมิอากาศแห่งชาติ (National Frameworks for Climate Services: NFCS) ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก รวมถึงเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือที่ทันสมัยให้กับบุคลากร และเพิ่มศักยภาพให้กับการปฏิบัติงานด้านภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สามารถให้บริการข้อมูลและสารสนเทศภูมิอากาศเชิงพื้นที่รายละเอียดสูงกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ พลังงาน การท่องเที่ยว การเกษตร การคมนาคม และสาธารณสุขนำไปประยุกต์ใช้ช่วยในการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการที่เหมาะสมลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ข้อเสนอโครงการฯ ดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันและตามข้อกำหนดของการรับทุน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องลงนามในหนังสือสัญญาการให้ทุน (Grant Agreement with non-German recipients) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน
2. สาระสำคัญของสัญญาการรับทุน “โครงการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้”
โครงการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) ได้รับทุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The German Federal Ministry for Economic Affairs and Climate Action: BMWK) โดยผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการทางการเงินและการจัดการโครงการ โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของเมือง โดยมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้แนวทางของโครงการ National Framework for Climate Services (NFCS) เพื่อให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
ประโยชน์และผลกระทบ เช่น
1. การดำเนินการภายใต้สัญญาการรับทุนพัฒนางานด้านภูมิอากาศฯ จะไม่มีผลผูกพันที่จะเกิดขึ้นต่อรัฐบาลไทย และผลกระทบของเรื่องต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
2. โครงการ “TMD - Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon and Resilient Cities” ที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้จะเป็นการถอดบทเรียน (Lesson Learned) การให้บริการสารสนเทศภูมิอากาศภาคเมืองเพื่อการวางแผนโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ (Urban climate services for evidence-based planning) ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและยกมาตรฐานการให้บริการด้านภูมิอากาศในระดับสากลตามกรอบการดำเนินงาน NFCS ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่มุ่งเน้นการให้บริการข้อมูล และสารสนเทศภูมิอากาศเชิงพื้นที่รายละเอียดสูงให้ตรงกับความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง อาทิ การบริหารจัดการน้ำ พลังงาน การท่องเที่ยว การเกษตร การคมนาคม และสาธารณสุข รวมถึงรองรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) เป้าหมายที่ 13 คือ “ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น” และเป้าหมายที่ 11 คือ “ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน” เนื่องจากองค์ความรู้และเครื่องมือต่างๆ ที่ได้จากโครงการนี้จะช่วยให้กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถนำไปศึกษาวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้าระยะนาน (แบบรายปี กึ่งทศวรรษ และรายทศวรรษ ฯลฯ) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศให้กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ช่วยในการตัดสินใจ วางแผนบริหารจัดการที่เหมาะสม สร้างความตระหนักรู้ เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 8 ตุลาคม 2567
10283