การลงนามร่างหนังสือให้คำมั่น (Letter of Commitment) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Infor
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 October 2024 17:22
- Hits: 1212
การลงนามร่างหนังสือให้คำมั่น (Letter of Commitment) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information pursuant to the Crypto-Asset Reporting Framework: CARF MCAA)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบเพื่อให้คำมั่นและอนุมัติให้มีการลงนามร่างหนังสือให้คำมั่น (Letter of Commitment) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information pursuant to the Crypto-Asset Reporting Framework: CARF MCAA) (ร่างหนังสือให้คำมั่น CARF MCAA) และจะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลแบบอัตโนมัติ (CARF) ภายในปี 2571 โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กค. โดยกรมสรรพากรดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างหนังสือให้คำมั่น CARF MCAA
สาระสำคัญของเรื่อง
1. หลักการของร่างหนังสือให้คำมั่น CARF MCAA จะเป็นการกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าและธุรกรรมที่เกิดขึ้น ต้องเก็บรวบรวม ตรวจสอบและรายงานข้อมูลดังกล่าวต่อ กค. (กรมสรรพากร) (รายละเอียดขอบเขตของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลดังกล่าว ขอบเขตของข้อมูลสินทรัพย์ที่ต้องรายงาน วิธีการตรวจสอบและการรายงานข้อมูลปรากฏตามข้อ 4.) ซึ่งประเทศไทยจะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งแรกแบบอัตโนมัติเป็นรายปีกับภาคีคู่สัญญาภายในปี 2571 เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมการด้านกฎหมายและระบบงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การส่งหนังสือให้คำมั่นดังกล่าวภายใน 31 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยจะไม่ถูกระบุชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือทางภาษีไปยังกลุ่มประเทศ G20 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของประเทศไทย โดย กค. มีหนังสือสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน กลต.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวพิจารณาแล้วไม่มีขัดข้องตามที่ กค. เสนอ
2. ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Forum (ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 สิงหาคม 2559) ประเทศไทยต้องดำเนินการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสทางภาษีของประเทศไทย โดยต้องขยายเครือข่ายภาคีคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติเป็นไปตามมาตรฐานที่ OECD และ Global Forum กำหนด ปัจจุบันประเทศไทยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบรายปีกับภาคีคู่สัญญาแบบส่งและรับข้อมูลแบบต่างตอบแทน (Reciprocal) ที่เรียกว่า Common Reporting Standard (CRS) โดยเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2566
3. ในปี 2565 Global Forum ได้พัฒนากรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (CARF) ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประเทศ G20 ที่มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงทางภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุมเนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถถือครองได้โดยไม่มีตัวกลางทำให้เสี่ยงต่อการถูกใช้หลบเลี่ยงภาษีและซ่อนทรัพย์สินในต่างประเทศ ดังนั้น กรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (CARF) จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐบาล รวมถึงช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
4. หลักการของกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (CARF) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานจะต้องเก็บรวบรวม ตรวจสอบ และรายงานข้อมูลบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าและธุรกรรมที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานภาษี (กรมสรรพากร) ตามที่กฎหมายภายในประเทศกำหนด ซึ่งจะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติเป็นรายปีกับภาคีคู่สัญญา โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
ขอบเขตผู้มีหน้าที่รายงาน |
● ผู้มีหน้าที่รายงาน หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลใดที่เป็นผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto-Asset Service Providers: CASPs) ให้บริการแลกเปลี่ยน โอน เก็บรักษา หรือซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น นายหน้า (Brokers) หรือผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็มคริปโต (Crypto-Asset ATMs) รวมถึงผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับสกุลเงินในตลาดการเงิน เป็นต้น ● บุคคลที่ต้องถูกรายงาน หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีบัญชีผู้ใช้บริการหรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และมีถิ่นที่อยู่ในภาคีคู่สัญญาตามความตกลง CARF MCAA |
|
ขอบเขตของสินทรัพย์ |
● สินทรัพย์ที่ต้องถูกรายงาน หมายถึง สินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยของบัญชีโดยการเข้ารหัส สามารถถือครองและโอนได้ในลักษณะกระจายศูนย์ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางทางการเงินแบบดั้งเดิม ● ประเภทธุรกรรมที่ต้องรายงาน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสกุลเงินในตลาดการเงิน (Exchange between Crypto-Assets and Fiat Currencies) การแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange between Crypto-Assets) และการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล (Transfers of Crypto-Assets) |
|
วิธีการตรวจสอบและ การรายงานข้อมูล |
● หลักเกณฑ์การตรวจสอบถิ่นที่อยู่ของบุคคลที่ต้องถูกรายงาน (Due Diligence) ให้ใช้กระบวนการตรวจสอบตามที่กรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (CARF) กำหนดสำหรับบัญชีที่มีอยู่และบัญชีใหม่ โดยใช้หลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการยืนยันตัวตนและถิ่นที่อยู่ของผู้ใช้บริการ ● ข้อมูลที่ต้องรายงาน ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ เช่น ชื่อ ที่อยู่ ถิ่นที่อยู่ และหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการ เช่น ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขประจำตัวของผู้ให้บริการ และข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรม เช่น ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ต้องรายงาน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 22 ตุลาคม 2567
10610