สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 57 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 October 2024 18:02
- Hits: 1208
สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 57 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 57 (การประชุมฯ) และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องติดตามผลการประชุมฯ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กต. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมฯ เช่น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา 11 ประเทศ/องค์กรการประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก รวม 17 รายการ วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
ภาพรวม |
1) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทย ภายใต้หัวข้อหลักของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ในปี 2567 “อาเซียน: เพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็ง” เช่น การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนในทุกมิติ การส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นมากขึ้น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ เช่น ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 57 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหราชอาณาจักร: การเสริมสร้างความเชื่อมโยงเพื่ออนาคตที่เจริญรุ่งเรืองและยั่งยืน ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน –จีนว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อ มนุษยธรรมซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารดังกล่าวแล้ว 2) ประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกได้เน้นย้ำความสำคัญของระบบพหุภาคีที่ตั้งบนพื้นฐานของกฎกติกาของภูมิภาค แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความร่วมมือกับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และยืนยันการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน |
|
ประเด็นที่ไทยผลักดัน |
1) การส่งเสริมการหารือที่ครอบคลุมเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และการดำเนินความร่วมมือตามเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งไทยได้ยืนยันความพร้อมในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ สปป.ลาว 2) การเพิ่มความเชื่อมโยงทั้งทางดิจิทัลผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสนับสนุนให้อาเซียนขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 4 ของโลกภายในปี 2573 รวมทั้งการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและขยายเวลาพำนักโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราในประเทศอาเซียน เพื่อให้การเดินทางระหว่างกันในอาเซียนคล่องตัว และส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้นต่อไป 3) การส่งเสริมวาระความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยเน้นเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน พลังงานสะอาด ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร 4) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ยาเสพติด อาชญากรรมทางไซเบอร์ การหลอกลวงทางออนไลน์ และการค้ามนุษย์ 5) การผลักดันความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาในสาขาที่แต่ละประเทศคู่เจรจามีความเชี่ยวชาญ เช่น (1) การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา (2) ความร่วมมือด้านซอฟต์พาวเวอร์กับสาธารณรัฐเกาหลี (3) การแบ่งปันองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรกับนิวซีแลนด์ และ (4) การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับสหพันธรัฐรัสเซีย |
|
สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ |
1) สถานการณ์ในเมียนมา: ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ* เพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพในเมียนมาต่อไป ในโอกาสนี้ ไทยได้ประกาศการมอบเงินอุดหนุน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติเพื่อต่อยอดข้อริเริ่มด้านมนุษยธรรมของไทย 2) สถานการณ์ในตะวันออกกลาง: ที่ประชุมฯ แสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อวิกฤติด้านมนุษยธรรมในกาซา โดยหลายประเทศรวมถึงไทยได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทุกคน ซึ่งรวมถึงคนไทย 6 คน โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข |
ในการนี้ กต. จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องติดตามและดำเนินการตามผลการประชุมฯ ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเจรจาจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการเร่งรัดการเจรจาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประกอบร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอให้ผู้นำรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46
2. ประโยชน์ที่ไทยได้รับ: การประชุมฯ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นโอกาสสำหรับไทยในการส่งเสริมความร่วมมือและต่อยอดการดำเนินการในด้านต่างๆ ทั้งกับประเทศสมาชิกอาเซียน คู่เจรจา และภาคีภายนอกของอาเซียน รวมทั้ง ยังเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือในประเด็น ต่างๆ เช่น การเสริมสร้างความเชื่อมโยง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสีเขียว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายเพิ่มเติมต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
_______________________________
หมายเหตุ: *ฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ 1) จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที 2) การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติ 3) ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจา 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ และ 5) ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 22 ตุลาคม 2567
10615