การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 October 2024 00:47
- Hits: 1517
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024)
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024 : ISWF 2024) (การประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรีฯ) ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานในสังกัด กษ. คือ สํานักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและสนับสนุนงบประมาณที่เกี่ยวข้อง โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยงานในสังกัด กษ. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
การประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรีฯ ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2567 กรุงเทพมหานคร มีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
(1) เสริมสร้างความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการดินและน้ำที่ยั่งยืนอย่างบูรณาการซึ่งเป็นรากฐานของการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหาร (2) นําเสนอประสบการณ์และความสําเร็จทั้งด้านเทคโนโลยี สถาบัน ธรรมาภิบาล สังคม และนวัตกรรมด้านการจัดการความขาดแคลนน้ำและความเสื่อมโทรมของดิน (3) การบูรณาการการจัดการดินและน้ำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นบริบทโลกที่มีความท้าทายในปัจจุบัน (4) เป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการดําเนินการร่วมกัน |
|
หน่วยงานเจ้าภาพร่วม |
(1) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) (2) กษ. ได้แก่ สํานักงานปลัด กษ. กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวง และการบินเกษตร และสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
|
หัวข้อการประชุม |
(1) หัวข้อหลัก คือ การจัดการทรัพยากรดิน และน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร อย่างยั่งยืน (Managing Water Scarcity and Reversing Land and Soil Degradation for Sustainable and Resilient Agrifood Systems) (2) หัวข้อย่อย ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการการขาดแคลนน้ำ (Managing Water Scarcity) 2) การจัดการการพังทลายของดิน (Managing Soil Erosion) 3) การพลิกฟื้นการเสื่อมโทรมของที่ดินและการส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ (Reversing Land Degradation, Restoring the Ecosystem) และ 4) การจัดการดินและน้ำที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilient Soil and Water Management) |
|
รูปแบบการประชุม |
ประกอบด้วย (1) การประชุมใหญ่ (Plenary) (2) การประชุมห้องย่อย (Breakout Room) (3) และการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) |
|
ผู้เข้าร่วมการประชุม |
จํานวน 400 คน ประกอบด้วย ผู้นําระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าของแต่ละประเทศ จํานวน 20 คน และเจ้าหน้าที่อาวุโส นักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง จํานวนประมาณ 380 คน |
|
ประโยชน์ |
(1) เป็นการแสดงบทบาทนําด้านการจัดการดินและน้ำของไทยให้นานาประเทศ ได้รับทราบ เพื่อเป็นจุดเริ่มของการต่อยอดความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ระหว่างไทยกับภาคส่วนต่างๆ (2) นักวิชาการของไทยได้นําเสนอผลงานวิชาการด้านการบริหารจัดการดินและน้ำที่ยั่งยืน (3) ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนการดําเนินงาน ด้านการบริหารจัดการดินและน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (4) ได้เครือข่ายนักวิชาการของไทยและต่างชาติในด้านการจัดการดินและนํ้า |
|
กรอบวงเงินค่าใช้จ่าย |
จํานวน 11.04 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยงานในสังกัด กษ. |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 29 ตุลาคม 2567
10769