ร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 November 2024 22:57
- Hits: 1379
ร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษฯ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งโดยอาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ประกอบกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อ จิตและประสาท พ.ศ. 2559 และให้บรรดากฎกระทรวงยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวงมาใช้บังคับ จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงเพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม สำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม สำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2560 รวมทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งกำหนดค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาต ในส่วนที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์
2. ร่างกฎกระทรวงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษฯ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังคงมีหลักการเช่นเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. ยกเลิกบทบัญญัติ |
● ยกเลิกข้อ 2 (14) และ (15) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับใบแทนใบอนุญาตโฆษณา เพื่อการค้าซึ่งยาเสพติดให้โทษ แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 ● ยกเลิกข้อ 3 (1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตโฆษณาเพื่อการค้าซึ่งยาเสพติดให้โทษ ● ยกเลิกข้อ 1 (9) และ (12) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับใบแทนใบอนุญาตโฆษณาวัตถุออกฤทธิ์ และข้อ 2 (1) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตโฆษณาวัตถุออกฤทธิ์ แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2560 |
|
2. คำนิยาม |
● กำหนดนิยามคำว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมาตรา 19 วรรคสอง และคำว่า “องค์กรผู้เชี่ยวชาญ” หมายความว่า องค์กรผู้เชี่ยวชาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมาตรา 19 วรรคสอง |
|
3. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษ |
● กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ฉบับละ 3,000 บาท (อัตราเดิม 3,000 บาท) |
|
4. ค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่น |
4.1 กำหนดค่าธรรมเนียมการขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์กรเอกชน 4.2 กำหนดค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตหรือคำขออื่นๆ เช่น คำขอรับใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ค่าคำขอรับใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษ และค่าคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 4.3 กำหนดค่าธรรมเนียมการประเมินเอกสารทางวิชาการ กรณีส่งให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือองค์กรผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประเมิน 4.4 ค่าธรรมเนียมการตรวจสถานประกอบการ 4.5 ค่าธรรมเนียมการดำเนินการอื่นๆ ได้แก่ (1) ค่าหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และ (2) ค่าพิจารณาวินิจฉัยผลิตภัณฑ์ หรือค่าคำขอรับบริการข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ โดยตอบเป็นหนังสือ |
|
5. หลักเกณฑ์จัดเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีมีหลายคำขอ |
● กรณีที่มีการยื่นคำขอหลายคำขอมาพร้อมกัน ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมในคำขอใดคำขอหนึ่งเต็มจำนวนและจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออื่นในอัตราร้อยละ 25 ของอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ โดยคำขอนั้นมีลักษณะทุกประการดังต่อไปนี้ (1) เป็นการยื่นคำขอเพื่อให้ดำเนินการอย่างเดียวกัน โดยเป็นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับ คำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ คำขอแก้ไขรายการทะเบียนตำรับ หรือคำขอประเมินเอกสารทางวิชาการ แล้วแต่กรณี (2) ต้องมีตัวยาสำคัญและรูปแบบเดียวกันซึ่งตัวยาสำคัญนั้นมีหลายขนาดความแรง โดยมีสัดส่วนของสูตรตัวยาสำคัญและตัวยาไม่สำคัญเดียวกัน และใช้เอกสารกำกับยาร่วมกัน (3) สามารถพิจารณาประเมินไปในคราวเดียวกันได้ |
|
6. กรณีที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม |
● ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีดังต่อไปนี้ (1) การดำเนินการเกี่ยวกับตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นยากำพร้า* หรือยามุ่งเป้าซึ่งได้รับการสนับสนุนเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตามประกาศของสำนักงาน อย. (2) การดำเนินการเกี่ยวกับตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ที่เป็นยาใหม่ซึ่งพัฒนาและผลิตในประเทศตามนโยบายรัฐบาลเพื่อความมั่นคงด้านยา และการเข้าถึงยา (3) การแก้ไขรายการในทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ ตามประกาศ สธ. หรือคำสั่ง สธ. ที่เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัย (4) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลของสถานที่ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยผลของกฎหมายหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้แจ้งหรือสั่งให้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง |
|
7. หน่วยงานและระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม |
● ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ 3 ข้อ 4.2 - ข้อ 4.5 แก่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สภากาชาดไทย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ● ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงนี้แก่หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ● ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญองค์กรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์กรเอกชน ตามข้อ 4.1 เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ |
|
8. การพิจารณาวินิจฉัย การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม |
● กำหนดให้ในกรณีที่มีข้อสงสัยในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงนี้ ให้เลขาธิการ อย. มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย โดยต้องเป็นไปตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับหลักสากล และให้เลขาธิการ อย. ประกาศผลการพิจารณาวินิจฉัย หรือหลักเกณฑ์การพิจารณาที่นำมาวินิจฉัยลงในระบบสารสนเทศของสำนักงาน อย. |
_____________________________________
*ยากำพร้า หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ โดยไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้ และมีปัญหาการขาดแคลน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤศจิกายน 2567
11113