ขออนุมัติทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ในการเปลี่ยนแปลงหน่วยรับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการ ‘สานใจไทย สู่ใจใต้’ จากมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็น มูลนิธิ ‘สานใจไทย สู่ใจใต้’
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 November 2024 23:35
- Hits: 1416
ขออนุมัติทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ในการเปลี่ยนแปลงหน่วยรับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการ ‘สานใจไทย สู่ใจใต้’ จากมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็น มูลนิธิ ‘สานใจไทย สู่ใจใต้’
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากเดิมเห็นชอบในหลักการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” และเห็นชอบให้ ศอ.บต. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินอุดหนุนให้แก่มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ภายในกรอบวงเงิน 11.08 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป เปลี่ยนเป็น เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” และเห็นชอบให้ ศอ.บต. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินอุดหนุนให้แก่มูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ภายในกรอบวงเงิน 11.08 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ และให้ ศอ.บต.รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ศอ.บต. รายงานว่า
1. โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเกิดจากการดำริของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอสงขลา (อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) ในระหว่างปิดภาคเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มิติสังคมพหุวัฒนธรรมต่างพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ของพื้นที่และสังคมประเทศไทย รวมทั้งทำให้เด็กและเยาวชนดังกล่าวสามารถพัฒนาตนเอง ให้เป็นแบบอย่างและประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องการทำงานและการดำรงชีวิตในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งได้รวมตัวกันเป็นสมาคมเยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 และมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.1 สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรม โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้”
1.2 เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้”
1.3 ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นเพื่อสาธารณประโยชน์
1.4 ไม่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ศอ.บต. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อน โครงการฯ ระหว่าง ศอ.บต. กับ มูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เพื่อให้มูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” สามารถพัฒนาศักยภาพของเยาวชนได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2570 รวมเป็นเวลา 3 ปี
2. โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
การดำเนินการ |
กระบวนการทำงานที่สำคัญประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะต้นทาง : การคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15 – 19 ปี มีผลการเรียนคะแนนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป กำลังศึกษาในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกระบบ มีสถานภาพทางครอบครัวยากจนและกำพร้า ขาดโอกาสทางการศึกษาประสบเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 รุ่นต่อปี รุ่นละ 320 คน รวมจำนวน 640 คนต่อปี (ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 42 รุ่น มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ 10,265 คน) เมื่อจบโครงการฯ เยาวชนกลับมายังภูมิลำเนา รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมเยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้ (2) ระยะกลางทาง : ศอ.บต. ร่วมสนับสนุนงบประมาณและร่วมขับเคลื่อนภารกิจ ของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ในการฝึกอบรมและพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนตลอดระยะเวลาของโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพ (3) ระยะปลายทาง : ศอ.บต. สนับสนุนการทำงานด้านการดึงศักยภาพของเยาวชนมาขยายผลโครงการฯ สู่พื้นที่ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสมาคมเยาวชนสานใจไทย สู่ใจใต้ มุ่งเน้นกิจกรรมจิตอาสาทำความดีเพื่อแผ่นดินสร้างความเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายสมาชิกและการขยายเครือข่ายสู่กลุ่มเยาวชนอื่นๆ |
|
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
(1) เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมเกิดเป็นเครือข่ายของเด็กและเยาวชนที่เข้มแข็ง โดยเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนต่างศาสนา ตั้งแต่ปี 2548 – 2567 (รุ่นที่ 1 – 12) จำนวนทั้งสิ้น 10,265 คน (2) เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร่วมโครงการฯ มีความรู้ความเข้าใจด้านทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เกิดเป็นเครือข่ายของเยาวชนที่เข้มแข็ง โดยเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนต่างศาสนาสามารถเป็นแกนนำสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและส่งผลให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (3) มีเด็กและเยาวชน ระดับแกนนำ และเครือข่ายที่สามารถพัฒนากิจกรรมเพื่อการสร้างความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมเป็นผู้นำหรือเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขท่ามกลางสังคม (4) เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับโอกาสทางการศึกษา เช่น ได้รับทุนการศึกษาเล่าเรียนจนจบระดับปริญญาตรี เป็นต้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานที่มั่นคง และจะได้นำโอกาสหวนกลับคืนสู่สังคมส่งต่อโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไปให้ได้มีโอกาสเหมือนเช่นที่ผ่านมา ดังคำของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” จึงเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ ได้เป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถสร้างคนดีกลับคืนสู่สังคม และสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความเข้มแข็งและสันติสุขได้อย่างแท้จริง |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤศจิกายน 2567
11120