การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคม และการพัฒนา สมัยพิเศษ และการประชุมครอบครัวแห่งเอเชีย (Special AFC-AMMSWD Meeting)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 November 2024 23:52
- Hits: 1423
การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคม และการพัฒนา สมัยพิเศษ และการประชุมครอบครัวแห่งเอเชีย (Special AFC-AMMSWD Meeting)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา สมัยพิเศษ เรื่อง “ความร่วมมือเพื่อความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานภาพของครอบครัวในประเทศสมาชิกอาเซียน” (Joint Statement of the Special ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development “Collaboration on Understanding the State of ASEAN Families”) (ร่างถ้อยแถลง ร่วมฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ พม. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสมัยพิเศษ และการประชุมครอบครัวแห่งเอเชีย (Special AFC-AMMSWD Meeting) (การประชุมฯ) ให้การรับรอง (adopt) ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุมฯ ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ จะมีการเสนอร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ เพื่อให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาหรือผู้แทนพิจารณาให้การรับรองโดยไม่มีการลงนาม ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตระหนักรู้ถึงการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในระดับภูมิภาคอาเซียน เช่น ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนให้ประเทศอาเซียนได้ปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ให้มีความเข้าใจต่อความท้าทายที่ครอบครัวอาเซียนกำลังเผชิญ โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวอาเซียนผ่านวิธีการต่างๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวโน้ม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวอาเซียนผ่านการทำแบบสำรวจระหว่างประเทศ (Cross-Country Survey) ภายในเมืองหลวงของประเทศสมาชิกเพื่อสำรวจค่าความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งครอบคลุมความสามารถในการฟื้นตัวและคุณภาพชีวิตของครอบครัวอาเซียน การส่งเสริมการวิจัยที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนนักวิจัยในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะของครอบครัวอาเซียนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ที่จะได้รับ การให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยถือเป็นการย้ำเจตจำนงและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในระดับภูมิภาค ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินความร่วมมือเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวของประเทศสมาชิกอาเซียน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤศจิกายน 2567
11126