รายงานผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 November 2024 23:58
- Hits: 1464
รายงานผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียของรองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ละคณะผู้บริหารระดับสูง พน. ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ
สาระสำคัญ
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 15 - 16 กรกฎาคม 2567 เพื่อหารือกับเจ้าชายอับดุลอะซีซ บิน ซัลมาน อาล ซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานของซาอุดีอาระเบีย และติดตามความคืบหน้าและพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง พน. แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย (บันทึกความเข้าใจฯ) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1.1 ผลการหารือกับซาอุดีอาระเบีย
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
การผลักดันความร่วมมือ |
ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้ามาลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในบริเวณ พื้นที่ภาคใต้ของไทย และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทํางานร่วมกันเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป ในการนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งคณะทํางานร่วมกันเพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เช่น ด้านน้ำมัน ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและไฮโดรเจนสีเขียว ด้านไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด้านคมนาคมขนส่ง |
การรายงานความก้าวหน้าและแนวทางแก้ไข |
ฝ่ายไทยได้รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการดําเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว และแนวทางแก้ไข [เป็นความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) และบริษัท ACWA Power ของซาอุดีอาระเบีย] ว่า ปัจจุบันต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวยังสูงและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่มีแนวทางที่จะลดต้นทุนดังกล่าวได้ กล่าวคือ หากสามารถระบุกลุ่มลูกค้าและเป้าหมายของประเทศที่จะส่งออกก็จะช่วยในการวางแผนการเลือกสถานที่ก่อสร้างที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคใต้ที่สามารถลดต้นทุนบางส่วนได้ และหากเป็นการลงทุนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยลดปัญหาข้อจํากัดของสายส่งและลดต้นทุนลงได้ นอกจากนี้หากบริษัท ACWA Power มีเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยลดต้นทุน ก็จะเป็นการสนับสนุนได้อีกทางหนึ่ง มติที่ประชุม: เห็นพ้องให้มีการจัดตั้งคณะทํางานร่วมกันเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการดําเนินงานร่วมกันต่อไป |
ประเด็นอื่นๆ |
ฝ่ายซาอุดีอาระเบียได้แนะนําบริษัทชั้นนําด้านพลังงานให้แก่ฝ่ายไทย เช่น (1) บริษัท SABIC (Saudi Arabia Basic Industries Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันดิบ และเคมีภัณฑ์และมีนโยบายการพัฒนาไฮโดรเจน (2) บริษัท SEIC (Saudi Egyptian Investment Company) ซึ่งเป็นบริษัทกองทุนที่มีเป้าหมายในการลงทุน ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย เสนอให้ไทยพิจารณานําเข้าน้ำมันดิบเพิ่มเติมจากซาอุดีอาระเบียด้วย |
ทั้งนี้ พน. จะจัดตั้งคณะทํางานตามบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงาน ด้านพลังงานระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย สําหรับดําเนินการ/กิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงาน ให้เกิดผลสําเร็จเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป
1.2 การเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ของซาอุดีอาระเบีย
สถานที่ |
สาระสำคัญ |
การเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ของซาอุดีอาระเบีย |
|
SABIC Home of Innovation |
ได้นําเสนอโครงการบ้านประหยัดพลังงานที่มีการออกแบบบ้าน โดยนําเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมาใช้เพื่อลดความร้อนและลดการใช้พลังงาน เช่น กระจกลดความร้อนและวัสดุที่ทนทาน รวมถึงการนําเทคโนโลยีอัจฉริยะ มาใช้ในการควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การบําบัดและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนเข้ามาดําเนินธุรกิจร่วมกันต่อไป |
บริษัท Saudi Aramco ณ เมืองดาร์ราน |
(1) เยี่ยมชมศูนย์บริหารสั่งการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการผลิต การขนส่ง และการติดตามการขนส่ง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่สามารถรายงานผลได้แบบทันท่วงที (2) เยี่ยมชมศูนย์วิจัยและนวัตกรรมที่มีการนําเทคโนโลยีมาช่วยในการสํารวจ และวางแผน ตลอดจนความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียม เช่น โดรน ทุ่นสํารวจใต้น้ำ หุ่นยนต์ รวมถึงการนําร่องโครงการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 0.8 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ บริษัท Saudi Aramco เล็งเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความสําคัญในการลงทุนด้านพลังงานและการสร้างโรงกลั่น ซึ่งบริษัท Saudi Aramco เล็งเห็นถึงความสําคัญในการต่อยอดการนําน้ำมันดิบไปผลิตเป็นปิโตรเคมี จึงมีความพยายามที่จะหาช่องทางในการพัฒนาความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท Saudi Aramco ได้มีการลงนามร่วมกับ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาไฮโดรเจนต่อไป |
1.3 การหารือกับองค์การการประชุมด้านพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Forum: IEF)
IEF เชิญชวนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IEF ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อการเข้าร่วมการประชุมกับผู้นําระดับสูงทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยจะต้องมีค่าบํารุงสมาชิกรายปีด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกจะมีกระบวนการภายในประเทศ ซึ่ง พน. จะจัดทําข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลความจําเป็นผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ และงบประมาณเพื่อนําเสนอประกอบการพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. พน. แจ้งว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ ในหลายด้าน เช่น (1) เปิดโอกาสในการแสวงหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูก เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว (2) ส่งเสริมแนวนโยบายการพัฒนา แหล่งสํารองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์จากการเชิญชวนฝ่ายซาอุดีอาระเบียร่วมลงทุนในโครงการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสําหรับการจัดเก็บ การขนส่ง และการกลั่นน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ของไทย (3) เปิดโอกาสในการผลักดันโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวร่วมกับบริษัทด้านพลังงาน ของซาอุดีอาระเบีย และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤศจิกายน 2567
11128