การจัดทําร่างพิธีสาร 5 ว่าด้วยสิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนระหว่างจุดใดๆ ในอาณาเขตของรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ภายใต้ความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรี อย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 14 November 2024 00:36
- Hits: 1462
การจัดทําร่างพิธีสาร 5 ว่าด้วยสิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนระหว่างจุดใดๆ ในอาณาเขตของรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ภายใต้ความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรี อย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างพิธีสาร 5 ว่าด้วยสิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนระหว่างจุดใดๆ ในอาณาเขตของรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น (ร่างพิธีสาร 5ฯ) และหากมีความจําเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสําคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ คค. ดําเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมลงนามในร่าง พิธีสาร 5ฯ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสําหรับการลงนามในร่างพิธีสาร 5ฯ
4. มอบหมายให้ กต. ดําเนินการจัดทําหนังสือไปยังเลขาธิการอาเซียน แจ้งการมีผลบังคับใช้ของร่างพิธีสาร 5ฯ เมื่อ คค. มีหนังสือยืนยันไปยัง กต. ว่าได้ดําเนินกระบวนการต่างๆ ที่จําเป็นเพื่อให้พิธีสาร มีผลบังคับใช้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
สาระสำคัญ
1. ร่างพิธีสาร 5ฯ เป็นส่วนหนึ่งของความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ (ความตกลงพหุภาคีอาเซียนฯ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของสายการบินของรัฐสมาชิกอาเซียนในส่วนของการรับขนผู้โดยสาร โดยสิทธิรับขนการจราจรพักค้างตามร่างพิธีสาร 5ฯ เป็นสิทธิที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากพิธีสาร 4 ว่าด้วยสิทธิการบินเชื่อมจุดในประเทศสมาชิกอาเซียน (พิธีสาร 4ฯ) ที่มีสาระสําคัญเป็นการอนุญาตให้สายการบินของรัฐสมาชิกอาเซียนสามารถให้บริการในอีกประเทศได้มากกว่า 1 จุด ในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ โดยห้ามรับขนผู้โดยสารเพิ่มระหว่างจุดในอีกประเทศดังกล่าว ส่วนร่างพิธีสาร 5ฯ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาในครั้งนี้ มีสาระสําคัญเป็นการอนุญาตให้สายการบินสามารถรับขนผู้โดยสารชุดเดียวกันของตนไปยังระหว่างสองจุด (หรือหลายจุด) ในอาณาเขตของประเทศภาคีอื่น โดยผู้โดยสารสามารถพักค้าง ณ จุดใดจุดหนึ่ง เป็นระยะเวลาชั่วคราว ก่อนจะรับขนจราจรชุดเดิมกลับประเทศต้นทาง โดยจะต้องเป็นการรับขนต่อเนื่องมาจากการเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น โดยห้ามสายการบินของประเทศหนึ่งรับขนผู้โดยสารอื่นเพิ่มเติมจากจุดใดๆ ของประเทศปลายทาง (ผู้โดยสารจะต้องเป็นผู้โดยสารชุดเดิมที่ทําการซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง)
2. ร่างพิธีสาร 5ฯ รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
2.1 คำจำกัดความ |
สิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตน หมายถึง สิทธิของสายการบินในการรับขนผู้โดยสารของตนไปยังระหว่างสองจุดหรือหลายจุดในอาณาเขตของภาคีคู่ภาคีอื่น โดยการรับขนจราจรนั้น สามารถพักค้าง ณ จุดใดจุดหนึ่ง เป็นระยะเวลาชั่วคราว ก่อนจะรับขนจราจรชุดเดิมนี้ไปยังอีกหนึ่งจุดหรือหลายจุดภายในอาณาเขตภาคีคู่สัญญาอื่น และพักค้างเป็นระยะเวลาชั่วคราว ก่อนรับขนจราจรนั้นกลับประเทศตน โดยสิทธิพักค้างดังกล่าว ต้องเป็นการรับขนต่อเนื่องมาจากการเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น และอยู่ภายใต้สิทธิการบินเชื่อมจุดตามที่กําหนดไว้ในพิธีสาร 4ฯ (พิธีสาร 4ฯ มีสาระสําคัญเป็นการอนุญาตให้สายการบินทําการบินในรัฐสมาชิกอาเซียนอื่นได้มากกว่า 1 จุด โดยจะต้องเป็นเส้นทางระหว่างประเทศและห้ามรับขนผู้โดยสารเพิ่มระหว่างจุด ในประเทศอื่น ตามข้อ 5.7) |
|
2.2 การใช้สิทธิการรับรองขนการจราจรพักค้างของตน |
(1) สายการบินของแต่ละฝ่ายจะต้องไม่มีการใช้สิทธิกาโบตาจ* (2) สายการบินของแต่ละฝ่ายสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนระหว่างช่วงเส้นทางภายในประเทศ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ (2.1) สําหรับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สิทธิรับในการจราจรพักค้างของตน จะใช้ได้ระหว่าง 5 จุด ได้แก่ จาการ์ตา เดนปาซาร์ มากัสซาร์ เมดาน และสุราบายา เท่านั้น (2.2) สําหรับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะไม่มีการใช้สิทธิรับขนการจราจร พักค้างของตนระหว่างย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ (2.3) สําหรับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จะไม่มีการใช้สิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนระหว่างมะนิลากับจุดอื่นๆ ในฟิลิปปินส์ (2.4) สําหรับประเทศไทย จะไม่มีการใช้สิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนระหว่าง กรุงเทพมหานคร - ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร - เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร – เกาะ สมุย (2.5) สําหรับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนจะใช้ได้เฉพาะจุดระหว่างเกิ่นเทอกับวันดอนได้ถึง 7 วัน |
|
2.3 ความจุและความถี่ |
รัฐสมาชิกตกลงกําหนดให้ไม่มีข้อจํากัดเกี่ยวกับความจุ ความถี่ และแบบของอากาศยาน ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้โดยสารทางอากาศที่ดําเนินการรับขนการจราจรพักค้างของตน |
|
2.4 การมีผลบังใช้ |
พิธีสารนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการให้สัตยาบันหรือการยอมรับจาก 3 ภาคีคู่สัญญา และจะ มีผลบังคับใช้เฉพาะระหว่างภาคีคู่สัญญาที่ให้สัตยาบันหรือยอมรับ สําหรับภาคีคู่สัญญา ที่ให้สัตยาบันสารหรือการยอมรับหลังจากวันที่พิธีสารนี้มีผลใช้บังคับ พิธีสารนี้จะมีผลใช้บังคับสําหรับภาคีผู้ทําสัญญานั้นในวันที่มอบสัตยาบันสารหรือการยอมรับ |
3. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ มีดังนี้
1. เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่สายการบินของไทยในการวางแผนการให้บริการขยายเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างไทยและรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น
2. เพิ่มแรงจูงใจให้สายการบินของรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ทําการบินมายังเมืองรองของไทยได้มากขึ้น โดยทําการบินมายังเมืองหลักก่อนแล้วจึงทำการบินต่อไปยังเมืองรอง หรือในทางกลับกัน สายการบินก็สามารถทําการบินมายังเมืองรองก่อนแล้วจึงทําการบินต่อไปยังเมืองหลักได้เช่นกัน
3. ช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในการเดินทางไปยังหลายจุดหมายในประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปยังเมืองรองต่างๆ ของไทย และช่วยสร้างความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม การลงทุน การค้า และการท่องเที่ยวของเมืองรองได้ในอนาคต
––––––––––––––––––––––––
*สิทธิกาโบตาจ (Cabotage) คือ การให้บริการขนส่งทางอากาศในเส้นทางภายในประเทศโดยสายการบินจากประเทศอื่น โดยพิธีสาร 5ฯ กําหนดห้ามไม่ให้แต่ละฝ่ายรับขนผู้โดยสารเพิ่มระหว่างทําการบิน เที่ยวบินภายในประเทศของประเทศอื่น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 12 พฤศจิกายน 2567
11351