ขอความเห็นชอบต่อร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5 (the Fifth Protocol to Amend the ASEAN Comprehensive Investment Agreement)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 14 November 2024 00:44
- Hits: 1446
ขอความเห็นชอบต่อร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5 (the Fifth Protocol to Amend the ASEAN Comprehensive Investment Agreement)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5 (the Fifth Protocol to Amend the ASEAN Comprehensive Investment Agreement)
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5 ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคําที่มิใช่สาระสําคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุน อาเซียน ฉบับที่ 5
4. นําเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความ ตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5
5. มอบหมายให้ สกท. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีที่กําหนดในพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5
6. มอบหมายให้ กต. แจ้งต่อสํานักเลขาธิการอาเซียนว่าไทยพร้อมที่จะให้พิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5 มีผลผูกพัน เมื่อรัฐสภาเห็นชอบต่อพิธีสารดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ความตกลงว่าด้วยการลงทุนฉบับสมบูรณ์ของอาเซียน หรือ ACIA (ASEAN Comprehensive Investment Agreement) เป็นกรอบความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จัดตั้งขึ้นและมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนและทําให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดหมายการลงทุนที่น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยประเทศอาเซียนตกลงที่จะร่วมกันดำเนินการภายใต้หลักการสําคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) ส่งเสริมการลงทุน (2) อํานวยความสะดวกในการลงทุน (ลดขั้นตอนและอุปสรรคต่างๆ ) (3) การคุ้มครองการลงทุน (ให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนว่าจะได้รับการคุ้มครองจากการถูกยึดทรัพย์ และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม) (4) เสรีภาพในการลงทุน (ลดการจํากัดการลงทุน) ทั้งนี้ ACIA เป็นความตกลงที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกจัดทําข้อสงวน (Reservations) เพื่อระบุสาขาที่ไม่เปิดเสรี หรือข้อจํากัดของการลงทุนของแต่ละประเทศได้ตามความสมัครใจ (ข้อสงวนฯ) โดยไม่มีหลักการ ต่างตอบแทนหรือเจรจาแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ACIA ได้กําหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม ACIA โดยการจัดทําเป็นพิธีสาร (Protocol) เพื่อแก้ไข ACIA ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทําพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติม ACIA ไปแล้ว 4 ครั้ง
เดิม ACIA ได้กําหนดสาขาการลงทุนที่อาเซียนจะร่วมกันดําเนินการ ภายใต้ ACIA ไว้ 7 สาขาหลัก ได้แก่ (1) การผลิต (2) การเกษตร (3) การประมง (4) การป่าไม้ (5) การทําเหมืองแร่และเหมืองหิน (6) การบริการเกี่ยวเนื่องกับสาขาต่างๆ ข้างต้น และ (๗) สาขาอื่นใดตามที่ทุกรัฐสมาชิกอาจตกลงกันซึ่งในการจัดทําข้อสงวนฯ แต่ละประเทศ จะต้องส่งรายการข้อสงวน (Reservation List) ให้แก่สํานักเลขาธิการอาเซียนภายหลังจาก ACIA มีผลใช้บังคับ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้แจ้งข้อสงวนฯ ไปแล้ว เช่น การห้ามต่างชาติ จับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย หรือห้ามต่างชาติทําไร่ ทํานา ทําสวน เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งการจัดทําพิธีสารฯ ฉบับที่ 5 ในเรื่องนี้ มีสาระสําคัญหลักเป็นการปรับปรุงแก้ไขวิธีการเขียน ACIA ให้มีความทันสมัย ตามรูปแบบการจัดทําความตกลงระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนจากการกําหนดสาขา ความร่วมมือ 7 สาขา เป็นไม่กําหนดสาขา เพื่อให้มีลักษณะเป็นการเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศภาคียังคงสามารถกําหนดข้อสงวนฯ โดยการจัดส่งรายการข้อสงวนให้แก่สํานักเลขาธิการอาเซียนได้เช่นเดิม ส่วนที่เหลือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคําเพื่อให้ สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว หรือปรับปรุงเนื้อหาให้มีความเป็นปัจจุบันขึ้น สรุปดังนี้
ความตกลง ACIA เดิม |
แก้ไขเพิ่มเติมเป็น (ร่างพิธีสารฯ ฉบับที่ 5) |
เหตุผลในแก้ไขเพิ่มเติม |
|||
ข้อ 3 |
● กำหนดสาขาการเปิดเสรีการลงทุนไว้ 7 สาขา |
● ไม่กำหนดสาขาการลงทุน |
● เพื่อปรับปรุงหลักการ ของ ACIA ให้มีลักษณะเปิดเสรี และเป็นสากลมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการ จัดทําความตกลงในปัจจุบัน (เช่น ความตกลง RCEP) |
||
ข้อ 9 |
● กําหนดให้รัฐสมาชิกตั้งข้อสงวนฯ สําหรับมาตรการที่ไม่ต้องการปฏิบัติตามความตกลง |
● กําหนดให้รัฐสมาชิกตั้งข้อสงวนฯ เช่นเดิม แต่แยกเป็น - รายการเอ ข้อสงวนฯ เดิม - รายการบี ข้อสงวนฯ ที่จะเพิ่มเติมขึ้นต่อไป |
● แยกรายการข้อสงวนฯ ให้ชัดเจนขึ้น รองรับการเพิ่มเติมข้อสงวนฯ ที่จะเกิดขึ้นจากการปรับแก้ข้อ 3 |
||
ข้อ 22 |
● กําหนดให้รัฐสมาชิกต้องอนุญาตการเข้าเมืองให้แก่ ผู้ลงทุนของรัฐสมาชิกอื่นภายใต้ความตกลง AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) |
● กําหนดให้รัฐสมาชิกต้องอนุญาตการเข้าเมืองให้แก่ผู้ลงทุนของรัฐสมาชิกอื่นภายใต้ความตกลง ATISA (ASEAN Trade in Services Agreement) |
● ปรับปรุงชื่อความตกลง ที่อ้างถึงให้เป็นชื่อปัจจุบัน |
2. ร่างพิธีสารฯ จะมีผลใช้บังคับใช้หลังจากสมาชิกทุกประเทศได้แจ้งความสมบูรณ์ของกระบวนการภายในของตน โดยการยื่นสัตยาบันสารให้ความยอมรับ แก่เลขาธิการอาเซียน
3. ประโยชน์และผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับ เช่น 1) พิธีสารฉบับนี้เป็นการยกระดับความตกลง ACIA ให้มีมาตรฐานที่สูงและเป็นสากลมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น 2) เป็นการปรับรูปแบบแนวทางการระบุขอบเขตของความตกลง ACIA เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำความตกลงยุคใหม่และเป็นสากลยิ่งขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 12 พฤศจิกายน 2567
11352