WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล (ธันวาคม พ.ศ. 2558)

GVOผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล (ธันวาคม พ.ศ. 2558)

       คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล (ธันวาคม พ.ศ. 2558) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
      สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล (ธันวาคม พ.ศ. 2558) ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยสอบถามจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 7,200 ราย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2558 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      1. ช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล พบว่า ประชาชนร้อยละ 88.2 ระบุว่า ติดตามฯ มีเพียงร้อยละ 11.8 ที่ไม่ติดตาม โดยผู้ที่ติดตามระบุว่าติดตามจากสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ร้อยละ 86.5 รองลงมา ได้แก่ เพื่อน ญาติ คนในครอบครัว ร้อยละ 14.7 หนังสือพิมพ์/สื่อสิ่งพิมพ์ ร้อยละ 14.5 เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 10.8 อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 10.1

      2. รายการ/ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนติดตาม รายการ / ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนติดตามมากที่สุด คือ รายการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ออกอากาศทุกวันศุกร์เวลา 20.00 น. ร้อยละ 85.2 รองลงมาได้แก่ ข่าวสารของรัฐบาล เช่น รายการข่าวทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 84.8 รายการเดินหน้าประเทศไทย ที่ออกอากาศทุกวัน เวลา 18.00 น. ร้อยละ 83.4

      3. การรับทราบนโยบายของรัฐบาล ประชาชนสูงกว่าร้อยละ 90 ระบุว่าทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยระบุเรื่องที่ทราบฯ ได้แก่ การควบคุมสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาท ร้อยละ 98.1 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 96.9 การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 92.7 โครงการจัดสวัสดิการเพื่อพี่น้องประชาชน ร้อยละ 92.3 การจัดระเบียบสังคมเพื่อทำให้สังคมน่าอยู่ ร้อยละ 91.8 การปราบปรามผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 91.5 และการป้องกัน/แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 91.1

      4. ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่สูงกว่าร้อยละ 92 มีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล โดยเรื่องที่มีความพึงพอใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ การควบคุมสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาท ร้อยละ 99.9 โครงการจัดสวัสดิการเพื่อพี่น้องประชาชน ร้อยละ 99.9 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 99.5 และการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ร้อยละ 98.9

       เมื่อพิจารณาความพึงพอใจของประชาชนในระดับมาก – มากที่สุด (ให้คะแนนตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) พบว่า เรื่องที่มีความพึงพอใจสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ การควบคุมสลากกินแบ่งของรัฐบาลในราคา 80 บาท ร้อยละ 81.8 โครงการจัดสวัสดิการเพื่อพี่น้องประชาชน ร้อยละ 69.9 การปราบปรามขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและทวงคืนผืนป่า ร้อยละ 64.2 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 55.2 การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 55.0 การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ร้อยละ 54.7 การปราบปรามผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 53.7 การจัดระเบียบสังคม เพื่อทำให้สังคมน่าอยู่ ร้อยละ 51.7 การพัฒนาการจัดการศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ร้อยละ 50.9 การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ร้อยละ 50.3 และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 50.2

5. ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมของรัฐบาล ประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.3 มีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมของรัฐบาล ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจฯ มาก – มากที่สุดร้อยละ 63.9 ปานกลาง ร้อยละ 30.7 และน้อย ร้อยละ 4.7 ส่วนผู้ที่พึงพอใจน้อยที่สุดและไม่พึงพอใจเลย มีร้อยละ 0.5 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ สรุปโดยรวมเมื่อคิดเป็นคะแนนความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 7.81 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

      เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคใต้ร้อยละ 70.2 มีความพึงพอใจฯ อยู่ในระดับมาก – มากที่สุด (ให้คะแนนตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไป) ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ร้อยละ 65.7 ภาคเหนือ ร้อยละ 64.1 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 63.2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 59.4

      6. ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ ประชาชนสูงถึงร้อยละ 98.9 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีความเชื่อมั่นมาก – มากที่สุดร้อยละ 60.2 ปานกลางร้อยละ 32.9 และน้อย ร้อยละ 5.8 ส่วนผู้ที่เชื่อมั่นน้อยที่สุดและไม่เชื่อมั่นเลย มีร้อยละ 0.8 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ สรุปโดยรวม เมื่อคิดเป็นคะแนนความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 7.72 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

      เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ประชาชนในภาคใต้ร้อยละ 67.8 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล อยู่ในระดับมาก – มากที่สุด (ให้คะแนนตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไป) ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ ร้อยละ 62.1 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 61.2 ภาคกลาง ร้อยละ 60.0 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 55.3

      7. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่อรัฐ เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่อรัฐเพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการวางแผนจัดสวัสดิการพบว่า ประชาชนร้อยละ 52.2 ระบุว่าเห็นด้วย และมีร้อยละ 26.0 ที่ไม่เห็นด้วย ขณะที่มีร้อยละ 21.8 ที่ยังไม่แน่ใจ

     เป็นที่สังเกตว่า ผู้ที่มีอายุน้อยเห็นด้วยกับการกำหนดให้ประชาชนทุกคน ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่อรัฐ ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมาก ขณะเดียวกันผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าหรือครัวเรือนที่มีรายได้สูงก็เห็นด้วยเช่นเดียวกัน

      8. เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง ร้อยละ 53.2 การแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 35.7 การแก้ปัญหายาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 29.5 การแก้ปัญหาหนี้สิน คิดเป็นร้อยละ 25.8 การปรับขึ้นค่าแรงให้เพียงพอกับค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 18.1 เป็นต้น

      เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ประชาชนเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง ในสัดส่วนที่สูงกว่าเรื่องอื่น ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเร่งด่วนในเรื่องการแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ในสัดส่วนที่สูงกว่าเรื่องอื่น
      ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!