WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

หลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ

GOV4 copyหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ

 

     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอดังนี้

 

สาระสำคัญของเรื่อง

        คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการ รวม 5 คณะ โดยคณะอนุกรรมการเทคนิคการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน รวมทั้งจัดทำคู่มือและแนวทางในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ได้เสนอหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการต่อคณะกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นชอบและให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

     การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 13 ข้อ ดังนี้

     1. กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับป่าไม้ถาวร พิจารณาดังนี้

    1.1 ป่าไม้ถาวรที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมายเป็นหลัก

    1.2 ป่าสงวนแห่งชาติที่มีวัตถุประสงค์ประกาศตามแนวเขตป่าไม้ถาวรทั้งแปลง ให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมายเป็นหลัก

   1.3 ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้แนวเขตเดียวกัน ให้ใช้แนวเขตตามพื้นที่ป่านั้นๆ

    2. กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พิจารณา ดังนี้ หากแนวเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีเจตนาใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือเส้นแนวเขตในแผนที่มีความใกล้เคียงสอดคล้องกัน ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นหลัก สำหรับแนวเขตที่มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

      3. กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจนทับซ้อนเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

    4. กรณีป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับซ้อนกับป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นหลัก กรณีแนวเขตป่าชายเลนอยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าข้างต้น ให้ใช้แนวเขตป่าชายเลน

      5. กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) พิจารณาดังนี้

      5.1 กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ใช้แนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลัก และอยู่ในเขตพื้นที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบ ส.ป.ก.กรณีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล/อำเภอ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก.รวมทั้งพื้นที่ที่ ส.ป.ก. กันคืน (RF) ตามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538

      5.2 กรณีพื้นที่ที่ ส.ป.ก. ได้รับมอบจากการจำแนกประเภทที่ดินออกจากป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีรูปแผนที่แสดงแนวเขตที่ชัดเจนแล้ว ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก กรณีพื้นที่ที่ ส.ป.ก. ได้รับมอบจากการจำแนกประเภทที่ดินออกจากป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล/อำเภอ ให้ใช้แนวเขตตามแผนที่จำแนกประเภทที่ดินที่ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.เป็นหลัก พร้อมระบุรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจน

      5.3 กรณีขอบเขตพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. คลาดเคลื่อน พิจารณาดังนี้

     5.3.1 กรณีตำแหน่งพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ หากพื้นที่ยังมีสภาพเป็นป่าให้ปรับเส้นแนวเขตตามข้อเท็จจริง

     5.3.2 กรณีตำแหน่งพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) ในบันทึกข้อตกลงซึ่งปัจจุบันสภาพป่าได้หมดไป ให้ยึดเส้นแนวเขตตามตำแหน่ง RF เดิม

      6. กรณีอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน พิจารณา ดังนี้

      6.1 กรณีกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินก่อนการกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก เว้นแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2537 ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นหลัก

     6.2 กรณีกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินหลังการกำหนดให้เป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดังกล่าว เป็นหลัก

     7. กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับซ้อนกับนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์ พิจารณาดังนี้

     7.1 กรณีนิคมสร้างตนเอง นิคมสหกรณ์ ที่มีแนวเขตตามกฎหมายบังคับก่อนการกำหนดแนวเขตป่าไม้ข้างต้น ให้ใช้เขตนิคมสร้างตนเองหรือเขตนิคมสหกรณ์ที่ไม่มีสภาพป่าเป็นหลัก โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับแผนที่ที่มีสภาพป่าให้ชัดเจน

      7.2 กรณีนิคมสร้างตนเอง นิคมสหกรณ์ ที่มีแนวเขตตามกฎหมายบังคับภายหลังการกำหนดแนวเขตป่าไม้ข้างต้น ให้ใช้แนวเขตป่าไม้ข้างต้นเป็นหลัก

      8. กรณีนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์ทับซ้อนเขตปฏิรูปที่ดิน และนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์ที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดพื้นที่ พิจารณาดังนี้

       8.1 กรณีแนวเขตนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์ทับซ้อนแนวเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดแนวเขตที่ประกาศเป็นกฎหมายก่อนเป็นหลัก

      8.2 กรณีนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์ที่ยังไม่มีการกำหนดตามกฎหมาย ให้ใช้แนวเขตตามแผนที่จำแนกประเภทที่ดินที่มีการส่งมอบให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์เป็นหลักพร้อมระบุรายละเอียดตามมติคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจนด้วย

     9. กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับที่ราชพัสดุ พิจารณาดังนี้

     9.1 กรณีแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ข้างต้นทับซ้อนในลักษณะคาบเกี่ยวหรือมีเจตนาให้เป็นแนวเขตเดียวกัน ให้ใช้แนวเขตที่ราชพัสดุที่มีการออกหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดินไว้แล้วเป็นหลักกรณีนอกเหนือจากนี้ ให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

     9.2 กรณีแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ข้างต้นทับซ้อนกับที่ราชพัสดุที่ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ใช้แนวเขตพื้นที่ตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

    10. กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ที่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไว้แล้ว หากแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ข้างต้นทับซ้อนในลักษณะคาบเกี่ยวหรือมีเจตนาให้เป็นแนวเขตเดียวกันกับแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ที่มีการออก น.ส.ล. ไว้แล้ว ให้ใช้แนวเขต น.ส.ล. ที่โตกว่าเป็นหลัก พื้นที่ทับซ้อนส่วนอื่นให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

     11. กรณีแนวเขตที่ดินของรัฐที่มีการกำหนดโดยใช้แนวธรรมชาติหรือแนวเขตตามสิ่งก่อสร้าง ให้ใช้แนวธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏลวดลายในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมปีที่กำหนดแนวเขต หากไม่มีแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมปีที่กำหนดแนวเขตให้ใช้แผนที่ภาพถ่ายครั้งแรกภายหลังจากการกำหนดแนวเขต

     12. กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถหาข้อยุติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ให้สรุปเรื่องราวพร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติตามลำดับ ดังนี้

     12.1 คณะอนุกรรมการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ระดับภาค

   12.2 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map)

    12.3 คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map)กรณีพิจารณาแล้วไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คณะกรรมการฯ จะกำหนดหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการเพิ่มเติมในภายหลังในการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมระบุไว้ในรายงานว่าใช้หลักเกณฑ์ข้อใด ห้ามมิให้ใช้ดุลยพินิจในการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ

     13. ให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดรวบรวมข้อมูลระวางแผนที่ของกรมที่ดินที่มีการรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับใช้ในการดำเนินการภายหลังให้คณะทำงานการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ป่าไม้และเขตปฏิรูปที่ดินระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานที่ได้ข้อยุติจากคณะทำงานฯ ส่งให้คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (One Map) เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

      ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!