WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

   วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8785 ข่าวสดรายวัน


ล่าคดี 112  ทั้งใน-นอกปท. 
บิ๊กตู่เล็ง'สมศักดิ์เจียม' กมธ.ปฏิรูปฯเสียงแตก ค้านนัวเลือกตั้งนายกฯ ปปช.-อสส.ไม่จบฟ้องปู

ถก"สปช."- บรรยากาศการประชุมสปช. เป็นวันที่สอง มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 18 คณะ ก่อนส่งไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรธน. เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.

  "นายกฯตู่"เร่งจับผู้ต้องหาคดี 112 ชี้เป็นภัยความมั่นคง โวย"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"ไม่ควรปฏิเสธกม. ต้องสอนคนให้เคารพกฎหมาย บ่นรำคาญถูกถามทุจริตในมท. ยันมีหลักฐานก็ฟ้องมาจะจัดการให้ จ่อตั้ง "พล.อ.อักษรา เกิดผล" เป็นตัวแทนร่วม ประชุมครม. กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสียงแตก พิษเลือกตั้งนายกฯ ประสารปัดขัดแย้งสมบัติ ที่ลาโฆษกเพื่อรักษาจุดยืน สมาคมกำนัน-ผญบ.จี้ทบทวนแนวคิดการยุบอปท. 

บิ๊กตู่หัวโต๊ะถกร่วม"คสช.-ครม."

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคสช. ครั้งที่ 3/2557 เพื่อรายงานสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการติดตามความคืบหน้างานที่มอบหมายให้คสช.ดำเนินการ และการดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีครม. และคสช.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางมาตรการการรักษาความปลอดภัย อย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม 

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.และคสช.ว่า คสช.มีข้อเสนอให้รัฐบาลหลายประเด็น วันนี้ประชาชนมีความคาดหวังสูง ตนสั่งการว่าเมื่อต้องทำงานด้วยกันจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น จากที่เรากำหนดไว้เดิมให้เข้าใจตรงกัน และเดินไปพร้อมกัน โดยยุทธศาสตร์จากสภาพัฒน์มี 11 ด้านที่ตนได้เร่งรัดให้เสร็จทันภายใน 1 ปี โดยเฉพาะลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความยากจน ราคาพืชผลทางการเกษตร ต้องแก้ไขโดยเร็วและเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้มีเรื่องกฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรม การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประชาชน เรื่องการจัดระเบียบสังคม การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ ยาเสพติด อาวุธสงคราม การพัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และสังคม จิตวิทยาและการศึกษา ซึ่งรัฐต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและมีโรดแม็ปที่ชัดเจนมากขึ้นและต้องสรุปให้ได้ว่าที่ผ่านมามีเรื่องใดสำเร็จไปแล้วบ้าง ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่ทราบ และกล่าวหารัฐบาลไม่ทำอะไร 

ชี้"คสช.-ครม."ต้องคุยกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ซึ่งมีตนเป็นประธาน แบ่งเป็น 2 คณะคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในเรื่องของกระบวนการความโปร่งใสและกระบวนการ ยุติธรรม แต่ไม่ใช่ว่ามีอำนาจไปสั่งการอะไร เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นขององค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม แต่เราจะหารือในส่วนของคดีความต่างๆและขับเคลื่อนต่อให้เร็ว และจัดลำดับความสำคัญ ส่วนคณะที่ 2 คือคณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนโดยคสช. ซึ่งมอบให้ผู้ปฏิบัติงานดูแลการทุจริต ความโปร่งใส การทำหน้าที่ของข้าราชการและเสนอครม.เพื่อใช้อำนาจพิจารณาปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้เกิดความสอดคล้องกันในการทำงาน 

เมื่อถามว่าคสช.เสนอ 4 ข้อเร่งด่วนมายังรัฐบาลแสดงว่ารัฐบาลยังทำงานไม่เข้าตาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ ตนเป็นหัวหน้าคสช. เพียงแต่ตนพูดให้เข้าใจทั้ง 2 ส่วนว่าการทำงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และการประชุมครั้งต่อไปจะเชิญคสช.มาร่วมประชุมด้วยเพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน เพราะบางครั้งทหารอาจจะไม่เข้าใจว่ารัฐบาล ทำหรือไม่ ทั้งที่ตนสั่งทั้ง 2 ข้างอยู่แล้วแต่ไม่ได้เจอกันจึงไม่เข้าใจ

ย้ำยังต้องใช้กฎอัยการศึก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ในฐานะคสช.มีอำนาจกฎอัยการศึกอยู่ ที่ผ่านมาพยายามใช้ให้น้อยที่สุด ได้สั่งการให้คสช.มีบทบาทให้มากและชัดเจนขึ้นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งเรื่องการติดตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แล้วค่อยมาเสนอแนะให้เร็วขึ้น และให้ลงไปสัมผัสกับประชาชน สร้างความเข้าใจ การจัดระเบียบที่ใช้กำลังทหาร ซึ่งคสช.ต้องใช้ กฎอัยการศึกตรงนี้ไปทำให้การขับเคลื่อนชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะติดขัดข้อกฎหมาย โดยเน้นย้ำว่าคสช.ต้องใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์เพื่อเสริมงานของครม. 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยจับกุมเรื่องใหญ่ได้เพราะต้องรอขอหมายศาล แต่พวกที่หนีออกนอกประเทศเพราะทำความผิด อย่างพวกตั้งกลุ่มต่อต้านเรียกร้องประชาธิปไตยถือว่าไม่รักชาติ เพราะประเทศจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ต่างชาติชื่นชมและเข้าใจ ขอเพียงว่าให้รีบเป็นประชาธิปไตย จะได้สบายใจ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยใช้ความรุนแรง

เร่งจับผู้ต้องหาหนีคดี 112

เมื่อถามว่าคสช.เสนอให้ติดตามผู้กระทำ ผิดกฎหมายที่หลบหนีไปต่างประเทศ มีเป้าหมายที่ใครเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเป็นคนสั่งเอง ต้องไปไล่ดูและทยอยทำ ต้องพิจารณากันดีๆ แต่อย่าเพิ่งไปเชื่อมโยงกับใครทั้งสิ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา สิ่งที่ต้องดูตอนแรกคือการละเมิดมาตรา 112 โดยเฉพาะต้องรีบสร้างความเข้าใจกับต่างชาติเนื่องจากมีผลกระทบ ในเรื่องข่าวลือต่างๆ มาก ตอนนี้สั่งให้ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้มีพวกที่ทุจริตตามกระบวนการยุติธรรมก็ต้องทยอยติดตาม โดยแจ้งไปยังประเทศต่างๆ ที่มีผู้กระทำผิดหลบหนีไปอยู่ ส่วนเขาจะส่งตัวกลับมาหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

"ถ้าจะใช้คำว่าส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็คงไม่ได้ เดี๋ยวจะเกิดผลกระทบ ให้ใช้คำว่าผู้ที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายของไทย โดยแจ้งให้เขาทราบเพื่อให้คนเหล่านี้จะได้ไม่ไปพูดจาให้เกิดการเข้าใจผิด ส่วนจะร่วมมือกันอย่างไรต่อไปค่อยมาคุยกัน ซึ่งคนทำผิดเหล่านี้เท่าที่ดูก็มีมากพอสมควรแต่คงไม่ถึง 100 และรวมกระทำผิดในทุกมาตรา ไม่เฉพาะมาตรา 112" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

โวย"สมศักดิ์เจียม"ปฏิเสธกม.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ยืนยันว่า ผู้ทำผิดกฎหมายทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองใดๆ บางคนบอกได้เลยว่ามีการส่งคนไปพบเพื่อพูดคุยแล้ว เขาก็บอกว่าเข้าใจผิด จะไม่ทำอีก แต่พอหนีไปก็ไปทำในต่างประเทศ ซึ่งปล่อยไว้ไม่ได้ จากนี้ไปเราจะดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปจับ เราติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือน มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดูแลทั้งไอซีที กองทัพ ฝ่ายปกครอง มีการส่งคนไปพบ เอาตำรวจไปด้วย บางคนเซ็นสัญญามีหลักฐานว่าอย่าทำอีก บางคนบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาส่งข้อความมาก็ส่งต่อ แต่สุดท้ายขยายความเขียนนิยายกันไปเรื่อย หลายคนคงเคยเห็น ส่วนใครนั่งเขียน กำลังติดตามอยู่เพราะเขียนให้เกิดความแตกแยก ถือว่ากลุ่มคนพวกนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง ร้ายแรง เกิดความแตกแยกในสังคม เราจะปล่อยไว้ไม่ได้ 

"อย่างนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เห็นๆ อยู่ เขียนไปเรื่อยต่างๆ นานา มีคนประเภทนี้ไม่กี่คน เป็นถึงครูอาจารย์ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่ควรปฏิเสธกฎหมาย ต้องสอนคนให้เคารพกฎหมาย วันนี้ผมไม่ยอม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนเว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้นติดตามอยู่ มีหลายวิธี ถ้ารู้ตัวก็จะปรามและติดตาม มีทุกวิธีตามกฎหมาย ซึ่งเขาจะหยุดสักพักจากนั้นจะทำใหม่ อย่างนี้ต้องจับกุมปัจจุบันถูกดำเนินคดีหลายคน ยืนยันไม่ใช่เรื่องการเมือง 

เดินหน้าลุยลดความเหลื่อมล้ำ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า สำหรับของขวัญปีใหม่ที่จะลดราคาสินค้านั้น ไม่ถือเป็นความยั่งยืน จะทำตลอดไปไม่ได้ แต่เอกชนร่วมมือคืนความสุขให้ประชาชน แต่อยากให้สนใจมาตรการระยะยาวมากกว่า เพราะกฎหมายที่ยังอยู่ในกระบวนการกว่า 100 ฉบับนั้นจะทำให้เกิดความยั่งยืนในวันหน้า ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การค้าขาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครทำ เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายภาษี ต้องไปไล่คนที่ไม่ทำและต้องเข้าข้างตนบ้าง อย่างกรณีการปรับโครงสร้างพลังงาน ยอมรับว่าทำแล้วเจ็บตัว แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำ ซึ่งวันนี้ดีขึ้น แต่จะให้ราคาน้ำมันถูกลง 10-20 บาทเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ตนกล้าทำแม้ต้องเจ็บตัวก็ยอม ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำให้ความเป็นธรรมกับคนยากจน 

เมื่อถามว่าเป็นห่วงรัฐบาลใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนมาตรการเหล่านี้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าต้องมีมาตรการในระยะยาว เมื่อตนไม่อยู่ก็ต้องมีกลไกในการรักษาสิ่งเหล่านี้ ต้องดูว่าจะไปอยู่ไหน จะในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญก็ว่าไป เขาพิจารณากันอยู่ ซึ่งเราทำหลายเรื่อง วันนี้มันเพี้ยนไปหมด เมื่อเข้าไปตรวจสอบร้อยละ 70 ไม่สามารถทำได้เลยแล้วอนุมัติไปได้อย่างไร 

รำคาญถูกถามทุจริตในมท.

เมื่อถามถึงการตรวจสอบการจัดซื้อรถหน่วยกู้ภัยของกระทรวงมหาดไทยที่พบทุจริตกว่า 3,000 ล้านบาท นายกฯ กล่าวว่าก็ไปฟ้องเอา ตนไม่ใช่คนตัดสิน เรื่องนี้ต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ จะมาบอกอย่างนี้ไม่ได้ ต้องหาคนร้องทุกข์กล่าวโทษมาแล้วตนจะตรวจสอบ หากมีหลักฐานชัดเจนก็ไปฟ้องได้เลย 

เมื่อถามว่าจะให้หน่วยงานอย่างป.ป.ช. ปปง.เข้าไปตรวจสอบหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ไม่รู้ ไปหาหลักฐานมา ไปยุ่งจังเลยกับไอ้เรื่องสากกระบ๊วย น่ารำคาญ" 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ทางเจ้าหน้าที่สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เตรียมโพเดียมให้เหมือนที่ผ่านมา แต่พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวลาสัมภาษณ์ประมาณ 30 นาที โดยมีการโต้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวอย่างดุเดือด ตามบุคลิกเหมือนทุกครั้ง จนช่วงหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ถึงกับน้ำลายกระเด็น ไปถูกศีรษะผู้ช่วยผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ที่นั่งถือไมค์สัมภาษณ์อยู่ด้านหน้า จนต้องหยุดชะงัก และใช้มือปิดปาก พร้อมกล่าวขอโทษและใช้มือจับศีรษะผู้ช่วยผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว โดยในตอนท้ายการสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวเห็นว่าใช้เวลาตอบคำถามครบถ้วน และใช้เวลานานแล้ว จึงเอ่ยขึ้นว่างั้นวันนี้พอก่อน พล.อ.ประยุทธ์ หันมาตอบทันทีด้วยน้ำเสียงดุว่า "ก็อยากพูดอะ ทำไม"

"อักษรา"จ่อตัวแทนคสช.ถกครม.


ราคายาง - ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ มีนายสุรินทร์ เพชรสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นตัวแทนรับหนังสือ ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคสช.เย็นวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าเหตุผลที่ต้องประชุมเป็นเพราะหนึ่งในประเด็นที่ต้องหารือคือการแจ้งให้ทราบถึงการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของคสช. คณะกรรมการชุดนี้มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และสมาชิกคสช. เป็นรองประธาน มีสมาชิกคสช. 3 คน และบุคคลภายนอกจำนวนหนึ่งมาเป็นกรรมการ 

นายวิษณุกล่าวว่า คณะกรรมการดังกล่าว ไม่มีอำนาจจับกุมหรือลงโทษใคร ถ้าตรวจพบการทุจริตหรือประพฤติมิชอบก็ต้อง แจ้งให้หน่วยงานที่มีอำนาจตามปกติในการ ตรวจสอบ หรือแจ้งต่อครม.ให้ดำเนินการ ถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 42 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ทับซ้อนกับองค์กรอิสระหรือหน่วยงานต่างๆ แต่เป็นเหมือนกลไกที่เชื่อมระหว่างองค์กรเหล่านั้นกับรัฐบาล

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าการประชุมครม.มีการพิจารณาบางเรื่องที่คสช.ควรจะรับไปดำเนินการได้ทันที หรือไปติดตาม จึงคิดว่าควรจะมีใครในคสช.มาร่วมรับฟังการประชุมในวาระที่ไม่ใช่เรื่องลับ คาดว่าคสช.จะแต่งตั้งให้พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะรองเลขาธิการคสช. เป็นตัวแทนมาร่วมการประชุมครม.

แจงดันปฏิรูปไว้ในรธน.

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้บรรจุเรื่องการปฏิรูปลงในรัฐ ธรรมนูญ ว่าคงให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญไปคิดวิธีการในเรื่องนี้ เพราะการปฏิรูปคงทำไม่เสร็จภายใน 1 ปี โดยเห็นควรทำเรื่องยากๆ ออกมาสัก 1-2 เรื่องก่อน ส่วนเรื่องอื่นให้เอาไว้ทำภายหลังได้ ถ้าเดาสิ่งที่อยู่ในใจคนทั้งประเทศ คืออยากเห็นการปฏิรูปการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม

เมื่อถามว่าในท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุว่าหากทุกอย่างไม่ผ่าน คสช.สามารถหยิบยกของใหม่มาใช้ได้เลย นายวิษณุกล่าวว่ารอให้รู้ว่าต้องทำอย่างนั้นก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ไว้วางใจว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะทำหน้าที่ได้ ตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ถามกันแล้วว่าต้องการเวลาสำหรับยกร่างนานเท่าไหร่ ซึ่งคนถามก็มีประสบการณ์ จึงคิดว่าเวลาที่ให้ไว้คงพอสมควรที่จะทำได้ เรื่องเวลาจึงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือทำออกมาแล้วถูกใจหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง

"ประสาร"ปัดขัดแย้ง"สมบัติ"

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษก กมธ.ปฏิรูปการเมืองเปิดเผยว่า ได้ลาออกจากโฆษกกมธ.การเมือง ชุดของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ซึ่งสาเหตุไม่ได้ขัดแย้งกันกับนายสมบัติ แต่ลาออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน โฆษกจำเป็นต้องพูดในฐานะตัวแทนกมธ.ทั้งหมด โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง แต่ตนไม่เห็นด้วยและได้สงวนการแสดงความเห็นไว้อภิปรายในวันที่ 17 ธ.ค.ด้วย จึงตัดสินใจ ยื่นหนังสือลาออกกับนายสมบัติ ขณะที่ นายสมบัติไม่ได้ว่าอะไร เพราะเข้าใจว่าตน ลาออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน 

นายประสารกล่าวว่า ตนเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปในการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน แต่สิ่งที่เสนอมาเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ ลดการตรวจสอบประชาชน แนวทางที่ถูกต้องคือต้องเพิ่มอำนาจการตรวจสอบฝ่ายบริหารของประชาชนมากกว่า ทั้งนี้ แนวคิดการเลือกนายกฯโดยตรงยังไม่ได้ข้อสรุปของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องรับฟังความเห็นจากทุกทิศทาง 

"อาณันย์"ค้านเลือกตั้งนายกฯ

ด้านพ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสปช. และกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า เชื่อว่านายประสารคงมีเหตุผลส่วนตัว ซึ่งตนเคารพ การตัดสินใจนี้ แต่ตนในฐานะกมธ.ปฏิรูปการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับกมธ.เสียงส่วนใหญ่ที่เสนอให้มีการเลือกนายกฯ และครม.โดยตรง แต่จะไม่ลาออกจากตำแหน่ง และจะอภิปรายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ เพื่อให้เห็นว่าหากนำรูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวมาใช้จะสุ่มเสี่ยงต่อการได้มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่มีอำนาจล้นฟ้า หากรัฐบาลและเสียงส่วนใหญ่ของส.ส.มาจากพรรคเดียวกัน 

พ.ต.อาณันย์ กล่าวถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฝากการบ้านให้สมาชิกสปช.หาแนวทางดำเนินการปฏิรูปต่อไปในอนาคต ว่าตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2557 กำหนดไว้ว่ารัฐบาลจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะหมดวาระเมื่อเราได้สมาชิกรัฐสภา แต่สปช.ไม่ได้ระบุไว้ เราจำเป็นต้องมีคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปต่อไปในอนาคตหรือไม่นั้น มองว่าขึ้นอยู่กับแนวนโยบายและแผนงานของรัฐบาลชุดใหม่เป็นสำคัญว่าจะเห็นเป็นอย่างไร โดยอาจจะประเมินจากสปช.ชุดนี้ใน 2 ประเด็นคือ ตัวบุคคลที่มาเป็นสปช.ได้รับการยอมรับหรือไม่ และ 2.ผลงานการปฏิรูปสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ซึ่งรัฐบาลใหม่เห็นว่าจำเป็นต้องมีคณะทำงานปฏิรูปต่อก็อาจจะให้คงสปช.ไว้ในลักษณะเดียวกันกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้ ส่วนการได้มาของสมาชิกก็อาจจะใช้การเลือกตั้งหรือสรรหาก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม 

ไพบูลย์ชงสว.เลือกนายกฯด้วย

ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอการเลือกนายกฯโดยตรงว่า ส่วนตัวมองว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี แต่เป็นข้อเสนอหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่วิธีดังกล่าวไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตรง ควรให้ความสำคัญกับบทบาทของพรรค ปัญหาอยู่ที่พรรคไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกควบคุมโดยนายทุนและคณะรัฐมนตรี ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาต้องให้พรรคเลือกนายกฯ ในสภา และควรให้ผู้ที่ไม่สังกัดพรรค คือส.ว. มีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ด้วย เพื่อลดการผูกขาดของพรรคจะทำให้โอกาสที่ ครม.จะถูกครอบงำโดยพรรคและนายทุนไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ เห็นว่าควรเพิ่มโทษผู้ที่ทำทุจริตเลือกตั้ง ให้มีบทลงโทษเหมือนคดีค้ายาเสพติด ให้ผู้ขายเสียงมีโทษรุนแรง มากกว่าผู้ซื้อเสียง

นายไพบูลย์กล่าวว่า หลังกมธ.ยกร่างฯ รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสปช. วันที่ 15-17 ธ.ค.เรียบร้อยแล้ว กมธ.ยกร่างฯ จะนำข้อคิดเห็นที่ได้มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อวางกรอบยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นร่างแรกให้เสร็จภายในวันที่ 26 ธ.ค. ส่วนกมธ.ยกร่างฯ จะเห็นด้วยกับแนวทางเลือกตั้งนายกฯ หรือครม. โดยตรงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีวิธีการได้นายกฯ แบบไหน ซึ่งกรอบร่างแรกของกมธ.ยกร่างฯ ยังปรับแก้ได้ตลอด เพราะยังไม่ใช่กรอบสุดท้ายที่ต้องยกร่างในระยะ 120 วัน ซึ่งจะเสร็จในเดือนเม.ย. 2558 โดยกรอบร่างสุดท้ายจะส่งให้สปช. คสช. พิจารณาด้วย

สปช.รับฟังรายงานกมธ.ต่อ

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยก ร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องสรุปความเห็นหรือข้อ เสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.วิสามัญประจำสภา 18 คณะ เป็นวันที่ 2 โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำกมธ.ยกร่างฯ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอแนะจากสปช. และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 

โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา สปช. รายงานข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐต้องวางระเบียบและมีแผนระดับชาติว่าด้วย ศิลปะ วัฒนธรรม ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ในรูปแบบสมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรภาคประชาสังคม มีแผนแม่บทอนุรักษ์และเผยแพร่ ซึ่งองค์กรนี้ไม่จำเป็นต้องของบประมาณจากรัฐบาล แต่ใช้วิธีตัดเปอร์เซ็นต์จากมูลค่ารายได้ของนักท่องเที่ยวที่มาดูศิลปวัฒนธรรม วัดวาของไทย แต่ละปีนับแสนล้านบาทโดยขอตัดรายได้เพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์ 

ด้านนางตรึงใจ บูรณสมภพ สปช. อภิปรายว่า น่าเป็นห่วงรากเหง้าของชาติ แม้จะตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาดูแล แต่งบประมาณที่ได้ในแต่ละปีน้อยกว่าที่จัดสรรให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ทั้งที่เนื้องานต้องดูแลนั้นเทียบกันไม่ได้ จึงขอให้ปรับกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงเกรดหนึ่ง ไม่ใช่เกรดสองหรือสามที่ถูกละเลยเช่นที่ผ่านมา

ชงออกพรบ.ป้องประชานิยม

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง เสนอความเห็นว่า ให้มีมาตรการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม โดยออกเป็นพ.ร.บ. ป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่สร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว เพื่อป้องกันการออกนโยบายประชานิยมแบบง่ายๆ ไม่คำนึงถึงผลกระทบเศรษฐกิจในระยะยาว โดยการเสนอนโยบายประชานิยมจะต้องระบุรายละเอียดชัดเจนว่ามีประโยชน์อย่างไร เกิดกับใคร ใช้เงินจากส่วนใดมาดำเนินการและจะมีผลกระทบต่อภาระประเทศในอนาคตหรือไม่ ให้ประชาชนช่วยตรวจสอบโครงการเพื่อความรอบคอบ ไม่ใช่พูดแต่ด้านดีของโครงการเพียงอย่างดี เป็นการเสนอนโยบายโดยไม่รับผิดชอบ นอกจากนี้เสนอให้บุคคลพึงแสดงสถานะรายได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ และรัฐต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดเกิดขึ้น โดยดูที่ผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม

นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อเสนอแนะว่า ต้องเสริมสร้างวิธีการจัดการ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเห็นว่าสมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยรัฐต้องคุ้มครองสิทธิประชาชนที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดี จัดให้มีระบบและแผนการบริหารจัดการทรัพยาการน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ และให้ตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความยุติธรรม เป็นกลไกขจัดปัญหาความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งยืน


วิทยุชุมชน - กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 2 ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ และลงนามบันทึกข้อตกลงกับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตวิทยุชุมชน ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และคำสั่งของคสช.อย่างเคร่งครัด ที่ค่ายสุรนารี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.


หนุน"อปท."ร่วมดูแลสุขภาพ

จากนั้นนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข นำเสนอรายงานความเห็นต่อที่ประชุมว่า รัฐต้องมีหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพ กำหนดนโยบายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รัฐต้องมีหน้าที่สนับ สนุน ส่งเสริม พัฒนาและอนุรักษ์การแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชนและภาคเอกชนให้มีส่วนร่วม เร่งพัฒนาระบบสุขภาพ เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและภัยคุกคามต่อสุขภาพ สุดท้ายรัฐต้องคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเช่นเดียวกับ ผู้ให้บริการสาธารณสุข ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรม

แรงงานต้องได้รับการคุ้มครอง

พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานกมธ. ปฏิรูปการแรงงาน สปช. รายงานความเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมสปช.ว่า มีสาระสำคัญ 7 ประเด็น ที่เห็นควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ 1.ประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการใช้แรงงานต้องได้รับสิทธิที่ไม่ถูกบังคับให้ทำงาน หรือต้องทำงานโดยไม่มีทางเลือกหรือที่ผิดจากข้อตกลง หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้เพื่อให้สิทธิของแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล 2.ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการพัฒนาทักษะฝีมือในทุกสาขาอาชีพและการเข้าถึงข้อมูลตลาดแรงงาน เช่น ค่าแรง 3.ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการคุ้มครอง และความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสตรีที่มีภาระครอบครัว แรงงานพิการ แรงงานสูงวัย 

4.นายจ้างและลูกจ้างมีเสรีภาพในการจัดตั้งและเข้าร่วมองค์การของตนเองตามที่กฎหมายบัญญัติ 5.ต้องมีระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมไปยังแรงงานที่ขาดรายได้ และส่งเสริมการออมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 6.ต้องมีการคุ้มครองและสงวนอาชีพให้กับคนท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทการบริหารจัดการตามที่กฎหมายบัญญัติ และ 7.สำหรับการจัดนโยบายหรือมาตรการเกี่ยวกับแรงงาน โดยรัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ 

ประชาชนร่วมชี้นโยบายพลังงาน

จากนั้นนายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกมธ. การปฏิรูปพลังงาน รายงานความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นจึงควรได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นธรรม กมธ.ปฏิรูปพลังงานจึงเสนอ 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.รัฐต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม 2.กิจการพลังงานเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งรัฐต้องกำกับดูแลให้มีการประกอบการอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ โดยรัฐต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน 3.ภาคประชาชนมีสิทธิ และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงาน รวมทั้งติดตามการดำเนินนโยบายของภาครัฐได้ 

4.รัฐต้องส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชน และชุมชน เป็นผู้ผลิตเพื่อใช้เองและจำหน่าย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้ประสบผลสำเร็จ 5.ปิโตรเลียม และเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นๆ เป็นทรัพยากรธรรมชาติ และมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ การใช้ประโยชน์ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ และ 6.รัฐควรส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน และส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ ความตระหนัก และพฤติกรรมในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ คุ้มค่า 

ด้านยธ.ลั่นต้องดันกม.ลูก

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอแนวความคิดว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีข้อจำกัดคือไม่สามารถร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญได้ จึงต้องนำใจความสำคัญไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ สปช.รับผิดชอบร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายลูกร่วมกับกมธ.ยกร่างฯ จึงอยากให้กมธ. ยกร่างฯ กำหนดสาระสำคัญการออกกฎหมายลูกเอาไว้ให้มีสภาพบังคับ มิเช่นนั้นการปฏิรูปจะล้มเหลว เพราะการปฏิรูปจำเป็นต้องมีกฎหมายนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ชัดเจนได้ 

นายเสรีกล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ เสนอว่าให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแห่งชาติ มีหน้าที่จัดทำแผนการออกกฎหมายเสนอต่อสภา มีการบูรณาการทำงานของหน่วยงานยุติธรรมทั้งองค์กรตำรวจ ทนายความ อัยการ และศาล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้เท่าเทียมกัน หากจะเลือกคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ในแต่ละศาลเหมือนที่ผ่านมา ให้กำหนดสัดส่วนแบ่งเป็นชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ให้ตุลาการเลือกบุคคลที่มาจากตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะ มีอายุไม่เกิน 65 ปี และเสนอให้มีศาลแขวงประจำอำเภอเพื่อแก้ปัญหาทางคดี

ลดวาระศาลรธน.เหลือ 6 ปี

"ส่วนศาลรัฐธรรมนูญให้กำหนดองค์คณะ 9 คน วาระ 6 ปี อายุไม่เกิน 70 ปี ศาลปกครองมีปัญหาเดียวคือทำคดีล่าช้า ส่วนอัยการ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องปลอดจาก การแทรกแซงทางการเมืองทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ขณะที่ป.ป.ช.มีปัญหาคือคดีคั่งค้าง ดังนั้น ต้องหาวิธีสะสางคดีที่คั่งค้างออกไป โดยมีข้อเสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อาทิ ให้ข้าราชการทุกระดับต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยยื่นกับหน่วยงานต้นสังกัดแทนป.ป.ช. ส่วนกกต.ไม่ควรมีหน้าที่ตัดสินให้เลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้ใบเหลือง ใบแดงทั้งก่อนและหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้ง โดยให้ศาลยุติธรรมซึ่งมีบุคลากรที่มีความพร้อมเป็น ผู้พิจารณา ทั้งนี้ไม่ใช่การลดอำนาจแต่เพื่อปกป้อง กกต.ให้ทำงานจัดการเลือกตั้งได้สะดวก" นายเสรีกล่าว 

บวรศักดิ์ปรามช่วยทอนข่าวลือ

เวลา 20.45 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีข้อเสนอที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ที่เสนอให้มีคณะกรรมการกิจการตำรวจ สภาตำรวจ ตลอดจนให้นำระบบยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ หากทำได้ก็จะถือเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีการเสนอเพิ่มองค์กรใหม่ๆ จำนวนมาก อาทิ ศาลทุจริต ศาลเลือกตั้ง ศาลสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณและรัฐสภา เป็นต้น แต่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ตั้งองค์กรใหม่จำนวนมากสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ตามมาตรา 35 วรรคท้าย ซึ่งวันนี้เราได้ข้อเสนอเพิ่มหน่วยงานอีกเป็นอันมาก หากเพื่อนสมาชิกจะเมตตาไตร่ตรองข้อเสนอตั้งองค์กรเหล่านั้นอย่างรอบคอบอีกสักรอบ หากว่าสมควรและเหมาะสมก็จะนำมาผลักดัน แต่หากสมาชิกไม่แน่ใจเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกไป หากในอนาคตมีการทบทวนถึงความเหมาะสม ก็จะนำไปสู่ความต้องการจะแก้ไขได้ 

"เมื่อวานนี้มีการปล่อยข่าวลือไม่เป็นสิริมงคลจนทำให้หุ้นตก วันนี้การทำงานของเราก็มีการปล่อยข่าวลือเรื่อง ให้ยกเลิกการบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แต่ข่าวลือก็คือข่าวลือ หากสมาชิกช่วยกันระงับดับทอนข่าวลือนี้ได้ก็จะเป็นบุญคุณกับบ้านเมือง ขณะที่กมธ.ยกร่างฯ เองไม่หวั่นไหว เพราะเรารู้ว่าอะไรคือความจริง ฝากเรียนผู้ชมทางบ้านได้ด้วยว่า อย่าตื่นข่าวลือ หากมีอะไรก็สอบถามเข้ามา" นายบวรศักดิ์กล่าว 

เหลือรับฟังอีก 3 คณะ

จากนั้น น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่สอง ในฐานะประธานการประชุม สั่งปิดการประชุม พร้อมนัดประชุมรับฟังข้อเสนอแนะจากกมธ.ปฏิรูปที่ยังเหลืออีก 3 คณะ คือ คณะปฏิรูปการท้องถิ่น คณะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะปฏิรูปการเมือง ในวันที่ 17 ธ.ค. เวลา 09.30 น. และแจ้งว่าเมื่อพิจารณาครบทั้งหมดแล้วจะขอมติจากที่ประชุมต่อไป รวมเวลาการอภิปรายข้อเสนอแนะต่อการยกร่างฯ วันที่สองกว่า 11 ชั่วโมงครึ่ง

วันเดียวกัน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์ชัย ชาติพุดซา นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายสุระ รุ่งสันเทียะ รองประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย จ.นครราช สีมา และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ ในพื้นที่กว่า 30 คน ยืนถือป้ายข้อความคัดค้านการยุบราชการส่วนภูมิภาคและเลือกตั้งผู้ว่าฯ พร้อมยื่นหนังสือผ่านนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เพื่อส่งถึงนายกฯ ประธานสปช. ประธานสนช. และประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาทบทวนแนวคิดการยุบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค 

สนช.ยันถกภาษีมรดก18ธค.นี้

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.ที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. 71 ฉบับ โดยให้ความเห็นชอบผ่านเป็นกฎหมายแล้ว 42 ฉบับ และยังมีร่างพ.ร.บ.ที่มีความเร่งด่วนรอเข้าสู่การพิจารณาของสนช.อีก 37 ฉบับ โดยในวันที่ 18 ธ.ค. ที่ประชุมจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ... โดยกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นร่างกฎหมายใหม่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยจะเก็บภาษีผู้ที่รับมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ปรากฏว่ายังมีเนื้อหาที่กระทบต่อคนระดับกลางและเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนมาก ดังนั้น ในชั้นกรรมาธิการจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและคงใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่ากฎหมายฉบับอื่น 

นพ.เจตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ....ในวาระแรก ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเงินให้กับตุลาการศาลทหารและอัยการให้เท่ากับตุลาการศาลยุติธรรม ศาลปกครองและอัยการสูงสุด ส่วนร่างพ.ร.บ.เหรียญพิทักษ์ เสรีชน (ฉบับที่...) พ.ศ.... วิปสนช.มีมติชะลอร่างกฎหมายไว้ก่อน โดยเจตนาของกฎหมายต้องการให้เหรียญพิทักษ์เสรีชนแก่ทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการสู้รบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งทหารที่ส่งไปต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล แต่หลักการมีการเขียนไว้อย่างกว้างๆ วิปสนช.อยากให้รัฐบาลแก้ไขหลักการให้แคบลงหรือเปลี่ยนชื่อร่างเพื่อให้ครอบคลุมผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง ป้องกันผู้แอบอ้างขอเหรียญ

โคราชจี้วทยุชุมชนแพร่เสียงคสช.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ธ.ค. ที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา พล.ต.เสริมศักดิ์ นิยะโมสถ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 21 พร้อมนายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าฯ นครราชสีมา และนายศักดิ์ศรี ว่องไว ผอ.กทสช. เขต 7 นครราชสีมา ร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ และลงนามบันทึกข้อตกลงกับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทดประลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่สามารถออกอากาศได้ ประเภทวิทยุชุมชนสาธารณะ และธุรกิจ รวม 158 แห่ง เขตพื้นที่จ.นครราชสีมา เพื่อให้ทุกสถานีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างเคร่งครัด และจะต้องไม่ฝ่าฝืน คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นายศักดิ์ศรีกล่าวว่า ได้ตรวจพบและรับข้อร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง กรณีสถานีวิทยุชุมชนส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ กสทช.และคสช. ที่ให้ถ่ายทอดสัญญาณทุกวันเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. ให้เปิดเพลงชาติไทย ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 06.00-06.30 น. หรือ 07.00-07.30 น. ถ่ายทอดข่าวสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย (สวท.) ทุกวันเวลา 18.00-18.18 น. รายการเดินหน้าประเทศไทย (คสช.) เวลา 20.00-20.10 น. ข่าวในพระราชสำนักหรือถ่ายทอดข่าวอื่นๆ โดยเฉพาะทุกวันศุกร์ เวลา 20.15-21.00 น. รายการคืนความสุขให้คนในชาติ 

"โดยพบว่าสถานีวิทยุชุมชนนับสิบรายไม่เคยลิงก์สัญญาณถ่ายทอดรายการดังกล่าว ซึ่งเป็นพฤติการณ์ไม่ให้ความร่วมมือกับคสช. ส่วนใหญ่เป็นสถานีวิทยุชุมชนสาธารณะที่มี พระภิกษุเป็นผู้บริหาร อ้างช่วงดังกล่าวเป็นรายการธรรมะ" นายศักดิ์ศรีกล่าว 

นายศักดิ์ศรีกล่าวว่า สถานีวิทยุชุมชนบางแห่ง ยังมีรายการเนื้อหาขัดแย้งกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 แสดงความคิดเห็นก่อให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือนและสร้างความสับสนให้สังคม โดยวิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช. ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หลังทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ทุกสถานีจะต้องปฏิบัติคำสั่งตามอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หากตรวจพบมีมาตรการลงโทษ ครั้งแรกว่ากล่าวตักเตือน ต่อไปเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ขณะนี้มีสถานีวิทยุชุมชนนับสิบแห่งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ครม.อนุมัติตั้ง9กรรมการปปง.

วันที่ 16 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าครม.เห็นชอบตามที่รมว.ยุติธรรม เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) 9 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบวาระ เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้ความเห็นชอบ ดังนี้ 1.นายสมพล เกียรติไพบูลย์ 2.นายอติ ไทยานันท์ 3.พ.ต.อ.ทิวลิป เครือมา 4.นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ 5.พล.ต.ต.สุเทพ รมยานนท์ 6.นายพิทยา จินาวัฒน์ 7.นายปริญญา หอมอเนก 8.พล.ท.สมร ศรีทันดร และ 9.นายวันชัย รุจนวงศ์ 

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า ครม.ยังมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกชุดใหม่ 6 คน แทนกรรมการเดิมที่ครบวาระ ดังนี้ 1.พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ 2.นายระพินทร์ จารุดุล 3.นายสมหวัง ดำรงพงศาวัฒน์ 4.นายภาณุมาศ ศรีศุข 5.นางเสาวนีย์ กมลบุตร 6.นายอุดม พัวสกุล ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.เป็นต้นไป 

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า และอนุมัติตามที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัยชุดใหม่ 8 คน แทนชุดเดิมที่ครบวาระ ประกอบด้วย นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ เป็นประธานกรรมการ นายยอดหทัย เทพธรานนท์ นายจรัญ จันทลักขณา นายครรชิต มาลัยวงศ์ นายภิเศก ลุมพิกานนท์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นางปราณี กุลละวณิชย์ และนายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ กรรมการ ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.เป็นต้นไป 

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางกาญจนา เทวะศิลชัยกุล รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง 

"ปปช.-อสส."ยังไม่สรุปคดีข้าว"ปู"

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี สำนักงานป.ป.ช. ประชุมร่วมกับคณะกรรมการอัยการสูงสุด (อสส.) ประจำปี 2557 โดยปีนี้สำนักงานป.ป.ช.เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกรรมการและผู้บริหารของสำนักงานเข้าร่วม 

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. แถลงภายหลังการหารือว่า ที่ประชุมหารือ 3 ประเด็นคือ 1.แนวทางและความร่วมมือไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งต่อไปอสส.จะมาร่วมไต่สวนกับป.ป.ช.ตั้งแต่ต้นเลย 2.การไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช. พบว่ามีพยานของป.ป.ช. ที่ร่วมกระทำผิดแล้วป.ป.ช.กันเอาไว้เป็นพยาน ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาจำนวนมาก ต่อไปอสส.จะรับแก้ต่างคดีให้ 3.เรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานฝ่ายอสส.และป.ป.ช. ป.ป.ช.อยากให้ตั้งเฉพาะประเด็นหลักและสำคัญ ให้ดูเป็นรายกรณีตามที่คณะทำงานร่วมเห็นสมควร ซึ่งบรรยากาศการประชุมเรียบร้อยดี ไม่มีการโต้เถียงหรือเอาชนะคะคานกัน ต่างฝ่ายต่างเสนอว่าเห็นควรทำอย่างไร ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นทั้งสองฝ่ายรับได้ทุกแนวทาง

เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น คงจะคุยกันอีกครั้งในการประชุมคณะทำงานร่วมนัดหน้า ซึ่งอสส.เสนอเองว่าจะประชุมภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ ถ้ายังมีข้อสรุปไม่ตรงกัน คณะทำงานแต่ละฝ่ายจะต้องรายงานเข้าคณะกรรมการของสำนักงานตัวเองในเดือนม.ค. 58 หากคณะทำงานร่วมฝ่ายป.ป.ช.พิจารณารับข้อเสนอของฝ่ายอสส.ได้ กระบวนการอาจยืดออกไปอีกเพราะต้องสอบพยานเพิ่มเติม ส่วนคดีระบายข้าวแบบจีทูจีเป็นอีกสำนวนหนึ่งที่ป.ป.ช.ไต่สวนอยู่ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งใกล้เสร็จแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 ธ.ค. เวลา 10.30 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ พร้อมด้วยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะยื่นหลักฐานขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของกรรมการป.ป.ช.คนหนึ่ง หลังพบหลักฐานชัดเจนว่าขาดคุณสมบัติความเป็นป.ป.ช. โดยจะแถลงข่าวและแจกหลักฐานทั้งหมด รวมทั้งหนังสือที่ยื่นต่อป.ป.ช.แก่สื่อมวลชนด้วย ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ

ครม.ไฟเขียวเพิ่มอำนาจสันติบาล 

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ โดยสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับกองบัญชาการตำรวจสันติบาล(บช.ส.) มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นอกเหนือจากการสืบสวนหาข่าวด้านความมั่นคงของประเทศ เพราะที่ผ่านมาหากเกิดเหตุเร่งด่วนที่ต้องเข้าตรวจสอบและตรวจค้นพื้นที่ต่างๆ ไม่สามารถขอหมายค้นได้ ทำให้การปฏิบัติงานล่าช้าขาดความคล่องตัว 

"จึงต้องมีการเพิ่มอำนาจให้กับกองบัญชาการตำรวจสันติบาล และหน่วยระดับกองบังคับการในสังกัด อาทิ กองบังคับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 2 และ 4 ให้มีหน้าที่สืบสวนและสามารถปฏิบัติงานตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ด้วย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

สวนยางพัทลุงขอโลละ65บาท

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปจ.พังงา ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ เพื่อร่วมงานรำลึกเหตุการณ์สึนามิและอาจได้พบกับกลุ่มชาวสวนยางว่า ตนยังไม่ทราบว่าทีมงานของนายกฯ จัดกำหนดการที่จ.พังงาอย่างไร และยังไม่ได้แจ้งมา ทุกวันนี้ตนก็เดินทุกสายเพื่อแก้ปัญหายางพาราอยู่แล้ว ถ้าเป็นเรื่องที่ทำได้ก็ทำให้ ซึ่งทำให้ราคาขึ้นได้แค่ไหนก็แค่นั้น

ที่จ.สุราษฎร์ธานี นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี แกนนำแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตร จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า วันนี้จะไม่เคลื่อนไหวทวงคำตอบจากรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าราคายางขยับขึ้นแล้วก.ก.ละ 2-3 บาท ตามมาตรการของรัฐ ซึ่งน่าพอใจบ้างแล้ว และอีกส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนไปเข้าทางอีกฝ่ายหนึ่งที่รอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่จึงต้องหยุดไว้ก่อน

ที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายปรีชา ขาวสังข์ อายุ 56 ปี แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.พัทลุง พร้อมเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน และอ.ศรีบรรพต ประมาณ 60 คนรวมตัวกันยื่นหนังสือให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยมีนายสุรินทร์ เพชรสังข์ รองผู้ว่าฯพัทลุง เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นายปรีชากล่าวว่า ขณะนี้ชาวสวนยางพาราเดือดร้อนอย่างมากจากราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยราคาในพื้นที่จ.พัทลุง ล่าสุดน้ำยางสดอยู่ที่ 35-37 บาทต่อก.ก. ราคายางก้นถ้วยอยู่ที่ก.ก.ละ 15-17 บาท ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงมายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาน้ำยางสดที่ 65 บาท และราคายางก้นถ้วยที่ 35 บาท  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!