WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8788 ข่าวสดรายวัน


'ตู่'ชี้เจ๊ง 6.8 แสนล. 
ขาดทุนจำนำข้าว 'เหลน'แจง 25 ล้าน ทำหนัง 12 ค่านิยม


ลงนาม- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯจีน ร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลงความร่วมมือก่อสร้างรถไฟทางคู่ในไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 

เผยผลตรวจสอบสต๊อกข้าวโครงการจำนำ 4 โครงการรวม 17 ล้านตัน สรุปพบข้าวเสื่อมสภาพผิดชนิด ข้าวล้ม รวม 4.7 ล้านตัน "บิ๊กตู่"ลั่นให้อคส.แจ้งความดำเนินคดีผู้รับผิดชอบ อ้างถ้าขายได้ทั้งหมดจะมียอดขาดทุนอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท สปช.-สนช.ส่งมอบความคิดเห็นให้กมธ.ยกร่างรธน.ใหม่ อาจารย์ปื๊ดกางปฏิทินวันที่ 17 เม.ย.2558 จัดทำส่งให้สปช.พิจารณาและเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติม และลงมติครั้งสุดท้ายวันที่ 6 ส.ค.พร้อมนำขึ้นทูลเกล้าฯวันที่ 4 ก.ย. "หม่อมเหลน"แจงงบ 25 ล้านสร้างหนังสั้นค่านิยม 12 ประการไม่ถือว่าแพงมาก 



วีระกานต์ให้ข้อเสนอกมธ.ยกร่างฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 ธ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม เพื่อรับฟังความเห็นของนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่มาให้ความคิดเห็นในนามส่วนตัว โดยนายวีระกานต์มาถึงตั้งแต่เวลา 08.00 น.และนั่งพูดคุยกับกมธ.ยกร่างฯ อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ในห้องรับรองชั้น 3 อาคาร 3 



นายวีระกานต์กล่าวต่อที่ประชุมกมธ.ตอนหนึ่งว่า ตนเพิ่งมีเสียงพูด คงกำลังใช้กรรมเก่าที่เคยด่าคนอื่นไว้มาก เพราะเป็นภูมิแพ้ ยืนยันว่าไม่ได้มาในนามของแกนนำนปช.ตามที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯระบุไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะมีข่าวใหญ่กว่าที่ตนมาให้ความเห็น คือนปช.ขับตนออกจากกลุ่ม เนื่องจากเขามีมติแล้วว่าจะไม่ร่วมในวงนี้ สาเหตุที่แกนนำนปช.บางคนประกาศชัดว่าไม่ขอร่วมรำวงในครั้งนี้ เพราะรำวงรอบนี้เป็นรอบเหมาของทหาร แล้วจิ๊กโก๋ท้องถิ่นอย่างเราจะมาสะเออะทำไม ตนจึงมาให้ความเห็นในนามส่วนตัวตามที่พรรคพวกซึ่งเป็นกมธ.ยกร่างฯบางคนเชิญมา



ต่อมาเวลา 11.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายบวรศักดิ์ได้ลงมาส่งนายวีระกานต์ หลังจากมาให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการร่างรัฐธรรมนูญในนามส่วนตัว ซึ่งใช้เวลาแสดงความเห็น 4 ชั่วโมง โดยผู้สื่อข่าวถามนายวีระกานต์ว่าจะนำเรื่องที่หารือกับกมธ.ยกร่างฯไปพูดคุยกับแกนนำนปช.หรือไม่ นายวีระกานต์กล่าวว่าเดี๋ยวไปคุยกับนปช.



ค้านเลือกตรงนายกฯ-แนะประชามติ

จากนั้นเวลา 12.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแถลงว่า นายวีระกานต์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเลือกตั้งนายกฯและครม.โดยตรง ส่วนส.ส.ควรต้องสังกัดพรรคตามเดิม เพราะเกรงว่าหากส.ส.ไม่สังกัดพรรค จะทำให้ส.ส.มีพฤติกรรมที่ชอบเปลี่ยนจุดยืนและไม่สามารถเสนอกฎหมายได้ นอกจากนี้ในหมวด 3 เกี่ยวกับศาลและกระบวนการยุติธรรมนั้น นายวีระกานต์เห็นว่าศาลควรมีจุดยึดโยงกับประชาชน เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในศาลควรได้รับความเห็นชอบจากส.ส.หรือส.ว.เหมือนในต่างประเทศ เช่นเดียวกับผู้พิพากษาหรือศาลควรได้รับการตรวจสอบ พร้อมทั้งเห็นด้วยกับแนวคิดให้บุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ส่วนองค์กรอิสระเห็นว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีอิสระมากเกินไปและไม่เคยเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ 



พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า นายวีระกานต์ยังให้ความเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯมาจากการแต่งตั้งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงเห็นว่าก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรทำประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการยอมรับ ส่วนการสร้างความปรองดองนั้น หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็จะสร้างความปรองดองได้เกินครึ่งแล้ว เพราะกมธ.ยกร่างฯเปรียบเหมือนเป็นคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ต้องเขียนกฎหมายแบบไม่มีอคติ 



โฆษกกมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า ที่ประชุมได้ถามนายวีระกานต์ถึงแนวทางนิรโทษกรรม ซึ่งนายวีระกานต์ก็เห็นด้วยโดยเฉพาะนิรโทษกรรมให้ประชาชนและผู้ร่วมชุมนุม ไม่ใช่การนิรโทษกรรมให้แกนนำหรือผู้สั่งการ แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาว่าจะต้องย้อนกลับไปถึงเมื่อไร



ผลสต๊อกข้าว6.7หมื่นตันผิดปกติ

เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ครั้งที่ 5/2557 ว่าโดยสรุปข้าวที่คสช.ตรวจสอบ 17 ล้านตัน ผ่านมาตรฐาน 2.35 ล้านตัน ส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐานไม่ใช่เป็นข้าวเสีย บางส่วนยังเป็นข้าวที่ปรับปรุงได้ เป็นข้าวที่มีคุณภาพอยู่ 13 ล้านตัน ส่วนข้าวที่ผิดมาตรฐาน เสื่อมสภาพมี 7 แสนตัน ข้าวที่ผิดชนิด 6.7 หมื่นตัน 



"การตรวจสอบแบ่งข้าวเป็นเกรด เกรดเอ คือการขายได้ตามมาตรฐาน เกรดบี คือข้าวที่ต้องปรับปรุง ราคาอาจตกลงเล็กน้อย ส่วนข้าวเกรดซี คือต้องแจ้งความและดำเนินคดี ซึ่งได้ส่งเรื่องไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) เพราะถือเป็นการปิดบัญชีครั้งสุดท้ายแล้ว ทั้งนี้ ในการประมาณการโครงการรับจำนำข้าว 4 โครงการ หากขายข้าวทั้งหมดแล้วจะขาดทุนที่ 6.8 แสนล้านบาท แต่หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ประเมิน ส่วนการดำเนินคดีนั้นจะมีทั้งคดีแพ่งและอาญา มีการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งยังไม่สามารถสรุปตัวเลขได้ ต้องดูว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เท่าไร อีกทั้งเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วต้องตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต้องมีการชี้แจงและตอบโต้ในเรื่องข้อมูล โดยเฉพาะตัวเลขการชดเชยให้กับชาวนา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว



เตรียมเปิดประมูล-ระบายข้าว

เมื่อถามว่าการระบายข้าวครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับข้าวที่จะออกในฤดูกาลนี้ใช่หรือไม่ นายกฯปฏิเสธว่า ไม่กระทบ เพราะการระบาย เราต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม ดูว่าจะขายข้าวในโครงการรับจำนำและข้าวใหม่ในช่วงใด เพราะเราต้องการยกระดับข้าวใหม่ด้วย ไม่ใช่นำข้าวเก่าออกมาตี จนเกิดข่าวลือต่างๆ นานาทำให้ราคาข้าวตกทั้งหมด ถึง วันนี้รัฐบาลมั่นใจในนโยบายข้าวที่ดำเนินการอยู่ จะไม่ซ้ำกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต้องช่วยกันไม่ให้เกิดทุจริต



นายกฯกล่าวว่า การระบายข้าวต่อจากนี้จะมีทั้งในและต่างประเทศ เปิดประมูล มีการตรวจสอบจากผู้ชำนาญการโดยมีหลักการว่าการประมูลแบบยกคลัง หากคลังไหนคุณภาพสมบูรณ์สามารถประมูลได้ทั้งคลัง แต่ถ้าคลังไหนข้าวไม่สมบูรณ์ให้แยกขายเป็นประเภท ตั้งราคากลางไว้



เมื่อถามว่ามีการตั้งเป้าหรือไม่ว่าจะใช้เวลาระบายข้าวที่เหลือกี่ปี นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเราเร่งขายเร็วเกินไปจะทำให้ราคาข้าวตก เกิดปัญหา ดังนั้นเราจะใช้วิธีระบายข้าวตามความต้องการและสภาพข้าวที่มีอยู่ แต่ต้องพิจารณาว่าถ้าเก็บไว้นานจะมีผลกระทบกับคุณภาพข้าว รวมทั้งต้องคำนึงว่า เราเสียค่าเช่าโกดังเก็บข้าวต่อเดือน 2 พันกว่าล้าน ที่สำคัญอยู่ที่ผู้ซื้อจะซื้อข้าวเราหรือไม่ แต่จะให้เสร็จภายใน 3 ปี และเพิ่มการค้าขายภายในประเทศ โดยการเปิดตลาดข้าวในประเทศให้เกษตรกรมาเป็นผู้ขายเอง ต้องไปหาวิธีเพิ่มมูลค่าของข้าวในแต่ละชุมชนเอง



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในการลงนามเอ็มโอยูกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันนี้ (19ธ.ค.) มีอยู่ 2 เรื่องคือเรื่องรถไฟ และเรื่องข้าว ซึ่งจีนจะซื้อข้าวไทยเบื้องต้น 2 ล้านตัน แต่ทั้งหมดต้องใช้เวลา ไม่ใช่ทำได้เลย และอย่ามองเรื่องขายข้าวอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการยกระดับคุณภาพข้าว สร้างความแตกต่าง ปัญหาข้าวไทยที่ล้นตลาดอย่างหนึ่งคือข้าวไม่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับ รวมทั้งลดปริมาณการปลูกข้าวลง



บิ๊กป้อมสั่งยธ.ล่าตัวผู้ต้องหาคดี112

ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการติดตามผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในและต่างประเทศว่า มอบให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในภาพรวม เพื่อทำความเข้าใจกับต่างประเทศที่อาจจะไม่เข้าใจและคิดว่าเป็นคดีการเมือง ซึ่งไม่ใช่แต่เป็นเรื่องการทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาติดตามตัวบุคคลเหล่านี้ เพราะคนที่เกี่ยวข้องเขารีบดำเนินการอยู่ เวลานี้บุคคลเหล่านั้นอยู่ที่ไหนยังไม่รู้เลย จึงต้องใช้เวลาสืบสวน อย่าไปตีกรอบเวลามากนัก ตนก็ถูกบีบอยู่แล้ว ขณะที่โรดแม็ปก็ยังทำต่อไป ดังนั้น นักข่าวอย่ามากำหนดกรอบเวลาให้เลย ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำทุกอย่างเต็มที่ดีที่สุดเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ส่วนรายละเอียดคณะทำงาน ต้องสอบถามจากรมว.ยุติธรรม 



ต่อข้อถามว่าผู้ที่มีคดีทำผิดมาตรา 112 ซึ่งได้สัญชาติในต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องถามกระทรวงยุติธรรม เพราะตนมอบหมายไปแล้ว คาดว่าคงไปศึกษารายละเอียดว่าจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน เชื่อว่ารมว.ยุติธรรมรู้ว่าจะดำเนินการอะไรอย่างไร ไม่ต้องนัดติดตามความคืบหน้า ที่ผ่านมาก็ทำอยู่แล้ว เมื่อนายกฯมอบหมายก็ต้องทำให้ชัดเจน 



ตรวจสอบองค์กรเสรีไทย-จารุพงศ์

เมื่อถามว่าการติดตามตัวจะเสร็จก่อนมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรายังไม่รู้เลยว่าบุคคลเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ส่วนที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรมว.มหาดไทยและแกนนำองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เคลื่อนไหวในต่างประเทศนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องดูในภาพรวม อย่าบอกเป็นคนๆ ต้องถามว่าเขามีความผิดมาตรา 112 หรือไม่ เอาเป็นว่าคนไหนผิด 112 ก็ดำเนินการหมด



พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีนายจารุพงศ์ แถลงการณ์ระบุองค์การเสรีไทยฯ จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของสหรัฐว่า จะไปจดทะเบียนที่ใดตนไม่ทราบ ตั้งองค์การอะไรยังไม่รู้และจะจดอย่างไร แต่คิดว่าจะเชื่อมโยงองค์กรให้ไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งนี้ ตนไม่ห่วงว่าจะกระทบต่อความมั่นคง อย่างไรก็ตาม องค์การดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพราะยังไม่ทราบว่ามีองค์การดังกล่าวเพื่ออะไร จดในนามมูลนิธิเพื่อไปขอเงินใครหรือไม่ แต่ถามว่านายจารุพงศ์ มีความผิดหรือไม่ ก็ต้องดำเนินการถ้าผิดกฎหมาย



"ไพบูลย์"ให้ดีเอสไอรับผิดชอบ

ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การติดตามผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ที่ยังคงหลบหนีในต่างประเทศนั้น พล.อ.ประวิตร มอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดตามมาดำเนินคดี และให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงประเทศต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดใช้เหตุผลการลี้ภัยทางการเมืองว่าถูกกลั่นแกล้ง เพื่อหลบหนีเข้าไปในประเทศต่างๆ ความจริงหลายคนมีความผิดมาตรา 112 ถือเป็นคดีอาญา โดยนายกฯเน้นย้ำให้ชี้แจงประเด็น ดังกล่าวให้ต่างชาติเข้าใจ ทั้งนี้ ตนจะเข้าพบนายกฯเพื่อรายงานการทำงานและสอบถามเรื่องที่นายกฯสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการในส่วนใดบ้าง



ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีนายจารุพงศ์ว่า การจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้รับการโปรดเกล้าฯอย่างเป็นทางการ และข้าราชการก็มาร่วมกันแก้ไขปัญหาประเทศ ควรปล่อยให้เป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ หากจะแสดงความเห็น ขอให้อยู่ในรูปแบบของ สปช.น่าจะดีกว่า นอกจากนี้การที่นายกฯ ไปเยือนหรือไปประชุมร่วมกับประเทศในอาเซียนและในแถบยุโรป ถือว่าต่างประเทศให้การยอมรับรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนสหรัฐก็ตอบรับเราในลักษณะอยากให้กลับสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเราดำเนินการตามโรดแม็ป อยู่แล้ว



"ปนัดดา"คุ้ม-25ล.หนังค่านิยม

ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลตอบรับการฉายภาพยนต์สั้นชุด "ไทยนิยม" ส่งเสริมหลักค่านิยมหลัก 12 ประการ เฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 จำนวน 12 เรื่อง ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ร่วมกับภาคเอกชนจัดสร้างว่า ภาพรวมถือว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดี มีผู้เข้าชมเต็มเกือบทุกรอบ ส่วนจะขยายเวลาฉายออกไปหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนหนึ่งเราเกรงใจโรงภาพยนตร์ที่ให้ความร่วมมือในการจัดฉายภาพยนตร์ด้วย



เมื่อถามกรณีมีการวิจารณ์งบประมาณที่ใช้สูงถึง 25 ล้านบาท ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ไม่มากไปสำหรับสิ่งที่ดำเนินการ และอยากให้มองถึงผลตอบรับน่าจะดีกว่า ต่อข้อถามว่ากังวลกับเสียงวิจารณ์ทางสื่อโซเชี่ยลเกี่ยวกับงบประมาณในแต่ละโครงการที่รัฐบาลดำเนินการหรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเราทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และบริสุทธิ์ใจมาตลอด 



บิ๊กตู่หายเหนื่อย-ชมคนชูค่านิยม

เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจตอนหนึ่งว่า ขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันปฏิบัติตาม "ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลตลอดทั้งปี ขอความร่วมมือสื่อทุกแขนงอีกครั้ง นำเสนอสร้างสรรค์ สร้างกำลังใจให้กัน ซึ่งตนติดตามข่าวตลอด เด็กทำความดีช่วยพ่อแม่กวาดถนน หรือคนขับแท็กซี่เก็บของคืนเจ้าของ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ในค่านิยม 12 ประการ 



นายกฯกล่าวว่า เวลาเหนื่อยๆ เครียดๆ พอได้เห็นข่าวเหล่านี้จะรู้สึกมีแรงบันดาลใจเพิ่มเหมือนเติมพลัง ทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยมีเยาวชนและคนดีๆ ที่น่ายกย่อง เป็นความหวังของชาติ สอดคล้องกับค่านิยมไทย อยากให้ทุกคนเอามาเป็นตัวอย่างซึ่งมีอีกมาก



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เราได้ความเชื่อมั่นกลับมาพอสมควร การท่องเที่ยวดีขึ้น บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีเสถียรภาพ ปลอดภัยขึ้น และให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริต ซึ่งรัฐบาลกับคสช.ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เพื่อบูรณาการจากหลายส่วน ทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง จะมีกรรมการทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะราชการ มีภาคเอกชนด้วย แต่คงไม่ไปชี้เป็นชี้ตายกับใครได้ เพียงแต่ไปติดตามเรื่อง จะได้เกิดความชัดเจนขึ้น ขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น



อย่าเดินขบวนเสียเวลา-โอกาส

นายกฯกล่าวว่า วันนี้ยางของเราพัฒนาหลายรูปแบบ ประเด็นสำคัญของราคายาง ถ้าเราขายยางมีแต่ตกลงไปเรื่อยๆ ทุกปี เพราะแข่งกันเยอะ รอบบ้านปลูกกันได้ ต้นทุนต่อกิโลกรัมถูกกว่า แต่ของเราต้นทุนสูง พอราคาตกต่ำกว่าต้นทุนก็ลำบากแล้ว ดังนั้น เราต้องเอามาทำนวัตกรรม ซึ่งกำลังคุยกับบริษัทที่เขาทำอยู่ รับซื้อยางมาแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตให้ได้ จะได้ยกราคายาง เราคิดทุกอย่าง เกษตรกรต้องอดทนกันไปนิดหนึ่ง ตนรู้ว่าเดือดร้อน เห็นใจ ไม่ได้หลอกลวง ทั้งข้าว ทั้งยาง ทั้งมันหลายอย่าง ผลิตผลการเกษตรค่อนข้างมีปัญหา อ้อย น้ำตาล พันกันไปหมด ถ้าเราช่วยอย่างหนึ่งอีกอย่างหนึ่งเดือดร้อนแล้วทำอย่างไร ไม่มีสตางค์ให้เขาแล้ว จึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้ สร้างความยั่งยืน 



"พี่น้องมาเดินขบวน เสียเวลา เสียโอกาส บั่นทอนจิตใจ รัฐบาลเจ็บปวดกว่าอีกเยอะ เพราะเราอยากทำ ตั้งใจทุกอย่างแต่มันติดขัดด้วยปัญหาหลายอย่าง กฎหมาย กองทุนสวนยางต่างๆ ต้องแก้หมด นี่คือสิ่งที่เราทำ จ่ายเงินมันก็ง่าย แต่ปัญหาข้างหลังเยอะ ไม่รู้จะทำยังไง ก็เห็นใจกัน พร้อมสนับสนุนทุกโครงการที่เป็นสินค้าของไทย ที่ผ่านมาเราขาดความเข้าใจทุกมิติ รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไม่ยั่งยืน วันนี้เราจะต้องแก้ แต่ต้องอดทน ขอให้เข้าใจ 3 เดือนที่เข้ามา รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ หลายอย่างต้องสะสาง ปัญหาหมักหมมมานาน พี่น้องเกษตรกรต้องเข้มแข็งแล้วเรียนรู้ อย่าไปทำตามธรรมชาติอีกต่อไป ต้องศึกษาด้วยทุกเรื่อง" นายกฯกล่าว



ชมบริษัทที่ยอมขายสินค้าถูก

นายกฯกล่าวว่า วันนี้สื่อเทคโนโลยีเร็ว โซเชี่ยลมีเดียเร็ว จึงต้องมีสติ อย่าเชื่อกันโดยไม่มีเหตุผล ทำให้เกิดผลเสียเกิดตื่นตระหนก แล้วรัฐบาลจะทำอะไรได้ ถ้าไปเชื่อข่าวลือ รัฐบาลพูดสื่อก็ไม่ฟัง พอข่าวลือมาก็ฟัง แล้วกลับมาถามตนว่าเห็นมีข่าวลือ เริ่มต้นว่าข่าวลือก็เป็นข่าวลือ ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง ก็ต้องแถลง มีอะไรต้องบอกต้องแจ้งไม่ใช่ ว่าปิด 



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลและกระทรวงจะมอบให้ก็เหมือนของขวัญอื่นๆ เพราะเราเป็นคนไทย เป็นวัฒนธรรมไทยที่ปีใหม่ก็มีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้กัน รัฐบาลไม่มีอะไรจะให้นอกจากสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน การปฏิรูปต่างๆ เป็นของขวัญที่ยั่งยืน ราคาผลิตผลการเกษตรจะขึ้นโดยสร้างโรงงานขึ้นมา นั่นคือของขวัญที่เราจะมอบอย่างยั่งยืน ซึ่งขอบคุณบริษัทต่างๆ ที่ยอมเสียสละกำไร ขายสินค้าราคาถูก ให้เจริญๆ พวกไหนที่เอาเปรียบคน คงอยู่ได้ไม่นาน อย่าไปอุดหนุน เมื่อบ้านเมืองมีปัญหา รัฐบาลขอร้องก็ช่วยกันหน่อย ซึ่งเป็นกังวลเรื่องนี้ ถ้าไม่รักกันไม่ช่วยกัน ยิ่งเดือดร้อน ยิ่งขึ้นราคา เป็นคนไทยต้องช่วยกัน อย่าว่าตนแรงก็แรง เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ต้องเห็นใจคนลำบาก



นายกฯกล่าวว่า ขอให้มีความสุขในปีใหม่ ทุกคนปลอดภัย เดินทางด้วยความสุข คนขับรถระมัดระวังอย่าดื่มสุรา การรื่นเริงต่างๆ ก็ดื่มสุราแต่น้อย ถ้าใครรู้ว่ามีหน้าที่อะไรก็ต้องระมัดระวัง อย่าให้มันเกินไปจนควบคุมตัวเองไม่ได้ มันบานปลายมาเดือดร้อน ทะเลาะเบาะแว้ง สู้กัน ฆ่ากัน เสียดายชีวิต เกิดมาพ่อแม่เลี้ยงมาตั้งกี่ปี มาตายด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมาเหล้าตาย ขับรถตายเพราะเมาสุรา หรือชกกัน ตีกัน แทงกันตาย ดูทีวีเดี๋ยวทะเลาะกันอีก แทงคนอื่นตายอีก สงสารพ่อแม่เลี้ยงมาตั้งนาน หมดเงินไปตั้งเยอะ แล้วไปตายอย่างไร้ค่า คนเราต้องหมั่นทำความดี ไหว้พระไหว้เจ้า เคารพศาสนา ดูแลทุกคนเป็นกุศล จะได้มีชีวิตที่ยืนยาว แล้วก็เป็นสุข ดูแลคนอื่นเขาด้วย



ส่งมอบความคิดเห็นกมธ.ยกร่าง

เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายพรเพรช วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมสมาชิก สนช. และ สปช.ร่วมส่งมอบรายงานความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 31 วรรคสอง และมาตรา 34 วรรคสองกำหนด 



นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ถือเป็นคณะกรรมการอิสระ ไม่ใช่กมธ.ของ สปช.หรือ สนช.แต่ถือว่ามีความเกี่ยวดองกับทั้ง 2 สภา เนื่องจากมีสมาชิกของ สปช. และ สนช.เข้าร่วมเป็นกมธ.ยกร่างฯด้วย และระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องรับฟังความเห็นของ สนช. และ สปช.รวมถึงครม. คสช. ประชาชน และท้ายสุดต้องนำร่างรัฐ ธรรมนูญมาให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่ ดังนั้น ในความเป็นอิสระของกมธ. ต้องไม่ทำตามอำเภอใจ 



"อจ.ปื๊ด"เชื่อได้ข้อยุติที่มานายกฯ

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ยืนยันการยกร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีพิมพ์เขียว แต่มีพิมพ์ชมพู คือการจัดหมวดหมู่ความคิดเห็นของ สนช. สปช. พรรคการเมือง และประชาชนที่เสนอมาในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรม นูญ มีนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน วิเคราะห์และลำดับประเด็นต่างๆ ดังนั้นยืนยันว่าความเห็นที่นำเสนอมาสู่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นนำไปปฏิบัติใช้จริงๆ ไม่ใช่เป็นการรับฟังแค่พิธีกรรมเท่านั้น บางประเด็น เช่น ภาคที่ 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ที่ยังมีข้อถกเถียง เช่น นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น กมธ.ยกร่างฯ บางคนยังขอสงวนความเห็นไว้และต้อง ถกเถียง สัปดาห์หน้าคาดว่าจะได้คำตัดสิน



นายบวรศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า หลังจากที่กมธ.ยกร่างฯ รับฟังความเห็นสนช. สปช. ประชาชนและพรรคการเมืองแล้วได้นำมาพิจารณา ล่าสุดในบททั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์และประชาชนได้ข้อสรุปแล้ว ดังนั้น คณะอนุกมธ.ยกร่างฯ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะไปดำเนินการยกร่างรัฐ ธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 พิจารณาประกอบกับหลักการที่ กมธ.ยกร่างฯเห็นชอบ รวมถึงในรายละเอียดประเด็นหมวดอื่นที่ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาแล้วเสร็จ เบื้องต้นกำหนดให้ขั้นตอนดังกล่าวแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ม.ค.58 


จี้ช่วยยาง- เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ รวมตัวหน้าศาลากลาง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรียกร้องให้พยุงราคายางให้ได้ก.ก.ละ 80 บาท เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.





กำหนดปฏิทินยกร่างรธน.ใหม่

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนั้น มีการกำหนดปฏิทิน คือ วันที่ 5-11 ม.ค.58 คณะอนุกมธ.จัดทำกรอบรัฐธรรมนูญทั้ง 11 คณะจะนำร่างรัฐธรรมนูญที่คณะอนุ กมธ.ยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาพิจารณาความครบถ้วน วันที่ 12-16 ม.ค.58 จะพิจารณารายละเอียดทั้งหมดใน กมธ.ยกร่างฯชุดใหญ่ ในส่วนของบททั่วไป และภาค 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน วันที่ 19-21 ม.ค.58 จะพิจารณาหมวด 3 ว่าด้วยนิติธรรมและศาล วันที่ 22-28 ม.ค.58 พิจารณาหมวด 3 ในส่วนของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ วันที่ 29 ม.ค.-13 ก.พ. 58 พิจารณาภาค 2 ส่วนของรัฐสภา วันที่ 16-27 ก.พ.58 จะพิจารณาในส่วนของคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 - 4 มี.ค. 58 พิจารณาการคลังและงบประมาณ



วันที่ 5-6 มี.ค.58 พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน วันที่ 9-13 มี.ค.58 พิจารณาการกระจายอำนาจ วันที่ 16 มี.ค.58 พิจารณาบทว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 17-18 มี.ค. 58 พิจารณาการสร้างความปรองดอง วันที่ 19-27 มี.ค.58 พิจารณาการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และวันที่ 30-31 มี.ค.58 พิจารณาบทเฉพาะกาล 



เผยจะไม่ใช้มติตัดสินข้อถกเถียง

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า จากนั้นวันที่ 1-3 เม.ย.58 จะตรวจทานร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้ง วันที่ 17 เม.ย. ส่งให้ สปช.รับไปพิจารณาและเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญและส่งคืนมายัง กมธ.ยกร่างฯภายในวันที่ 25 พ.ค. 58 จากนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในคำขอแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอมาโดย สปช. ครม. คสช. ระหว่างปลายเดือน พ.ค.-23 ก.ค.58 ที่ต้องทำร่างรัฐธรรมนูญสุดท้าย ต้องแล้วเสร็จและส่งกลับไปยังนายเทียนฉาย เพื่อเรียกประชุม สปช.พิจารณา และลงมติภายในวันที่ 6 ส.ค. 58 และภายในวันที่ 4 ก.ย.58 ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทูลเกล้าทูลกระหม่อม แต่หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้ทำประชามติ จะต้องนับจากวันที่ 6 ส.ค. 58 ไปอีก 3 เดือนเพื่อทำประชามติ



"ในประเด็นที่มีข้อถกเถียงระหว่าง กมธ.ยกร่างฯว่าจะนำข้อเสนอใดเพื่อวางเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่ จำเป็นต้องใช้หลักวิชาพิจารณามากกว่าสามัญสำนึกหรือหลักกู โดยสาระสำคัญต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับสังคมไทย ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ด้วย ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันจริงๆ ผมพยายามจะไม่ใช้การลงมติเพื่อตัดสิน แต่หากประเด็นใดไม่สามารถพิจารณาโดยใช้ฉันทามติได้ก็จะใช้การลงคะแนนตัดสิน ประเด็นที่ต้องลงมติผมจะเอาไว้พิจารณาท้ายสุด" นายบวรศักดิ์



เผยสาระสำคัญความเห็นของสนช.

สำหรับความเห็นของกมธ.สนช.ที่น่าสนใจที่นำเสนอ อาทิ กมธ.การเมืองเสนอให้ 1.ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมตัวตั้งคณะบุคคลแล้วทำบัญชีรายชื่อจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของครม. โดยคณะบุคคลดังกล่าวจะสมัครในนามพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ 2.กำหนดให้แต่ละคณะบุคคลมีหมายเลขเดียว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้หมายเลขเดียว 3.ถ้าคณะใดได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 35 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ถือว่าได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ หากไม่มีคณะใดได้ถึงร้อยละ 35 ให้นำคณะที่ได้คะแนนลำดับสูงสุดและรองลงมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง คณะใดได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง และให้จัดตั้งครม.หรือปรับครม.จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดดำรงตำแหน่งได้วาระละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน



ส่วนของระบบรัฐสภา เสนอให้ยังมี 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง กำหนดให้จำนวนเหมาะสมกับจำนวนประชากร ให้เลือกได้หมายเลขเดียว และให้มีผู้สมัครเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ ส่วนวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง 6 ปีวาระเดียว มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วย ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและตัวแทนกลุ่มอาชีพ สำหรับข้อเสนอด้านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เห็นว่ายังจำเป็นต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และต้องเพิ่มจาก 5 คน เป็น 7-9 คน ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เวลา 9 ปีนานเกินไป อาจทำให้เกิดความเฉื่อยชา



โอนศาลรธน.ไปอยู่ศาลยุติธรรม

ด้านกมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ เสนอเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แบ่งตาม 5 กลุ่มวิชาชีพคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เพื่อคานอำนาจและป้องกันเผด็จการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง(ให้ใบเหลืองหรือใบแดง) ควรเป็นอำนาจศาลยุติธรรม เสนอให้โอนภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญไปสังกัดเป็นแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรม สำหรับการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรม นูญจากคราวละ 9 ปี ควรเหลือเพียงวาระละ 4 ปี เพื่อให้ทำหน้าที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมไม่ยาวนานจนสร้างเครือข่ายและอิทธิพลที่จะกระทบต่อหน้าที่



ปปช.รับเลื่อนชี้มูลฟ้อง"ปู"ปีหน้า

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่าคณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ คงหาข้อสรุปได้ไม่ทันปลายปีนี้ คาดว่าจะประชุมนัดสุดท้ายในช่วงต้นปี 2558 เบื้องต้นวันที่ 7 ม.ค. หรือ 14 ม.ค. ขึ้นอยู่กับฝ่ายอสส.จะสะดวกวันใด ส่วนการไต่สวนการทุจริตการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์นั้น ได้เร่งรัดให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวสรุปข้อเท็จจริงคดีนี้ภายในสิ้นปีนี้ แต่ป.ป.ช.คงลงมติตัดสินได้ไม่ทันภายในสิ้นปี น่าจะส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ชุดใหญ่ลงมติได้ต้นปี 2558 มากกว่า 



นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนการไต่สวนการถอดถอนอดีตส.ส. 268 คน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบนั้น ใกล้ได้ข้อยุติแล้ว คาดว่าป.ป.ช.จะลงมติได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยลงมติสรุปผลภายในครั้งเดียว จะไม่ทยอยชี้มูลความผิด นอกจากจะมีคดีถอดถอนแล้วจะลงมติพิจารณาคดีอาญาด้วย เนื่องจากมีส.ส.บางคนมีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเข้าข่ายกระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 



ยุติไต่สวน 310 ส.ส.โหวตนิรโทษ

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงป.ป.ช.ยุติการไต่สวน 310 ส.ส. กรณีร่วมกันเห็นชอบร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมวาระ 3 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงว่า ป.ป.ช.สำรวจคดีค้างเก่าที่ยังไม่ได้วินิจฉัย พบว่ามีคำร้องขอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ประธานวุฒิสภาส่งมาให้ 6 เรื่อง อาทิ คำร้องขอให้ถอดถอนส.ส.ที่ร่วมกันเสนอและเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 3 เรื่อง คำร้องขอให้ถอดถอนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง กระทำการขัดต่อพ.ร.บ. การออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 โดยทั้งหมดเป็นคำร้องว่าฝ่าฝืนและกระทำการขัดรัฐธรรมนูญปี 50 ประเด็นเดียว ซึ่งปัจจุบันป.ป.ช.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแล้วเพราะรัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดลง จึงต้องส่งคืนให้สนช. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ส.ว. ส่วนคดีอื่นๆที่เหลือ ป.ป.ช.จะเดินหน้าไต่สวนต่อ เพราะเป็นคำร้องที่มีการกล่าว หาทั้งทำผิดรัฐธรรมนูญ และยังมีความผิดตามกฎหมายและพ.ร.บ.อื่นๆ อีก 



ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณี 268 ส.ส.ที่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.มิชอบจะพ้นผิดเหมือนกับกรณี 310 ส.ส.ร่วมกันลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว นายสรรเสริญกล่าวว่าคนละกรณีกัน เพราะมูลเหตุเรื่อง 268 ส.ส.ที่ส่งมาให้ป.ป.ช.ไต่สวน นอกจากทำผิดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่มีการเสียบบัตรแทนกันอีกด้วย 



บิ๊กตู่-หลี่เซ็นแล้วรถไฟไทยจีน

วันเดียวกัน พล.ประยุทธ์ ต้อนรับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯจีน ในโอกาสหารือทวิภาคีและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 2 ฉบับ ระหว่างไทยและจีน มีผู้บริหารระดับสูงของสองฝ่ายเข้าร่วม ที่ทำเนียบรัฐบาล 



ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือ ว่าไทยและจีนบรรลุการลงนามความตกลงที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธ ศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งนายกฯเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ทั้งในส่วนของการพัฒนาเส้นทางรถไฟและความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรและขอให้คณะกรรมการร่วมฯ เริ่มการประชุมครั้งแรกภายในในต้นปี 2558



หลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกฯไทยและจีนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 2 ฉบับดังกล่าว สำหรับสาระสำคัญของร่างเอ็มโอยู รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร สำหรับบันทึกว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร จะเป็นการแสดงเจตจำนงของจีนในการซื้อสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าวและยางพารา รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณการสินค้าเกษตรอื่นจากไทยอย่างต่อเนื่อง



เมื่อเวลา 17.30 น.พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับสมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในโอกาสเดินทางมาเยือนไทย เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค. ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล



ยื่น"ตู่"เร่งแก้ยางถูก-จี้ปลด"ปีติพงศ์"

วันที่ 19 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้เคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องผ่านผู้ว่าฯไปยังรัฐบาล อาทิ ที่จ.นครศรีธรรมราช นายทศพล ขวัญรอด ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ พร้อมตัวแทนเกษตรกรฯ อ.ชะอวด ประมาณ 70 คน มายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ผ่านนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช 



โดยยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ 1.เรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างราคายางพาราในก.ก.ละ 80 บาท โดยจ่ายเป็นพันธบัตรรัฐบาล 2.ให้เร่งรัดมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไร่ละ 1,000 บาทโดยเร็ว 3.ผลักดันให้เร่งยุทธศาสตร์การนำยางพาราไปทำถนน เพื่อแก้ปัญหายางพาราล้นสต๊อก และส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และ 4.ให้รัฐบาลตั้งศูนย์การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน พร้อมสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เน้นการใช้ยางภายในประเทศ



นายทศพลได้ยื่นหนังสือตั้งคำถามถึงรัฐบาล ถึงข้อสงสัยที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ เช่น ทำไมรัฐบาลเบรกราคายางไว้ 60 บาท ทั้งที่ชาวสวนยางเรียกร้อง 80 บาท ให้รัฐบาลทบทวนโครงการปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาท ให้กับ กยส. ให้รัฐบาลตรวจสอบสต๊อกยาง 2.1 แสนตัน และให้รัฐบาลปลดนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ และนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งให้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ พิจารณาตัวเองที่ไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้



ด้านนายพีระศักดิ์กล่าวกับสมาชิกเครือข่ายฯว่า เห็นใจชาวสวนยาง เบื้องต้นจังหวัดจะเร่งส่งหนังสือไปยังรัฐบาลโดยเร็ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากกลไกทางตลาด จึงอยากให้ชาวสวนยางอดทน ไม่นานการแก้ปัญหาราคายางจะดีขึ้น



ขณะที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายไพรัฐ เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.พัทลุง พร้อมเกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัด 20 คน ยื่นหนังสือเรียกร้องถึงนายกฯเช่นกัน โดยเรียกร้องให้เช็กสต๊อกยาง 2.1 แสนตันว่ามีอยู่จริงหรือไม่ด้วย โดยมีนายสุรินทร์ เพชรสังข์ รองผู้ว่าฯพัทลุง เป็นผู้รับหนังสือ



"ป๋า"แนะแก้โกงก่อนแก้ยากจน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตร "นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง" (นยปส.) รุ่นที่ 5 จำนวน 72 คน 



พล.อ.เปรมกล่าวให้โอวาทว่า บ้านเมืองมีปัญหาใหญ่ 2 อย่าง 1.ความยากจน 2.การฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งปัญหาความยากจนเป็นภาระของรัฐบาลต้องดูแลราษฎรให้ยากจนน้อยลง แต่ยังไม่เร่งด่วนเหมือนปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ยังมีอยู่มาก ยังแก้ไขไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่น้อยมาก เพราะต่างคิดว่าไม่ใช่ธุระ ใครจะโกงอย่างไรเป็นเรื่องของคนนั้น บางคนบอกไม่ใช่หน้าที่ ใครมีหน้าที่ก็ทำไป บางคนบอกจะไปเพาะศัตรูทำไม อยู่เฉยๆ ดีแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่แย่มาก ใครคิดอย่างนั้นถือว่าไม่ร่วมมือพัฒนาชาติ ไม่รักชาติ



พล.อ.เปรมกล่าวว่า บางคนสอนว่าให้ใช้คุณธรรม จริยธรรม หรือการปกครองที่เราเรียกว่าธรรมาภิบาล ก็ใช้ได้แต่มันช้า อาจจะช้าเกินไป ไม่ทันกับความเลวร้ายในการฉ้อราษฎร์ บังหลวง ฉะนั้น เราต้องทำตัวเราเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องเงยหน้ากล้าพูดยืดอกว่าไม่โกง ต้องกล้าหาญพอที่จะพูดอย่างนั้น ทำให้เขาดูว่าเรากล้าหาญพอที่จะไม่ยกมือไหว้คนโกงชาติบ้านเมือง ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เป็นญาติพี่น้อง เป็นเพื่อนฝูง แต่ถ้าเขาร่ำรวยมาเพราะโกง ตนคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องยกมือไหว้เขา



พล.อ.เปรมกล่าวว่า ตนอยากให้ทุกคนไปสอนคนอื่นให้เกลียดคนโกง เพราะคนโกงคือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่มีในชาติบ้านเมืองเรา สิ่งสำคัญคือเราต้องทำตัวอย่างให้คนเห็น ทั้งคนข้างบน คนข้างๆ คนข้างล่างเรา ต้องเห็นว่าเราไม่ใช่คนโกง ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำได้รวดเร็วที่สุดคือต้องใช้ความรวดเร็วและรุนแรง ทำคดีให้เร็วและลงโทษให้รุนแรง ไม่เช่นนั้นการจัดอันดับความโปร่งใสที่ไทยอยู่ที่ 85 ก็อยู่เท่านี้ ตนคิดว่ากฎหมายข้อบังคับจะต้องทำด้วยความรวดเร็วและรุนแรง ให้คนกลัวการกระทำนั้นว่าต้องติดคุกติดตะรางนานๆ



ประธานองคมนตรีกล่าวว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่สิ่งหนึ่งสำคัญกว่าคือความอับอายของชาติบ้านเมือง ซึ่งเราปล่อยปละละเลยไม่ได้ เป็นหน้าที่ของเราต้องแก้ไขความอับอายของชาติให้ได้ ถ้าไม่ช่วยกันทำเรื่องนี้ ตนคิดว่าเราไม่ได้รักชาติ เราไม่ได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน เราทำให้ชาติอับอาย 



"ตัวคุณ ตัวผม ตัวดิฉันอับอายไม่เป็นไร แต่ชาติได้รับความอับอายเป็นสิ่งที่พวกเราต้องไม่ยอม ต้องทำให้ได้ว่าชาติเราไม่โกงหรือโกงแต่น้อย หายไปทีละนิด หายไปในที่สุดด้วยฝีมือของพวกเรา ผมขอร้องผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่าจะต้องยืดอกอย่างสง่าผ่าเผย แล้วต้องพูดว่าชาติไทยไม่โกง"พล.อ.เปรมกล่าว 



ผลสอบสต๊อกข้าว-เสื่อม4.7ล้านตัน

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เปิดเผยว่า ได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐบาลทั้งปริมาณและคุณภาพ ต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ดังนี้ พบมีข้าวคงเหลือในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวม 17.963 ล้านตัน แยกเป็น (1) ข้าวผ่านมาตรฐาน 2.197 ล้านตัน (2) ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน 14.405 ล้านตัน (3) ข้าวเสีย 0.694 ล้านตัน (4) ข้าวผิดชนิด 0.068 ล้านตัน (5) ข้าวกองล้ม/ข้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ 0.599 ล้านตัน (3.34%) 



ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐมอบหมายคณะทำงานตรวจสอบและจัดระดับคุณภาพข้าวในสต๊อกของรัฐ จัดระดับชั้นคุณภาพข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน 14.405 ล้านตัน เป็น 3 ระดับ เอ ข้าวต่ำกว่ามาตรฐานไม่มาก เมื่อปรับปรุงแล้วจะมีสภาพไม่ต่างจากข้าวผ่านมาตรฐาน จำนวน 6.1 ล้านตัน บี ต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพที่ยุ่งยากจึงนำมาระบายได้ จำนวน 3.6 ล้านตัน ซี เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมาก ไม่คุ้มค่าในการปรับปรุง จำนวน 4.7 ล้านตัน



คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางจัดการข้าวในสต๊อกรัฐบาลเสนอแนวทางดำเนินการกับข้าวทุกระดับคุณภาพ และ นบข.เห็นชอบแนวทางดำเนินการในสาระสำคัญ ดังนี้ 1.ข้าวที่ผ่านมาตรฐานให้ระบายตามมาตรฐาน แบบยกกอง/ยกคลัง 2.ข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานแต่อยู่ในระดับ เอ และ บี ให้ระบายยกคลังตามสภาพ 3.ข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานระดับ ซี ข้าวเสีย ข้าวผิดชนิด ข้าวกองล้ม ข้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ ให้ระบายตามสภาพหลังจากที่ อคส./อ.ต.ก. แจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบ รวมทั้งดำเนินคดีกรณีข้าวหายด้วย 4.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาแผนและวิธีการระบาย โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตลาดข้าว/การลดภาระค่าเก็บรักษา และการเสื่อมสภาพข้าวประกอบกัน



นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยจนถึงต้นธ.ค.ที่ผ่านมามีจำนวน 10.2 ล้านตัน คาดว่าทั้งปี 2557 จะส่งออกข้าวได้ทั้งหมดประมาณ 10.5-10.6 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่ไทยเคยส่งออกข้าวมา โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งออกข้าวได้ปีละ 6.5-6.7 ล้านตัน ซึ่งปี 2558 คาดว่าจะส่งออกข้าวได้เกิน 10 ล้านตันอีกเช่นกัน สำหรับสต๊อกข้าวของรัฐนั้น หากชาวนาไทยงดทำนาปรังซัก 2 ปี ซึ่งคิดเป็นผลผลิตข้าวสารปีละ 5-6 ล้านตัน จะช่วยให้สามารถระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำให้หมดไปได้ และราคาข้าวเปลือกจะกลับขึ้นไปอยู่ในระดับ สูงขึ้น 



มติบอร์ดสธ.ให้ขายเหล้าปีใหม่

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. เป็นประธาน ซึ่งมีวาระพิจารณาการออกอนุบัญญัติ หรือ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) เสนอพิจารณาร่างประกาศ 5 ฉบับ ดังนี้ 1. ห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในท่าเรือโดยสารสาธารณะ 2. กำหนดสถานที่หรือบริเวณ ห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในสถานีขนส่ง 3.ห้ามขายห้ามดื่มเหล้าในสถานที่ที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหมายถึงลานกีฬา สนามหน้าอาคาร เป็นต้น 4.ห้ามขายเหล้าบริเวณรอบสถานศึกษา และ 5. ห้ามขายเหล้าในวันที่ 31 ธ.ค.และวันที่ 1 ม.ค.และวันที่ 13-15 เม.ย.ของทุกปี 



ศ.นพ.รัชตะกล่าวภายหลังการประชุมว่า มาตรการห้ามขายเหล้าในวันปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ ให้กลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มอีกครั้ง



ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า เรื่องนี้ต้องคำนึงถึงความเห็นที่หลากหลายของสังคม เพราะกระทบกับคนหมู่มาก จึงต้องมีการศึกษาและทบทวน พร้อมทั้งสำรวจความคิดเห็นอย่างรอบด้านมากกว่านี้ ที่ประชุมก็มีความเห็นที่แตกต่าง ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การเฉลิมฉลองด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีมาตรการห้ามขายเหล้าปีใหม่ แต่ สธ. มีมาตรการในเรื่องการจัดทีมดูแลเฝ้าระวัง และให้ความรู้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากการดื่มเหล้า รวมทั้งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้มงวดตรวจจับผู้กระทำผิดทั้งการจำหน่ายและดื่มที่ขัดกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!