WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8789 ข่าวสดรายวัน


ปปช.จ่อตีตก คดีข้าวมาร์ค 
ผลสอบไม่มีมูล บวรศักดิ์ชูเลิก'โทษประหาร'


ลุ่มน้ำโขง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 

       ป.ป.ช.เผยเองตีตกคดีระบาย ข้าวยุค "มาร์ค" หลายสำนวน เด็กเพื่อไทยโวยรัฐบาลใช้ "จำนำข้าว" เล่นงาน"ปู" จวก "ปนัดดา"ทำลายตลาดข้าวไทย สปช.เปิดรับฟังความเห็นนักศึกษาต่อการปฏิรูป "เทียนฉาย"ยันไม่ใช่แค่พิธีกรรม ยังไม่ถึงเวลาคิดเรื่องประชามติ "บวรศักดิ์"เสนอเอง ยกเลิกโทษประหาร "เอกชัย ศรีวิลาศ" โต้ต่ออายุสปช. เวทีผู้นำลุ่มน้ำโขงเห็นชอบแผนลงทุนเร่งด่วน 5 ปี วงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์

สปช.เปิดเวทีฟังนักศึกษา

      เวลา 09.00 น. วันที่ 20 ธ.ค. ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดโครงการเวทีประชาสานพลังนักศึกษา เพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยมีนิสิต นักศึกษา จากหลายสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า เวทีประชาเสวนาไม่ได้เป็นการชุมนุมตามปกติ แต่เป็นการคาดหวังและมองอนาคตร่วมกันของประเทศ ข้อสำคัญเราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าประเทศจะไปอย่างไร เรามีหน้าที่ประคับประคองความเห็นต่างให้ไปด้วยกันได้ เพราะปัญหายังมีมาก หากยังติดอยู่ในวังวนของปัญหาเราก็ไปไหนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถมองข้ามปัญหาโดยที่ไม่แก้ไข ดังนั้น เราต้องเอาปัญหามาเป็นบทเรียนในการกำหนดอนาคตของประเทศ ซึ่งยืนยันว่า สปช.ทั้ง 250 คนไม่ได้มองเวทีสานเสวนาเป็นเรื่องพิธีกรรม แล้วมาบอกว่ามีคนเป็นแสนเป็นล้านออกมาแสดงความเห็นแล้ว แต่เราต้องการความเห็นจากคนทั้งประเทศจริงๆ จึงเกิดเวทีลักษณะนี้ขึ้น ขณะเดียวกันในพื้นที่ต่างจังหวัดสมาชิก สปช.ก็กำลังดำเนินการรับฟังความเห็นอยู่ 

นายเทียนฉายกล่าวว่า สปช.เกิดมาค่อนข้าง พิสดารเพราะมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว หลายคนไม่มีความสุข สปช.ทั้ง 250 คนก็ไม่มีความสุขเท่าไหร่ แต่ในยามที่ต้องปฏิรูปประเทศก็ต้องเดินหน้า โดยมี เป้าหมายคือ 1.ปฏิรูปแล้วประเทศต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย 2.ปฏิรูปแล้วต้องมีระบบเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย 3.ปฏิรูปเพื่อมุ่งหวังขจัดทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่มีข้อยกเว้น เพราะที่ผ่านมาคนโกงไม่ได้รับการจัดการตามกฎหมาย มีหลายมาตรฐาน 4.ปฏิรูปเพื่อเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 5.ปฏิรูปเพื่อปรับปรุงให้กลไกของรัฐสะดวกรวดเร็ว 6.ปฏิรูปแล้วต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

รธน.ต้องมีกลไกแก้ขัดแย้ง 

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งว่า สาระสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 190 ประเทศ มีอยู่ 2 ประการ คือ 1.กำหนดเรื่องระบบการเมือง ซึ่งเป็นระบบที่ตัดสินใจแทนบ้านเมืองและพลเมืองทั้งชาติ ระบบดังกล่าวจึงเป็นหัวรถจักรของประเทศ และ 2.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพด้านต่างๆ เช่น ด้านบุคคล เศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรกที่บ้านเมืองประสบคือ ความขัดแย้ง ฉะนั้นในรัฐธรรมนูญจึงควรมีกลไกแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัญหา ร้าวลึกมาตั้งแต่ปี "49-53 การยึดอำนาจ วันนี้ปัญหายังคงมีอยู่ แต่ที่สงบได้เพราะกฎอัยการศึก แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่เกิดเสรีภาพ ความขัดแย้งจะกลับมาอีก ฉะนั้นรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องมีกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง 

บวรศักดิ์เสนอเลิกโทษประหาร 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองเกิดจากคนรุ่น 14 ตุลา 16 เป็นรุ่น อาทิตย์อัสดงอยู่ในระยะถอยหลัง แต่ยังทะเลาะกันไม่หยุด คนรุ่นใหม่หรือรุ่นอาทิตย์อุทัยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตบ้านเมือง คนวัยหนุ่มสาวควรต้องมีอุดมคติมองเห็นความยุติธรรมเป็นหลัก ไม่เข้าใจว่าคนเหล่านี้หายไปไหนหมด ในวันที่มีการยึดอำนาจ คนหนุ่มสาว กลับนั่งเล่นกีตาร์ เล่นอินสตาแกรม เล่น เฟซบุ๊ก ถ้าเราอยากเห็นบ้านเมืองสงบ และยุติธรรม จะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกมารับผิดชอบอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ให้ออกมาเดินขบวน แต่เป็นร่วมกันแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ หลังจบเวทีสานเสวนาขอให้กลับไปเรียกประชุมนิสิต นักศึกษา สอบถามกันว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน แล้วส่งความเห็นกลับมารับรองว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะอ่านความเห็นแน่นอน 

"รัฐธรรมนูญจะใส่เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะไม่ใช่แค่การเขียนสิทธิ เสรีภาพให้คนไทยเท่านั้น แต่คนเชื้อชาติต่างๆ จะต้องได้รับสิทธิมนุษยชนด้วย เช่น โทษประหารควรมีหรือไม่ หลายคนบอกว่าควรมี เพราะทุกคนจะได้กลัว แต่ผมบอกว่าไม่ควรมี เราต้องสู้กัน อาจารย์อ่านหนังสือหลายเล่มเขาบอกว่าการลงโทษที่ดีคือการลงโทษให้หลาบจำ ส่วนการประหารชีวิตคือการ แก้แค้นให้ตายตกไปตามกัน" นายบวรศักดิ์กล่าว 

ยังไม่ถึงเวลาพูดเรื่องประชามติ

นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว เพราะการทำประชามติอยู่ในช่วงปลายของการร่างรัฐธรรมนูญที่เมื่อดำเนินการร่างเสร็จแล้วก็ต้องมาพูดคุยกัน ตอนนี้จึงยังไม่ได้พูดคุยกันเรื่องนี้ อีกทั้งเรื่องที่ต้องดำเนินการเฉพาะหน้าในขณะนี้ก็มีจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ หากพูดถึงเรื่องประชามติในขณะนี้เรื่อง อื่นๆ เช่นการปฏิรูปจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ควรทำประชามติหรือไม่นั้นเห็นว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เมื่อใกล้เวลาแล้วก็จะรู้ หากทุกคนเห็นสอดคล้องกันในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและก็จะได้ข้อสรุปภายในตัวรัฐธรรมนูญ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิป สปช. กล่าวว่า การทำประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้หารือกันในวิป สปช. ซึ่งเป็นแนวคิดของนายบวรศักดิ์ ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่าถ้าทำประชามติต้องใช้เวลาต่ออีก 3 เดือน จะมีการทำประชามติหรือไม่ต้องดูที่กระแสต่อไป และถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัยหรืออุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการยอมรับของประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญมีภูมิคุ้มกันได้อย่างดี และหากมีใครคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกก็จะเห็นว่าประชาชนมีมติเอารัฐ ธรรมนูญนี้แล้ว 

ชี้รธน.ชั่วคราวไม่ห้าม 

นายวันชัยกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ปิดกั้นว่าห้ามหรือผูกมัดเรื่องทำประชามติ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และหากมีการให้ทำประชามติคงต้องดูช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.58 หากไม่มีสถานการณ์อะไรก็คงขอทำประชามติได้ และเรื่องดังกล่าวไม่คิดว่าเป็นการยืดเวลาของคสช. เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องเตรียมกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องยืดเวลาออกไป

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.ยังไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ แต่ กมธ.หลายคนโดยเฉพาะนายบวรศักดิ์อยากให้ทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญชั่วคราาวปี 2557 ที่เขียนไว้ให้ สปช.ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำประชามติก็ไม่มีในรัฐธรรมนูญ กระบวนการให้ความเห็นชอบเป็นของสปช. ไม่ใช่ของประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่หากมีการเรียกร้องให้ทำประชามติก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพราะถ้าไม่แก้ไขก็ต้องดูว่าเมื่อทำประชามติแล้วจะมีผลอย่างไร การทำประชามติต้องมีกฎหมายรองรับ เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการ ต้องใช้งบประมาณแต่หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญผลการทำประชามติก็จะไม่มีผลบังคับใช้

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ จำนวนหนึ่ง ที่มองว่าถ้าทำประชามติจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนจะยอมรับรัฐธรรมนูญมากขึ้น และหากทำประชามติก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 โดยมาตรา 46 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่ากรณีจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตามหากมีการทำประชามตินั้น ระยะเวลาของร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เดือน

ยันไม่ต่ออายุสปช. 

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิก สปช.ด้านอื่นๆ กล่าวถึงแนวทางการสานต่อการปฏิรูปประเทศภายหลังจากมีรัฐบาลใหม่ ว่า ขณะนี้ก็มีการพูดคุยหาแนวทางกันอยู่ ซึ่งมีหลากหลายแนวทาง เพราะการปฏิรูปประเทศต้องทำต่อหลังจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทำงานเสร็จ ซึ่งเวลา 1 ปีที่ สปช.และคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีเวลานั้น คงปฏิรูปเสร็จไม่ได้ทุกเรื่อง สมาชิกจึงเป็นห่วงว่าข้อเสนอต่างๆ ทั้ง 11 ด้านจากหลายภาคส่วนที่นำเสนอมาจะไม่ได้รับการสานต่อจากฝ่ายการเมือง จึงเสนอให้มีบทบังคับเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องสานต่องานปฏิรูปต่อจากงานที่ สปช.ทำค้างเอาไว้ โดยอาจออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการทำงานคู่ขนาน และติดตามการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้ทำงานต่อไปได้อีก 5-10 ปี ซึ่งจะมีทั้งหมดกี่ชุด กี่องค์กร ก็ยังไม่ได้ข้อยุติกัน 

พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ส่วนแนวทางที่จะให้ สปช.อยู่ต่อภายหลังจากมีรัฐบาลใหม่นั้น คงไม่ใช่ แต่ก็มีข้อเสนอในรูปแบบที่ให้สมาชิก สปช.บางส่วนเข้าไปทำหน้าที่ยังองค์กรหรือคณะทำงานที่จะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานสานต่อในการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังอีกไกล ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อเสนอและยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ

เด็กพท.โวยรบ.เล่นงาน"ปู" 

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะประธานอนุกรรม การตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ระบุว่าจากการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐบาลพบว่ามีข้าวคงเหลือในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวม 17.963 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน 14.405 ล้านตันว่า เป็นอันชัดเจนว่า คนพวกนี้ไม่เคยคิดถึงตลาดข้าวทั่วโลก เป็นการทำลายตลาดและสร้างภาพลักษณ์ให้ข้าวไทยเสียหาย 

นายสมคิดกล่าวว่า สต๊อกข้าวเกือบ 18 ล้านตันเป็นหน้าที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องประมูลขาย แต่ ม.ล.ปนัดดา มาพูดเหมือนข้าวไม่ตรงมาตรฐาน 14.405 ล้านตัน ขอถามว่านี่มาตรฐานของใคร การให้ข่าวแบบนี้ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนเขาทำกัน หรือเจตนาจะขายราคาถูกๆ ให้เครือข่าย แบบนี้เสียหายใครจะรับผิดชอบ ที่สำคัญเป็นการทำร้ายชาวนาโดยตรงเพราะเขาผลิตข้าว หากมีแต่ข้าวแบบนี้จะขายได้อย่างไร

"รัฐบาลกำลังเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นวาระทางการเมือง ทำร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สุดท้ายชาวนาและประเทศชาติก็เสียหาย ผมยังยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ช่วยเหลือชาวนาทั่วประเทศเกือบ 15 ล้านคน อย่ามายัดเยียดว่าขาดทุนเท่านั้นเท่านี้ มีตัวเลขชัดเจนอยู่แล้ว นั่งในห้องแอร์แถลงข่าวโดยที่ไม่เข้าใจความเป็นอยู่ของคนทำนาก็ได้เท่านี้ ม.ล.ปนัดดามัวแต่ไปซอยสุขุมวิท จะไปรู้ความทุกข์ร้อนของชาวนาได้อย่างไร" นายสมคิดกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่าตามที่กระทรวงการคลังประเมินจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีหากขายข้าวทั้งหมดแล้วจะขาดทุนประมาณ 680,000 ล้านบาท ซึ่งในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวในโกดังของรัฐบาลที่ตรวจสอบแล้วผิดมาตรฐาน จะมีทั้งส่วนของคดีแพ่งและอาญา รวมทั้งเรียกค่าเสียหาย

พท.ยก"จำนำข้าว"เทียบ"ยาง"

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน ในฐานะคณะทำงานกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนายกฯ แถลงตัวเลขการตรวจสอบข้าวว่าพบผิดปกติ 6.7 หมื่นตัน พร้อมระบุให้ดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางอาญาและค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย ว่า นโยบายจำนำข้าวถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าในระบบให้ลงไปถึงประชาชน สามารถนำไปใช้จ่ายส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คล้ายกับการอัดฉีดเป็นตัวเงินเข้าในระบบของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น โดยหลักการแล้วโครงการไม่ผิด แต่หากรัฐบาลนี้บอกว่าการดำเนินโครงการตามนโยบายที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนฯ ซึ่งมีตัวเลขขาดทุนเกิดขึ้นบ้างตามปกติของการซื้อการขาย แล้วกล่าวหาว่ามีการโกงหรือทุจริต ก็ต้องย้อนถามว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ดำเนินโครงการประกันราคาข้าวโดยที่ไม่มีการเสนอราคาขาย รวมถึงรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ ที่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางเพื่อแก้ปัญหาราคายาง หรือระบายข้าวโดยขายให้จีน แต่ต่อมาพบว่าทำให้ประเทศขาดทุนทั้งที่เจตนาดี ก็แสดงว่ามีการโกงหรือทุจริตเช่นกันใช่หรือไม่ 

เลือกปฏิบัติ-ไม่ปรองดอง 

นายพิชัยกล่าวว่า ไม่อยากให้ไปเจาะจงว่าต้องนำเรื่องนี้มาเล่นงานน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลที่แล้วหรือพรรคเพื่อไทย เพราะโดยหลักคิดเรื่องนี้ไม่ผิดที่เราคำนึงถึงรายได้ที่ชาวนาจะได้รับ เพราะเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขแล้วจะเห็นว่าระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ขาดทุน 5.1 แสนล้านบาท เฉลี่ยแล้วปีละ 1-2 แสนล้านบาท เทียบเป็นรายหัวเฉลี่ยแล้วขาดทุนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่มากของการค้าขาย แต่ถ้าพบว่ามีคนกระทำผิดจริงก็ว่าไปตามขั้นตอน ตามเนื้อผ้าไม่ใช่เหมารวมว่าไม่โปร่งใส เพราะการเลือกปฏิบัติเล่นงานเฉพาะเพื่อไทย แต่ไม่ตรวจสอบเอาผิดกับพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนจะรับรู้ได้ หากเป็นเช่นนี้สังคมจะสงบตามที่รัฐบาลนี้ระบุว่าต้องการปรองดองได้อย่างไร 

ปปช.รับตีตกสำนวนข้าวยุคปชป.

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวกรณีสำนักงานป.ป.ช.ออกเอกสารชี้แจงกรณีการทำหน้าที่ของป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กขช. นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ และประธานอนุกรรมการ กขช. กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเมื่อปี 2552-2553 นั้น ว่า คณะทำงานของอนุกรรมการไต่สวนได้รายงานความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม กรรมการป.ป.ช. ซึ่งบางสำนวนที่พบว่าไม่มีมูลความผิดก็เสนอต่อที่ประชุม ซึ่งก็มีตกไปหลายเรื่อง และก็ยังมีบางเรื่องที่ยังไต่สวนต่อ 

นายปานเทพกล่าวว่า นอกจากนั้นคณะทำงานได้รายงานว่าบางเรื่องยังคงรอผู้เกี่ยว ข้องส่งเอกสารให้ เราก็พิจารณาว่าหากไม่สามารถหาหลักฐานได้ก็ให้ยุติการแสวงหา พยานหลักฐาน เอกสารเพิ่มเติม และให้ไต่สวนพยานหลักฐานเท่าที่หาได้ อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ได้เร่งรัดให้คณะอนุกรรมการไต่สวนรีบสรุปสำนวนการไต่สวนเพราะเดี๋ยวจะมีข้อครหาว่าดำเนินการกับบางฝ่ายเท่านั้น 

สั่งหาหลักฐานเพิ่มคดีหญิงเป็ด 

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. เผยความคืบหน้าการไต่สวนเรื่องกล่าวหาคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีนำตั๋วฟรีการบินไทย 10 ใบ ซึ่งขอมาเพื่อใช้ในราชการพาเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปดูงานที่ยุโรปปลายปี 2546 โดยใส่ชื่อบุตรสาวและน้องสาวของผู้บริหารระดับสูง สตง. ให้ใช้ตั๋วฟรีดังกล่าวว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ สรุปคดีและชงเรื่องเข้ามาให้ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาแล้ว ที่ประชุมเห็นว่ายังขาดพยานหลักฐานบางอย่าง จึงให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการหามาเพิ่มเติมก่อน เพื่อให้ข้อเท็จจริงในกรณีนี้สมบูรณ์ จึงจะสามารถชี้มูลคดีได้

บิ๊กตู่ถกนายกฯเวียดนาม

เวลา 08.15 น.ที่โรงแรมแชงกรี-ลา พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับนายเหวียน เติ๊นสุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ก่อนเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลสรุปผลการหารือว่า ไทยและเวียดนามเห็นพ้องที่ จะจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศทั้ง 2 ประเทศหารือต่อไป โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงว่าทั้งสองประเทศจะต้องใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคม ถนน ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มการสัญจรของประชาชนของทั้งสองประเทศและภูมิภาค โดยจะปรับปรุงทั้งถนน ด่าน และกฎระเบียบการข้ามแดน และยินดีที่เวียดนามเห็นชอบให้มีการบริการรถโดยสารระหว่างไทยและเวียดนาม ความร่วมมือประมง ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความรู้ด้านกฎหมายแก่ชาวประมง ผู้ประกอบการการประมง และความเข้มงวดและจริงจังในการสกัดกั้นไม่ให้มีการทำผิดของเรือประมงในการรุกล้ำน่านน้ำของกันและกัน 

นายกฯ เปิดประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง 

เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเต็มคณะในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีผู้นำและบุคคลสำคัญร่วมประชุม 6 ประเทศ ประกอบด้วย สมเด็จมหาอัครเสนาบดี ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายหลี เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นายเหวียน เติ้นสุง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รัฐมนตรีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย และประธานสภาธุรกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานว่า หัวข้อการประชุมเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและทันสมัยกับกระแสของโลก กล่าวคือ "ความมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน GMS" ซึ่งเป็นหัวข้อที่อยู่ในกรอบวิสัยทัศน์ที่เราได้ร่วมกันวางไว้ 3 เรื่อง หรือ 3 ซี คือ การสร้างความเชื่อมโยง การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จะพิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการลงทุนช่วง 10 (ค.ศ.2012 -2022) ซึ่งรัฐมนตรีจีเอ็มเอสได้พิจารณากลั่นกรองกันอย่างรอบคอบแล้ว โดยมีโครงการที่มีความสำคัญระดับสูงวงเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและนำไปสู่การปฏิบัติ ใน 7 เรื่องด้วยกัน 

ขับเคลื่อน 7 ประเด็น 

1. ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันตามแนวชายแดนของแต่ละประเทศ 2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศในระยะเร่งด่วน 2 เส้นทางหลัก คือเส้นทางอรัญประเทศ-ปอยเปต เส้นทางที่ 2 หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง และการพัฒนาเส้นทางรถไฟภายในประเทศของไทย 2 เส้นทางคือ เส้นทางหนองคาย-แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด 

นายกฯ กล่าวว่า การจัดตั้งสมาคมการรถไฟของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประเทศสมาชิกเห็นชอบแล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการประสานงานรถไฟระหว่างประเทศต่อไป ขณะเดียวกัน ไทยและ เมียนมาร์กำลังร่วมมือพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมหารือสร้างสะพานแห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด- เมียวดี ทางด้านชายแดนไทย-ลาว สะพานมิตรภาพแห่งที่ห้า (จังหวัดบึงกาฬ-เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ) 

3. ลดขั้นตอนและระยะเวลาการผ่านแดนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในส่วนของไทยพร้อมให้สัตยาบันภายในต้นปี 2558 เสนอเพิ่มเติมเส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ในสปป.ลาว 4.พัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกันในอนาคต 5.ระดมทุนเพื่อพัฒนา 6. ปรับปรุงสิทธิประโยชน์และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาค 7.ร่วมมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ

เตรียมต่อยอดเวทีอาเซียน 

เวลา 13.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงผลประชุมว่า การประชุมครั้งนี้รัฐบาลใช้เรื่องวัฒนธรรม ประเพณีในอาเซียน ที่ต่างจากภูมิภาคอื่นคือการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและประเพณีวัฒนธรรมที่คล้ายกันมาพูดคุยเพื่อความเป็นกันเอง หัวข้อของการประชุมคือความยั่งยืนและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และจะนำผลประชุมไปหารือต่อเนื่องในวงประชุมอาเซียนต่อไป การประชุมผู้นำจีเอ็มเอสครั้งนี้มีประเทศจีนเป็นผู้สนับสนุนหลัก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ร่วมกัน งานทุกอย่างจึงก้าวหน้า โดยที่ประชุมมีสัญญาร่วมกันว่างานที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำในปี 2558 ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเดือนต.ค.2558 

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ยังมีปัญหาคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ข้อกฎหมาย พันธสัญญาและกระบวนการยุติธรรมที่ต้องแก้ทั้งหมด จึงเสนอต่อที่ประชุมว่าควรแก้ไขเรื่องเหล่านี้เพื่อให้การค้า การลงทุน ให้คนในอาเซียนมีความสุข การทำงานทุกอย่างจะก้าวหน้าหรือไม่ขึ้นอยู่ที่นโยบายที่รัฐบาลขับเคลื่อน ไม่ว่ากระทรวง ทบวง กรม วันหน้าต้องเป็นการขับเคลื่อนระหว่างรัฐและเอกชนที่ต้องลงทุนทั้งในและนอกประเทศ วันนี้เราต้องดูทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคง ต้องคิดว่าไม่ใช่คู่แข่งขันกันแต่เป็นคู่ยุทธศาสตร์ ทุกคนเป็นหุ้นส่วนของประเทศ และต้องดูว่าอาเซียนได้อะไร ลาวและกัมพูชาได้อะไร หากประเทศใดประเทศหนึ่งได้แล้วอีกประเทศไม่ได้จะเกิดการต่อสู้แย่งชิงและเป็นปัญหาต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต่างประเทศเขาเข้าใจเราแต่ทำไมในประเทศถึงมีความ ขัดแย้งขอให้เลิกทะเลาะกัน เพราะรัฐบาลไม่ต้องการใช้กฎหมายมาบังคับให้เกิดความวุ่นวาย ความร่วมมือในภูมิภาคจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกอย่างสงบ สันติและมีเสถียรภาพ และที่สำคัญคือที่เขาเลือกมาประเทศเราเพราะมีความสงบ สันติและเสถียรภาพ 

เดินหน้าทำซิงเกิล วีซ่า

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมว่า การท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเอเชียมีการหารือถึง 6 เส้นทางในการพัฒนาท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายจะทำใน 2 เส้นทางแรกก่อนคือ 1.เส้นทาง"แม่โขง ดิสคัฟเวอรี่" โดยไทยเสนอเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวจากฝั่งแม่น้ำโขงในจ.นครพนม เชื่อมถึงประเทศลาว จนถึงนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งระหว่างทางนั้นจะพยายามส่งเสริมการจัดการแข่งขันกีฬา เช่น ไตรกีฬา การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงและปั่นจักรยานต่อไปเมืองต่างๆ เป็นต้น และ 2.เส้นทาง "แม่โขง เซาท์ คอร์ริดอร์" จะใช้เส้นทางผ่าน จ.จันทบุรี ตราด และชลบุรี จะส่งเสริมให้มีการกีฬาระหว่างทางเช่นกัน จะมีการหารือถึงแผนเส้นทางอีกครั้งในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องแผนการตลาดการท่องเที่ยวของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ก.พ.2558

นางกอบกาญจน์กล่าวว่า นอกจากนี้หลายประเทศยังพยายามผลักดันการทำ "ซิงเกิล วีซ่า" ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ขณะนี้ติดปัญหาเรื่องความมั่นคงที่บางประเทศคำนึงถึง ต้องมีการหารือร่วมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยอีกครั้ง จากปัจจุบันทดลองใช้เป็นบางส่วน ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการซิงเกิล วีซ่าเพียง 100 รายเท่านั้น อาจเพราะคนยังไม่ค่อยรู้เรื่องและมีขั้นตอนยุ่งยาก จึงไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว กระทรวงได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศกัมพูชาเพื่อศึกษาการจัดทำแผนเปิดซิงเกิล วีซ่าระหว่าง 2 ประเทศอย่างเต็มรูปแบบ คณะกรรมการจะดำเนินการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ พร้อมลดระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าจาก 3 วัน เหลือ 1 วันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และคาดว่าจะเสร็จประมาณปลายปี 2558 

รถไฟทางคู่ใช้เวลาศึกษา 10 ด.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวระหว่างการประชุมจีเอ็มเอส ว่า หลังไทยลงนามกับจีนในการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 133 กิโลเมตร ทั้ง 2 ประเทศตกลงร่วมกันที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีรมว.คมนาคมของไทย และผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป แห่งชาติจีนเป็นประธานร่วมกันเพื่อผลักดันโครงการให้สำเร็จ คาดว่าจะเริ่มทำงานร่วมกันในการศึกษา สำรวจเส้นทางออกแบบและกำหนดราคาการก่อสร้างร่วมกันเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 คาดว่าผลการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลา 10 เดือน 

สำหรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก (East west economic corridor) ไทยมีแผนที่จะส่งเสริมการพัฒนาระบบถนนควบคู่ไปกับระบบราง มีหลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาพัฒนาเส้นทางรถไฟรวมทั้งประเทศญี่ปุ่น ที่สนใจจะเข้ามาศึกษาเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ใน 3 เส้นทางได้แก่ 1.เส้นทางตาก (แม่สอด)-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-มุกดาหาร และ 2.เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-ระยอง และ 3.เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า การพัฒนาเส้นทางคมนาคมในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตกเดิมนั้นให้ความสำคัญกับเส้นทางถนน แต่เมื่อ คสช.เข้ามาเราก็ดูว่าการพัฒนาระบบรางก็มีความจำเป็นและมีศักยภาพในการเชื่อมโยงภูมิภาคที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศให้ความสนใจเช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่เมื่อไทยมีการลงนามในเอ็มโอยูร่วมกับจีนใน 2 เส้นทางแล้ว ก็คาดหวังว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาสนับสนุนการลงทุนในเส้นทางอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับภูมิภาคนี้มากขึ้น

ไฟเขียวแผนลงทุนเร่งด่วน 5 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงสรุปผลการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะเร่งด่วนระยะ 5 ปี (2557-2561) วงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากแผนการลงทุนระยะ 10 ปี (2557-2567) วงเงินลงทุนรวม 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแผนลงทุนระยะเร่งด่วน 5 ปี ครอบคลุมการลงทุนโครงการสำคัญใน 6 ประเทศสมาชิก ประเทศที่มีโครงการการลงทุนมากที่สุดคือจีน คิดเป็นสัดส่วน 44% สปป.ลาว 26% ประเทศไทย 10% ของการลงทุนทั้งหมด

สำหรับโครงการที่มีความสำคัญในระยะเร่งด่วนของแต่ละประเทศเป็นโครงการที่แต่ละประเทศได้จัดลำดับความสำคัญในการลงทุนมาแล้ว เช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟเวียงจันทน์-บ่อเต็น ใน สปป.ลาว เชื่อมโยงกับทางรถไฟเมืองคุนหมิง ประเทศจีน การก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างเมืองเอนดู-กอกะเร็ก ในพม่า โครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมืองฮานอยและเมืองรังเซิน ในประเทศเวียดนาม และโครงการมอเตอร์เวย์สาย กรุงเทพฯ-บางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ และการพัฒนาเส้นทางรถไฟจากอรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ-โฮจิมินห์ และการพัฒนาเส้นทางรถไฟจากประเทศไทยเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาวและประเทศจีนในอนาคต เป็นต้น

จีนปล่อยกู้ประเทศสมาชิก 

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับการจัดหาแหล่งเงินลงทุนในโครงการต่างๆ เบื้องต้นได้หารือถึงแนวทางในการจัดสรรวงเงินในการลงทุนหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ 1.การกู้เงินจากประเทศสมาชิกและองค์กรที่ให้การสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) นอกจากนี้ จีนได้เสนอที่จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศสมาชิก และเสนอปล่อยกู้เพิ่มเติมผ่านกองทุนเส้นทางสายไหมของจีน (silk road fund) อีกด้วย 

2.การลงทุนด้วยการใช้งบประมาณประจำของประเทศสมาชิกเอง หรือการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปร่วมลงทุนกับภาครัฐ 3.การระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) 

นายอาคมกล่าวว่า นอกจากนั้น ผู้นำประเทศต่างๆ รับทราบความก้าวหน้าการประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือในโครงสร้างพื้นฐานสาขาต่างๆ ได้แก่ 1.สาขาคมนาคม รับทราบความสำเร็จการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เมืองห้วยทราย-อ.เชียงของ) แผนงานการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว รวมทั้งยอมรับข้อตกลงการปรับปรุงกระบวนการขนส่งข้ามแดน (CBTA) ให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น 

ตั้งศูนย์ประสานงานซื้อขายไฟฟ้า 

2.ความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ประสานงานซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกใน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยอยู่ระหว่างหารือเรื่องที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ เพื่อสนับสนุนการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระดับภูมิภาคและสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าในประเทศสมาชิก 3.สาขาเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ เห็นชอบการวางแผนเชื่อมต่อระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

4. รับทราบความก้าวหน้าดำเนินงานการพัฒนาด้านระเบียบต่างๆ เช่น สาขาการอำนวยความสะดวกทางการค้าและคมนาคมขนส่ง อาทิ ข้อตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) สาขาการท่องเที่ยว ลดขั้นตอนในการตรวจตรา จัดตั้งศูนย์ประสานการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงให้มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศจดทะเบียน 5.ตระหนักถึงข้อท้าทายการพัฒนาต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่ไม่สมบูรณ์ ค่าใช้จ่ายขนส่งสินค้าพรมแดนที่ยังสูงมาก ดังนั้นต้องสนับสนุนภาคเอกชนให้มีบทบาทที่เด่นขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

สปช.ออกระเบียบยื่นใบลา

วันที่ 20 ธ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสปช.พ.ศ.2557 ลงนามโดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ระเบียบดังกล่าวออกเพื่อให้การลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสปช.สิ้นสุดลง เมื่อไม่แสดงตนในการลงมติในที่ประชุมสปช.เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสปช. ข้อ 78 ที่กำหนดให้สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนในรอบระยะเวลา 90 วันให้สมาชิกภาพของสมาชิกสปช.สิ้นสุด 

สำหรับระเบียบสปช.ว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการประชุมสปช. บัญญัติให้ก่อนเข้าประชุมสภาทุกครั้งให้ลงชื่อในสมุดที่จัดไว้หน้าห้องประชุม ใช้บัตรแสดงตนบันทึกลงในเครื่องอ่านบัตร กรณีมาประชุมแต่ไม่ได้ลงชื่อก่อนเข้าประชุม ต้องทำหนังสือขอลงลายมือชื่อมาประชุมย้อนหลังและแจ้งต่อประธานสปช. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการประชุม โดยต้องมีสมาชิกสปช. 2 คน รับรอง สมาชิกที่มีความจำเป็นไม่อาจมาประชุมสปช.หรือมาประชุมสปช.แต่ไม่อาจอยู่แสดงตนเพื่อลงมติได้ ให้แจ้งลาการประชุมโดยทำเป็นหนังสือหรือใบลาการประชุมสภา ยื่นต่อประธานสปช.เพื่อขออนุญาตลาล่วงหน้า แต่ถ้าสมาชิกสปช.ไม่สามารถแจ้งลาการประชุมล่วงหน้าได้ ให้ทำหนังสือแจ้งต่อประธานสปช.ภายหลังได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน นับตั้งแต่วันประชุมสปช. 

การลา ประธานสปช.จะพิจารณาอนุญาตตามหลักเกณฑ์ 1.การลาป่วยเพื่อรักษาตัวให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาต่อประธานสปช.ก่อนหรือในวันลา เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ การลาป่วยติดต่อกันตั้งแต่ 2 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์ 2.การลากิจให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาพร้อมทั้งเหตุผลประกอบต่อประธานสปช.เพื่อขออนุญาตเป็นการล่วงหน้าก่อนถึงวันประชุม 3.การลาไปราชการของสปช.ให้แจ้งเป็นหนังสือหรือใบลาต่อประธานสปช.เพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นการล่วงหน้า เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน กรณีสมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติเนื่องจากลาการประชุม โดยได้รับอนุญาตจากประธานสปช. มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!