WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ซัดรธน.ย้อนยุค-สุดเละ ขวางกมธ. ริบดาบกกต.-ยุบดีกว่า 'ปู่พิชัย-สดศรี-อ๋อย'จวก สุจิตยันเพิ่มประสิทธิภาพ ยกร่างลุยถกรายมาตรา ชูธง 13 ข้อกรอบการเมือง

มติชนออนไลน์ :  


      'เลิศรัตน์'แจง รธน.ใหม่มี 250-300 มาตรา แย้มนายกคนนอกใช้เสียงโหวต 3 ใน 4 โฆษก กมธ.เผยกรอบยกร่างภาคการเมือง เปิดช่องล่อซื้อเสียงคล้ายจับยา 'สดศรี' จวกมหาดไทยจัดเลือกตั้งถอยหลัง ท้ายุบ กกต.เลยดีกว่า

@ 'บิ๊กโด่ง'รอสรุปนายกฯไม่เป็นส.ส.

      เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวก่อนการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) มีมติในประเด็นคุณสมบัติของนายกฯว่าไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ แต่ต้องผ่านการคัดเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ว่า ไม่ขอออกความคิดเห็น แต่อยากรอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ให้พูดตอนนี้คงไม่ได้ แต่เชื่อว่าทาง กมธ.ยกร่างฯมีเหตุผลรองรับการตัดสินใจดังกล่าว เป็นผู้หนึ่งที่รอฟังข้อสรุปนี้อยู่ 

     ผู้สื่อข่าวถามว่าส่วนมติดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนกรณีเหตุการณ์พฤษภา 2535 หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ขอไม่ออกความเห็น แต่เชื่อว่าผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรงนี้จะทำงานเต็มที่ทุกคน และยังเห็นว่าทุกคนมีความตั้งใจ อย่างไรก็ตาม ขอให้ช่วยกันและให้ความไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีพยายามเดินตามกรอบโรดแมปที่วางไว้ มากไปกว่านั้น ทางหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วนก็รับช่วยงานกันอย่างเต็มที่และตั้งใจทำงานตามขั้นตอน ดังนั้น ขอให้ช่วยกันให้กำลังใจจะดีกว่า 

     "ผมคิดว่า สำหรับความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทางเราก็รับฟังกันได้ แต่เมื่อส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างนี้ คนส่วนน้อยก็ต้องรับฟังด้วย ถ้าต่างคนต่างรับฟังและมีเหตุผล และมีสติ รอให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องทุกอย่าง ก็จะเกิดความเรียบร้อย" พล.อ.อุดมเดชกล่าว 

เมื่อถามว่ามีการประเมินสถานการณ์ผู้ที่เห็นต่างในพื้นที่ภาคที่ 3 เป็นอย่างไร พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า คิดว่าผู้เห็นต่างมีเพียงเล็กน้อย สามารถดูแลได้ โดยทั่วไปบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ใครเห็นอะไรไม่ถูกต้อง ก็จะพูดคุย ทำความเข้าใจชี้แจงกัน อยากย้ำว่าไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ทั้งสิ้น พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ก็จะเดินทางลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาสร้างความเข้าใจในพื้นที่ด้วย 

     ส่วนกรณีที่หัวหน้า คสช.มีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) มาตรา 44 ให้สภาและผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระแล้วทำหน้าที่ต่อ จะช่วยให้มีการตอบสนองงานของ คสช.ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล ในขณะนี้ผู้บริหารท้องถิ่นต่างก็ให้ความร่วมมือกับ คสช.ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความราบรื่นอยู่แล้ว

@ ปลัดมท.พร้อมจัดเลือกตั้ง 

     นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงการที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติลดอำนาจและบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานในการจัดเลือกตั้งแทนว่า หากมีงานที่ได้รับมอบนโยบายมาตามกฎหมายก็ทำเต็มที่ แต่เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอ ยังไม่มีข้อกฎหมายชัดเจนออกมา จึงไม่ขอให้ความเห็นใดๆ หากถามถึงความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยในการจัดเลือกตั้ง บอกได้เพียงว่า หากพร้อมก็ทำให้พร้อมยิ่งขึ้น หากไม่พร้อมก็ต้องทำให้พร้อม งานอะไรที่มอบให้กระทรวงมหาดไทยก็ทำเต็มที่ อยากจะให้รอให้มีความชัดเจนก่อน

@ เลขาฯกพฐ.หนุนศธ.จัดเลือกตั้ง

      นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯจะกำหนดให้อำนาจการจัดการเลือกตั้งเป็นของหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นต้น ว่า หากตนมีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย ก็เห็นด้วยจะให้ มท.และ ศธ.มาจัดการเลือกตั้ง เพราะในอดีตที่ยังไม่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มท.จะมีกองการเลือกตั้งมารับผิดชอบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละครั้ง ขณะที่ครูในสังกัด สพฐ.ก็จะไปเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมี กกต.เกิดขึ้น ครู ผู้บริหารโรงเรียนก็ยังไปเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ฉะนั้นหากจะให้กลับไปใช้ระบบเดิมก็ไม่ขัดข้องและพร้อมจะให้ความร่วมมือ 

@ นักวิชาการชี้ปมลดอำนาจกกต.

     นายไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เเรกทีเดียว กกต.เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการความอิสระ ปราศจากการควบคุมจากรัฐบาล เเต่ที่ผ่านมาสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก กกต.กลายเป็นหน่วยงานใหญ่โตมากเกินความจำเป็น เปลืองทรัพยากร ไม่ได้รับความศรัทธาจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ทำให้เห็นว่าการลดบทบาทหรือยุบ กกต.ไปเลย ถือเป็นเเนวคิดที่ดีเช่นกัน ปัญหาคือว่าการลดบทบาท กกต.ครั้งนี้ คนคิดจะทำมีเหตุผลเเละความต้องการอย่างไร ถ้าต้องการตัดทอนความสำคัญของการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องที่ดีเเน่นอน ถึงเเม้ว่ามีเหตุผลควรลดบทบาทหรือยุบ กกต.ก็จริง เเต่จะเป็นการไปกระทบกระเทือนต่อการเลือกตั้งหรือไม่ ส่วนความกังวลของหลายฝ่ายในประเด็นของการซื้อสิทธิขายเสียง เเละการเเทรกเเซง หากเอาอำนาจการจัดการเลือกตั้งกลับไปให้กระทรวงมหาดไทยดูเเลเหมือนเดิม สถานการณ์ขณะนี้ ไม่เหมือนในอดีตเเล้ว สังคมตื่นตัวเเละก้าวข้ามไปเเล้ว เพียงต้องคิดกลไกป้องกันการทุจริตเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องมีหน่วยราชการใหญ่โตมาดูเเลเหมือนทุกวันนี้ องค์กรไหนจัดการเลือกตั้งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น กกต.

@ อจ.นิติศาสตร์ค้านมท.จัดเลือกตั้ง 

      นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หากเอาอำนาจการจัดการเลือกตั้งกลับไปให้กระทรวงมหาดไทยดูเเลเหมือนในอดีตจะเกิดการเเทรกเเซง เเละกำกับจากรัฐบาล กกต.ควรจะมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งต่อไป ยังจำเป็นต้องมี กกต. เพียงเเต่ กกต.ที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์ เเละต้องปรับปรุงเยอะมาก ควรต้องปรับปรุง กกต. เช่น ในเเง่ของความรับผิด กระบวนการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำเเเหน่ง การตรวจสอบเเละการควบคุมการทำงานของ กกต. เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ชุดล่าสุดนั้นมีปัญหาเเละล้มเหลว การมีเเนวคิดเเบบนี้ออกมาเป็นเพราะผลงานที่ผ่านมาของ กกต. ไม่สามารถทำให้หลายคนศรัทธาเเละเห็นประโยชน์จากการมี กกต. ได้ และเห็นด้วยกับการลดบทบาทอำนาจให้ใบเหลืองใบเเดง 

@ ปธ.กกต.ชี้แยกอำนาจยังไม่ยุติ

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาให้มีการแยกอำนาจการจัดการเลือกตั้งและอำนาจควบคุมการเลือกตั้งออกจากกัน โดยให้ กกต.ทำหน้าที่เฉพาะการควบคุมการเลือกตั้ง และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้งว่าคงไม่ไปวิจารณ์ เพราะให้ กมธ.ยกร่างไปคิดเอาเอง ออกแบบมาอย่างไร กกต.ก็ทำได้ทั้งนั้น ประการสำคัญคือปฏิรูปแล้วต้องดีขึ้น และการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างนี้ยังไม่ถือเป็นข้อยุติ เพียงแต่เป็นความเห็นของ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ยังต้องดูในส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาจจะไม่เห็นด้วย หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ในฐานะผู้ปฏิบัติยังไม่อยากพูด เพราะพูดไปก็จะหาว่าหวงก้าง หวงอำนาจ ส่วนเรื่องโครงสร้างของ กกต. หรืออำนาจในการสอบสวนของ กตต.รวมทั้งอำนาจการให้ใบเหลืองใบแดง ก็ต้องรอให้ได้ข้อยุติก่อน

เมื่อถามว่าการให้กระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้งจะเป็นการถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า ก็แล้วแต่ กมธ.ยกร่างจะคิดกันเอง เราไปบอกว่าดีไม่ดีไม่ได้ แต่เดิมที่ไม่มี กกต.ก็ให้กระทรวงมหาดไทยจัด แล้วจะย้อนไปให้มหาดไทยจัดก็เรื่องของเขา ส่วนการที่ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอาจทำให้การจัดการเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตยุติธรรม ก็ให้ไปคิดเอาเอง กมธ.ยกร่างเขาก็คิดได้เอง เราคงไม่วิจารณ์

@ 'สดศรี'จวกถอยหลังเข้าคลอง

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เป็นการตัดอำนาจ กกต.ให้เหลือเพียงครึ่งๆ กลาง ไม่มีอำนาจชัดเจน ไม่ว่าจะแจกใบเหลืองหรือแจกใบแดงก็ตาม อย่างไรเสียก็ต้องมีการสอบสวน หาข้อเท็จจริงในพยานหลักฐานเสียก่อน แต่ในเมื่อ กกต.มีอำนาจได้แค่แจกใบเหลือง ส่วนใบแดงนั้นเป็นหน้าที่ของศาลดำเนินการนั้น เอาเข้าจริงข้อสรุปดังกล่าวนี้ถ้ามีผลในทางปฏิบัติจริง ถือว่าจะทำได้ยากมาก เพราะจะมีการวิ่งเต้นในการยกคำร้องไม่ให้เกิดการแจกใบเหลืองใบแดงในที่สุด อีกทั้งไม่ได้แก้ปัญหาการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงให้หมดไปได้อีก 

นางสดศรีกล่าวว่า อยากเรียนถามไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าถ้าจะปฏิรูป กกต.จริงๆ ก็ต้องกล้าฟันธงมาเลยว่า 15 ปีที่ผ่านมา กกต.ดำเนินงานมาได้ผลจริงจังหรือไม่ มีผลเสียอย่างไร ไม่ใช่มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญก็จะมาตัดอำนาจให้เหลือเพียงครึ่งๆ กลางแบบนี้ ต้องบอกได้ด้วยว่า ทำไมถึงให้เอาองค์กรอย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการที่ผูกติดกับการเมืองมาจัดการเลือกตั้ง ถ้าในสายตาของ กมธ.ยกร่างเห็นว่า กกต.ไม่มีความจำเป็นจัดการเลือกตั้งอีกต่อไป ก็อยากจะทราบเหตุผล

"เอาเข้าจริงแล้วความคิดเห็นของ กมธ.ยกร่างฯอันนี้เป็นเสมือนการปฏิรูปชนิดถอยหลังเข้าคลองย้อนกลับไปเมื่อก่อนปี 2540 ใช้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้ง กำเนิดของ กกต.เป็นองค์กรอิสระเข้ามาจัดการเลือกตั้ง เพราะไม่ต้องการให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้งมาจัดการเลือกตั้งเสียเอง ดังนั้นในเมื่อจะมีความคิดเห็นกันแบบนี้ ก็ขอให้กล้าเสนอไปเลยว่าประชาชนมีความศรัทธาต่อ กกต.หรือไม่ ควรจะยุบ กกต.ไปเลย แล้วให้องค์กรอื่นมาจัดการเลือกตั้งแทน กมธ.ยกร่างฯควรชี้แจงโดยเร็วที่สุดว่าทำไมถึงลดบทบาท กกต. ทำไมถึงเอาองค์กรอื่นมาจัดการเลือกตั้งแทน ในเมื่อยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แล้วสถานะของ กกต.จะเป็นอย่างไร ควรถูกยุบหรือไม่ ต้องชี้แจงให้ชัดเจน" นางสดศรีกล่าว

@ ปชป.ห่วงมท.จัดกาบัตรถูกแทรก 

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ข้อเสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ลดบทบาทของ กกต.นั้น เห็นว่า กกต.ควรมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งและมีสิทธิในการให้ใบเหลืองแก่ผู้ลงสมัคร ส่วนใบแดงนั้นควรจะมีการตั้งศาลเลือกตั้ง แล้วกำหนดกระบวนการในการพิจารณาให้รวดเร็วกระชับ สามารถทำได้ แต่โดยส่วนตัวไม่มีความเชื่อมั่นหากให้ทางกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้ง เพราะผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลจะใช้อิทธิพลแทรกแซง ทำให้กระบวนการไม่เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม ควรให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่าง กกต.ในการจัดการเลือกตั้งเหมือนเดิม

@ 'มาร์ค'แนะแจงที่มานายกฯให้ชัด

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า หากข้อเสนอดังกล่าวสร้างความกังวล ควรจะระบุให้ชัดว่าเป็นข้อยกเว้นตามสถานการณ์และจะต้องพิจารณากันอีกครั้ง โดยยกเว้นในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรเขียนในลักษณะบททั่วไปว่า ห้ามเป็น ส.ส.เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาจะทำให้ระบบถอยหลัง โดยตั้งแต่ปี 2535 หลังเดือนพฤษภาคม หลักการนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนได้ต่อสู้มา เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและจะทำอย่างไรให้ฝ่ายบริหารรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจในทางที่ผิด ส่วนการเข้ามาทำหน้าที่ของ ส.ว. โดยผ่านการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ ส.ว. อาจจะเลือกจากสาขาอาชีพ ขณะที่การเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.ในการตรวจสอบนั้น เหมือนเป็นสิ่งเกินอำนาจขอบเขตของ ส.ว.ดูแลกลั่นกรองกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาชัดเจน อาจจะมีเรื่องการเสริมความสามารถในการตรวจสอบของรัฐสภาด้วย

@ จี้ประชามติ-ไม่ผ่านให้ใช้50

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยืนยันพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งปีཷ ถ้าเป็นประชาธิปไตยและเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรม โดยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองผู้ลงสมัครก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ อาจมีปัญหาหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านอาจจะต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ จึงเสนอว่าให้มีการลงประชามติ หากผ่านก็ใช้ฉบับที่ทำมา แต่หากไม่ผ่านก็กลับไปใช้ฉบับปี཮ ที่มีก่อนการรัฐประหาร เพื่อให้บ้านเมืองมีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังจะเกิดขึ้น หากไม่ทำประชามติจะกลายเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความขัดแย้งให้เกิดการโต้เถียงจะทำให้ประเทศกลับไปแบบเดิม ขอแค่ยอมทำประชามติให้มีการยอมรับเพื่อประเทศเดินหน้าได้

@ 'ปู่พิชัย'เตือนรธน.เละเป็นโจ๊ก 

นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกมาก ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยก็ดูแลการเลือกตั้ง แต่มีการเปลี่ยนให้ กกต.มาดูแลแทน แม้ระยะหลัง กกต.ทำหน้าที่ด้วยความลำเอียงไม่เสมอภาคหรือไม่ แต่การจะให้กระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้งอาจจะทำให้วุ่นวายได้ เพราะเป็นของรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร ข้อเสนอดังกล่าวแสดงว่าไม่ไว้ใจ กกต. มี กกต.อยู่ก็ดีแล้ว แต่ควรลดอำนาจให้ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ กกต.ไม่ควรมีอำนาจให้ใบเหลืองใบแดงหรือยุบพรรคการเมือง

นายพิชัยกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส.นั้น ช่วงเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.เคยต่อสู้ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ก็รู้ถึงการต่อสู้เรื่องนี้อย่างดีอยู่แล้วและระบอบประชาธิปไตยในสภานั้น นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ส่วนจะได้คนดีหรือไม่ก็ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ส่วนการระบุว่าเผื่อมีเหตุการณ์ฉุกละหุกนั้น ควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่ากรณีนี้ให้เอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ระยะหลังการร่างรัฐธรรมนูญเหมือนถอยหลังลงคลอง กลัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเละเป็นโจ๊ก มีความหนาเท่าคัมภีร์ การร่างรัฐธรรมนูญ ควรเขียนให้สั้นๆ แล้วที่เหลือก็ออกกฎหมายลูกได้

@ 'อ๋อย'ชี้มท.เลือกตั้งย้อนยุค

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาความคิดเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ดูเหมือนจะแกว่งไปแกว่งมา หาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ต่อมาบอกว่านายกฯไม่ต้องมาจากการเป็น ส.ส. และวันนี้มีเรื่องจะให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาจัดการเลือกตั้งแทน ถือว่าย้อนยุคมาก เพราะจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารสามารถให้คุณและโทษต่อการเลือกตั้งได้ หากให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งก็จะขึ้นอยู่กับผู้บริหารกระทรวง ไม่ว่าผู้รักษาการจะเป็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการ ต่างต้องคาดการณ์แล้วว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล เสนอดังกล่าวเป็นไปได้ว่าต้องการให้รัฐบาล คสช.สืบทอดอำนาจ เพราะกระทรวงมหาดไทยขณะนี้อยู่ในการควบคุมของ คสช.

นายจาตุรนต์กล่าวว่า การให้ กกต.จัดการเลือกตั้งหน้าจะยังดีกว่าให้หน่วยราชการเป็นฝ่ายจัด แต่ที่ผ่านมากกต.มีบทบาทมากเกินไป และไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล จึงทำให้เป็นปัญหา เพราะ กกต.มีอำนาจหน้าที่ทั้งจัดการเลือกตั้งและตรวจสอบกำกับดูแลการจัดการเลือกตั้ง ดูเหมือนจะขัดแย้งกันในตัว เพราะ กกต.จัดการเลือกตั้งเอง แล้วไปตรวจสอบอีกว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีอำนาจมากเกินไปในการให้ใบแดง จะให้ทั้งใบเหลืองและแดงแก่ผู้ลงสมัครมากน้อยก็ได้ สามารถดูผลการเลือกตั้งก่อนแล้วจึงมาตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงก็ได้ กรณีผลการเลือกตั้งออกมาสูสีกัน ก็เท่ากับว่า กกต.เป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาล

@ หนุนศาลแจกใบแดงแทน 

"เราจะเห็นว่าบางช่วง กกต.ให้ใบเหลืองและแดงมาก แต่บางช่วงก็ไม่ให้ เป็นไปได้ว่า กกต.คาดว่าถ้าให้ใบเหลืองใบแดงแล้วจะเกิดผลเสียแก่พรรคการเมืองใดอย่างไร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจมากกว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ กกต.ยังมีปัญหาเรื่องการให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจกว่า กกต.อีก เช่น กรณีการลงโทษพรรคการเมือง แม้ว่า กกต.ทั้งคณะจะมีความเห็นทางใดทางหนึ่ง แต่หากนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่เอาด้วย ก็จะเอาตามนายทะเบียน แต่ปัญหาใหญ่มากคือ กกต.ได้ใช้อำนาจทั้งบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ในองค์กรเดียวกัน เพราะการให้ใบแดงได้ก็คือการแช่แข็งตุลาการอย่างหนึ่ง กกต.จึงกลายเป็นองค์กรที่มีปัญหาอย่างมาก แต่ต้องดูว่ามีปัญหาอะไร ไม่ใช่กลับไปย้อนยุคโดยให้มหาดไทยจัดการ" นาย

จาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กกต.ให้ใบเหลืองได้ แต่ไม่ควรให้ใบแดง เพราะใบแดงควรเป็นอำนาจของศาล การแก้ปัญหา กกต.ก็คือต้องมีฝ่ายตรวจสอบ อย่างเช่น กรณีการจัดการเลือกตั้งแล้วเป็นโมฆะคนที่ตรวจสอบต้องไม่ใช่ กกต. เพราะ กกต.เป็นจำเลยที่ 1 และผู้ขัดขวางการเลือกตั้งเป็นจำเลยที่ 2 เรื่องนี้จึงอยู่ที่ กกต.มีอำนาจเพียงใดและควรได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลจากหน่วยงานใด ในที่สุดแล้วความเห็นดังกล่าวจะตกไป แต่เวลานี้ไม่มีใครรู้ได้ว่ากมธ.จะเอาจริงหรือไม่ เพราะการเสนอความเห็นและข้อสรุปนั้นสะเปะสะปะมาก เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่มีหลักเกณฑ์ตั้งแต่ต้น ไม่มีความเชื่อในระบอบประชาธิปไตย และพยายามขัดขวางพรรคการเมืองบางพรรค และต่อมาก็สกัดกั้นนักการเมืองโดยรวม จึงทำให้สิ่งที่ออกมาผิดเพี้ยนไปจากหลักการประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ

@ กมธ.แจงปมกกต.หวังถ่วงดุล 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวกรณี กมธ.ยกร่างฯพิจารณาในส่วนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่า สำหรับ กกต.นั้น กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าไม่ควรให้ กกต.มีอำนาจกึ่งศาล การให้ใบแดงได้ถือว่าเป็นการมีอำนาจกึ่งศาล ที่ผ่านมาการให้ใบแดงมีข้อโต้แย้งถึงความไม่เป็นธรรม แม้จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้เร็ว หาก กกต.มีอำนาจส่วนนี้ แต่จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้สมัครที่จะได้รับ ที่ประชุมแสดงข้อคิดเห็นว่า ควรมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่ศาลมากกว่า แต่อาจจะมีข้อเสียตรงที่ล่าช้า เพื่อจัดการเรื่องการให้ใบแดงจะมีการตั้งศาลชำนาญพิเศษขึ้นมาดำเนินการ ในหลายประเทศทั่วโลก การจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องธุรการ คิดว่าน่าจะให้หน่วยงานในพื้นที่กระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายธุรการดำเนินการเรื่องดังกล่าว แต่อย่างไรก็ยังกำหนดให้ กกต.มีความสำคัญสูงสุด สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ จัดการกับการเลือกตั้งว่าบริสุทธิ์หรือไม่ มีอะไรกระทบคะแนนบ้าง การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบถือว่าเป็นการถ่วงดุล และสามารถทำให้การจัดการเลือกตั้งเป็นธรรม

@ เล็งตั้ง4องค์กรอิสระใหม่ 

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาองค์กรอิสระอื่นๆ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยังมีหน้าที่ใกล้เคียงเดิม แต่อาจจะมีวาระดำรงตำแหน่งว่าจะเป็น 6 ปี หรือ 9 ปี จะต้องนำเหตุผลเดิมที่บอกว่า 9 ปี ดีอย่างไรมาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าได้ข้อยุติหลังปีใหม่ นอกนั้นองค์กรอิสระอื่นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงเดิม ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่อาจจะมีบางองค์กรที่แขวนไว้ก่อน เช่น สภาพัฒนาการเมือง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะจะมีการตั้งองค์กรใหม่ 3-4 องค์กร เช่น สมัชชาจริยธรรมแห่งชาติ สภาพลเมืองระดับท้องถิ่น อาจจะพิจารณาใช้ชื่อเดิมหรืออาจจะนำคนจากองค์กรเดิมเข้าไปอยู่ จะทราบว่ามีการเปลี่ยนชื่อหรือยุบรวมช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรืออาจจะก่อนหน้านั้น เพราะอาจต้องเตรียมร่างกฎหมายสำหรับองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่

@ แย้มรธน.ใหม่มี250-300มาตรา 

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า หลังจาก กมธ.ยกร่างฯนำข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาหารือจนได้ภาพรวมในหลักการใหม่ในเรื่องระบอบการเมือง นักการเมือง สถาบันการเมืองแล้ว จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีนางกาญจรัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน นำไปยกร่างเป็นรายมาตราจนถึงวันที่ 11 มกราคม 2558 ก่อนส่งให้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อไปในวันที่ 12 มกราคม 2558 เบื้องต้นคาดว่า รัฐธรรมนูญใหม่น่าจะมีเนื้อหาอยู่ระหว่าง 250-300 มาตรา จะไม่มากไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มี 309 มาตรา ตามที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า จะต้องสั้น กระชับกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม โดยไม่ให้เกิดการตีความได้

@ นายกฯคนนอกใช้เสียงโหวต3ใน4 

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนกรณีการวิจารณ์เรื่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส.นั้น คงเป็นงานเหนื่อยของคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังมีบทเรียนฝังใจกับปมเรื่องนายกฯคนนอก ในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ ยืนยันว่าวัตถุประสงค์ของคณะ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้คิดเปิดช่องสืบทอดอำนาจให้ใคร แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงคือ การเปิดช่องไว้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง อาจจะต้องใช้นายกฯคนนอกมาแก้ปัญหา ที่ผ่านมามีการเรียกร้องนายกฯมาตรา 7 อยู่เป็นระยะ ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา นายกฯคนนอกจะนำมาใช้กรณีประเทศเกิดวิกฤตเท่านั้น หากเป็นภาวะบ้านเมืองปกติ จะนำนายกฯคนนอกมาบริหารประเทศ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะนักการเมืองจะไปตอบคำถามประชาชนได้อย่างไร เรื่องนายกฯคนนอกจะมีการพิจารณาเขียนในตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกลไกให้ชัดเจนว่า ให้นำมาใช้ในกรณีเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยให้มีอำนาจบริหารเพียงชั่วคราว อาจจะเป็น 6-8 เดือน แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ และตัวนายกฯคนนอกจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากกว่าปกติ เช่น 3 ใน 4 ของ ส.ส.ทั้งหมด เรื่องเหล่านี้จะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนกันต่อไป เพื่อสื่อเจตนารมณ์ว่าจะไม่มีการซี้ซั้วเอาคนนอกมาเป็นนายกฯได้

@ กมธ.อ้างบางเรื่องก็ก้าวหน้า

นายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯให้ กกต. เป็นเพียงผู้ควบคุมการเลือกตั้งว่า กมธ.ยกร่างฯต้องการแยกบทบาทของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจนมากขึ้น และต้องการให้กกต.ทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถแยกได้ว่า กกต.เป็นผู้จัดและผู้ควบคุมการเลือกตั้ง กรณีดังกล่าว กกต.ยังปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิมไม่แตกต่างจากปัจจุบัน เพราะยังสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยหรือสาธารณสุขมาทำงานจัดเลือกตั้ง และอยู่ภายใต้การสั่งการควบคุมการดำเนินการโดย กกต. ส่วนเป็นการลดอำนาจของ กกต.หรือไม่นั้น กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้ระบบการเลือกตั้งมีผู้ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนมากขึ้น 

นายสุจิต บุญบงการ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้พูดกันว่าให้หน่วยงานกระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งเพียงหน่วยงานเดียว เพราะยังมีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมจัดการเลือกตั้ง เช่น หน่วยงานของสาธารณสุข เพียงแต่เมื่อ กกต.จัดเลือกตั้งใช้คนของรัฐดำเนินการอยู่แล้ว อยากให้ กกต.ควบคุมการจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงควบคุมแต่ผู้ซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้ง ส่วนการวิจารณ์ว่า กมธ.ยกร่างฯ ถอยหลังไปไกลนั้น บางเรื่องก็เดินหน้าแล้ว แต่จะถอยหลังหรือไม่นั้นมีช่องทางอะไรบ้างการทำงานของกมธ.ตั้งโจทย์โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ การทำงานที่ผ่านมาก็มีปัญหา สำหรับการท้วงติงมติเรื่องต่างๆ ของ กมธ.ยกร่างฯนั้น ที่ผ่านมาเป็นการออกหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีการแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หลังจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ และลงมติรายมาตราก็จะนำความคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณาว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอะไรบ้าง

@ 'วันชัย'หนุนมท.จัดเลือกตั้ง

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯมีมติให้กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าเป็นเรื่องดีที่ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทน เพราะมีความพร้อมทั้งบุคลากรและความเชี่ยวชาญในพื้นที่ ปกติ กกต.เองก็ต้องขอความช่วยเหลือจากมหาดไทยในการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว ดังนั้นให้จัดแทนไปเลยก็ดี และยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันได้ด้วย ที่ผ่านมา กกต.ทำงานล้มเหลว ควบคุมและจัดการเลือกตั้งเองได้ไม่

สัมฤทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น และอีกอย่างคือการให้ใบเหลืองใบแดง ที่ผ่านมาพิจารณาได้ช้า อยากจะให้มีการพิจารณาให้เร็วกว่านี้ ควรกำหนดระยะเวลาการพิจารณาแน่นอนไปเลยจะดีกว่า

@ 'คำนูณ'โพสต์แจงกรอบการเมือง 

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งว่า กมธ.ยกร่างฯเสร็จสิ้นการตัดสินใจเบื้องต้นในหลักการสำคัญเพื่อยกร่างเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราแล้ว โดยมีหลักการใหม่ๆ หลายประการด้วยกัน แต่การพูดถึงบางหลักการแยกกันไปตามข่าวที่มาจากการแถลงในแต่ละวันนั้นอาจทำให้มองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด จึงขอให้พิจารณาภาพรวมหลักการใหม่เกี่ยวกับระบบการเมืองทั้งระบบ ที่ กมธ.ยกร่างฯมีฉันทามติร่วมกันในเบื้องต้นผ่านเอกสาร 5 หน้านี้ พร้อมได้โพสต์เอกสารประกอบทั้งหมดด้วย

ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯได้หารือภาพรวมเกี่ยวกับระบบการเมืองทั้งหมดหลังเห็นพ้องในหลักการ จากนั้นนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่พิมพ์เอกสารดังกล่าวชื่อ หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมืองและสถาบันการเมือง ความยาว 5 หน้ากระดาษเอ 4 มี 13 หัวข้อ สรุปสาระสำคัญคือ 1.พลเมืองเข้มแข็ง นักการเมืองมีคุณธรรม ระบบการเมืองใหม่เน้นปลูกฝังความเป็นพลเมืองทุกระดับ ให้มีสมัชชาพลเมืองระดับชุมชนจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ทำแผนพัฒนาพื้นที่ เห็นชอบงบและตรวจสอบภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่น ในระดับชาติ มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีหน้าที่พิทักษ์คุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนทุกระดับ ตรวจสอบไต่สวนการละเมิดจริยธรรมของบุคคลสาธารณะและแจ้งให้สังคมทราบ พร้อมส่งเรื่องต่อถึงผู้มีอำนาจดำเนินการ เคาะ ส.ส.มีไม่เกิน 480 คน

@ เปิดช่องปลัดกระทรวงนั่งนายกฯ 

2.ความเป็นกลางในการกำหนดวันเลือกตั้งและการรักษาการระหว่างเลือกตั้ง หลังการยุบสภารอเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ และให้ปลัดกระทรวงเลือกกันเองให้มีผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ในกรณีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องตัดสินใจต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของปลัดกระทรวงทั้งหมด และต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

3.โครงสร้างทางการเมืองที่สมดุลโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้มี ส.ส.ไม่เกิน 480 คน สภาบริหารโดยใช้หลักเสียงข้างมาก 4.การกรองผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองสภา (ส.ส.-ส.ว.) ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน การเสียภาษี และที่มาก่อนวันรับสมัครต่อคณะผู้ตรวจสอบข้อมูล หากชี้แจงที่มาไม่ได้ก็ไม่ให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องรับผิดชอบนโยบายหาเสียง

@ ประชานิยมต้องระบุแหล่งเงิน

5.การตรวจสอบการหาเสียง ทุกนโยบายที่พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งจะใช้หาเสียง ต้องระบุจำนวนงบประมาณแผ่นดินที่จะใช้และระบุแหล่งที่มาของรายได้ดังกล่าว เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ส่วนการหาเสียงกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ลำดับที่ 1-4 ในสภาครั้งที่แล้ว ต้องขึ้นดีเบตในโทรทัศน์ก่อนวันลงคะแนนเสียงตามที่กฎหมายกำหนด

6.ระบบเลือกตั้ง ส.ส.สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน และทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนผสม ให้มี ส.ส.จำนวน 450 แต่ไม่เกิน 480 คน เป็น ส.ส.เขต 250 คน ส.ส.สัดส่วน 200 คน ใช้หลักสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ ส.ส.เขตแบบ 4 ต่อ 5 โดยเรียก ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่นี้ว่า บัญชีรายชื่อเติมเต็ม เพื่อกำหนดสัดส่วน ส.ส.ที่แต่ละพรรคหรือกลุ่มได้รับจริงให้สัมพันธ์จำนวน ส.ส.เขต ที่สำคัญคือไม่ทำให้เกิดการกินรวบเหมือนเดิม ชงโละบัตรเลือกตั้งไม่ใช้เบอร์ ใช้ชื่อแทน 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!