WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เปิดคดีถอดถอน 9 ม.ค. 'ปู'ลุยเอง บุกสนช.แจงปม'ข้าว'แม้วสั่ง'พท.'อย่าขวาง ให้โอกาสบิ๊กตู่ทำงาน บวรศักดิ์เคลียร์สมบัติ ยุติศึก'ซุปเปอร์ปธน.'

มติชนออนไลน์ :  


ร้องป.ป.ช. - นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ผ่าน พ.ต.อ.อิทธิพล กิจสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบโครงการจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ ค่านิยม 12 ประการ ที่กระทรวงไอซีทีจัดทำว่าแพงเกินจริง และผิดระเบียบหรือไม่ เมื่อวันที่ 5 มกราคม

 

    'บวรศักดิ์-สมบัติ'เคลียร์ปมเลือกนายกฯโดยตรงชื่นมื่น 'ปู'ยันไปเอง ค้านแถลงเปิดคดีถอดถอน 'แม้ว'เบรก'เสื้อแดง'อย่าขวาง'บิ๊กตู่'

@ เทียนฉายกำชับสปช.ส่งการบ้าน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยแจ้งกับสมาชิกก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า ระยะการทำงาน 1 ปีต่อจากนี้ ขอให้คณะ กมธ.ปฏิรูป ทั้ง 18 ด้าน เร่งดำเนินการตามหลักการปฏิรูปคือ การรวบรวมทำแผนปฏิรูปทั้งระดับงานเร่งด่วน งานระยะปานกลาง อย่างการแก้ไขกฎหมาย ระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือยกเลิก พ.ร.บ.บางฉบับ และงานระยะปฏิรูปที่ใช้เวลาเกินกว่า 1 ปี อาทิ การรื้อโครงสร้างและระบบ แผนที่ได้ดำเนินการจะมีขั้นตอนอย่างไร แล้วเร่งส่งงานหรือการบ้านดังกล่าวมายัง สปช.ให้พิจารณา โดยขอให้สมาชิก สปช.ดำเนินการงานตามเป้าหมายให้แล้วเสร็จ 

นายเทียนฉายกล่าวว่า วันที่ 8 มกราคม ตนพร้อมคณะกรรมการประสานงาน ได้แก่ ประธานคณะ กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ คณะ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิป สปช. และคณะ กมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ จะประชุมเพื่อเตรียมการระดมความเห็นทำวิสัยทัศน์ในภาพรวมการปฏิรูป

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สปช. หารือว่ากังวลต่อประเด็นอายุการทำงานของ สปช. แต่ที่ผ่านมาการทำงานของ สปช.ยังไม่สะท้อนภาพรวมงานปฏิรูป ดังนั้นขอเสนอให้ภายในสัปดาห์นี้ กมธ.ปฏิรูป ทั้ง 18 ชุด ต้องจัดประชุมเพื่อเรียงลำดับงานปฏิรูปในแต่ละเรื่อง ว่าประเด็นใดอยู่ในประเภทความเร่งด่วน เป็นแผนภายใน 1 ปี และแผนระยะยาว จากนั้นให้นำเสนอต่อวิป สปช.ให้จัดลำดับเรื่องที่ต้องพิจารณาเร่งด่วน ผ่านการสอบถามตามแบบสำรวจความเห็นจากสมาชิก สปช. 

@ 'บวรศักดิ์'แจงปมสกัดข้อเสนอ 

ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ส่งเอกสารเป็นรายงานการประชุมของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมายัง สปช. ผ่านคณะ กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ซึ่งได้กำชับให้ทำสำเนาแจกกับ สปช.ด้วย อย่างไรก็ตาม การพิจารณารัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคมนั้น ได้เปิดโอกาสให้ สปช.ได้ร่วมรับฟังด้วย 

"ผมเตรียมหารือกับที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า หากการพิจารณาในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดสิทธิเสรีภาพ และการปฏิรูปที่เป็นข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปชุดต่างๆ จะเชิญ กมธ.ชุดนั้นๆ เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งข้อเสนอที่ สปช.ส่งมานั้น ต้องสกัดเอาแก่น บางทีก็นำคำมาเขียนเป็นบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญใหม่ยาวเกินไป ผมยินดีและเต็มใจให้ สปช.เข้าร่วมรับฟังการพิจารณา" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ 'ประสาร'หนุนถอด'ปู-2 ปธ.'

ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช.กลุ่ม 40 ส.ว. ขอหารือต่อที่ประชุมถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมพิจารณาการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ออกจากตำแหน่ง ตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่นำเสนอต่อที่ประชุม สนช.ว่า มีบุคคลพยายามให้ข้อมูลว่าไม่สามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นฐานความผิดได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมองว่าหากดำเนินการเรื่องดังกล่าวอาจกระทบต่อการปรองดองได้ 

"แต่ส่วนตัวมองว่าการตั้งต้นมองประเด็นปรองดอง ต้องไม่ใช่นำประเด็นความผิดและความถูกผิดมารวมกัน การประนีประนอมสามารถทำได้โดยเทคนิคและวิธีการ ทั้งนี้ กระบวนการตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมต้องยืนหลักบนความถูกต้อง ผมขอให้กำลังใจ สนช.พิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยความเที่ยงธรรม ยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ทั้งนี้ต้องอยู่บนหลักปฏิรูปที่เป็นจริงที่ว่า อย่าทำให้คนผิดลอยนวล" นายประสารกล่าว

@ กมธ.การเมืองถกเนื้อร่างรธน.

ขณะเดียวกัน มีการประชุม กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน กมธ. ที่รัฐสภาในช่วงบ่าย โดยมีวาระการพิจารณายุทธศาสตร์สร้างความปรองดองแห่งชาติและพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุ กมธ.ใน กมธ.ปฏิรูปการเมือง 

ก่อนเข้าสู่วาระที่ประชุม ได้ให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงถึงความคืบหน้าของการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นโครงสร้างอำนาจรัฐ การได้มาของนายกฯและระบบรัฐสภาแล้ว ในชั้นการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้คุยและอภิปรายอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน แต่ยังต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก วันที่ 12 มกราคม ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็จะเริ่มการพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

@ สรุปจำนวนส.ส.450คน

นายไพบูลย์ชี้แจงว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องระบบเลือกตั้ง เดิมมีผู้เสนอให้มี ส.ส.เขต จำนวน 200 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน แต่ในที่สุดได้ข้อยุติที่จำนวน ส.ส. 450 คน มาจาก ส.ส.แบ่งเขต 250 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน ส่วนเรื่องระบบการคำนวณที่มา ส.ส. ที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้มอบหมายให้นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้จัดทำแนวทางการแบ่งภาคและเขตเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมเดลต้นแบบในการเลือกตั้ง ส.ส.ตามแบบประเทศเยอรมนี 

นายไพบูลย์ได้เสนอต่อ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ให้ตั้งอนุ กมธ.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เนื่องจากปัญหาการเมืองที่ผ่านมาล้วนมีต้นเหตุมาจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเสนอให้มีการตั้งอนุ กมธ.และให้พระภิกษุสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับอนุ กมธ.ที่มีอยู่จำนวนมาก โดยเสนอให้เป็นความรับผิดชอบของคณะอนุ กมธ.ปฏิรูปกลไกและระบบเลือกตั้ง จากนั้นได้เข้าสู่วาระการพิจารณายุทธศาสตร์สร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมีนายบวรศักดิ์เข้าร่วมให้ความเห็น โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง

@ 'บวรศักดิ์-สมบัติ'เคลียร์ปมนายกฯ

พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สปช.ในฐานะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เปิดเผยภายหลังการประชุม กมธ.ปฏิรูปการเมืองโดยเชิญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้าชี้แจงในสาระสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นการพูดคุยและชี้แจงในเชิงวิชาการ หลังจากที่นายบวรศักดิ์มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อประเด็นข้อเสนอเรื่องที่มานายกฯจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามที่นายสมบัตินำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 

"ซึ่งประเด็นที่คุยกันคือ เรื่องความเข้าใจต่อระบบบริหารของรัฐบาลอเมริกา ประเด็นประธานาธิบดีสามารถเสนอกฎหมายเข้าสู้สู่สภา

คองเกรสได้ หากนำระบบเลือกตั้งนายกฯโดยตรงมาใช้อาจถูกมองว่านายกฯจะมีอำนาจคล้ายกับประธานาธิบดี สิ่งที่ได้ชี้แจงเป็นเรื่องทางวิชาการต่อระบบเข้าใจการปกครองที่ยังเข้าใจกันคลาดเคลื่อน โดยตอนหนึ่ง เมื่อนายบวรศักดิ์และนายสมบัติได้ชี้แจงกันเป็นที่เข้าใจ นายบวรศักดิ์จึงได้กล่าวขออภัยต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทำให้บรรยากาศจบด้วยความชื่นมื่น" พ.ต.อาณันย์กล่าว

@ แนะเขียนรธน.ตีความน้อยสุด

พ.ต.อาณันย์กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตนเคยได้ให้ความเห็นไปว่ารัฐธรรมนูญต้องเขียนบทบัญญัติที่ทำให้เกิดการตีความได้น้อยหรือไม่จำเป็นต้องตีความ เพื่อป้องกันการสับสนต่อการบังคับใช้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำได้บ้าง เพื่อลดโอกาสของการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้ทันสมัย เป็นกติกาที่สังคมสามารถปรองดองสมานฉันท์อยู่ร่วมกันได้

"ส่วนข้อเสนอการแก้ไขวิกฤตการเมืองด้วยการเปิดให้มีคนกลางเข้ามาบริหาร จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องเขียนความหมายของสถานการณ์วิกฤตให้มีความชัดเจน โดยต้องใช้เป็นช่องทางในยามฉุกเฉิน คล้ายกับบันไดหนีไฟ แต่ต้องปิดช่องไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้เป็นบันไดหลัก" พ.ต.อาณันย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายบวรศักดิ์เคยวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงจะทำให้นายกฯมีอำนาจมากระดับชุปเปอร์ประธานาธิบดี 

@ 'สุรชัย'คาดลงมติถอดปลายม.ค.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวถึงกรณีการถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ว่า วันที่ 8 มกราคม จะพิจารณาคดีแถลงเปิดคดีนายสมศักดิ์ และนายนิคม โดย ป.ป.ช.จะเป็นผู้เริ่มแถลงเปิดคดีในแต่ละสำนวน ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ได้รับมอบหมายจะแถลงในลักษณะแก้ข้อกล่าวหา โดยแต่ละสำนวนคาดว่าจะใช้เวลาแถลงสำนวนละ 2 ชั่วโมง

"จากนั้น สนช.จะตั้ง กมธ. 1 ชุด จำนวน 21 คน เพื่อซักถาม เพื่อรวบรวมคำถามต่างๆ จาก สนช.โดยสมาชิกจะต้องส่งคำถามให้ กมธ.ชุดดังกล่าภายในวันที่ 7 มกราคม จากนั้นภายใน 7 วัน จะเข้าสู่กระบวนการซักถามคู่กรณี คาดว่าคดีของนายสมศักดิและนายนิคมจะแถลงปิดคดี และจากนั้นอีก 3 วัน จะลงมติถอดถอนหรือไม่ คาดว่าในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้จะแล้วเสร็จ" นายสุรชัยกล่าว และว่า ขณะที่สำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน แต่สมาชิกจะส่งคำถามได้ถึงวันที่ 8 มกราคม เนื่องจากจะแถลงเปิดคดีในวันที่ 9 มกราคม คาดว่าจะลงมติถอดถอนหรือไม่ ในช่วงปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ขึ้นอยู่กับจำนวนคำถามชองสมาชิก สนช.

@ ยันสนช.จะเลือกทางที่ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ว่าหาก สนช.ดำเนินการถอดถอนจะกระทบต่อการปรองดอง นายสุรชัยกล่าวว่า สนช.ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องดังกล่าวมาซึ่งอยู่ในอำนาจของ สนช.ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าจะให้ สนช.หยุดการพิจารณาคดีก็ต้องขอคำแนะนำด้วย แต่ในขณะนี้ตนมองไม่เห็นช่องทางอื่น ส่วนมติจะออกมาเป็นอย่างไร เชื่อว่า สนช.มีอิสระทางความคิดที่จะรับฟังคำแถลงจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อที่จะนำสิ่งที่ปรากฏในสำนวนมาชั่งน้ำหนักว่าสิ่งใดถูกหรือผิด 

"ถ้า สนช.ดำเนินการถูกต้องและเป็นธรรมเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อคำวิจารณ์ต่างๆ ดังนั้น จึงอยากขอความเห็นใจ เพราะไม่ว่า สนช.จะทำหรือไม่ทำ ย่อมได้รับแรงเสียดทาน จึงต้องเลือกทางที่ดีที่สุดคือ ทำตามกฎหมายและความถูกต้อง" นายสุรชัยกล่าว

@ ปกป้องอดีต40ส.ว.ไร้อคติ

"อยากจะฝากไปยังคนที่เกี่ยวข้องที่ออกมาวิจารณ์ อยากจะให้ออกมาต่อสู้อย่างเป็นทางการคือ การเข้ามาแถลงในสภา เพราะการไปพูดภายนอกทำให้ สนช.ต้องไปตามข้อเท็จจริงที่อยู่นอกสำนวน ซึ่งก็จะไม่เป็นผลดี" นายสุรชัยกล่าว และว่า ส่วนข้อวิจารณ์ของ สนช.ที่อยู่ในกลุ่มอดีต 40 ส.ว.ที่ถูกกลุ่ม 38 ส.ว.ที่กำลังจะถูกถอดถอนมองว่ามีอคติต่อการพิจารณากระบวนการถอดถอนหรือไม่นั้น คิดว่าไม่มี ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด 38 ส.ว.ก็เป็นเพื่อนตน ทำงานร่วมกันมา แม้แต่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่าเสียงในการถอดถอนไม่เพียงพอ ก็เป็นเพียงการคาดคะเน การพิจารณาว่าจะผิดหรือถูกควรยืนอยู่บนพยานหลักฐาน จะใช้ความเกรงใจมาตัดสินไม่ได้ 

@ 'นิคม'พร้อมชี้แจงด้วยตนเอง 

นายนิคมกล่าวถึงกรณี สนช.เตรียมพิจารณาถอดถอนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.มิชอบ ว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกวิตกกังวลแต่อย่างใด พร้อมสู้คดีไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในทุกประเด็น โดยแนวทางการต่อสู้คดีส่วนใหญ่จะใช้หลักฐานและเอกสารต่างๆ แบบที่เคยใช้ต่อสู้คดีในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาทิ บันทึกการประชุมที่ถอดมาจากชวเลข รายงานของ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม เป็นต้น

"จึงมองว่าไม่มีสิ่งใดน่ากังวลเลย เพราะเป็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ซึ่งประกอบไปด้วยหลักฐาน ไม่มีประเด็นอะไรที่พูดลอยๆ และในวันที่ 8 มกราคม ผมพร้อมจะเดินทางมาชี้แจงกับทาง สนช.ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้อธิบายเหตุผลทุกเรื่องให้ สนช.ได้รับทราบในทุกประเด็นด้วย" นายนิคมกล่าว

@ 'ปู'ลุยแจงโครงการข้าว9มค.

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดชอบคดีรับจำนำข้าว กล่าวถึงการเตรียมตัวแถลงเปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 9 มกราคม ว่า ทีมทนายความหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงแนวทางการชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ที่จะแถลงเปิดคดีถอดถอน โดยได้ข้อสรุปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อคัดค้านการแถลงเปิดคดีของ ป.ป.ช.ในโครงการจำนำข้าวด้วยตัวเอง ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงในโครงการทั้งหมดต่อ สนช.ได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชน 

"ในวันที่ 6 มกราคมผมจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมจะไปชี้แจงโต้แย้งข้อเท็จจริงในคดีต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 9 มกราคม วันที่ 7 มกราคมจะไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอความเป็นธรรมไม่ให้รีบเร่งส่งฟ้องคดีอาญาโครงการจำนำข้าว จนกว่าจะสอบข้อไม่สมบูรณ์ในคดีจนครบถ้วนทุกประเด็น"นายนรวิชญ์กล่าว 

@ อดีตส.ว.ถกสู้ถอดถอน14ม.ค.

นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. 1 ใน 38 อดีต ส.ว.ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.มิชอบ เปิดเผยว่า ไม่ได้รู้สึกวิตกกังวล พร้อมสู้คดีไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทุกอย่าง ซึ่งยืนยันว่ายังไม่มีการเตรียมแนวทางต่อสู้คดีไว้ล่วงหน้า เพราะเชื่อว่าความจริงก็คือความจริงสามารถพิสูจน์ให้ สนช.รับทราบได้ 

"มีความเชื่อมั่นในตัว สนช.ว่าจะไม่ลงมติถอดถอนแน่นอน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเป็นอย่างดี วันที่ 14 มกราคม ทางอดีต 38 ส.ว.มีการนัดหมายเป็นการภายใน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกันด้วย" นายดิเรกกล่าว

@ พท.คาใจปปช.ไม่ยกตามรธน.50 

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวถึงกรณีที่จะมีการบรรจุวาระถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ วันที่ 9 มกราคม ว่า ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องนี้เข้ามายัง สนช. เห็นว่าจริงๆ แล้ว ป.ป.ช.มีอำนาจในการตัดสินใจเอง เหมือนเรื่องการประกันราคาข้าวที่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกฯ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่อยู่แล้ว ป.ป.ช.ก็ให้เหตุว่าพิจารณาไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีอยู่ เรื่องนี้ก็ไม่แตกต่างกันเพราะเป็นเรื่องที่คล้ายกัน ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 และอีกอย่างกรรมการ ป.ป.ช.สามคนอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติในการเป็นคณะกรรมการ 

"เรื่องเหล่านี้ก็จะนำไปพิจารณาในเรื่องข้อต่อสู้ในการถอดของทีมทนายด้วย ถึงแม้ผมจะไม่ได้อยู่ในทีมทนายก็ตามแต่ก็คุยกันนอกรอบแล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อ ป.ป.ช.มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องประกันราคาข้าว แล้วเหตุใดจึงไม่มีอำนาจตัดสินในโครงการจำนำข้าว อยากถามว่า ป.ป.ช.สองมาตรฐานหรือไม่" นายเรืองไกรกล่าว

@ 'คำนูณ'โต้กปปส.ปมที่มานายกฯ

นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kamnoon Sidhisamarn" ประเด็นการเปลี่ยนท่าที่ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ต่อในเรื่อง "ที่มาของนายกรัฐมนตรี" ว่าข้อสรุปเบื้องต้นของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกฯเสียใหม่ โดยไม่บัญญัติบังคับว่าจะต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ก่อให้เกิดเสียงไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางพอสมควร "โดยเฉพาะจากนักการเมือง" 

"แม้แต่โฆษก กปปส.ก็ไม่เว้น โดยบอกในทำนองว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอย่าได้อ้าง กปปส. ประเด็นนี้ ผมฟังจากข่าวค่ำ หากผิดพลาดไม่ครบถ้วนประการใดต้องขออภัย แต่ก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรคของโฆษก กปปส. ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ในระดับหนึ่งมาแล้ว การที่ฟากฝั่งหนึ่งไม่เห็นด้วยกับประเด็นเปิดกว้าง ไม่บังคับให้นายกฯต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น พอเข้าใจได้ เพราะเป็นจุดยืนเดิมมาโดยตลอดช่วงวิกฤตเกือบ 10 ปีมานี้ จุดยืนที่เห็นว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง อะไรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งสิ้น จุดยืนนี้ถูกหรือผิดหรือมีที่มาอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง ณ ที่นี้ เพียงแต่บอกว่าฟากฝั่งนี้ยืนอย่างนี้มาโดยตลอด ครั้งนี้ยืนอยู่จุดเดิมอีกจึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก" 

@ อ้างบางสถานการณ์จำเป็น

นายคำนูณระบุอีกว่า แต่กับอีกฟากฝั่งหนึ่ง มามีความเห็นตรงกันกับฟากฝั่งที่ต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอดนี้ตนยังต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจอยู่ ตนไม่เคยได้ยิน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนใดอ้าง กปปส. ได้ยินแต่ว่าการกำหนดคุณสมบัติของนายกฯให้เปิดกว้างไว้ย่อมจะดีกว่า 

"เพราะในบางสถานการณ์ประเทศอาจมีความจำเป็นต้องมีนายกฯที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มีการเรียกร้องให้มีนายกฯที่เป็นคนกลางและไม่ได้มาจาก ส.ส.เพื่อแก้ไขวิกฤต แต่ไม่สำเร็จ เพราะทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2540 บังคับไว้ว่านายกฯต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น" นายคำนูณระบุ

@ ซัดกปปส.เคยขอนายกฯคนนอก 

"กปปส.เดินขบวนมาถึงรัฐสภาเพื่อให้กำลังใจและให้แก้วิกฤตด้วยวิธีดังกล่าว โดยเลขาธิการ กปปส.ได้เข้าพบรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นการเฉพาะด้วยการเรียกร้องให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสมจะเป็นนายกฯตั้งแต่หลังเดือนธันวาคม 2556 เป็นต้นมา เท่ากับต้องเสนอผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.สถานเดียว เพราะขณะนั้นไม่มี ส.ส.เหลืออยู่สักคนเดียว เพราะยุบสภาแล้ว" นายคำนูณระบุ

นายคำนูณระบุอีกว่า เป็นสถานการณ์เดียวกับช่วงเดือนมีนาคม 2549 โฆษก กปปส.ควรถามเลขาธิการ กปปส.ในข้อเสนอที่ประกาศออกมาหลายครั้งหลายหน เช่นเดียวกับควรถามหัวหน้าพรรคตัวเองถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือนมีนาคม 2549 ว่าเคยแสดงความเห็นไว้อย่างไร และข้อเสนอนั้นเป็นไปไม่ได้ในเวลาต่อมาเพราะอะไร ก็จะได้ความจริงในอดีต 2 ครั้ง ว่าในบางสถานการณ์ประเทศมีความจำเป็นต้องได้นายกฯที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.หรือไม่ อย่างไร และสถานการณ์นั้นหมดไปแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้วอย่างนั้นหรือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนจะได้รับฟังให้ชัดเจนแล้วนำไปประกอบการพิจารณา

@ โฆษกกปปส.โต้ปม'นายกฯ'

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. กล่าวว่า อ่านความเห็นของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนหนึ่งแล้ว เห็นว่าคงเข้าใจความหวังดีของตนและมวลมหาประชาชนผิดไป ข้อเสนอของมวลมหาประชาชนที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำในช่วงที่มีการชุมนุมได้สรุปและเสนอไปแล้ว ขณะนี้การชุมนุมก็ยุติไปแล้ว คงไม่สามารถไปเพิ่มเติมหรือปรับแก้อะไรได้ 

"ความเห็นของแกนนำคงเป็นเพียงแต่ความพยายามที่จะสะท้อนเจตจำนงค์ของมวลมหาประชาชนเท่านั้น เรามองว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่การซื้อเสียงทุกระดับ ทำได้ด้วยการสร้างระบบป้องกันที่ดี เช่น การยุบ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ การเพิ่มโทษ เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง" นายเอกนัฏกล่าว และว่า ที่ กปปส.อยากให้รัฐธรรมนูญใหม่มีนายกฯมาจากคนนอกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งนั้น เป็นการเข้าใจผิด ถ้าจะเขียนใหม่เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ควรหาทางระบุให้ชัดว่านายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจใช้ในสถานการณ์เฉพาะเท่านั้น

@ 'นพดล'เหน็บพูดแต่'ประชามติ'

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "มีนักการเมืองคนหนึ่งย้ำว่าต้องมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ฟังดูก็มีเหตุผลและหลักการ เพราะก่อนนำหมวกไปใส่หัวคนก็ควรถามความยินยอมประชาชนเสียก่อน การตัดสินใจของประชาชนจึงไม่อาจให้ใครทำแทนได้ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งคนผู้นี้กลับไม่เสนอตัวและบรรดากลุ่มของเขาให้ประชาชนตัดสิน ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า หลักการเคารพการตัดสินใจของประชาชนถูกใช้ตามความสะดวกทางการเมือง"

@ ป.ป.ช.รอเอกสารคดี'ปู'

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าของคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) กับ ป.ป.ช. ว่า หลังคณะทำงานร่วมฯมีมติให้สอบพยานบุคคล ซึ่งขณะนี้สอบไปเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น จะเหลือแค่เรื่องรายการเอกสารเพิ่มเติมอีก 4 รายการ โดยคณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช.ได้ติดต่อไปยังหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว คาดว่า ในสัปดาห์นี้คงจะได้เอกสารมา ซึ่งต้องดูรายละเอียดในเอกสารก่อนว่าจำเป็นต้องสอบบุคคลเพิ่มเติมยืนยันข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าวหรือไม่ แต่คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์คงจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

@ คาดผลสรุปคดีเสร็จม.ค.

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมคณะทำงานร่วมฯเพื่อหาข้อยุติจะเสร็จสิ้นในเดือนมกราคมหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า อาจเป็นไปได้ ทั้งนี้ ได้หารือกันว่าหลังจากสอบพยานเพิ่มเติมเสร็จสิ้นแล้ว คณะทำงานฝ่าย อสส.จะไปหารือกับ อสส.ก่อน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสอบพยาน-ขอเอกสารเพิ่มเติมแล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น คณะทำงานฝ่าย อสส.จะไปหารือกับ อสส.เพื่อให้พิจารณาก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาสัก 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนำมติของ อสส.มาหารือในที่ประชุมร่วมกันนัดสุดท้าย

"กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 แนวทาง คือ เมื่อสอบพยาน-ขอเอกสารเพิ่มเติมเสร็จแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยดี ก็ให้คณะทำงานฝ่าย อสส. ไปหารือชงเรื่องให้ อสส.พิจารณาเลย และจะประชุมกันอีกครั้งหลังจาก อสส.พิจารณาเสร็จแล้ว ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือถ้าในการสอบพยานเพิ่มเติมพบว่ายังมีถ้อยคำขัดกันอยู่ ก็ต้องมาคุยกันอีกครั้งในที่ประชุมคณะทำงานร่วมฯ" นายสรรเสริญกล่าว 

@ จี้สอบสติ๊กเกอร์ค่านิยม 

เวลา 11.00 น. วันเดียวกัน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ตัวแทนจากองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคม ยื่นหนังสือถึงประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ผ่าน พ.ต.อ.อิทธิพล กิจสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการกำหนดราคากลางในการจัดทำหรือจัดซื้อจัดจ้างการดำเนินการโครงการจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการที่กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นผู้จัดทำ มีราคาแพงเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามกฎหมาย

@ แฉบ.ไลน์ดำเนินการเพียง2-3ล.

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า การตั้งราคากลางในการจัดทำโครงการดังกล่าวแพงเกินความเป็นจริงหรือเกินมาตรฐานการค้าทั่วไปหรือไม่ เพราะมีราคาในการดำเนินการอยู่ที่ 7.1 ล้านบาท โดยเป็นราคากลางจากบริษัท Line Company (Thailand) limited ซึ่งมี นางอาทิตยา สุธาธรรม, นายพฤฒิพงศ์ พัวศิริ, นายพิศิษฐ์เดช สายแสง, น.ส.ชุติพันธุ์ พิมทอง และนายธีรยุทธ พูลรอด นักวิชาการคอมพิวเตอร์ที่เป็นผู้กำหนดราคากลาง แต่กลับไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด เหตุและผลการตั้งราคากลางดังกล่าว 

"เมื่อตรวจสอบราคาจากบริษัท ไลน์คอเปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กลับมีราคาในการดำเนินการเพียง 2-3 ล้านบาทเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และขัดกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล ขอให้ตรวจสอบว่ากระบวนการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวแพงเกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่" นายศรีสุวรรณกล่าว 

"ขอให้ตรวจสอบว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะในการดำเนินการมีบริษัทที่ยื่นข้อเสนอเพียงบริษัทเดียว คือบริษัททีวีพูล ที่นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เป็นเจ้าของ จึงมีข้อสังเกตว่าบริษัทผู้รับดำเนินการอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบุคคลในรัฐบาล" นายศรีสุวรรณกล่าว และว่า หากตรวจสอบพบว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรือเข้าข่ายความผิด ขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายของ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ที่ดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ดังกล่าวด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา

@ ชี้เอาผิดไม่ยาก-ยึดราคากลาง

พ.ต.อ.อิทธิพลกล่าวว่า ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เชื่อว่าจะสามารถเอาผิดได้ไม่ยาก เพราะมีราคากลางของบริษัทอยู่แล้ว หลังจากนี้ ป.ป.ช.ก็จะขอข้อมูลการดำเนินการจากกระทรวงไอซีทีเพื่อมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และจะต้องตรวจสอบว่า นางพันธุ์ทิพามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร

นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อมีผู้มายื่นร้องขอให้มีการตรวจสอบเรื่องใดๆ ทางสำนักงาน ป.ป.ช.ต้องสรุปเรื่อง เพื่อรายงานเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้พิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่การไต่สวนของ ป.ป.ช.หรือไม่ และต้องตรวจสอบว่าข้อมูลที่ยื่นมามีข้อมูลหลักฐานหนักแน่นเพียงพอและเข้าข่ายอำนาจหน้าที่ตรวจสอบของ ป.ป.ช.หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่ประชุมคณะกรรมการต้องพิจารณาเพื่อตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง ก่อนที่จะสรุปให้ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนต่อไป

@ ไอซีทีแจงสติ๊กเกอร์ไลน์ไม่แพง

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มครหาว่าทางกระทรวงไอซีทีจัดทำสติ๊กเกอร์บนแอพพลิเคชั่นไลน์ ชุด "ค่านิยม 12 ประการ" แพงกว่าความเป็นจริง ว่าไม่เป็นความจริง กระทรวงไอซีทีจัดทำสติ๊กเกอร์ชุดดังกล่าวในราคา 7.1 ล้านบาท ยังถือเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เนื่องจากราคาสติ๊กเกอร์แต่ละรูปแบบนั้นแตกต่างกันไปตามราคา ซึ่งชุดค่านิยม 12 ประการ เป็นสติ๊กเกอร์ที่ขยับได้ มีระยะเวลาให้โหลดฟรีมากถึง 30 วัน รวมถึงมีระยะเวลาใช้งานนานถึง 90 วัน ซึ่งตามอัตราราคามาตรฐานของทางไลน์สติ๊กเกอร์ที่เข้าเงื่อนไขราคาดังกล่าวต้องมีราคาอยู่ที่ 7.8 ล้านบาท ฉะนั้น ราคา 7.1 ล้านบาท ที่กระทรวงไอซีทีดำเนินการจึงเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด 

นายพรชัยกล่าวว่า ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินการจัดสติ๊กเกอร์ ขอยืนยันว่าเป็นการดำเนินการอย่างโปร่งใส เนื่องจากเดิมทีทางกระทรวงไอซีทีได้มีการเชิญบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมาเสนอราคาจัดทำสติ๊กเกอร์จำนวนทั้งสิ้น 8 บริษัท แต่มีบริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด เพียงรายเดียวเท่านั้นที่เสนอราคากลับเข้ามา ทางกระทรวงไอซีทีจึงตัดสินใจจัดจ้างบริษัทดังกล่าวตามขั้นตอน ในส่วนของกระแสตอบรับจากประชาชนตั้งแต่เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดวันที่ 30 ธันวาคม-5 มกราคม 2558 มียอดดาวน์โหลดแล้วทั้งสิ้น 5,511,859 ครั้ง

@ เล็งตั้งรองโฆษกรบ.เพิ่ม2คน 

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม ว่ายังหาอยู่ โดยได้คุยกันอยู่ทุกวัน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ส่วนเหตุผลที่ต้องแต่งตั้งรองโฆษกเพิ่มเติมนั้น เพราะเวลาที่ตนมีภารกิจ จะเหลือแค่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เพียงคนเดียว ก็จะหนัก ดังนั้น คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้คิดว่าจะต้องตอบคำถามเรื่องต่างๆ แทนตนกับ พล.ต.สรรเสริญได้ 

"การตั้งรองโฆษกเพิ่มนี้เป็นเรื่องที่หารือกันเองในทีมโฆษกว่าควรจะมีคนมาเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ก็มีเสนอไปบ้างแล้ว และมีที่ทาบทามแต่บางท่านก็ยังไม่สะดวกเข้ามา เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งการเมืองคนที่จะมาต้องมีความพร้อมทั้งนี้เราได้พิจารณากันอย่างหลากหลาย แต่คิดว่าถ้าเป็นข้าราชการประจำได้ก็คงจะดี เพราะรู้ระเบียบขั้นตอนต่างๆ แล้ว" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ชายจะเป็นนายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล ที่ปรึกษาโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า นายคมสันก็ช่วยงานทีมโฆษกอยู่ ซึ่งเขาแฮปปี้กับงานที่ทำอยู่

สนช.กับอำนาจถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์-สมศักดิ์-นิคม'

วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2558

 

 
 

  



ยอดพล เทพสิทธา, กิตติศักดิ์ ปรกติ, เอกชัย ไชยนุวัติ

    หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุมวันที่ 8-9 มกราคม เพื่อพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด

ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

"ผมมองว่าสุดท้ายแล้ว เสียงใน สนช.น่าจะแตก คุณยิ่งลักษณ์น่าจะรอด"

ผมยังไม่เห็นตัวรูปคดีนะ แต่ว่าอย่างคุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ประกอบกับการใช้กระบวนการถอดถอนของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อ้างเรื่องอำนาจของ ส.ว.ที่ให้ สนช.มีอำนาจเหมือน ส.ว. ตรงนี้ผมว่า เราพูดกันมาหลายทีแล้วว่าการถอดถอนหรือการ

อิมพีชเมนต์ (impeachment) พวกนี้มันใช้เฉพาะกรณีที่บุคคลผู้นั้นยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในขณะที่ถูกถอดถอน ตรงนี้ผมมองว่า แนวทางการต่อสู้ รูปคดีตรงนี้ของคุณยิ่งลักษณ์ก็เป็นเรื่องของการจำนำข้าว ก็ต้องต่อสู้ว่า ไม่รู้เห็นเป็นใจกับความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือเป็นความเสียหายที่ได้ป้องกันไว้อย่างเต็มที่แล้ว หรือเป็นความเสียหายที่คาดหมายได้อยู่แล้ว แต่อาจมีส่วนที่ผิดพลาดไปบ้าง แต่ใช้ความระมัดระวังเต็มที่แล้ว 

ถ้าถามผม ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว สนช.คงไม่ถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ เพราะว่า ถ้าถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ ผมมองว่ามันจะเสียบรรยากาศของการที่พยายามปูกันมาคือความปรองดอง ผมมองว่าสุดท้ายแล้ว เสียงใน สนช.น่าจะแตก คุณยิ่งลักษณ์น่าจะรอด

คุณนิคมกับสมศักดิ์ ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าเขาโดนด้วยประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ผมมองต่างจากของคุณยิ่งลักษณ์นิดหนึ่งคือว่า ประเด็นการแก้ไขเรื่องรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วมันเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้วตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 50 ฉะนั้น ถ้าถามความคิดเห็นผมในทางนักกฎหมาย ผมก็ตอบได้เลยว่า จริงๆ แล้วมันเป็นการทำหน้าที่ทั่วไปของฝ่ายนิติบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องของเรื่องคือ ไม่ควรจะนำเรื่องเข้าสู่ สนช. ด้วยซ้ำ ผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่า การจะถอดถอนบุคคลมันต้องเป็นการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ปรากฏว่ามีคนไปฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ความผิดฐานกบฏ อย่างนี้ ถามว่าจะถอดถอน พล.อ.ประยุทธ์ภายหลังจากที่พ้นตำแหน่งไปแล้วได้หรือเปล่า อันนี้เราพูดถึงเรื่องหลักกฎหมายกันแบบหลักการ ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า สุดท้ายแล้วจะไม่มีการถอดถอนเกิดขึ้น

ไม่ใช่ว่าช่องกฎหมายไม่เปิดให้เราถอดถอนนะ เพียงแต่ว่ามันไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการถอดถอนแล้วครับ มันไม่สามารถทำได้ การถอดถอนบุคคลผู้ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไรเลยในปัจจุบัน

ผมว่าทั้ง 3 คนคงต้องสู้ในแง่ที่ว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนตั้งแต่แรกครับ

กิตติศักดิ์ ปรกติ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"กฎเกณฑ์ทางการเมืองในยุคนี้ ถูกกำหนดด้วยคณะรัฐประหาร"

การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตประธานสภาทั้ง 2 คน โดย สนช.ถือว่าไม่ใช่เรื่องการดำเนินการทางกฎหมาย แต่เป็นเรื่องการดำเนินการทางการเมือง เพียงเป็นมาตรการทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจอยู่จะยอมรับ ยอมสมาคมกับบุคคลที่เขาว่ากระทำผิดมากน้อยเพียงใด ถ้าหากเห็นว่าไม่มีความผิดก็ไม่เห็นต้องไปถอดถอนอะไร แต่ถ้าเห็นว่ามีความผิดก็ถอดถอน ก็คือถอดถอนเกียรติ 

สิ่งที่เขาสูญเสียคือสิทธิทางการเมือง ก็เหมือนกับสมาคมที่เห็นว่าสมาชิกบางคนขาดคุณสมบัติ หรือว่ามีความประพฤติไม่เหมาะสม ก็ขับออกจากสมาชิกภาพ ในกรณีของ สนช.ถือว่าเขาใช้อำนาจทางการเมืองแทนประชาชน ลงมติว่าจะยอมรับคนที่คิดว่ากระทำความผิด ออกจากประชาคมทางการเมืองหรือไม่

กฎเกณฑ์ทางการเมืองในยุคนี้ถูกกำหนดด้วยคณะรัฐประหาร ในระบอบรัฐประหารจะยอมรับบุคคลที่มาจากระบอบการเลือกตั้งดั้งเดิมที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดอยู่รึเปล่า ถ้าลงมติไม่ยอมรับก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่สามารถต่อสู้อะไรได้ แต่ต้องต่อสู้ภายใต้กฎเกณฑ์ของคณะที่มีอำนาจอยู่ ข้อต่อสู้คือ ต่อสู้ว่าข้อกล่าวหาที่ว่าฉันกระทำความผิด ฉันไม่ได้กระทำผิด ใช้เหตุผล มันไม่ได้เป็นการต่อสู้ทางกฎหมาย เป็นการต่อสู้ทางการเมือง เพียงแต่ว่าเป็นการเมืองที่อาศัยฐานในทางรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย เป็นการตัดสินใจทางการเมือง อย่างการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องตัดสินใจทางการเมือง แต่อาศัยกฎหมายตาม

รัฐธรรมนูญ 

การตัดสินของทางการเมือง จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายต่อสู้อย่างเป็นธรรม ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหา เปิดโอกาสให้ชี้แจงต่อสู้ ต่อสู้ด้วยเหตุผล และเมื่อตัดสินแล้วก็ต้องสามารถอธิบายเหตุผลได้ ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายกับการต่อสู้ทางการเมือง

เอกชัย ไชยนุวัติ

นักวิชาการกฎหมาย

"เจตนาของ สนช.ไม่ใช่เรื่องของการถอดถอน แต่เป็นเรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี"

การถอดถอนของทั้ง 2 กรณี ต้องเริ่มที่หลักการของการถอดถอนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เราใช้หลักการอิมพีชเมนต์ (impeachment) หรือการถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมือง ต้องย้ำอย่างชัดเจนว่า การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับเรื่องทางกฎหมาย หมายความว่า แม้บุคคลที่จะถูกหรือไม่ถูกถอดถอนก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐสามารถที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายทั่วไปได้อยู่ดี 

ดังนั้น การถอดถอนเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่ทางกฎหมาย

ส่วนแนวทางการต่อสู้ที่คาดการณ์ไว้ ขอแยกออกเป็นกรณี โดยในกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช อย่างแรกคือ ทั้งคู่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งแล้ว จึงไม่มีตำแหน่งใดให้ถอดถอนได้อีก รวมทั้งกฎหมายแม่บทคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว รวมไปถึงประเด็นองค์กรใหม่ (สนช.) เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2557 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปี 2550 และไม่ได้มีกฎหมายมาตราใดให้อำนาจไว้อย่าง "ชัดแจ้ง" ในการลงมติถอดถอน รวมทั้งการตัดสิทธิขั้นพื้นฐานใดๆ ก็ตาม กฎหมายมหาชน "ห้าม" ไม่ให้ตีความโดยปริยายโดยเด็ดขาด หมายความว่า ผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นต้องได้รับอำนาจตามกฎหมายอย่างชัดแจ้งเท่านั้น 

กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันดับแรกก็เหมือนกับกรณีที่พูดมาข้างต้นคือ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ข้อที่สองคือ ข้อหาทางการเมืองที่กล่าวหา จนถึงตอนนี้ทั้ง ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดยังไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร 

ทั้งสองแนวทางจึงสามารถสรุปได้ว่า เจตนาของ สนช.ไม่ใช่เรื่องของการถอดถอน แต่เป็นเรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้น แนวทาง 

ณ วันนี้สำหรับประเทศไทย คือต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า นี่คือการจ้องดำเนินการทางการเมือง โดยไม่สนใจหลักการใดๆ ทั้งสิ้น เชื่ออย่างยิ่งว่า ถ้าสังคมได้เห็นมากขึ้น สามัญชนทั่วไปจะเข้าใจในสิ่งที่ สนช.พยายามจะกระทำในครั้งนี้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!