WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8588 ข่าวสดรายวัน

คสช.เอาจริง-ดึงตัว 'ชัชชาติ' สานต่อรฟ.รางคู่ 
8 แบงก์รัฐทุ่ม 3.4 แสนล้าน ช่วยเอสเอ็มอี-หนุนส่งออก บิ๊กตู่จี้เร่งใช้งบค้างท่อปี 57


สักการะ - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช. ในฐานะกำกับดูแลส่วนกิจการพิเศษ เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล ก่อนเปิดทำเนียบให้ข้าราชการทำงานเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 

        คสช.เล็งดึง'ชัชชาติ' มาหารือเรื่องสานต่อโครงการ 2 ล้านล้าน โดยเน้นรถไฟรางคู่ เพราะ เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ส่วนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน เดินหน้าแต่เน้นปรับให้เข้ากับโครงการพระราชดำริ และให้ทหารเข้าไปช่วยก่อสร้างมากขึ้น ส่วนบริษัทที่ประมูลได้เมื่อรบ.ที่แล้วต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้ง โดยให้แต่ละส่วนไปหาข้อสรุปมานำเสนอใน 2 สัปดาห์ พร้อมตั้งกก.ตรวจสอบการใช้งบฯเพื่อความโปร่งใส ส่วนชัชชาติยันไม่มีปัญหาพร้อมช่วยเต็มที่ ด้าน"บิ๊กจิน"ให้ 8 แบงก์รัฐทุ่ม 3.4 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยภาคเกษตร-เอสเอ็มอี และหนุนกู้ซื้อบ้าน มั่นใจศก.ครึ่งปีหลังฟื้นแน่ ธ.ก.ส.มั่นใจภายในกลางเดือนนี้จ่ายค่าข้าวครบ 9.2 หมื่นล้าน

'บิ๊กตู่'เรียกถกทีมงาน

        ความคืบหน้ามาตรการต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคสช. เชิญรองหัวหน้า คสช. ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกฯ รวมถึงพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. รวมทั้งคณะที่ปรึกษา คสช.ทั้ง 10 คน เข้าร่วมประชุม หลังจากให้หัวหน้าหน่วยต่างๆ ไปประชุมส่วนย่อยทั้ง 7 กลุ่มงานที่รับผิดชอบในช่วงที่ผ่านมา

เน้นนโยบายเศรษฐกิจ
       โดยเฉพาะกลุ่มงานเศรษฐกิจ ซึ่งหัวหน้า คสช.ให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด พร้อมเชิญสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกระทรวงการคลัง บรรยายสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงแผนงานเร่งด่วน แผนการจัดการ การบูรณาการ เสนอเป็นโรดแม็ปเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติต่อไป รวมถึงการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และสถานการณ์การเมืองหลัง คสช.เข้ามาควบคุมการปกครองเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านอย่างต่อเนื่อง การประชุมวันนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพและติดตามการประชุมภายในบก.ทบ.เด็ดขาด ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ให้เน้นความปรองดอง
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุม คสช.ตอนหนึ่งถึงเรื่องความปรองดองของคนในชาติว่า ขณะนี้ดีขึ้น ตอนแรกก็ปรองดองกันอยู่แค่นี้เอง แต่จะปรองดองมากกว่านี้หรือจะทำอะไรก็เรื่องของสภาปฏิรูปซึ่งต้องอธิบายให้ทุกคนทราบว่าต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นจะกลับมาทะเลาะกันอีก และต้องออกกฎหมายให้เป็นไปตามที่มีการปฏิรูปเพื่อผลักดันต่อไป แต่จะให้ทั้งหมดมาอยู่ที่ทหารนั้นคงไม่ได้ พร้อมเน้นย้ำว่าวันนี้มีปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์

เร่งตั้งศูนย์ปรองดอง
     แหล่งข่าวนายทหารระดับสูง เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดี สิ่งที่หวังและอยากเห็นขณะนี้คือไม่อยากให้มีสี ไม่อยากให้ทุกฝ่ายทะเลาะกัน เชื่อว่าต้องใช้เวลา ส่วนการทำงานที่แบ่งเป็น 7 ฝ่ายเน้นการปรับปรุงและการทำงานของส่วนราชการ โดยให้ปลัดกระทรวงเป็นคนขับเคลื่อน แต่ไม่ให้รองหัวหน้า คสช.เข้าไปก้าวก่าย เพื่อให้บ้านเมืองพัฒนาต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังกำชับการจัดตั้งศูนย์ปรองดองฯ ให้กระทรวงมหาดไทยและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ช่วยกันขับเคลื่อน โดยให้ผู้ว่าฯ เป็นแม่งานใหญ่ ซึ่งวันที่ 4 มิ.ย.นี้ กอ.รมน.จะประชุมกำหนดทิศทางแนวทางการปรองดองและการทำกิจกรรมต่างๆ

พอใจทะเลาะกันน้อยลง
      "ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าทุกอย่างต้องมีขั้นตอนเพราะปัญหาสะสมมาถึง 9 ปี แต่สิ่งที่พอใจในขณะนี้คือไม่มีการทะเลาะกันเกิดขึ้น และการประชุมครั้งนี้ได้ลิงก์สัญญาณภาพไปยังแต่ละกองทัพภาคเพื่อให้รับทราบการประชุมด้วย ซึ่งทุกกองทัพภาคก็รับทราบแผนงานและนำไปปฏิบัติตาม แต่ไม่ให้แทรกแซงหน่วยราชการในพื้นที่" แหล่งข่าวกล่าว

ทีมโฆษกแถลงผลประชุม
      ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี พร้อมด้วยพ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค และพ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ ในฐานะทีมโฆษก คสช.ร่วมกันแถลงว่า การประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยในวันนี้ หัวหน้า คสช.ต้องการให้ทุกส่วนขับเคลื่อนและรับทราบถึงภาพกว้างเพื่อแก้ปัญหา ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจเสนอแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 รวมถึงเรื่องเร่งด่วนความมั่นคง โดยหัวหน้า คสช.มอบนโยบายเพื่อเสริมแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เน้นย้ำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เคารพกฎหมาย รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และรับทราบผลสัมฤทธิ์แผนงานต่างๆ ทำให้แผนงานนั้นส่งผลให้ดัชนีความสุขของคนในชาติสูงขึ้น เราต้องการขับเคลื่อนประเทศอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ฝ่ายเศรษฐกิจได้สรุปและแจ้งการใช้จ่ายปี 2557 ที่ขัดข้องในเรื่องกฎหมายและข้อจำกัด โดยอีก 2 สัปดาห์จะจัดทำแผนปี 2557 เพื่อให้หัวหน้าอนุมัติต่อไป

แก้เรื่องแบ่งสี-แบ่งฝ่าย
     พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ในการดำเนินการเรื่องการปรองดองเพื่อการปฏิรูป จะใช้กลไกของกอ.รมน. กับกระทรวงมหาดไทย จะเริ่มจากระดับครอบครัว ตำบล หมู่บ้าน การขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเกิดตั้งแต่ในระดับครอบครัว ซึ่งมีทัศนคติการชอบของฝ่ายการเมืองแตกต่างกัน เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างสมานฉันท์การทำกิจกรรมร่วมกันและแชร์ความคิดเห็น ใช้ฝ่ายปกครองรับผิดชอบในเรื่องนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังในระดับที่ 2 อย่างน้อยจะทำให้ระยะที่ 2 ใช้ระยะเวลาได้สั้นลง เพราะได้เตรียมการไว้แล้ว ส่วนการเตรียมปฏิรูปในระยะแรกคืออยากให้พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม นักวิชาการหรือผู้มีบทบาทในสังคม มีเวทีพูดคุยเพื่อได้ข้อมูลทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนในระยะที่ 2

ดูการศึกษาเป็นพิเศษ
       ส่วนพ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าวถึงกลุ่มงาน ด้านสังคมและจิตวิทยาว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ฝ่ายกลุ่มงานสังคมจิตวิทยา มอบให้พล.ท. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้ากลุ่มงานสังคมจิตวิทยา เชิญผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ โดยหารือที่สโมสรทหารบกในวันนี้ เน้นโครงการเร่งด่วนเช่น การจัดซื้อแท็บแลต เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. แนวทางการปฏิรูปการศึกษา ทั่วประเทศ โดยพล.อ.ประยุทธ์ได้มอบนโยบายการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา คำนึงถึงผลประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับเพื่อให้เป็นกำลังของชาติต่อไป พร้อมย้ำให้เรียนรู้เรื่องการเป็นพลเมืองดี และศีลธรรม จริยธรรม พร้อมทั้งพัฒนาวิชาชีพ งานฝีมือ ให้สอดรับกับตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ให้ 2 สัปดาห์เสนอรายละเอียด
       พ.อ.ณัฐวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการต่างๆ ทางหัวหน้าคสช.ทำหน้าที่เพียงรับทราบ ไม่ได้เจาะจงว่าโครงการไหนจะให้ดำเนินการต่อหรือชะลอ เพียงแต่บอกว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา ให้เวลา 2 สัปดาห์ ไปทำให้เรียบร้อยก่อนนำมาเสนออีกครั้ง ส่วนโครงการไหนที่เรียบร้อยก่อน ก็นำมาเสนอก่อนได้ เช่น โครงการแท็บเล็ตว่าดีหรือไม่ดี หรือจะให้เลิกหรือไม่เลิก เพียงแต่ให้กระทรวงศึกษาธิการไปตั้งคณะทำงานศึกษาผลดีผลเสีย และถ้าหากว่าไม่ดำเนินการต่อ เงินที่เหลือจากโครงการนี้จะเอาไปใช้ในด้านไหน ซึ่งจะให้กระทรวงศึกษาฯ เป็น ผู้เสนอมาด้วยเช่น อาจตั้งสมาร์ตคลาส ถ้าหากนักเรียนได้ประโยชน์ก็ทำต่อ สุดท้ายแล้วคนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจคือหัวหน้า คสช. โดยยึดหลักแนวทางเหล่านี้ ถ้าหากจะทำต่อก็จะต้องมีความโปร่งใส ทั้งเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งท่านได้ขีดเส้นตายเอาไว้ 2 สัปดาห์

เร่งอนุมัติงบค้างปี 2557
      พ.อ.ณัฐวัฒน์ กล่าวถึงโรดแม็ปของงานด้านเศรษฐกิจซึ่งในที่ประชุมมุ่งเป้าไปที่งบค้างปี 2557 ที่มีเงื่อนไขติดขัดในข้อกฎหมายของการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมีปริมาณพอสมควร และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งงบดังกล่าวอยู่ในอำนาจอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ถ้าหากมองภายในขณะนี้อยู่ในอำนาจของ คสช. ส่วนจะดำเนินการโครงการทั้งหมด หรือชะลอไว้ก่อน คาดการณ์ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ถึงจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน และเมื่อแก้ปัญหาในงบปี 2557 ไปแล้วจะเข้าสู่การพิจารณางบประมาณปี 2558 ทันที จะเน้นเหตุผลความจำเป็น และการบริหารงบประมาณ และรายจ่ายประจำปีจะไม่ติดขัด เพื่อเป็นส่วนในการผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจ

ย้ำ 2 ล้านล้านไม่ทิ้ง
       "ส่วนโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท หัวหน้าคสช.ให้ดำเนินการในแนวทางเดียวกับกรณีกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาโครงการไหนดีก็ให้เริ่มก่อน เน้นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนให้การยอมรับ และผ่านการตรวจสอบผลกระทบในสิ่งแวดล้อมและทุกหน่วยงานไม่มีข้อขัดแย้ง พร้อมทำประชาพิจารณ์ในเรื่องของคนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนของรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้ไปดูข้อดีข้อเสีย ทำแล้วคุ้มหรือไม่ การใช้แหล่งเงินทุนมาจากไหน ซึ่งจะต้องไม่กระทบวินัยการคลัง การก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจจะลงทุนร่วมกับเอกชน และคาดว่าไม่น่าจะทันนำเสนอภายใน 2 สัปดาห์ แต่โครงการที่ จะสานต่ออย่างแน่นอนก็คือรถไฟทางคู่" พ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าว

เชิญชัชชาติมาให้ข้อมูล
       พ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าวว่า ส่วนงบประมาณนั้น หัวหน้า คสช.ยังไม่ได้ตัวเลข แต่ให้สำนักงบประมาณไปดูว่าจะเอาเงินตรงไหนมาดำเนินการ รวมทั้งให้ทางการรถไฟไปหาพื้นที่ว่าจะใช้จุดไหนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะดำเนินการในปีนี้ โดยศึกษาเส้นทางที่จะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และการพัฒนาระบบรถไฟไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มความเร็วให้มากขึ้น ซึ่ง คสช.จะเรียกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม มาพูดคุยเพราะเป็นคนที่มีความรู้ เพื่อจะได้ศึกษาในด้านต่างๆ

ให้ทหารช่วยโครงการน้ำ
      ทีมโฆษกคสช.กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการน้ำ คสช.จะไม่นำเอารูปแบบการบริหารการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทมาใช้ทั้งหมด แต่จะหยิบมาเป็นบางส่วน เน้นโครงการที่เป็นเบี้ยหัวแตก เช่น การขุดบ่อน้ำหมู่บ้าน ถ้าทำทั่วประเทศถึง 4,000 บ่อ บ่อละ 10 ล้านบาท จะใช้เงินสูงพอสมควร ส่วนบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกรัฐบาลที่แล้วในโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น ยังไม่ได้ดูข้อมูลว่าเป็นอย่างไร แต่หัวหน้า คสช.เน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำที่เป็นแนวทางพระราช ทานมาดำเนินการ เช่น โครงการแก้มลิง การขุดลอกคูคลอง ให้กรมชลประทานไปดูแล พร้อมให้ทหารเข้าไปทำ เช่น โครงการขุดบ่อตามหมู่บ้านทั่วประเทศ 4 พันแห่ง ที่ผ่านมาทางหน่วยทหารก็ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเข้าไปทำจำนวนมาก ซึ่งเราควบคุมได้ ราคาถูก เสร็จทันตาม กรอบ โครงการไหนที่เร่งด่วนจะจัดแบ่งทหารให้เข้าไปทำ ซึ่งจะลดการคอร์รัปชั่น

เร่งปชส.การท่องเที่ยว
      พ.อ.ณัฐวัฒน์ กล่าวถึงกรณีต่างชาติห้ามพลเมืองเข้ามาท่องเที่ยวในไทยว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในไทยประจำมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ ภาพภายนอกอาจจะมองว่าการยึดอำนาจเป็นอันตราย แต่ในประเทศไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คสช.ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับบริษัทท่องเที่ยว โดยผ่านมัคคุเทศก์ เพื่อให้ประชาสัมพันธ์ว่าการรัฐประหารในไทยไม่ได้ส่งผลกระทบนักท่องเที่ยวยังใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข ส่วนกรณีการท่องเที่ยวขอให้ยกเลิกการประกาศเคอร์ฟิวนั้น หัวหน้าคสช.ได้มอบนโยบายไปแล้วให้พิจารณาพื้นที่ไหน สถานที่ไหนที่ไม่ได้แบ่งฝ่าย หรือแบ่งสีก็ให้เสนอมาเพื่อประเมินสถานการณ์และผ่อนปรน โดยมอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไปดำเนินการ ถือว่าเป็นนโยบายหลักที่หัวหน้า คสช.พูดขึ้นมาเองว่าจะให้ยกเลิกหรือปรับลดในพื้นที่ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่าง จ.ภูเก็ต และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

สั่งตั้งกก.ตรวจใช้งบฯ
      พ.อ.วินธัยกล่าวเสริมอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อเป็นช่องทางตรวจสอบความถูกต้อง ความโปร่ง ใสต่อการดำเนินงานและโครงการต่างๆ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

ชัชชาติพร้อมร่วมมือ
      นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม ชี้แจงถึงกรณีคสช.จะให้เข้ามาดูแลงานเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงและนโยบายของโครงการ 2 ล้านล้านว่า ขณะยังไม่มีการติดต่อมาจากคสช. ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เข้าใจว่ากระทรวงคมนาคมก็เดินหน้าศึกษาอยู่เต็มที่ ทั้งนี้ อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ จะให้ช่วยตรงไหนก็ยินดี เวลานี้ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน

'บิ๊กจิน'คุยกระทรวงอุตฯ
      วันเดียวกันที่กระทรวงอุตสาหกรรม พล.อ.อ.ประจิน เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวง นำโดยนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า งานเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ การตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับบีโอไอพิจารณาแล้วส่งรายชื่อให้กับหัวหน้า คสช. พิจารณาภายในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ส่วนการพิจารณาโครงการขอส่งเสริมการลงทุนที่ค้างอยู่กว่า 7 แสนล้านบาทนั้น คาดว่าจะเสร็จทั้งหมดภายใน 2 เดือน
      พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาการขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 นั้น จะปรับปรุงลดเวลาดำเนินงานจากเดิม 90 วัน ลดเหลือ 30 วัน โดยตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งขณะนี้มียอดการขอใบ รง.4 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานไม่เกิน 90 วัน อยู่ประมาณ 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก

หนุนไฟฟ้าโซลาร์-พลังน้ำ
      รองหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ด้านโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปและโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ยังมีข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ข้อสรุปว่าโครงการโซลาร์รูฟท็อปและโรงไฟฟ้าพลังน้ำไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่ถือว่าเป็นโรงงาน ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 ส่วนโครงการที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป ถือเป็นโรงงานจะต้องขอใบอนุญาต รง.4 ตามปกติ ส่วนการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและโอท็อปนั้น จะเร่งหาแหล่งเงินทุน ช่วยเหลือด้านการตลาดและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดด้านต่างๆขอให้ทีมเศรษฐกิจดูรายละเอียดก่อน

แนะเร่งทำ 5 นโยบายหลัก
     พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า คสช.ยังเสนอกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินงาน ได้แก่ 1.ปรับโครงสร้างการผลิต 2.การส่งเสริมการลงทุน 3.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ 4.การดำเนินด้านอุตสาหกรรมสีเขียว และ 5.การปรับปรุงองค์กร ซึ่งจะมีงานเร่งด่วนภายในปี 2557-58 รวม 10 งานสำคัญคือ 1.พัฒนาเอสเอ็มอี 2.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 3.การส่งเสริมการลงทุน 4.การเตรียมรองรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่ เออีซี 5.การพัฒนาเกษตรแปรรูป 6.อุตสาหกรรมสีเขียว 7.อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 8.ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ 9.การสำรวจพัฒนาแหล่งแร่ และ10.การเพิ่มอุตสาหกรรมรองรับในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

เผยเงื่อนไขบอร์ดรสก.
      พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด) นั้น มีเงื่อนไขผู้ที่จะเข้ามาเป็นบอร์ด 3 ประการ 1.จะต้องเข้าใจงานความมั่นคงและงานเศรษฐกิจ 2.มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละสาขาของกิจการนั้นๆ และ 3.ต้องมีความรู้ความสามารถในแง่การบริหารงานด้านต่างๆ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของงานแต่ละสาขา คงจะทราบผลได้ภายในเดือนนี้ 

ทุ่ม 3.4 แสนล้านกระตุ้นศก.
      รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า การหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการคลัง กับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเสนอมาตรการเร่งด่วนสูงที่พร้อมดำเนินการ ในส่วนมาตรการสินเชื่อผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงมิ.ย.2557-ธ.ค.2558 ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา รวม 11 มาตรการ โดยใช้ 8 สถาบันการเงินของรัฐดำเนินการ คิดเป็นวงเงินรวม 343,600 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือได้ 140,000 ราย

ใช้เงินผ่าน 8 แบงก์รัฐ
      สำหรับ มาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบด้วย 1.ธนาคารออมสิน ในโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้สินเชื่อระยะสั้น-ยาว วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ปล่อยกู้ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ที่ MLR-1 ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 10,000 ราย 2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) โครงการเพิ่มสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 25,000 ล้านบาท จำนวน 63,500 ราย สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนวงเงิน 7,500 ล้านบาท จำนวน 10,437 กลุ่มวิสาหกิจ สินเชื่อผู้ประกอบการ 3,400 ล้านบาท และสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (บัตรสินเชื่อเกษตรกร) 30,000 ล้านบาท จำนวน 3 หมื่นราย

เอ็กซิมแบงก์หนุนส่งออก
     3.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โครงการขยายสินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท รวม 1,200 ราย โครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 5,000 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 600 ราย และมาตรการป้องกันหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย โดยพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือนและเพิ่มวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน 4.ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ โครงการขยายสินเชื่อให้เอสเอ็มอี 10,000 ล้านบาท ให้กับผู้ส่งออก 22,000 ราย

บสย.ทุ่มช่วยเอสเอ็มอี
     5.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาตรการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอีปีแรก (PGS5) วงเงิน 119,000 ล้านบาท และของบชดเชย 1,224 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 15,000 ราย มาตรการให้ความช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอี 5,000 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท็อป 10,000 ล้านบาท และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 6 เดือน
     6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โครงการเอสเอ็มอีฮาลาลเทรด วงเงิน 2,000 ล้านบาท ลูกค้ารายใหม่ 40 ราย โครงการสินเชื่อมาตรฐานเฟร็คซี่แอนด์ชัวร์ วงเงิน 4,800 ล้านบาท มาตรการแคมเปญสินเชื่อบุคคล 4 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท

ธอส.เพิ่มปล่อยกู้ซื้อบ้าน
    7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โครง การสินเชื่อเพิ่มสุขสำหรับลูกหนี้ประวัติดี ปล่อยกู้เพิ่มรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน/ราย และโครงการอื่นๆอีก 14 โครงการ และ 8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้า บตท.โดยใช้นโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และออกมาตราการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

มั่นใจฟื้นศก.ครึ่งปีหลัง
      สำหรับ มาตรการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในวงเงินรวม 343,600 ล้านบาทนั้น ที่ประชุมเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2557 และทั้งปี 2558 รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8-1% เมื่อเทียบกับการเบิกจ่ายงบโครงการจำนำข้าวในปี 2557 ที่จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท ที่กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 0.2%

ทุ่ม 500 ล้านประกันนาข้าว
      นายลวรณ แสงสนิท รองผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ชาวนาจะเริ่มซื้อประกันภัยนาข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 ได้ในกลางเดือนมิ.ย. โดยคลังเสนอให้ คสช. ช่วยจ่ายเบี้ยประกันให้กับชาวนาในพื้นที่ เป้าหมาย 1.5 ล้านไร่ จะต้องใช้เงินงบประมาณอุดหนุนค่าเบี้ยประกัน 494 ล้านบาท โดยธ.ก.ส. เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณมาแล้ว 118 ล้านบาท ซึ่งต้องของบสนับสนุนเพิ่มเติม 376 ล้านบาท

คุ้มครองจากภัยธรรมชาติ
        ทั้งนี้ เกษตรกรจะจ่ายค่าเบี้ยประกันตั้งแต่ 60 ถึง 100 บาทต่อไร่ ตามความเสี่ยงของพื้นที่ทำประกัน ส่วนที่เหลือรัฐบาลจะเป็นคนอุดหนุน โดยความเสี่ยงของพื้นที่แบ่งเป็น 5 ระดับ พื้นที่เสี่ยงต่ำสุด ค่าเบี้ยประกัน 129.47 บาทต่อไร่ ชาวนาจ่าย 60 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก ค่าเบี้ย 247.17 บาทต่อไร่ ชาวนาจ่าย 70 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ ค่าเบี้ยประกัน 376.64 บาทต่อไร่ ชาวนาจ่าย 80 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ค่าเบี้ยประกัน 472.94 บาทต่อไร่ ชาวนาจ่าย 90 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูงค่าเบี้ยประกัน 510.39 บาทต่อไร่ ชาวนาจ่าย 100 บาทต่อไร่
      สำหรับ เอกชนที่จะรับทำประกัน คือ บริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ บริษัททิพยประกันภัย และบริษัทเจ้าพระยาประกันภัย โดยให้ความคุ้มครองทั้งภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ อัคคีภัย จะได้รับชดเชย 1,111 บาทต่อไร่ ถ้าเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาดจะคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่

'บิ๊กอู๋'เข้าทำเนียบ
      เวลา 08.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้า สักการะศาลพระภูมิประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเปิดทำการเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ก่อนไปประชุมร่วมกับคสช. จากนั้นในช่วงบ่าย พล.ต.อ.อดุลย์เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด 20 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.)
      สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน เพื่อเร่งทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ค้างอยู่โดยเร็ว โดยมี พล.ท.สุชาติ หนองบัว ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกำลังพล เป็นรองหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ เข้าร่วมประชุม

ปลัดมท.กลับกระทรวง
       ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมผู้บริหารกระทรวง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงมหาดไทย หลังกลับเข้าทำงานในกระทรวงเป็นวันแรก จากนั้นมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณตามโครงการนายอำเภอแหวนเพชร ปลัดอำเภอแหวนทองคำ และพิธีมอบรางวัลสำนักทะเบียนดีเด่น ประจำปี 2556
       นายวิบูลย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ภารกิจหลักของกระทรวงมี 3 เรื่องคือทำงานร่วมกับกอ.รมน.ลดความขัดแย้ง การกวาดล้างอาวุธสงคราม และสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สนับสนุนการทำงาน ของคสช. เน้นคืนความสุขให้กับประชาชนโดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง สร้างความสงบสุขทั้งระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด พื้นที่ที่มีความสามัคคีอยู่แล้วจะส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีที่ยั่งยืน พื้นที่ที่มีความขัดแย้งหรือเห็นต่างกันจะพยายามคลี่คลายโดยใช้จุดแข็งของกระทรวง ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านในพื้นที่ รายงานต่อคสช.เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไข

แจงโยกย้ายในมหาดไทย
         นายวิบูลย์ กล่าวว่า ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง 2 ครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องปกติเพื่อเข้าสู่การปฏิบัติตามนโยบายปรองดอง และจะไม่มีการโยกย้ายในระดับ 10 เพิ่มอีกจนกว่าจะถึงฤดูโยกย้ายเดือนก.ย. ซึ่งมีตำแหน่งผู้บริหารที่จะเกษียณในปีนี้ 20 ตำแหน่ง ส่วนระดับ 9 ลงไปยังไม่มีนโยบายปรับย้ายช่วงนี้ จะพิจารณาพร้อมกันในการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี ส่วนการทำหน้าที่แทนรมว.มหาดไทย ไม่หนักใจเนื่องจากการทำงานร่วมกับคสช.มีความใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

ประชุมผู้ว่าฯทั่วประเทศ
       ต่อมานายวิบูลย์ เป็นประธานประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 3/2557 ผ่านระบบการประชุมวีดิทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมไปยังผู้ว่าฯทั่วประเทศ โดยนายวิบูลย์กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงที่ผ่านมาเพื่อความเหมาะสม ขอให้ทำงานด้วยความตั้งใจและร่วมปฏิบัติงาน เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของคสช.เพื่อให้บ้านเมืองมีสันติสุข ศูนย์ส่วนหน้าของกระทรวงจะต้องทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อยุติความรุนแรง ความขัดแย้ง และร่วมกันสร้างความปรองดอง ขอยืนยันตามที่หัวหน้า คสช.ประกาศว่าระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านยังอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เน้นสกัดข่าวสารเท็จ
       "ขอให้ผู้ว่าฯประสานกับทุกภาคส่วนดำเนินการภายใต้นโยบายของคสช.ด้วยความเรียบร้อย ป้องปรามการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบัน การระงับยับยั้งการเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นเท็จ การปราบปรามอาวุธสงคราม การพนัน ยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย ขอให้ทุกกรมทุกจังหวัดประสานกับทุกภาคส่วน ขอให้เร่งรัดการเบิกจ่ายโดยทุกวันอังคารจะมีการพูดคุยกันของผู้บริหารระดับสูง" นายวิบูลย์กล่าว 
        จากนั้นนายประภาส บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำให้ผู้ว่าฯและศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดของกระทรวงรายงานผลดำเนินงานตามนโยบายของคสช.มายังส่วนกลางทุกวันภายในเวลา 14.30 น. เพื่อกระทรวงจะรวบรวมรายงานให้คสช.ภายในเวลา 15.30 น.

ย้ำกลางมิ.ย.จ่ายค่าข้าวครบ
       นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยหลังการจ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกร สาขา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ว่า ธนาคารจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/57 ครบ 4 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 3 มิ.ย.2557 เพื่อให้การจ่ายเงินมีความต่อเนื่อง ธนาคารเตรียมนำสภาพคล่อง 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อสำรองจ่ายช่วงวันที่ 4-5 มิ.ย. ระหว่างที่รอให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนที่จะเปิดประมูลวันที่ 3 มิ.ย.นี้ คาดจะได้รับเงินก้อนแรกส่งมาให้ธ.ก.ส.วันที่ 6 มิ.ย. อีก 3 หมื่นล้านบาท และวันที่ 13 มิ.ย. อีก 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ธ.ก.ส.สามารถจ่ายเงินจำนำข้าวที่ค้างชาวนาอยู่กว่า 9.2 หมื่นล้านบาท ได้ครบภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้

ชะลอระบายข้าวไปก่อน
      นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้หนี้เงินกองทุนชาวนาประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จะไม่ปิดกองทุนจนกว่าจะสิ้นเดือนมิ.ย. แต่ไม่มีนโยบายระดมเงินผ่านกองทุน ดังกล่าวแล้ว เพราะเงินส่วนใหญ่มาจากการระบายข้าว ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้ขอปรับแผนส่งคืนเงินที่ได้มาจากการระบายข้าวจากเดือนละ 8,000-10,000 ล้านบาท เหลือเดือนละไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท เนื่องจากการเร่งระบายข้าวทำให้ราคาข้าวนาปรังที่ผลผลิตกำลังออกขณะนี้ถูกกดราคาไปด้วย จึงต้องชะลอการระบายไปก่อน

ธอส.เตรียม 5 พันล้านให้กู้
        นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เผยว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ตามนโยบายของ คสช. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีภารกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สร้างโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงเตรียมวงเงิน 5,000 ล้านบาท จัดทำ "โครงการสินเชื่อบ้าน ธอส. เพิ่มสุข" สำหรับลูกค้าเดิมของธนาคาร ที่มีประวัติการผ่อนชำระดีสม่ำเสมอมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 36 เดือน รับสิทธิ์กู้เพิ่มเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1,500,000 บาท โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3.99% ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย 4.975% ปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.975%) หมดเขต 30 ธ.ค.นี้ หรือจนกว่าวงเงินจะหมด

ปชป.จี้ลดราคาแอลพีจี
         ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. พรรคประชา ธิปัตย์ แถลงถึง คสช. ตรึงราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนว่า ถือว่ายังแก้ปัญหาไม่เพียงพอ ซึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ถูกจุดคือ คสช.ควรลดราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนลง 1.25 บาทต่อกิโลกรัม อยู่ที่ราคา 21.38 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เท่ากับราคาภาคขนส่ง เนื่อง จากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งทุกเดือน เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้แอลพีจีภาคครัวเรือนสูงกว่าภาคขนส่ง ดังนั้นการลดราคาภาคครัวเรือนลงมา 1.25 บาท จะแก้ปัญหาค่าครองชีพและปัญหาการลักลอบถ่ายก๊าซภาคขนส่งมาขายภาคครัวเรือนได้

แนะยึดคืนระบบท่อจากปตท.
       นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวไม่ควรใช้วิธีซื้อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คืนประชาชน เพราะต้องใช้งบสูงถึง 4 แสนล้านบาท แต่ควรทำคือการเอาระบบท่อส่งก๊าซของประเทศคืนมาจากปตท.ทั้งระบบ แล้วมอบให้องค์กรกำกับดูแล หรือ เรกูเลเตอร์ ดูแลแทน ซึ่งจะเกิดการแข่งขันของบริษัทโรงแยกก๊าซจากเอกชนมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ปตท.ผูกขาดอยู่รายเดียว ทำให้ราคาก๊าซแพงขึ้นเรื่อยๆ และควรยกเลิกการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจี เพราะจนถึงบัดนี้ เรายังไม่ทราบว่ามีการคำนวณต้นทุนจากอะไร อยากให้ คสช. ใช้การยึดอำนาจครั้งนี้เดินหน้าปฏิรูปพลังงานให้สำเร็จ ไม่อยากให้ คสช.เดินเข้าป่า ถ้าเชื่อข้าราชการประจำมากไปจะไม่สามารถปฏิรูปพลังงานได้

ภูเก็ตขอลดเวลาเคอร์ฟิว
       ที่ จ.ภูเก็ต นายวีรวิชญ์ เครือสมบัติ ประธานชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต และกลุ่มผู้ประกอบการสถานบันเทิง ในพื้นที่หาดป่าตองจำนวนมาก มารวมตัวกันที่หน้าป้อมยามตำรวจ ถ.ทวีวงศ์ ริมหาดป่าตอง เพื่อยื่นหนังสือถึงคสช. ผ่านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีนางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองป่าตองและนายวีรศักดิ์ ขมิ้นทอง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองป่าตอง ร่วมรับมอบ เพื่อขอขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่หาดป่าตองให้เป็นไปตามปกติ ภายหลังมีการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 00.01-04.00 น. ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสถานบันเทิง ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อย ทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นลดลงกว่า 70-80% ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่เจ้าของสถานบันเทิง พนักงานภายในร้าน คนขับรถตุ๊กตุ๊ก โรงแรม พ่อค้า-แม่ค้า ฯลฯ
       ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า การผ่อนคลายปัญหาของเมืองท่องเที่ยวนั้นเป็นเจตนารมณ์ของ คสช. ที่จะดำเนินการอยู่แล้ว และปัญหาดังกล่าวได้เรียนต่อแม่ทัพภาคที่ 4 และกระทรวงมหาดไทยทราบไปแล้วเช่นกัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!