WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แถลงสนช.-ค้านถอดถอน คิว'ปู'วันนี้'นิคม'เปิดคดีลั่นยึดกฎ พิทักษ์สภา-ขุนค้อนไม่มา มติ 107:70 ปัดประชุมลับ 'เอนก'ชงตั้งรบ.แห่งชาติ ยื่นสอบ'ปปช.'จ้าง'ทนาย'

สู้ถอดถอน - นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา (ขวา) แถลงแก้ข้อกล่าวหาต่อที่ประชุม สนช.ภายหลังนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงเปิดคดีถอดถอน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 มกราคม

    

     กก.ปรองดองวาง 4 กรอบ"บวรศักดิ์"ยันควรทำเร็วไม่ถึง 4 ปี 'เอนก'ผุด'รัฐบาลผสม'เดินหน้าปฏิรูป-ปรองดอง ด้านสภาถกถอดถอน'นิคม-ขุนค้อน''วิชา'แถลงเปิดอ้างคำวินิจฉัยศาล รธน.-ปมปิดอภิปราย-ตัดสิทธิแปรญัตติ ด้าน'นิคม'ยันทำตาม กม.

@ สภาถกถอด'นิคม-สมศักดิ์'

     เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดพิเศษเพื่อพิจารณาวาระสำคัญคือการแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ซึ่งสมาชิก สนช.ลงชื่อเข้าร่วมประชุม 210 คน จากจำนวนสมาชิก 220 คน 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิคมได้เดินทางมาชี้แจงด้วยตัวเองพร้อมกับอดีต ส.ว.ที่ได้รับอนุญาตเข้าร่วมในฐานะพยาน 5 คน คือ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี นายเจริญ ภักดีวานิช อดีต ส.ว.พัทลุง นายประวัติ ทองสมบูรณ์ อดีต ส.ว.มหาสารคาม นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร พล.ท.พงษ์เอก อภิรักษ์โยธิน อดีต ส.ว.พะเยา ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางมาชี้แจงและไม่ได้ส่งทนายเข้าชี้แจงแทนแต่อย่าง 

@ ยื่นร้องให้ถ่ายทอดสด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อมวลชนได้ให้ความสนใจมาติดตามรายงานข่าวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้นายธัชพงศ์ แกดำ ตัวแทนคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย มายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดกระบวนการถอดถอนทั้งหมดผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลทุกขั้นตอน ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก 

@ ป.ป.ช.จำหน่ายคดี'ปู-จารุพงศ์'

        จากนั้นเวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ประธานการประชุม สนช. ทั้งนี้ นายพรเพชรได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประธาน ป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งว่า ตามที่วุฒิสภาได้ส่งคำร้องของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส. 146 คน ขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังจากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา เพื่อให้ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่ง ป.ป.ช.ได้พิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 เพียงประการเดียว แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้สิ้นสุดแล้วจึงไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นมูลฐานแห่งการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงไม่มีมูลเหตุไต่สวนคำร้องต่อไป มีมติให้จำหน่ายคดีออกจากระบบความ

@ นัดถอดถอน 38 ส.ว. 21 ม.ค.

     นายพรเพชร แจ้งที่ประชุมว่า ประธาน ป.ป.ช.ได้แจ้งมาว่ามีมติชี้มูลความผิดการกระทำของ ส.ว. 38 คน กรณีดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาของ ส.ว. อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีเวลาในการยื่นคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานจึงเห็นควรให้กำหนดวันที่ 21 มกราคมนี้ เป็นวันประชุมนัดแรก เพื่อให้กำหนดวันแถลงของ ป.ป.ช.กับผู้ถูกกล่าวหา 

@ สนช.เสนอให้ประชุมลับ 

    จากนั้นในเวลา 12.30 น. ที่ประชุมพิจารณาวาระกระบวนการถอดถอนนายนิคม ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สนช. ขอหารือที่ประชุมว่า ตามข้อบังคับประชุมที่ 152 ว่าการถอดถอนต้องประชุมโดยเปิดเผย เว้นแต่จะต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงมองว่าด้วยสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ยังไม่สงบ แต่ละฝ่ายยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ยังมีคลื่นใต้น้ำ แม้จะดูเหมือนสงบก็ตาม เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หากประชุมแล้วทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี จึงขอเสนอญัตติให้พิจารณาสำนวนถอดถอนในคดีนี้และคดีต่อไปเป็นการประชุมลับ

@ 'กล้านรงค์-สมชาย-ตวง'ค้าน

    ทั้งนี้ สมาชิก สนช.หลายราย อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายสมชาย แสวงการ นายตวง อันทะไชย ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านญัตติขอประชุมลับ ระบุว่าข้อประชุม 152 บังคับให้การประชุมถอดถอนต้องทำโดยเปิดเผย ในการพิจารณาถอดถอนที่ผ่านมาไม่เคยมีการประชุมลับ เพราะการประชุมลับอาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ชี้แจงและให้ประชาชนได้รับทราบจึงขอให้ถอนการเสนอญัตติ ไม่เช่นนั้นรัฐสภาจะเกิดความเสียหาย และสมาชิก สนช.ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร ขอให้ดำเนินการพิจารณาไปโดยเปิดเผย ขณะที่นายพรเพชรได้ขอร้องให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ถอนญัตติประชุมลับด้วย

      ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า จะไม่ถอนญัตติ เพราะต้องการทำเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนโดยรวม ภายหลังอภิปรายคัดค้านนานกว่า 1 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมมีมติด้วยคะแนน 107 ต่อ 70 เสียง และงดออกเสียง 19 เสียง ไม่เห็นชอบให้ประชุมลับ 

@'วิชา'แจงปม'ปิดอภิปราย'

     จากนั้นจึงเข้าสู่การแถลงเปิดคดี โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวุ่นวายทางการเมือง นำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคำวินิจฉัยที่สำคัญที่สุดที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในประเทศไทย เพราะประเด็นสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกมาคือ การคุ้มครองเสียงข้างน้อยและไม่ใช่ดูแต่ว่าเสียงข้างมากลงมติอย่างไร ฝ่ายตุลาการจะทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายการเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเผชิญหน้ากันมาก่อนของกระบวนการนิติบัญญัติและด้านตุลาการ จึงอยากเรียน สนช.ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นรากฐานสำคัญของการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เพราะฉะนั้นการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ไม่ได้ตรวจสอบนอกเหนือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในสำนวนชี้มูลความผิดของนายนิคมคือ สั่งปิดการอภิปรายก่อนครบกำหนดเวลา และตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติกว่า 47 คน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว.ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.

@ "นิคม"วอนสนช.พิทักษ์สถาบัน 

     จากนั้น นายนิคมแถลงชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2550 ข้อบังคับในการประชุมรัฐสภา และรายงานกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ประกอบการชี้แจง กล่าวว่า "สิ่งที่ตนกระทำตามได้ยึดหลักของกฎหมายทุกประการ แม้ว่ากระบวนการในการตัดสินจะไม่อยู่บนหลักของกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ตนเข้าใจและต้องมาชี้แจงด้วยตนเอง เพราะจำเป็นต้องรักษาสถาบันนิติบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไว้ ดังนั้นจึงขอให้ สนช.ใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผล หากปล่อยให้องค์กรอื่นมาก้าวล่วง ไม่ให้ใครมาย่ำยี อะไรที่เป็นจริงก็เป็นจริง "อะไรที่ไม่เป็นจริงจะปรากฏกับผู้กล่าวหากับผมในไม่ช้า แม้ว่าผมจะมาจากวุฒิสภา พวกท่านเป็น สนช. แต่อาชีพเดียวกันคือทำหน้าที่ออกกฎหมาย ดังนั้นต้องพิทักษ์สถาบันแห่งนี้ ถามว่าชีวิตพวกท่านจะมีความปลอดภัยในอนาคตหรือไม่ วันดีคืนดีท่านอาจจะมายืนแบบผมก็ได้" นายนิคมกล่าว

@ ให้ยื่นแถลงปิดสำนวน 20 ม.ค. 

     จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่รวบรวมประเด็นซักถามจาก สนช.จำนวน 9 คน โดยกำหนดให้สมาชิก สนช.เสนอประเด็นซักถามได้ถึงวันที่ 12 มกราคมนี้ ก่อนเวลา 12.00 น. ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ตัวแทนจาก ป.ป.ช.และนายนิคมยื่นคำแถลงปิดสำนวนต่อ สนช.ภายในวันที่ 20 มกราคม 

@ ไร้เงา"ขุนค้อน"แถลงคัดค้าน

     ต่อมาเวลา 15.15 น. เข้าสู่การแถลงเปิดสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ ทั้งนี้ นายวิชาได้ลุกชี้แจงข้อกล่าวหาอีกครั้งว่า นายสมศักดิ์มีพฤติการณ์ใช้อำนาจไม่ชอบ โดยร่วมกันกับนายนิคม สลับกันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยการตัดสิทธิผู้เสนอคำแปรญัตติและผู้สงวนความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ในวาระ 2 ไม่ให้อภิปราย เป็นการใช้ดุลพินิจตัดสิทธิการทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างน้อย ขัดต่อหลักนิติธรรม ถือว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

@ นัดประชุมสนช.ซักถาม15ม.ค.

      จากนั้น นายพรเพชรได้แจ้งว่า นายสมศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวไม่ได้เดินทางมาหรือมอบหมายตัวแทนมาชี้แจง แสดงว่าไม่ประสงค์ที่จะแถลงคัดค้านข้อกล่าวหา จึงเป็นการจบแถลงการณ์เปิดคดีของคู่กรณี ทั้งนี้ นายพรเพชรยังได้แจ้งกำหนดให้ตัวแทน ป.ป.ช.และนายสมศักดิ์ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อ สนช.ภายในวันที่ 20 มกราคมนี้ และสมาชิกที่สามารถยื่นญัตติประเด็นข้อซักถามได้ถึงวันที่ 12 มกราคม และตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่รวบรวมประเด็นซักถามจาก สนช.จำนวน 9 คน 

      โดยใช้ชุดเดียวกันกับคดีนายนิคม พร้อมกันนี้โดยได้นัดประชุม สนช.เพื่อให้การซักถามทั้ง 2 คดี ในวันที่ 15 มกราคมนี้ เวลา 10.00 น.

@'นิคม'คาดลงมติ 22-23 ม.ค.

    ก่อนหน้านี้นายนิคมให้สัมภาษณ์ว่า ตนพร้อมรับผลการลงมติที่ออกมา เชื่อว่าสภาแห่งนี้จะให้ความเป็นธรรม คาดว่าจะลงมติได้ในระหว่างวันที่ 22-23 มกราคมนี้ เมื่อถามว่า ถือเป็นการเร่งรีบลงมติหรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า "เร็วก็ดี ผมจะได้จบเรื่องที่รัฐสภานี่เสียที เพราะเคยบอกหลายครั้งแล้วว่า ผมไม่ได้อยากมาทำงานการเมือง ที่มาทำงานก็หวังว่า อยากจะมีเพื่อน แต่ไม่ได้ต้องการให้ใครมาด่าทอ"

@ จับตา'ปู'เข้าสภาแจงปมข้าว 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุม สนช.ในวันที่ 9 มกราคม เวลา 10.00 น. จะมีการพิจารณาวาระด่วนที่สำคัญคือ เรื่องการดำเนินการกระบวนการถอดถอน น.ส.

      ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กล่าวหาว่ามีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่าจะเดินทางมาชี้แถลงเปิดสำนวนและคัดค้านโต้แย้งสำนวนของ ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง พร้อมด้วย 4 อดีตรัฐมนตรีร่วมเดินทางมาด้วย พร้อมทั้งยื่นเอกสารประกอบคำแถลงโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนรายงานความเห็นของ ป.ป.ช. จำนวน 147 หน้า จากนั้นที่ประชุม สนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 9 คน ซึ่งมีชื่อนายสมชาย แสวงการ สนช.อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ร่วมเป็นกรรมาธิการซักถามชุดดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งกำหนดวันซักถามและวันแถลงปิดคดี ส่วนวันลงมติคาดว่าในวันที่ 22-23 มกราคมนี้

@ ยันประเทศชาติไม่เสียหาย 

      ทั้งนี้ เอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ขณะที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ และไม่เคยใช้อำนาจในทางที่ผิดจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ทำให้เสียวินัยการเงินการคลังและภาระงบประมาณเกินความจำเป็นที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี หนี้สาธารณะของประเทศรวมโครงการรับจำนำข้าว ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่เพียงร้อยละ 45.71 

@ 'บิ๊กป้อม'วอนอย่ามาให้กำลังใจ'ปู'

    ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวปลุกระดมประชาชนผ่านทางโซเชียลมีเดียเพื่อมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายก รัฐมนตรี ที่จะเข้าแก้ข้อกล่าวหาคดีถอดถอนว่า "อย่ามาเลย จะมาทำไม ไม่ต้องมาหรอกครับ เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้ามัวแต่ยกขบวนไปสนับสนุนก็ไม่ได้อะไร เพราะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้ทาง สนช.จะต้องดำเนินการตามกระบวนการและกฎหมาย เรื่องการให้กำลังใจสามารถให้ได้อยู่ที่บ้าน หรือโทรศัพท์มาให้กำลังใจก็ได้ เพราะถึงมาก็ไม่มีประโยชน์" 

     เมื่อถามว่า หากถอดถอนจริง คสช.จะเอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "คสช.เอาอยู่ ผมทำทุกอย่างเต็มที่ตามกฎหมายและตามขั้นตอนอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความสงบและเกิดความปรองดอง เนื่องจากเป็นความตั้งใจของรัฐบาลและ คสช." 

@ ตร.จัด 3 กองร้อยรับมือหน้าสภา 

     รายงานข่าวแจ้งว่า ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดวางกำลังตำรวจ กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) จำนวน 3 กองร้อย หรือ 450 นาย และตำรวจหญิง 1 หมู่ จำนวน 15 นาย ร่วมกับทหาร ดูแลความปลอดภัยบริเวณรอบรัฐสภาในวันที่ 9 มกราคม กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าชี้แจงกรณีถอดถอน ทั้งนี้ การข่าวด้านความมั่นคงของ บช.น.รายงานว่า อาจมีผู้เดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนไม่มาก สามารถดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง

@ 'บวรศักดิ์'ถกรายมาตรา 9 ม.ค. 

     ที่รัฐสภา นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ สั่งประชุมนัดพิเศษในวันที่ 9 มกราคม เวลา 15.00 น. เพื่อหารือถึงวิธีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา และจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการศึกษา พร้อมจัดทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร 

     พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า เบื้องต้นวางแนวทางคือให้รับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไปศึกษาและพิจารณาเป็นการส่วนตัวในช่วงวันที่ 10-11 มกราคม หากพบถ้อยคำหรือบทบัญญัติใดที่ต้องการแก้ไข ให้เขียนถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน จากนั้นให้นำกลับมาเข้าที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 12-16 มกราคมนี้

@ 'ประวิช'ยัน'สมชัย'ไม่สติแตก 

     นายประวิช รัตนเพียร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แสดงความเห็นคัดค้านให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง เปรียบเหมือนการยื่นดาบให้โจรว่า เชื่อมั่นว่า กกต.ไม่เคยมีทัศนคติไม่ดีกับใคร เพราะตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย กกต.ทุกชุดร่วมกับทุกฝ่ายจัดการเลือกตั้งได้เรียบร้อย เว้นเพียงครั้งสุดท้ายเมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมาที่บ้านเมืองมีวิกฤต ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ จึงเชื่อว่านายสมชัยคงไม่สติแตกที่จะไปกล่าวหาว่าร้ายใครเป็นโจร เป็นผู้ร้ายขนาดนั้น เพราะรู้ดีว่า กกต.จะทำงานไม่ได้ถ้าไม่เป็นที่ยอมรับ เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของทุกฝ่าย

@ คกก.ปรองดองวาง 4 กรอบ 

     ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานการประชุม เพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์และแนวทางในการทำงาน เบื้องต้นมีข้อสรุป 4 ข้อ คือ 1.วางกรอบคิดและออกแบบกระบวนการสมานฉันท์ ปรองดอง ให้ควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ 2.แสวงหาจุดร่วมของคนในสังคมในการสร้างความปรองดอง 3.สร้างความตระหนักถึงผลจากความขัดแย้งในมิติต่างๆ ให้เป็นบทเรียนของสังคม 4.สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างความปรองดอง

@ 'บวรศักดิ์'ชงตั้งคณะบุคคล

     นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548 ความขัดแย้งยังคงอยู่ การแก้ปัญหาต้องมี 3 เรื่อง คือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น 2.ความขัดแย้งที่มีสมมุติฐานมาจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม จะต้องปฏิรูป 3.ปัญหาการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเรื่องใหม่ปรากฏขึ้นในภาค 4.การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม และการสร้างความปรองดอง

      "ผมเห็นว่า การปฏิรูปอาจใช้เวลาถึง 4 ปี แต่การปรองดองควรทำให้เร็ว ไม่ควรถึง 4 ปี โดยกฎหมายเป็นตัวสร้างองค์กรหรือคณะบุคคลที่มาดำเนินการกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน อาจต้องมีการรับผิด นำไปสู่การเยียวยา จดจำเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้นอีก จนไปสู่การให้อภัย แต่ไม่ใช่เริ่มจากการให้อภัยแล้วซุกเรื่องอื่นไว้หมด จากนั้นให้รัฐธรรมนูญสิ้นผลไป จึงไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญบังคับให้คนปรองดอง แต่เป็นการสร้างกระบวนการโดยมีคนกลางและนำคู่ขัดแย้งมาพูดคุย รวมถึงการสร้างกระแสในสังคมเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง หากทำไม่ได้ การรัฐประหารครั้งนี้ก็เสียของ" นายบวรศักดิ์กล่าว และว่า จะมีการเชิญอดีตผู้นำ อดีตคู่ขัดแย้งทั้ง กปปส. นปช. มาพูดคุยกัน 

@'เอนก'ผุดไอเดีย'รัฐบาลผสม'

      นายเอนก กล่าวว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมการทุจริต ก่ออาชญากรรม ไม่ลอยแพการปรองดองให้เป็นไปตามยถากรรม จะมีการสอบถามประชาชน เชิญทุกฝ่ายให้ความเห็นว่าจะทำให้ประเทศไทยกลับไปเหมือนเดิมอย่างไร อย่างไรก็ตาม อาจต้องมีการเจรจากับกลุ่มต่างๆ โดยจะมีการเยียวยาผู้เสียหายทุกด้านควบคู่ไปด้วย จะมีกลไกจากการตั้งคณะกรรมการจากคู่ขัดแย้งซึ่งแต่ละฝ่ายยอมรับเข้ามาดำเนินการ ตามโรดแมปคาดว่าจะใช้เวลา 4 เดือนออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการคิดถึงการเขียนรัฐธรรมนูญให้สองฝ่ายคุยกันได้ โดยคิดถึงขนาดให้มีรัฐบาลผสม และยังมีอีกหลายอย่างแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด เมื่อถามว่ารัฐบาลผสมหมายถึงรัฐบาลแห่งชาติใช่หรือไม่ นายเอนกกล่าวว่า อาจจะมองอย่างนั้นก็ได้ แต่ต้องหมายถึงรัฐบาลที่มาทำหน้าที่ปฏิรูปและปรองดองต่อไป

     "เราต้องกล้าคิดถึงรัฐบาลผสม ถ้าไม่คิดอะไรเลย ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ในส่วนนี้ยังเป็นเรื่องของรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง เราคิดอะไรไว้เยอะพอสมควร แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด" นายเอนกกล่าว

@ กสม.ชงครม.ยกเลิกอัยการศึก

     ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติรับทราบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในเรื่องข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพราะประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง และในบางพื้นที่มีการประกาศใช้ซ้ำซ้อนกัน ทำให้ประชาชนสับสน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจรัฐมากกว่ากฎหมายปกติที่ใช้บังคับอยู่ทั่วไป โดย กสม.เสนอให้ ครม.พิจารณาประกาศยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ และพิจารณาประกาศใช้ใหม่เฉพาะในบางพื้นที่ที่มีความจำเป็น และประกาศยกเลิกทันทีที่สิ้นสุดความจำเป็น และการจะประกาศพื้นที่ใดควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและความรุนแรงของสงครามหรือการจลาจล รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

คำแถลง'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' สู้ทุกประเด็นคดี 'จำนำข้าว'

      หมายเหตุ - ส่วนหนึ่งในคำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โต้แย้งสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กล่าวหา ละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริต และระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวที่นำไปยื่นต่อ สนช.ก่อนหน้านี้ เพื่อให้แจกจ่ายประกอบการแถลง โดยแถลงต่อสภา สนช. ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อเปิดคดีการถอดถอน ในวันที่ 9 มกราคม

บทสรุปโครงการรับจำนำข้าว

     ป.ป.ช.มีมติว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริต และระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270 และมาตรา 178 และขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11(1) คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 273 เพื่อถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง

     อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ได้ยอมรับในคำวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตด้วย เพียงแต่กล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ที่ละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวของรัฐบาล

     ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงยืนยันที่จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่า ขณะที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ และไม่เคยใช้อำนาจในทางที่ผิดจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน และขอโต้แย้งข้อกล่าวหาในสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้

    1.การดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

    1.1 รัฐบาลได้ดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง สามารถแก้ปัญหาความยากจน หนี้สิน และทำให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยสะท้อนจากข้อมูลของเกษตรกร ดังนี้

- ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 58.6%

- หนี้สินลดลง 58.6%

- ยอดบัญชีเงินฝากเพิ่มขึ้น 71.32%

- เงินจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 51.6%

- บุตรหลานเรียนสูงขึ้น 54.4%

     1.2 โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ขาดทุน และไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย

    โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ซึ่งทุกรัฐบาลและทุกประเทศดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงไม่มีประเทศใดนับกำไรขาดทุนกับโครงการเหล่านี้

     ในการวิเคราะห์โครงการว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุน หรือคุ้มค่าในการดำเนินการหรือไม่ ต้องดูผลได้ผลเสียให้ครบทุกด้าน เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องพิจารณาทั้งตัวเลขทางบัญชี และผลประโยชน์ต่อชาวนา และต่อประเทศชาติโดยรวม

     รายงานปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ มีข้อโต้แย้งจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และฝ่ายต่างๆ ทั้งในเรื่องการลงบัญชีสินค้าไม่ครบถ้วน การคิดมูลค่าสต๊อกคงเหลือ การคิดค่าเสื่อม เป็นต้น หากนำผลของข้อโต้แย้งต่างๆ มาปรับปรุงบัญชีของรายงานปิดบัญชี ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 เงินที่ใช้ในโครงการจะลดลงจาก 332,372 ล้านบาท เป็น 219,432 ล้านบาท

      โครงการรับจำนำข้าวยังทำให้ชาวนาได้รับเงินเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไม่มีโครงการ เฉพาะในปี 2555/2556 ถึง 142,070 ล้านบาท และทำให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์จากภาษีและอื่นๆ ประมาณ 41,001 ล้านบาท

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เงินที่ชาวนาได้รับเพิ่มจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและจีดีพีจะโตขึ้น 2-3 เท่า เป็นมูลค่า 315,396 ล้านบาท และ 803,189 ล้านบาท ตามลำดับ

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ขาดทุน และไม่ได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายแต่ประการใด

หาก ป.ป.ช. และฝ่ายต่างๆ คิดว่า โครงการรับจำนำข้าวขาดทุน ทำให้ประเทศชาติเสียหายมาก โครงการช่วยเหลือประชาชนเกษตรกรและโครงการสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่รัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันดำเนินการ ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากเช่นกัน ก็จะต้อง "ขาดทุน" และจะมีความผิดต่อหน้าที่เช่นกัน

2.การดำเนินการตามนโยบายป้องกัน และปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบภาคราชการ 

2.1 น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในภาคราชการอย่างจริงจัง เข้มงวด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ก็ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังและเคร่งครัดในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยได้กำหนดแผนงานและได้ปฏิบัติงานใน 4 หัวข้อหลัก คือ

2.2.1 การป้องกันการทุจริตฯ ได้มีการดำเนินการ ดังนี้

- สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาขั้นตอนวิธีการดำเนินการ และปัญหาโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลในอดีตมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ป้องกันและปราบปรามทุจริตให้ดียิ่งขึ้น 

- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน กขช.ได้สั่งการในการประชุมคณะกรรมการ กขช.ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 โดยมีมาตรการ 13 ข้อ เพื่อป้องกัน และปราบปรามการทุจริตฯ และเพิ่มประสิทธิภาพ

- มีการตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชี เฉพาะเรื่องโครงการรับจำนำข้าว แสดงถึงความจริงใจและจริงจังในเรื่องการป้องกันและปราบปรามทุจริต

- มีการตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อดูแลป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

2.2.2 วางกลไกตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ดังนี้

- คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว และรายงานต่อ กขช. เป็นประจำและต่อเนื่อง

- จัดทีมตรวจสอบคุณภาพข้าว และปริมาณข้าวชุดพิเศษ เพื่อตรวจสอบการรับมอบข้าวของผู้ตรวจสอบ หรือเซอร์เวเยอร์ เป็นประจำ โดยสำนักมาตรฐานสินค้ากรมการค้าต่างประเทศ

- ใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมตรวจสอบการจัดเก็บข้าวสาร และการรักษาคุณภาพข้าว โดยติดตั้งกล้องวงจรเปิดที่โกดังและคลังสินค้า และมีการเชื่อมโยงมายังศูนย์ปฏิบัติการ 

- กรณีมีเหตุจำเป็น ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อการตรวจสอบด้วย

2.2.3 การลดความเสี่ยงของโครงการ และความเสี่ยงต่อการทุจริต ได้ดำเนินการดังนี้

- คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โครงการรับจำนำข้าวต้องบริหารไม่เกินวงเงิน 500,000 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556

- เพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปตามหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ วินัยการเงินการคลัง รายได้ชาวนา ราคาตลาดและงบประมาณ จึงลดการรับจำนำข้าวจากการรับจำนำทุกเม็ด เป็นการรับจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาท และในที่สุดเป็น 350,000 บาท ในฤดูการผลิตปี 2556/57

- กขช.พยายามลดราคาจำนำข้าวเปลือก ให้ข้าวเปลือกเจ้าจาก 15,000 บาทต่อตัน เป็น 12,000 บาทต่อตัน แต่ได้รับการต่อต้านจากชาวนาและผู้นำพรรคฝ่ายค้าน

- กขช.ได้มีมติไม่รับจำนำข้าวคุณภาพไม่ดี จำนวน 18 สายพันธุ์ และข้าวที่มีอายุไม่ถึง 110 วัน เพื่อป้องกันการทุจริตการปลอมปนข้าว

2.2.4 การปราบปรามทุจริต

- คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) เป็นประธาน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดและสั่งให้ดำเนินคดีถึง 276 คดี

- เมื่อมีการกล่าวหาเรื่องทุจริตในโครงการ ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง, การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้าวถุง การตัดสิทธิไม่อนุญาตให้โรงสีเข้าร่วมโครงการ 12 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัด

- เมื่อมีข้อชี้แนะหรือข้อกล่าวหาทั้งจากองค์กรภายในและองค์กรภายนอก ไม่ว่าจะจาก ป.ป.ช., สตง. การอภิปรายของฝ่ายค้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุง และดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริต มิได้ปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด

2.2.5 จากข้อสรุปในข้อ 2.2.1-2.2.4 ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ว่า รัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช. ไม่มีพฤติกรรมที่ละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวแต่ประการใด

3.ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช้อำนาจยุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่มีข้อกล่าวหาว่าโครงการมีการทุจริตมาก ขาดทุนมาก ชี้แจงได้ดังนี้

3.1 บทสรุปในข้อ 1 และ 2 สามารถยืนยันได้ว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ขาดทุน และไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย และมิได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต

3.2 แม้รัฐบาลจะมีความประสงค์ที่จะยุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผล ดังนี้

3.2.1 โครงการรับจำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคม และเป็นนโยบายที่แถลงได้ต่อรัฐสภา หากยกเลิกจะเป็นการกระทำความผิดขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

3.2.2 โครงการรับจำนำข้าว กระทำเป็นมติคณะรัฐมนตรีและมติ กขช.ในรูปแบบคณะบุคคล ตามหลักการรับผิดชอบร่วมกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด น.ส.

ยิ่งลักษณ์จึงไม่สามารถกระทำหรือสั่งการโดยลำพังได้

3.2.3 หนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2557 เสนอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนและยุติโครงการนั้น รัฐบาลไม่สามารถยุติการดำเนินการได้ เพราะหนังสือดังกล่าวส่งมา หลังมีการยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ไปแล้ว และหลังจากนั้นรัฐบาลก็มิได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอีก



4.จากการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามข้อสรุปในข้อที่ 1-3 ข้างต้น จึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าไม่ใช่การทำหน้าที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 178 หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1)



5.ขอตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอ เพื่อขอความเป็นธรรม ดังต่อไปนี้

5.1 กรณีถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อเท็จจริงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พ้นจากทั้ง 2 ตำแหน่ง ไปตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 แล้ว แต่ ป.ป.ช.กลับชี้มูลความผิดในวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งเดียวกันนั้นอีก ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีตำแหน่งใดๆ ให้ถอดถอนอีกต่อไปแล้ว การดำเนินการตามสำนวนในเรื่องนี้จึงไม่สมเหตุสมผล นอกจากเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่

5.2 สำนวนคำฟ้องถอดถอนและการดำเนินการไต่สวนของ ป.ป.ช. ไม่ได้อำนวยความยุติธรรมแต่ประการใด มีการเร่งรีบ รวบรัดเป็นกรณีพิเศษ การเลือกใช้บุคคลและเอกสารไม่เป็นธรรม และขัดต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย 

5.3 เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญก็มิได้ให้อำนาจสภานิติบัญญัติในการดำเนินคดีถอดถอนไว้ จึงขอให้มีการพิจารณาให้ความเป็นธรรม ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

จากข้อเท็จจริงทั้งหมด ความเป็นธรรมในการพิจารณาตัดสินคดีนี้ตามหลักการนิติธรรมสากล จะเป็นบรรทัดฐานในการสร้างประเทศและการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความยุติธรรม ไม่ให้มีการกล่าวหาได้ว่าเป็นสองมาตรฐาน ทั้งนี้หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ย่อมจะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะสร้างความขัดแย้ง และไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความปรองดองของชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า และมีความสุข สงบ ร่มเย็น ในอนาคตต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!