WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8810 ข่าวสดรายวัน


ปลัดอำเภอฮือ! ไล่สมชัย ฉุนด่ามท.เป็นโจร 
จี้พ้นกกต.-รับไม่ได้ดูถูกจัดเลือกตั้ง สนช.นัดถามปู-2อดีตปธ.15-16 มค. เคาะวันถอดถอน-ดีเดย์ลงมติ 23 มค.


ฟังปัญหา - พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ร่วมรับฟังปัญหาจากผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม เรื่องการช่วยเหลือด้านที่ทำกินตามนโยบาย 66/2523 ยังล่าช้าอยู่มาก เมื่อวันที่ 10 ม.ค.

      ปลัดอำเภอสุดทน 'สมชัย'ฮือไล่พ้นกกต. รับไม่ได้ดูหมิ่นคนมหาดไทยเป็นโจรเลือกตั้ง ซัดกลับถ้าช่วยทำงานให้กกต.แล้วเป็นโจร กกต.ก็ยิ่งกว่ามหาโจร ประธานสนช.นัดลงมติถอดถอนนิคม-ขุนค้อน- ยิ่งลักษณ์ 23 ม.ค.นี้ โดยนัดให้เข้ามาตอบข้อซักถามก่อน 15-16 ม.ค. ทีมกฎหมายเพื่อไทยพอใจปูแจงสภา อัด'วิชา มหาคุณ'แถลงเปิดคดีไม่มีอะไรใหม่ เดินหน้าวางกรอบเตรียมตอบข้อซักถาม 'อนุสรณ์'ข้องใจมุ่งเล่นงานรัฐบาลเพื่อไทย จี้คสช.จัดการ'ป.ป.ช.-กกต.'สร้างความสับสน กลุ่ม 38 ส.ว.นัดถกเตรียมส่งตัวแทนแจงสภาปมแก้รธน.

พรเพชร นัดเปิดสภาถกถอดถอนต่อ
    วันที่ 10 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดประชุมสนช. ครั้งที่ 3/2558 ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ม.ค. และครั้งที่ 4/2558 ในวันศุกร์ที่ 16 ม.ค. โดยการประชุมสนช.ในวันที่ 15 ม.ค. มีวาระสำคัญ คือการดำเนินกระบวน การถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยจะเป็นการซักถามประเด็นตามที่ที่ประชุมสนช.กำหนดตามญัตติของสมาชิกสนช. โดยคณะกรรมาธิการซักถาม ขณะที่การดำเนินกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง จะเป็นการซักถามประเด็นตามที่ที่ประชุมสนช.กำหนดตามญัตติของสมาชิกสนช. โดยคณะกรรมาธิการซักถามกำหนดไว้ในการประชุมสนช.วันที่ 16 ม.ค. 

วาระด่วนถกจริยธรรมสนช.
    นอกจากนี้ ยังมีเรื่องด่วนที่สำคัญ คือการพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ..... ที่คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เนื้อหาประกอบด้วย หมวดจริยธรรม กำหนดเรื่องเกี่ยวกับอุดมคติของสมาชิกและกรรมาธิการ การปฏิบัติหน้าที่ จริยธรรมต่อประชาชน จริยธรรมในการดำรงตำแหน่ง และหมวดการส่งเสริมและควบคุมให้เป็นไปตามจริยธรรม โดยมีคณะกรรมการจริยธรรมสนช.เพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด มีหน้าที่รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมจากสมาชิกสนช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน บุคคลหรือหน่วยงาน กรณีที่มีการกล่าวหาว่าสมาชิกหรือกรรมาธิการกระทำผิดตามข้อบังคับ โดยให้รายงานผลการพิจารณาต่อสภา หากสภาเห็นว่ามีหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เชื่อว่าเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ เพื่อให้สภามีมติว่ากล่าวตักเตือน หรือตำหนิ หรือประณามให้เป็นที่ประจักษ์หากเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง และเมื่อสภามีมติแล้วให้ประธานสภาส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อไป ในกรณีที่มีคำร้องให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคำร้องแล้ว มติของสภาที่จะให้พ้นสมาชิกภาพต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่

สุรชัย เผยขั้นตอนยื่นซักถาม
    ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 กล่าวถึงกระบวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคม และน.ส.ยิ่งลักษณ์หลังผ่านขั้นตอนการแถลงเปิดคดีแล้วว่า จากนี้ไปจะเป็นขั้นตอนให้สมาชิกยื่นคำถามที่คิดว่าเมื่อได้ฟังการแถลงเปิดสำนวนคดีของทุกฝ่ายแล้วมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนหรือสงสัยอยากถามเพื่อความชัดเจนและเพื่อตัดสินใจได้ถูกต้อง ต้องยื่นคำถามไปยังกรรมาธิการซักถาม โดยกรณีนายสมศักดิ์และนายนิคมต้องยื่นคำถามในวันจันทร์ที่ 12 ม.ค.นี้ ส่วนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องยื่นภายในวันอังคารที่ 13 ม.ค. ก่อนเวลา 12.00 น. เช่นกัน ในวันที่ 13 ม.ค. กรรมาธิการที่รับผิดชอบทั้ง 2 สำนวนจะเริ่มประชุมกันเพื่อนำคำถามทั้งหมดไปจัดเรียงประเด็นให้ประชาชนที่รับฟังการซักถามเข้าใจในเนื้อหาไม่วกไปวนมา

กำหนดวันลงมติ 23 ม.ค.
     นายสุรชัย กล่าวต่อว่าจากนั้นกรรมาธิการซักถามจะตกลงกันว่าในประเด็นของแต่ละกลุ่มคำถามคณะกรรมาธิการจะมอบให้ใครเป็นตัวแทนซักถาม ขณะนี้กำหนดให้สำนวนนายนิคมและนายสมศักดิ์มาตอบคำถามวันที่ 15 ม.ค. ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบวันที่ 16 ม.ค. หลังสิ้นสุดกระบวนการซักถามแล้วจะเหลืออีก 1 นัด ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายคือการแถลงปิดคดี ส่วนนี้ไม่บังคับหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดว่าไม่มีอะไรที่ตัวเองต้องแถลงเพิ่มเติมไม่ต้องมาก็ได้ แต่ถ้ามีสิ่งที่ตัวเองอยากสรุปให้สมาชิกฟังอีกครั้ง เราจะเปิดโอกาสให้มาแถลงปิดสำนวน ซึ่งต้องอยู่ภายใน 7 วัน ขณะนี้ที่กำหนดไว้คือวันที่ 21-22 ม.ค. โดยวันที่ 23 ม.ค. จะลงมติโดยแบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย

นิคม-ปู ต้องตอบคำถามในสภา
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาตอบข้อซักถามเองหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่าต้องมาเอง เพราะเมื่อมาแถลงเปิดคดีด้วยตนเองการตอบข้อซักถามต้องมาด้วยตนเอง เลี่ยงไม่ได้ ส่วนกรณีนายสมศักดิ์ที่ไม่ได้เข้ามาในคดี ระหว่างนี้หากเปลี่ยนใจจะเข้าก็ได้เพราะไม่มีบทบังคับไว้ และนายสมศักดิ์ก็เป็นผู้เสียหาย สมาชิกได้ฟังความฝ่ายเดียวไม่ได้ฟังเหตุผลจากอีกฝ่าย ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่นายสมศักดิ์ว่าจะมาหรือไม่ ต่อข้อถามว่าตัวเลขการปิดบัญชีข้าวของป.ป.ช. กับตัวเลขฝ่ายน.ส.ยิ่งลักษณ์แตกต่างกันมาก กรรมาธิการซักถามต้องถามเพิ่มหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของสมาชิก ถ้าต้องการถามก็ต้องส่งไปที่กรรมาธิการซักถามเป็นผู้ถามให้ชัดเจนถึงตัวเลขความเสียหาย ขณะนี้มีผู้ส่งคำถามเข้ามาจำนวนมากแล้ว

ไม่กังวลกระทบสร้างปรองดอง
    เมื่อถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่าการดำเนินการถอดถอนจะกระทบต่อการสร้างความปรองดอง นายสุรชัยกล่าวว่า เราต้องฟังเสียงสะท้อนในเรื่องนี้ ถามว่ากังวลหรือไม่ก็ไม่กังวล ต้องพยายามทำให้สังคมเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของกฎหมายอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ว่าวันนี้เราต้องเดินไปตามกฎหมาย ผิดถูกเป็นเรื่องของพยานหลักฐาน ทั้งนี้ ต้องให้สิทธิสนช.ตัดสินใจด้วย ขอยืนยันว่าสนช.ทุกคนทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่ลำเอียงแน่นอน แม้แต่เจอกันในห้องอาหารเราเลี่ยงที่จะคุยกันในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความอิสระ ส่วนกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้สภา ผู้แทนราษฎรมีส่วนร่วมถอดถอนได้ เป็นแนวคิดของนายบวรศักดิ์ที่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลกันได้ต้องดูในรายละเอียดต่อไป

สนช.ดักคอปูจี้มาตอบสภาเอง
     นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. กล่าวว่าหลังจากฟังคำชี้แจงการเปิดสำนวนนายนิคม นายสมศักดิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ยังไม่สามารถตัดสินใจในตอนนี้ว่าจะลงมติถอดถอนไปทางไหน เพราะต้องรอให้ถึงกระบวนการซักถามคู่กรณีเสียก่อน โดยเฉพาะประเด็นของนายสมศักดิ์ที่ยังมีเรื่องติดใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นความผิดเรื่องปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งเป็นคดีอาญาหรือไม่ รอดูว่า ป.ป.ช. จะชี้แจงคำถามได้ชัดเจนหรือไม่ ขณะที่กรณีนายนิคมเชื่อว่าจะมีการถามถึงการทำหน้าที่ระหว่างเป็นรองประธานรัฐสภาเพื่อให้แน่ใจว่าผิดจริงหรือไม่
    นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่สำนวน ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่แถลงเปิดคดีไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นข้อมูลที่เตรียมมาเท่านั้น ดังนั้นในการซักถามวันที่ 16 ม.ค. ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบคำถามด้วยตัวเอง และไม่อยากให้ใครมาตอบแทนเพราะคนอื่นๆ ไม่สามารถรู้ทุกเรื่องเท่ากับตัวเองได้ เพราะการทำหน้าที่ของสนช.ในวันดังกล่าวเปรียบเป็นลูกขุนที่ดูสำนวนการถอดถอน เมื่อแถลงเปิดคดีแล้วก็อยากซักถามให้สิ้นกระแสความ ยืนยันว่ากระบวนการดังกล่าวจะให้ความเป็นธรรมไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกแน่นอน ส่วนจะลงมติเช่นใดเป็นดุลพินิจของแต่ละคน ไม่ขอก้าวล่วง
    นายทวีศักดิ์ กล่าวยอมรับว่ารู้สึกหนักใจเช่นกันหากการถอดถอนไม่เป็นไปตามความต้องการของสังคมในทั้งสองด้าน สนช.พร้อมรับผิดชอบ แต่ขอยืนยันว่า สนช.ทุกคนทำตามหลักของกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่ทำตามกระแส เมื่อเห็นว่าผิดก็ว่าไปตามผิด หากดูแล้วไม่สามารถเอาผิดได้ก็ต้องตัดสินไปทางนั้น

สิงห์ชัยชม'นิคม-ปู'แจงดูดีมีเหตุผล
     ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี 1 ใน 38 ส.ว. ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ผู้มาร่วมฟังการแถลงคัดค้านการเปิดคดีฝ่ายนายนิคม กล่าวว่าโดยส่วนตัวและจากการฟังเสียงของสังคมเชื่อว่าการชี้แจงของนายนิคมและน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาดูดีมีเหตุผล การนำเสนอข้อมูลน่าเชื่อถือได้ โดยเฉพาะในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่ไม่สามารถวัดเรื่องตัวเลขขาดทุนกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะดูภาพรวมทุกมิติว่าสุดท้ายแล้วใครได้ประโยชน์ นอกจากนี้กระบวนการถอดถอน ที่ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลความผิดเป็นเพียงหลักฐานเชื่อได้ว่าเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอดีตนายกฯมีส่วนกระทำผิด ขณะที่อัยการสูงสุดก็ยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดเพื่อสั่งฟ้องศาลแต่อย่างไรด้วย จึงเชื่อว่าหากไม่มีธงนำ สนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีวุฒิภาวะสูงในบ้านเมืองนี้ เมื่อฟังเหตุผลต่างๆ แล้วจะไม่ดำเนินการถอดถอนทั้งคดีของนายนิคม นายสมศักดิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์

ทีมกฎหมายพท.พอใจปูแจงสภา
     นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแถลงเปิดคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อที่ประชุมสนช. ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่าพอใจการชี้แจงโต้แย้งข้อกล่าวหาของป.ป.ช. ในคดีจำนำข้าว เนื่องจากชี้แจงประเด็นได้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งทีมทนายความเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์แก้ข้อกล่าวหาได้ชัดเจน ในขณะที่การแถลงเปิดคดีของนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กล่าวหาไม่มีอะไรใหม่ ได้แต่กอดข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่เคยตอบคำถาม 4 ประเด็นที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ทักท้วงในชั้นการไต่สวน ได้แก่ 1.จำนวนข้าวในสต๊อกที่อ.ต.ก. และอคส.ยืนยันว่าไม่มีข้าวหายไป 2.มูลค่าสินค้าคงเหลือที่แต่ละหน่วยงานให้ข้อมูลไม่เหมือนกัน 3.การคำนวณค่าเสื่อมราคาที่ไม่ตรงกัน 4.การขายข้าวให้องค์กรรัฐ ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ได้นำมาคำนวณ ประเด็นเหล่านี้นายวิชาไม่เคยชี้แจงให้สังคมทราบ ส่วนเรื่องพยานชาวนาที่ป.ป.ช.นำมาอ้างถึงนั้น เป็นพยานแค่รายเดียว ซึ่งเคยไปขึ้นเวทีกปปส. หากเทียบกับข้อมูลที่น.ส.ยิ่งลักษณ์นำมาหักล้างโดยการทำโพลสอบถามชาวนาเรื่องความพอใจโครงการจำนำข้าว อะไรจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน

เดินหน้าวางกรอบตอบข้อซักถาม
     นายพิชิต กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายวิชายอมรับว่าป.ป.ช.ยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อคดี ช่วยพิสูจน์ได้ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมให้ใครทุจริตในโครงการจำนำข้าว การอ้างว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ส่อทุจริตนั้นเป็นแค่การกล่าวลอยๆ ใช้โวหารมากกว่าเนื้อหาแห่งคดี ไม่ได้บอกว่ามีพฤติการณ์อย่างไร ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ทีมทนายความจะประชุมกันเพื่อสรุปประเด็นที่น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายวิชาชี้แจงต่อที่ประชุมสนช. พร้อมวางแนวทางการตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการซักถามในวันที่ 16 ม.ค. แต่ยังไม่มีการหารือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการซักถามด้วยตัวเองในวันดังกล่าวหรือไม่ แต่ตามข้อบังคับสามารถมอบให้บุคคลอื่นไปตอบข้อซักถามแทนได้
     ต่อข้อถามว่า แสดงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อาจไม่มาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง นายพิชิตกล่าวว่ายังไม่มีข้อยุติ ขอหารือกันก่อน แต่ไม่มีอะไรน่ากังวลในเรี่องที่คณะกรรมาธิ การจะซักถาม เนื่องจากคงไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่นายวิชาแถลงเปิดคดีไปหมดแล้ว ซึ่งน.ส. ยิ่งลักษณ์ชี้แจงได้ทุกประเด็น 

ข้องใจมุ่งเล่นงานรัฐบาลเพื่อไทย
      นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าหากใครได้ติดตามการแถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างใกล้ชิดจะเข้าใจแนวคิดโครงการจำนำข้าว รวมถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการช่วยเหลือชาวนา อีกทั้งหนี้สาธารณะของประเทศก็ไม่ได้สูงจนทำให้ประเทศล่มจมอย่างที่ถูกโจมตี ทั้งที่ประเทศอื่นๆ ก็ช่วยเหลือเกษตรกรของเขาในอัตราที่มากกว่าด้วยซ้ำ เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจ มีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ไม่ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองเหมือนในปัจจุบัน
     นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็มีแนวคิดที่จะใช้เงินถึง 2 แสนล้านช่วยเหลือเกษตรกรให้ประทังชีวิตอยู่ได้ ซึ่งมากกว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวในแต่ละปีด้วยซ้ำ คำถามคือถ้าทำอย่างนี้ในตรรกะเดียวกันแสดงว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องมีความผิดด้วยหรือไม่ เหมือนกับโครงการ 2 ล้านล้านที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำรถไฟความเร็วสูงไม่ได้ แต่รัฐบาลชุดนี้ 3 ล้านล้านทำรถไฟความเร็วปานกลางได้ จึงอยากให้ประชาชนตัดสินในเรื่องดังกล่าว และอยากให้ช่วยกันพิจารณาด้วยว่า ป.ป.ช.ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในทุกเรื่อง เหตุใดจึงจงใจเล่นงานเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ขนาดแค่เพิ่งเริ่มโครงการก็คัดค้านกันเต็มสูบแล้ว ขณะที่คดีข้าวในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความผิดปกติหลายประการ และน่าสงสัยว่าอาจมีการทุจริตในหลายกระบวนการ ทั้งการขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดและไม่มีการประมูล อีกทั้งไม่ขายให้ผู้ประมูลที่ให้ราคาสูงสุด แต่ ป.ป.ช.กลับตัดสินว่าไม่ผิด มาตรฐานความยุติธรรมในสังคมนี้ยังมีอยู่หรือไม่

ซัด'ป.ป.ช.-กกต.'สร้างความสับสน
    นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ากระบวนการยื่นถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ถือเป็นบทเรียนของหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่างป.ป.ช. ซึ่งไม่เคยระมัดระวังเรื่องการนำเสนอข่าว ดังกล่าว แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชี้แจงตามข้อกล่าวหาเรียบร้อย แต่ยังถูกกระแหนะกระแหนจากนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เวลานี้มีองค์กรอิสระ 2 แห่งเป็นอย่างน้อย ทั้งป.ป.ช.และกกต.โดยเฉพาะนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง นำเสนอข่าวสร้างความสับสน ใช้ข้อมูลด้านเดียว ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง อาทิ กรณีนายสมชัยโพสต์ข้อคิดเห็นลักษณะสร้างความขัดแย้งกรณียื่นดาบให้โจรจนต้องออกมาขอโทษ 
     "ผมมองว่า ทั้งสององค์กรนี้กระทำการขัดคำสั่งประกาศ คสช. ฉบับที่ 33/2557 หรือไม่ เพราะในคำสั่งระบุว่าเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และมีความสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี คสช.ขอความร่วมมือให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระงดแสดงความคิดเห็น เมื่อเป็นแบบนี้ คสช.จะดำเนินการอย่างไรกับองค์กรเหล่านี้" นายสมคิดกล่าว และว่า ขอฝากไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มองถึงปัญหาขององค์กรอิสระ ขอให้จำกัดบทบาทหน้าที่โดยเฉพาะป.ป.ช.และกกต.ด้วย



สับนิคมออกอาการ-ปูอ่านโพย



นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. และกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงการแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนว่า แทนที่นายนิคมจะแสดงเหตุผลอย่างเป็นผู้ใหญ่ กลับออกอาการฟาดงวงฟาดงาแถมข่มขู่ว่าใครไปถอดถอนเขาชีวิตอนาคตจะไม่ปลอดภัย ถือเป็นท่าทีอหังการที่เรียกแขกได้อีกหลายคะแนน ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นยังคงเส้นคงวาคืออ่านโพยหน้าจอที่เตรียมมาตามลีลาถามม้าตอบปูแบบคนละเรื่องเดียวกัน ขณะที่สนช.กำลังทำหน้าที่ดำรงหลักความถูกต้องชอบธรรมในมิติทางการเมืองแต่กลับมีแนวโน้มที่จะนำการถอดถอนมาเป็นเหตุที่จะส่งผลถึงการปรองดองและการปฏิรูป พยายามให้เหตุผลว่าถ้าจะปฏิรูปต้องอย่าถอดถอน ถ้าจะปรองดองต้องให้พวกเขาพ้นผิดซึ่งเป็นตรรกะที่เบาปัญญา ถ้าสนช.ตกหลุมพรางนี้จะกลายเป็นใบอนุญาตให้ความฉ้อฉลกระทำได้อย่างเปิดเผย ทั้งๆ ที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่ชอบ ขณะที่กรณีจำนำข้าวเสียหายไปหลายแสนล้านบาท หลายหน่วยงานเตือนแล้วเตือนอีก ผนวกกับการฆ่าตัวตายของชาวนา 19 คน เป็นพยานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน หากผู้ถูกกล่าวหาลอยนวลพ้นผิดไปได้จะกลายเป็นความร้าวฉานครั้งยิ่งใหญ่ เป็นตราบาปที่ทำให้ สนช.ตกเป็นจำเลยของสังคมไทยไปยาวนาน

38 ส.ว.เตรียมส่งตัวแทนแจงสภา
     นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) 1 ใน 38 ส.ว.ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะพิจารณาถอดถอนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.มิชอบเปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ ตนและอดีต ส.ว.ที่ถูกชี้มูลความผิดนัดปรึกษาหารือถึงแนวทางการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาก่อนเข้าไปแถลงเปิดสำนวนในที่ประชุมสนช. จากการพูดคุยคาดว่าคงมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งชี้แจงแทนทั้งกลุ่ม ไม่ได้แยกกันชี้แจงแม้วิธีนี้อาจทำได้ก็ตาม ส่วนจะกำหนดว่าใครเป็นตัวแทนนั้นต้องรอการพูดคุยร่วมกันในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เนื้อหาการชี้แจงคงน้อยกว่าเนื้อหาการชี้แจงของนายนิคม เนื่องจากนายนิคมถูกกล่าวหาในหลายประเด็น ขณะที่พวกตนถูกกล่าวหาในทำนองว่าแก้ไขกฎหมายโดยไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตอบแทน ยืนยันอีกครั้งว่าสิ่งที่ทำนั้นชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ

กมธ.ยกร่างแจงปมเพิกถอนสิทธิ
     นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอระบบการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35(4) ที่กำหนดห้ามผู้ที่กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดหรือไม่ว่า ช่องทางการดำเนินการเอาผิด ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีสองช่องทาง คือระบบการถอดถอนจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 และการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ในส่วนของการถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรูปแบบมาตรา 270 นั้น เป็นการถอดถอนโดยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกรรมาธิการยกร่างจะปรับให้ใช้เป็นเสียงข้างมากของสองสภาร่วมกัน คือทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยหากยังอยู่ในตำแหน่งจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี แต่หากพ้นจากตำแหน่งแล้วไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือยุบสภาจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีอย่างเดียว และหากเสียงถอดถอนไม่เกินกึ่งหนึ่ง รายชื่อผู้ถูกยื่นให้ถอดถอนหรือตัดสิทธิ์ดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนว่าจะตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่

หวั่นยอมตัดสิทธิ 5 ปีดีกว่าตลอดชีวิต
      นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ที่ต้องแยกเป็นการถอดถอนและการตัดสิทธิ์เพื่อเรียกชื่อแตกต่างกันให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาคนใดมาตะแบงอีกว่าไม่มีตำแหน่งแล้วจะถอดถอนได้อีกอย่างไร การตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะปรับแก้จากโทษที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ตัดสิทธิ์ได้เพียง 5 ปี เป็นการตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต เห็นได้ว่าช่องทางทั้งสองระบบท้ายที่สุดจะมีกลไกนำไปสู่การตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตได้เหมือนกัน จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35(4) แต่อย่างใด ทั้งนี้คณะกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตว่าในระบบการถอดถอนอาจมีนักการเมืองยอมให้ตัดสิทธิ์โดยรัฐสภาเพียง 5 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประชาชนโหวตตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตหรือไม่ไปพิจารณาอีกครั้ง

กกต.บุญส่งขวางคืนเลือกตั้งให้มท.
      นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงกรณีที่จะให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกแทนกกต.ว่า ต้องดูเหตุผลที่เปลี่ยนจากกระทรวงมหาดไทยมาให้กกต.จัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเพราะอะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร การเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่มีปัญหาไม่ได้เกิดจาก กกต. ใครมาจัดก็เป็นเหมือนกัน หากจะเปลี่ยนแปลงการจัดการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ขอให้ออกกฎหมายกฎระเบียบให้ชัดเจน เช่นจะให้ยื่นร้องคัดค้านการเลือกตั้งกับกกต.หรือไม่ เพราะถ้าให้ยื่นกับกกต.เราก็ต้องไปขอข้อมูลต่างๆ จากมหาดไทยซึ่งเป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้ง แล้วจะได้มาง่ายหรือไม่ อย่างนี้จะกลายเป็นว่ากกต.เป็นคู่ต่อสู้ของรัฐ เพราะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ มาจากรัฐบาลตั้ง และไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ ผู้กำกับฯ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงเอาอนาคตมาทิ้งกับเรื่องพวกนี้

เตือนคิดให้รอบคอบหวั่นโกลาหล
    นายบุญส่ง กล่าวต่อว่า ถ้าระบบเป็นอย่างนี้เชื่อว่าเมื่อเริ่มระฆังรับสมัครเลือกตั้งเมื่อไหร่ กกต.ต้องรับคำร้องกล่าวหาผู้ว่าฯผู้กำกับฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านวางตัวไม่เป็นกลาง แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองหรือฝ่ายค้านเกิดความสงสัย คลางแคลงกับคนเหล่านี้ ขนาดในอดีตกกต.จัดการเลือกตั้งเอง ยังมีรายงานว่าข้าราชการในพื้นที่วางตัวไม่เป็นกลาง และกกต.เคยขอให้ย้ายผู้ว่าฯ กระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่ยอมย้าย หากเป็นเช่นนั้นกกต.จะสั่งย้ายผู้ว่าฯ ผู้กำกับฯ ได้หรือไม่ เชื่อว่าฝ่ายค้านต้องคัดค้านทุกอย่าง เมื่อมันโกลาหลแบบนี้ขอให้คิดให้รอบคอบว่าจะแก้อย่างไร จะให้ปรับอย่างไรก็ขอให้ชัดเจน ใครจะมาจัดการเลือกตั้งสำคัญคือทำให้คนอื่นเชื่อโดยสุจริตว่าท่านเป็นกลางทางการเมือง ที่ออกมาพูดไม่ใช่เพราะหวงอำนาจ แต่เพราะเห็นปัญหาจากประสบการณ์มาแล้ว 
     "ส่วนการให้ใบเหลืองใบแดงผมไม่ติดใจว่าใครจะมีอำนาจ ถ้าให้ศาลตัดสินอาจเพราะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่เป็นข้อพิสูจน์ที่เป็นนามธรรม ถ้าต้นน้ำอย่างกกต.จังหวัดไม่ปรับปรุงการวินิจฉัยก็ไม่ต่างกัน การจะให้นักการเมืองเดินตรงๆ เป็นเรื่องยาก ทุกคนอยากชนะการเลือกตั้งทั้งนั้น" นายบุญส่งกล่าว 

ปธ.ปลัดอำเภอจี้สมชัยลาออก
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน นายเรวัต เครือบุดดีมหาโชค ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย(ส.ปอ.ท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "เรียน พี่น้องสหพันธ์ปลัดอำเภอฯ และชาวมหาดไทยทุกท่าน ตามที่กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) บางท่านใช้วาจาสามหาว ดูหมิ่นคนมท.ว่าเป็นโจรจัดการเลือกตั้งนั้น ส.ปอ.ท.เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสมกับความเป็นกกต. เพราะต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นช่วยเหลือให้การเลือกตั้งสำเร็จ โดยเฉพาะคนมหาดไทยที่ทำงานแทบทุกอย่าง ท่าน กกต.ได้แต่สั่ง และหาเรื่องจับผิด ถ้าคนมหาดไทยช่วยทำงานให้ท่านเป็นโจร ท่านกกต.ก็เป็น ยิ่งกว่ามหาโจรครับ ดังนั้นขอเรียกร้องให้กกต.คนดังกล่าวรับผิดชอบคำพูดโดย 1.ขอให้ลาออกจากกกต. 2.ออกมากล่าวขอโทษคนมหาดไทยและผู้ที่ใช้วาจาดูหมิ่น

เลิกดูหมิ่นเหยียบย่ำกัน
    นายเรวัต ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมจะไปยื่นหนังสือที่กกต.กลางในวันที่ 19 ม.ค.นี้ เรื่องการจัดการเลือกตั้งแม้ปัจจุบันจะเป็นหน้าที่ของกกต. แต่ในทางปฏิบัติคนมหาดไทยทำเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทำงานเหนื่อยแทบตาย คุณเอาผลงานไปโชว์ว่าเป็นของตัวเองแล้วมาเหยียบย่ำดูหมิ่นกันอย่างนี้ ถามว่าจะมาใช้งานพวกเราทำไม เมื่อมาปรามาสดูหมิ่นกันใครเขาจะให้ความร่วมมือ อยากสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานร่วมกับคนหมู่มากต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ท่านไม่ลาออกเป็นสิทธิของท่าน แต่ถามว่าเมื่อไม่ลาออกหากมีการเลือกตั้งใครเขาจะทำงานให้"

แบนนร.ม.5ตั้งคำถาม'เทียนฉาย'
     เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ประชาไท รายงานว่าเมื่อวันที่ 9 ม.ค. น.ส. ณัฐนันท์ วรินทรเวช หรือ น้องไนซ์ นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์แถลงการณ์ "ข้อกังขาต่อความจริงใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)" ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Nattanan Warintarawet" เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเตรียมตัวออกรายการสด "เจาะประเด็นร้อน" ทางช่อง 5 เพื่อแสดงความคิดเห็นและถามคำถามเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากเห็นในอนาคตของเยาวชนร่วมกับ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และเยาวชนอีกคนหนึ่ง แต่ปรากฏว่า น.ส.ณัฐนันท์กลับไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ของรายการเชิญออกมาก่อนพร้อมกล่าวกับน.ส.ณัฐนันท์ว่า "เชิญมาผิดคน"
    น.ส.ณัฐนันท์ เปิดเผยว่า ก่อนถูกเชิญออก ในระหว่างคุยประเด็นเตรียมออกรายการกับนายเทียนฉายเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ตนได้ถาม 2 คำถามกับนายเทียนฉาย ว่า 1. สปช.จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร ในเมื่อการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาก็คือการขโมยหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งในมุมมองของตนคือการคอร์รัปชั่นทางอำนาจที่ไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการคอร์รัปชั่นทางการเงินเลย และ 2. พวกเขาเหล่านี้ได้มองว่าการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบคือการคอร์รัปชั่นหรือไม่ โดยนายเทียนฉายตอบกลับว่าอย่ายึดติด ต้องมองอนาคตประเทศ จากนั้นเจ้าหน้าที่รายการจึงเชิญตนออกมา พร้อมระบุว่าเชิญมาผิดคน ทำให้ไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว
    น.ส.ณัฐนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ได้รับเชิญเนื่องมาจากเกี่ยวข้องกับวันเด็กแห่งชาติ หรือทางผู้จัดอาจจะอยากฟังเสียงเยาวชน ก่อนออกรายการทีมงานชี้แจงถึงประเด็นที่ต้องการนำเสนอ พร้อมทั้งให้ประเด็นที่อยากให้ตนพูดมาให้อ่าน และระบุว่าอยากให้พูดตามสคริปต์ที่เตรียมให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาตามแนวทาง สปช. วางไว้แล้ว แต่ตนได้อธิบายว่าตนไม่ได้เป็นเยาวชนที่ร่วมเวทีปฏิรูปมาก่อน และไม่ชอบแสดงความเห็นตามสคริปต์ ถ้าจะให้แสดงความเห็นต้องมาจากสิ่งที่ตนคิดเอง ซึ่งทีมงานก็บอกว่าให้ตนพูดในสิ่งที่ควรพูด
    น.ส.ณัฐนันท์ กล่าวต่อว่าเมื่อได้พบนายเทียนฉายได้ทักทายกันตามปกติ ระหว่างนั้นทีมงานบอกว่าอยากถามอะไรก็ให้ถามนายเทียนฉายได้เลย ตนจึงถามไปหลายคำถาม รวมถึง 2 คำถามดังกล่าว ซึ่งตอนนั้นทีมงานดูมีอาการตกใจเล็กน้อย แต่นายเทียนฉายค่อนข้างนิ่ง ควบคุมอารมณ์ได้ และตอบกลับว่าไม่อยากให้ตนยึดติด อยากให้มองอนาคตประเทศ เราต้องทำให้คนไทยมีความพร้อมก่อนจะเป็นประชาธิปไตย เรามาพูดถึงอนาคตกันดีกว่า 
    "จากนั้นเห็นทีมงานไปซุบซิบกัน ไม่กี่นาทีต่อมาก็เข้ามาชี้แจงว่าถ้าไม่สบายใจก็ไม่อยากให้ออกอากาศ ซึ่งได้อธิบายไปว่าจะพูดจากความคิดตัวเอง จะไม่พูดเพื่ออวย สปช. ทีมงานจึงบอกว่าเชิญมาผิดคน อยากได้คนที่มาจากเวทีปฏิรูปมากกว่า พร้อมกับพาออกไปนั่งรอที่ห้องรับรองก่อนรายการจะออนแอร์ และให้ตนเองกับเพื่อนที่มาด้วยกันนั่งดูรายการจนจบ รู้สึกว่าทีมงานผิดมารยาทและไม่เป็นมืออาชีพ ภายหลังมีทีมงานเดินมาขออภัย จึงบอกไม่เป็นไร เข้าใจดี ซึ่งพอจะเดาได้ว่าคุณเทียนฉายคงไม่สบายใจที่ถามแบบนั้น แต่ก็เผื่อใจห้าสิบห้าสิบว่าคุณเทียนฉายคงเป็นผู้ใหญ่ใจกว้าง และต้องการรับฟังความเห็นต่างจากทุกฝ่ายอย่างที่เคยพูดไว้ตอนแรกจริงๆ"น.ส.ณัฐนันท์กล่าว

'จิ๋ว'ติงเลิกว่าทหารทำลายปชต.
     วันที่ 10 ม.ค. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บ้านเลขที่ 133 บ้านประทุมทอง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม โดยมีประชาชนในพื้นที่และ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) จากเขตงานต่างๆ ในภาคอีสาน อาทิ นครพนม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ต้อนรับกว่า 100 คน 
     พล.อ.ชวลิต กล่าวตอนหนึ่งว่า เราทุกคนในบ้านเมืองต้องร่วมมือกันจึงจะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ บ้านเมืองเรามีความขัดแย้งกันอย่างหนัก ทหาร ตำรวจ ต้องออกมาใช้อำนาจพิเศษยับยั้งไว้เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ เพราะความอยู่รอดของประเทศชาติต้องอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จึงอย่ามากล่าวหาว่าทหารทำลายประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่รัฐบาลก็ควรอยู่เพียงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ควรให้รัฐบาลต่อไปทำ
    อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสีเสื้อต่างๆ ปัญหารากเหง้าจริงๆ มาจากความยากจน ดังนั้นเราต้องแก้ไขปัญหาขจัดความยากจนไปจากสังคมให้ได้ ประชาชน 40 ล้านคน ชนชั้นกลาง ชาวไร่ ชาวนา ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินครัวเรือนต้องลดลงหรือหมดไป จะทำให้ปัญหาอื่นๆ หมดไป เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองหากชาวบ้านอยู่ดีกินดีก็คงไม่มีใครออกมาเดินขบวนตามท้องถนน การจะมีรายได้เพิ่มประชาชนต้องช่วยเหลือตนเองโดยการรวมกลุ่มกันลุกขึ้นทำเอง ประสานงานกับภาคราชการว่าต้องการจะทำอะไรเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม และต้องมีความปรองดองกัน ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อต้องไม่มี เพราะเราคือคนไทยเหมือนกัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!