WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8811 ข่าวสดรายวัน


สนช.ถาม ใช้กม.อะไรถอด ยื่นจี้ ปปช. 
บี้'ปู'ตัวเลขขาดทุนข้าว สปช.-ช่อง 5 โบ้ยกันวุ่น แบนนร.ถามเทียนฉาย กกต.ขออำนาจหมายจับ 

      สนช.แห่ส่งคำถาม จี้"ปู"ตอบตัวเลขขาด ทุนจำนำข้าว พร้อมถามป.ป.ช. ใช้กฎหมาย ฉบับไหนถอดถอนอดีตนายกฯ วิปสนช.ยอมรับไม่มีข้อบังคับ ให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง โฆษกกมธ.ยกร่างฯ ชี้เวลาร่างรัฐธรรมนูญมี 60 วัน เฉลี่ย 1 วันต้องได้ 4 มาตรา กกต.อ้างผลประชุมร่วมศาล เสนอเพิ่มดาบให้ตัวเอง มีอำนาจออกหมายเรียกหมายจับ หมายค้นในคดีทุจริตเลือกตั้ง 'สปช.-ช่อง 5'โบ้ยวุ่น แบนเด็กน.ร.ตั้งคำถาม"เทียนฉาย" ผอ.สถานีชี้เป็นคำสั่ง สปช. 'อลงกรณ์'อ้างประธาน-ทีมงานสปช.มารู้ภายหลัง

ช่อง 5 ปัดแบนเด็ก-สปช.ขอมา 

      วันที่ 11 ม.ค. พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 กล่าวกรณี น.ส.ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียน ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถูกแบนไม่ให้ออกรายการทางช่อง 5 เพื่อแสดงความคิดเห็นต่ออนาคตประเทศร่วมกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ในประเด็นการปฏิรูปนั้นกรมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือมายังสถานีโทรทศน์ช่องต่างๆ ทุกช่อง ให้ช่วยสนับสนุนด้วยการออกอากาศในเรื่องการปฏิรูป ทางช่อง 5 เห็นว่าเป็นเรื่องดี จึงให้การสนับสนุน โดยในส่วนของการจัดทำรายการทางช่อง 5 สปช.ขอออกอากาศผ่านรายการ "เจาะประเด็นร้อน" ซึ่งเป็นการบันทึกเทปก่อนออกอากาศ 1 วัน วันบันทึกเทป สปช.นำเด็กนักเรียนมาพูดคุยเพื่อจะนำไปออกอากาศในวันเด็ก ขั้นตอนการทำงานมีการบันทึกเทปจนจบ 

     "จากนั้นหลังรายการ ทาง สปช.มา พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทางช่องว่าที่พาเด็กมา พูดคุย ยังไม่ผ่านเวทีแสดงความคิดเห็นประเด็นการปฏิรูป และสปช. ขอให้ทางช่อง 5 ยกเทปดังกล่าวออก โดยให้เหตุผลเด็กๆ ที่จะออกรายการต้องเคยผ่านเวทีแสดงความเห็นเรื่องปฏิรูปมาก่อน" ผอ.ช่อง 5 กล่าว และว่า งานปฏิรูปตนพร้อมสนับสนุนเต็มที่เพื่อความปรองดองของประเทศชาติ และให้นโยบายผู้ใต้บังคับบัญชาว่าต้องให้การสนับ สนุน ช่อง 5 เป็นช่องของทหารซึ่งทหารยึดความปรองดองของคนในชาติ สำหรับเรื่องดังกล่าว ช่อง 5 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

"จ้อน"ยัน"เทียนฉาย"เสียใจ

     นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการ สปช.หรือ วิปสปช. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมาชิกสปช.หลายคนกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของสาธารณชน โดยที่ประธาน สปช.และทีมงานสปช. ไม่ทราบเรื่อง ได้ทราบในภายหลังก็รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่อาจกังวลเรื่องความมั่นคงมากกว่า อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนี้ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพึงระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวว่าการปฏิรูปจะต้องเปิดกว้าง

      นายอลงกรณ์ กล่าวยืนยันหลักการของสปช.ด้วยว่า ต้องการรับฟังความเห็นจาก ทุกภาคส่วน ในส่วนของนิสิต นักศึกษา ได้จัดเสวนาสานพลังนักศึกษาต่อการปฏิรูปประเทศ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือน ก.พ.จะเป็นการจัดเสวนาพลังอาชีวะ โดย ที่ประธาน สปช.ไม่มีนโยบายกีดกันการ มีส่วนร่วมจากทุกๆ ส่วน แต่เน้นที่จะเปิดกว้างในการรับฟังความเห็น โดยที่สปช.ยอมรับความคิดที่แตกต่างและเน้นการตอบทุกคำถาม

ยันประธานสปช.เปิดกว้าง 

     "เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องดีที่นักศึกษา ใส่ใจประชาธิปไตย และไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งนักศึกษาและประชาชน หากถามมาสปช.ก็จะตอบทุกคำถาม เพราะความ คิดเห็นที่หลากหลายถือว่าเป็นเรื่องปกติ ของระบอบประชาธิปไตย หวังว่าครั้งต่อไปทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือกับสปช." นายอลงกรณ์กล่าว

     เมื่อถามว่า ประธาน สปช.ก็พร้อมจะตอบ ทุกคำถามจากทุกภาคส่วนใช่หรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า นโยบายเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นก็มาจากประธาน สปช. ดังนั้นแน่นอนว่าประธาน สปช.ย่อมพร้อมจะตอบทุกคำถามที่เกี่ยวกับการปฏิรูป

ยก ม.149 โต้สนช.บี้"ปู"แจงกมธ.

      ส่วนกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาถอดถอนนักการเมือง โดยกำหนดให้กรรมาธิการ(กมธ.) ซักถามผู้ถูกกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในวันที่ 15 ม.ค. ส่วนวันที่ 16 ม.ค. เป็นการซักถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิก สนช.เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่แถลงเปิดสำนวนควรเป็นผู้ตอบข้อซักถามกมธ.ด้วยตัวเองนั้น 

      นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายน.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับสนช. ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหาสามารถไปชี้แจงเอง หรือมอบหมายให้ผู้แทนไปตอบข้อสงสัยได้ ไม่มีข้อไหนที่ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องไปชี้แจงเอง หรือระบุว่าหากวันแรกมาแถลงเปิดคดี วันต่อไปต้องไปเอง ไม่แน่ใจว่าทำไม สนช.ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีข้อบังคับในมือ ถึงออกมาพูดในลักษณะดังกล่าว สามารถไปดูข้อบังคับตั้งแต่มาตรา 149 เป็นต้นไปได้ เขียนไว้ชัดเจน ไม่ว่าใครอ่านก็เข้าใจ 

ให้"ยิ่งลักษณ์"ตัดสินใจ

     นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ในส่วนของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ก็ยังไม่ได้พูดว่าจะไปหรือไม่ไปตอบข้อสงสัยของกมธ.วันที่ 16 ม.ค. โดยคณะทำงานและทีมกฎหมายจะพูดคุยกันในวันที่ 12 ม.ค.ว่าการชี้แจงที่ผ่านมาของอดีตนายกฯในภาพรวมเป็นเช่นไร และจะมีการหารือในรายละเอียดต่างๆ ถึงข้อที่เกี่ยวข้องและจะนำข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่างๆ รวมทั้งคำประกอบการชี้แจงต่างๆ เพื่อนำไป หารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกครั้ง การเดินทางไปชี้แจงวันที่ 16 ม.ค. หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและตัดสินใจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกครั้ง 

ห้ามกมธ.ถามนอกประเด็น 

     นายสมชาย แสวงการ กมธ.ซักถามชุดดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีสมาชิกยื่นญัตติคำถามอะไรบ้างและจำนวนเท่าไร เนื่องจากคดีของอดีตนายกฯ สมาชิกสามารถยื่นคำถาม ได้ก่อนเวลา 12.00 น. วันที่ 13 ม.ค. เช่นเดียวกับคดีของนายสมศักดิ์ และนายนิคม ที่สมาชิกสามารถยื่นญัตติคำถามได้ภายในวันที่ 12 ม.ค. เมื่อถึงเวลานั้นจึงจะรู้ว่ามีประเด็นใดเพิ่มเติมบ้าง ทั้งนี้ กมธ.ซักถามจะมีหน้าที่กลั่นกรองประเด็นว่าอยู่ในกรอบประเด็นการถอดถอนหรือไม่ หากออกนอกประเด็นก็ต้องตัดทิ้ง หรือหากประเด็นซ้ำกันก็จะนำมาเรียบเรียงใหม่

สนช.แห่ถาม"ยิ่งลักษณ์"

      นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ในฐานะกมธ.ซักถามคดีถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มี สมาชิกสนช. ส่งคำถามเข้ามาให้กมธ.แล้ว ประมาณ 20 กว่าคำถาม โดยจะหมดเขตส่งคำถามในวันที่ 13 ม.ค. ในวันดังกล่าวหลังจากหมดเวลาส่งคำถามแล้ว กมธ.จะประชุมกันเพื่อวางกรอบจัดหมวดหมู่คำถามให้ง่ายต่อการทำ ความเข้าใจต่อไป คำถามส่วนใหญ่ที่ สนช.ส่งมา จะมุ่งถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ มากกว่า อาทิ สอบถามว่า เหตุใดจึงไม่สามารถยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวได้ และการขอความชัดเจนเรื่องตัวเลขที่แท้จริงในการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว เพราะตัวเลขที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ กับตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวยังไม่ตรงกัน 

จี้ปปช.ใช้กฎหมายไหนมาถอด

      "ส่วนคำถามที่ต้องการถามป.ป.ช.คือ จะใช้กฎหมายฉบับใดมาเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากขณะนี้รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว" นายกิตติศักดิ์กล่าวและว่า ส่วนการมาตอบคำถามในวันที่ 16 ม.ค.นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถให้ทีมทนายความมาตอบคำถามแทนได้ ขึ้นอยู่กับน.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาตอบเองหรือไม่ หากมาตอบคำถามเองแล้วตอบได้ดีก็จะเป็นผลดีต่อตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ เอง อยากให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตอบคำถามเอง จะได้ไม่เป็นที่ครหาได้ในภายหลังว่าสิ่งที่ตอบ ไปไม่ตรงกับใจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กมธ. ซักถามยืนยันว่า จะทำหน้าที่ด้วยความเป็น กลาง ไม่มีอคติทางการเมือง

     ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า คำถามที่กมธ.จะซักถามนั้น ไม่มีการบอกให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบล่วงหน้า แต่เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาคงคาดการณ์ได้เอง และคงต้องไปเตรียมข้อมูลมาเป็นอย่างดี เพราะมีเวลาเตรียมตัวอยู่ 2-3 วัน ก่อนจะถึงวันที่ 16 ม.ค.ที่ต้องมาตอบข้อซักถาม ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสนช. ไม่ได้เขียนระบุไว้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมาตอบคำถามคณะด้วยตัวเอง แต่เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์มาโต้แย้งข้อกล่าวหาด้วยตัวเองในการแถลงเปิดคดีไปแล้ว จึงควรมาตอบข้อซักถามต่อกมธ.ซักถามด้วยตัวเองอีกครั้งจะเหมาะสมกว่า จะทำให้คำตอบดูมีน้ำหนักมากกว่าให้บุคคลอื่นมาตอบแทน

ชี้ถอดซ้ำปฏิเสธอำนาจคสช.

      นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ กล่าวกรณีการพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ มาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยการยุบสภา โดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และโดยคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า นอกจากจะเป็นการถอดถอนซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็นและไม่มีกฎหมายรองรับแล้ว ยังมีผลเท่ากับเป็นการปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและคสช.อย่างชัดแจ้งอีกด้วย

      นายยรรยง กล่าวว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 มีผลทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯแล้ว แต่ยังคงต้องทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะมีนายกฯและรัฐบาลใหม่ ในทำนองเดียวกันเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ก็ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลุดพ้นจากตำแหน่งนายกฯ แต่ยังคงต้องทำหน้าที่รักษาการอยู่ต่อไป เมื่อมีการรัฐประหารและคสช.ได้มีคำสั่งให้ยุบคณะรัฐมนตรีทั้งคณะจึงมีผลทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯไปโดยเด็ดขาด โดยไม่ต้องทำหน้าที่รักษาการอีกต่อไป เพราะโดยผลของคำสั่งคสช.ทำให้คสช.เองเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารแต่ผู้เดียว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงหลุดพ้นจากตำแหน่ง นายกฯโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ทั้งตามกฎหมายและความเป็นจริง

ย้ำเจตนาหวังผลการเมือง 

      นายยรรยง กล่าวว่า ดังนั้น การดำเนิน การฟ้องถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงอาจวิเคราะห์ได้ 2 ประการคือ (1) ผู้ดำเนินการไม่ยอมรับและไม่เชื่อมั่นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำสั่งของคสช.มีผล ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลุดพ้นจากตำแหน่งนายกฯโดยสมบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องฟ้องให้ สนช.พิจารณาถอดถอนอีก ซึ่งมีผลเท่ากับการปฏิเสธอำนาจของคสช. และศาลรัฐธรรมนูญ (2) การฟ้องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์มุ่งผลทางการเมืองในอนาคต คือต้องการกำจัด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นศัตรูคู่แข่งทางการเมืองที่มีศักยภาพสูงสุดในปัจจุบัน โดยไม่เคารพต่อเจตนารมณ์และหลักการของการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องการขจัดผู้บริหารหรือผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งอยู่ให้หลุดพ้นจากตำแหน่งนั้นๆ เพื่อไม่ให้เขาสามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนั้นต่อไปเท่านั้น

       นายยรรยง กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติ ผู้มีอำนาจถอดถอนคือวุฒิสภาซึ่งมีหน้าที่เฉพาะในการกลั่นกรองกฎหมายและตรวจสอบบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง โดยมุ่งที่จะกลั่นกรองและตรวจสอบผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น อัยการสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น และมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใต้กรอบกฎหมายและโครงสร้างในขณะนั้นๆ เท่านั้น แต่ขณะนี้ประเทศ ตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษ การเสนอให้ สนช.ซึ่ง คสช.แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อใช้อำนาจที่ได้รับถ่ายโอนมาจากวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยคสช.ให้ใช้อำนาจที่กว้างขวางกว่าเดิม กล่าวคือเสนอให้สนช.ถอดถอนบุคคลที่คสช.เองได้สั่งให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงส่อว่าจะเป็นการถ่ายโอนอำนาจของวุฒิสภาอย่างบิดเบือนโดยหวังผลทางการเมืองเท่านั้น

พงศ์เทพยันสนช.ถอดได้แค่นายกฯ

       ที่วัดบางไผ่ จ.นนทบุรี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากมองตามหลักการของการถอดถอน เป็นกระบวนการที่สร้างขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยให้องค์กรที่มีความเป็นกลางมาเป็นคนชี้ขาดว่าจะถอดถอน หรือไม่ ซึ่งก็คือวุฒิสภาที่มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและไม่สังกัดพรรค การเมือง เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ใช้วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีมติถอดถอนเช่นเดิม แต่วุฒิสภาปี 2550 มาจากการเลือกตั้งและสรรหาส่วนหนึ่ง ถือว่าพอยอมรับได้ แต่สนช.มาจากผู้มีอำนาจจากฝ่ายยึดอำนาจเสนอขึ้นมา โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ความเป็นกลางของสนช. จึงเทียบไม่ได้กับวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ2550 คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีอำนาจแบบเดียวกันทั้งหลักการและเหตุผล ถ้าปล่อยให้ผู้ที่มาจากการเแต่งตั้งแบบนี้เป็นคนลงมติได้ แล้วระบบจะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ 

     นายพงศ์เทพ กล่าวว่า บางคนบอกว่าถ้ามีกระบวนการที่ต้องถอดถอน หากสนช.ไม่ถอดถอนแล้วใครจะถอดถอน ถ้าคิดว่าจำเป็นต้องถอดถอนจริงและมีคนที่ต้องถูกถอดถอนก็ควรจะรอให้มีองค์กรที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ หรือมีวุฒิสภาใหม่ที่จะมาพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนตัวไม่คิดว่า สนช.เป็นองค์กรที่จะมารับหน้าที่นี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนเรื่องการถอดถอน เท่าที่ดูก็เขียนให้ถอดถอนได้เฉพาะนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็คือนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนี้

รัฐบาลคสช.ก็ใช้เงินช่วยเกษตรกร


100 วัน - ครอบครัววิริยะชัย พร้อมด้วยแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงกว่า 800 คน ร่วมพิธีทำบุญ ครบ 100 วันการเสียชีวิตของพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภา ที่วัดบางไผ่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 11 ม.ค.

      นายพงศ์เทพกล่าวว่า ตนคิดว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ตอบตามหลักการหมดแล้ว เรื่องการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือชาวนา เพราะชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบมานาน ยังไม่เคยเห็นนโยบายใดที่ช่วยเหลือประชาชนแล้วจะมีกำไร เพราะต้องใช้เงินของรัฐไปช่วยทั้งสิ้น แม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน ก็เอาเงินของรัฐไปช่วยเหลือเกษตรกรเช่นเดียวกัน ถามว่าได้กำไรหรือไม่ การรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาที่ขายข้าวได้ราคา 7,000 บาท ต่อตัน สามารถขายได้ราคา 12,000-13,000 ต่อตัน โดยขึ้นอยู่กับความชื้น ส่วนที่จะเอาข้าวที่อื่นมาขายรัฐบาลก็วางมาตรการป้องกัน ไว้แล้ว หรือถ้าจะมีใครเอาข้าวจากโกดังไป เจ้าของโกดังที่ทำสัญญากับภาครัฐก็ต้องรับผิดชอบ เหมือนเราเอาเงินไปฝากธนาคารแล้วธนาคารถูกปล้น ธนาคารก็ต้องมีหน้าที่ต้องระวังและรับผิดชอบ

จตุพร ซัดปปช.-ชงเองกินเอง

      นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะดำเนินการถอดถอนมาตั้งแต่ต้น แต่ที่มีการถอดถอนเพราะต้องการจะขจัดน.ส.ยิ่งลักษณ์ และสมาชิกพรรคเพื่อไทยออกจากสนามการเมือง โดยต้องการให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35(4) ตัดสิทธิ์ 5 ปี เท่ากับตลอดชีวิต ฉะนั้นการถอดถอนในขณะที่ไม่มีตำแหน่ง แล้วอ้าง รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิก เหมือนกับว่าการกระทำใดๆ ก็ตาม ถ้าทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ในขณะที่ไม่มีกฎหมายแล้ว ความผิดตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2475 ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการได้

      ประธาน นปช. กล่าวว่า ชัดเจนว่า ข้อกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย ชงเองกินเอง ตั้งแต่ทำหนังสือเตือนแล้วรัฐบาลต้องหยุด แสดงว่า ป.ป.ช.อยู่เหนือรัฐบาล ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็ต้องถูกถอดถอน เรื่องนี้ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเท็จจริงหรือความยุติธรรม เพราะหากดำเนินการตามข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นคงไม่เกิดการถอดถอนขึ้นมา เพราะกฎหมายเดิมถูกยกเลิกไปแล้วและไม่มีการทุจริต แต่เมื่อมีกระบวนการถอดถอน ถ้ายึดตาม ข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานต่างๆ น.ส. ยิ่งลักษณ์ก็ชี้แจงได้ชัดเจนแล้ว 

ปชป.ชี้"ปู"แจงฟังไม่ขึ้น 

     ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก กล่าวถึงการชี้แจงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อที่ประชุม สนช.ว่า อดีตนายกฯ ต้องการสื่อว่าความเสียหายในโครงการจำนำข้าวไม่มาก แม้พยายามใช้สีข้างเข้าถูโดยอ้างการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 พ.ค.2556 มาหักล้างว่ายอดเสียหายต่ำกว่า 3.3 แสนล้านบาท แต่โชคร้ายที่มีรายงานปิดบัญชี ณ วันที่ 22 พ.ค.2557 ที่มีความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 5.19 แสนล้านบาท ที่ยิ่งตอกย้ำความเสียหายในโครงการนี้ เพราะตัวเลขยอดความเสียหายเป็นคณิตศาสตร์ ตรงไปตรงมา มีที่มา จะเอาวิธีการบิดเบือนแบบเดิมมาถูไถไม่ได้ ยิ่งยอดความเสียหายล่าสุดหนักกว่าเดิม น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงติดกับดักความเสียหายทางบัญชีไปแล้ว การแถลงหักล้างในสภาจึงฟังไม่ขึ้น ถ้าผิดก็ให้รู้จักยอมรับผิด สังคมไทยอาจให้อภัย แต่ถ้ายังดื้อดึงแบบนี้มั่นใจว่าสังคมไทยไม่ยอมแน่

ยกร่างรธน. 1 วัน 4 มาตรา 

     พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงหลักการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ตนมองว่าการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมมาตราของรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะอนุกมธ.จัดทำบทบัญญัติเป็นรายมาตราแห่งรัฐธรรมนูญนั้น ต้องยึดหลักพิจารณาในภาพรวมของ ทั้งฉบับก่อนที่จะแก้ไขมาตราใด เพื่อให้ เกิดการสอดคล้องภายในรัฐธรรมนูญ คือ บทบัญญัติไม่ขัดแย้ง สอดคล้องภายนอกรัฐธรรมนูญ คือ ตอบโจทย์ความต้องการประชาชน บริบทประเทศและสากล โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 นี้ รวมถึงต้องทำชีวิตให้กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงการมีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ เป็นแนวทางที่รัฐบาลส่งต่อไปยังอีกรัฐบาลได้

      พล.ท.นาวิน กล่าวว่า สำหรับการพิจารณารัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่ได้รับข้อเสนอแนะจาก สปช. ดังนั้น หากนับเวลาทำงานจริงจะเหลืออยู่เพียง 90 วันเท่านั้น หากไม่นับช่วงเสาร์และอาทิตย์จะมีเวลาทำงานจริงแค่ 60 วัน ดังนั้น การจะพิจารณารัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามกรอบ ใน 1 วันประชุมต้องพิจารณาให้เสร็จอย่างน้อย 4 มาตรา นอกจากนี้ สิ่งสำคัญระหว่างการยกร่างฯเป็นรายมาตรา คือการรับฟังเสียงของประชาชนและบุคคลภายนอก เพื่อให้เกิดเป็นความเห็นร่วม และฉันทามติร่วมกันในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กกต.ขออำนาจ"ออกหมายจับ"

      ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เผยความ คืบหน้าการจัดทำคู่มือสืบสวนสอบสวนคดีเลือกตั้ง ว่า กกต.ยังคงเดินหน้าจัดทำคู่มือ ดังกล่าว โดยหลังจากจัดประชุมเชิงวิชาการเรื่องการดำเนินคดีเลือกตั้ง ระหว่างสำนักงาน กกต.กับศาลยุติธรรม มีข้อเสนอประเด็นสำคัญคือเรื่องระบบงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงาน กกต.ที่มีข้อเสนอให้ใช้สำนวนการสืบสวนสอบสวนของ กกต.เป็นหลักในการพิจารณาคดีเลือกตั้งในชั้นศาล โดย กกต.ต้องปรับปรุงกระบวนการสืบสวนสอบสวนให้มีความเป็นสากล เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้ง กกต.ต้องมีอำนาจออกหมายเรียก หมายจับ หมายค้น หมายเรียกพยาน ที่ กกต.ต้องมีอำนาจถาวร ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ใช่แค่ในช่วงจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งการออกกฎหมายเพิ่มเติมว่าด้วยการคุ้มครองพยาน 

      นายบุญส่ง กล่าวว่า คาดว่าการจัดทำคู่มือสืบสวนสอบสวนคดีเลือกตั้งจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือน ก.พ.นี้ หลังจากนั้นก็จะมีการแยกการทำคดีแต่ละประเภทออกเป็นเล่ม อาทิ การซื้อสิทธิขายเสียง การย้ายทะเบียนบ้านเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเลือกตั้ง การจัดเลี้ยง และการหาเสียงล่วงหน้า เป็นต้น เชื่อว่าจะทำให้การสืบสวนสอบสวนของ กกต.มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คู่มือนี้สามมารถนำมาใช้ได้หมด แม้ในอนาคต กกต.จะไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เพราะกฎหมายดังกล่าวเปรียบเสมือนต้นน้ำของการสืบสวนสอบ สวนคดีเลือกตั้ง

ชี้ข้อเสียมท.จัดเลือกตั้ง-ไม่อิสระ

      จากข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทน กกต. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,247 คน ระหว่างวันที่ 3-10 ม.ค. สรุปผลดังนี้ ถามถึงปัญหาการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ทำให้ประชาชนหนักใจ อันดับ 1 การจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นกลาง มีการ ซื้อสิทธิขายเสียง 45.41% อันดับ 2 ประชาชน เบื่อหน่ายการเมือง ไม่สนใจการเลือกตั้ง 33.56% อันดับ 3 มีความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง ประท้วงไม่ยอมรับการเลือกตั้ง 21.03% 

     เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ "กระทรวงมหาดไทย" และ "กระทรวงศึกษา ธิการ" เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทน กกต. อันดับ 1 ไม่เห็นด้วย 62.25% ควรให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง การเลือกตั้งเป็นงานใหญ่และมีความสำคัญ อันดับ 2 เห็นด้วย 37.75% เพราะน่าจะเป็นเรื่องดี หากมีการร่วมมือกัน มีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ 

     เมื่อถามถึง "ข้อดี-ข้อเสีย" ของการให้ "กระทรวงมหาดไทย" และ "กระทรวงศึกษาธิการ" เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ข้อดี (1) เป็นระบบระเบียบมากขึ้น เจ้าหน้าที่เพียงพอ 47.80% (2) เป็นการร่วมมือที่ดี มีความใกล้ชิดประชาชน 29.67% (3) เป็นทางเลือกใหม่ อาจป้องกันการทุจริตได้ 22.53% ข้อเสีย (1) ไม่เป็นอิสระ อาจถูกแทรกแซง ตรวจสอบ ยาก 41.34% (2) เป็นการเพิ่มภาระงาน กระทบต่องานหลัก 35.04% (3)ขาดประสบการณ์ ไม่มีความชำนาญพอ 23.62% 

ส่วนใหญ่หนุนกกต.จัดเลือกตั้ง

    เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าใคร ควรเป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้ง อันดับ 1.กกต. (แบบเดิม) 66.67% เพราะ มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ รู้ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวง ศึกษาธิการ 17.01% เพราะเป็นการสร้างความร่วมมือกัน ช่วยกันดูแล เป็นระบบและตรวจสอบได้ ฯลฯ อันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย 7.82% เพราะมีหน่วยงานทั่วประเทศ เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรง เคยจัดการเลือกตั้งของท้องถิ่น อันดับ 4 กระทรวงศึกษาธิการ 4.42% เพราะมีบุคลากรจำนวนมาก มีสถานศึกษาในเขตพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีความน่าเชื่อถือ อันดับ 5 ควรจะร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษา และ กกต. 4.08%

พท.-นปช.ร่วม 100 วัน"อภิวันท์"

     เวลา 10.00 น. ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดบางไผ่ พระอารามหลวง ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี นางรัชนี วิริยะชัย ภรรยาของ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม นปช. พร้อมครอบครัว จัดงานทำบุญครบรอบการเสียชีวิต 100 วัน พ.อ.อภิวันท์ โดยมีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. และประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรอง นายกฯ และรมว.ศึกษาธิการ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีต รมช.มหาดไทย และรมช.คมนาคม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกฯ รมว.ยุติธรรม และต่างประเทศ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต รมช.มหาดไทย นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ อดีต รมช.คมนาคม นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานวิปรัฐบาล พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

      ร่วมด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ อดีต ส.ส.นนทบุรี น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น และพล.ต. ศรชัย มนตริวัต เป็นต้น

ตร.แจกเสื้อขาวใส่ทับเสื้อแดง 

    ภายในงานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.บางบัวทอง และชุดปจ.นนทบุรี จาก บก.ภ.จว.นนทบุรี 100 นาย คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและรักษาความเรียบร้อย ดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก พร้อมตั้งจุดตรวจบริเวณทางเข้าศาลาอเนกประสงค์ เพื่อตรวจค้นอาวุธและหากมีประชาชนสวมเสื้อสีแดง เจ้าหน้าที่จะมอบเสื้อสีขาวให้สวมทับ โดยแจ้งว่า ไม่ต้องการให้มีสัญลักษณ์ทาง การเมือง ทางเจ้าภาพได้จัดโต๊ะจีน 60 โต๊ะ ไว้สำหรับเลี้ยงแขก และซุ้มก๋วยเตี๋ยว ไว้รองรับมวลชนที่เดินทางมาร่วมงาน

     เวลา 10.40 น. พระสงฆ์ 25 รูป สวดเจริญ พระพุทธมนต์ จากนั้นคณะเจ้าภาพและแขกสำคัญร่วมถวายภัตตาหารเพล ก่อนถวายสังฆทาน พระสงฆ์สวดอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี โดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย

นปช.สร้างหอประชุมอภิวันท์

     นายจตุพร ให้สัมภาษณ์ว่า พ.อ.อภิวันท์ เป็นคุณูปการของกระบวนการต่อสู้ ทั้งที่มีโอกาสเลือกเส้นทางในชีวิตมากมาย ถ้าเลือกเส้นทางทหารก็ไปถึงยศพลเอก ถ้าเลือกเส้นทางวิศวกรก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ส่วนเส้นทางการเมืองเมื่อเป็นรองประธานสภา แค่รักษาตัวโดยไม่มาร่วมกับคนเสื้อแดงในวันที่พวกเราถูกจับและถูกสลาย การชุมนุม จึงทำให้พ.อ.อภิวันท์ไม่ได้เป็นประธานรัฐสภา พ.อ.อภิวันท์เลือกหนทางการต่อสู้กับประชาชนมากกว่าที่จะเลือกเส้นทางบนลาภยศสรรเสริญ ถือเป็นความงดงามที่ยิ่งใหญ่ ขณะนี้ นปช.กำลังดำเนินการสร้างห้องประชุมชื่อ อภิวันท์ วิริยะชัย ข้างสถานีพีซทีวี ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 โดยจะใช้สำหรับกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เช่น แถลงข่าว จัดอบรม จัดโรงเรียน เป็นต้น

     นายจตุพร กล่าวถึงแนวทางการเคลื่อน ไหวว่า จะยังไม่เคลื่อนไหวอะไร เราต้อง รอให้เขาพิสูจน์จนสุดทางก่อน ถ้าเคลื่อนขณะนี้ เมื่อเกิดความล้มเหลวก็จะโยนมาว่าเป็นเพราะเรา ฉะนั้นต้องให้สังคมไทยเห็นว่าที่เขาขอเวลาแล้วจะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็เป็นความรับผิดชอบของเขา ก็ปล่อยให้เขาทำและอยู่ไปตามที่ประกาศ

ประภัตรห่วงชาวนาช่วงแล้ง 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านเรือนไทย ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี นายประภัตร โพธสุธน อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมครอบครัวเปิดบ้านอวยพรปีใหม่ 2558 ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมอวยพรอย่างเป็นกันเองขณะสายฝนโปรย ปราย

     นายประภัตร กล่าวว่าชีวิตคนเรานั้นสั้น การเป็นนักการเมืองได้นั้นต้องมีจิตวิญญาณ ได้บอกพวกเราทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นต่างๆ ว่าเราต้องมีจิตวิญญาณและต้องพร้อมจะเสียสละทั้งทุ่มเททั้งเงิน ทองและเวลา ก็จะสามารถยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าตนจะอยู่ในตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง ถ้าพวกเราน้ำไม่มี ฝนไม่ตก ข้าวไม่ได้ราคา ก็รู้วิธีการที่จะรณรงค์แก้ไขอย่างไร ซึ่งเราทำกันมาตลอด วันนี้ตนอายุห้าสิบกว่าๆ เหลืออีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว ห่วงเรื่องปากท้องชาวบ้าน อีก 6 เดือนที่เหลือจะทำอย่างไร ชาวนาจะอยู่กันอย่างไร ห่วงว่ารัฐบาลจะดูแลชาวบ้านชาวนาอย่างไร เพราะหลายพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน เดือดร้อนแน่ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างแน่นอน

ผู้ใช้อำนาจถอดถอน

บทนำมติชน

     เป็นข่าวออกมาขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. กำลังดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากรัฐบาลที่แล้ว โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยว่า มีข้อเสนอน่าสนใจจากประชาชนส่งเข้ามายังตน ให้เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องการถอดถอน จากเดิมที่เป็นอำนาจของ ส.ว.ฝ่ายเดียว ให้เป็นการร่วมกันของ 2 สภา คือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร หากสภาถอดถอนไม่สำเร็จ ให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจเป็นผู้ลง

     มติถอดถอน ซึ่งจะมีผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเข้าไปสู่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ

     จุดที่น่าสังเกตในปัญหาการถอดถอนนักการเมือง ได้แก่ เรื่องของบุคคลที่จะมาใช้อำนาจถอดถอน เรื่องของกระบวนการที่ไม่เป็นระบบขึ้นกับดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจมากเกินไป เรื่องของบุคคล มักจะถูกโต้แย้งเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งแสดงออกในลักษณะต่างๆ อาทิ การแสดงทัศนคติทางลบต่อบุคคลที่ถูกร้อง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เมื่อมีอำนาจถอดถอนอยู่ในมือ จึงน่าเกรงว่าอาจใช้อคติทางการเมือง มากกว่าเหตุผล หรือเรื่องของกระบวนการที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละคดี ส่อว่ามีนัยยะทางการเมือง ซึ่งเมื่อเกิดการโต้แย้ง หน่วยงานก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ มักใช้วิธีแถลงปฏิเสธอย่างง่ายๆ ว่า ไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งที่มีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ ยิ่งทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาและไม่น่าเชื่อถือ 

       ข้อเสนอของนายบวรศักดิ์จะน่าสนใจอย่างมาก หากสภาผู้แทนฯและวุฒิสภามาจากเลือกตั้งทั้งสองสภา เพราะถือว่าเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชน ซึ่งจะทำให้มีความชอบธรรมสูง แต่ปัญหาก็จะเกิดขึ้นอีกเช่นกัน หากสภาผู้แทนฯหรือวุฒิสภามาจากการสรรหา ซึ่งหากจะต้องไปตรวจสอบผู้มาจากเลือกตั้งจะเกิดปัญหาโต้แย้งได้ทันที หากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้การถอด ถอนนักการเมืองเป็นที่ยอมรับ ก็น่าจะพิจารณาต้นตอของปัญหา คือเรื่องของบุคคลที่ใช้อำนาจถอดถอนจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชนในทางใดทางหนึ่งเพื่อจะได้ควบคุมการใช้อำนาจได้ ขณะเดียวกันกระบวนการต้องโปร่งใส เป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน เป็นมาตรฐานเดียวกัน และตรวจสอบได้ โต้แย้งได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนการตัดสิทธิตลอดชีวิต ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!