WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันแรกร่าง 25 มาตรา แก้ใหม่'ม.7' ให้ดาบศาลรธน.ชี้ขาด ประชุม 8 ชม.แขวน 2 ปม สปช.ลบชื่อนักการเมือง เรียกเป็นนักพัฒนาปชต. 'ทีมกม.ปู'ยื่นถามสนช. แจงขั้นตอนซักถอดถอน

 

ขอโทษ - ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เคลียร์ความขัดแย้งระหว่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กับนายเรวัติ เครือบุดดีมหาโชค ประธานสมาพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย พร้อมสมาชิก โดยนายสมชัยได้ขอโทษกรณีพูดถึงการยื่นดาบให้โจรหากให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทน กกต. เมื่อวันที่ 12 มกราคม

ร่าง รธน. - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โชว์จุลสารรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนเพื่อรับรู้ถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างการประชุม กมธ.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 12 มกราคม

 

      วงประชุม กมธ.ยกร่าง รธน.รายมาตรา เสนอเพิ่มวรรคสองในมาตรา 7 แก้ปัญหาการเมืองมักไปอ้าง หาข้อยุติไม่ได้ เสนอให้ศาล รธน.ทำหน้าที่ชี้ขาด ปธ.สนช.ชี้'ยิ่งลักษณ์'ควรตอบข้อซักถามเอง อย่าใช้มือปืนรับจ้าง

@ ประชุมยกร่างรธน.รายมาตรา

     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเพื่อพิจารณาเขียนเป็นรายมาตรา ภายหลังจากคณะอนุ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน ดำเนินการพิจารณาร่างเบื้องต้น โดยยึดกรอบตามมติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงความเห็นของตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองต่างๆ ส่งรายละเอียดข้อเสนอแนะมา ทั้งนี้ การประชุมใหญ่พิจารณารายละเอียดแบบรายมาตราเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการประชุมด้วย 

      ในที่ประชุมยังมีการแจกจุลสารรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปเพื่อการสร้างอนาคตประเทศไทยกับประชาชน ฉบับแรก ที่จัดพิมพ์จำนวน 3 หมื่นฉบับมาเผยแพร่ด้วย เป็นเอกสารที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดหวังจะนำมาสื่อสารกับประชาชนให้ทราบถึงกระบวนการและสารัตถะของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ครอบคลุมเนื้อหาพื้นฐานอันเป็นการสะท้อนถึงการเพิ่มอำนาจของประชาชน รวม 7 เรื่อง ได้แก่ 1.ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง 2.สิทธิเสรีภาพของพลเมือง 3.การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง 4.การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของพลเมือง 5.การปฏิรูปการเงิน การคลัง และงบประมาณ 6.ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ และ 7.การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

@ หมวดพระมหากษัตริย์คงเดิม

      เวลา 14.30 น. ที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาหมวดพระมหากษัตริย์จำนวน 18 มาตรา ซึ่งไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ และในการพิจารณา หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ว่าด้วยความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง ที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในท่อนสุดท้ายของวรรคสอง ที่ระบุว่า "ประชาชนชาวไทยในฐานะที่เป็นพลเมือง ต้องไม่กระทำการที่ทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา ไม่ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เป็นปฏิปักษ์ หรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน และต้องไม่อ้างอิงพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือ พระรัชทายาท เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและประโยชน์ส่วนตน" เริ่มตั้งแต่การใช้ถ้อยคำที่บางส่วนเสนอให้นำคำว่าสถาบันกษัตริย์มาใช้เพื่อให้ครอบคลุมทั้งตัวบุคคลตลอดจนถึงโครงการในพระราชดำริ สำนักพระราชวังด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมืองที่มีการอ้างสถาบันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

      ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ด้าน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นต่างเสนอแย้งว่าจะทำให้กฎหมายนี้มีความน่ากลัว ไม่น่าตอบโจทย์การปกป้องสถาบัน ลำพังกฎหมายอาญามาตรา 112 บังคับใช้ก็น่าจะพออยู่แล้ว หวั่นจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองนำมาใช้ประโยชน์ฟ้องร้องกันไปมา ก่อนที่ที่ประชุมเห็นร่วมกันให้ตัดวรรคท้าย ตั้งแต่คำว่า "และต้องไม่อ้างอิงพระมหากษัตริย์" ทิ้งทั้งหมด 

@ กมธ.ยกร่างฯผุดม.7วรรคสอง 

      เวลา 15.20 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันแรก ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 มกราคม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญวางกรอบพิจารณาดังนี้ เริ่มที่บททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน และภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง เฉพาะหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งสิ้น 89 มาตรา ตั้งเป้าไว้จะพิจารณาเฉลี่ยให้ได้วันละ 18 มาตรา ในวันนี้เป็นการพิจารณาบททั่วไปจำนวน 7 มาตรา ต่อด้วย ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ 18 มาตรา รวมทั้งสิ้น 25 มาตรา

      นายคำนูณ กล่าวว่า ผลการพิจารณาชื่อร่างใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" และตั้งแต่บททั่วไป มาตรา 1-6 ไม่มีการแก้ไขถ้อยคำในมาตราดังกล่าว ยกเว้นมาตรา 7 จากเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีเพียงแค่วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำการหรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เพิ่มวรรคสอง ที่ระบุว่า "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีและเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด" 

@ ปัดเปิดช่องนายกฯพระราชทาน 

     "สาเหตุที่ต้องมีการเพิ่มวรรคสองในมาตรา 7 นั้น เนื่องจากตลอด 17 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองมักจะมีการนำมาตรา 7 มาแอบอ้างในหลายรูปแบบและส่งผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง กรณีที่นำมาตรา 7 มาแอบอ้างมักจะเป็นประเด็นปัญหาที่ไม่มีองค์กรใดมาตัดสินหรือหาข้อยุติได้ จึงจำเป็นต้องมีการเปิดช่องทางให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมาทำหน้าที่ตัดสินและให้ได้ข้อยุติ เพื่อไม่ให้กระทบหรือนำสถาบันมาแอบอ้างอีก" นายคำนูณกล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มวรรคสอง จะเป็นการปิดทางการเสนอนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ยังมีประเด็นปัญหาที่นอกเหนือไปจากนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 เช่น ก่อนที่จะมีรัฐประหาร เคยมีปัญหาว่ารัฐสภาจะเปิดประชุมได้หรือไม่ ประเด็นนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 น่าจะจบลงตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2549 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ว่า มาตรา 7 ไม่เคยมีการปฏิบัติตามประเพณีการปกครองที่ผ่านมา

      เมื่อถามว่า จากกรณีเคยมีกลุ่มคนประกาศไม่เคยรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้มาทำหน้าที่วินิจฉัยเกรงจะเกิดปัญหาหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ต้องเดินหน้าไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การที่คนมีมุมมองต่างกัน ต้องมีองค์กรที่วินิจฉัยชี้ขาด ตามกฎหมายเดิมได้ระบุแล้วว่า ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและผูกพันทุกองค์กร

@ วันแรกถก8ชม.27 มาตรา 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 18.00 น. การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราวันแรกใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง พิจารณาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญรวม 27 มาตรา ในบททั่วไป หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง และมีที่แขวนไว้จำนวน 2 มาตรา เพื่อรอลงมติภายหลัง คือในส่วนความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง ประเด็นการกำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่ปลูกฝังความเป็นพลเมืองให้ประชาชน และประเด็นการตอบแทนของพลเมืองที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ในรูปแบบของเครื่องหมาย เครื่องแบบ หรือเครื่องประดับที่แสดงเกียรติคุณ หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในวันที่ 13 มกราคม ที่ประชุมจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง จำนวน 36 มาตรา

@ สปช.เปิดอภิปรายหัวข้อเลือกตั้ง

     เมื่อเวลา 12.15 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ในวาระการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของ สปช. เรื่องระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 

     นายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี ขึ้นอภิปรายว่า การจะจัดการเลือกตั้งให้สุจริตได้อย่างไรคือนักการเมืองไม่ซื้อไม่ขายเสียง แต่ความจริงไม่ใช่ ดังนั้นจะออกแบบกฎเกณฑ์อย่างไรเพื่อขจัดผู้ที่ซื้อสิทธิขายเสียงให้ได้ ทำอย่างไรถึงจะลบความคิดของประชาชนที่ว่า "เงินไม่มา กาไม่เป็น" ออกไปให้ได้ แล้วใช้วิจารณญาณเลือกคนดีบริหารบ้านเมือง และเห็นว่าต้องให้ กกต.ยกเลิกการจัดเลือกตั้ง เพราะการดำเนินการและการตรวจสอบถ้าอยู่ในคนเดียวกันแล้วจะไม่มีใครจับผิดตัวเอง จึงเสนอให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาการดำเนินงานของ กกต.ก็ต้องอาศัยกระทรวงมหาดไทยอยู่ดี

      นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายว่า ต้องเข้าใจปัญหาเดิมของระบบการเลือกตั้งว่าทำอย่างไรถึงจะขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ต้นตอของปัญหามาจากนักการเมืองที่ซื้อเสียงเพื่อให้มีเสียงข้างมากในสภาและได้เป็นรัฐบาล ส่วนที่มีแนวคิดให้มีศาลเลือกตั้งนั้นไม่เป็นด้วย ที่ผ่านมา กกต.ถูกแทรกแซง ทำงานอยู่บนผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ กกต.ถูกฟ้องร้องหรือถูกดำเนินคดี สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือต้องกำหนดให้อำนาจการให้ใบเหลืองใบแดงกับผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งทั้งหมดไปอยู่ที่ศาลยุติธรรม เว้นแต่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ควรให้ กกต.เป็นผู้ให้ใบเหลืองใบแดงได้เลย 

     ขณะที่นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล สปช. เสนอว่า มีการพูดถึงนักการเมืองที่มักถูกมองว่าเลวร้าย หยาบคาย จึงควรเปลี่ยนคำว่า นักการเมืองเป็นนักพัฒนาประชาธิปไตย แทน

@ "สยุมพร"แนะตัดสิทธิตลอดชีวิต

      นายสยุมพร ลิ่มไทย สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น ได้ขึ้นอภิปรายเรื่องระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยมีข้อเสนอ ว่า 1.การป้องปรามเพื่อให้มีการกระทำการทุจริตซื้อเสียงน้อยลงเป็นเรื่องที่ทำได้ หากมีการทำอย่างจริงจังจากผู้เกี่ยวข้อง 2.การกำหนดโทษของผู้ที่กระทำความผิดในส่วนผู้ซื้อเสียงหรือผู้สมัคร อาจมีความจำเป็นที่จะต้องลงโทษอย่างรุนแรง การตัดสิทธิทางการเมือง 3-5 ปี อาจจะเบาไปเพราะจะกลับมาได้อีก ดังนั้นต้องตัดสิทธิตลอดชีวิต หัวคะแนนก็ต้องมีบทลงโทษ เห็นว่าการเลือกตั้งควรเป็นบทบาทขององค์กรกลางเพื่อจะไม่ถูกแทรกแซง หากให้ กกต.มาจัดการเลือกตั้งคงไม่ไหว เนื่องจากการเลือกตั้งมีอยู่ตลอดปี ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ 

     ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายว่า ควรรณรงค์ให้มีการต่อต้านผู้ที่ซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ให้มีที่ยืนในสังคมเหมือนกับผู้ที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งเหมือนกับไม่มีที่ยืนในสังคมเนื่องจากถูกสังคมรังเกียจ และควรตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของพ่อ แม่ ลูก เมีย หรือญาติๆของผู้ที่มีคดีทุจริตจากการซื้อสิทธิขายเสียงเพื่อป้องกันการเข้ามาทุจริตซ้ำซ้อน ต้องตัดวงจรอุบาทว์เหล่านี้ออกไป

@ สปช.เคาะแก้โกงลต.191ต่อ4 

      จากนั้นเวลา 18.45 น. หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น นายเทียนฉายได้แจ้งที่ประชุมว่า จากนี้ไปจะเจอความยากลำบากมาก เพราะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญประชุมทุกวัน สปช.ประชุมก็ชนทุกครั้ง และ กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะต้องทำงานหนักและยากลำบาก การจัดให้มีการอภิปรายทั่วไปในลักษณะนี้คงมีอีก 5 ตอน ซึ่งการปฏิรูปเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เมื่อปฏิรูปแล้วจะต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และ กมธ.ปฏิรูปทุกคณะจะต้องตอบคำถามเรื่องต่างๆ ออกมาให้ได้ 

       ไม่เช่นนั้นเราหลงป่าแน่นอน หากเราทำได้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องกังวลมากโดยให้เร่งประมวลความคิดเห็นให้เรียบร้อยภายในวันที่ 19 มกราคม จากนั้นเป็นการลงมติเห็นชอบส่งเรื่องให้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.ด้วยคะแนน 191 ต่อ 4 งดออกเสียง 5 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิก สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น ได้ขอหารือต่อที่ประชุมว่า ขอให้นายเทียนฉายประสานงานขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้สมาชิก สปช. ผู้ที่มีอยู่แล้วเพิ่มอีกหนึ่งขั้น ส่วนใครที่ยังไม่มีขอให้ได้สายสะพายเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เนื่องจากการทำหน้าที่ของ สปช.เป็นการเสียสละเพื่อประเทศชาติในการวางแนวทางปฏิรูปประเทศ แต่นายเทียนฉายขอให้ปิดประชุมเพื่องดการถ่ายทอดสดและนำเรื่องดังกล่าวมาหารือนอกรอบ จากนั้นสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 18.55 น.

@ "สมบัติ"ถกขับเคลื่อนปรองดอง

      เมื่อเวลา 14.00 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง เป็นประธานการประชุม กมธ.ปฏิรูปการเมือง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองของชาติ ร่วมกับหน่วยงานของ สนช. ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และ กมธ.ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง โดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า การสร้างความปรองดองจะต้องไม่เร่งรีบ ต้องทำอย่างต่อเนื่องแม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อมั่นว่าภายหลังจากมีการเลือกตั้ง คนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ซึ่งในส่วนของกระบวนการรับฟังความเห็นของภาคประชาชนควรระวังไม่ให้เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน

      พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผู้อำนวยการ ศปป.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศปป.วิเคราะห์ว่าการแก้ปัญหาประเทศจะต้องบูรณาการในหลายมิติ มียุทธศาสตร์ที่แน่นอน สอดรับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งควรให้ประชาชนทั้งหมดมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง มี 6 แผนงานที่จะดำเนินการ คือ 1.ด้านข้อมูลข่าวสาร มองว่าสื่อมีผลต่อประชาชน จะทำอย่างไรให้สื่อนำเสนอที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ 2.การป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ ดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร แล้วแก้ที่ต้นเหตุ โดยแกนนำและผู้นำชุมชนต้องลงพื้นที่เปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น 3.เปิดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน แยกเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์กับนักการเมืองและแกนนำ จะต้องไม่มีการชักนำ 4.การสร้างค่านิยมและจิตสำนึกเรื่องความสมัครสมานสามัคคี 5.การรับฟังผล จะเป็นการประเมินการทำงานของ ศปป. โดยประเมินจาก ศปป.แต่ละภาค และจากประชาชน และ 6.แผนงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงสถานที่ราชการ ทั้งนี้ ศปป.ได้ทำงานควบคู่กับสำนักงานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูป ไม่ได้ขึ้นกับ คสช.

@ "เอนก"ย้ำไม่นิรโทษสุ่มสี่สุ่มห้า

      ขณะที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวว่า เรื่องที่จะต้องทำคือ 1.การเขียนรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องความปรองดอง 2.เป็นคณะทำงานเรื่องความปรองดองของ สปช. สำหรับเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญเรื่องความปรองดองนั้นมี 3 เรื่อง คือ 1.กลไกในการเสริมสร้างความปรองดอง จะพยายามทำให้ได้ใน 4 ปี มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 3-5 คน คนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการต้องได้รับการรับรองจากอีก 2 ฝ่าย รวมเป็น 9-15 คน ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย เจรจา ปรองดอง หาข้อเท็จจริง เป็นต้น 2.เรื่องการนิรโทษกรรม ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้านิรโทษ ยืนยันว่าจะไม่นิรโทษให้คดีทุจริต คดี ม.112 และคดีอาญาร้ายแรง 3.การเขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้มีความเป็นธรรม ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของผู้ชนะ จะพยายามเขียนให้มีช่องให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งมีโอกาสเข้ามาทำงานให้กับบ้านเมือง 

@ เล็งหัวเชื้อของความขัดแย้ง

      ทั้งนี้ ช่วงสุดท้ายของการประชุม นายสมบัติกล่าวสรุปว่า 1.การทำงานเรื่องความปรองดองจะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน จะประสานงานกับคณะอนุ กมธ.ปฏิรูปการเรียนรู้การปรองดอง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 2.เพื่อให้การปรองดองเป็นรูปธรรม ได้ศึกษาแล้วว่าอยู่ที่ระดับหัวเชื้อของความขัดแย้ง ถ้าหัวเชื้อเข้าใจกัน โอกาสประสบความสำเร็จในเรื่องของความปรองดองจะมีมาก ภารกิจสำคัญคือต้องไปพูดคุยกับหัวเชื้อเหล่านั้นทั้งหมด เช่น ตัวแทนของพรรคการเมือง ตัวแทนของกลุ่มเคลื่อนไหว เป็นต้น แล้วนำข้อมูลมาหารือกัน

      จากนั้น เวลา 16.00 น. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช โฆษก กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน แถลงว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายเอนกเป็นตัวแทนของทั้ง 4 ฝ่าย คือ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สนช. และ ศปป. ในการประสานการทำงาน ศึกษาแนวทาง และดำเนินการต่างๆ

@ "พรเพชร"เซ็งสนช.จ้อถอดถอน 

      เมื่อเวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า รู้สึกไม่สบายใจที่สมาชิก สนช.หลายคนให้สัมภาษณ์กรณีการพิจารณาคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่เป็นทั้งความรู้สึกและความเห็นส่วนตัว เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการ สมาชิกจะแสดงความเห็นที่อคติหรือเข้าข้างบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ ยืนยันว่า สนช.ไม่ได้รับคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือผู้มีอำนาจมายุ่งเกี่ยวกับดุลพินิจการถอดถอน ความสัมพันธ์ระหว่าง สนช.กับ คสช.เป็นไปตามโรดแมปเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น ไม่ใช่การมาคอยรับคำสั่งใดๆ ไม่อยากให้เกิดแรงกดดันว่าการลงมติจะออกมาเป็นแบบไหน

     นายพรเพชร กล่าวถึงขั้นตอนการถอดถอนว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการซักถามคู่กรณี ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ที่จะต้องมาตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการซักถาม ส่วนคู่กรณีจะต้องมาตอบคำถามด้วยตัวเองหรือไม่ ได้เคยแจ้งในหลักการกับคู่กรณีไว้แล้วว่า ถ้าใครมาแถลงเปิดคดีแล้วก็ควรมาตอบคำถามเอง หากมาแถลงเปิดคดีเองแต่ไม่ยอมมาตอบคำถามตามหลักการถือว่าไม่ถูกต้อง คิดดูเองว่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในสิ่งที่พูดว่าบริสุทธิ์หรือมีความผิดอย่างไร และยังขัดต่อความรู้สึก หลักการของกฎหมายและลักษณะพยาน มีผลต่อความน่าเชื่อ 

@ ย้ำผู้ถูกกล่าวหาควรมาตอบเอง

      "ส่วนวันแถลงปิดคดีคู่กรณี (21-22 ม.ค.) จะมาหรือไม่มาก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะมากัน ทั้งนี้ กำหนดวันลงมติของ สนช.ที่จะถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ในวันที่ 23 มกราคมนี้เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ต้องดูว่าจะมีอุปสรรคหรือไม่ ถ้าเอามือปืนรับจ้างมาตอบแทนจะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร จะมาทำไมใครจะอยากฟัง จะไปรู้เรื่องอะไร และไม่มีความน่าเชื่อถือ" นายพรเพชรกล่าว

      เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจจะให้อดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวมาตอบแทนได้หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เอาเข้ามาได้ หากเรื่องใดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่แน่ใจก็อาจจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตอบแทน แต่ต้องขออนุญาตตนก่อนว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าแนวคำถามในคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช.กล่าวหาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวเกิดการทุจริตและความเสียหายแก่ประเทศ ก็คงถาม ป.ป.ช.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยับยั้งอย่างไร มีหลักฐานใดชี้ชัดว่าไม่มีการยับยั้ง ส่วนคำถามที่จะถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะถามว่าการที่ระบุว่าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แล้วตัวเลขขาดทุนมาได้อย่างไร เป็นเพียงการยกตัวอย่าง แต่จะถามนอกเหนือประเด็นที่กล่าวหาไม่ได้ เมื่อคู่กรณีตอบไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช.ว่าจะพิจารณาอย่างไร

@ "ทีมทนายปู"เลื่อนถกคดี 14 ม.ค.

     นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ผู้แทนคดีและทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงผลการประชุมของคณะที่ปรึกษากฎหมายและทีมทนายความเรื่องที่ สนช.นัดประชุมเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาตอบข้อซักถามของ กมธ.ในวันที่ 16 มกราคมนี้ ว่าที่ประชุมเห็นตรงกันว่าถ้อยแถลงการเปิดคดีของ ป.ป.ช. ไม่มีอะไรใหม่นอกเหนือไปจากรายงานของ ป.ป.ช.ที่มีอยู่ในมือของสมาชิก สนช.แล้ว และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงคัดค้าน โต้แย้งข้อกล่าวหาครบถ้วนทุกมิติ ประกอบกับที่ประชุม สนช.ยังมีข้อถกเถียงประเด็นตามข้อบังคับ ข้อที่ 154 ในวิธีและขั้นตอนการซักถามของ กมธ. ขณะนี้มีหลายกระแสความเห็นจาก สนช.ที่มีตำแหน่งเป็นวิป สนช. และสมาชิก สนช.ที่เป็น กมธ.ซักถาม ต่างให้ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการซักถามแตกต่างกันไป 

      นายนรวิชญ์ กล่าวว่า เพื่อให้เป็นที่ยุติ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรให้นำข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติดังกล่าวนำเรียนสอบถามต่อประธานสภา สนช.ก่อน โดยให้มีหนังสือถึงประธาน สนช.ในวันที่ 13 มกราคม และยังมีมติเลื่อนการประชุมของคณะที่ปรึกษากฎหมายและทีมทนายความออกไปเป็นวันที่ 14 มกราคม

@ "หม่อมปนัดดา"ตัวกลางเคลียร์

     กรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคม ถึงข้อเสนอที่จะให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้ง โดยกล่าวทำนองว่าแนวคิดใหม่ กกต.จะเป็นเพียงผู้กำกับดูแล เปรียบเหมือนนิทานจันทโครพ สปช.ท้ายสุดจะเหมือนนางโมราที่ยื่นดาบให้กับโจร และนายสมชัยเขียนลงเฟซบุ๊กวันถัดมาอีกว่า ฝ่ายที่ถูกเปรียบเทียบอาจร้อนรนด้วยคำพูดดังกล่าว เพราะเพียงต้องการสื่อสารเพื่อสะท้อนสิ่งที่เป็นจริง กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนั้น

    เมื่อเวลา 12.50 น. ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวกลางพูดคุยระหว่างนายสมชัย กับนายเรวัต เครือบุดดีมหาโชค ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) ถึงกรณีข้อความดังกล่าว การหารือใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง 

      นายสมชัย กล่าวหลังการพูดคุยว่า การพูดคุยวันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ ม.ล.ปนัดดาเชิญตนและตัวแทนกระทรวงมหาดไทย กรณีข้าราชการกระทรวงมหาดไทยไม่พอใจต่อการสัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทของ กกต.จัดการเลือกตั้ง การพูดคุยครั้งนี้จึงพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร ใครคือโจร ใครคือคนที่ คิดว่าเป็นปัญหาในการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม หลังการพูดคุยเห็นตรงกัน ข้อแรกคือปรารถนาจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นและบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้ได้นักการเมืองที่ดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง และเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน จะเป็นองค์กรใดก็ได้แต่ต้องทำให้การเลือกตั้งยุติธรรม 

@ ขอโทษขรก.มท.หลังปากไว

      นายสมชัยกล่าวต่อว่า ข้อที่สองที่เห็นตรงกันคือ การสื่อสารที่ส่งออกไป ขอชี้แจงว่าสิ่งที่ตนกล่าวไปทั้งหมดไม่ได้หมายความถึงข้าราชการประจำกระทรวงมหาดไทยที่เป็นโจร แต่หมายถึงนักการเมืองที่หากมีโอกาสเข้ามาควบคุมข้าราชการประจำนั้น หากเป็นนักการเมืองที่ทุจริตและมุ่งหมายใช้ข้าราชการประจำเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ในการเลือกตั้ง สิ่งนี้ต่างหากที่หมายถึงโจร ทั้งหมดที่พูดมาเป็นการพูดถึงอนาคตไม่รู้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่

      "เมื่อเราพูดคุยกันแล้ว ผมได้ขออภัยทางข้าราชการกระทรวงมหาดไทย คิดว่าข้อความเป็นปัญหาอาจเพราะเป็นข้อความที่สั้นไป บวกกับสื่อมวลชนนำเสนอในส่วนของข้อความที่สั้นแต่รุนแรง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หลังผมได้พูดคุยทางสหพันธ์ปลัดอำเภอฯพึงพอใจ และทางนั้นรับปากว่าจะไปสื่อสารกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทั้ง 5 แสนคน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เราเองก็ต้องพึ่งทางกระทรวงมหาดไทยช่วยเรื่องต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้ง เหมือนในอดีตที่ผ่านมา" นายสมชัยกล่าว

      ส่วนเรื่ององค์กรที่จะเข้ามาจัดการเลือกตั้งนั้น นายสมชัยกล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ กกต. แต่ สปช.ที่จะร่างรัฐธรรมนูญ กกต.และกระทรวงมหาดไทยพร้อมยอมรับหมด ไม่ว่าจะให้ กกต.ดูแลจัดการเลือกตั้งหรือจัดตั้งองค์กรใหม่ เพียงแต่ขอให้ สปช.ไตร่ตรองให้รอบคอบ คำนึงถึงผลดีในอนาคต อย่ามองสั้นๆ 

@ นำข้อเสนอสหพันธ์ฯไปศึกษา

     นายสมชัย กล่าวต่อว่า รู้สึกประทับใจที่ทางสหพันธ์ปลัดอำเภอฯไม่ได้ปรึกษาหารือเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำข้อเสนอทางออกของปัญหาการเลือกตั้งด้วย คือการเสนอกลไกที่เรียกว่ากรรมการหมู่บ้าน ที่อยู่ในขั้นของการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาที่จะส่งข้อเสนอนี้ไปยัง สนช.ถึงความเป็นไปได้ที่จะให้มีกรรมการหมู่บ้าน มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง ตนและ กกต.จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปศึกษา หากเห็นว่าเป็นประโยชน์จะผลักดันให้มีองค์กรกรรมการหมู่บ้านเกิดขึ้น

     ด้านนายเรวัต กล่าวว่า ขอขอบคุณนายสมชัยที่ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาข้าราชการมหาดไทยหลายคนยังเข้าใจผิด ขอให้กำลังใจนายสมชัยและ กกต.ทุกคนให้จัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม 

      เมื่อเวลา 10.15 น. ที่ห้องประชุมสำนักงาน กกต.อุดรธานี นายเฉลิมศักดิ์ อินทร์หา ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทนนายอำเภอโนนสะอาด ในฐานะประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (อุดรธานี) พร้อมสมาชิก เข้าพบนายพิเชษฐ์ คูหาทอง กกต.อุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือผ่านไปยังนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ขอให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ลาออกจากตำแหน่ง เพราะการพูดเปรียบเทียบของนายสมชัยสร้างความไม่สบายใจให้กับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แม้จะมีการกล่าวคำว่าขออภัยแล้ว แต่ไม่ใช่คำว่าขอโทษในสื่อต่างๆ ไม่ได้กล่าวขอโทษจากใจจริง

 

เปิดจุลสารรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป-คลุม 7 เรื่อง

 

 

      หมายเหตุ - เนื้อหาบางส่วนของจุลสารรัฐธรรมนูญปีที่ 1 ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2558 ฉบับปฏิรูปเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย ที่กำหนดสาระสำคัญในการปฏิรูปของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชน รับทราบถึงข้อมูลและสาระสำคัญเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น การกำหนดสาระสำคัญในการปฏิรูปของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ 7 เรื่อง ได้แก่

 

1.ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง

 

มีสาระหลัก 3 ด้าน คือ 1.ความเป็นพลเมืองด้านการเมือง ที่มีความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เริ่มต้นจากความเข้าใจในความเป็นอิสรชน มีจิตวิญญาณเสรีมิได้อยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด มีความรับผิดชอบในตนเอง พึ่งตนเอง พร้อมจะรับรู้รับฟังและเคารพต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย รักที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยความสมัครใจ ใส่ใจต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

 

2.ความเป็นพลเมืองด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่มีจิตสาธารณะและสมัครใจเข้าร่วมแก้ปัญหาของชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ พร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เลือกปฏิบัติ การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การประกอบสัมมาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตรับผิดชอบต่อสังคม รู้เท่าทันและมีดุลพินิจในการรับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสังคมยุคสารสนเทศ

 

3.เรื่องหน้าที่พลเมือง กำหนดให้ผู้เป็นพลเมืองไทยต้องมีหน้าที่สำคัญในการรับการศึกษา ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด มีหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม พิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย รับราชการทหาร ป้องกันประเทศ เสียภาษีอากรโดยสุจริต พิทักษ์ ปกป้องและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือราชการและรักษาผลประโยชน์ของชาติ 

 

2.สิทธิเสรีภาพของพลเมือง

 

รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปมีการเปลี่ยนแนวทางการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพใหม่ โดยรับรองสารัตถะของสิทธิเสรีภาพแทนที่จะเขียนในรายละเอียดที่นำไปสู่การตีความที่แคบ ทั้งนี้ จะแยกสิทธิเสรีภาพออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ (Basic Human Rights) ด้านหนึ่ง กับสิทธิเสรีภาพของความเป็นพลเมือง (Citizen's rights) 

 

ทั้งนี้ ยังกำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงาน ปฏิบัติงานโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีมาตรฐานและบรรทัดฐานการดำเนินงาน ขณะเดียวกันต้องมีหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้สามารถปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเป็นธรรม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ง่ายและมีความโปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่

 

มีการกำหนดแนวทางเชิงป้องกัน เพื่อจำกัดการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต เพื่อให้เกิดความพอดีและความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์สาธารณะ พร้อมกับวางหลักเกณฑ์ที่มีคุณค่าต่อการใช้สิทธิเสรีภาพด้วยความรับผิดชอบโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น 

 

เรื่องของเสรีภาพของพลเมือง มีหลักประกันที่ครอบคลุมเริ่มต้นจากเสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณาโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย เสรีภาพในการนับถือศาสนา นิกาย ลัทธิ ความเชื่อทางศาสนา และเสรีภาพในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตน 

 

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหพันธ์ สหองค์กร องค์กรเอกชน หรือหมู่คณะอื่น เสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เสรีภาพในการประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม 

 

3.การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง

 

สิทธิของพลเมืองในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ในการเสนอความคิดการสร้างชาติ สร้างชุมชนในอนาคตต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ และประโยชน์ของปัจเจกชนให้ได้สัดส่วนกัน พลเมืองต้องสามารถเข้าถึงการใช้อำนาจรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน 

 

การที่พลเมืองจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในด้านต่างๆ ได้นั้น กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยจะประกอบด้วย 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ การมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น การมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในการเข้าไปสู่กระบวนหารือกับภาครัฐ การมีส่วนร่วมในกระบวนการการตัดสินใจของภาครัฐ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผ่านกลไกด้านต่างๆ เช่น ผ่านองค์กรอิสระและการมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย โครงการ และนโยบายต่างๆ

 

4.การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของพลเมือง

 

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยเน้นการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงจากภาคประชาชนไปยังภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ เพิ่มกลไกในการตรวจสอบให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยเปิดช่องทางให้เข้าถึงได้ง่ายและทำได้จริง 

 

นอกจากนั้น ยังคำนึงถึงการใช้สิทธิของประชาชนในการฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ โดยขยายสิทธิของการฟ้องร้องให้เชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของประชาชนและภาคประชาสังคมที่จะมีบทบัญญัติเพื่อให้ประชาชน ชุมชนและภาคประชาสังคม สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการฟ้องคดีที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐในรูปแบบของนโยบายสาธารณะ โครงการทั้งหลาย โดยให้ประชาชนสามารถยกบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่ได้ให้การรับรองไว้ สามารถฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง 

 

5.การปฏิรูปการเงิน การคลัง และการงบประมาณ

 

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ มีเจตนารมณ์สำคัญในการดำรงรักษาวินัยทางการคลัง และสร้างกลไกการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยการกำหนดมาตรการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เข้มข้น ขณะเดียวกันกำหนดบทบัญญัติปรับระบบการเงินการคลังของรัฐ ให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในด้านการลดความเหลื่อมล้ำและการ กระจายอำนาจลงสู่พื้นที่และชุมชน ให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นด้วย

 

1.กำหนดให้การก่อหนี้ผูกพันและการใช้เงินแผ่นดิน ต้องทำเป็น พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ประกอบด้วยงบประมาณรายรับ และงบประมาณรายจ่าย (หรือ "ระบบงบประมาณสองขา") อีกทั้งให้มีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่วนราชการในการบริหารงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพื่อควบคุมให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยผ่านระบบงบประมาณเป็นหลัก

 

2.กำหนดให้นำเงินงบประมาณที่สภาผู้แทนราษฎรแปรญัตติปรับลด หรือ "งบแปรญัตติ" ไปไว้ในแผนงบประมาณส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่สามารถนำไปจัดสรรหรือใช้จ่ายในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่นักการเมืองหรือส่วนราชการใดๆ ได้โดยตรง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในกระบวนการบริหาร "งบแปรญัตติ" ของบรรดา ส.ส.และส่วนราชการต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเป็นประจำทุกปี

 

3.ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและการก่อหนี้ผูกพันของ ครม. ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

4.การจัดแบ่งประเภทภาษีและรายได้จากแหล่งรายได้อื่นๆ ระหว่างรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางการคลังระหว่างรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความเท่าเทียมทางการคลังระหว่างพื้นที่

 

5.การจัดระบบงบประมาณในเชิงพื้นที่ โดยยึดหลักการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่ไปกับงบประมาณฐานหน่วยงาน

 

6.ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

เพื่อให้ความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างประชาชน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงวางกลไกที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะและมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ 

 

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในฐานะของผู้กำหนดนโยบายและแผนบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องรับรู้ความต้องการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง มีข้อกำหนดในการจำกัดการใช้อำนาจทางการเมือง ในการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนในทางที่มิชอบ

 

ในส่วนของข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้นำนโยบายและแผนที่กำหนดไว้ไปสู่การปฏิบัติ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริตและมีความเป็นมืออาชีพ เพื่อให้บริการสาธารณะ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

 

7.การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

 

เมื่อพิจารณาวิวัฒนาการต่อเนื่องกันของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จะเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างประชาธิปไตยในระดับรากฐาน ดังนั้น การกระจายอำนาจที่ต่อเนื่องจะทำให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับการบริการสาธารณะที่ตรงตามความต้องการ และการแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น ทำได้โดยเร็ว ขณะที่ราชการส่วนกลางจะมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะเท่าที่จำเป็น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!