WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8812 ข่าวสดรายวัน


พท.ค้าน! ตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต '
บิ๊กตู่'ถกเอกชน ย้ำอย่าไปกังวล เรื่องถอดถอน สปช.จี้เทียนฉาย ขอเครื่องราชฯ 


หารือเอกชน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุมร่วมอย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทนภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ ที่บ้านรับรองเกษะโกมล เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 

      'บิ๊กตู่' ถกภาคเอกชนชื่นมื่น รับเร่งงบฯ ค้างท่อ เตือนนักธุรกิจไม่ต้องห่วงเรื่องถอดถอน สนช.ยื่นถามป.ป.ช. ถ้า'ขุนค้อน-นิคม'ผิดอาญา ทำไมไม่ฟันเอง'สมชาย วงศ์สวัสดิ์'มั่นใจ 'ปู'ชี้แจงได้ หวังมีรธน.เป็นที่ยอมรับ ภูมิธรรมจวกไอเดีย ตัดสิทธิ์ชั่วชีวิต เตือนนานาชาติรับไม่ได้ กมธ.เริ่มยกร่าง รายมาตราแล้ว เพิ่มอำนาจศาลรธน. ชี้ขาด ม.7 ด้านสมาชิกสปช. จี้"เทียนฉาย"ยื่นขอเครื่องราชฯ 

ปรับปรุงทำเนียบยังอืด
    เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากจัดงานวันเด็กแห่งชาติในทำเนียบฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ดอกกล้วยไม้ที่ประดับบริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและรอบๆ ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนัก นายกฯและปลัดสำนักนายกฯ ระบุจะนำมาประดับสถานที่ชั่วคราวเฉพาะโอกาสสำคัญเท่านั้น ยังไม่ถูกจัดเก็บ ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีบัญชา ให้เปิดพื้นที่ภายในทำเนียบเป็นตลาดนัดกล้วยไม้นั้น ยังอยู่ระหว่างหารือเรื่องสถานที่ วันและเวลาที่เหมาะสม 
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากกรณีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในทำเนียบฯ เริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. 2557 โดยคสช.อนุมัติงบประมาณ 252 ล้านบาท นำไปปรับปรุงทำเนียบฯ และบ้านพิษณุโลก ซึ่งในส่วนของทำเนียบฯ เป็นโครง การเร่งด่วนที่ต้องเสร็จภายใน 3 เดือน เริ่มจากเดือนก.ค.-ก.ย.2557 ผลการดำเนิน การเสร็จตามเป้าหมายเฉพาะตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการ 1 และตึกนารีสโมสร ส่วนตึกบัญชาการ 2 ล่าสุดเพิ่งปรับปรุงเสร็จ แต่ยังไม่อนุมัติให้ข้าราชการย้ายกลับมา โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสถานที่แจ้งว่าอยู่ระหว่างจัดหาเฟอร์ นิเจอร์โต๊ะ เก้าอี้ ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตอนขนย้ายของเก่าเกิดชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้จำนวนมาก นอกจากนั้นโรงอาหารใต้ตึกบัญชาการ 1 ที่ร้านค้าต้องย้ายไปตั้งเต็นท์จำหน่ายชั่วคราวด้านหน้าตึก สลน. ตั้งแต่เดือนส.ค. 2557 ก็ยังไม่สามารถกลับเข้าไปขายในที่เดิมได้

รัฐบาลยันเร่งรัดออกกม.อยู่
      นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) ว่า วิปรัฐบาลเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 5 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย ตำรวจ ทหาร รัฐสภา ครู ร้อยละ 4 และปรับเพดานให้สูงขึ้นร้อยละ 10 ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติตาม ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเสนอ เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาตามขั้นตอน และออกเป็นกฎหมายต่อไป โดยที่ประชุมมีข้อสังเกตว่าการปรับขึ้นเงินเดือนก.พ.ควรพิจารณาการปรับระบบเงินเดือนของข้าราช การทั้งระบบให้ยุติธรรมและเป็นธรรมมากขึ้นในอนาคต
      นายสุวพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ครม.ได้จัดลำดับความสำคัญของกฎหมายเอาไว้แล้วจะช่วยทำให้เดินได้ดีขึ้น แต่ถ้าเร่งรัดมากความรอบคอบก็จะไม่มี ดังนั้นต้องทำกฎหมายให้สมดุลทั้งความรวดเร็วและรอบคอบ โดยสัปดาห์นี้จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ... ที่จะเสนอเข้าสนช. รวมถึงสนช.จะทยอยพิจารณากฎหมายอีก 3-4 ฉบับ ในวาระ 2-3 ของสนช. 

สวนยางยื่นค้านพ.ร.บ.สวนป่า
     ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มสมัชชาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นำโดยนายสุนทร รักษ์รงค์ ตัวแทนสมัชชาฯ เข้ายื่นหนังสือขอให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรม นูญชั่วคราว พ.ศ.2557 พิจารณายกเลิกพ.ร.บ. สวนป่า พ.ศ.2535 ซึ่งมีผลทำให้การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวใน สนช. ยุติลงทันที โดยมีนายสาธิต สุทธิเสริม นิติกรชำนาญการ ศูนย์บริการประชาชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง
     นายสุนทร กล่าวว่า พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไข ยังมีข้อผิดพลาดหลายด้านโดยเฉพาะการบรรจุไม้ยางพารา ในบัญชีท้ายพ.ร.บ.สวนป่า 2535 ฉบับแก้ไข โดยไม่ขอความเห็นจากเกษตรกรชาวสวนยาง หากประกาศใช้จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจแสวงหาผลประโยชน์จากชาวสวนยาง และไม่มีหลักเกณฑ์ตรวจสอบที่ชัดเจน และซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวสวนยาง จึงขอให้ยุติการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวทันที หากมีการ เสนอพ.ร.บ.สวนป่าเข้าพิจารณาในสนช. เกษตรกร ชาวสวนยางทั่วประเทศจะรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ส่วนเรื่องราคายางยังคงยืนยันในข้อเสนอของชาวสวนยางที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม 
       "พล.อ.ประยุทธ์ให้ผมรวบรวมชาวสวนยางเป็นปึกแผ่นแล้วจะมาคุยด้วย วันนี้ผมรวบรวมมาแล้วแต่ไม่เห็นท่านเลย ผมมายื่นหนังสือ ผมแจ้งล่วงหน้า ช่วยรักษาคำพูดหน่อย ขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกพ.ร.บ.สวนป่า หากยังนิ่งเฉยไม่ทำอะไร อย่าให้พวกเราต้องลุกขึ้นก่อสงครามประชาชน" นายสุนทรกล่าว

ครม.เล็งอนุมัติเวนคืนผุดรถไฟฟ้า
       รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 13 ม.ค.นี้มีวาระเพื่อพิจารณาหลายเรื่องตามที่กระทรวงต่างๆ เสนอ อาทิ กระทรวงคมนาคมเสนอร่างพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ในท้องที่ อ.บางบัวทอง บางใหญ่ เมือง นนทบุรี จ.นนทบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพ มหานคร พ.ศ... และขออนุมัติหลักเกณฑ์ การคำนวณเงินชดเชยค่างานก่อสร้างโครงการ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ อีกทั้งจะเสนอร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน และร่างพ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ รวม 4 ฉบับ 
     กระทรวงการคลังจะเสนอขออนุมัติยกเลิกการก่อสร้างอาคารคลังเก็บใบยา ต่างประเทศ และอาคารศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ของโรงงานยาสูบ
     กระทรวงพลังงานจะเสนอร่างกฎกระ ทรวงว่าด้วยการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและผู้ถือหนังสือ เดินทางราชการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ 
      สำนักเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ.... ขณะที่สำนักงานก.พ. จะเสนอร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่...) พ.ศ.... นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจะรายงานโครงการพัฒนาศักยภาพการปราบปรามยาเสพติดประเทศเพื่อนบ้าน 

'บิ๊กตู่'นำทีมถกภาคเอกชน
      ที่บ้านพักรับรองเกษะโกมล ถนนเศรษฐ ศิริ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เชิญตัวแทนองค์กรภาคเอกชน 25 ราย อาทิ ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย หารือปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ ทั้งธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และราคาสินค้า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงรับฟังผลกระทบกรณีกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ตัดสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือ จีเอสพี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา
    รายงานข่าวระบุว่า ทางภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอขณะนี้ ด้วยการให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ งบที่ค้างท่อ งบซ่อมบำรุงและงบก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงให้ชะลอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมร้อยละ 7 เพิ่มเป็น ร้อยละ 8-10 ขณะที่รัฐบาลขอให้ภาคธุรกิจปรับลดราคาสินค้า เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและในประเทศปรับตัวลดลง
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยนั่งในลักษณะวงกลม ก่อนหารือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบแจกันดอกไม้อวยพรปีใหม่ พร้อมยืนยันยินดีสนับสนุนแนวทางรัฐบาล ส่วนพล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณที่ทุกฝ่ายให้กำลังใจ โดยการหารือใช้เวลา 4 ชั่วโมง และมอบให้ตัวแทนภาคธุรกิจเป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด 

บอกนักธุรกิจไม่ต้องห่วง'ถอดถอน'
     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่มาชี้แจงเองเพราะอยากให้ภาคธุรกิจชี้แจง สื่อจะได้เข้าใจเพราะหลายเรื่องมโนไปเอง ซึ่งในการพูดคุย ภาคธุรกิจเสนอหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่รัฐบาลขับเคลื่อนแล้ว มีเพียงบางอย่างที่ต้องปรับเพิ่ม เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ แม้เงินจะลงไปทั้งหมดแล้วแต่อาจติดค้างในระดับจังหวัดหรือหน่วยภาคปฏิบัติเพราะมีบางส่วนวิตกเรื่องทุจริต ทั้งนี้ นายกฯขอให้ภาคธุรกิจช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นกับภาคธุรกิจด้วยกันเอง ซึ่งดีกว่าให้รัฐบาลเป็น ผู้พูด
      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ทุกคนห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจแต่รัฐบาลทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้นายกฯยังฝากภาคธุรกิจด้วยว่าอย่าคิดหรือกังวลเรื่องการเมือง อยากให้มองในเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งการเมืองก็สำคัญ แต่ไม่อยากให้มองเฉพาะกรณีถอดถอน ขณะเดียวกันนายกฯขอให้ฝ่ายธุรกิจช่วยประสานสื่อว่าช่วงนี้ละเอียดอ่อนและสำคัญ จึงต้องเสนอข่าวอย่างรอบคอบและระมัดระวัง อย่าชี้นำ ซึ่งอยากให้สังคมตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าที่มีการร้องถอดถอนในขณะนี้ร้องประเด็นอะไร และฝ่ายที่ตอบคำถามนั้นตอบตรงหรือไม่ หากตอบตรง สนช.ก็เทคะแนนให้ แต่ถ้าไม่ตรงก็เทคะแนนให้อีกฝั่ง อยากให้ดูการทำงานของแต่ละฝ่าย 

ไก่อู ยันภาคธุรกิจพอใจอัยการศึก
     เมื่อถามว่าภาคธุรกิจเป็นห่วงบรรยากาศทางการเมืองอย่างไรบ้าง พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า หลังจากฝ่ายความมั่นคงดูแลความสงบเรียบร้อย มีทิศทางชัดเจนว่าสงบ ทำให้ภาคธุรกิจเกิดความมั่นใจมากพอสมควร ส่วนการปฏิรูปการเมือง นายกฯเน้นย้ำว่าการปฏิรูปในทุกเรื่องของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ทุกอย่างเดินตามโรดแม็ป ซึ่งนายกฯยืนยันว่าไม่ต้องการเอนเอียงไปด้านหนึ่งด้านใด แต่ทำความจริงให้เป็นความจริง ขอให้มีความมั่นใจ
     เมื่อถามว่า ภาคธุรกิจไม่ได้ขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ได้พูดถึง แต่มองในทิศทางตรงกันข้าม อย่างกลุ่มท่องเที่ยวระบุว่าการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าที่มีกลุ่มนักช็อปปิ้งที่มีวงเงินสูง มีการเติบโตมากและนักท่องเที่ยวที่มากทม. ต่างจังหวัดและเมืองสำคัญ รู้สึกสบายใจว่าปลอดภัย ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ความปลอดภัยถือเป็นตัวชี้นำว่าการท่องเที่ยวจะดีขึ้น ไม่ใช่ข้อกฎหมายหรือกฎอัยการศึก


เคลียร์แล้ว - ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.สำนักนายกฯเคลียร์ปัญหาขัดแย้งระหว่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.กับนายเรวัติ เครือบุดดีมหาโชค ประธานสมาพันธ์ปลัดอำเภอฯ โดยนายสมชัยยอมขอโทษที่พูดว่ายื่นดาบให้โจร หากให้มหาดไทยจัดเลือกตั้งแทนกกต.

      "สิ่งที่นายกฯห่วงมากสุดคือการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยถามกลุ่มนักธุรกิจว่ามีความเห็นอย่างไร ตรงกับสิ่งที่รัฐบาลทำหรือไม่ ซึ่งมุมมองในภาพรวมทุกฝ่ายมีความมั่นใจ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ส่วนทิศทางการเมืองจากนี้จะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย การมีเสถียรภาพต้องร่วมมือกันทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชน" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว

เดอะมอลล์ฟุ้งพารากอนโตขึ้น
     ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯรับปากจะดูแลในทุกเรื่อง และสั่งการโดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงไป ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ต้องกำชับครม.ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และ สั่งการให้เตรียมพร้อมในส่วนของคณะกรรมการการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนระดับจังหวัดซึ่งเป็นกลไกสำคัญ นอกจากนี้ นายกฯยังรับปากจะดูแลพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว
      นางศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงการมีกฎอัยการศึกว่า เรื่องนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่ ปีนี้พารากอนโตขึ้น ร้อยละ 25 หมายความว่านักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย ซึ่งปีนี้ไปจ.ภูเก็ต หรือเกาะสมุย ไม่สามารถหาตั๋วเครื่องบินได้เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และการที่ทหารเข้าควบคุม นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย แต่ที่นักท่องเที่ยวรู้สึกไม่ปลอดภัยคือจะตีกันอีกหรือไม่ ตรงนี้คือสิ่งที่เขากลัว เขาไม่ได้คิดเรื่องกฎอัยการศึก ตนได้ไปดูงานที่ต่างประเทศก็มีนักลงทุนระดับโลกอย่างเจ้าของคริสเตียนดิออร์ เขาบอกว่าไม่ได้กลัวเรื่องกฎอัยการศึก

หอการค้าห่วงงบฯค้างท่อ
       นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการหารือว่า เอกชนเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวเกิดจากเศรษฐกิจโลกและต้องการภาครัฐเร่งเบิกจ่ายโครงการของภาครัฐที่ค้างท่ออยู่ พร้อมให้กำลังใจการทำงานของรัฐบาล เอกชนพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและควรจัดโซนนิ่งการ เพาะปลูกและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร รวมทั้งเดินหน้าการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเข้มข้น
     นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เราเผชิญอยู่คือการสนับสนุนเอสเอ็มอี ซึ่ง นายกฯจะลงมาดูและแก้กรอบการทำงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ของเอสเอ็มอี ซึ่งในภาพรวมก็พอใจการทำงานของรัฐบาล

ผู้ส่งออกจี้เร่งระบายข้าว
      นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า นายกฯดำเนินการต่างๆ มากพอสมควร ขณะนี้พบว่าสถานะของธนาคารไทยมีความมั่นคงและพร้อมผลักดันเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งที่เราต้องการคือให้ภาครัฐออกกฎหมายหลักประกันธุรกิจที่มีการผลักดันมานานถึง 17 ปี คาดว่าจะสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ นอกจากนี้ยังพูดถึงการออกกกฎหมาย อื่นๆ ที่จะช่วยผลักดันด้านการค้าและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า
      ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันการระบายข้าวในโกดังรัฐบาลที่มีกว่า 17 ล้านตันให้เร็วที่สุด ให้เริ่มเห็นผลใน 1-2 เดือนนี้ เน้นทั้งการระบายเพื่อใช้ในประเทศและต่างประเทศ และมองว่าปีนี้การแข่งขันในตลาดข้าวจะรุนแรงมากขึ้นแม้ข้าวไทยจะราคาลดต่ำลงแต่ถือว่าสูงกว่าข้าวจากประเทศคู่แข่ง จึงต้องวางแผนการระบายข้าวอย่างรอบคอบเพื่อรักษาตลาดไว้และในระยะยาวภาครัฐต้องจริงจังกับนโยบายการโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก

กิตติรัตน์แนะปล่อยเงินอ่อน
      วันเดียวกันนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่เศรษฐกิจเกิดชะลอตัว และการจับจ่ายใช้สอยเริ่มฝืดเคือง ว่า เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก เช่น ภาคครัวเรือนระวังเรื่องการจับจ่าย รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่เลื่อนออกไป เพราะความไม่แน่ใจเรื่องสภาวะเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยภายนอกเกิดจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว และการส่งออกแข่งขันสูงขึ้น การท่องเที่ยวที่เติบโตติดลบเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และสภาวะทางการเมืองในประเทศ 
     นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องมาตรการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาท ให้ดูแลให้เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่ไม่ได้บอกให้ไปแทรกแซงจนบิดเบือนกลไกตลาด อีกทั้งสภาวะที่ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับ ตัวลง หากเราดูแลค่าเงินให้อ่อนตัวลงจะไม่กระทบกับราคาพลังงานเมื่อแปลงมาเป็นเงินบาทมากนัก และยังช่วยผู้ส่งออกให้ส่งออกได้มากขึ้น ต้องเตรียมคณะทำงานภายในประเทศพร้อมที่สุดเมื่อสภาวะการเมืองกลับ สู่สังคมประชาธิปไตยจะสามารถบรรลุข้อ ตกลงเอฟทีเอกับยุโรปได้ทันที 

ชงฟื้นจำนำข้าวปลุกเศรษฐกิจ
     นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและความชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรบริหารสภาวะเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย พี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาที่มีกว่า 4 ล้านครอบครัว การดูแลเรื่องสินค้าเกษตรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือชาวนาหรือเกษตรกร แต่ต้องดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนเหมาะสม และหากนำนโยบายจำนำข้าวเปลือกหรือที่พยายามจะเรียกว่า "สินเชื่อชะลอการขาย" โดยหลักการและวัตถุประสงค์ เหมือนกับนโยบายจำนำข้าว ไปสานต่อนั้นตนไม่ขัดข้องเพราะถือเป็นการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาและยังขอให้กำลังใจรัฐบาลเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป เพราะถือเป็นนโยบายที่ดีมีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาไม่ต่างกัน

ปนัดดากาวใจ'สมชัย-มท.'
     ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และปลัดสำนัก นายกฯ เชิญนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. และนายเรวัติ เครือบุดดีมหาโชค ประธานสมาพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย มาทำ ความเข้าใจถึงกรณีนายสมชัยแสดงความ คิดเห็นเรื่องการให้กระทรวงมหาดไทยจัด การเลือกตั้ง เปรียบเหมือนยื่นดาบให้โจร จนสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้น โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 30 นาที
       จากนั้นแถลงผลหารือร่วมกัน โดยนาย สมชัยกล่าวว่า ข่าวที่ออกไปทำให้ข้าราชการและชาวมหาดไทยไม่พอใจ จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร สิ่งที่เห็นตรงกันทั้งสองฝ่ายคือ 1.ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งที่ดีบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม 2.ในแง่การสื่อสารที่ออกไปนั้น ได้ชี้แจงกับตัวแทนสมาพันธ์ว่าที่บอกว่าเป็นโจรไม่ได้หมายถึงข้าราชการกระทรวงมหาดไทยหรือข้าราชการประจำ แต่หมายถึงนักการเมือง ถ้าเป็นนักการเมืองที่ดีนั่นไม่ใช่โจร แต่ถ้าเป็นนักการเมืองที่ทุจริต มุ่งหวังใช้ข้าราชการประจำเป็นเครื่องมือให้เป็นผลสำเร็จตามที่เขาต้องการ ตรงนี้คือความหมาย ซึ่งพูดถึงอนาคตข้างหน้าที่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่

สมชัย อ้างพูดสั้นไปทำเข้าใจผิด
      "เมื่อสื่อสารเข้าใจตรงกันแล้ว ผมได้ขออภัยข้าราชการกระทรวงมหาดไทยว่าอาจพูดสั้นเกินไป หรือการนำเสนอของสื่อนั้นอาจใช้ข้อความที่สั้นแต่ดูรุนแรง ทำให้สังคมเข้าใจผิด เมื่อคุยกันแล้วตัวแทนสมาพันธ์ก็เข้าใจและพอใจในคำชี้แจง ผมขออภัยที่อาจสื่อสารผิดพลาด"นายสมชัยกล่าว
      นายเรวัติกล่าวว่า จะนำข้อเท็จจริงที่พูดคุยไปชี้แจงชาวมหาดไทยอีกครั้งให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอให้กำลังใจนายสมชัยและกกต.จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ส่วนการทำงานเรายึดระเบียบกฎหมายให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น 
      ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เคยแสดงความเห็นถึงความสามารถในการจัดการเลือกตั้งของกระทรวงมหาดไทยทำให้ข้าราชการบางส่วนไม่พอใจว่า ยังไม่เห็นคนใดมาบอกว่าไม่พอใจ ข้าราชการมหาดไทยทั้งหมดเป็นคนดี ถ้ามีใครไม่ดีหรือทำอะไรผิดก็ว่ากันตามกฎระเบียบ

ปลัดอำเภอบี้อีก-จี้'สมชัย'ลาออก 
      ที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดอุดรธานี นายเฉลิมศักดิ์ อินทร์หา ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนปลัดอำเภอมายื่นหนังสือแก่ประธานกกต.อุดรธานี เพื่อให้นายสมชัย ออกมาขอโทษหรือลาออก โดยมีนายพิเชษฐ์ คูหาทอง กกต.อุดรธานี พร้อมคณะกรรมการ มาร่วมหารือ
      นายเฉลิมศักดิ์ เปิดเผยว่า ทางสหพันธ์ปลัดอำเภอฯ เห็นว่านายสมชัยไม่ได้ขอโทษจาก ใจจริง เป็นเพียงขออภัยให้ผ่านไปเท่านั้น ทางสหพันธ์ขอชี้แจงว่า 1.คนมหาดไทย โดยเฉพาะจังหวัด อำเภอ ไม่เคยร้องขอที่จะจัดการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว 2.การจัดการเลือกตั้งทุกครั้งพวกเราต้องปะทะกับปัจจัยหลายประการ แต่เราจริงใจที่จะจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม 3.หากไม่ดำเนินการ กกต.ก็อ้างว่าไม่ให้ความร่วมมือ นำระเบียบกฎหมาย ทางวินัยทางอาญามาอ้าง ตอนนี้คนมหาดไทยโดยเฉพาะที่จ.อุดรธานี หมดความอดทนกับนายสมชัยแล้ว เพราะคำพูดที่ไม่ระวังปากได้ทำร้ายความรู้สึก จึงขอให้พิจารณาตัวเอง เพราะตั้งแต่เข้ามาทำงานเลือกตั้งไม่เคยประสบความสำเร็จ ยืนยันในอนาคตถ้ามีการเลือกตั้งก็พร้อมร่วมมือกับกกต.เหมือนเดิม และเราจะนำข้อเสนอหรือหนังสือยื่นวันนี้ นำไปเสนอประธานกกต. ที่กรุงเทพฯต่อไป

สปช.รุมจวก'กกต.'
     ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุมสปช. ในวาระการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสปช. เรื่องระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยนายประชา เตรัตน์ สมาชิกสปช. อภิปรายว่า ต้องให้กกต.ยกเลิกการจัดการเลือกตั้งเพราะการจัดการและการตรวจสอบถ้าอยู่ในคนคนเดียวกัน แล้วใครจับผิดตัวเอง จึงเสนอให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เป็นฝ่ายจัดเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาของกกต.ก็อาศัยกระทรวงมหาดไทยอยู่ดี 
      นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. อภิปรายว่า การทุจริตเลือกตั้ง ต้นตอมาจากนักการเมืองซื้อเสียง ที่ผ่านมา กกต.ถูกแทรกแซง ถูกฟ้องร้องหรือถูกดำเนินคดี จึงเห็นว่าสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด คือกำหนดให้อำนาจการให้ใบเหลือง ใบแดง กับผู้ทุจริตการเลือกตั้งทั้งหมดไปอยู่ที่ศาลยุติธรรม เว้นแต่เรื่องเฉพาะหน้า ควรให้กกต.เป็นผู้ให้ใบเหลือง ใบแดงได้เลย


อวยพร - บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยเข้าพบนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เพื่ออวยพรปีใหม่ ที่บ้านพักภายในหมู่บ้านเบเวอร์ลี่ย์ฮิลล์ ย่านแจ้งวัฒนะ กทม. เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 

รวมความเห็นส่งกมธ.
    นายสยุมพร ลิ่มไทย สปช. อภิปรายว่า ตนขอเสนอให้กำหนดโทษของผู้กระทำผิด ในส่วนผู้ซื้อเสียงหรือผู้สมัครอาจจำเป็นต้องลงโทษอย่างรุนแรง การตัดสิทธิการเมือง 3-5 ปี เบาไปเพราะจะกลับมาได้อีก ดังนั้นต้องตัดสิทธิตลอดชีวิต และหัวคะแนนต้องมีบทลงโทษ เอาตัวออกมาจากพื้นที่ เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ โดยให้มาประจำ ส่วนกลาง 
     ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตวานิช สปช.ในฐานะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า การแสดงความคิดเห็นของสปช.ครั้งนี้ กมธ.ยกร่างรัฐ ธรรมนูญไม่ได้เข้าร่วมรับฟังด้วย จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อคิดเห็นของสมาชิกทั้งหมด เพื่อให้กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คนรับทราบด้วย 

สปช.เสนอขอเครื่องราชฯ
     หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น นายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่า การจัดอภิปรายทั่วไปในลักษณะนี้คงมีอีก 5 ตอน ซึ่งการปฏิรูปการเลือกตั้ง เมื่อปฏิรูปแล้วต้องทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม และกมธ.ปฏิรูปทุกคณะต้องตอบคำถามเรื่องต่างๆ ให้ได้ ไม่เช่นนั้นเราหลงป่าแน่นอน หากเราทำได้ กมธ.ยกร่างฯก็ไม่ต้องกังวลมาก หากกมธ.ยกร่างฯจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทัน เราจะยิ่งยุ่งกันใหญ่ ดังนั้นกมธ.ปฏิรูปต้องเร่งประมวลความคิดเห็นให้เรียบร้อยภายในวันที่ 19 ม.ค. เพื่อให้กมธ.รยกร่างฯไม่ต้องกังวลมากนัก และใส่ใจเฉพาะเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นเป็นการลงมติเห็นชอบส่งเรื่องให้กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ด้วยคะแนน 191 ต่อ 4 งดออกเสียง 5 
       ด้านนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิก สปช. ขอหารือต่อที่ประชุม ว่า ขอให้นายเทียนฉายช่วยประสานทำเรื่องขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้สมาชิกสปช. โดยผู้ที่มีอยู่แล้วเพิ่มอีกหนึ่งขั้น ส่วนใครที่ยังไม่มี ขอให้ได้สายสะพายเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เนื่องจากการทำหน้าที่ของสปช. เสียสละเพื่อประเทศชาติ วางแนวทางปฏิรูปประเทศ แต่นายเทียนฉายขอให้ปิดประชุมเพื่องดการถ่ายทอดสดและนำเรื่องดังกล่าวหารือนอกรอบ จากนั้นสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 18.55 น.

มอบ"เอนก"ประสานปรองดอง
      ที่ห้องประชุม 220 อาคารรัฐสภา 2 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน การสร้างความปรองดองของชาติ ร่วมกับหน่วยงานของสนช. ศูนย์ปรองดองสมาน ฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และกมธ.ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง 
      จากนั้นเวลา 16.00 น. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช โฆษกกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน แถลงว่า ที่ประชุมสรุปให้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. เป็นตัวแทนของทั้ง 4 ฝ่าย คือ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สนช. และศปป. ประสานการทำงาน ศึกษาแนวทางและดำเนินการต่างๆ

กมธ.เริ่มร่างรธน.รายมาตรา
      เมื่อเวลา 09.30 น. คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเป็นครั้งแรก โดยในช่วงเช้าพิจารณามาตรา 1-7 จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณา หมวดพระมหากษัตริย์ ที่มีทั้งสิ้น 18 มาตรา ซึ่งไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ ถัดมาพิจารณา หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ว่าด้วยความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราวันแรกนั้น ที่ประชุมใช้เวลาการพิจารณา 8 ชั่วโมง พิจารณาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไปได้ทั้งสิ้น 27 มาตรา ในบททั่วไป หมวด 1 พระมหากษัตริย์, หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง และมีที่แขวนไว้ 2 มาตรา เพื่อรอลงมติในภายหลัง ในส่วนความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปลูกฝังความเป็นพลเมืองให้ประชาชนและประเด็นการตอบแทนของพลเมืองที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ในรูปแบบของเครื่องหมาย, เครื่องแบบ หรือเครื่องประดับที่แสดงเกียรติคุณ หรือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทั้งนี้ในวันที่ 13 ม.ค. ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง 36 มาตรา

เพิ่มวรรคสองมาตรา 7
       ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมา ธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงรายงานความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเป็นวันแรกว่า ช่วงวันที่ 12-16 ม.ค. กมธ.ยกร่างฯวางกรอบพิจารณาบททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน และภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง เฉพาะหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวม 89 มาตรา ตั้งเป้าจะพิจารณาเฉลี่ยให้ได้วันละ 18 มาตรา ซึ่งวันนี้พิจารณาบททั่วไป 7 มาตรา ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ 18 มาตรา รวม 25 มาตรา 
     นายคำนูณ กล่าวว่า ผลการพิจารณาชื่อร่างใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" และตั้งแต่บททั่วไป มาตรา 1-6 ไม่มีการแก้ไขถ้อยคำ ยกเว้นมาตรา 7 จากเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีแค่วรรคหนึ่ง ระบุว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำการหรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิป ไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดยกมธ.ยกร่างฯ ได้เพิ่มวรรคสอง ระบุว่า "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีและเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด" 

ให้อำนาจศาลรธน.ชี้ขาดม.7
     โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเพิ่มวรรคสองในมาตรา 7 เนื่องจากมีการนำมาตรา 7 มาแอบอ้างในหลายรูปแบบและส่งผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง จึงจำเป็นต้องเปิดช่องทางให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมาทำหน้าที่ตัดสินและให้ได้ข้อยุติ เพื่อไม่ให้กระทบหรือนำสถาบันมาแอบอ้างอีก
      เมื่อถามว่าการที่เพิ่มวรรคสอง จะปิดทางเสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเพราะยังมีประเด็นปัญหาที่นอกเหนือจากนายกฯ มาตรา 7 เช่น ก่อนมีรัฐประหารก็เคยมีปัญหาว่ารัฐสภาจะเปิดประชุมได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนายกฯ มาตรา 7 น่าจะจบลงตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2549 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครอง สูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ว่า มาตรา 7 ไม่เคยมีการปฏิบัติตามประเพณีการปกครองที่ผ่านมา
     เมื่อถามว่า กรณีที่เคยมีกลุ่มคนประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่มีปัญหา และต้องเดินหน้าตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การที่คนมีมุมมองต่างกัน มันต้องมีองค์กรวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งตามกฎหมายเดิมระบุแล้วว่าให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและผูกพันทุกองค์กร

"พรเพชร"หนักใจปากสนช.
     วันเดียวกัน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ตนไม่สบายใจที่สมาชิก สนช.หลายคนให้สัมภาษณ์กรณีการพิจารณาคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัว เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการสมาชิกจะแสดงความเห็น ที่อคติหรือเข้าข้างบุคคลใดไม่ได้ ยืนยันว่า สนช.ไม่ได้รับคำสั่งจากคสช. หรือผู้มีอำนาจ จะมายุ่งเกี่ยวกับดุลยพินิจ สนช.ในการถอดถอน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง สนช. และ คสช. เป็นไปตามโรดแม็ปการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่มาคอยรับคำสั่งใดๆ ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดแรงกดดันว่าการลงมติจะออกมาแบบไหน
     นายพรเพชร กล่าวถึงขั้นตอนการถอดถอน ว่า ในสัปดาห์นี้จะซักถามคู่กรณีทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมศักดิ์ และนายนิคม ที่จะต้องมาตอบคำถามต่อกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถาม ทั้งนี้ เคยแจ้งคู่กรณีแล้วว่าถ้าใครมาแถลงเปิดคดีก็ควรมาตอบคำถามเองด้วย ส่วนวันแถลงปิดคดีคู่กรณีจะมาหรือไม่มาก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะมากัน เบื้องต้นกำหนดวันลงมติในวันที่ 23 ม.ค. แต่ต้องรอดูว่าจะมีอุปสรรคหรือไม่ ถ้าเอามือปืนรับจ้างมาตอบแทนจะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ใครจะอยากฟัง จะรู้เรื่องอะไรและไม่มีความน่าเชื่อถือ ส่วนการถามจะถามนอกเหนือประเด็นที่กล่าวหาไม่ได้ และเมื่อคู่กรณีตอบไปแล้วขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ สนช.ว่าจะพิจารณาอย่างไร 

สนช.ถามปปช."ยื่นมาทำไม"

      ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สมาชิกสนช. อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นพ. เจตน์ ศิรธรานนท์ นายสมชาย แสวงการ นายประมุท สูตะบุตร และพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต ได้ส่งคำถามคู่กรณี คือคณะกรรมการป.ป.ช. ที่กล่าวหา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภากับนายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.มิชอบ ต่อกมธ.ซักถามแล้ว โดยมีคำถามที่น่าสนใจในสำนวนถอดถอนของ 2 อดีตประธานต่อคณะกรรมการป.ป.ช. โดยเฉพาะจากสนช.สายทหาร เช่น เมื่อพบว่ามีการปลอมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ได้ดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 265 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ หากไม่ทำแล้วทำไมป.ป.ช.จึงไม่ดำเนินการทางอาญา และทำไม ป.ป.ช.จึงส่งสำนวนถอดถอนมาให้สนช.พิจารณาระหว่างที่ประเทศต้องการความสามัคคี และการถอดถอนจะส่งผลต่อกระบวนการสร้างปรองดองและการปฏิรูปประเทศหรือไม่ 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ซักถามชุดนี้ จะประชุมครั้งแรกในวันที่ 13 ม.ค. เวลา 11.00 น. เพื่อพิจารณารวบรวมจัดหมวดหมู่ประเด็นคำถามที่ได้รับจากสมาชิกสนช. ก่อนนัดคู่กรณีมาซักถามในวันที่ 15 ม.ค. นี้ ส่วนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ สมาชิกสนช.ยังยื่นคำถามได้ถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 13 ม.ค. ซึ่ง คกมธ. ซักถามคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นคนละชุดกับคดีนายนิคมและนายสมศักดิ์ ได้นัดประชุมครั้งแรกเวลา 14.00 น. ในวันที่ 13 ม.ค. ก่อนนัดคู่กรณีมาซักถามในวันที่ 16 ม.ค.

พท.อวยพรปีใหม่"สมชาย-เจ๊แดง"
     ที่หมู่บ้านเบอเวอร์ลีย์ฮิลล์ แจ้งวัฒนะ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และนาง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดบ้านพัก ให้แกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทยเข้าอวยพรปีใหม่ โดยมีแกนนำและผู้บริหารพรรค มามอบกระเช้าดอกไม้อวยพร อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ แกนนำภาค กทม. นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพิชิต ชื่นบาน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรค รวมทั้งอดีตส.ส.ภาคต่างๆ โดยนายสมชายต้อนรับสมาชิกพรรคที่ร้านกาแฟ คอฟฟี่ เฮ้าส์ 1997 ซึ่งเป็นร้านกาแฟของ ตัวเองที่เปิดขึ้นภายในหมู่บ้าน 
      จากนั้นนายสมชาย ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างการพักผ่อน ไม่พยายามให้กระทบกับการเมืองและกฎเกณฑ์ต่างๆ ตนเป็นคนอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา รอให้บ้านเมืองคืนสภาวะที่พูดคุยได้ ตนไม่ได้ทิ้งบ้านเมือง ไม่ได้ทิ้งประชาชน แต่ตอนนี้เป็นหน้าที่ของผู้ที่เข้ามารับผิดชอบบ้านเมืองจะทำหน้าที่ไป 

สมชายหวังรธน.เป็นที่ยอมรับ
       นายสมชาย กล่าวต่อว่า อยากฝากถึงผู้ที่กำลังทำรัฐธรรมนูญใหม่ว่าทำอย่างไรก็ได้ ขอให้เป็นกติกาที่สง่างามของประเทศไทย ทุกฝ่ายรับได้ อย่างคสช.เข้ามาเพื่อไม่ให้เกิดขัดแย้ง ให้บ้านเมืองไปข้างหน้าได้ เราก็รับได้และเข้าใจ ขอให้ทุกคนเห็นแก่บ้านเมือง ต่างชาติจะได้ไม่ดูถูกเรา ตนไม่ได้อยากให้มีรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้เลือกตั้งแต่ขอให้เห็นแก่บ้านเมืองดีกว่า ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับความยอมรับจากประชาชน จึงเชื่อว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญออกมาให้เป็นกลาง เป็นสากล ได้รับการยอมรับจากคนไทยและชาวต่างประเทศ 
      เมื่อถามว่าห่วง น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงเรื่องถอดถอนต่อสนช.หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ห่วงเพราะเชื่อว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจง ได้ ดูแล้วไม่มีอะไรที่เป็นความผิด ความจริงเป็นสิ่งที่ชี้แจงไม่ยาก ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคนมีหลักเกณฑ์เชื่อว่าชี้แจงได้
      ด้านนางเยาวภากล่าวอวยพรสมาชิกพรรคตอนหนึ่งว่า อยากให้รัฐบาลบริหารงานให้ประชาชนมีความสุข พวกเราอยู่ตรงไหนก็ได้ ขอแค่ให้ประชาชนมีความสุข พรรคเพื่อไทยก็มีความสุขแล้ว ตนพยายามทำตัวไม่ให้แก่เพื่อจะได้เห็นความสำเร็จของน้องๆ ที่จะช่วยกันทำให้ประชาชนมีความสุข 

ภูมิธรรมห่วงโลกรับไม่ได้ตัดสิทธิ
      นายภูมิธรรม กล่าวถึงกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ มีแนวคิดตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตว่า จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร เพราะสิทธิทาง การเมืองเป็นของพลเมือง จะตัดสิทธิตลอดชีวิตไม่ได้ หากจะให้เหตุผลสกัดคนไม่ดีออกจากการเมือง ต้องมีหลักเกณฑ์ว่าอะไรดีหรือไม่ดีอย่างไร ที่สำคัญต้องทำให้สังคมโลกยอมรับด้วย
      เมื่อถามว่าเป็นการสกัดกั้นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ออกจากการเมืองหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่กังวล ปัญหาคือจะทำให้นานาชาติยอมรับได้หรือไม่ เพราะตอนที่ตัดสิทธิสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ก็ไม่มีกฎหมายรองรับ และความผิดของพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นต้นเรื่องกล่าวหาพวกเรา ศาลก็ยกฟ้องไปแล้ว เท่ากับพวกเรารับโทษฟรีไปแล้ว ส่วนกรณีน.ส. ยิ่งลักษณ์ชี้แจงสนช.นั้น เท่าที่ฟังถือว่าชี้แจงได้ดี ทำให้สังคมเข้าใจกระบวนการการทำงานในโครงการดังกล่าว และชี้ให้เห็นว่าไม่ได้ขาดทุน แต่ช่วยเหลือเกษตรกร โดยหลัก การเห็นว่าไม่ควรมีปัญหาถึงขั้นถูกถอดถอนเพราะสังคมจับตาดูอยู่

'ปึ้ง'ติงกมธ.ต้องมีใจเป็นกลาง
     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯและรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงข้อเสนอให้ประชาชนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า ถ้าให้ประชาชนตัดสินก็ต้องทำกันทั้งประเทศ เหมือนกับการทำประชามติ อย่าใช้เพียงประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะจะไม่เป็นธรรมและอาจมีการปกป้องกันเอง แต่ก่อนอื่นใดเลยควรไปถามประชาชนว่าเขาเห็นด้วยกับการมีสปช.-สนช. ชุดนี้หรือไม่ อยากฝากถึงกมธ.ยกร่างฯว่า การเขียนรัฐธรรมนูญต้องมีใจเป็นกลาง ไม่มีประโยชน์แฝง และไม่หวังให้ฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่าย มิฉะนั้นบ้านเมืองจะ ไม่สงบ ในที่สุดทหารก็ต้องออกมาปฏิวัติ อีก เดี๋ยวก็ฉีกเดี๋ยวก็เขียนกันอยู่อย่างนี้ไม่มี วันจบสิ้น
      นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ในฐานะผู้แทนคดีและทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลง ผลการประชุมของคณะที่ปรึกษากฎหมาย และทีมทนายกรณีประธานสนช.นัดให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปตอบข้อซักถามของกมธ.ซักถามในวันที่ 16 ม.ค. ว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าถ้อยแถลงเปิดคดีของป.ป.ช. ไม่มีอะไรใหม่ นอกเหนือจากรายงานของป.ป.ช. ที่มี อยู่ในมือของสมาชิก สนช. ทุกคนแล้ว ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงคัดค้าน โต้แย้ง ข้อกล่าวหาครบถ้วนทุกมิติแล้ว ประกอบกับที่ประชุมสนช. ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นตามข้อบังคับ ข้อที่ 154 ในวิธีและขั้นตอนการซักถามของกรรมาธิการ ซึ่งขณะนี้มีหลายความเห็นจากสมาชิกสนช. ที่มีตำแหน่งเป็นวิปสนช. และเป็นกมธ.ซักถาม ดังนั้นเพื่อให้เป็นที่ยุติ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรให้นำ ข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติดังกล่าว สอบถามต่อประธานสนช.ก่อน โดยให้มีหนังสือถึงประธาน สนช. ในวันที่ 13 ม.ค. 

พท.ยก'ม.153'ถอดถอนไม่ได้
     นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 178 เขียนไว้ชัดเจนว่าการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามมาตรา 176 และต้องรับผิดชอบต่อสภา รวมทั้งรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของครม. คำว่ารัฐสภา คือคนที่เคยเป็น ส.ว. รวมถึงฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 178 ดังนั้น คนที่เคยเป็น ส.ว.แล้วมาเป็น สนช.ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 178 ด้วย ขณะเดียวกัน สนช.ไม่มีสิทธิถอดถอน รวมถึงป.ป.ช.ก็ไม่มีสิทธิเสนอเรื่องเข้ามาเพราะสภาถูกยุบ ทุกอย่างยกเลิกไปหมด
     นายอำนวย กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง เราทำตามมาตรา 291 ของรัฐธรรม นูญปี 50 ที่ให้อำนาจ ครม. ส.ส. และสมาชิก 1 ใน 5 ของรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญได้ และใช้มาตรา 150 และ 153 ของรัฐธรรมนูญปี 50 โดยอนุโลม ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา อย่างมาตรา 150 ระบุว่าตามที่ได้รับการเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ขณะนี้สภาสิ้นสุดลงและครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้หยิบเรื่องการแก้ไขที่มา ส.ว.ขึ้นมาพิจารณาภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมสภาครั้งแรก ดังนั้นกฎหมายที่เคยดำเนินการต้องยุติตามมาตรา 153 การจะถอดถอน ส.ส. ส.ว. 312 คนก็ทำไม่ได้ เพราะครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ไม่นำมาพิจารณา

อสส.จ่อชี้คดีข้าว'ปู'แล้ว
      แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงความคืบหน้าที่คณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอสส. และฝ่ายป.ป.ช. ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า คณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนจากฝ่าย อสส.และ ป.ป.ช. ร่วมกันสอบปากคำนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานเอกสารหลักฐานอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ก็จะสรุปผลการสอบได้
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงาน ร่วมมีมติให้สอบพยานเพิ่มอีก 2 ปาก ในประเด็นการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) คือนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้กล่าวหา และนายนิพนธ์ แต่หลังคณะทำงานร่วมตัดพยาน นพ.วรงค์ออกไป จึงคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการสอบพยานทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้คณะทำงานร่วมจะนำพยานหลักฐานทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน ก่อนนำความเห็นเสนอผู้แทนของแต่ละฝ่ายเพื่อพิจารณาต่อไป

พณ.แจ้งจับคู่สัญญาจำนำข้าว
      เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 ม.ค. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ เข้าพบ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ กก.2 บก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ และข้อหาฉ้อโกง โดยนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
     น.ส.ชุติมา กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติ วันที่ 19 ธ.ค.2557 มอบให้ตนในฐานะเลขานุการ นบข.แจ้งผลการประชุมให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อดำเนินคดีกับคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าวที่นำข้าวซึ่งไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้มาเข้าโครงการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผิดชนิดข้าว 5 ราย รวม 5 จังหวัด 10 โกดังกลาง 2.กลุ่มข้าวเสีย 13 ราย รวม 22 จังหวัด 94 โกดังกลาง และ 3.กลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน 59 ราย รวม 51 จังหวัด 652 โกดังกลาง รวมปริมาณข้าว 3.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 6.5 หมื่นล้านบาท
    น.ส.ชุติมา กล่าวว่า กรณีคู่สัญญา 3 กลุ่มนี้ มีผู้เกี่ยวข้องนับ 100 ราย ซึ่งตนนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มอบให้พนักงานสอบสวน บก.ป.ไว้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่ามีผู้ใดกระทำความผิด ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนข้าราชการ หากมีส่วนรู้เห็นหรือร่วมกระทำความผิดจะถูกดำเนินการทั้งวินัยและอาญา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐอาจถูกส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป
     ด้านพ.ต.อ.ณษ กล่าวว่า เบื้องต้นมอบให้ พ.ต.ท.มิ่งมนตรี สอบปากคำผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์แล้ว จากนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน แต่กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จึงเตรียมทำเรื่องเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลคดี ซึ่งอาจใช้เวลาดำเนินการอีกระยะหนึ่งก่อนเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!