WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ทีมกม.ปูจี้สนช.ซัก'วิชา' ตอบ 12 ข้อ นิคมลั่นแจงปมถอดเอง 'โต้ง'จี้พรเพชร ขอโทษ ฉุนเรียกมือปืนรับจ้าง อดีต 38 สว.สู้'ล้มล้าง'ชักแถวแก้ข้อหาทุกคน รธน.คุมรัฐโฆษณาสื่อ

       'โต้ง'จี้'พรเพชร'ขอโทษ ปมมือปืนรับจ้างแจงคดีถอดถอน'ปู' ด้านทีมทนาย'ยิ่งลักษณ์'ชง สนช.ถาม ป.ป.ช.เพิ่ม 12 ข้อ 'นิคม'ยันมาแจงเอง 38 อดีต ส.ว.ขอตอบเป็นรายบุคคล กล่าวหาล้มล้างประชาธิปไตยรุนแรงเกินไป

@ กมธ.ยกร่างฯเตรียมแจกสื่อ

      เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 3 มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เสนอโดยคณะอนุ กมธ.ยกร่าง บทบัญญัติเป็นรายมาตราแห่งรัฐธรรมนูญที่มี นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานยกร่างบทบัญญัติ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้มีการหารือถึงประเด็นการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ กมธ.ได้ให้ความเห็นชอบ ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าจะแจกร่างรายมาตราให้สื่อมวลชนได้รับทราบทันทีหลังจาก กมธ.ผ่านการพิจารณา นอกจากนี้จะนำร่างรายมาตราที่ผ่านการพิจารณา แจกให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อนำไปประกอบการพิจารณารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการลงพื้นที่ จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณาตั้งแต่ภาค 1 หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 มาตรา 10 หรือ 1/2/2)10 ต่อจากวันที่ 13 มกราคม ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดย 1/2/2)10 คณะ กมธ.ขอแก้ไขข้อความเดิมจากที่อนุ กมธ.ยกร่างไว้มาเป็น สิทธิของบุคคลในการสมรสและในครอบครัวย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง การจำกัดสิทธิดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ หรือในกรณีที่เป็นบุคคลสาธารณะ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนตามที่กฎหมายบัญญัติ และย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลโดยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เฉพาะเพียงเท่าที่กฎหมายบัญญัติ

@ เสียงข้างมากค้านเติม"สิทธิ"

      ส่วนในมาตรา 1/2/2)11 ตรงกับมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ถึง 1/2/2)12 ตรงกับมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีการปรับแก้ไข ขณะที่มาตรา 1/2/2)13 ตรงกับมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่มีการตัดข้อความในวรรคสองทิ้ง ทาง กมธ.บางส่วนได้ขอเสนอเพิ่มข้อความ สิทธิในวรรคหนึ่งและเสนอให้คงวรรคสองตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญเดิมไว้ เนื่องจากเห็นว่าคำว่าสิทธิมีความสำคัญกว่าคำว่าเสรีภาพ ขณะเดียวกันเห็นว่าเมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ก็ได้คงวรรคสองไว้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องตัดข้อความตามวรรคสองทิ้ง ทำให้ท้ายที่สุดข้อเสนอดังกล่าว กมธ.ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าถ้าเพิ่มคำว่าสิทธิลงไปในมาตรานี้ ก็อาจจะต้องเติมลงไปในทุกมาตรา 

      ส่วนในมาตรา 1/2/2)14 ตรงกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มีการเพิ่มข้อความ หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกันท้ายวรรคสองของรัฐธรรมนูญเดิม และมีการตัดข้อความในวรรคสามถึงเจ็ดทิ้งและนำไปใส่ในมาตรา 20 ของร่างบทบัญญัติ ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างมีเสียงแตกเป็นสองส่วน คือ 1.กลุ่มที่ต้องการให้นำวรรคสามถึงเจ็ดที่ตัดทิ้งไปและนำไปใส่ในมาตรา 20 มารวมกัน เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญสั้นลงและเห็นว่าสื่อก็คือบุคคล 2.กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในการนำมารวมกันเนื่องจากให้ความเห็นว่าสื่อและบุคคลไม่ใช่ประเภทเดียวกัน ท้ายสุดที่ประชุมมีมติไม่มีการแก้ไข โดยที่ประชุม กมธ.ได้พิจารณามาตรา 1/2/2)15 ตรงกับมาตรา 41 และมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่มีการปรับให้สั้นลง และเพิ่มข้อความลงไป 

@ เห็นชอบห้ามครอบงำสื่อ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเย็นของ กมธ.ยกร่างมีการพิจารณาใน ตอนที่ 3 สิทธิพลเมือง มาตรา 1/2/2)20 ว่าด้วยเสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพ โดยนำบทบัญญัติในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาปรับถ้อยคำ กมธ.ยกร่างฯ ได้อภิปรายขอปรับเพิ่มถ้อยคำ ประเด็น การห้ามครอบงำสื่อมวลชนให้ครอบคลุมถึงผู้ถือหุ้น อาจนำมาซึ่งการผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ที่ประชุมได้แสดงความเห็นในประเด็นของการเขียนคำว่าผู้ถือหุ้น เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อการถือหุ้นในบริษัทของสื่อมวลชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่มีเจตนาเพื่อครอบงำหรือมีอิทธิพลในการครอบงำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่ประชุมได้ใช้เวลาหารือและอภิปรายกันนานเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนได้ข้อสรุปให้ผ่านการพิจารณาตามการปรับถ้อยคำตามที่ กมธ.ยกร่างฯ อภิปราย 

     ตัวอย่างสาระสำคัญ เช่น "เสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคมย่อมได้รับความคุ้มครอง การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจและสุขภาพของประชาชนหรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนาหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

@ นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อไม่ได้

      การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในสื่อมวลชนจะกระทำมิได้เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามแต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสาม เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมือง และพลเมืองไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อมหลายกิจการในลักษณะที่อาจจะมีผลเป็นการครอบงำ ผูกขาด การนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคมหรือมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ 

      ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนมิได้ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทนหรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกันกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว รัฐจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่น หรือสิทธิอื่นใดเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชนมิได้ การซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น โดยรัฐจะกระทำได้ก็แต่เฉพาะโดยอาศัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น

@ กมธ.ยกร่างฯออกทีวีแจงทุกพฤหัส

     นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติเวลาการออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจให้ กมธ.ยกร่างฯได้สื่อสารกับสังคมผ่านรายการ เดินหน้าประเทศไทย สัปดาห์ละ 1 วัน คือวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 18.00-18.15 น. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของ กมธ.ยกร่างฯ รวมถึงความคืบหน้าต่างๆ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกอากาศวันแรก วันที่ 15 มกราคม มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้ออกรายการคนแรก จากนั้นก็จะสลับสับเปลี่ยนบุคคลอื่นใน กมธ.ยกร่างฯให้มาดำเนินรายการเพื่อรายงานความคืบหน้าการทำงานต่อประชาชน

@ รับรองสิทธิทุกเพศสภาพเท่าเทียม 

     นายคำนูณ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล มาตรา 7 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ ถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีการเพิ่มคำใหม่ คือคำว่าเพศสภาพเพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด

@ ห้ามสื่อใช้ถ้อยคำเฮทสปีช

       นายคำนูณกล่าวอีกว่า ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น คำว่า การสื่อความหมายโดยวิธีอื่น จะครอบคลุมไปถึงสื่อในโลกออนไลน์ต่างๆ ด้วย ส่วนวรรคสองระบุว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน โดยมาตรา 14 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นมาจากรากฐานวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดการเกลียดชัง หรือที่เรียกกันว่า Hate Speech (เฮทสปีช) อีกทั้งยังเป็นการเขียนให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ข้อ 20 (2)

@ วิษณุแจงแก้ไขมาตรา68ให้ชัด

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯเสนอแก้ไขมาตรา 68 ว่าด้วยเรื่องล้มล้างการปกครอง ให้ประชาชนสามารถยื่นฟ้องร้องโดยตรงได้ มีข้อกังวลว่าจะเป็นปัญหาเหมือนในอดีตว่า เรื่องนี้คงต่างจากมาตรา 68 ที่ผ่านมา แล้วตีความว่าประชาชนยื่นฟ้องได้ ทำให้ไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด วันนี้จึงจะเขียนให้ชัดว่าประชาชนยื่นฟ้องร้องได้ ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของการตีความ แต่เกรงว่าประชาชนจะยื่นฟ้องร้องกันมาก ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญว่าหากรู้ว่ามาตรา 68 จะมีใจความอย่างนี้แล้วประชาชนจะมาฟ้องร้องเยอะ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างมาตรการเตรียมสกัดรับมือ เช่น ต้องมีประชาชนเท่าไหร่ ไปยื่นที่ไหน ใครตรวจสอบ จะได้มีเวลาเตรียมตัวทันในส่วนนี้ ในอดีตนั้นเตรียมตัวไม่ทันเพราะเกิดการตีความชั่วข้ามคืน หากรู้เช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้เตรียมตัวทัน เพราะในอนาคตจะมีกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะกำหนดรายละเอียดได้ว่า หากยื่นฟ้องมาตรา 68 ต้องทำอย่างไร 

@ ให้ศาลรธน.สร้างเกราะป้องแห่ฟ้อง

     นายวิษณุ กล่าวว่า เหมือนตัวอย่างคือ มาตรา 7 วรรค 2 เพราะในอดีตมีปัญหาว่า อะไรคือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เถียงกันใหญ่ วันนี้จึงใส่ให้ว่าหากมีปัญหาเรื่องดังกล่าวให้ถามศาลรัฐธรรมนูญได้ ทีนี้ก็จะถามกันเยอะไปหมด ก็ต้องมีเวลาไปสร้างเกราะป้องกัน อย่างประชาชนส่งฟ้องเองไม่ได้ ส่งได้เฉพาะ ครม. สภา ศาลฎีกา ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญจะมีไม่กี่เรื่อง

     เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อย่างที่เคยกล่าวไปคือต้องดู 3 อย่าง 1.ที่มา ถ้าที่มาสมเหตุสมผลก็อาจจะวางใจ ในอดีตอาจจะไม่วางใจ 2.จำนวน ปัจจุบันมีองค์คณะ 9 คน ต่อไปอาจจะเปลี่ยน เห็นมานานแล้วว่า 9 คนนั้นน้อยไป ถึงเวลาก็ลงมติ 5:4 งดออกเสียงบ้าง ไปต่างประเทศบ้าง 3.อำนาจหน้าที่ ต้องไปด้วยกันจะไว้ใจให้อำนาจหน้าที่เมื่อไว้ใจที่มาและจำนวน

      เมื่อถามว่าคณะ กมธ.ยกร่างฯควรดูบทเรียนในอดีตหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องดู ทั้งบทเรียนในอดีตของไทยและต่างประเทศ บางทีไม่มีบทเรียนในไทยเพราะเราไม่เคยลอง แต่ต่างประเทศเขาเคยล้มเหลวจึงต้องเรียนรู้

@ แจงเร็วไปเคาะประชามติรธน. 

      นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาพูดถึงการทำประชามติ ว่า ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ เมื่อคิดจะทำก็เสนอมา แล้วจะได้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ในอดีตก็เคยทำมาและมีคนพูดกันว่าไม่ค่อยได้ผล ประชามติจะมีได้เฉพาะประเด็นๆ ไป ถามเรื่องใหญ่ทีเดียว 2-3 ร้อยมาตรา จะเกิดความรู้สึกรักพี่เสียดายน้อง จะเอาเรื่องนี้ ไม่เอาเรื่องนั้น เลือกไม่ได้ สุดท้ายก็เหมาเข่งเหมือนเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชอบ 10 คน ไม่ชอบ 90 คน ถ้าไม่เอาคนที่ไม่ชอบก็ไม่ได้เข้า ถ้าเอาคนที่ไม่ชอบก็ได้เข้าไปด้วย ฉะนั้นประชามติแบบบังคับแบบนี้ยาก โดยทั่วไปสากลเขาถึงถามเป็นประเด็นๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องตัดสินใจอะไรยุ่งยากมากนัก ตัวเลือกจะต้องไม่มาก แต่ก็ไม่ได้ขัดข้องหากจะทำ และเห็นสมควรว่าจะทำ ขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ลุล่วง เร็วไปจะมาถามว่าควรทำประชามติหรือไม่ หากคิดตอนนี้ การร่างอาจจะร่างลวกๆ เพราะถือว่าไหนๆ ก็จะประชามติแล้ว ให้เขาร่างจนสุดฝีมือก่อน แล้วถ้าเห็นว่าดีโดยไม่ต้องลงประชามติ อาจจะประหยัดเงินและประหยัดเวลาก็ได้ โดยไม่ต้องทำประชามติ แต่ถ้าดูแล้วสองจิตสองใจ ตรงนั้นต้องว่ากันอีกที

     เมื่อถามว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับใหม่นั้น ประชามติโหวตไม่รับจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ก็จะต้องตั้งคณะ กมธ.ใหม่ สปช.ใหม่ เริ่มใหม่หมด แต่อาจจะตั้งไม่กี่คนแล้วรีบๆ ร่างออกมา

@ ชี้คสช.ก็อาจไม่พอใจร่างรธน.

     เมื่อถามว่าสามารถมองได้หรือไม่ว่าหากเป็นเช่นนั้นแปลว่าประชาชนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร นายวิษณุกล่าวว่า บางคนอาจจะคิดเช่นนั้น แต่คงต้องตอบว่าไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ ร่างขึ้นมา เพราะว่ากระบวนการคือ เดือนเมษายนต้องร่างออกมาเสร็จสิ้น และส่งไปให้ทุกคนดู ส่วนใครอยากให้แก้อะไรก็บอกมา สปช.บอกไป เป็นส่วนบุคคล ไม่ใช่มติ สปช. ครม.ก็มีสิทธิ หากทาง กมธ.ยกร่างฯไม่แก้ตามที่บอก เพราะมีสิทธิจะไม่แก้ตาม แล้วให้โหวตโดย สปช.ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน หากผ่านไปอีกก็ไปเจอกันในประชามติ หากโหวตไม่รับ ลึกๆ แล้ว ก็แปลว่าไม่พอใจร่างของ กมธ. สปช.อาจจะสะใจก็ได้ที่ขอให้แก้แล้วไม่แก้ให้ จะมาบอกว่าไม่พอใจรัฐธรรมนูญของ คสช.ก็คงพูดได้เพราะว่าก็ใช่ แต่จริงๆ คสช.อาจจะไม่พอใจร่างนั้นก็ได้

@ ยันรัฐบาลไม่ยุ่งปมถอดถอน 

     นายวิษณุตอบคำถามที่ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น สนช.มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองหรือไม่ ว่า ไม่ทราบ แต่ขณะนี้ สนช.เข้าใจไปแล้วว่าเขามีอำนาจ เป็นเรื่องของเขา จะไปพูดอย่างอื่นคงยาก แต่ สนช.บางคนกล่าวว่าไม่มีอำนาจถอดถอนนั้น สนช.ได้รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการจนตั้งคำถามกันแล้ว แปลว่าโดยทั่วไปแล้วเขาเข้าใจว่ามีอำนาจ แต่ก็ไม่ขัดข้องหากใครจะมองว่าไม่มีอำนาจ เข้าสู่กระบวนการแล้ว คงไม่มีการกลับไปโหวตอีกแล้วว่า สนช.มีอำนาจหรือไม่ ถ้าใครคิดว่าไม่มีอำนาจก็ไปโหวตไม่ถอดถอนตอนนั้น ต้องแสดงออกในรูปนั้น

     เมื่อถามว่า หากลงมติแล้วมีการฟ้องร้องตามมาอาจจะมีปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นไร ไม่ว่าอย่างไรก็ฟ้องกันได้ทั้งนั้น ต่อให้เห็นว่าไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาก็จะมีคนฟ้องอยู่ดี หาว่าสภาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อถามว่าชอบกลหรือไม่ที่เหตุเกิดในสภาหนึ่งแล้วมีการไต่สวนจากอีกสภาหนึ่ง นายวิษณุกล่าวว่า ก็เพียงแค่ชอบกล แต่ปัญหาคือตามกฎหมายเขาทำได้หรือไม่ เมื่อเขาเข้าใจว่าทำได้ก็ต้องปล่อยเขาไป รัฐบาลจะไปยุ่งคงไม่ได้

      เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว แล้วจะมีการพิจารณาถอดถอนเอาผิดเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นคิดเห็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่อยากชี้นำ แต่วันนี้ ป.ป.ช.เขาถือว่าเขาใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. และอ้างตามมาตรา ก็คงต้องซักว่าคุณมีอำนาจจริงหรือไม่

@ สิงห์ศึกยันไม่เปิดคำซักถาม

       พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการซักถามสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปิดเผยก่อนการประชุมว่า ได้มีการเชิญสมาชิกที่ยื่นญัตติคำถามในสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์มาหารือเพื่อจัดหมวดหมู่คำถาม รวมถึงประเด็นที่มีความซ้ำซ้อน หรือไม่กระจ่างชัด หากการจัดหมวดหมู่ประเด็นเข้าใจถูกต้องตรงกันก็ไม่มีปัญหา แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของคำถามว่ามีเนื้อหาอย่างไร เพราะถือเป็นความลับและจะผิดข้อบังคับการประชุม

     เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่ามีคำสั่งจาก คสช.ในการพิจารณาสำนวนคดีถอดถอนแล้วนั้น พล.อ.สิงห์ศึกกล่าวยืนยันว่า สมาชิกได้ยึดถือหลักการและกฎหมาย โดยดำเนินการตามข้อมูลด้วยเหตุและผลตามสำนวน เป็นเรื่องที่สมาชิกแต่ละคนจะใช้ดุลพินิจพิจารณา ไม่มีคำสั่งแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปตามหลักปฏิบัติ และกฎหมายจะต้องใช้บังคับได้อย่างแท้จริง ดังนั้นกระแสข่าวที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นความคิดในอดีต หรือที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้น แต่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีขณะนี้กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ เมื่อถามว่าสมาชิกมีความกดดันในการพิจารณาคดีถอดถอนหรือไม่ พล.อ.สิงห์ศึกกล่าวว่า ต้องดูที่หน้าที่ของสมาชิก เมื่อสมาชิก สนช.มีหน้าที่ต้องลงมติ ก็ต้องมารับฟัง เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรจะลงมติอย่างไร

@ "โต้ง"จี้"พรเพชร"ขอโทษปมถอดปู

    นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หนึ่งในผู้แทนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวถึงกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ออกมาระบุว่า ถ้าเอามือปืนรับจ้างมาตอบแทน จะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร จะมาทำไม ใครจะอยากฟัง จะไปรู้เรื่องอะไร และไม่มีความน่าเชื่อถือว่า การที่ประธาน สนช.พูดพาดพิงถึงผู้แทนคดีฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. และมีสิทธิตามกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมของ สนช. โดยใช้ศัพท์เรียกขานผู้แทนคดีฯว่ามือปืนรับจ้าง เป็นเรื่องไม่สมควร พูดจาไม่สมกับการเป็นนักกฎหมายที่มีหน้าที่เป็นประธานสภา และหากพูดจริงควรออกมาขอโทษ ในฐานะเป็นผู้แทนคดีฯ คนหนึ่ง เคยรับผิดชอบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับงานบริหารเศรษฐกิจของประเทศ มีหน้าที่ดูแลโครงการรับจำนำข้าวด้วย เป็นผู้รู้เรื่องในประเด็นที่มีการกล่าวหาเพียงพอจะทำหน้าที่ตอบข้อซักถาม มีสิทธิตามกฎหมายจะทำหน้าที่ชี้แจง ตอบข้อซักถามต่อกรรมาธิการแทนผู้ถูกกล่าวหาฯ

      "ตลอดเวลาเกือบสามปีในหน้าที่ต่อคณะรัฐมนตรี เคยแต่รับจ้างรัฐ ตามอัตราเงินเดือนรองนายกรัฐมนตรีเพื่อทำงานให้ประเทศ และเมื่อหมดหน้าที่ฯก็ไม่ได้รับจ้างใคร เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนคดีฯ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย จึงควรออกมากล่าวขอโทษที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมเรียกขานผู้แทนคดีฯว่ามือปืนรับจ้าง หากจะเป็นความหวังดีของท่านประธาน ให้คำแนะนำว่าควรเป็นอย่างไรจะได้ไม่เสียเปรียบผู้กล่าวหา ก็รู้สึกซาบซึ้ง แต่ไม่จำเป็นหรอก เอาแค่เป็นกลางให้ดี ก็ขอบคุณแล้ว" นายกิตติรัตน์กล่าว 

@ "วรชัย"อัดหน้าเดิมล็อบบี้ถอดปู 

    นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกระแสข่าวการล็อบบี้ สนช.ให้ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ขณะนี้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวและชี้นำในประเด็นนี้ ก็มีแต่กลุ่ม 40 ส.ว. เป็นพวกหน้าเดิมๆ อยู่ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย เมื่อรัฐธรรมนูญปี"50 ถูกฉีกไปแล้ว ยืนยันว่า สนช.ไม่สามารถถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ หากมองในเรื่องของความผิดนั้น ชัดเจนว่าในวันแถลงเปิดคดี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ก็พูดชัดว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีเหตุเกิดขึ้น เป็นการตั้งข้อกล่าวหาทั้งที่ความผิดยังไม่เกิด หาก สนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งที่ไม่ได้กระทำผิด รวมทั้งกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภากรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. สังคมอาจมองว่า สนช.เป็นเพียงเสือกระดาษ ทำตามใบสั่งใครหรือไม่ ดังนั้น สนช.ต้องทำให้สังคมเห็นว่าเป็นเสือตัวจริง ไม่ทำตามที่ใครล็อบบี้หรือชี้นำ

@ หวั่นเกิดวิกฤตขัดแย้งรอบใหม่

      "งานนี้ต้องถอดถอน ป.ป.ช.มากกว่า เพราะลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเกินขอบเขต ผิดมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตั้งข้อกล่าวหาผู้อื่นโดยที่ยังไม่กระทำผิด ถือว่าไร้ความยุติธรรม คนถูกตั้งข้อกล่าวหาก็เป็นคนมาจากประชาชนเลือกเข้ามาทั้งสิ้น แต่กำลังจะถูกคนที่มาจากอำนาจเผด็จการรัฐประหารเข้ามาถอดถอนคน ขอฝาก พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เห็นหัวประชาชนบ้าง อย่าทำลายหัวใจของคนรักประชาธิปไตยมากไปกว่านี้เลย ขอให้เข้ามาถอดชนวนความขัดแย้งนี้ให้ได้ หากปล่อยให้พวก 40 ส.ว.เข้ามากำหนดชะตาประเทศแบบนี้ เชื่อว่าจะเกิดวิกฤตความขัดแย้งรอบใหม่ จะรุนแรงกว่าเดิมแน่นอน" นายวรชัยกล่าว

     นายวรชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยตัดโทษยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคออกไปนั้น พท.ยังวางใจไม่ได้ เพราะแม้กรรมาธิการฯจะยกเลิกประเด็นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีการเพิ่มเติมวรรคหรือเนื้อหาในมาตราอื่นโดยเฉพาะประเด็นตัดสิทธินักการเมืองห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพหรือไม่ อย่าเพิ่งไปดูเฉพาะส่วน

@ "ทนายปู"จี้สนช.ซัก"วิชา"12ข้อ 

นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของคณะทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยมติที่ประชุมทีมทนายว่า คำถามที่ สนช.ควรซักถามนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีถอดถอน 12 ข้อ อาทิ ก่อนการชี้มูลความผิดในคดีโครงการรับจำนำข้าวเหตุใด ป.ป.ช. ไม่มีการไต่สวนและแสวงหาพยานหลักฐานอันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหา คือ 1.โครงการรับจำนำข้าวในอดีต 2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรมีปัญหา ข้อเท็จจริงปัญหาทั้งหมดของโครงการช่วยเหลือชาวไทยในอดีตกลับไม่มีการไต่สวนให้สิ้นกระแสความ แต่ด่วนสรุปชี้มูลความผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเลือกจะเชื่อแต่รายงานทีดีอาร์ไอในอดีตที่ ป.ป.ช. จ้างทำเท่านั้น และมีคำสั่งให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยุติโครงการฯ ภายหลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำเนินโครงการฯได้เพียง 2 วัน ส่วนข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มิได้ระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตและความเสียหายจากการดำเนินโครงการฯนั้น พยานหลักฐานอันเป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ป.ป.ช. มิได้รวบรวมไว้ในความเห็นของ ป.ป.ช. ถึงข้อเท็จจริงที่รัฐบาลของผู้ถูกกล่าวหามิได้ละเว้นหรือละเลยในการป้องกันการทุจริตและป้องกันความเสียหายนอกจากนี้ประเด็นเรื่องข้าวหาย หรือข้าวเสื่อมสภาพด้วยความบกพร่องของโรงสีหรือผู้เกี่ยวข้องในโครงการฯไม่ถือเป็นความเสียหายที่จะนำมาคำนวณ เพราะรัฐบาลได้มีสัญญาความรับผิดเอากับผู้ที่ทำข้าวหายหรือข้าวเสื่อมสภาพด้วยความบกพร่องไว้แล้ว แต่ ป.ป.ช. ไม่ไต่สวนในเรื่องดังกล่าวใช่หรือไม่

@ ยังไม่เคาะจะตอบข้อซักถามเอง

      นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลการประชุมของทีมทนายความในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าตอบข้อชักถามของ กมธ.ซักถามของ สนช.ตามปกติ ส่วนความเห็นของทีมทนายต่อกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปตอบข้อชักถามด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากในช่วงระหว่างการประชุมนั้น ยังไม่ได้รับคำตอบถึงวิธีการซักถาม ตามที่ได้มีหนังสือที่ได้สอบถามไปยัง สนช. ที่ประชุมจึงเลื่อนวาระเรื่องนี้ไปหารืออีกครั้งในวันที่ 15 มกราคม แต่ต่อมาภายหลังการประชุม ทีมทนายได้ไปรับหนังสือจาก สนช.ว่า กมธ.จะซักถามฝ่ายผู้กล่าวหาให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงจะซักถามฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา กมธ.จะซักถามโดยยึดคำถามตามที่ได้เรียบเรียงและจัดกลุ่มจากญัตติของสมาชิกที่ได้เสนอต่อที่ประชุมเท่านั้น และจะไม่ซักถามเพิ่มเติมต่อเนื่องแต่อย่างใด ยกเว้นในระหว่างการซักถามเรื่องหนึ่งเรื่องใดยังไม่ชัดเจน อาจซักถามเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนได้

@ ป.ป.ช.ยัน"วิชา"พร้อมตอบทุกข้อ

      นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีการตอบข้อซักถามของ กมธ.ซักถามฯ ว่า ในส่วนของ ป.ป.ช.มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นำทีมตอบข้อซักถามเช่นเดิมเหมือนกับเมื่อครั้งแถลงเปิดคดี เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา นายวิชา ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบว่า คณะทำงานเตรียมความพร้อมตอบข้อซักถามพอสมควร เนื่องจากทั้งสองวันคือในวันที่ 15 มกราคม และ 16 มกราคมนั้น ประเด็นแตกต่างกัน มีการเตรียมในส่วนของข้อกฎหมายและสำนวนคดี นายวิชายืนยันว่ามีความพร้อมและมีความมั่นใจในการตอบข้อซักถามทุกคำถาม 

@ "นิคม"มั่นใจสนช.เป็นธรรม

      นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 15 มกราคมนี้จะเดินทางมาตอบข้อซักถามอย่างแน่นอน เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์และปกป้องศักดิ์ศรีฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องได้รับการยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มิเช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีก จากคำถาม สนช.ถามต่อ ป.ป.ช.ตามที่ปรากฏในข่าว เช่นรัฐธรรมนูญ 2550 หมดไปแล้วจะถอดถอนตามกฎหมายใด หรือถามถึงผลกระทบหลังการถอดถอนโดยเฉพาะความปรองดองนั้น สะท้อนชัดว่าสมาชิก สนช.พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ตน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยกเลิกไปแล้ว ทั้งยังห่วงบ้านเมืองกำลังต้องการความสามัคคี ส่วนกระแสข่าวลือจาก สนช. อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ว่า คสช.ไฟเขียวให้ลงมติถอดถอนทุกสำนวนนั้น เป็นวิธีการเดิมๆ ที่อดีต ส.ว.กลุ่มนี้ใช้ มีทั้งการให้สมาชิก สปช.เป็นอดีต ส.ว.กลุ่มเดียวกันไปอภิปรายในช่วงหารือของการประชุม สปช.ชี้นำให้มีการถอดถอน ทั้งที่ สปช.มีหน้าที่ปฏิรูปประเทศ ไม่ได้เกี่ยวข้องต่อกระบวนการถอดถอนเลย แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าที่สุดแล้วสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่จะให้ความเป็นธรรมแก่ตน 

     "จากประสบการณ์การทำงานวุฒิสภาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ส.ว.ไม่เคยมีการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข่าวชี้นำเพื่อนสมาชิกในสำนวนถอดถอนเลยสักครั้ง เพราะทุกคนรู้ดีว่ามีความผิดตามข้อบังคับการประชุมที่ 161 เกี่ยวข้องกับการละเมิดคุณธรรมจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากมีผู้ฟ้องไปยังคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่ามีมูลก็จะนำไปสู่การลงมติถอดถอนสมาชิกผู้นั้นให้พ้นสมาชิกภาพต่อไป แนวทางดังกล่าวนี้ก็บังคับใช้กับ สนช.เช่นกันในข้อ 161" นายนิคมกล่าว

@ อดีต 38 ส.ว.ขอแก้ข้อกล่าวหา 

     นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี 1 ใน 38 ส.ว.ที่จะถูก สนช.พิจารณาถอดถอนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. มิชอบ กล่าวว่า อดีต ส.ว. ทั้ง 38 คน ได้หารือแนวทางในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อสนช. เพื่อปรับแนวคิดให้ตรงกันก่อนชี้แจง สรุปว่าพวกตนจะขอชี้แจงแก้ข้อกล่าวทุกคน ไม่ได้มอบให้คนใดคนหนึ่งเป็นตัวแทน แม้ว่าทั้ง 38 คนนี้จะถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในประเด็นเดียวกัน แต่จะขอชี้แจงทุกคนเนื่องจากการชี้แจงต้องพูดถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องเจตนารมณ์นั้นเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ การกล่าวหาว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ดังนั้น พวกตนต้องชี้แจงให้สังคมได้เข้าใจว่าการกระทำเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ได้ล้มล้างการปกครอง จะให้ใครมาพูดแทนกันได้ต้องรอดูทาง สนช.ว่าจะเห็นชอบหรือไม่

'ทนายปู'ฝากสนช.ซัก'วิชา'12 ข้อ

       หมายเหตุ - นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของคณะทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมทีมทนายว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเพื่อให้การพิจารณาคดีถอดถอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คำถามที่ สนช.ควรซักถามนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีถอดถอน 

      1.ก่อนการชี้มูลความผิดในคดีโครงการรับจำนำข้าว เหตุใด ป.ป.ช.ไม่มีการไต่สวนและแสวงหาพยานหลักฐานอันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหา คือ 1.โครงการรับจำนำข้าวในอดีต 2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรมีปัญหา โดยข้อเท็จจริงปัญหาทั้งหมดของโครงการช่วยเหลือชาวไทยในอดีตกลับไม่มีการไต่สวนให้สิ้นกระแสความ แต่ด่วนสรุปชี้มูลความผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเลือกที่จะเชื่อแต่รายงาน TDRI ในอดีต ที่ ป.ป.ช.จ้างทำเท่านั้น และมีคำสั่งให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยุติโครงการ ภายหลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำเนินโครงการได้เพียง 2 วัน

     2.นายวิชา ในฐานะคณะกรรมการ ป.ป.ช.เจ้าของสำนวนผู้ไต่สวน เคยกล่าวปาฐกถา การทุจริต การเมือง ความอยู่รอดของประเทศ ในวันสัญญาธรรมศักดิ์ ประจำปี 2557 ว่า เมื่อปี 2555 ยืนยันว่ามีข้าวในโกดัง 2 ล้านตันหายไป ใช่หรือไม่ ที่กล่าวหาเช่นนั้นมีหลักฐานใดยืนยันคำกล่าวหาว่าข้าวจำนวนดังกล่าวได้หายไป และเมื่อสรุปสำนวนชี้มูลความผิดกรรมการ ป.ป.ช.ก็ไม่ยอมบันทึกบัญชีข้าวจำนวน 2 ล้านตัน ตามรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ใช่หรือไม่ และข้าวในโกดังที่อ้างว่าหายไปจำนวน 2 ล้านตันนั้น เป็นข้าวจำนวนและชนิดเดียวกันกับที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการไม่ยอมบันทึกบัญชี จำนวน 2.98 ล้านตัน โดยอ้างว่าข้าวหายใช่หรือไม่

    3.ก่อนชี้มูลความผิด (8 พฤษภาคม 2557) น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มีหนังสือขอให้ ป.ป.ช.เผชิญสืบเพื่อตรวจสอบให้ชัดแจ้งว่าข้าวไม่หาย แต่ ป.ป.ช.กลับมีมติไม่ให้มีการเผชิญสืบ เพื่อตรวจสอบว่าข้าวหายหรือไม่ ทำไมจึงไม่ไต่สวนด้วยการเผชิญสืบ

   4.หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด รัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณข้าวของหน่วยงานรัฐ โกดัง โรงสี ทั่วประเทศ ไม่พบว่าข้าวหายจำนวน 2 ล้านตัน ตามที่นายวิชาอ้าง แต่ข้าวจำนวนดังกล่าวกลับไปถูกอ้างในรายงานและสำนวน ป.ป.ช. โดยถือเป็นมูลค่าความเสียหายและผลขาดทุนทั้งที่ข้าวมิได้หายจริง เช่นนี้ถือได้หรือไม่ว่ารายงานและสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. อันเกี่ยวกับตัวเลขผลขาดทุนและความเสียหายยังไม่พิสูจน์ให้เป็นข้อยุติและไม่ถูกต้อง และเรื่องนี้ผู้ที่รับผิดชอบในความผิดพลาดที่ไม่ยอมบันทึกบัญชี คือ อนุกรรมการปิดบัญชีใช่หรือไม่ และส่วน ป.ป.ช.ผู้ไต่สวนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ถือว่าไม่ยอมไต่สวนเรื่องนี้ไห้เสร็จสิ้น

    5.ก่อนความชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โต้แย้งตัวเลขทางบัญชีของอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการ โดยโต้แย้งรายงานทั้ง 3 ครั้งของอนุกรรมการปิดบัญชี ว่ามีความไม่ถูกต้องและเสนอพยานบุคคลเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาแต่ ป.ป.ช.ไม่ยอมให้นำพยานบุคคลเข้าหักล้างโดยตัดพยานบุคคล ใช่หรือไม่

    6.ก่อนการชี้มูลความผิด ป.ป.ช.ไม่ใช้อำนาจของตนไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐรายใดในกระทรวงการคลัง เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง ว่าโครงการทำให้เสียวินัยการเงินการคลังและสร้างปัญหาหนี้สาธารณะ และเป็นภาระงบประมาณจนเกินสมควรจริงหรือไม่ ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โต้แย้งและนำพยานเข้าสืบว่าโครงการไม่ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง ไม่สร้างปัญหาหนี้สาธารณะและไม่เป็นภาระงบประมาณจนเกินสมควร แต่กลับสรุปรายงานและสำนวนพร้อมความเห็นของ ป.ป.ช. โดยปราศจากพยานหลักฐาน

   7.ก่อนการชี้มูลความผิด ป.ป.ช.มิได้ไต่สวนในข้อเท็จจริงว่าโครงการทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการรับจำนำข้าวเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งไม่ไต่สวนว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเป็นเท่าใด และชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเป็นเท่าใดในความเป็นจริง

   8.ที่นายวิชาอ้างในวันแถลงเปิดคดีว่า ข้อมูลที่ ป.ป.ช.รับฟังชี้มูลความผิดมาจาก 3 แหล่งคือ 1.รายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี 2.นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และ 3.นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่าวชาวนาไทย ขอถามว่าในชั้นไต่สวนก่อนการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์จะนำพยานบุคคลที่มีอาชีพทำนา และจะนำพยานบุคคลที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก และซื้อขายข้าวอิสระมาหักล้างข้อกล่าวหาว่าโครงการมีความเหมาะสมและไม่เป็นการบิดเบือนกลไกราคาตลาด แต่ฝ่ายผู้กล่าวหาได้ตัดพยานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช่หรือไม่

    9.ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มิได้ระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตและความเสียหายจากการดำเนินโครงการนั้น พยานหลักฐานอันเป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ป.ป.ช.มิได้รวบรวมไว้ในความเห็นของ ป.ป.ช. ถึงข้อเท็จจริงที่รัฐบาลของผู้ถูกกล่าวหามิได้ละเว้นหรือละเลยในการป้องกันการทุจริตและป้องกันความเสียหาย นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องข้าวหาย หรือข้าวเสื่อมสภาพด้วยความบกพร่องของโรงสีหรือผู้เกี่ยวข้องในโครงการ ไม่ถือเป็นความเสียหายที่จะนำมาคำนวณ เพราะรัฐบาลได้มีสัญญาความรับผิดเอากับผู้ที่ทำข้าวหายหรือข้าวเสื่อมสภาพด้วยความบกพร่องไว้แล้ว แต่ ป.ป.ช.ไม่ไต่สวนในเรื่องดังกล่าวใช่หรือไม่

   10.สำนวน ป.ป.ช.ในคดีโครงการ ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่ และเกี่ยวข้องกับชาวนาจำนวนหลายล้านคน และมีขั้นตอนทั้งฝ่ายนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติที่แยกออกจากกันอย่างชัดแจ้งแต่ ป.ป.ช.กลับสอบพยานบุคคลเพียงจำนวน 7 ปากเท่านั้น คือ 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2.นายวรงค์ เดชกิจวิกรม 3.นายวิชัย ศรีประเสริฐ 4.นายนิพนธ์ พัวพงศกร จาก TDRI 5.นายระวี รุ่งเรือง 6.นายประจักษ์ บุญยัง และ 7.น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ใช่หรือไม่ ซึ่งพยานบุคคลหลายปากเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำไมไม่ไต่สวนข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานข้างต้น และพยานบุคคลที่เป็นกลางเพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและเพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านก่อนการชี้มูลความผิด

   11.คดีนี้ตั้งแต่ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะผู้ไต่สวนจนถึงวันชี้มูลความผิด ใช้ระยะเวลาเพียง 101 วัน ถามว่าระยะเวลาเพียง 101 วัน ซึ่งรวมวันหยุดราชการด้วย ป.ป.ช.มีเจตนาเร่งรีบ รวบรัด ใช่หรือไม่ หากเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ นอกจากนี้ ขอถามว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเวลานั้นมีผลตามกฎหมายผูกพันทุกองค์กรใช่หรือไม่ ดังนั้น เหตุใด ป.ป.ช.กลับมีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วโดยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

    12.รัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติ "เรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง'ออกต่างหากจาก'การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง' ไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งการพิจารณาคดีทั้ง 2 เรื่องไม่อาจนำคดีถอดถอนและคดีอาญามารวมพิจารณาเข้าด้วยกัน แต่คดีนี้กลับรวมคดีทั้ง 2 คำถามคือ เพราะเหตุใด ป.ป.ช.จึงมีมติให้นำคดีถอดถอนที่ฝ่ายค้านกล่าวหาไปรวมกับคดีอาญาของตน และเรื่องนี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้คัดค้านห้ามมิให้ ป.ป.ช.รวมคดีใช่หรือไม่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!