WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8815 ข่าวสดรายวัน


'ปู'ลุยอีก ตอบ 35 คำถามสนช. 
นิคม-ขุนค้อนแจงเดือด จวกยับปปช.-ศาลรธน. รัฐบาล-สปช.ตั้งวิปร่วม เร่งเครื่องปฏิรูปประเทศ


ตอบเอง - นายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ลุกขึ้นตอบคำถามคณะกรรมาธิ การซักถามของ สนช. ระหว่างการประชุมพิจารณาปมถอดถอนออกจากตำแหน่ง ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

         คิว'ยิ่งลักษณ์'วันนี้ ตอบข้อซักถามคดีถอดถอน เจ้าตัวติวเข้ม 4 วัน เก็งข้อสอบ 80 ข้อ มั่นใจผ่านฉลุย กมธ.ซักถามสรุปเหลือ 35 ข้อ ส่วนคดี 'นิคม- สมศักดิ์'เข้มข้นป.ป.ช.อ้างยึดประกาศ คสช.ยื่นถอดถอน ได้ 'นิคม'แจงยิบทำตามระเบียบทุกขั้นตอน ว้ากอย่าเอาความเกลียดชังมาเป็นเหตุ'ขุนค้อน'โผล่ชี้แจงเอง จวกยับป.ป.ช.-ศาลรธน. โต้ข้อหาเปลี่ยนร่างแก้ไขรธน. 'พรเพชร' ยันลงมติลับทั้งสองคดี 23 ม.ค. ด้านกมธ.ยกร่างฯ ให้สิทธิประชาชนร่วมทำประชามติทุกเรื่อง เปิดช่อง 2 หมื่นชื่อยื่นถอดนักการเมือง ตั้งวิปรัฐบาล-สปช. เดินหน้าปฏิรูปให้รวดเร็ว

สนช.ถามคดี'นิคม-สมศักดิ์'

       เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน วาระสำคัญคือการดำเนินกระบวน การถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรม นูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นขั้นตอนการซักถามประเด็นตามที่ที่ประชุมสภากำหนดตามญัตติของสมาชิก สนช. โดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ซักถาม พร้อมเชิญคู่กรณีคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ถูกกล่าวหาเข้าประชุม

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศหน้ารัฐสภาเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งควบคุมสถานการณ์ แต่ไม่มีมวลชนฝ่ายใดมาให้กำลังใจ ขณะที่นายนิคม เดินทางมาตอบข้อซักถามด้วยตัวเองตามที่แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่นายสมศักดิ์ ซึ่งไม่ได้มาชี้แจงในวันแถลงเปิดคดี แต่ได้มาตอบข้อซักถามในวันนี้ด้วยตัวเอง 

กมธ.บี้ป.ป.ช.แจง 8 ข้อ

     เวลา 10.30 น. ที่ประชุมสนช. เข้าสู่วาระซักถาม โดยนายพรเพชรแจ้งว่าให้แจกเอกสารลับกับสมาชิกทุกคน ห้ามนำออกนอกห้องประชุม และในสัปดาห์หน้าขอเพิ่มวันประชุมในวันที่ 21 ม.ค. เพราะมีวาระมาก นอกจากพิจารณาเรื่องการถอดถอนอดีต 38 ส.ว. แล้วยังแถลงปิดคดีของนายนิคม และนายสมศักดิ์ ส่วนวันที่ 22 ม.ค. เป็นการแถลงปิดคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และวันที่ 23 ม.ค. เป็นการลงมติตามคำร้องทั้ง 2 กรณี ซึ่งเป็นการลงมติลับ ขานชื่อสมาชิกและให้เข้าคูหาลงมติถอดถอนทั้ง 3 คดี ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานทั้งเช้าและบ่าย ส่วนสมาชิกจะมีความเห็นหรือมีดุลพินิจเรื่องถอดถอนอย่างไร ขอให้เก็บไว้ในใจ

       จากนั้นกมธ.ซักถามคดีนายนิคม โดยพล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานกมธ. ซักถาม ชี้แจงว่า คำถามที่สนช.ยื่นถามได้มีการจัดกลุ่มและตัดคำถามซ้ำซ้อน ซึ่งมีข้อ ซักถาม ป.ป.ช. ใน 3 ประเด็นหลัก จาก 17 คำถามเหลือ 8 คำถาม ซักถามนายนิคม ใน 2 ประเด็นหลัก จาก 16 คำถาม เหลือ 7 คำถาม สำหรับ 8 ข้อซักถามป.ป.ช. คือ 1.เหตุใดป.ป.ช.จึงยืนยันส่งคดีถอดถอนนายนิคมให้สนช.พิจารณา ทั้งที่ไม่ใช่วุฒิสภา 2.การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ป.ป.ช.ยังเห็นว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ขอให้ป.ป.ช.ระบุฐานความผิดของนายนิคม ที่ส่งให้สนช.ดำเนินการถอดถอน ว่าเป็นความผิดฐานใด 

มึนสาเหตุชงถอดถอน

      3.การบอกว่าการทำหน้าที่ของนายนิคม ขัดหลักนิติธรรมนั้น ผู้ถูกกล่าวหามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือวาระซ่อนเร้นอย่างไร 4.การกระทำของนายนิคม ยังเป็นการทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ และประเทศอยู่ในช่วงปฏิรูป ต้องการความสามัคคี การถอดถอนนักการเมืองจะเป็นอุปสรรคต่อการปรองดองหรือไม่ 5.การที่ป.ป.ช.ชี้มูลนายนิคมว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้แก่ใคร อย่างไร 

      6.ป.ป.ช.เห็นอย่างไรกับสิ่งที่นายนิคมอ้างว่าทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมที่ว่าเมื่อมีผู้เสนอญัตติขอปิดอภิปราย 7.นายนิคมแถลงว่าการประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.เป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดของสมาชิกรัฐสภา ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องไม่ได้ หากเป็นดังที่กล่าวอ้างจริง เหตุใดป.ป.ช.จึงยังคงชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้สนช.ถอดถอน และ 8.เมื่อมีผู้เสนอญัตติให้ปิดอภิปราย จะทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากปิดอภิปราย เหตุใดป.ป.ช. ไม่ยอมรับคำโต้แย้งข้อกล่าวหานี้ 

'วิชา'ยันฐานความผิดอื้อ

      นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า คำร้องของนายนิคม ไม่ได้มีฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเดียว แต่ยังมีฐานความผิดฐานมีพฤติการณ์ส่อว่า กระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย และฝ่าฝืนมาตร ฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 58 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. และหลังจากป.ป.ช.ลงมติไต่สวนเสร็จแล้วปรากฏว่ามีการยึดอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะยุติไปแล้วแต่ยังมีประกาศคสช.แสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับศาลไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ป.ป.ช.ก็ยังมีอำนาจส่งเรื่องให้สนช.

       นายวิชากล่าวว่า ส่วนความผิดที่ส่งให้สนช.ถอดถอนนั้น ป.ป.ช.เห็นว่านายนิคม มีความผิดทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 58 จงใจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 และกฎหมายประกอบพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 56,58,61, 62 ซึ่งตอนที่ลงมตินั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และกรณีนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของส.ว.ว่าต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่มีส.ว.สรรหาต่อไป จึงถือว่าประธานมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะขณะนั้นเป็นส.ว.อยู่ด้วย 

หวังสนช.แยกแยะออก

     นายวิชา กล่าวว่า ในสำนวนที่ป.ป.ช.ส่งมาให้สนช.นั้น ป.ป.ช.ยืนยันว่าไม่ใช่ความผิดทางอาญา เพราะคดีอาญาจะแยกพิจารณาออกไป ส่วนจะกระทบต่อการปรองดองหรือไม่นั้น หลักการปรองดองต้องไม่ลืมหลักนิติรัฐ นิติธรรมด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงภาพลวงตา จะให้ป.ป.ช.ยุติเรื่องเหล่านี้เพราะขัดหลักการปรองดองไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่หลักปรองดอง แต่เป็นหลักความอำเภอใจ จึงหวังว่าสนช.จะแยกระหว่างความปรองดอง กับหลักนิติรัฐ นิติธรรมออกจากกัน ส่วนที่อ้างเรื่องเอกสิทธิ์ตามมาตรา 130 ต้องไม่ใช่การอ้างเพื่อทำลายหลักการตามรัฐธรรมนูญ การอ้างเอกสิทธิ์เพื่อคุ้มครองตนไม่ให้ถูกฟ้องร้อง ต้องไม่อยู่ในข้อยกเว้น การที่นายนิคมทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 130 

      จากนั้นเวลา 12.30 น. กมธ.ได้ซักถามนายนิคม 7 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำถามของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช. ในฐานะกมธ.ซักถาม ว่าการทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัติ 57 คน และรวบรัดการลงมติเพื่อพิจารณาผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้ทันเงื่อนไขเวลาที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ใน วันที่ 2 มี.ค.57 เพื่อให้ได้สิทธิกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว.ใช่หรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผิด ผลการแก้ไขจะออกมาอย่างไร การ กระทำดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับการประชุมหรือกฎหมายหรือไม่ และอยู่ในดุลพินิจประธานในที่ประชุมหรือไม่ อีกทั้งในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้หารือกับประธานรัฐสภา ปิดอภิปรายหรือไม่หรือเป็นเอกสิทธิ์เอง

'นิคม'ว้ากอย่ามโนไปเอง

       นายนิคมชี้แจงว่า ที่จริงตนไม่อยากตอบคำถามนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นอำนาจหน้าที่ของประชาชนที่เสนอแก้ไขได้ ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน อยากถามว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนทำให้ประเทศชาติล่มจมตรงไหน อย่าไปห่วงว่าจะเป็นสภาผัวเมีย แต่สภาแห่งนี้ก็มีสามีภรรยา ทำไมไม่เห็นมีใครพูดบ้าง และหากแก้ไขแล้วมีการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ว.ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ อีกทั้งมีกระบวนการต่างๆ อีกมาก ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ใช่เพื่อให้ทันลงสมัครส.ว.ครั้งใหม่ ขออย่าได้มโนคิดไปต่างๆ นานาว่าคนที่แก้ไขแล้วจะได้รับสิทธิ

      นายนิคมกล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขไม่ผิด ผลที่ได้คือรัฐธรรมนูญจะผ่านสภา คืนอำนาจให้ประชาชนมีการเลือกตั้ง ส่วนการปิดประชุม เมื่อมีผู้เสนอญัตติปิดประชุมและไม่มีใครเห็นเป็นอย่างอื่น จึงไม่จำเป็นต้องอภิปรายต่อ ตนจึงปฏิบัติตามข้อบังคับสั่งปิดการประชุม ยืนยันว่าไม่มีการรวบรัด แต่ดำเนินการประชุมตามข้อบังคับ ไม่จำเป็นที่ต้องปรึกษาใคร เพราะมีข้อบังคับการประชุมเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว 


พบนายกฯ - นายมูฮัมมัด อาลี อะห์เมด อิมราน อัล ชามซี เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

      "บังเอิญเหลือเกินว่าท่านอาจเป็นส.ว. มาไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี ผมต้องอนุญาตสอนท่าน วันนี้พลทหารขอถามพลเอก อย่าเอาความรู้สึกเกลียดชังมาเป็นเหตุให้ถามผมแบบนี้" นายนิคมกล่าว 

ยึดหลักการประชุมเป๊ะ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายนิคม ตอบคำถามจบ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสนช. ได้ประท้วงว่า วันนี้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาตอบคำถาม ไม่ใช่มาอวดความรู้เพื่อสั่งสอนสภานี้ และสภานี้มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ จะไม่นำตัวอย่างที่ไม่ดีมาปฏิบัติแน่นอน โดยนายพรเพชรกล่าวว่า ขอให้นายนิคม ชี้แจงในประเด็น อย่ามากไปกว่านั้น 

      ส่วนคำถามว่าหากการแก้ไขที่มาของส.ว.มีผลบังคับใช้ได้ทันวันที่ 2 มี.ค.57 จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับสิทธิลงสมัครได้อีก ซึ่งมีสมาชิกทักท้วงให้ผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อป้อง กันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่เหตุใดจึงไม่รับฟังคำท้วงติง นายนิคมชี้แจงว่า ตนลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือมาตรา 68 กับ 237 และมาตรา 190 แต่เรื่องที่มาส.ว. ไม่ได้ร่วมลงชื่อ ไม่ได้เสนอญัตติและไม่ได้ลงมติ การที่สมาชิกทักท้วงตนยึดหลักข้อบังคับการประชุม ยึดรัฐธรรมนูญว่าประธานในที่ประชุมทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากควบคุมการประชุมให้เรียบร้อย 

ไม่ใช่เข้าใจโดยสุจริต 

       นายนิคม ยังชี้แจงกรณีกำหนดวันประชุมวุฒิสภาเพิ่มอีก 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับการประชุมรัฐสภาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้บังคับใช้ได้ก่อนวันที่ 2 มี.ค.57 ว่า การกำหนดวันประชุมรัฐสภาเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา และโดยปกติวุฒิสภาจะประชุมเพียง 1 วัน แต่มีเรื่องค้างพิจารณามาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มวันทำงานอีก 1 วัน เป็น 2 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือน ส.ค.56 

       ส่วนกรณีรับมติปิดอภิปรายเป็นญัตติของที่ประชุมรัฐสภานั้น หากไปดูรายงานการประชุมจะเห็นว่าสมาชิกอภิปรายประเด็นอื่น และมีการประท้วงหลายครั้ง อีกทั้งมีผู้อภิปรายจนเป็นที่เข้าใจได้ จึงมีสมาชิกเสนอปิดการประชุม มีผู้รับรองถูกต้องและไม่มี ผู้เสนอเปิดการประชุม จึงมีญัตติเดียวไม่จำเป็นต้องโหวต แต่ให้ถามที่ประชุมว่ามีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มี การอภิปรายจึงยุติ ทั้งหมดเป็นไปตามข้อบังคับ ไม่เกี่ยวกับการเข้าใจโดยสุจริต 

      สุดท้าย นายสมชาย แสวงการ กมธ. ซักถาม ถามว่าในการประชุมมีสมาชิกบางกลุ่มกดบัตรแทนกัน อาจรวมถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายนิคม ได้ทราบกระทำดังกล่าว และการกระทำนั้นทำได้หรือไม่ นายนิคมชี้แจงว่า คนเป็นประธานที่ประชุมไม่ทราบ แต่ถ้ามีคนทราบก็ควรนำมาเผยแพร่ หรือนำไปร้องทางจริยธรรม หรือฟ้องร้องทางอาญา

ป.ป.ช.จ้องฟันอาญา"สมศักดิ์"

      จากนั้นเวลา 13.45 น. ที่ประชุมซึ่งมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระซักถามสำนวนคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ โดยพล.อ.มารุตรายงานว่า มีข้อซักถามป.ป.ช.จากเดิม 19 คำถามเหลือ 9 คำถาม และข้อซักถามนายสมศักดิ์จากเดิม 9 เหลือ 6 คำถาม พร้อมถามป.ป.ช.ว่า ขอให้ระบุฐานความผิดของนายสมศักดิ์ที่ส่งให้สนช.ดำเนินการถอดถอน 

     นายวิชา กล่าวว่า ข้อกล่าวหามีฐานความผิดคล้ายกับนายนิคม แต่มีหลายประเด็นมากกว่า เพราะนายสมศักดิ์ได้ลงนามเพื่ออนุญาตบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรม นูญ แต่ได้สับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกับร่างฉบับเดิม ซึ่งขณะนี้ป.ป.ช.กำลังไต่สวนเพื่อชี้มูลในคดีอาญาต่อไป

      นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลการรับญัตติและการปิดอภิปราย ทั้งที่มีสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย ถือว่าใช้ดุลพินิจของประธานที่ผิด เพราะไปตัดสิทธิสมาชิกที่ต้องการอภิปราย รวมทั้งกำหนดวันแปรญัตติย้อนไปถึงวันรับหลักการ ทำให้เหลือเวลาแปรญัตติเพียง 1 วัน ทั้งหมดจึงถือว่าผิดหลักนิติธรรม 

เหตุเปลี่ยนร่างแก้ไขรธน.

       ส่วนการกระทำความผิดของนายสมศักดิ์ รวมถึงผิดกฎหมายอาญาด้วยหรือไม่ นายวิชากล่าวว่าประเด็นในคดีอาญา ป.ป.ช.ยังไต่สวนอยู่ โดยเฉพาะการสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายอุดมเดช และยังเป็นเรื่องพัวพันกับการถอดถอน ที่ส่อว่ากระทำความผิดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ไว้วางใจ เช่น เร่งรัดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว โดยไม่ฟังเสียงข้างน้อย ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดป.ป.ช.ให้ความสำคัญแก่การเสียบบัตรแทนกันทั้งที่ไม่ค่อยมีผลต่อคะแนนลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิชากล่าวว่าเราได้เห็นภาพว่ามีการเสียบบัตรแทน ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการทำลายระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ชั่วร้าย และร้ายแรงกว่าเผด็จการ เสียอีก 

       ต่อมาเวลา 15.30 น. เริ่มกระบวนการ ซักถามนายสมศักดิ์ โดยกมธ.ซักถามได้ตั้งคำถาม 6 ข้อ อาทิ เรื่องการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนร่างเดิมที่สมาชิกเข้าชื่อเสนอ โดยมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปจากเดิม เรื่องการกำหนดวันแปรญัตติที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม เรื่องการเสียบบัตรแทน เรื่องการมอบให้นายนิคมร่วมเป็นประธานการประชุม และมีการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติจำนวนมาก เป็นการขัดข้อบังคับการประชุมหรือไม่ เรื่องกรณีไม่มาร่วมแถลงเปิดคดีถอดถอน แต่กลับไปร่วมบุคคลอื่นแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

เจ้าตัวโต้ไม่มีของปลอม

      นายสมศักดิ์ ตอบข้อซักถามว่า ขอปฏิเสธเรื่องการปลอมแปลงเอกสารอย่างสิ้นเชิง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายอุดมเดชที่เสนอมา ตนยังไม่ได้บรรจุในวาระการประชุม เนื่อง จากนายอุดมเดชขอนำร่างไปแก้ไข เมื่อแก้ไขแล้วจึงเสนอมาให้ตนเซ็น เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมต่อไป ขั้นตอนทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนตามปกติ ที่สำคัญได้เชิญผอ.สำนักการประชุมมาชี้แจงว่า การแก้ไขร่างดังกล่าวถูกต้องและขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผอ.สำนักการประชุมยืนยันความถูกต้องทุกอย่าง หากตนไม่บรรจุวาระภายใน 15 วันจะขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

      นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 1-3 ก็ไม่มีสมาชิกทักท้วงว่าเป็นร่างปลอม ขณะที่ประเด็นกล่าวหาว่าร่างที่แก้ไขใหม่ไม่มีการขอลายเซ็นรับรองจากอดีตสมาชิกรัฐสภานั้น แนวทางปฏิบัติเมื่อแก้ไขร่างเสร็จแล้ว จะแจ้งสมาชิกผ่านคณะกรรมการประสานงานแต่ละพรรค บางคนอาจไม่รู้เพราะเป็นเรื่องการประสานงาน หากเห็นว่าเป็นร่างปลอม ทำไมไม่ประท้วง ปล่อยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แสดงว่าไม่ผิด เทียบเคียงกับร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เมื่อมีการแก้ไขก็ไม่ต้องให้ประชาชนกลับมาเซ็นรับรองใหม่ ถ้าเรื่องนี้ผิดจะผิดเพราะอะไร ผิดเพราะร่างไม่ถูกใจหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มีร่างปลอม มีแต่ของจริง

อัดศาลรธน.ตัดสินไม่ถูกต้อง

      นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการแปรญัตติ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่ถูกต้อง เพราะข้อบังคับการประชุมกำหนดว่าเมื่อรับหลักการกฎหมายฉบับใด การแปรญัตติจะเริ่มนับจากวันถัดจากวันที่รับหลักการ ซึ่งร่างฉบับนี้รับหลักการเวลา 02.00 น.ของวันที่ 4 เม.ย.56 แม้วันนั้นองค์ประชุมไม่ครบในการกำหนดวันแปรญัตติ ตนสั่งปิดประชุมและสั่งเปิดประชุมในช่วงเช้า ทุกคนก็ลงมติให้แปรญัตติภายใน 15 วัน ยืนยันว่าทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว ส่วนการเสียบบัตรแทนกันจะมีจริงหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวกับตน ตนทราบเรื่องนี้จากข่าว และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ถ้ามีความผิดจริงถือเป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล

      นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การตัดสิทธิผู้อภิปรายขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ ซึ่งประธานไม่มีสิทธิตัดสิทธิผู้ที่สงวนคำแปรญัตติ เว้นแต่ที่ประชุมลงมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งข้อบังคับกำหนดไว้ชัดเจน ข้อกล่าวหาว่าตนรวบรัด ตัดตอน จำกัดสิทธิ ไม่ให้ความสำคัญเสียงข้างน้อยนั้น ตั้งแต่มีรัฐสภามาไม่เคยมีประธานคนใดอะลุ้มอล่วยให้สิทธิสมาชิกอภิปรายมากเท่าตน ส่วนการตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ 57 คน เนื่องจากคนเหล่านี้แปรญัตติขัดหลักการและขัดข้อบังคับการประชุม แต่ตนเปิดให้อภิปรายหารือเรื่องนี้เกือบ 10 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีประธานคนใดอดทนเท่านี้อีกแล้ว


แก้หนี้ชาวนา - กลุ่มชาวนาจากจังหวัดต่างๆ ในนามแนวร่วมเกษตรกรไท ชุมนุมกันยื่นหนังสือผ่านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ เพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา ที่สำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

มาตามหาความยุติธรรม

      "ที่บอกว่าผมไม่ยอมรับการตรวจสอบ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมเป็นนักประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งหลายสมัย เล่นการเมืองมา 32 ปี มากกว่าครึ่งชีวิต ผมเคารพทุกองค์กรในระบอบประชาธิปไตย ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. โดยเฉพาะสภา แต่ที่ไม่มาแถลงเปิดคดีถอดถอน เพราะทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรครอบคลุมทุกประเด็นแล้ว แต่ที่มาวันนี้เพราะมีการเข้าใจผิดในบางประเด็น จึงต้องมาด้วยตัวเอง ไม่มาไม่ได้เพราะสมาชิกอาจสับสน โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสาร ยืนยันว่าไม่มีอะไรผิด ที่มาวันนี้มาตามหาความยุติธรรม ถ้ารัฐสภาแห่งนี้ให้ความเป็นธรรมผมไม่ได้ ก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน แต่ผมมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม" นายสมศักดิ์กล่าว

      จากนั้นนายพรเพชรขอให้ที่ประชุมลงมติเพื่อยกเว้นข้อบังคับข้อ 156 วรรคสอง เพื่อขยายเวลาให้มีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาเป็นวันที่ 21 ม.ค. เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุมต้องแถลงปิดคดีด้วยวาจาภายใน 7 วัน นับจากวันที่ยื่นว่าจะแถลงปิดคดีด้วยวาจาหรือไม่ ซึ่งครบกำหนดวันที่ 14 ม.ค. ทั้งนี้ ป.ป.ช.และนายนิคมยื่นความจำนงแล้วว่าจะแถลงปิดคดีด้วยวาจา แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้ยื่นแสดงความจำนง

'ปู'ติวเข้ม-มาชี้แจงเอง

      รายงานข่าวจากทีมทนายความของน.ส. ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมสนช. วันที่ 16 ม.ค. ซึ่งมีวาระพิจารณาถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ กรณีปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นขั้นตอนการซักถามในที่ ประชุมสนช. ซึ่งตลอดทั้งวันที่ 15 ม.ค.ทางทีมทนายได้หารือและเตรียมตอบข้อซักถามต่างๆที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ร่วมหารือด้วย และจะไปตอบข้อซักถามด้วยตนเอง เพราะมั่นใจว่าตอบข้อสงสัยได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวทำอย่างถูกต้อง

      รายงานข่าวแจ้งว่า ทีมทนายได้ประเมินถึงผลดีผลเสียต่อการเข้าหรือไม่เข้าชี้แจง สุดท้ายให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ พิจารณาด้วยตัวเอง ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ซักซ้อมการตอบข้อซักถามของ สนช. ตั้งแต่วันที่ 12 จนถึงวันที่ 15 ม.ค. โดยมีการเก็งข้อสอบตั้งประเด็นคำถามที่คาดว่ากมธ.จะซักถาม ประมาณ 70-80 ข้อ มากกว่าที่กมธ.เตรียมไว้ เริ่มตั้งแต่ที่มาโครงการจนถึงการถูกตั้งข้อกล่าวหาต่างๆ

กมธ.สรุปเหลือ 35 คำถาม

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ซักถามสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิก สนช.เป็นประธาน พิจารณาเรียบเรียงจัดหมวดหมู่คำถาม และรวบรวมคำถามที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแล้วนั้น ได้สรุปยอดคำถามที่จะถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากเดิมมีถึง 60 คำถาม เหลือ 35 คำถาม ขณะที่คำถามที่จะถามทาง ป.ป.ช. จากเดิมมี 23 คำถาม เหลือ 11 คำถาม

      ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิคม และนายสมศักดิ์ หากถูกถอดถอนจริงจะยึดความตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. ในการรับโทษหรือไม่ว่า ต้องยึดตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยมาตรา 65 กำหนดโทษไว้ 2 อย่าง คือ ถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อลาออกและพ้นไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องถอดถอน แต่วรรคสองระบุว่าและให้ไม่สามารถปฏิบัติหรือดำรงตำแหน่งได้ในอนาคต 5 ปี ซึ่งส่วนนี้ยังมีผลแม้จะ ลาออก จึงเป็นที่มาที่บอกว่ายังดำเนินถอดถอนต่อไปได้ ส่วนรัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนอย่างไรนั้นโดยปกติจะไม่มีผลย้อนหลัง

'วิษณุ'กระตุ้นลุยปรองดอง

      นายวิษณุ กล่าวกรณีศูนย์ปรองดองสมาน ฉันท์เพื่อการปฏิรูประบุการดำเนินงานของศูนย์ไม่เป็นไปตามเป้า ว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และยังไม่เคยได้รายงานจากศูนย์ดังกล่าว สมมติว่าล้มเหลวจริงก็ต้องทำต่อจะหยุดไม่ได้ ความปรองดองเป็นจุดหมายปลายทาง ฉะนั้นระหว่างทางก็ต้องเดินหน้าต่อไปและพยายามแก้ไขในบางจุดไปบ้างแล้ว และยังเชื่อว่าศูนย์ดำรงธรรมสามารถช่วยได้มาก จะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ต้องทำต่อไปเหมือนกับกินข้าวจะอร่อยหรือไม่อร่อยก็ต้องกินและทำต่อไป 

       ผู้สื่อข่าวถามว่าเร็วเกินไปหรือไม่ที่จะสรุปผล นายวิษณุกล่าวว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวเกิดขึ้นมานานเกินกว่าจะใช้เวลาอันสั้นไปเยียวยาให้เกิดการปรองดองได้ แต่จะหยุดไม่ได้แม้จะปรองดองแล้วก็ต้องทำต่อ ต่อข้อถามว่ารัฐบาลจะมียาลงไปกระตุ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ระหว่างที่รัฐบาลและคสช.คิดอยู่ แต่อยากฟังสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ก่อนว่าจะเสนออะไรที่เฉียบแหลม รอบคอบรัดกุม หากตรงกับสิ่งที่รัฐบาลคิดจะได้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เมื่อถามว่าสปช.เสนอให้นิรโทษกรรมประชาชนในทางกฎหมายเขียนได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วค่อยคิดว่าจะทำอย่างไร และยังเร็วไปที่จะมาพูดตอนนี้ หาเรื่องพูดให้เป็นข่าวเปล่าๆ

กมธ.รธน.ถกต่อรายมาตรา

       เมื่อเวลา 09.20 น. ที่รัฐสภา มีการประ ชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่เสนอโดยอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตรา ที่มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน โดยพิจารณาต่อเนื่องจากวันที่ 14 ม.ค. ซึ่งนางกาญจนารัตน์กล่าวว่า ความคืบหน้าการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 12-14 ม.ค.นั้น กมธ.ยกร่างฯผ่านการพิจารณาในภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน ไปแล้ว 53 มาตรา รอการพิจารณาอีก 2 มาตรา 3 วรรค คงเหลือการพิจารณาอีก 34 มาตรา 

      จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาในภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ตอนที่ 3 สิทธิพลเมือง ในมาตรา (1/2/2)27 ถึง (1/2/2)33 โดยมีการอ้างอิง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาปรับใช้ กมธ.อภิปรายกันพอสมควรแต่เห็นคงตามบทบัญญัติที่อนุกมธ.เสนอ โดยปรับแก้ไขข้อความถ้อยความบางส่วน ในมาตรา (1/2/2)30 และ(1/2/2)32 

ส่อรื้อพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร

      ทั้งนี้ มาตรา (1/2/2)33 ที่ระบุว่า "พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของรัฐ เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูล หรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงต่อรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ได้มีกมธ.ยื่นขอปรับถ้อยคำและข้อความบางตอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

      คณะกมธ.ยกร่างฯอภิปรายประเด็น ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง พร้อมเสนอให้ปรับโครงสร้าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร โดยหน่วยงานที่ต้องการปกปิดข้อมูลต้องแจ้งต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อพิจารณาการปกปิดข้อมูลดังกล่าว โดยขึ้นเป็นบัญชีไว้ว่าข้อมูลใดไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนข้อมูลใดที่ไม่อยู่ในบัญชี ประชาชนก็สามารถขอข้อมูลได้ทั้งหมด 

       ส่วนข้อมูลอื่นๆ ต้องเผยแพร่ต่อประชาชนได้ ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างเดิมที่ประชาชนต้องร้องขอให้เปิดข้อมูลจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ในส่วนท้ายสุดได้ข้อสรุปว่าให้คงเนื้อหาของมาตราดังกล่าวตามที่อนุกมธ.ยกร่างฯ รายมาตราได้เสนอ แต่ให้บัญญัติรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐแทน รวมถึงให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ครม.พิจารณาและกมธ.ปฏิรูปสื่อมวลชน ได้หารือกันต่อไป

ให้สิทธิปชช.ลงประชามติ 

       ในช่วงบ่าย กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ (1/2/2) 35 และ (1/2/2) 36 จบการพิจารณาส่วนที่ 2 สิทธิเสรีภาพของพลเมือง จึงเข้าสู่การพิจารณา ส่วนที่ 3 การมีส่วนทางการเมือง มาตรา (1/2/3) 1 - (1/2/3) 4 มีการพิจารณาที่น่าสนใจ ในมาตรา (1/2/3) 3 ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ยึดตามหลักการในมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุว่า "พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยการออกเสียงประชามติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่ครม.มีมติให้มีการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน หรือในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ 

      ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กำหนดว่า การออกเสียงประชามติตามวรรคหนึ่งอาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อเป็นข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้ออกเสียงประชามติหรือการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษากับครม.ก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะ การออกเสียงประชามติต้องเป็นการออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้ออกเสียงประชามติ และการจัดให้มีการออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำไม่ได้

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

       ด้านกมธ.อภิปรายอย่างละเอียดทุกประเด็น ตั้งแต่การเสนอแก้ไขให้ตัดวรรคหนึ่งช่วงท้าย ที่กำหนดให้การลงประชามติเป็นไปตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เนื่องจากมองว่าไม่ครอบคลุมบางเรื่องที่จะนำมาทำประชามติ เช่น การที่กมธ.ยกร่างฯต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก ทั้งยังเสนอให้ตัดส่วนท้ายของวรรคสาม ที่ระบุว่า "การจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้" เพราะกมธ.ยกร่างฯ ยังมีประเด็นที่จะนำรายชื่อบุคคลที่ถูกชี้มูลความผิดไปให้ประชาชนลงมติถอดถอน พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอให้ทำประชามติในบางพื้นที่เพื่อหาข้อยุติในบางประการ เช่น การอนุมัติผังเมือง ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันตัดสิน 

       ในมาตรานี้ กมธ.ยกร่างฯมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การใช้อำนาจทางตรง จึงต้องไม่มีทางเดียวที่มาจากครม. แต่ต้องเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนเสนอด้วย เพราะประชามติคือ การริเริ่มจากประชาชนและจบลงด้วยประชาชน แต่ที่ผ่านมาของไทยไม่ได้เริ่มจากประชาชนแต่เริ่มจากครม.ที่ต้องการข้อปรึกษาหารือเท่านั้น จึงเห็นด้วยว่าให้กำหนดลงไปในส่วนของการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง ทั้งยังเห็นชอบให้เสนอแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้ทันกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญด้วย

2 หมื่นชื่อไล่นักการเมืองได้

       จากนั้นในช่วงค่ำ กมธ.มีการพิจารณาในหมวดที่ 2 ประชาชน ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ซึ่งมีทั้งหมด 3 มาตรา โดยสาระสำคัญของมาตรา(1/2/4)1 กำหนดให้หน่วยงานและองค์กรของรัฐต้องเปิดเผยรายละเอียดของโครงการที่มีการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต่อสาธารณะให้รับทราบ ยกเว้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือตามที่กฎหมายกำหนด 

      มาตรา (1/2/4) 2 ว่าด้วยการให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยมีบทบัญญัติให้สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและติดตามข้อมูลข่าวสารของหน่วยราชการ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

      ส่วนมาตรา (1/2/4) 3 มีการนำบทบัญญัติจากมาตรา 164 ของรัฐธรรมนูญ 50 มาปรับถ้อยคำใหม่ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ประชาชนจำนวน 2 หมื่นชื่อมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้รัฐสภาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ 

     อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกมธ.ได้พิจารณาเห็นชอบร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามที่อนุกมธ.เสนอ รวมทั้งสิ้น 19 มาตรา รวม 4 วัน พิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชนจำนวน 72 มาตรา

ขันนอตโฆษกกระทรวง

       เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโฆษกกระทรวง ครั้งที่ 1 โดยมีตัวแทนคณะทำงานโฆษกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพร้อมเพรียง

    พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยผลประชุมว่า ที่ประชุมหารือการทำงานของแต่ละหน่วยงานเพื่อบูรณาการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ และกำชับให้คณะทำงานโฆษกทุกหน่วยเชื่อมโยงข้อมูลและช่วยกันประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะหน่วยงานที่อาจจะยังไม่ได้นำเสนอข้อมูลไปสู่สังคมให้ดำเนินการมากขึ้น 

      ผู้สื่อข่าวถามว่ามีประเด็นใดบ้างที่รัฐบาลเห็นว่าการสื่อสารไปถึงประชาชนยังไม่กระจ่างหรือล่าช้า พ.อ.วินธัยกล่าวว่า การดำเนินงานนับตั้งแต่คสช.มาจนถึงรัฐบาลที่ได้ทำทั้งหมด การสะท้อนกลับมาผ่านสื่อหรือคำตอบของสังคมทำให้ทราบว่ายังได้รับข้อมูลไม่ทั่วถึงก็ต้องไปปรับการทำงานต่อไป ซึ่งแต่ละกระทรวงต้องเพิ่มเติมการประชา สัมพันธ์และให้ข้อมูลในส่วนงานที่แต่ละกระทรวงปฏิบัติอยู่แล้วให้ประชาชนทราบได้โดยตรงไม่เฉพาะการชี้แจงจากส่วนกลางอย่างเดียว 

พร้อมชนทุกเวทีที่เห็นต่าง

       พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำด้วยว่าสิ่งใดที่สามารถชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับสังคมได้ขอให้รีบดำเนินการทันที เพราะบางเรื่องแม้นายกฯ หรือคณะโฆษกประจำสำนักนายกฯ หรือโฆษก คสช.จะชี้แจงแล้ว แต่ด้วยความจำกัดของสื่อ แต่ละกระทรวงต้องช่วยชี้แจงและเร่งสร้างความเข้าใจด้วย นอกจากนี้ ในเวทีหรือรายการต่างๆ ที่มีข้อสงสัยหรือการตั้งข้อสังเกตและอาจมีฝ่ายที่มีคามเห็นต่างร่วมรายการด้วยนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็พร้อมร่วมชี้แจงและรับฟัง เพื่อจะได้มีโอกาสชี้แจงและสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องด้วย ถือเป็นการใช้วิกฤตเป็นโอกาส

     "ก่อนหน้านี้เราอาจจะหลีกเลี่ยงเวที หรือรายการของสื่อมวลชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่จากนี้ไป จะใช้โอกาสเหล่านี้ชี้แจงและทำความเข้าใจต่อสังคมด้วย" พล.ต. สรรเสริญกล่าว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมาของคณะทำงานทั้งในส่วนของโฆษกประจำสำนักนายกฯ โฆษก คสช.และกระทรวงต่างๆ ยังไม่เป็นที่พอใจของนายกฯ อีกทั้งผลงานต่างๆ ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน จนนายกฯต้องสั่งด้วยวาจาให้เร่งสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น

เตรียมตั้งวิปรัฐบาล-สปช.

      เมื่อเวลา 16.30 น. ที่รัฐสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ และประธานกมธ.ของสปช.ทั้ง 18 คณะ ถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับสปช. โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯและน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 ร่วมประชุม โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง 

      นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. ในฐานะเลขานุการวิป สปช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีระบบคณะกรรมการประสานงานแต่ละฝ่ายขึ้นทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปฏิรูปดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยมีวิปประสานกับวิปสปช. มีแค่สนช. ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯฝากความความกังวลต่อประเด็นผลงาน และความคาดหวังของประชาชนทั้งระยะ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 1 ปี จึงขอให้ทุกภาคส่วนกำหนดกรอบการทำงานเสนอให้สปช.พิจารณา 

เร่งเดินหน้าปฏิรูป

      นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นายกฯ ได้ฝากรายงานความเห็นในข้อเสนอปฏิรูป 11 ด้าน จาก 27 หน่วยงาน ครอบคลุม 20 กระทรวง ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐ กิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมวลเรื่องนี้และนำเข้าที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯ มองว่าเป็นประโยชน์ในการนำความเห็นส่วนราชการให้สปช. เพื่อจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศต่อไป ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลและสปช. ตั้งใจทำงานร่วมกันให้การปฏิรูปเป็นรูปธรรม ส่วนข้อเสนอการปฏิรูปที่รัฐบาลพร้อมรับนำไปสนับสนุน ควรเป็นรายงานที่สมบูรณ์และบอกวิธีการแก้ปัญหา 

     "ครม.จะส่งรายชื่อบุคคลภายนอก ให้เข้ามาเป็นกมธ.ในสปช. คณะละ 5-6 คน เพื่อให้งานเกิดความสมบูรณ์ ซึ่งเหตุผลก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลไม่ได้ส่งรายชื่อเข้ามาตั้งแต่ต้น เพราะ สปช.ศึกษาข้อเสนอแนะต่อกมธ.ยกร่างฯ จึงไม่อยากให้เสียสมาธิ แต่หลังจากนี้จะเริ่มส่งชื่อเข้ามาเพื่อแต่งตั้งต่อไป" นายอลงกรณ์กล่าว

      นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า อยากฝากให้แต่ละเรื่องที่ สปช.เสนอแนะมานั้น ช่วยระบุรายละเอียดการปฏิรูปในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนในอนาคต รัฐบาลอยากให้การทำงานด้านปฏิรูปเป็นไปแบบที่ประชาชนคาดหวัง ซึ่งสปช.เองก็จะทำงานอย่างเต็มที่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!