- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 08 October 2024 22:41
- Hits: 2412
TATG ไม่ทำนักลงทุนผิดหวัง เปิดเทรดวันแรกราคาพุ่งเหนือจอง 85.60%
บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) หรือ TATG ฉลองความสำเร็จในโอกาสเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม นำโดย
ดร.พยุง ศักดาสาวิตร (กลาง) ประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท ได้รับเกียรติจาก นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ พร้อมด้วย นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ (ที่ 1 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และนางยอดฤดี สันตติกุล กรรมการบริหารและผู้บริหารสูงสุดสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ร่วมแสดงความยินดี ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567
โดย TATG เปิดเทรดวันแรกที่ 2.32 บาท เพิ่มขึ้น 85.60% เหนือราคาจอง (IPO) ที่ 1.25 บาท ตอกย้ำความเชื่อมั่นบริษัทผู้นำในธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ครอบคลุมถึงการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะ อุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ อุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชีย
ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า
ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) TATG กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจในฐานะบริษัทที่ก่อตั้งโดยคนไทย 100% และเป็นผู้นำการออกแบบและสร้างแม่พิมพ์โลหะ อุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพสูงในภูมิภาคเอเชีย พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้มีความมั่นคง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มขั้น โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้สำหรับลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ และชำระหนี้สถาบันการเงิน
การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 115.8 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) นำไปใช้ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมในกลุ่มบริษัทฯ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯและบริษัทย่อย รวมทั้งใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงิน โดยกลุ่มบริษัทฯ มีแผนการลงทุนเครื่องจักรการผลิตเพิ่มเติม ครอบคลุมทั้งระบบที่ควบคุมด้วยบุคคล (Manual Control) และระบบอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (Automatic Control) เพื่อให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตปริมาณมาก และการผลิตที่เน้นความพิถีพิถันสูง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและควบคุมการผลิตให้ดีขึ้น ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสำหรับงานด้านการออกแบบและผลิตเครื่องมือกล (Tooling) เพื่อสนับสนุนให้บริษัทฯ สามารถออกแบบแม่พิมพ์และสามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนด รวมถึงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่อัตราการแข่งขันอาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของบริษัทฯ ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคต ตอกย้ำให้ TATG เป็นบริษัทชั้นนำของคนไทย ที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศ
สำหรับ โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 และภายหลังการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปในครั้งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มศักดาสาวิตร จำนวน 134.04 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 44.68% และ 33.51% ตามลำดับ กลุ่มหฤทัย 100.80 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนก่อนและหลัง IPO 33.60% และ 25.20% ตามลำดับ กลุ่มเหล่าสินชัย 37.20 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนก่อนและหลัง IPO 12.40% และ 9.30% ตามลำดับ และกลุ่มพนักงาน 27.96 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนก่อนและหลัง IPO 9.32% และ 6.99% ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
รายได้และกำไร เติบโตดี
ภายใต้แนวคิด 'เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน' และกลยุทธ์ เน้นสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้า ส่งผลทำให้ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทฯ มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) กลุ่มบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,547.60 ล้านบาท 2,922.47 ล้านบาท และ 3,002.91 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 35.04 , 14.71 และ 2.75 ตามลำดับ ขณะที่ กำไรสุทธิอยู่ที่ 164.55 ล้านบาท 108.16 ล้านบาท และ 47.87 ล้านบาท ตามลำดับ ลดลงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและบริการในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ในปี 2564 - 2566 มีกำไรขั้นต้นจากการขายอยู่ที่ 294.32 ล้านบาท 276.21 ล้านบาท และ 241.27 ล้านบาท ตามลำดับ หรือ คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 13.39 ร้อยละ 10.20 และ ร้อยละ 8.59 ตามลำดับ
ขณะที่รายได้รวมงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีรายได้รวม 1,340.11 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 45.87 ล้านบาท ในขณะที่งวดปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมและกำไรสุทธิเท่ากับ 3,002.91 ล้านบาท และ 47.86 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิย้อนหลัง 4 ไตรมาสเท่ากับ 89.27 ล้านบาท ทิศทางรายได้ของบริษัทฯ มีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ ทยอยกลับมาทำการตลาดเพื่อวางแผนสำหรับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น
สำหรับ งวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และ 2567 มีกำไรขั้นต้นจากการขายอยู่ที่ 130.79 ล้านบาท และ 125.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 9.21 และร้อยละ 10.40 ตามลำดับ ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น โดยหลักมาจากการที่กลุ่มบริษัทฯ จำหน่ายเศษวัตถุดิบเกิดจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้ในราคาที่สูงกว่าราคา Scrap Return ที่กำหนดไว้ก่อนการผลิต จึงส่งผลให้อัตรากำไรจากเศษวัตถุดิบสูงขึ้น ส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นจากการขายปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ได้วางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แม่พิมพ์โลหะ และเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลิต ส่งผลให้มีกำไรเนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นทั้งกำไรจากการขาย และกำไรจากการบริการ และการลดลงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร สะท้อนการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้ง กลุ่มบริษัทฯ ได้วางแผนลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะสนับสนุนให้ TATG สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต
เป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน
การพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ามาเป็นแกนหลักในกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอน รวมถึงถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวสู่สายงานระดับปฏิบัติการต่างๆ ขององค์กร และบูรณาการแผนการปฏิบัติงานให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างความสมดุลในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เป้าหมาย และกลยุทธ์ของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทฯ โดยมีแนวทางกำกับดูแลดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการจะกำกับดูแลให้การจัดทำกลยุทธ์และแผนงานประจำปีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัทฯ โดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ที่ครอบคลุมการเคารพสิทธิมนุษยชน และด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี อย่างรอบด้าน และจะสนับสนุนให้มีการติดตามและทบทวนการดำเนินการตามกลยุทธ์และเป้าหมายที่ได้วางไว้ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์แผนงานของบริษัทฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้
2. คณะกรรมการจะดูแลให้มีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ปัจจัย และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Value Chain) ในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานประจำปี รวมทั้งพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายหลักของบริษัทฯ อย่างรอบด้าน โดยมีกลไกที่ทำให้เข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง
3. คณะกรรมการจะกำกับดูแลให้มีการควบคุมการดำเนินกิจการของบริษัทฯ อย่างเหมาะสม รวมทั้งถ่ายทอดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัทฯ ผ่านกลยุทธ์และแผนงานการดำเนินการให้พนักงานทั้งองค์กรรับทราบและนำไปปฏิบัติ
การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
กลุ่มบริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาระบบการผลิตที่สามารถลดต้นทุนการผลิตที่มีความเหมาะสม ทั้งในมิติของต้นทุนดำเนินการและอรรถประโยชน์ที่ได้ในระยะยาว เพื่อสร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ภายใต้แนวทางดังนี้
1. ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี จรรยาบรรณของบริษัทฯ รวมทั้งนโยบาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
2. ยึดถือหลักคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ วิธีการและมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้ และที่สากลยึดถือปฏิบัติ
3. มุ่งมั่นที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดภายใต้งบประมาณของลูกค้า เพื่อเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
4. แสวงหาแนวทางพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างสรรค์ คิดค้น และพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทฯ มีคุณสมบัติและความสามารถในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
5. เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต เพื่อเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรม
6. บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ ด้าน
7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้พันธมิตร คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ธุรกิจดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การปฏิบัติการ (Operations)
มุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย โดยนำเอาระบบอัตโนมัติ อาทิ หุ่นยนต์ (Robotic) มาใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนมีการนำระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-in-time Production) มาบริหารจัดการทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ให้สูงขึ้น มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการอบรมภายในและภายนอก ทำให้บริษัทสามารถแข่งขัน
การจัดส่งสินค้า หรือโลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics) มีระบบการควบคุมสินค้า โดยใช้ระบบคัมบัง (Kanban System) ทำให้สามารถบริหารพื้นที่การจัดเก็บสินค้า การจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของลูกค้า
การตลาดและการขาย (Marketing and Sales)ให้ความสำคัญกับลูกค้า ทั้งในด้านคุณภาพที่ดี ราคาที่มีความเหมาะสม การส่งมอบที่ตรงตามเวลา และตรงตามความต้องการของลูกค้ามาเป็นหลักในการบริหาร ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจร่วมกับกลุ่มบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง
การให้บริการลูกค้า (Customer Services) ให้บริการลูกค้าในตั้งแต่กระบวนการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Dies), อุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ (Assembly Jigs), และอุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ (Checking Fixtures) รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพสินค้าจนเป็นที่พึงพอใจของ รวมถึงส่งมอบให้กับลูกค้าตรงตามเวลาที่กำหนด
แผนการบริหารความเสี่ยง
การบริหารความเสี่ยงขององค์กร เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ทั้งที่ส่งผลเป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน อีกทั้งการบริหารความเสี่ยงยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย โดยมุ่งหวังให้กลุ่มบริษัทเป็นองค์กรที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า มีภาพลักษณ์ที่ดี มีการกำกับดูแลที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทย นับว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยมีจำนวนผู้ผลิตมากกว่า 2,200 ราย (ที่มา: สถาบันยานยนต์) โดยแบ่งเป็น Tier-1 Suppliers จำนวนประมาณ 720 ราย และ Tier-2 และ Tier-3 Suppliers มากกว่า 1,500 ราย ทำให้มีการแข่งขันสูงมากทั้งในด้านคุณภาพและราคาสินค้า หากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใดที่ต้องการจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้ว่าจ้างผลิตจะต้องให้บริการได้อย่างครบวงจร สามารถผลิตสินค้าได้ตามคุณภาพและปริมาณที่กำหนด
ดังนั้น หากกลุ่มบริษัทฯ ไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ในการผลิต Tooling โดย TATP ถือว่าเป็น OEM Supplier Tier 1 เนื่องจากให้บริการออกแบบและผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (Tooling) แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ (Car Brand) รวมถึง OEM Supplier Tier 1 ที่ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อป้อนโรงงานผลิตของ Car Brand ในส่วนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ กลุ่มบริษัทฯ ถือเป็น Tier-2 เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ OEM Supplier Tier 1 เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงนี้เป็นอย่างดี จึงได้ยึดหลักการดำเนินธุรกิจ SQCD ตลอดมา (Safety First, Good Quality, Reasonable Cost, and On-Time Delivery) เพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพในระดับราคาที่เหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด การมีบุคลากรที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะ, อุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ และอุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบรวมถึงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
อีกทั้ง การมีเครื่องจักรที่ทันสมัยครอบคลุมตั้งแต่ขนาดเล็ก 50 ตัน ไปจนถึงขนาดใหญ่ 2,000 ตัน ทำให้สามารถผลิตงานได้หลากหลายประเภท นอกจากนี้ยังมีงานในส่วนของการชุบเคลือบสีชิ้นส่วนด้วยไฟฟ้า (EDP) จึงนับได้ว่า กลุ่มบริษัทฯ มีการบริการแบบครบวงจร ประกอบกับมีทีมผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมามากกว่า 30 ปี จึงเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มบริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจและได้รับงานมาอย่างต่อเนื่อง
จุดเด่น P/E(Fully Diluted) 5.2 เท่า
นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) TATG เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่ง อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ ของ TATG ที่ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 25.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 1.00 บาท เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ภายในปี 2567
สำหรับ ราคาหุ้น TATG ที่เสนอขายหุ้นละ 1.25 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ภายหลังการเสนอขายหุ้น (Fully Diluted) เท่ากับ 5.2 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 โดยมอง TATG เป็นอีกหุ้นน้องใหม่ที่มีความน่าสนใจ ด้วยราคาที่กำหนดไว้มีความเหมาะสม มีศักยภาพการเติบโตของธุรกิจเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม ภายหลังระดมทุนบริษัทฯพร้อมที่จะนำเงินไปใช้เสริมศัยกภาพในการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ด้วยจุดเด่นของ TATG บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ (Tooling) ครอบคลุมถึงการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะ (Dies) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ (Checking Fixtures) และอุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ (Assembly Jigs) และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Automotive Press Parts) ประกอบไปด้วย 4 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ (ปทุมธานี) จำกัด หรือ TATP, 3. บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ (ชลบุรี) จำกัด หรือ TATC และ 4. บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ (อีสเทิร์น) จำกัด หรือ TATE ด้วยจุดเด่นของโรงงานตั้งอยู่ใน เขตปทุมธานี และชลบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีการวางโครงสร้างบริหารแบบ Business Unit มีความคล่องตัวทั้งในการบริหารบุคลากร การผลิต การดูแลลูกค้า ทำให้สามารถตอบสนองเป้าหมายและความต้องการได้ในทุกมิติ ครอบคลุมทั้ง คุณภาพ ต้นทุน และการส่งมอบงานที่ตรงตามเวลาที่กำหนด