- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 09 October 2024 12:32
- Hits: 1737
โครงการปรับระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (Transmission System Improvement Project in Northeastern, Lower Northern, Central Regions and Bangkok Area to Enhance System Security) (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TIEC ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 แล้ว
สาระสำคัญ
1. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (14 กรกฎาคม 2558) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ทั้งหมด 3 ระยะ ในวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 94,040 ล้านบาท โดยให้ดำเนินโครงการดังกล่าวเฉพาะระยะที่ 1 - 2 วงเงินลงทุน 36,690 ล้านบาท ไปก่อน สำหรับการดำเนินโครงการ TIEC ในระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 55,350 ล้านบาท ให้ กฟผ. พิจารณาปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับปริมาณพลังงานทดแทนในปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ตลอดจนความจำเป็นในการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าสำหรับรองรับไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง กฟผ. ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการ TIEC ระยะที่ 3 และดำเนินการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับปริมาณพลังงานทดแทน รวมทั้งให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อจากโรงไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) โดยได้แบ่งการดำเนินโครงการ TIEC ระยะที่ 3 ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะ |
การดำเนินการ |
งบประมาณ (ล้านบาท) |
ระยะที่ 3.1 |
ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในช่วงปี 2566 - 2571 |
38,500.00 |
ระยะที่ 3.2 |
ปรับปรุงระบบไฟฟ้าตามความจำเป็นเพิ่มเติมในอนาคต |
16,850.00 |
รวมวงเงินทั้งสิ้น |
55,350.00 |
ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินลงทุนตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ และคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีมติอนุมัติรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว แต่โดยที่โครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 มีขอบเขตงานเปลี่ยนแปลงไปจากขอบเขตงานโครงการ TIEC ระยะที่ 3 ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยเห็นชอบไว้ กระทรวงพลังงานจึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 ในครั้งนี้
2. โครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีศักยภาพในการรองรับการเชื่อมต่อของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และรองรับการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่สามารถรองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ได้ในอนาคต ประกอบกับโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยแล้ว โดยมีแผนการดำเนินงานระหว่างปี 2566 - 2571 ภายในกรอบวงเงิน 38,500 ล้านบาท [แบ่งเป็น (1) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 8,202.50 ล้านบาท และ (2) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้าง 30,297.50 ล้านบาท] มีขอบเขตงานที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างและปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kV วงจรคู่ ในเส้นทางต่างๆ เช่น (1) ชัยภูมิ 2 - นครราชสีมา 3 ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (2) นครราชสีมา 3 - วังน้อย ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตรและ (3) วังน้อย - หนองจอก ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งแบบใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่และใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิมแล้วก่อสร้างใหม่เป็นวงจรคู่และการก่อสร้าง/ปรับปรุง/ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง
3. ภาพรวมโครงการ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
วัตถุประสงค์ |
- เพื่อให้ระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. มีศักยภาพในการรองรับการเชื่อมต่อของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และรองรับการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน - เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่สามารถรองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ได้ในอนาคต |
|
ขอบเขตงานก่อสร้าง |
(1) ก่อสร้าง/ปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง - สายส่ง 500 KV ชัยภูมิ 2 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (ใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่) - สายส่ง 500 KV นครราชสีมา 3 - วังน้อย วงจรคู่ ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร (ใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่) - สายส่ง 500 kV วังน้อย - หนองจอก วงจรคู่ ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร (ใช้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิม โดยรื้อสายส่งวงจรเดี่ยวออก แล้วก่อสร้างใหม่เป็นวงจรคู่) (2) ก่อสร้าง/ปรับปรุง/ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง - หนองจอก (ก่อสร้าง/ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500/230 kV) - นครราชสีมา 3 (ก่อสร้าง/ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500/230 kV) - ชัยภูมิ 2 และวังน้อย (ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500 kV) - ท่าตะโก (ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 kV) |
|
ระยะเวลาดำเนินการ |
กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 2571 |
|
ประโยชน์และผลกระทบ |
- เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาวโดยก่อสร้างระบบส่ง 500 kV เพื่อรองรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านตามกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งขยายจาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ - เพิ่มความสามารถในการส่งพลังไฟฟ้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ไปยังศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งช่วยรักษาระดับความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง - เพิ่มความคล่องตัวในด้านปฏิบัติการควบคุมและการจ่ายไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง รวมทั้งกรณีที่ต้องปลดโรงไฟฟ้าเข้า/ออกในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและหยุดซ่อมบำรุงรักษา รวมทั้งรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน - รองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) |
|
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม |
- พื้นที่แนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าของโครงการ TIEC ระยะที่ 3.1 ไม่พาดผ่าน พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 จึงไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) - แนวสายส่ง 500 kV นครราชสีมา 3 - วังน้อย พาดผ่านพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) (ระยะทางประมาณ 0.615 กิโลเมตร) จึงต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 8 ตุลาคม 2567
10276