WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8820 ข่าวสดรายวัน

ปปช.ฟัน 2 รมต. สเต็ปแรก ก่อนลงมติปู 2 วัน พท.ชี้โยงถอด เอาผิดปมจีทูจี วิชาอ้างบังเอิญ 'นิคม'ประเดิม คิวแถลงปิดคดี 


ไหว้ป๋า - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไหว้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ระหว่างเป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญน้ำหลวงอาบศพพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผบ.สส. ที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อ 20 ม.ค.

      ป.ป.ช.ฟันคดีขายข้าวจีทูจีกราวรูด'บุญทรง-ภูมิ-บิ๊กขรก.-เสี่ยเปี๋ยง' กับพวกรวม 21 รายเตรียมส่งอสส.ยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เสนอพาณิชย์-คลังฟ้องแพ่ง 6 แสนล้าน ขยายผลสอบขายมันสำปะหลัง 'จาตุรนต์'จวกหวังผลถอดถอน'ปู' ทีมทนายขู่ฟ้องถ้าจับโยง 2 คดี'วิชา'อ้างแค่เรื่องบังเอิญ วิปสนช.คาด 23 ม.ค. ใช้เวลาลงมติ 3 ชั่วโมง 'บิ๊กตู่'ฉุนสื่ออีก จี้ถามงบฯทบ.ซื้อเรือกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

'ครม.-คสช.'ประเมินความมั่นคง
       เวลา 09.00 น. วันที่ 20 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมครม.และคสช.นัดแรกของปี 2558 โดยมีผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง บรรยากาศคึกคักตั้งแต่เช้า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหยอกล้อ เมื่อถูกถามว่าวันนี้อารมณ์ดีหรือไม่ว่า อารมณ์ดีทุกวัน
      เวลา 13.30 น. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. และโฆษกกองทัพบก(ทบ.)กล่าวหลังการประชุมว่า คสช.รายงานสถานการณ์ความมั่นคงภาพรวมในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้ครม.รับทราบ ขณะนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะยังไม่มีสิ่งบอกเหตุและยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนใหญ่กลุ่มที่เคลื่อนไหวเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงกลุ่มที่จะมาสนับสนุนน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีใน วันที่ 23 ม.ค.ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาสำนวนคดีถอดถอนกรณีจำนำข้าวนั้น ยังไม่มีการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงแต่ต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไป ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดความวุ่นวาย

ฉุนข่าวทบ.ซื้อเรือท้องแบน 
      ด้านพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลัง ประชุมร่วมคสช.และครม. และครม.เศรษฐกิจรวม 7 ชั่วโมงว่า การประชุมร่วมครม.กับคสช. เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในประเด็นที่ยังล่าช้า รวมถึงชี้แจงการทำงานต่างๆ จากนั้นประชุมครม. ซึ่งหารือในงานปกติที่ต้องขออนุมัติและพิจารณา ก่อนจะประชุมครม.เศรษฐกิจวงเล็ก เพื่อดูว่าเราจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มีอาชีพแตกต่างกันอย่างไร 
      นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังหารือการจัดการข้าวในสต๊อกโดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อราคาข้าวในท้องตลาด อาจขายให้กับคนที่มีรายได้น้อยบ้าง หารือการแก้ไขปัญหายางพารา ซึ่งสั่งการไปแล้วส่วนหนึ่งนำไปทำถนน ทำยางรถยนต์หรือวัสดุสนามกีฬาให้โรงเรียนต่างๆ เราคิดในทุกมาตรการทั้งรถไฟส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ซึ่งให้เสร็จในเดือนก.พ. แต่ถ้าไม่ได้ก็จะมาว่ากันในเรื่องวิธีการโดยไม่มีใครได้ผลประโยชน์ สิ่งสำคัญคือให้เกิดผลได้เร็วที่สุด 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการจัดซื้อเรือท้องแบนของกองทัพบกเป็นเงิน 39 ล้านบาท บริษัทที่ชนะการประกวดราคาและบริษัทที่เสนอราคา มีผู้ถือหุ้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พล.อ.ประยุทธ์ตอบโดยไม่หันไปมองคนถาม กล่าวห้วนๆ ว่า ไปแจ้งความมา เมื่อมีเสียงยืนยันผู้สื่อข่าวไม่มีหน้าที่ฟ้องร้อง พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าได้ ทุกคนแจ้งได้ไปหามา

ประกาศเสียงดัง'อารมณ์เสีย'
      ผู้สื่อข่าวคนเดิมพยายามถามกรณีครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เมื่อวันที่ 6 ม.ค. มีความจำเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เป็นการเข้าไปหากมธ. เพราะเราเป็นผู้เริ่มต้นแล้วกมธ.เข้ามา เสนอต่อครม. ทุกคนต้องรู้จักกติกาบ้าง รู้ว่าทำงานกันอย่างไร สิ่งที่ผมกลัวและเป็นห่วง ทุกคนมัวแต่มองอย่างเดียวว่าจะถูกจำกัดสิทธิ์ วันนี้จำกัดสิทธิ์อะไรบ้างหรือยัง จำกัดอะไรบ้างรึยัง"
      เมื่อถามว่า แต่มีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ เข้าถึงข้อมูลทุกรูปแบบ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า แล้วเขาจบหรือยัง กฎหมายออกมาหรือยัง เมื่อถามว่าทำไมถึงผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าว น้ำเสียงขึงขังด้วยสีหน้าแดงก่ำว่า "ไม่ต้องมาทำไม จะผ่านทำไม แล้วจะเป็นทำไมวะ นายกฯ จะเป็นทำไม"
      ผู้สื่อข่าวคนอื่นพยายามถามประเด็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์เดินเลี่ยงกล่าวว่า "ไม่เอาไปแล้ว" เดินและบ่นเสียงดังว่า "อารมณ์เสียๆ" ก่อนเดินขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า

ชี้นายกฯเครียดเรื่องข้าว
      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ชี้แจงกรณีนายกฯ ตอบคำถามสื่ออย่างมีอารมณ์กรณีถูกถามเรื่องการจัดซื้อเรือท้องแบน และการออกกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และไซเบอร์ 6 ฉบับ ที่ถูกมองว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนว่า คนที่เป็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบการทุจริตหรือรับรู้ในทุกโครงการ หากผู้ใดพบการทุจริตก็ทำหนังสือยื่นต่อป.ป.ช., ปปท. หรือกองทัพ ให้ตรวจสอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาตั้งคำถามเพื่อจี้ให้นายกฯ ไปตรวจสอบ เพราะนายกฯ พ้นจากการทำหน้าที่ ผบ.ทบ.มาแล้ว ขณะที่การออกกฎหมายคอมพิวเตอร์ เมื่อผ่านความเห็นชอบของครม.แล้ว ยังมีคณะกรรมการกฤษฎีการตรวจสอบและส่งให้สนช.พิจารณา หากใครมีข้อห่วงใยก็ไปแปรญัตติในชั้นกมธ.ได้
     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ระหว่างการประชุมร่วมมีการรายงานภาพรวมการระบายข้าวที่อยู่ในสต๊อกรัฐบาล 17 ล้านตัน พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ รายงานว่าข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกเป็นข้าวที่ได้มาตรฐาน 2 ล้านตัน ไม่ได้มาตรฐาน 14 ล้านตัน ข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญหาย 7 แสนตัน จะเปิดตลาดประสานภาคธุรกิจระบายข้าว คาดใช้เวลาน้อยกว่า 4 ปี หากเก็บไว้จะเสียค่าเก็บรักษาเดือนละ 2,600 ล้านบาท ทำให้นายกฯ เกิดความเครียดจากปัญหาข้าว เพราะเก็บไว้นานจะเสียเงินรักษาคุณภาพข้าว อีกทั้งรัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมระบายข้าวจนทำให้ข้าวเสียหาย ทั้งที่หากเร่งรัดระบายข้าวจะส่งผลต่อราคาข้าวในตลาด ยิ่งทำให้ราคาตกต่ำลง 

นายกฯสั่งครม.ชี้แจงปมถอด 
      พล.ต.สรรเสริญ ยังแถลงผลประชุมร่วม ครม.-คสช.ว่า คสช.รายงานที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์ความสงบ ถือว่าอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีผลกระทบร้ายแรง ส่วนการลงมติถอดถอนนักการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ย้ำให้ทุกภาคส่วนทั้งครม.และคสช.ช่วยชี้แจงว่าที่ทำอยู่ขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งของสังคมในอดีต จะอยู่เฉยไม่ได้เพราะจะปะทุขึ้นมาอีก ดังนั้น เรื่องต่างๆ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย 
     พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ ระบุว่าการ พิจารณาถอดถอนครั้งนี้ เป็นการตรวจสอบภาวะผู้นำ คุณธรรม จริยธรรมของนักการเมือง ที่มีการเสนอข้อมูลทั้งของป.ป.ช.และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อสนช. ซึ่งป.ป.ช.ตั้งข้อสังเกตเรื่องนโยบายการบริหารของรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไร ได้ระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ ขณะที่การตอบข้อซักถามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์มอบให้ทีมงานตอบผ่านยูทูบโดยไม่มาตอบด้วย ตัวเอง เป็นเรื่องที่สังคมจะพิจารณาได้เองว่าการตรวจสอบคุณธรรมและจริยธรรม จะมอบให้ผู้อื่นตอบแทนได้หรือไม่ ยืนยันว่ารัฐบาล คสช.และแม่น้ำทั้ง 5 สายพยายาม แก้ปัญหาขัดแย้งอย่างเป็นระบบ ยึดถือข้อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม ไม่ได้มุ่งทำลายล้างใคร 

ติงแม่น้ำ 5 สายไม่ต่อเนื่อง 
      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย ว่าขาดความต่อเนื่องในการประสานงาน จึงสั่งการให้จัดประชุมแม่น้ำ 5 สายเดือนละครั้ง เริ่มตั้งแต่ต้นก.พ.นี้ และย้ำว่าการประชุมดังกล่าวไม่ได้แทรกแซงการปฏิบัติของแต่ละส่วน แต่พูดคุยเพื่อรับทราบแนวทางและเป้าหมายการทำงานในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้การทำงานของทั้ง 5 สายสอดคล้อง ไม่ไปคนละทิศคนละทาง 
      รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกฯ ย้ำถึงการทำงานของศูนย์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีข้อตกลงให้จัดทำบันทึกข้อตกลงคุณธรรมแนบในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจที่ทำร่วมกับเอกชน ไม่เฉพาะ 2 โครงการนำร่อง คือโครงการจัดซื้อจัดหารถเมล์เอ็นจีวี และการดำเนินการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่ให้รวมถึงทุกโครงการ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลเข้ามาแก้ทุจริตอย่างแท้จริง รวมทั้งสัมปทานปิโตรเลียมด้วย 
      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทำความเข้าใจเรื่องการติดตามตัวผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือชี้แจงประเทศต่างๆ ที่มีบุคคลเหล่านี้หลบหนีอยู่ว่ามีความผิดในข้อกฎหมายอาญาอะไรบ้างและได้ทำเรื่องใดให้คนไทยรู้สึกไม่สบายใจ 
     รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมมีการรายงานกระบวนการถอดถอนของสนช. ซึ่งนายกฯ ไม่กังวลกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเชื่อว่ายังดูแลไม่ให้สังคมเกิดความขัดแย้งได้ แม้จะมีบางกลุ่มพยายามสร้างกระแส จึงอยากให้สังคมเปิดใจรับฟังข้อมูล 

ปปช.ฟัน'บุญทรง'กับพวก 21 คน
      เวลา 09.30 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหานายบุญทรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ตามที่อนุกรรมการไต่สวนรายงาน
       เวลา 15.30 น. นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมว่า ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 โดยพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และน.ส. สุภา ปิยะจิตติ ขอถอนตัวตั้งแต่ต้น โดยมีมติชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 21 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คน คือ นายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และพ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อ ครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรมว.พาณิชย์ เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน คือนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นาย ฑิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว นายอัครพงษ์ ทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ 

เอกชน 15 ราย 
      เอกชน 15 ราย ประกอบด้วย นายสมคิด เอื้อนสุภา นายรัฐนิธ โสจิระกุล และนายลิตร พอใจ ผู้รับมอบอำนาจชำระเงินและผู้รับมอบอำนาจรับมอบข้าว บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด น.ส.สุธิดา จันทะเอ กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ ในฐานะกรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และในฐานะส่วนตัว นายโจ หรือนิมล รักดี นายสุธี เชื่อมไธสง น.ส.สุนีย์ จันทร์สกุลพร นายกฤษณะ สุระมนต์ นายสมยศ คุณจักร บริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร ในฐานะกรรมการบริษัท สิราลัย จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร 

      นายวิชากล่าวว่า ทั้งหมดร่วมกันกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และพ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ทำให้บริษัทซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย โดยแอบอ้างเป็นตัวแทนจากจีน ทำให้ไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายภายในประเทศ หรือราคาที่ต่ำกว่าราคารับจำนำไปขายให้กับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด อีกต่อหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง 

สั่งพาณิชย์-คลังฟ้องเรียก 6 แสนล.
     นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.จะส่งสำนวน ดังกล่าวให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป และส่งรายงานให้นายกฯ รับทราบและให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่ยังไม่ได้ชี้มูลให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป 
       "คณะกรรมการป.ป.ช.ยังมีมติให้ส่งสำนวนเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจีของ นายบุญทรง ไปให้คณะทำงานร่วมป.ป.ช.กับ อสส. ที่กำลังพิจารณาสำนวนโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเป็นพยานหลักฐานตามที่คณะทำงานร่วมร้องขออีกด้วย" นายวิชากล่าว
      นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังมีมติแจ้งให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่ถูกกล่าวหาต่อไป ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยการเรียกค่าเสียหายรัฐบาลต้องรีบดำเนินการ ขอเวลา 1-2 สัปดาห์ในการจัดทำเอกสารหลักฐาน พร้อมให้กรมสรรพากรตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินด้วย 

ขยายผลสอบมันสำปะหลัง 
      นายวิชา กล่าวว่า นอกจากนี้ให้สำนักงานป.ป.ช.ดำเนินการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานว่าในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการซื้อขายมันสำปะหลังในรูปแบบสัญญาซื้อขายรัฐต่อรัฐหรือไม่ อย่างไร แล้วนำเสนอคณะ กรรมการป.ป.ช.เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
       เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าป.ป.ช. ชี้มูลนายบุญทรง ในช่วงที่สนช.กำลังพิจารณาถอดถอน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายวิชากล่าวว่า มันบังเอิญ ซึ่งตนได้แจ้งความคืบหน้าทุกขั้นตอนก่อนที่จะกำหนดวันถอดถอน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาชี้มูลกัน อนุกรรมการไต่สวนทำงานอย่างมีขั้นตอนชัดเจน ยืนยันว่าการที่ป.ป.ช. มีมติในวันนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ 

อ้างปปช.-อสส.สรุปฟ้องปู 
      ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. ดเผยว่า วันนี้คณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช. และอสส. ได้ประชุมนัดสุดท้ายเพื่อพิจารณาหาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งนำข้อไม่สมบูรณ์ที่มีอยู่และพยานหลักฐานที่ป.ป.ช.สอบเพิ่มมาพิจารณา ในที่สุดคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าข้อสมบูรณ์ในคดีขณะนี้มีพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้คณะทำงานร่วมจะส่งเรื่องให้อสส.พิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ต่อไป เท่าที่ทราบฝ่าย อสส.จะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วภายในไม่ กี่วันนี้ ขอให้ติดตามท่าทีจากอสส.ว่าจะสั่งฟ้องคดีได้เมื่อใด

'บุญทรง'โวยตกเป็นเหยื่อ
      นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กล่าวหลังรับทราบข่าวการชี้มูลของป.ป.ช.ว่า แม้กรรมการป.ป.ช.จะชี้มูลตนในวันนี้แต่กระบวนการทางกฎหมายยังไม่ถึงที่สุด ยังมีขั้นตอนต้องส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอสส.จะฟ้องหรือไม่นั้น ยังต้องมีขั้นตอน และท้ายที่สุดแม้อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีของตนต่อศาลแล้ว ก็เชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล เพราะไม่ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา 
     "แต่น่าเสียใจ การชี้มูลคดีของป.ป.ช. นั้นน่าจะมีวาระซ่อนเร้น เพราะชี้มูลคดีผมก่อนจะแถลงปิดสำนวนในคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียง 2 วัน ผมจึงเป็นเพียงเหยื่อทางการเมืองที่หวังจะเอาผลคดีนี้ไปโยงกับคดีถอดถอนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งความจริงคดีเป็นคนละเรื่องกัน" นายบุญทรงกล่าว
      นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผลการตัดสินของ ป.ป.ช. ถือเป็นผลการดำเนินการของรัฐบาลชุดที่แล้ว เอกชนโดยสมาคมทักท้วงที่มาของการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีมาตลอดว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนหรือไม่ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังยืนยันว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน ก็ต้องว่ากันตามขั้นตอนกฎหมาย 

จาตุรนต์ โพสต์ 5 ข้อถามปปช. 
      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิ การ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการชี้มูลของป.ป.ช.ว่า มีข้อสงสัยและอยากถามว่า 1.เหตุใดจึงมีมติวันที่ 20 ม.ค. ก่อนลงมติถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ เพียง 2 วัน เหตุใดไม่ทำก่อนหน้านี้หรือรอจนกว่าการลงมติถอดถอนผ่านไปก่อน 2.เป็นการพยายามเพิ่มเติมเหตุผลข้ออ้างถอดถอนอดีตนายกฯ หรือไม่ 3.หากเป็นเช่นนั้นจะไม่เป็นการโยง 2 เรื่องเข้าด้วยกันจนขาดความเป็นอิสระหรือไม่ 4.หากมีมติว่ารัฐมนตรีและคณะไม่ผิด การถอดถอนก็จะไม่มีน้ำหนัก ถ้ามีมติว่าอดีตรัฐมนตรีกับพวกผิดก็เพิ่มน้ำหนักให้กับการถอดถอน การโยง 2 เรื่องเข้าด้วยกันเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาในทั้ง 2 กรณีหรือไม่ และ 5.การทำงานของ ป.ป.ช.ในกรณีนี้น่าเชื่อถือหรือไม่

'เสี่ยปึ้ง'ยื่นฟ้องปปช.
      เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย รับมอบอำนาจจากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กับพวกรวม 5 คน ยื่นฟ้องกรรมการป.ป.ช. คือ นายภักดี โพธิศิริ ความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น รวมถึงฟ้องนาย ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต 
     นายเรืองไกร ระบุนายภักดีมีคุณสมบัติ เป็นป.ป.ช.ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด เนื่องจากไม่ได้ลาออกจากบริษัท องค์กรเภสัชกรรม เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วัน หลังเข้ามาเป็นป.ป.ช. แต่ป.ป.ช.เพิกเฉย อ้างว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติของป.ป.ช.ด้วยกันเอง และยังอ้างมติของวุฒิสภาว่าเคยพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของนายภักดีมาแล้ว ทั้งที่วุฒิสภาไม่เคยพิจารณา ส่งผลให้นายสุรพงษ์กับพวกได้รับความเสียหายกรณีมีนายภักดีเข้าร่วมประชุม และลงมติในข้อกล่าวหาต่างๆ ทั้งนี้ศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งว่าจะนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์หรือไม่

ยันคดี'บุญทรง'ไม่เกี่ยวถอด'ปู'
      นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คดีที่ป.ป.ช.ชี้มูลนายบุญทรง เป็นกรณีที่ป.ป.ช.กล่าวหาว่าทุจริตเรื่องระบายข้าว ซึ่งต่างจากคดีของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 เห็นได้จากรายงานการไต่สวนของป.ป.ช. ที่ส่งให้กับสนช. ระบุว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สมยอมหรือมีส่วนร่วมทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จึงหวังว่า ป.ป.ช.คงไม่นำเรื่องการชี้มูลในคดีนายบุญทรง มาโยงกับคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันแถลงปิดสำนวนวันที่ 22 ม.ค.
     นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษากฎหมายของคณะทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่รับทราบข้อกล่าวหาในชั้นไต่สวน ป.ป.ช.ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในประเด็นการระบายข้าวแบบจีทูจีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ และเมื่อมีการชี้มูลความผิด ป.ป.ช.ก็ไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องการระบายข้าวแต่ใช้หลักการว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ละเว้น ไม่ระงับยับยั้งโครงการจำนำข้าว รวมถึงเมื่อ อสส.ชี้ข้อไม่สมบูรณ์ในคดีนี้และขอสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ป.ป.ช.โต้แย้งว่า เรื่องระบายข้าวแบบจีทูจีไม่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งโต้แย้งว่าการดำเนินคดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นกรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการดังกล่าว

ขู่ฟ้อง'วิชา'ถ้าจับโยง 
      นายพิชิต กล่าวว่า ดังนั้นสิ่งที่นายวิชา มหาคุณ แถลงในวันปิดคดี หากนำสิ่งนอกเรื่องจากการกล่าวหาเข้ามาโยง ถือว่าไม่เป็นธรรม มีเอกสารหลักฐานชัดเจน คดีของนายบุญทรงจะไม่กระทบกับการแถลงปิดคดีของน.ส. ยิ่งลักษณ์เลยเพราะเป็นคนละคดีกัน แต่หากนายวิชาพูดถึงคดีนายบุญทรง แล้วโยงเข้ามาหรือเอาคดีมารวมกันในวันแถลงปิดคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ วันที่ 22 ม.ค.นี้ ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับนายวิชาทันที เพราะถือว่ากลั่นแกล้งกันในทางการเมือง

เพื่อไทยยันไม่นัดมวลชน 
      นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ วันที่ 23 ม.ค.นี้ว่า ยืนยันว่านปช.และพรรคเพื่อไทยจะไม่นัดรวมพลังมวลชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่หน้ารัฐสภาในวันลงมติและหลังวันลงมติอย่างแน่นอน แต่จะใช้การต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อขอความเป็นธรรม พรรคจะยอมรับผลการลงมติไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จึงอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารเลิกส่งคนมาติดตามแกนนำมวลชนนปช.และสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้แล้ว 
      นายสิงห์ทอง กล่าวว่า ส่วนที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 และอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวหาพรรคเพื่อไทยข่มขู่จะฟ้องสนช.นั้น พรรคไม่ได้ข่มขู่ แต่เป็นกระบวนการขอความเป็นธรรมตามกฎหมายที่เป็นสิทธิของน.ส.ยิ่งลักษณ์ หากต้องถูกถอดถอนทั้งที่รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้ว จึงขอให้นายสุรชัยอย่ากลัวหรือร้อนตัว

วิปสนช.แจงขั้นตอนลงมติ
      เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ คณะกมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. แถลงกระบวนการถอดถอนว่า วันที่ 21 ม.ค. จะเป็นวันแถลงปิดสำนวนของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งนายนิคมยืนยันจะมาแถลงปิดสำนวนด้วยตัวเอง ส่วนนายสมศักดิ์แจ้งว่าไม่มา จากนั้นวันที่ 22 ม.ค. เป็นวันแถลงปิดสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 
      นพ.เจตน์กล่าวว่า วันที่ 23 ม.ค. เวลา 10.00 น. จะลงมติทั้ง 2 สำนวน เริ่มจากวาระการลงมติถอดถอนนายนิคมกับนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ โดยกาบัตรในคูหา จะลงคะแนนไปพร้อมกันโดยสมาชิกจะได้บัตรลงคะแนน 2 ใบ เพื่อให้กากบาทลง ในบัตรลงคะแนนว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน หรืองดออกเสียง จากนั้นจะตั้งสมาชิก 10 คน เป็นกรรมการนับคะแนน และเมื่อประกาศผลลงมติแล้วจะเข้าสู่การลงมติของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งการลงมติทั้ง 3 สำนวน คาดว่าจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง
      นพ.เจตน์ กล่าวว่า วันที่ 21 ม.ค. ยังมีวาระพิจารณากำหนดการแถลงเปิดสำนวนของ อดีต ส.ว. 38 คน ตามการชี้มูลของ ป.ป.ช. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มาส.ว.โดยมิชอบ โดยจะกำหนดวันในขั้นตอนการพิจารณาถอดถอนต่างๆ รวมทั้งพิจารณาอนุญาตให้ยื่นเอกสารหรือพยานบุคคลเพิ่มเติมได้หรือไม่ ขณะนี้มีการแจ้งขอเพิ่มพยานบุคคลเข้ามา 1 คน 

ฟ้องกลับต้องฟ้องยกสภา 
      เมื่อถามถึงกระแสข่าวการล็อบบี้และชี้นำให้ลงมติถอดถอนทั้ง 3 สำนวน นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่หนักใจ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของสมาชิก ส่วนการชี้แจงผ่านยูทูบของอดีตรัฐมนตรี 5 คนนั้น ไม่อนุมัติให้นำมาเปิดในวันแถลงปิดสำนวนได้ เนื่องจากเป็นการใช้หลักฐานใหม่ ส่วนข้อกังวลว่าจะมีมวลชนมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันลงมตินั้น ยังไม่ได้พูดคุยกัน เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงจะติดตามประเมินสถานการณ์และ คงแจ้งให้ประธานสนช.ทราบ
       ส่วนที่อดีตกรรมการป.ป.ช. ระบุหาก สนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อัยการไม่สั่งฟ้อง หรือสั่งฟ้องแล้วศาลชี้ว่าไม่ผิด จะเกิดผลกระทบตามมามากนั้น นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะคดีอาญากับคดีทางการเมืองแตกต่างกัน คดีอาญาต้องมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่ามีการทุจริตจริง แต่คดีทางการเมืองแค่ส่อว่าทุจริตก็ดำเนินการได้แล้ว หากผู้ถูกถอดถอนรู้สึกว่าได้รับผลกระทบ จะนำมาฟ้องภายหลังก็ถือว่าเป็นสิทธิ แต่ถ้าจะฟ้องก็ต้องฟ้องทั้งองค์กรและฟ้องประธานด้วย เพราะเป็นการลงคะแนนลับ ไม่ทราบว่าใครลงคะแนนกันอย่างไร 

ฝ่ายตรงข้ามปู-ลุ้นคสช.ไฟเขียวถอด
      แหล่งข่าวจากสนช. ระบุว่า การให้สัมภาษณ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ ตามความเข้าใจของสนช.ถือว่าไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ เพื่อถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 23 ม.ค. นี้ เชื่อว่า วันที่ 22-23 ม.ค. ก่อนลงมติถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะมีสัญญาณทางใดทางหนึ่งที่จะให้สนช.ลงมติแน่นอน เพราะหากกัปตันเรือแป๊ะไม่ทำอะไร และปล่อยให้ลูกเรือทำหน้าที่โดยอิสระก็จะไม่สามารถถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้ เพราะจะมีสมาชิกหลายคนที่มีสายสัมพันธ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะไม่ลงมติถอดถอน หรืองดออกเสียงจนทำให้เสียงไม่ถึง 132 เสียง และไม่เพียงแต่สนช.จะหมดความน่าเชื่อถือ แต่เรือแป๊ะทั้งลำจะพังไปด้วย
       แหล่งข่าวระบุ ขณะนี้ สนช.ที่ประกอบด้วย สาย 40 ส.ว. กลุ่มนักวิชาการ ข้าราชการพลเรือนและสายธุรกิจ มีประมาณ 80-100 คน พร้อมลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเห็นว่ามีความผิดชัดเจน จึงเหลือเพียงผู้มี อำนาจในคสช. ส่งสัญญาณให้สายทหารอย่างน้อย 32 เสียง เพื่อจำนวนเสียงถอดถอน จะได้เกิน 132 เสียง ซึ่งจะทำให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ เป็นผลสำเร็จ

ทหารผนึกเสียงปล่อยขุนค้อน-นิคม
      "ไม่มีเหตุผลที่จะปล่อยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลุดรอดการถอดถอนเพราะในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามกฎหมายป.ป.ช. และพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด อีกเหตุผลคือ ไม่ทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่ แต่มีทหารต้องการเล่นการเมืองต่อไปแน่นอน ดังนั้นการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องทำให้สังคมเห็นว่ามีความจริงจังแก้ปัญหาบ้านเมือง และปราบปรามทุจริต ในทางกลับกันหากปล่อยให้อดีตนายกฯ ลอยนวลจะทำให้กลับมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองในอนาคตอีกด้วย" แหล่งข่าวระบุ
     แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีนายนิคม และนายสมศักดิ์ มีสัญญาณชัดเจนจากสายทหารว่าไม่ต้องการถอดถอนประมาณ 70 เสียง เนื่องจากข้อกฎหมายไปไม่ถึง เพราะป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งสิ้นสภาพไปแล้ว ขณะที่กฎหมาย ป.ป.ช.ก็ไม่ใช่บทลงโทษที่จะเอาผิดได้ ดังนั้นหากถอดถอนไปก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ อีกทั้งยังมองว่าเป็นเพียงปลาซิวปลาสร้อยเท่านั้น 

กมธ.ยกร่างฯเพิ่มเรื่องถวายสัตย์
       เวลา 11.45 น. ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 1 บททั่วไป ในมาตรา 6 อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหา โดยคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อย 3 คนแต่ไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ ให้หน่วยธุรการของคณะกรรมการมาจากหน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง สลับกันทำหน้าที่คราวละ 1 ปี 
      มาตรา 7 ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ ให้พ้นจากตำแหน่งหนึ่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นตามกฎหมายหรือเพราะความตายให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ เพิ่มเนื้อหามาตรา 8 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ วรรคสามเขียนเพิ่มว่า "พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ก็ได้" ซึ่งการเพิ่มในวรรคสาม เพื่อลดพระราชภาระ

ผู้พิพากษาเกษียณ 70
       พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า วาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาล มาตรา 10 ระบุว่า ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลอื่น นอกจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลทหาร มีวาระ 4 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว ส่วนผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลอื่น นอกจากศาลทหารซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว ซึ่งพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ แต่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่พ้นจากราชการเพราะเหตุ ดังกล่าวอาจรับราชการเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนครบอายุ 70 ปี บริบูรณ์ เรื่องวาระตรงตามข้อเสนอของศาลยุติธรรม
     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เกี่ยวกับองค์กรอัยการ มาตรา 12 ระบุว่า ต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนร่วมกับพนักงงานสอบสวน กมธ.ยกร่างยังได้เพิ่มเติมคำสั่งชี้ขาดคดีเกี่ยวกับคำสั่งฟ้องไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง อุทธรณ์ฎีกา ไม่อุทธรณ์ฎีกา หรือถอนอุทธรณ์ ฎีกาของ อสส.ตามกฎหมาย ต้องแสดงเหตุผลประกอบการมีคำสั่งและต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าถึงได้โดยง่าย เว้นแต่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ด้วย 

ห้ามอัยการนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 
      โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า นำมาตรา 10 วรรคสอง มาใช้บังคับกับข้าราชการอัยการด้วยโดยอนุโลม ซึ่งจะส่งผลให้ข้าราชการอัยการดำรงตำแหน่งถึง 65 ปีเท่านั้น แต่จะดำรงตำแหน่งข้าราชการอัยการอาวุโสได้ถึงอายุ 70 ปี และข้าราชการอัยการต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน หรือในห้างหุ้นส่วนบริษัท ไม่เป็นที่ปรึกษาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งในลักษณะเดียวกัน ต้องไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดกระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานอัยการ ซึ่งทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ อัยการคนใดที่เป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ ต้องพ้นจากหน้าที่ทันที
      โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างเห็นควรให้คงไว้ตามเดิม โดยมาตรา 1 ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังนี้ (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน จากเดิม 3 คน (2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 3 คน จากเดิม 2 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนอย่างน้อย 1 คน (4) ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ การบริหารภาครัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ 2 คน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิในด้านนี้จะเปิดกว้างให้สาขาอื่นเข้ามาเพื่อให้เกิดความหลากหลาย

ให้อำนาจวุฒิฯแต่งตั้งบุคคล 
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นวางไว้ 5 ประเภท ประกอบด้วย (1) ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คนและเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน (2) ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1 คน และฝ่ายค้าน 1 คน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยคณบดีคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เลือกโดยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา (5) ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน เลือกโดยวุฒิสภา สมัชชาพลเมือง ซึ่งประเด็นนี้กมธ.ยกร่างฯ ขอแขวนไว้ก่อน 
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯ ยังแก้ไขการแต่งตั้งบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอมายังวุฒิสภา จากเดิมหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้ส่งกลับไปที่คณะกรรมการสรรหา หากคณะกรรมการสรรหายืนยันบุคคลเดิม ให้ส่งรายชื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมได้เลยเปลี่ยนแปลงว่าหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้ส่งชื่อกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาเพื่อเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่

บวรศักดิ์แจงรธน.ตัดสิทธิ์ 111-109
      เวลา 12.45 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจงถึงการพิจารณเรื่องวางกลไกป้องกันบุคคลเคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำ การทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด ตามมาตรา 35(4) ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า ส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้พิจารณา เนื่องจากยังอยู่ในชั้นรายมาตรา ว่าด้วยภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 3 รัฐสภา ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ยืนยันว่ากมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มีการลงมติตัดสิทธิ์ไม่ให้อดีตนักการเมืองที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์ หรือนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่มีข่าว กมธ.มีมติเฉพาะเรื่องหลักนิติธรรมเท่านั้น 
     "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่นี้ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และจะไม่มีการเขียนในทางที่ทำลายคนหนึ่งคนใดและเปิดโอกาสให้คนหนึ่งคนใด ดังนั้น ในชั้นหลักการเขียนรัฐธรรมนูญจึงยืนยันว่าระบบยุบพรรคแบบเดิมในมาตรา 237 ที่เอาผิดครอบคลุมถึงกรรมการบริหารพรรคที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดทุจริตเลือกตั้งนั้น จะไม่มีการเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจนถึงวันนี้ยังไม่มีการพูดกันถึงเรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองย้อนหลังสำหรับนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109" นายบวรศักดิ์กล่าว

23 ก.ค.จึงได้ร่างที่เป็นข้อยุติ
     นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการแสดงความเห็นหรือพูดในทำนองที่ใช้เฮตสปีช คือก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ ศาสนา เพื่อให้ใช้ความรุนแรงนั้น กมธ.ยกร่างฯ กำลังทบทวนว่าไม่ควรเขียนมากในหลายที่ในรัฐธรรมนูญ เพราะได้ระบุไว้แล้วในเรื่องพลเมืองว่าต้องไม่แสดงออกโดยใช้วาจาเพื่อให้เกิดความเกลียดชัง 
    นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าการรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ไม่ใช่เพียงพิธีกรรม แต่นำมาใช้อย่างจริงจัง และเมื่อร่างรัฐธรรม นูญเสร็จแล้ว ยังจะต้องรับฟังความเห็นจากสปช. ครม. และคสช.มาพิจารณาว่าจะแก้ไขหรือไม่ อย่างไร โดยร่างที่จะได้ข้อยุติจริงๆ คือวันที่ 23 ก.ค.2558 ที่ สปช.จะลงมติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก่อนลงมติก็ยังเปิดโอกาสให้แก้ไขได้ 

เชื่อสปช.รับร่างรธน.
       เวลา 16.45 น. ที่โรงแรมเอเชีย หลังการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิสัยทัศน์ประเทศไทย หัวข้อ "ยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่นำไปสู่เป้าหมายในแต่ละด้าน" วันที่สองของ สปช.เสร็จสิ้น 
      นายบวรศักดิ์ พร้อมนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวบนเวทีร่วมกัน นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ถูกเปรียบเป็นแม่น้ำสายที่ 5 สปช.เป็นแม่น้ำสายที่ 4 กมธ.ยกร่างจึงต้องสัมพันธ์กับสปช. เป็นแฝดอินจัน ถ้าใครทำไม่เสร็จก็ตายร่วมกัน เมื่อเกิดด้วยกันก็ต้องตายด้วยกัน ถ้าตน ทำเสร็จ สปช.ไม่รับก็ตายด้วยกัน จึงเห็นว่าสปช.ต้องทำตารางงานไม่ใช่ประชุมไปเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่เสร็จเราอยู่ไม่ได้ 
      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า อยากฝากว่าเมื่อถึงวันที่ 27 เม.ย. สปช.จะต้องวุ่นวายกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึงวันที่ 23 ก.ค.-6 ส.ค. ก็ต้องยุ่งกับร่างรัฐธรรมนูญอีกรอบ ตนคิดว่ารัฐธรรม นูญผ่านเพราะเราคงไม่ฆ่าตัวตายหมู่ อินจันคงไม่เอามีดมาแทงตัวเองคนละฉึก ถ้าเห็นชอบแล้วเขาเอาไปทำประชามติ สปช.ต้องวิ่งลงไปทั่วประเทศหาแรงสนับสนุนจากประชา ชน อีกทั้งต้องพิจารณากฎหมายลูกอีก 30-40 ฉบับ สปช.ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ไม่ใช่ในอนาคต เพราะกฎหมายลูกมีความสำคัญ ขอให้เตรียมไว้เลย และสปช.ยังมีหน้าที่ต้องปฏิรูปด้วย ดังนั้น หลังวันที่ 6 ก.ย. ไม่ใช่งานปฏิรูปอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องพร้อมส่งกฎหมายลูกไปยังสนช. ดังนั้น ตารางเวลาต้องชัด จะไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเขาจะว่าเสียของ 
     ด้านนายเทียนฉายกล่าวว่า ผลประชุมวันนี้ให้นำเข้าที่ประชุมวิปสปช. ในวันที่ 21 ม.ค. และเดินหน้าประชุมทันที ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุม สปช.ทันวันที่ 26 ม.ค. สิ่งที่สมาชิกสปช.เสนอขณะนี้แค่การเปลี่ยนแปลง เล็กน้อย ไม่ต้องปฏิวัติก็ทำได้

กกต.เลื่อนชี้ใครรับผิดชอบ 3 พันล.
     ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงสำนักงาน กกต.ส่งข้อเสนอแนะในการจัดเลือกตั้งต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า การปฏิรูปจะสัมฤทธิผลได้ดีต้องทำให้ทุกอย่างดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการจัดเลือกตั้งและให้กกต.เป็นผู้ควบคุมการจัดเลือกตั้งนั้น เป็นการย้อนกลับไปสมัยมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้กกต.ทำงานลำบากและยากขึ้น อีกทั้งยังมีข้อเสนอเปรียบเทียบการทำหน้าที่จัดเลือกตั้งและการใช้งบประมาณระหว่างองค์กรอิสระกับหน่วยงานราชการแตกต่างกัน กกต.จึงจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรม นูญคณะที่ 8 ของ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อนำไปประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ 
      "หากกมธ.ยกร่างฯ เปลี่ยนให้มหาดไทยหรือศึกษาฯ จัดเลือกตั้ง ก็ต้องชี้แจงเหตุผลด้วย กกต.ทำงานบกพร่องหรือมีข้อผิดพลาดอย่างไร ต้องชี้แจงให้ได้ หากชี้แจงไม่ได้จะทำให้ประชาชนสับสน อีกทั้งเห็นว่าการเสนอให้ยุบกกต.จังหวัดเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่คนและผลประโยชน์มากกว่า" ประธานกกต.กล่าว
      ส่วนการพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะมูลค่า 3,000 ล้านบาท นายศุภชัยกล่าวว่า การประชุมกกต.วันนี้ไม่มีการพิจารณาวาระดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานได้ขอเลื่อนการส่งข้อมูลให้ที่ประชุม กกต. เพราะยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จ เรื่องนี้ต้องค่อยๆ ทำและพิจารณาให้รอบคอบเพราะละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย ส่วนจะเข้าวาระประชุมเมื่อไร รอจนกว่าคณะทำงานจะรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน

'บิ๊กตู่-ป๋า'ร่วมงานเลี้ยงทบ.
      เวลา 19.00 น. ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เป็นประธานงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในวันกองทัพครบรอบ 423 ปี ประจำปี 2558 โดยมีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.และรมช.กลาโหม พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อดีตผบ.ทบ. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. ผู้นำเหล่าทัพ อดีตผู้นำเหล่าทัพ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ในงานมีการนำม้า 12 ตัวจากกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ มาเข้าแถวต้อนรับผู้มาร่วมงานโดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลขอบคุณข้าราชการ ทบ.ที่ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะเป็นกำลังหลักสนับสนุนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การปฏิรูปประเทศ และการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ยืนยันรัฐบาลจะสนับสนุนการดำเนินงานและการเสริมสร้าง ขีดความสามารถของ ทบ.ในทุกระดับ

ครม.ผ่านงบ 59 วงเงิน 2.72 ล้านล.
   วันที่ 20 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 โดยยังจัดทำงบขาดดุล วงเงิน 390,000 ล้านบาท มีงบประมาณรายจ่าย 2.72 ล้านล้านบาท และรายได้สุทธิ 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดทำงบฯครั้งนี้ คิดบนสมมติฐานทางเศรษฐกิจ ขยายตัวร้อยละ 3.7-4.7 มีอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1.1-2.1 สำหรับโครงสร้างงบประมาณปี 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.6 มีรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 13,536 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 67.7 รายจ่ายลงทุน 544,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 62,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 
      ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2559 แบ่งเป็น 8 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ คือ ยุทธศาสตร์การเร่งรัดการจัดทำรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นธรรม ยุทธศาสตร์การศึกษาสาธารณสุขคุณธรรม จริยธรรมคุณภาพชีวิต ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ส่วน 1 รายการ คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 

เก็บศพ"อาทิตย์ กำลังเอก"100วัน
      เวลา 11.48 น. วันที่ 20 ม.ค. ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงกลาโหมและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บุตรชายพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผบ.สส. และอดีตผบ.ทบ. พร้อมญาติสนิทมารับร่างพล.อ.อาทิตย์ ภายหลังถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ในวัย 89 ปี เพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร มีพล.ท.บุณยรักษ์ พูนชัย เจ้ากรมแพทย์ทหารบกมาดูแลความเรียบร้อย บรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าโศก
    พล.ท.ฐิติวัจน์ กล่าวว่า บิดาของตนถือเป็นแบบอย่างให้กับทหารรุ่นนี้เพราะเป็นคนที่รักประชาธิปไตยและประชาชน อย่างไรก็ตาม ครอบครัวกำลังเอกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญพระราชทานน้ำหลวงและอันเชิญพวงมาลาทุกพระองค์วางด้านหน้าโกศ 
     "พ่อได้สั่งเสียก่อนหน้านี้ว่า ถ้ามีอะไรให้ไปกราบพล.อ.เปรม เพราะเป็นนายของพ่อ และเป็นบุคคลที่พ่อให้ความเคารพนับถือตลอดกาล" พล.ท.ฐิติวัจน์กล่าว และว่า สำหรับพิธีรดน้ำศพพล.อ.อาทิตย์ มีขึ้นในเวลา 16.00 น. วันที่ 20 ม.ค. ที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรฯ จากนั้นเวลา 17.00 น. พล.อ.เปรมเป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญน้ำหลวงพระราชทาน สวดอภิธรรมเวลา 19.00 น. โดยจะอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 3 วัน และ สวดอภิธรรมต่อเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นเก็บร่างบิดาของตนไว้เป็นเวลา 100 วัน
      เวลา 16.30 น. ที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเชิญพวงมาลาพระราชทานวางที่ด้านหน้าโกศศพ พล.อ.อาทิตย์ พร้อมพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพแก่พล.อ.อาทิตย์ ในวันที่ 20-22 ม.ค. ด้วย
      มีบุคคลสำคัญมาร่วมไว้อาลัย อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรมช.ศึกษาธิการ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีตผบ.สส. พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท อดีตผบ.สส. รวมถึงพล.อ.บรรจบ บุนนาค อดีตรมว.กลาโหม เพื่อนร่วมรุ่นตท. 5 คณะนายทหารระดับสูงจากทุกเหล่าทัพ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!