WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8589 ข่าวสดรายวัน


ยกเลิกเคอร์ฟิว พัทยาเฮ 'สมุย-ภูเก็ต'ด้วย 
ตั้งศูนย์ปรองดองแล้ว สลายสีเสื้อใน 3 เดือน'วิษณุ'หน.ร่างธรรมนูญ อจ.สุธาชัยไม่ถูกกักตัว 'ลุงยิ้ม ตาสว่าง'ไม่รอด


ยังยิ้มได้ - นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ หรือ "ลุงยิ้ม ตาสว่าง" เดินชู 3 นิ้วระหว่างเข้ารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ตามคำสั่งคสช. วันเดียวกัน นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อจ.จุฬาฯ เข้ารายงานตัวด้วย เมื่อ 3 มิ.ย.

       'พัทยา-สมุย-ภูเก็ต'เฮ เลิกแล้วคำสั่งเคอร์ฟิว ในพื้นที่ท่องเที่ยว คสช.ยันปล่อยตัวแล้วร้อยละ 90 ส่วน"อ๋อย"รอศาลทหารชี้ก่อน อาจารย์ยิ้มไม่ถูกกักตัว 5 นักวิชาการม.อุบลฯรายงานตัวทหาร ยันพร้อมให้ความร่วมมือเท่าที่ให้ได้ 'บิ๊กตู่'สั่งเร่งตั้งศูนย์ปรองดองฯ กกต.เร่งถกกฤษฎีกา หลัง 4 กฎหมายลูกสิ้นสภาพตาม'รธน.50''วิษณุ'ปธ.ร่างธรรมนูญปกครอง แอมเนสตี้จี้ยุติจับผู้ชุมนุมโดยสงบ เรียกร้องปล่อยตัว หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน

คสช.ใช้ทำเนียบแถลงข่าว
       เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.มงคล เผ่าพงษ์คล้าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษาพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าตรวจห้องทำงานและห้องประชุม ซึ่งมีอุปกรณ์ทันสมัยสามารถประชุมวีดิทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม บนตึกไทยคู่ฟ้า คาดว่า จะใช้เป็นสถานที่ประชุมในวาระสำคัญของพล.ต.อ.อดุลย์ 

      ด้านเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายประสานสื่อ แจ้งว่า ทีมโฆษกคสช.จะย้ายสถานที่แถลงข่าวจากหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ไปใช้พื้นที่ของตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบ ในเวลา 13.30 น. และจะใช้พื้นที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก แถลงข่าวเป็นประจำทุกวัน ส่วนพื้นที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ จะอนุญาตเฉพาะสื่อมวลชนสายทหารให้เข้ามาใช้สถานที่ทำงานเท่านั้น

ยันปล่อยตัวไปแล้ว 90%
       พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. แถลงถึงงานด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบของคสช.ว่า ขณะนี้มีการปฏิบัติ 2 ลักษณะคือการเข้มงวดและเข้มข้นในการตรวจจับอาวุธสงคราม เพื่อให้เห็นว่าคสช.ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องอาวุธสงครามที่เป็นองค์ประกอบหลักในการก่อเหตุรุนแรงจนเกิดความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมา
      พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลนั้นย้ำว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่อง จากขณะนี้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ไม่สามารถชุมนุมเกิน 5 คนได้ ทั้งนี้คสช.มีวิธีดำเนินการ คือจะสร้างความเข้าใจเป็นหลัก สื่อสารทำความเข้าใจผ่านช่องทางอิเล็กทรอ นิกส์และหากยังฝ่าฝืนคงเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยเริ่มจากวิธีที่เบา ละมุนละม่อม ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าใจขอให้พี่น้องเพื่อนฝูงช่วยแจ้งเตือนกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อเราจะนำพาความสงบสุขและพัฒนาประเทศร่วมกัน 

 

รอศาลทหารชี้ก่อนฟ้อง'อ๋อย'
       เมื่อถามว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวขณะนี้มีมากน้อยแค่ไหน พ.อ.วินธัยกล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน ส่วนใหญ่ได้กลับบ้านแล้วร้อยละ 90 ทั้งนี้ผู้ที่ถูกคสช.เรียกมารายงานตัวอาจเป็นผู้ที่มีบทบาทแสดงความคิดเห็นทางสังคม คสช.จึงเชิญมาพบเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและทำความเข้าใจ ไม่อยากให้มองว่าเรียกรายงานตัว แต่ขอความร่วมมือ 
       เมื่อถามว่า นอกจากนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ มีผู้กระทำความผิดต้องขึ้นศาลทหารหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ความผิดต่อต้านคำสั่งคสช.ที่ขณะนี้มี 7 คน ขั้นตอนดำเนินคดี คือจะควบคุมตัว จากนั้นไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อทำสำนวนส่งศาลทหารใช้ดุลพินิจว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ คาดว่าใน 7 คนจะถูกสั่งฟ้องใน 3 ฐานความผิด คือฝ่าฝืนประกาศคสช. ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย และทำร้ายเจ้าพนักงาน ส่วนการกระทำผิดของผู้ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารและข้อสงสัยว่าการชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว ต้องดูว่าอยู่ในเงื่อนไขตามประกาศคสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนหรือไม่ ส่วนกรณีอื่นต้องดูตามความเหมาะสมต่อไป ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงจับตามองแกนนำที่ต่อต้านรัฐประหารอยู่แล้ว 

ยกเลิกเคอร์ฟิว'พัทยา-สมุย-ภูเก็ต'
       พ.อ.วินธัย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้คสช.ไม่มีนโยบายปิดเว็บไซต์เฟซบุ๊ก แต่จะติดตามและจัดการไปเป็นรายบุคคลมากกว่า จากข้อมูลที่ได้รับยังถือว่ากระแสต่อต้านไม่ได้ขยายผล ไปกว้างมากเท่าที่ควร ยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่ง เจ้าหน้าที่แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ลักษณะ ในพื้นที่ถ้าพบว่ามีข้อมูลข่าวสารก็ต้องป้องกัน แต่ต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ต้องทำความเข้าใจควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย เน้นการเจรจาเป็นหลัก ส่วนกระแสข่าวว่านายจักรภพ เพ็ญแข เคลื่อนไหวต่อต้านคสช.อยู่ในกัมพูชา เป็นเพียงข้อมูลที่ออกมาจากสื่อมวลชนเท่านั้น ตนยังไม่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานด้านการข่าว
      เวลา 16.15 น. คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 52/2557 เรื่องยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่ เพื่อส่งเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวและผลกระทบจากการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ที่อยู่ในสภาวะสงบและปราศจากการชุมนุมทางการเมืองอันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี พื้นที่อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ภูเก็ต สำหรับในพื้นที่อื่นให้ยังคงปฏิบัติตามประกาศคสช. ฉบับที่ 42/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค.2557 เรื่องแก้ไขห้วงเวลา ห้ามออกนอกเคหสถาน ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ท่องเที่ยวยังห่วงอัยการศึก-ไร้รบ.
       นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ตามที่คสช.ยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่ท่องเที่ยว 3 แหล่ง เชื่อว่าจะส่งผลให้บรรยากาศท่องเที่ยวกลับมาคึกคักมากขึ้นอีกครั้ง ส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวที่กำลังตัดสินใจมาเที่ยวเมืองไทย เพราะทั้ง 3 แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม หากคสช.เห็นว่าพื้นที่ใดยังสามารถยกเลิกเคอร์ฟิวได้อีก ก็อยากให้พิจารณา เพราะจะทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวผ่อนคลายมากขึ้น อย่างไรก็ดีแอตต้ายังคงไม่สามารถกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวได้มากในช่วงนี้ ต้องรอจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เมื่อนั้นจะเห็นความชัดเจน และนักท่องเที่ยวจะเชื่อมั่น กล้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ดังนั้นถ้าได้รัฐบาลเร็วเท่าใด ก็จะดีต่อการท่องเที่ยวมากเท่านั้น
      นายภูริต มาศวงศ์ศา อุปนายกฝ่ายการตลาดสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการยกเลิกเคอร์ฟิวที่ภูเก็ตว่า จะช่วยคลายความกังวลให้กับนักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะยกเลิกเคอร์ฟิวแต่ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามคือ การประกาศเตือนพลเมืองของประเทศต่างๆ ให้ระมัดระวังการเดินทางมาไทย ที่ขณะนี้มีเตือนทั้งสิ้น 63 ประเทศ ประกันภัยไม่ครอบคลุมประเทศที่ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความลังเลในการเดินทาง รวมถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรเลียและไทยที่ลดความสัมพันธ์ลง 

เรียกรายงานตัวอีก 27 ราย
      ที่หอประชุมกองทัพบก คสช. ประกาศ คำสั่งฉบับที่ 44 ให้บุคคลมารายงานตัวที่อาคาร จามจุรี หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. 28 ราย แต่นาย สราวุฒิ ภูธรโยธิน ยิงตัวเองเสียชีวิตแล้ว จึงเหลือ 27 คน ได้แก่ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นายรัชพงศ์ โอชาพงศ์ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย น.ส.อุลัยรัตน์ ชูด้วง นายอัมรินทร์ โสรัมย์ นายนิพนธ์ ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ (ภรรยา นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์) นายกิตติศักดิ์ สุจิตดารมย์
       น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพ แรงงานไทรอัมพ์ นางสลิลทิพย์ ณ พัทลุง นายสุวัฒน์ หล่ำบุตร นายเสรีภาพ สุนทร ชัยภัค นายพฤธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข นายวันชัย จงจรูญหิรัณย์ นายธนพร ศรียากูล นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ นายพิพัฒน์ พรรณ สุวรรณ์ นางยุพิณ กองจันดี นายเฉลียว จันเขียด นายสิรภพ กรณ์อรุษ นายเอกราช เนตรดี นายปัญญา สุรกำจรโรจน์ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นายธนัท ศรีนิธิโฆษิต น.อ.สุรพล นะวะมวัฒน์ และนายคฑาวุธ บูรณ์พิทักษ์

ปล่อย'อาจารย์ยิ้ม'
      โดยตลอดทั้งวันมีผู้มารายงานตัว 21 ราย ส่วนบุคคลที่ไม่มารายงานตัว 6 คน ประกอบด้วย นางปราณี, น.ส.จิตรา, นายพฤธ์นรินทร์, นายพิพัฒน์, นายวันเฉลิม และนายสิรภพ
     เมื่อเวลา 20.50 น. คำสั่งคสช.ฉบับที่ 46/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้บุคคลมารายงานตัว ที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ วันที่ 4 มิ.ย. เวลา 10.00-12.00 น. ดังนี้ 1.นายขรรค์ชัย บุนปาน 2.นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
       นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ตนได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลา 16.30 น. หลังเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช.เมื่อช่วงเช้า ซึ่งตอนนี้ตนถึงบ้านพักแล้ว การรายงานตัวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทหารขอความร่วมมือให้เซ็นเอกสารรับทราบการปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขของคสช.ก่อนกลับ ส่วนคนอื่นๆ ตนไม่ทราบ 

'จิตรา'ขอรายงานตัวที่สวีเดน
      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าไปรายงานตัวในวันนี้ ทั้ง 21 ราย มีเพียงนายสุธาชัยเท่านั้น ที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาในวันนี้
        ด้านน.ส.จิตราให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้พำนักอยู่ที่ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ จึงเดินทางไปที่สถานทูตไทยในสวีเดน ที่ตั้งอยู่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ในเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยทำจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ในวันและเวลาที่กำหนด และจะเดินทางไปรายงานตัวอีกครั้งที่เมืองไทย หลังจากเสร็จภารกิจที่สวีเดน แต่ทางเลขานุการเอกแจ้งว่าไม่สามารถรับเรื่องได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่มีกรอบในการทำงาน และคสช.ไม่มีคำสั่งในการทำงาน แนะนำให้กลับไปเมืองไทยให้ ทันวันและเวลาดังกล่าว ขณะที่นายพิชิต บุญสุข ที่ปรึกษาอัครราชทูต แจ้งว่าจะทำเรื่องทั้งหมดรายงานไปที่กระทรวงต่างประเทศทันที แต่ไม่สามารถออกหลักฐานใดๆ ให้ได้ว่ามาที่สถานทูตจริง เพราะไม่มีในกรอบ การทำงาน


จับเพิ่มอีก - นายสมบัติ โกมัยพันธุ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร กรณีร่วมชุมนุมและปล่อยลมยางรถฮัมวี่ของทหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกตร.ตามรวบตัวได้ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.

 

นักวิชาการม.อุบลฯเข้าพบทหาร
      ที่มณฑลทหารบก ที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี น.ส.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมด้วยนายธีระพล อันมัย นายเสนาะ เจริญพร นายราม ประสานศักดิ์ และนางเสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดอุบลราชธานี หลังได้รับการประสานจากกองทัพขอให้เข้าพูดคุย เพื่อขอความร่วมมือในการแสดงออกทางการเมือง โดยทั้งหมดใช้เวลาพูดคุยหารือกันราว 1 ช.ม. 
      หนึ่งในคณะอาจารย์ที่เข้าพบทหารเปิดเผยว่า ทหารเรียกนักวิชาการทั้ง 5 คน เข้าไปคุยเพื่อขอความร่วมมือ ทั้งจากนักวิชาการ และนักศึกษาไม่ให้เคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมือง เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในขณะนี้ และหากมีการจัดเสวนาทางวิชาการใดๆ ก็ขอให้แจ้งทหารรับทราบด้วย เนื่องจากคสช. ต้องการให้ทุกอย่างผ่านไปก่อน เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งอาจารย์ทั้งหมดที่ถูกเรียกก็จะให้ความร่วมมือกับทหารเท่าที่จะให้ได้ แต่ทั้งหมดก็ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และจะทำงานทางความคิดเพื่อสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยต่อไป 

ปล่อย 6 ผู้ชุมนุมคัดค้าน
      ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คสช.ควบคุมตัวผู้ต่อต้านการยึดอำนาจ ส่งมากักตัวที่ห้องขัง บก.ป. รวม 9 ราย อย่างไรก็ดีในส่วนของการกักตัวไว้ระหว่างสอบสวนจะมีกำหนด 7 วัน ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ หากการสอบสวนพบว่าผู้ต้องหารายใดมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายกระทำผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ก็จะมอบอำนาจให้นายทหารท่านใดท่านหนึ่ง เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน บก.ป. โดยจะมีหนังสือร้องทุกข์ส่งมาภายใน 7 วัน เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าว หาก ผู้ต้องหาไม่เข้าข่ายถูกพิจารณาดำเนินคดี ทางทหารก็จะมีหนังสือแจ้งมายังพนักงานสอบ สวนเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยจะดำเนินการภายใน 7 วันเช่นเดียวกัน
      เวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำหนังสือแจ้งมายังพนักงานสอบสวน บก.ป. เพื่อปล่อยผู้ที่ถูกกักตัวไว้ 6 ราย ประกอบด้วย 1.น.ส.สุนันทา พ่วงศิริ อายุ 50 ปี 2.น.ส.วารี ทินกร อายุ 71 ปี 3.น.ส.นุชรา สุขแสวงบุญ อายุ 48 ปี 4.นายมงคล แสงสุดา อายุ 43 ปี 5.น.ส.จิราพร วราพิศิษฐ์ อายุ 53 ปี และ 6.น.ส.คมคาย อ่อนหลำ อายุ 50 ปี ทำให้ขณะนี้คงเหลือเพียงแค่ 3 ราย คือ นายสุเมธ วิโรจน์ชัยยันต์ อายุ 40 ปี, นายวราภพ วิชชาสุทธิ์ และนายณัฐวุฒิ นุชนาท 

เผยส่งขึ้นศาลทหารแค่ 2 ราย
     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับนายสุเมธ นั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 8 และ 11 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะคุมตัวส่งศาลทหาร เพื่อพิจารณาคดี ต่อไป
     รายงานข่าวจากพนักงานสอบสวน บก.ป. แจ้งว่า ที่ผ่านมามีเพียงนายจาตุรนต์ และนายภิญโญภาพ บำรุงธรรม เพียง 2 รายเท่านั้น ที่ถูกคุมตัวขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารแล้ว แต่คดีก็ยังไม่มีการตัดสินคดีในขณะนี้

บก.น.1จับปล่อยลมยาง'ฮัมวี่'
      ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.ศ.ช่วยราชการบช.น. แถลงข่าวจับกุม นายสมบัติ หรือติ๊ก โกมัยพันธุ์ อายุ 43 ปี ผู้ต้องหาที่ปล่อยลมยางรถฮัมวี่ จากเหตุการณ์กลุ่มชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา 
     โดยพล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า จากกรณีที่ พ.อ.สมบัติ ธัญญะวัน ผบ.กรมนักเรียนโรงเรียนทหารม้า ในฐานะ ผบ.เหตุการณ์รับผิดชอบพื้นที่การชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นำทหารที่บาดเจ็บ 10 นาย เข้าแจ้งความดำเนินคดี สน.พญาไทได้ขออนุมัติศาลทหารออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 14 ราย เบื้องต้นจับกุมผู้ต้องหาพ่นสีสเปรย์ใส่รถฮัมวี่ ล่าสุดจับกุมนายสมบัติที่ปล่อยลมยางรถฮัมวี่ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มีโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งผู้ต้องหาทราบแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ทำไปด้วยความคึกคะนองเท่านั้น 

รองผกก.โอดโยงครอบครัว
       ด้านพ.ต.ท.ดวงโชติ สุวรรณจรัส รอง ผกก.สส.สน.ลุมพินี เปิดเผยกรณีมีสื่อโซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กโจมตีว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาคอยจับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหาร ที่ห้างเทอร์มินอล 21 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และแชร์รูปกันอย่างแพร่หลาย พร้อมพูดถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวที่โยงว่าเป็นบุตรเขย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ว่า วันที่เกิดเหตุไปดูแลพื้นที่ตามปกติเท่านั้น เพื่อป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ขอยืนยันว่าในวันดังกล่าวไม่ได้ไปจับกุมหรือทำร้ายใครแต่อย่างใด ไปปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาตามที่ได้รับคำสั่ง และอยากขอความเป็นธรรม ไม่อยากให้นำเรื่องของตนมาโยงกับครอบครัวเพราะไม่เกี่ยวข้องกัน

คสช.ตั้งศูนย์ปรองดองฯ
      เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะ คสช. เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจตามปกติ ที่บก.ทบ. ถ.ราชดำเนิน เพื่อติดตามการดำเนินการและสถานการณ์ประจำวัน แต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม คณะทำงาน คสช. และคณะทำงานของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก หรือศปก.ทบ. โดยมอบให้พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. เป็นประธานการประชุมแทน 
      ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาย ในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ว่า คสช. มอบให้พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผช.เสธ.ทบ. ฝ่ายยุทธการ เป็นผอ.ศปป. ส่วนคณะทำงานศปป. ประกอบด้วยคณะทำงานส่วนกลาง และศปป.กอ.รมน. ภาค 1-4 โดยมีขั้นตอนปฏิบัติ 3 ขั้น ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อมศปป. เชิญผู้แทนส่วนงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานหารือกำหนดกรอบแนวทางดำเนินการ ส่วนกอ.รมน.ภาค 1-4 จัดตั้งศปป.กอ.รมน.ภาค 1-4 กำหนดรวบรวมข้อมูล และแผนการปฏิบัติ เพื่อดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบ

ยันบริหารขัดแย้งอย่างเท่าเทียม
      ขั้นที่ 2 ในช่วงเดือนมิ.ย. เป็นขั้นการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายศปป. โดยคณะทำงานส่วนกลางรวบรวมความเห็นในส่วนกลางจัดทำเป็นกรอบแนวทางดำเนินการ ส่วนศปป.กอ.รมน.ภาค 1-4 รวบรวมความเห็นจากระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค เสนอให้ศปป.ทราบ และขั้นที่ 3 ในเดือนก.ค. จะประมวลข้อมูลที่ได้รับนำไปสู่การนำเสนอแนวทางการปฏิบัติประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป 
     พ.อ.บรรพต กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้ทุกจังหวัดจัดตั้ง ศปป.กอ.รมน.จังหวัด ขึ้นรองรับแล้ว ทางศปป.จะอำนวยความสะดวกให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมา ช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ให้สังคมไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง บริหารความขัดแย้งอย่างเท่าเทียม และเป็นระบบตามกระบวนการยุติธรรมปัจจุบัน ไม่ผูกพันกับเงื่อนไขตามกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 

เตรียมทำโรดแม็ปแก้ขัดแย้ง
      พ.อ.บรรพต กล่าวว่า การดำเนินการโดยภาพรวม ขอให้บูรณาการทุกส่วนงานทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่แล้วเข้าร่วมด้วย เช่น ศูนย์ไกล่เกลี่ยของอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม เน้นเสริมสร้างความสามัคคีและความเข้าใจให้เกิดการยอมรับความเห็นต่างของบุคคล และกลั่นกรองรวบรวมข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปตามลำดับความสำคัญหรือเร่งด่วน นำไปสู่การจัดกิจกรรมปรองดอง สมานฉันท์ จัดเวทีเสวนาชุมชน จัดประชาคมหมู่บ้านทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และภายในสัปดาห์นี้ ศปป.จะเชิญประชุมจัดทำแผนและแนวทางปฏิบัติ หรือโรดแม็ป แก้ปัญหาความขัดแย้ง 
     ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุมผู้บริหารกระทรวงเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตามนโยบายของคสช. โดยนายวิบูลย์กล่าวว่า โรดแม็ปของกระทรวงเน้น 4 เรื่องคือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคง การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จะเริ่มดำเนินการเดือน มิ.ย.-ก.ย.นี้ จากนี้จะนำข้อสรุปเสนอต่อคสช. ทั้งนี้กระทรวงจะรับนโยบายเรื่องปรองดองอีกส่วนหนึ่งจากกอ.รมน. จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯและนายอำเภอจะต้องดำเนินการ ทั้งหมดต้องวิเคราะห์พื้นที่ องค์ประกอบที่จะช่วยให้สังคมมีทิศทางที่ดีคือมีการบังคับใช้กฎหมายและการตรวจสอบ การที่ผู้นำการเมืองในพื้นที่จับมือทำความเข้าใจกันจะทำให้พื้นที่สงบได้

ดึงเด็กช่วยสร้างสมานฉันท์
      นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคสช. กล่าวถึงผลการประชุมระหว่างทีมโฆษกคสช. สำนักเลขาธิการนายกฯ กระทรวง การต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์ว่า ที่ประชุมเน้นการเผยแพร่ความปรองดองสมานฉันท์เพื่อบรรยากาศที่มีความสามัคคีและสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ โดยคสช.จะปรับเพิ่มรายละเอียดข้อมูลทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เป็น ช่องทางหลัก รวมทั้งใช้เฟซบุ๊ก "ไทยคู่ฟ้า" ของทำเนียบรัฐบาล ช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ส่วนวารสารไทยคู่ฟ้าของสำนักเลขาธิการนายกฯจะดำเนินการต่อไปเช่นกัน ทั้งนี้จะมี การประชุมโฆษกกระทรวงเพื่อให้ข้อมูลสื่อมวลชนได้ทันต่อเหตุการณ์และสื่อสารออกทางเว็บไซต์ของทำเนียบได้ทันท่วงที


ช่วยเหลือ - กองพันเสนารักษ์ที่ 13 กองพล ปตอ. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มารักษาให้กับชาวบ้าน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โรงเรียนเพ็ญแขแพทย์แผนไทย ตามโครงการสลายสีเสื้อและปรองดอง เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.

      นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ส่วนการสร้างความปรองดองนั้น พล.อ.อุดมเดชวางโครงสร้างการปรองดองสมานฉันท์ไว้ 2 ประเด็นคือ การตั้งศูนย์ปรองดอง เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นมิตร และการตั้งคณะทำงานปฏิรูปเพื่อให้ได้ข้อยุติเรื่องการปฏิรูปในอนาคตต่อไป ทั้งนี้พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสธ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ได้ประชุมหน่วยงานด้านสังคมขับเคลื่อนแผนปรองดอง โดยให้วัดและโรงเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานสร้างความปรองดอง เด็กๆ จะเป็นบทบาทสำคัญ เชื่อว่าเด็กจะช่วยสมานฉันท์ในครัวเรือนได้

จัดเวทีดนตรีสร้างปรองดอง
     นพ.ยงยุทธกล่าวถึงการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้คนไทยในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ว่า จะจัดงานที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการแสดงดนตรีและบริการตรวจสุขภาพฟรี จึงเชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมงาน
      น.ส.ปัฐมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะทำงานทีมโฆษกคสช.กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังดำเนินการเรื่องความปรองดอง โดยกรมประชาสัมพันธ์จะจัดตั้งศปป. ที่ใช้งบประมาณปกติของกรมประชา สัมพันธ์สื่อสารทำความเข้าใจระหว่างคสช.กับประชาชน จะผลิตและเผยแพร่สปอตโฆษณาผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง ทีวี ทีวีดาวเทียม สื่อออนไลน์ทุกช่องทาง และทุกเย็นวันพฤหัสบดีที่สวนหย่อมภายในกรมประชาสัมพันธ์ จะมีการแสดงดนตรีในสวนโดยวงดนตรีของกรมเพื่อสร้างความปรองดอง เริ่มเย็นวันที่ 5 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป

โคราชเปิด'ศปป.'แล้ว
      ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ด้านหลังศาลากลาง จ.นครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา พร้อมพล.ต.โชติวัฒน์ ภูมิภัทรสวัสดิ์ รองผอ.รมน.จ.นครราชสีมา ทำพิธีเปิด ศปป.กอ.รมน. จ.นครราชสีมา มีหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วนร่วมรับฟังแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของ คสช. และสนับสนุนการสร้างปรองดองสมานฉันท์ ลดความขัดแย้ง โดยแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต้องจัดทำบัญชีรายชื่อ ติดตามความเคลื่อนไหวแกนนำในพื้นที่และจัดกิจกรรมปรองดอง ละลายพฤติกรรมสีเสื้อ เพื่อให้คนไทยรู้รักสามัคคีและรวบรวมปัญหาความต้องการของชาวบ้าน เข้าสู่ที่ประชุมระดับจังหวัด เพื่อนำเสนอเป็นโรดแม็ประดับประเทศ 
      ทั้งนี้ ในวันที่ 11 มิ.ย. ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นครราชสีมา พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 จะชี้แจงแนวทางปฏิบัติการสร้างความสามัคคี ปรองดอง ตามนโยบาย คสช. และ คัดเลือกบุคคลเพื่อรับบทบาทหน้าที่เป็นมวลชนสัมพันธ์ มีเป้าหมายคืนความสงบ ร่มเย็น นำพาประเทศสู่สภาวะปกติโดยเร็ว 

คสช.ถกแก้กฎหมาย
     ที่บก.ทบ. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. กล่าวว่า วันนี้ได้เรียกประชุมระดับปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของส่วนราชการต่างๆ ทั้ง 19 กระทรวง และสำนัก นายกฯ เพื่อวางกรอบและชี้แจงถึงนโยบายของหัวหน้าคสช. ถึงการแก้ไขข้อกฎหมายของส่วนราชการเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน จนถึงสร้างหลักประกันการปฏิบัติงานไม่ให้มีการแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสม ที่สำคัญเป็นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมต่างๆ และลดความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยแบ่งกลุ่มกฎหมายเป็นกรอบดำเนินงาน เพื่อผลักดันให้เป็นผลโดยเร็วในระยะเร่งด่วน 
      พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.กฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วนและส่งผลกระทบต่อประชาชนใน วงกว้าง ซึ่งในกลุ่มนี้จะพิจารณาและออก เป็นประกาศหรือคำสั่งของคสช.ที่จำเป็น 2.กฎหมายที่ค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ ในกลุ่มนี้ขอให้ทุกส่วนราชการจัดทำข้อมูลมาอีกครั้ง จัดเรียงลำดับความเร่งด่วน เพื่อแก้ไขโดยใช้มาตรการเร่งด่วน และเสนอต่อคสช. นำขึ้นสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป 3.กฎหมายที่ส่วนราชการเตรียมยกร่าง ในส่วนนี้ขอให้ทุกส่วนราชการจัดเตรียมข้อเสนอเหตุผลและความจำเป็นในการออกกฎหมาย หลักการและสาระสำคัญ โดยให้ส่วนราชการกลับไปจัดความเร่งด่วนและส่งกลับมาที่กระทรวงยุติธรรมในวันที่ 6 มิ.ย. จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดลำดับ เพื่อส่งให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคสช.ต่อไป 

ชี้ 4 กม.ลูกสิ้นสภาพตาม'รธน.50'
      รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือสอบถามมาที่คสช. ถึงสถานะพรรคการเมืองหลังคสช.มีประกาศฉบับที่ 11 ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ส่งผลให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองสิ้นสภาพการบังคับใช้ไปด้วย เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ประกาศรับรองการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
      แหล่งข่าวจากทีมกฎหมาย คสช. เปิดเผยว่า เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปแล้วส่งผลให้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองสิ้นสภาพการบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีอยู่ต้องสิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้หัวหน้า คสช.สั่งการให้ทีมที่ปรึกษากฎหมายไปศึกษาข้อดีข้อเสียของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่สิ้นสภาพไปแล้วว่าควรประกาศใช้ต่อไปหรือไม่ หากเห็นว่าส่งผลดีก็อาจออกเป็นประกาศ หรือบรรจุในธรรมนูญปกครองชั่วคราว

'วิษณุ'ปธ.ร่างธรรมนูญปกครอง
     "กรณีที่เห็นว่า พ.ร.บ.พรรคการเมือง ควรมีผลบังคับใช้ เพราะมีประโยชน์มากกว่าผลเสียและควรออกเป็นประกาศ เราก็จะให้มีผลผลย้อนหลังให้กฎหมายคงสภาพไปเหมือนก่อนประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550" แหล่งข่าวกล่าว
     รายงานข่าวระบุด้วยว่า ขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช.ฝ่ายกฎหมาย เป็นหัวหน้าคณะดำเนินการซึ่งทีมกฎหมายอยู่ระหว่างการร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวอยู่ ตามที่หัวหน้า คสช.เคยบอกว่ากรอบการร่างเป็นไปตามประเพณี ซึ่งการประกาศใช้เป็นไปตามห้วงเวลาที่ต้องให้สิ้นสุดสถาน การณ์ในระยะที่ 1 ในการดูแลสถานการณ์ให้สงบก่อน
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 11 ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ฉบับสิ้นสภาพไปด้วย ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2.พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง 3.พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 4.พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 5.พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6.พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. 7.พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 8.พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 9.พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. มีประกาศ คสช.ให้คงบังคับใช้กฎหมาย 5 ฉบับแรก ส่งผลให้กฎหมาย 4 ฉบับหลังสิ้นสภาพการบังคับใช้ลง

กกต.ถกกฤษฎีกา-มึนไร้รธน.
      รายงานข่าวจาก กกต. แจ้งว่า สำนักงาน กกต.กำลังหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้พิจารณาว่าเมื่อคสช.ให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 สิ้นสุดลง แต่ให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังอยู่ โดยให้กกต.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น แต่การปฏิบัติหน้าที่ของกกต. ระหว่างนี้เป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญา จึงต้องการความชัดเจนว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังคงอยู่หรือไม่ เพราะการดำเนินคดีอาญาจะเกี่ยวข้องยึดโยงกับกฎหมายดังกล่าว
       รายงานข่าวระบุอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีเมื่อรัฐธรรมนูญปี"50 ถูกยกเลิกแล้ว สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่กกต.เสนอเรื่องต่อศาลอุทธรณ์ให้วินิจฉัยสั่งเลือกตั้งใหม่หรือสั่งเพิกถอนสิทธิ์ จะยังหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัยตามมาตรา 239 อีกหรือไม่ ซึ่งประเด็น นี้เป็นปัญหาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธู์ บริพัตร ซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.นับแต่ศาลอุทธรณ์รับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาได้หรือไม่ เพราะคสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี"50 ไปแล้ว

เรียกเงินสนับสนุนคืนทุกพรรค
       รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อคสช.ให้รัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 ทำให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต้องสิ้นสุดลง ดังนั้นสถานะของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องสิ้นสภาพไปด้วย กกต.จึงทำหนังสือแจ้งพรรคการเมืองเพื่อให้คืนเงินจากองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการ เมืองที่ใช้รณรงค์ด้านประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมืองอีกแล้ว ถ้าพรรคใดใช้เงินกองทุนไปบางส่วนแล้วก็ให้แจ้งบัญชีค่าใช้จ่ายมายังกกต. 
       รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อพรรคการเมืองไม่มีสภาพตามรัฐธรรมนูญ การประชุมสมาชิกพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคจึงไม่ควรกระทำในช่วงนี้ เนื่องจากอาจขัดต่อกฎอัยการศึกและประกาศของคสช.ที่ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมการเมืองเกิน 5 คน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เลขาฯสภารอโรดแม็ปตั้งสนช.
      นายสุวิจักขณ์ นาควัชระ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานของหัวหน้าคสช. ในระยะที่ 2 ถึงการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับสภาปฏิรูปประเทศหลังจากนี้ 3 เดือนว่า ขณะนี้ประธานฝ่ายกิจการพิเศษยังไม่มอบนโยบายในเรื่องนี้ แต่หากมีการดำเนินการ สำนักงานเลขาธิการสภาก็พร้อมสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งในปี 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จัดตั้งสนช.และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ โดยสำนักงานเลขาธิการสภา รับผิดชอบงาน ส.ส.ร. ขณะที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภารับผิดชอบงาน สนช. ซึ่งในโรดแม็ประยะที่ 2 ขึ้นอยู่กัย คสช.ว่าจะมอบหมายงานส่วนใดให้ฝ่ายนิติบัญญัติทั้ง 2 ส่วนรับผิดชอบบ้าง

แอมเนสตี้ฯห่วงคสช.คุมตัวพลการ
      สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนอีกครั้ง เรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงหัวหน้า คสช. เพื่อแสดงความห่วงใยในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการและการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศไทย โดยการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 14 ก.ค. 2557
      การควบคุมตัวโดยพลการและจำกัดสิทธิยังคงเกิดขึ้นกว้างขวางทั่วประเทศไทย หลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่มักถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ส่วนผู้ได้รับการปล่อยตัวมักต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการเดินทาง นอกจากนั้นทางการยังได้เริ่มกระบวน การสั่งฟ้องคดีพลเรือนต่อศาลทหารอีกด้วย 

คัดค้านศาลทหารตัดสินพลเรือน
     รัฐบาลทหารของไทยในนามคณะ คสช. ยังคงประกาศให้บุคคลต้องมารายงานตัว โดยล่าสุดประกาศให้บุคคลกว่า 38 คน ต้องมารายงานตัวในวันที่ 2 และ 3 มิ.ย. ผู้ที่ต้องมารายงานตัวจะถูกควบคุมตัว ส่วนใหญ่กระจายไปอยู่ตามค่ายทหารต่างๆ ในบางกรณีมีรายงานว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวโดยตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สามารถเข้าถึงทนาย ความ ศาล ญาติ และ/หรือแพทย์ ทั้งยังควบคุมตัวผู้ประท้วงอย่างสงบ ส่วนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวก็จะถูกจำกัดสิทธิ โดยต้องลงนามในสัญญาที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่เดินทางหากไม่ได้รับอนุญาต ไม่เช่นนั้นอาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีและ/หรือโทษปรับ
     ที่ผ่านมามีการตั้งข้อหาต่อบุคคลอย่างน้อยสี่คนที่ถูกเรียกให้มารายงานตัว หรือถูกควบคุมตัวระหว่างการประท้วงอย่างสงบ ทั้งนี้เป็นการฟ้องคดีโดยอ้างอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีการจำกัดอย่างเข้มงวดต่อเสรีภาพในการแสดงออก คสช.ได้ประกาศให้นำตัวพลเรือนเข้ารับการไต่สวนจากศาลทหาร ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาความมั่นคงแห่งชาติและความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการชุมนุมหรือการไม่มารายงานตัว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนพลเรือน ด้วยเหตุผลว่าเป็นการจำกัดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสิทธิในการอุทธรณ์คดี

จี้หัวหน้าคสช.ปล่อยตัวผู้ชุมนุม
      ในบรรดาผู้ที่ต้องขึ้นศาลทหาร ได้แก่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.จากพรรคที่เคยเป็นรัฐบาล ที่ถูกแจ้งข้อหาก่อนที่ทหารจะประกาศยึดอำนาจ เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ จะถูกฟ้องต่อศาลทหาร สำหรับการแถลงต่อต้านสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และการขัดขืนไม่ทำตามคำสั่งให้มารายงานตัวของทหาร เจ้าหน้าที่ทหารติดอาวุธได้จับกุมตัวเขาที่กรุงเทพฯ ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ทางการได้ตั้งข้อหาฐานละเมิดกฎหมายความมั่นคงมาตรา 116 (2) ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากได้ไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และประกาศต่อต้านอย่างสงบต่อการบังคับใช้ระบอบทหาร ทางการอ้างว่าคำแถลงของเขาเป็นความผิดต่อความมั่นคง มีการปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวเขา และมีรายงานว่าเขาไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ 
      สำหรับข้อเรียกร้องในจดหมายที่ส่งถึงหัวหน้า คสช. ได้แก่ ไม่ให้จับกุม หรือควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมหรือการสมาคมอย่างสงบ รวมทั้งการเป็นสมาชิกของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสาเหตุเหล่านั้น ต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข 

เรียกร้องยุติละเมิดสิทธิมนุษยชน
     เรียกร้องให้กองทัพตั้งข้อหาอาญาตามกฎหมายต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทุกคน และให้ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนโดยศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ หรือไม่เช่นนั้นต้องปล่อยตัว เรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระโดยทันที เพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุม และเพื่อแจ้งให้ครอบครัวทราบ และให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น เรียกร้องทางการให้ประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและรายชื่อสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการเรียกร้องไม่ให้กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ได้รับการปล่อยตัวทุกคน 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแถลงจี้
     วันเดียวกันนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการใช้อำนาจและมาตรการในการควบคุมความสงบของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม ว่า แม้การชุมนุมจะเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. แต่หากประชาชนเพียงแต่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ โดยมิได้มีพฤติกรรมที่รุนแรงหรือจะเป็นภัยอันตรายต่อบุคคลอื่นแต่อย่างใด การใช้มาตรการในการควบคุมการชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมกับสถาน การณ์และกรณี โดยต้องไม่เป็นการใช้อำนาจหรือมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงหลักปฏิบัติตามกฎหมาย หลักนิติธรรม และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้วย 
    ดังนั้น เพื่อลดเงื่อนไขความตึงเครียดและความไม่พอใจของผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองแต่เพียงต้องการแสดงออกอย่างสันติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเสนอข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้

เรียกร้อง 8 ข้อลดละเมิดสิทธิ์
     1.เจ้าหน้าที่ที่เข้าควบคุมสถานการณ์หรือดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุม ควรแต่งกายหรือมีบัตรประจำตัวซึ่งแสดงที่มาของหน่วยงานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้โอกาสจากผู้ไม่หวังดีในการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกายและเสรีภาพของประชาชน
     2.ในการค้นตัวหรือควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยเฉพาะที่เป็นสตรี ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่สตรีเข้าร่วมการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมโดยคำนึงถึงเพศสภาพ และป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ
    3.หากจำเป็นต้องควบคุมตัว เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งให้ผู้ที่จะถูกควบคุมตัวนั้นทราบ และให้โอกาสผู้ถูกควบคุมแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจทราบถึงการถูกควบคุมตัว และสถานที่ที่จะถูกควบคุมตัวนั้น เพื่อให้ญาติสามารถติดตามหรือเข้าเยี่ยมได้ตามความเหมาะสม 
    4.การควบคุมตัว ควรจัดแยกสถานที่ควบคุมตัวให้เหมาะสมและชัดเจน ระหว่างห้องควบคุมตัวหญิง ชาย และเด็กหรือเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี และให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ตามความเหมาะสม

ต้องเปิดเผยสถานที่คุมตัวให้ชัด
      5.เจ้าหน้าที่ควรทำบันทึกการควบคุมบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ เช่น การให้แพทย์ตรวจร่างกายและญาติหรือทนายความ สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวนั้นได้ รวมทั้งการทำบันทึกการปล่อยตัว และแจ้งให้ญาติทราบว่ามีการปล่อยตัว ณ สถานที่ควบคุมตัวใดและให้ญาติหรือผู้ที่ผู้ควบคุมตัวไว้วางใจมารับและลงชื่อไว้ เพื่อป้องกันการถูกบังคับให้หายสาบสูญ
     6.กรณีที่มีการดำเนินคดีต่อผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมาย ผู้ถูกควบคุมตัวควรได้รับแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ชักช้า และสามารถติดต่อที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือผู้ที่ตนไว้วางใจในการให้ความช่วยเหลือในทางคดีได้ทันที 
     7.คสช.ควรมีประกาศสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการในทุกๆ สถานที่ที่มีการควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกและสถานที่ที่มีการฝากการควบคุมตัวกับหน่วย งานอื่นๆ และให้สิทธิแก่ญาติในการเยี่ยมในวันแรกและตามสมควรเพื่อคลายความกังวล รวมทั้งไม่ควรห้ามติดต่อสื่อสารใดๆ เลยในระหว่างการควบคุม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 
     8.คสช.ควรออกแนวปฏิบัติต่อการควบคุมตัวบุคคลที่ฝ่าฝืนประกาศต่างๆ ที่ออกโดย คสช.อย่างชัดเจนเป็นขั้นตอน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนโดยยึดหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของสังคมไทยในการสร้างความสงบ ความปรองดองของคนในชาติ ให้กลับมาโดยเร็ว

คสช.ตั้งกก.กรองใช้งบ ชูโปร่งใส เลิกแล้วเคอร์ฟิว 3 เมือง นำร่องพัทยา-สมุย-ภูเก็ต ออมสินปล่อยกู้ 5 หมื่นล. ชนะประมูล-จ่ายค่าข้าว ชง'บิ๊กตู่'นั่งปธ.บีโอไอ ดัชนีเชื่อมั่นพุ่งรอบ 14 ด.

      คลังชงปฏิรูปภาษีทั้งระบบ เล็งลดสิทธิบีโอไอ เสนอให้ขึ้นภาษีดีเซล


@ คสช.แจงกรณีถก'ชัชชาติ'
     เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าว กรณีที่ได้แถลงคสช.อาจเรียกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าให้ข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ที่คสช.กำลังศึกษาจะรื้อฟื้นโครงการหรือไม่ว่า ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ประเด็นนี้ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก ยังไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำต่อหรือไม่ ขณะที่รถไฟทางคู่ต้องดูในแต่ละภูมิภาคให้พิจารณาในพื้นที่ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง 
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างที่คุมตัวนายชัชชาติได้สอบถามความเห็นในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ พ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าวว่า ไม่ทราบในประเด็นนั้น แต่ย้ำว่าระหว่างการคุมตัวมีการดูแลเป็นอย่างดีและอาจจะมีการสอบถามความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ บ้าง ทั้งนี้ไม่ได้ปิดกั้นหากใครที่มีความรู้ความสามารถที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมที่จะรับฟัง อย่างไรก็ตาม หัวหน้า คสช.ได้เน้นย้ำว่าการให้บุคคลเข้ามาทำหน้าที่จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังประโยชน์ใดๆ

@ 'วินธัย'ยันใช้หน่วยที่คุมโดยตรง
      พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คสช.กล่าวว่า ขณะนี้โครงการขนาดใหญ่ยังไม่อยู่ในกรอบหารือเร่งด่วน ปัจจุบันเน้นงานโครงการที่ยังคงค้างอยู่ ถ้าไม่รีบดำเนินการอาจส่งผลกระทบกับประชาชนและระบบการบริหารงบประมาณ โดยเฉพาะมีสื่อมวลชนได้นำเสนอว่า คสช.จะเชิญอดีตรัฐมนตรีบุคคลใดบุคคลหนึ่งมารับฟังความคิดและให้ข้อมูล ยืนยันเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในการขับเคลื่อนแผนงานหรือโครงการใดๆ คสช.ยังคงใช้กลไกปกติของส่วนราชการ กระทรวง ทบวงกรม หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเป็นหลัก

@ ยังไม่ฟันธงเลิกแท็บเล็ต 
       นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลัง พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้ากลุ่มงานสังคมจิตวิทยา ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และรองหัวหน้า คสช. ให้เข้าประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า ได้รับรายงานว่าที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายแจกคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือแท็บเล็ต ให้นักเรียนชั้น ม.1 และ ป.1 ตามโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต)
      ต่อ 1 นักเรียน แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะยกเลิกหรือไม่ในส่วนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 และของปีงบฯ 2556 ที่ยังเหลือการจัดซื้อรอบใหม่ของโซน 4 ประมาณ 1,176 ล้านบาท แต่ได้ขอให้ ศธ.ตั้งคณะทำงานร่วมของ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นจะนำเสนอฝ่ายกลุ่มงานสังคมจิตวิทยาอีกครั้ง ซึ่งคณะทำงานจะต้องไปรับฟังคิดเห็นที่รอบด้านก่อนนำเสนอพิจารณาครั้งต่อไป

@ ออมสิน ชนะประมูลเงินกู้ค่าข้าว
      ที่กระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดให้มีการเปิดซองประมูลเงินกู้จำนำข้าว โดย น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินชนะการประมูลได้วงเงินไปทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเสนอดอกเบี้ยต่ำสุด ที่ 2.1792% ถือเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยจัดประมูลเงินกู้มา และต่ำกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร 3 ปีในขณะนี้ที่อยู่ระดับ 2.45% โดยกำหนดเบิกเงินกู้งวดแรก 3 หมื่นล้านบาทในวันที่ 6 มิถุนายน งวดที่ 2 จำนวน 2 หมื่นล้านบาทในวันที่ 13 มิถุนายนนี้

@ เปิดให้แบงก์ยื่นอีกล็อต4หมื่นล.
      น.ส.จุฬารัตน์กล่าวว่า การเปิดประมูลครั้งนี้มีสถาบันการเงินยื่นกู้ถึง 12 แห่ง วงเงินยื่นประมูลรวม 1.45 แสนล้านบาท ทำให้ดอกเบี้ยที่ยื่นเสนอเข้ามาใกล้เคียงกันมาก โดยผู้ยื่นดอกเบี้ยต่ำสุดรายที่ 2 ยื่นเสนอตามระดับดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นในตลาดกรุงเทพ (BIBOR) 6 เดือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.2792% สูงสุดที่เสนอเข้ามาคือ BIBOR+1% โดยธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินรายเดียวที่เสนออัตราดอกเบี้ยติดลบ BIBOR-0.1% และเป็นรายเดียวที่เสนอประมูลมาเต็มวงเงินที่เปิดประมูล
      "สบน.เตรียมเปิดประมูลเงินกู้อีก 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ คาดว่าจะได้รับความสนใจอย่างแน่นอน และยังกำหนดอายุเงินกู้ไว้ที่ 3 ปีเช่นเดิม" น.ส.จุฬารัตน์กล่าว 

@ จัดงบใช้หนี้3.79แสนล.
      น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2558 มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระ 3.79 แสนล้านบาท ซึ่งได้เสนอให้ คสช.พิจารณา เพื่อจัดสรรงบประมาณปี 2558 มาชำระหนี้ดังกล่าว แบ่งเป็นเงินต้นกว่า 2.47 แสนล้านบาท ที่ต้องตั้งงบประมาณมาชำระไม่น้อยกว่า 3% เพื่อรักษาวินัยการคลัง แต่จะชำระได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายได้และรายจ่ายของประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมกว่า 1.31 แสนล้านบาท
     โดย สบน.ขอให้ตั้งงบมาทั้งจำนวนเพื่อเป็นการรักษาเครดิตของประเทศ นอกจากนี้ สบน.ยังเสนอแผนการชี้แจงเครดิตของประเทศในเชิงรุกมากขึ้นให้กับ คสช.พิจารณาเห็นชอบ โดยจะให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังเดินทางไปหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลโดยตรงทั้งเรื่องนโยบายและมาตรการต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับเครดิตของประเทศมากกว่าที่ให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อได้รับข้อมูลจากทางสื่ออย่างเดียว

@ คลังชงปฏิรูปภาษีทั้งระบบ 
      แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอโรดแมปปฏิรูปภาษีให้ คสช.เห็นชอบ โดยจะมีการปฏิรูปภาษีในทุกๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่การปฏิรูปเพื่อสร้างฐานภาษีให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยมีเรื่องที่ต้องดำเนินการระยะสั้นภายใน 1 ปี ได้แก่ การปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้สอดคล้องกับการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% การปรับปรุงอัตราภาษีป้าย และการทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล ให้เข้าสู่อัตราปกติที่เคยเก็บ 5.31 บาท/ลิตร จากขณะนี้ลดเหลือ 0.005 บาท/ลิตร 

@ เล็งขยายฐานภาษีบาป 
      แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องที่ต้องดำเนินการในระยะยาวมากว่า 1 ปี คือภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 7% และ คสช.ได้เห็นชอบให้ขยายการลดแวตที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2558 พร้อมกันนี้ต้องทบทวนการลดหย่อนของภาษีประเภทต่างๆ และขยายฐานและปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิต เช่น ภาษีบาป ด้านการปฏิรูปภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาสิ่งแวดล้อมนั้นจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่กระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องดื่มที่มีความหวานสูง และน้ำมันหล่อลื่น ให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีมลพิษทางน้ำและปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการถาวร

@ จัดหน่วยดูแลผู้เสียภาษีสูง
     แหล่งข่าวกล่าวว่า การปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ต้องปรับปรุงโครงการสร้างนิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น และปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เช่น ภาษีเกี่ยวกับพาณิชย์นาวี เศษซากอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษี ที่ต้องทำคือเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลภาษีอากรระหว่างกรมจัดเก็บภาษี จัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมีรายได้สูง ร่างประมวลรัษฎากรฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

@ ปลัดแรงงานไม่ปรับค่าจ้าง
     นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมผู้บริหารหน่วยงานระดับสูงในสังกัดกระทรวงแรงงาน ว่า คสช.ได้มอบให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) สัปดาห์ที่ผ่านมา
      ได้นำเสนอเรื่องเร่งด่วนให้ คสช.พิจารณา คือ เรื่องการต่ออายุการทำงานให้แรงงานต่างด้าวในราชอาณาจักรไทย และการเสนอให้ออกกฎหมายให้แรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนสามารถเข้ามาทำงานในไทยแบบเช้าไปเย็นกลับได้เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานตามแนวชายแดน ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น จากผลสำรวจของคณะอนุกรรมการค่าจ้างด้านวิชาการล่าสุด พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมากกว่ารายได้ตามอัตภาพ จึงไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง 

@ คลังส่งข้อมูลบอร์ดรสก.ให้คสช. 
     นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รายงานข้อมูลคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจให้ คสช. ว่าที่ไหนยังมีกรรมการว่างอยู่ รวมถึงให้ข้อมูลบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือไดเร็กเตอร์พูลให้ คสช.ไปแล้ว แต่ไดเร็กเตอร์พูลนี้จะมีกำหนดในสัดส่วนการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจแค่ 1 ใน 3 ของจำนวนบอร์ด ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีบอร์ดใด หรือประธานคนใดลาออก ที่ผ่านมาหากเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจะมีคนที่รู้ธรรมเนียมลาออกเอง เพื่อเปิดโอกาสให้ตั้งคนใหม่เข้าไปแทน เมื่อถามว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุว่า ปลัดกระทรวงไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นประธานรัฐวิสาหกิจ นายรังสรรค์กล่าวว่า ถือเป็นความเห็นส่วนตัว รัฐวิสาหกิจถือเป็นองค์กร กิจการของรัฐ ดังนั้น ควรจะมีคนของรัฐเข้าไปนั่งเพื่อดูแลผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งการดูแลในที่นี้ต้องไม่ใช่การเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่ทำเพื่อประเทศชาติ

@ คสช.เคาะชื่อบอร์ดบีโอไอ
      นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ส่งรายชื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ในวันที่ 3 มิถุนายน และคาดว่า คสช.จะพิจารณาตั้งบอร์ดให้แล้วเสร็จภายในวันถัดไป จากนั้น บอร์ดบีโอไอจะเร่งพิจารณาโครงการที่ค้างการพิจารณาอยู่ที่มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน การเสนอชื่อบอร์ดบีโอไอใหม่ เป็น 1 ใน 5 เรื่องหลักที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนดำเนินการ

@ เร่งออกใบอนุญาตร.ง.4 
     นายวิฑูรย์กล่าวว่า สำหรับ 4 เรื่องที่เหลือ ได้แก่ 1.นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 2.ปรับลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชน โดยเฉพาะใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงในเร็วๆ นี้ จะเร่งพิจารณาออกใบอนุญาตภายใน 30 วัน เริ่มพิจารณาใบอนุญาตทุกขั้นตอนในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ พร้อมทั้งตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนและผู้ประกอบการ (เอสซีไออี) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ 3.เรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบ่อขยะ และ 4.พิจารณาเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2556/2557 อีก 160 บาทต่อตันอ้อย โดยจะนำเสนอที่ประชุมในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ 

@ เสนอ'ประยุทธ์'นั่งปธ.บอร์ด 
      นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า รายชื่อบอร์ดบีโอไอที่เสนอต่อ คสช.นั้น เป็นรายชื่อชุดเก่าก่อนที่สิ้นสภาพจากคำสั่ง คสช. มีเพียงตำแหน่งเดียวที่ปรับ คือตำแหน่งประธาน เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โครงสร้างกรรมการของบอร์ดบีโอไอ มีจำนวนทั้งสิ้น 18 คน แบ่งเป็นกรรมการ 13 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน และกรรมการที่มาจากส่วนราชการ และเอกชน ได้แก่ นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และเลขาธิการบีโอไอ ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ มีที่ปรึกษาฯจำนวน 5 คน ประกอบด้วย ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย นายภัคพล งามลักษณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
     "คาดว่าจะมีที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของ คสช.เข้าเป็นกรรมการด้วย แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ หารือร่วมกันได้" นายอุดมกล่าว

@ เว้นหลายเก้าอี้ให้คสช.เคาะ 
      รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในการเสนอชื่อดังกล่าวจะต้องมีการเว้นว่างในหลายตำแหน่งเพื่อให้ คสช.พิจารณาแต่งตั้ง เพราะมีหลายรายที่พ้นสภาพตำแหน่งจากคำสั่ง คสช. ประกอบด้วย นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทยที่พ้นวาระตามตำแหน่ง และมีการแต่งตั้งนายบุญทักษ์ หวังเจริญ เป็นประธานแทน

@ อ้างให้เกิดความโปร่งใส 
       พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษก คสช.กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ต้องการให้มีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมาช่วยกลั่นกรองความถูกต้องของโครงการก่อนที่จะเสนอขึ้นมาให้พิจารณาเพื่อให้การอนุมัติโครงการต่างๆ เกิดความโปร่งใสมากที่สุด
       "ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งในการโยกย้ายกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ แต่ หัวหน้า คสช. ระบุว่า ควรจะเป็นคนที่มีความสามารถอย่างแท้จริง สามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรและประเทศได้ เป็นคนที่สังคมสามารถยอมรับได้ ไม่ใช่นำคนที่ทำงานสบายๆ คอยมาเกาะกินเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม" พ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าว 

@ เลิกเคอร์ฟิว'พัทยา สมุย ภูเก็ต'
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 52/2557 เรื่อง ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในบางพื้นที่ ว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว และลดผลกระทบจากการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ที่อยู่ในสภาวะสงบ และปราศจากการชุมนุมทางการเมืองอันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จึงได้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต สำหรับในพื้นที่อื่นให้ยังคงปฏิบัติตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 42/2557 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 57 เรื่อง แก้ไขห้วงเวลา ห้ามออกนอกเคหสถาน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

@ สมุยดีใจท่องเที่ยวฟื้น 
      นายทนงศักดิ์ สมวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ดีใจมากๆ ที่ คสช.ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว ถือเป็นเรื่องดีเพราะได้รับผลกระทบมาระยะหนึ่งแล้ว หลังจากนี้จะเป็นการลดปัญหาอุปสรรคของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย หลังมีเคอร์ฟิวนักท่องเที่ยวลดลงเหลือร้อยละ 30-40 ซึ่งหายไปพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เชื่อว่าคงจะขยายประกาศเลิกเคอร์ฟิวในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นต่อไปด้วย 
      นางวรรณี ไทยพาณิชย์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน และเจ้าของโรงแรมพะงันบุรี รีสอร์ท กล่าวว่า เข้าใจว่าเกาะพะงันได้รับผลนี้ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากเกาะสมุยและมีนักท่องเที่ยวข้ามไปท่องเที่ยวระหว่างทั้ง 2 เกาะนับหมื่นคน โดยเฉพาะการจัดงานฟุลมูนปาร์ตี้ในคืนวันที่ 12 มิถุนายนนี้

@ 'หัวหิน-ชะอำ'อ้อนขอบ้าง 
      นายรุ่งโรจน์ สีเหลืองสวัสดิ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ เปิดเผยว่า พื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี คาดว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีข้อเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกเช่นกัน เพราะในระยะสั้นผลประกอบการลดลงร้อยละ 30 ส่วนระยะยาวจะมีผลกระทบกับการจองที่พักล่วงหน้าของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

@ ภูเก็ตเฮนักเที่ยวผ่อนคลาย 
       นายภูริต มาศวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ทำให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวมีความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น มีผู้ประกอบการ 2-3 รายโทรศัพท์ติดต่อมาแสดงความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การท่องเที่ยวกลับคืนสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น

@ คสช.ตั้งกก.ตรวจสอบใช้งบ
       เวลา 18.20 น.วันเดียวกัน คสช.มีคำสั่งที่ 45/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความโปร่งใส และอยู่ในระเบียบวินัยการเงินและการคลัง คสช. จึงแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ประกอบด้วย 1.ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน 2.ปลัดกระทรวงคลัง เป็นรองประธานคนที่ 1 3.ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นรองประธานคนที่ 2 4.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นรองประธานคนที่ 3 กรรมการประกอบด้วย 5.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6.อธิบดีกรมบัญชีกลาง 7.ผอ.สำนักประเมินผล 8.เจ้ากรมจเรทหารบก 9.ผอ.ตรวจสอบภายในทหารบก 10.ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก เป็นกรรมการ 11.ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงตามประกาศ คสช.ที่ 22/2557 12.ผู้แทนฝ่ายสังคมจิตวิทยา ตามประกาศ คสช.ที่ 22/2557 13.ผู้แทนฝ่ายเศรษฐกิจ ตามประกาศ คสช.ที่ 22/2557 14.ผู้แทนฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตามประกาศ คสช.ที่ 22/2557 15.ผู้แทนฝ่ายกิจการพิเศษ ตามประกาศ คสช.ที่ 22/2557 16.ผู้แทน คสช. เป็นเลขานุการ 17.ผู้แทน คสช. เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง 18.ผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่สอง 
     คณะกรรมการติดตามฯ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปด้วยด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง 2.รายงานผลการดำเนินการ และเสนอแนะความเห็นให้หัวหน้า คสช.โดยเร็วเพื่อพิจารณาดำเนินการ 3.เสนอแนะเพื่อให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามระเบียบแบบแผนของราชการและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง 4.เข้าไปในสถานที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหน่วยงานอื่นของรัฐหรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 5.เชิญข้าราชการบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือส่งเอกสารให้ตามความเหมาะสม 6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใดๆ ตามที่กรรมการ คสช. หรือหัวหน้า คสช.มอบหมาย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน ให้ปลัดบัญชีกองทัพบก เป็นหน่วยงานรับผิดชอบและให้มีกำลังพลตามจำนวนที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนงานทั่วไปและงานที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการติดตาม

@ ม.หอการค้าชี้ความเชื่อมั่นฟื้น
       เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,251 ราย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการและปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่วนใหญ่สูงสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารราชการและปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยรวมดีขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการเมืองมีเสถียรภาพสูงขึ้นมาก อีกทั้ง คสช.อนุมัติจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวแก่ชาวนากว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จากการบริโภคและจับจ่ายใช้จ่ายของชาวนา และแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาคธุรกิจ 
       นางเสาวณีย์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม (ซีซีไอ) ขยับจาก 67.8 ในเดือนเมษายน เป็น 70.7 ในเดือนพฤษภาคม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ขยับจาก 53 และ 72.3 เป็น 54.7 และ 75.8 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ขยับจาก 57.7, 61.9, 83.8 เป็น 60.7, 64.2, 87.1 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิต และมุมมองต่อสถานการณ์การเมือง พบว่ามีการดีดตัวเพิ่มมาก จาก 61.2 และ 37.3 เป็น 71 และ 59.6 ตามลำดับ เป็นการฟื้นตัวในรอบ 14 เดือน และดัชนีระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน นับจากตุลาคม 2556 
      นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับสูง โดยเฉพาะดัชนีต่อสถานการณ์การเมืองเดือนพฤษภาคม ขยับขึ้นจากเดือนเมษายน ถึง 22 จุด เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2549 ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้าบริหารประเทศหลังมีเหตุการณ์วุ่นวาย โดยแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งและทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเกิน 4% ในครึ่งปีหลัง 2557 และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2557 ขยายตัว 2-3%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!