WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8823 ข่าวสดรายวัน


ปูลั่นต่อสู้คดี ชี้ปรองดองไม่ใช่ไล่ล่า เปิดใจขอร่วมทวงคืนปชต. ทหารคุมเข้ม-ห้ามแถลงข่าว มติ 190 ต่อ18-เว้นวรรค 5 ปี อสส.สั่งฟ้องอาญาซ้ำทันที นิคม-สมศักดิ์รอดตามโผ โลกติงคสช.เสียเป็นกลาง


เปิดใจ- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ภาพล่าสุดของตนเองผ่านเฟซบุ๊กพร้อมแถลงการณ์ ขอต่อสู้คดีถึงที่สุด หลังสนช.ลงมติถอดถอนและอสส.สั่งฟ้องคดีอาญา ขณะที่ทหารเข้าตรึงโรงแรมเอสซี ปาร์ค ขอความร่วมมือให้อดีตนายกฯงดจัดแถลงข่าว

     'ปู'ออกแถลงการณ์ย้ำความบริสุทธิ์คดีจำนำข้าว กังขาอสส.สั่งฟ้องอาญาก่อนสนช.จะลงมติถอดถอนเพียงชั่วโมงเดียว พร้อมต่อสู้ในชั้นศาลไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวไทย ทวงคืนประชาธิปไตย ชี้ปรองดองไม่ใช่การไล่ล่า มติสนช.เชือด'ยิ่งลักษณ์'ตามคาด 190 ต่อ 18 ส่งผลต้องเว้นวรรค 5 ปี ขณะที่ 2 อดีตประธาน'นิคม-สมศักดิ์'เสียงไม่ถึงรอดทั้งคู่ ด้านอัยการสูงสุดฟันซ้ำสั่งฟ้องอาญาคดีจำนำข้าว เผยถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิดต้องจำคุกไม่เกิน 10 ปี สื่อนอกวิเคราะห์การเมืองไทยเข้าสู่โหมดแตกหัก คสช.เสียความเป็นกลาง และส่งผลกระทบถึงความชอบธรรมของบิ๊กตู่ด้วย

สนช.ถอดนิคม-สมศักดิ์-ปู
     เวลา 10.18 น.วันที่ 23 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งหรือไม่ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยนายนิคม และนายสมศักดิ์ จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบ ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีปล่อยปละเลยไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัย มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาประจำ บริเวณรอบรัฐสภาเป็นพิเศษ และดูแลความเรียบร้อย อย่างเข้มงวด

นำบัตร 3 สีเข้าไปกาในคูหา
      จากนั้นเข้าสู่วาระการลงมติ โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิปสนช.) เสนอให้ที่ประชุมลงคะแนนบุคคลทั้ง 3 พร้อมกัน โดยใช้บัตร 3 ใบ ของนายนิคม นายสมศักดิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วให้สมาชิกนำบัตรไปกาในคูหา นำบัตรไปหย่อนในกล่องแยกตามสี คือ สีขาว เป็นของนายสมศักดิ์ สีชมพู เป็นของนายนิคม และสีเหลืองเป็นของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งบัตรลงคะแนนจะแยกตามสีกล่องเช่นกัน และให้นับคะแนนพร้อมกันเพื่อความโปร่งใส ทั้งนี้ นายพรเพชร ชี้แจงว่า ข้อเสนอของนายสมชาย ถือว่าไม่ขัดกับข้อบังคับที่ 158 ที่ระบุว่าการลงมติให้เป็นไปโดยการลงคะแนนลับในคูหาและนำไปหย่อนในกล่อง ฉะนั้นคำเสนอของนายสมชายไม่ขัดต่อข้อบังคับ จึงขออนุญาตดำเนินการตามที่นายสมชายเสนอ

มาพรึบ 219 คน-พัชรวาทลาป่วย
     สำหรับมติการถอดถอนคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิก สนช.ทั้งหมด 220 คือ 132 เสียง ทั้งนี้ บัตรลงคะแนนจะมี 2 ช่อง คือ ช่องถอดถอน และ ช่องไม่ถอดถอน และห้ามเขียนข้อความใดๆ ลงไปในบัตร จะถือว่าเป็นบัตรเสีย และหากสมาชิกคนใดไม่ประสงค์ลงคะแนนหรืองดออกเสียง เพราะคิดว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่กรณีก็ทำได้โดยการหย่อนบัตรเปล่า ไม่ต้องกาอะไร เพราะหากทำให้เป็นบัตรเสีย จะส่งผลต่อภาพพจน์ไม่ดีกับ สนช. ดังนั้น ขอให้สมาชิกอย่าทำบัตรเสีย ซึ่งจะตั้งกรรมการนับคะแนน 3 ชุด ชุดละ 10 คน เป็นกรรมการผู้ควบคุมการลงคะแนนและการนับคะแนน
      จากนั้น นายพรเพชร ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนเริ่มลงคะแนน มีจำนวน 219 คน และแจ้งว่าขาดไป 1 คน คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ลาป่วย และอนุญาตให้นายสถิต สวินทร ซึ่งป่วยและอยู่ในสภาพพร้อมกลับเข้าโรงพยาบาล ได้ลงคะแนนก่อนทั้ง 3 ใบ จากนั้น จะขานชื่อสมาชิกเรียงตามตัวอักษรเพื่อเข้าคูหาลงคะแนน เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. และเสร็จสิ้นในเวลา 11.45 น.

'ปู'โดนคนเดียวมติ 190 ต่อ 18 เสียง
      ต่อมาคณะกรรมการนับคะแนนทั้ง 3 คณะ นับพร้อมกันด้วยการขานบัตรลงคะแนน และนับคะแนนโดยการเขียนลงบนกระดาน โดยใช้เวลานับคะแนน 30 นาที ซึ่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ได้ขานผลคะแนน มีดังนี้ คะแนนของนายนิคม ที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอนด้วยคะแนน 120 ถอดถอน 95 งดออกเสียง 4 ถือว่าเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง ทำให้นายนิคมไม่ถูกถอดถอน 
    ส่วนนายสมศักดิ์ ที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอน 115 ถอดถอน 100 งดออกเสียง 4 ถือว่าเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง ทำให้นายสมศักดิ์ไม่ถูกถอดถอน 
    สำหรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ประชุมมีมติถอดถอนด้วยคะแนน 190 ไม่ถอดถอน 18 งดออกเสียง 8 และ บัตรเสีย 3 ซึ่งถือว่าคะแนนถอดถอนเกินกว่า 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง ถือว่าที่ประชุม สนช.ให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง
     นายสุรชัย แจ้งที่ประชุมว่า หลังจากนี้ประธาน สนช.จะต้องทำตามข้อบังคับที่ 160 คือแจ้งมติที่ประชุมไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง และแจ้งไปยังผู้ถูกร้อง รวมทั้งแจ้งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป ส่วนบัตรลงคะแนน ได้ให้เจ้าหน้าที่นำไปทำลายแล้ว

พรเพชร วิเคราะห์ไม่ถอด 2 ปธ.
     เมื่อเวลา 12.45 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. แถลงประเมินผลการลงคะแนนถอดถอนและไม่ถอดถอน ของนายสมศักดิ์ นายนิคม และน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า สนช.ทุกคนใช้ดุลพินิจโดยอิสระ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ และไม่ได้ทำอะไรแฝงประโยชน์หรือมีเลศนัยใดๆ จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีการชักจูงให้สมาชิกลงมติอย่างหนึ่งอย่างใด แม้แต่ตนก็ไม่เคยพูดเรื่องดุลพินิจลงมติ ซึ่งสมาชิกกระตือรือร้นในหน้าที่ว่าต้องใช้ดุลพินิจโดยคำนึงหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม และความเป็นธรรม 
    นายพรเพชร กล่าวว่า ในฐานะประธาน สนช. ต้องประเมินการทำหน้าที่ของสนช.ว่าเป็นไปด้วยหลักการหรือเหตุผลใด ซึ่งจะนำกระบวนการพิจารณาทั้ง 3 สำนวนมาร่วมประเมินด้วย กรณีนายสมศักดิ์ และนายนิคม ตนเห็นว่าการที่มีมติไม่ถอดถอน เพราะสำนวนข้อกล่าวหาเป็นไปตามข้อกฎหมาย การกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ พ..ศ.2550 มีข้อถกเถียงว่าเมื่อรัฐธรรมนูญยกเลิกไป ความผิดที่ระบุไว้ยังคงอยู่หรือไม่ อีกทั้งป.ป.ช.ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา ก่อนมีรัฐประหาร เมื่อตนมารับหน้าที่ประธานสนช. ตนเห็นคำร้องดังกล่าวจึงทำเรื่องสอบถามป.ป.ช.ว่าจะแก้ไขหรือไม่ แต่ป.ป.ช.ยืนยันว่าจะใช้ข้อกล่าวหาเดิม ตนจึงขอความเห็นสมาชิก กระทั่งมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา เมื่อกระบวน การถอดถอนของนายสมศักดิ์ และนายนิคม สิ้นสุด เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ใช้ดุลพินิจตามข้อกฎหมาย ที่เห็นว่าไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ

อ้างถอดปูไปตามพยานหลักฐาน
     นายพรเพชร กล่าวว่า ขณะที่สำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ค่อยมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย แม้จะมีข้อโต้แย้งในบางเรื่อง คืออำนาจของสนช.ไม่อาจพิจารณาถอดถอนได้ แต่สนช.มีข้อสรุปแล้ว ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้นอำนาจการถอดถอนจึงเป็นไปตามประเพณีการปกครอง สนช.จึงมีอำนาจดำเนินการ อีกข้ออ้างหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งแล้วไม่อาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งควรเป็นเช่นนั้น หากไม่มีวรรคที่ระบุว่า "เมื่อถอดถอนแล้วให้เพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี" เหตุนี้ถือว่าหลักกฎหมายหนักแน่นไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งป.ป.ช. ยื่นข้อกล่าวหาว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แม้ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.อ้างว่าผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วย แต่ข้อกล่าวหายังอ้างความผิดหลักตามขัดพ.ร.บ.บริหารราชการฯ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จึงทำให้ปัญหาตามข้อกล่าวหานี้มีน้อย ดังนั้น สนช.จึงต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
      นายพรเพชรกล่าวอีกว่า กรณีสนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ถึง 190 คะแนน เข้าใจว่าสมาชิกเข้าใจในพยานหลักฐานตามที่ป.ป.ช.นำมากล่าวอ้างและแสดงถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสมาชิก
     นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงเปิดสำนวนคดีของอดีต 38 ส.ว.ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ ว่า ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะไม่ได้เปิดช่องในคดี แม้จะมีมติไม่ถอดถอนกรณีของนายสมศักดิ์ และนายนิคม ซึ่งเป็นฐานคดีเดียวกันกับอดีต 38 ส.ว. แต่ผลสุดท้ายรูปคดีอาจออกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสนช.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

เพื่อไทยชี้ผิดหลักนิติรัฐนิติธรรม
      วันเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ข้อที่น่าคิด คือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เอาคนที่มาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เกิดขึ้นภายหลัง และมิได้กำหนดเรื่องการถอดถอนนักการเมืองไว้ มาถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดกติกาการถอดถอนไว้ แต่ถูกยกเลิกไปแล้ว เป็นการใช้กฎหมOายย้อนหลัง และตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดีเฉพาะ ขณะที่ผู้ถูกถอดถอนไม่มีตำแหน่งใดๆ ที่จะให้ถอดถอนแล้ว การบังคับใช้ก็ตีความกันแบบเทียบเคียงว่าคสช.ให้อำนาจ สนช.เป็นวุฒิสภา จึงถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ กรณีนี้จึJงผิดหลักนิติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในเรื่องหลักนิติรัฐ นิติธรรมของบ้านเมือง
      นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถ้าไม่ทำก็จะผิดรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาอยู่แล้ว การทำตามนโยบายและสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ต่อประชาชน จะต้องรับผลถึงขั้นถูกดำเนินคดีอาญา ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงเป็นข้อที่น่าคิดสำหรับกระบวน การทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต

อัยการสั่งฟ้องอาญา'ปู'จำนำข้าว
      เวลา 09.15 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หนึ่งในคณะทำงานร่วมของฝ่ายอัยการ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอสส. แถลงผลสั่งคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า ตามที่ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. พิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 123/1 ต่อมาอสส.พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์เพียงพอจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ จึงแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ให้ป.ป.ช. ทราบ และได้ตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์เพื่อส่งให้อสส.ฟ้องคดีต่อไปนั้น
      นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า คณะทำงานร่วมฯได้ประชุมและรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 ม.ค. จึงมีมติให้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดเสนออสส.เพื่อฟ้องคดี ซึ่งอสส.ได้พิจารณาพยานหลักฐานดังกล่าว ประกอบพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดในสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช. แล้วเห็นว่า คดีมีความสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาฯได้ จึงให้ดำเนินคดีอาญาฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามข้อกล่าวหา


ฟ้องปู - นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน แถลงยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีทุจริตโครงการจำนำข้าว ที่สำนักงานอสส. เมื่อวันที่ 23 ม.ค.

โต้ไม่เกี่ยวกับสนช.ลงมติถอด
       นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนต่อไป ทาง อสส.จะตั้งคณะทำงานอัยการขึ้นมาร่างคำฟ้องและตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่มีกว่า 4,000 หน้า ให้เสร็จสมบูรณ์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ซึ่งกรณีนี้อสส.ได้ประสานป.ป.ช.ให้นำตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาฟ้องคดี แต่หากไม่ได้ตัวมาฟ้อง ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ พ.ศ. 2553 ข้อ 8 ระบุว่าหากนำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้อง ให้ผู้พิพากษา ประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว แต่หากไม่ได้นำตัวมาศาล ให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้องด้วย
       เมื่อถามถึงอัตราโทษในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 123/1 นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 ระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี แต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ศาลจะพิจารณาควบคู่กันว่าเข้าข่ายประกอบความผิดในมาตราใด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ทั้งนี้ ยืนยันว่าอสส.สั่งฟ้องครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับกรณีสนช.ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอสส.พิจารณาตามพยานหลักฐานในสำนวนคดี ซึ่งเห็นว่าครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงมีคำสั่งดังกล่าว ทางอัยการพิจารณาสำนวนคดีอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม
      ส่วนที่อัยการเลื่อนเวลาแถลงผลสั่งฟ้องคดีเร็วขึ้น เป็นการเทน้ำหนักให้กับสนช.ในการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอสส.และตนมีภารกิจต้องไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ จึงได้ลงนามคำสั่งและแถลงข่าวในเช้าวันเดียวกันนี้
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.45 น. ก่อนที่อัยการจะแถลงข่าว นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออสส.เพิ่มเติมอีก ผ่านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอสส.

เผยขั้นตอนศาลฎีกาพิจารณาคดี
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากอสส. ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้วตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธาน ศาลฎีกา จะเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดภายใน 14 วัน เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คน เป็นองค์คณะรับผิดชอบคดี พร้อมนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ และเมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้อง จะเลือกผู้พิพากษาในองค์คณะ 1 คน เป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ จากนั้นจะมีหมายเรียกจำเลยมาศาลในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกภายใน 45 วันนับจากวันที่รับฟ้อง เพื่อสอบคำให้การ ซึ่งวันดังกล่าวจำเลยจะต้องมาศาลด้วยตนเอง และเมื่อตกเป็นจำเลยแล้ว จะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่ศาลจะพิจารณาให้ประกันหรือไม่และกำหนดเงื่อนไข เช่น การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ถือเป็นดุลพินิจของศาล

ป.ป.ช.ชี้ทำไปตามพยานหลักฐาน
       ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีที่สนช. ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และไม่ถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ ว่า ในฐานะของป.ป.ช. ต้องดำเนินการตามขั้นตอน และต้องทำตามหน้าที่ ผู้สื่อข่าวถามว่า พอใจมติของสนช.หรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า คงไม่สามารถพูดได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ แต่ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว มั่นใจในพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งกรณีการแถลงเปิดและปิดคดีของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และคณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. ที่ได้กล่าวไปตามพยานหลักฐานที่มี
      ต่อข้อถามว่า กังวลหรือไม่ที่ถูกวิจารณ์ว่าป.ป.ช.ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งขึ้นมาอีก เนื่องจากในวันเดียวกันนี้อัยการสูงสุดแถลงสั่งฟ้องคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว นายปานเทพกล่าวว่า คงพูดแบบนั้นไม่ได้ ป.ป.ช.ทำงานในส่วนของป.ป.ช. และอสส.ได้พิจารณาสั่งฟ้องคดีให้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องของ อสส.ในการดำเนินการฟ้องคดี

ทหารรุดรร.เอสซี-คุมเข้มเพื่อไทย
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ในช่วงเช้าได้พักผ่อนอยู่ภายในบ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3 โดยบรรยากาศบริเวณบ้านพักเป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีเพียงสื่อมวลชนเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมายังอาคารชินวัตร 3 ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อติดตามมอนิเตอร์ข่าวต่างๆ ทั้งการแถลงของอัยการสูงสุดที่มีความเห็นส่งฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการลงมติถอดถอนของสนช. โดยมีเพียงคนใกล้ชิดอยู่ด้วยเท่านั้น 
       ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่โรงแรมเอสซีปาร์คว่า หลังสนช. มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศได้ทยอยมาปักหลักเพราะคาดว่าอดีตนายกฯจะมาแถลงข่าว อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้ามีเพียงนายสิงห์ทอง บัวชุม คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมาเท่านั้น เนื่องจากมีรายงานข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงได้ติงไปยังแกนนำพรรคเพื่อไทยว่าไม่ให้จัดกิจกรรมหรือรวมตัวทางการเมือง หากไม่ขออนุญาตก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยนัดรวมตัวกันรับประทานอาหารกลางวันและให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนเที่ยงมีเจ้าหน้าที่ทหารและรถฮัมวี่ขับตระเวนและเฝ้าสังเกตการณ์ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโรงแรมด้วย

'สิงห์ทอง'ปลง-พท.อาจโดนยุบ
      เวลา 12.00 น. นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ทีมทนายหารือถึงกรณีสนช.ลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งทีมทนายยังเป็นกังวลในกรณีอัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีส่อทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เนื่อง จากเป็นคดีอาญามีบทกำหนดโทษที่ร้ายแรงกว่า ทั้งนี้ ยืนยันจะไม่มีมวลชนออกมาให้กำลังใจ เพราะต้องการให้ คสช.และรัฐบาลเดินหน้าประเทศ จะต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ขอให้ตีความอย่างตรงไปตรงมา 
       นายสิงห์ทอง กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนม.ค. ที่กกต. จะตัดสินยุบพรรคเพื่อไทย จากกรณีทัวร์นกขมิ้นของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งพรรคก็พร้อมจะชี้แจงและต่อสู้คดีต่อไป แต่ขณะนี้พรรคยุ่งอยู่กับคดีจำนำข้าวเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าหลังทุกคดีเสร็จ จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างแน่นอน แต่จะต้องดูเงื่อนไขว่าจะนิรโทษกรรมให้กลุ่มใดบ้าง ส่วนตัวมองว่าถ้าไม่มีนิรโทษกรรม การปรองดองจะไม่เกิดผล และเหตุการณ์จะกลับไปเหมือนในอดีต ทำให้การปฏิรูปไม่เป็นผล

ทหาร-ตำรวจคุมแจรร.เอสซี
       ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่โรงแรมเอสซี ปาร์คว่า เกิดความสับสนและชุลมุนขึ้นหลังมีการแจ้งจากคณะทำงานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าจะมีการแถลงข่าวในเวลา 15.30 น. ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ นำโดย พ.ท.ศักดิ์ศิริ แข็งแรง ผบ.ร.11 พัน 1 รอ. และ พ.ต.อ.วัชรพงศ์ ดำรงศรี รองผบก.น. 4 ได้เข้าควบคุมพื้นที่ภายในบริเวณโรงแรมระหว่างที่สื่อมวลชนจำนวนมากกำลังรอติดตามความเคลื่อนไหวการแถลงข่าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์
        พ.ต.อ.วัชรพงศ์ เปิดเผยว่า เรื่องที่อดีต นายกฯจะแถลงข่าวหรือไม่นั้นตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง คือทหาร ตำรวจ ตัวผู้แถลง และโรงแรม แต่ที่ต้องนำกำลังมานั้น เพราะไม่คาดคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องมาป้องกันไว้ก่อน ซึ่งทุกอย่างทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ผู้สื่อข่าวถามว่ามีสัญญาณอะไรที่จะเกิดความรุนแรงหรือไม่ พ.ต.อ.วัชรพงศ์กล่าวว่า ตำรวจทราบข้อมูลพอๆ กับนักข่าวเช่นกัน

คสช.รับห้าม'ยิ่งลักษณ์'แถลงข่าว 
      จากนั้นเวลา 14.30 น. พ.ต.อ.วัชรพงศ์ เชิญนายสิงห์ทอง มายืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า จะไม่มีการแถลงข่าว และความจริงไม่มีการตั้งวอร์รูมแต่อย่างใด เพราะการแถลงข่าวบางครั้งอาจล่อแหลม ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก ซึ่งเราก็รับฟังคสช.จึงได้ส่งตัวแทนมาประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ดังนั้นอยากชี้แจงว่าทั้งหมดเป็นเพียงกระแสข่าว ซึ่งเราต้องเคารพในกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนยุติธรรมในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวที่จะมีในอนาคตต่อไป
      เมื่อผู้สื่อข่าวว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมรับกับคำตัดสินของสนช.หรือไม่ แต่นายสิงห์ทอง ยังไม่ทันตอบคำถาม ทหารก็ขอให้นายสิงห์ทองหยุดการให้สัมภาษณ์
      ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวคสช.ห้ามไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงข่าว หลังสนช. ได้ลงมติถอดถอนว่า เป็นการขอความร่วมมือ เพราะจากการประเมินแล้วพบว่า สถานการณ์เวลานี้ไม่เหมาะสมที่จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะสุ่มเสียงก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้

ขวัญชัยโดนห้ามออกนอกอุดรฯ
      เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร อ.เมือง จ.อุดรธานี นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวว่า ตอนนี้ตนลำบากมากเพราะสถานีวิทยุถูกสั่งปิดมา 8 เดือนแล้ว มีแต่รายจ่ายไม่มีรายรับเข้ามา ส่วนคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นตนไม่ขอแสดงความเห็น เพราะมีทหารสั่งไว้ไม่ให้ตนให้การสัมภาษณ์และยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และใน 10 วันนี้ไม่ให้ตนออกนอกพื้นที่จ.อุดรธานี จะไปร่วมงานสังคม เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานขึ้นบ้านใหม่ ก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นไปได้ที่ตนจะหันหลังให้การเมืองภาคประชาชนในอนาคต
      สำหรับ บรรยากาศหน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เป็นไปตามปกติไม่มีอส.หรือทหารมาเฝ้าดูแล และไม่มีมวลชนกลุ่มใดเคลื่อนไหว หลังจากสนช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์

'ปู'แถลง-แปลกใจอัยการรับลูก
     เมื่อเวลา 14.50 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เป็นไปตามความคาดหมาย ตนขอยืนยันและมั่นใจในความบริสุทธิ์ และขอบคุณเสียงส่วนน้อยที่ยังยึดมั่นในหลักการและความเที่ยงธรรม ซึ่งกระบวนการต่างๆ ได้ลิดรอนและตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของตนในฐานะคนไทยที่พึงได้รับ ยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ดี ไม่ได้สร้างความเสียหาย สำหรับตัวเลขความเสียหายที่พยายามยัดเยียดให้นั้น เพราะความมีอคติต่อตน และนำชาวนามาเป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง
      น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ตนยังคงยืนยันในคำพูดที่เคยกล่าวถึงความเป็นประชาธิปไตยในไทย เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2556 ที่เมืองอูลัน บาตอ ประเทศมองโกเลียว่า ต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในไทย และประชาธิปไตยของไทยพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น แม้วันนี้ประชาธิปไตยไทยได้ตายไปแล้วพร้อมกับหลักนิติธรรม แต่ขบวนการทำลายล้างยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังที่ตนประสบอยู่ขณะนี้ ซึ่งน่าเสียใจและไม่อยากเชื่อว่ามีเหตุการณ์บังเอิญมาก และเป็นการบังเอิญที่ไม่ใช่ความบังเอิญ อีกครั้งหนึ่งคือก่อนเวลาที่ประชุมสนช. จะเริ่มลงมติถอดถอน เพียง 1 ชั่วโมง อสส.แถลงสั่งฟ้องตนในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่หัวหน้าคณะผู้แทนอสส. ยืนยันว่ายังต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของคดีต่อไป ซึ่งองค์กรอัยการเป็นองค์กรที่สร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน กลับต้องถูกตั้งข้อสงสัยในประเด็นนี้


ที่ระลึก- สมาชิก สนช.ถ่ายรูปกับกระดานนับคะแนนลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้เป็นที่ระลึก ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รอดถูกถอดถอนเพราะคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ที่รัฐสภา เมื่อ 23 ม.ค.

เผยภูมิใจได้ช่วยเหลือชาวนา
     อดีตนายกฯ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะนายกฯ ตลอด 2 ปี 9 เดือน 2 วัน ตั้งใจทำงานด้วยความทุ่มเทที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และภูมิใจที่ช่วงหนึ่งในชีวิตทำให้ชาวนาและคนยากจน ได้ลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้วันนี้ตนไม่มีตำแหน่งเหลืออยู่แล้ว ยังคงเหลือแต่คดีความที่ถูกยัดเยียดไว้ให้ ที่ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป คำว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ต้องไม่ใช่การไล่ล่าคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงความเป็นกลางที่อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย เมื่อความเป็นธรรมเกิด ความยุติธรรมก็จะตามมา การยอมรับ ความสงบ ความสามัคคีจะมีขึ้นในสังคมไทย เราเป็นคนไทย แทนที่เราจะหันหน้าเข้าหากันแล้วร่วมกันทำให้ประเทศเข้มแข็ง แต่กลับสร้างความจงเกลียดจงชังให้แก่กัน ไล่ล่าเพื่อให้ไม่มีที่ยืน สุดท้ายคนที่เสียหายก็คือประเทศของเรา

ยืนยันต่อสู้คดีพิสูจน์บริสุทธิ์
       "ดิฉันรันทดใจ ไม่ใช่เพราะถูกกลั่นแกล้งและประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม แต่เสียใจแทนชาวนา และคนไทยทั้งประเทศที่ต้องสูญเสียโอกาส ต้องกลับไปอยู่ในวังวนของความยากจน มีหนี้สิน ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ตลอดจนกฎหมายถูกบิดเบือน หวังว่าผู้ที่เป็นฝ่ายอำนวยความยุติธรรมของประเทศ จะไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่รักษากติกาประชาธิปไตย และไม่รักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม มาชี้นำใดใดอีก ดังที่มีนักวิชาการกล่าวว่าไม่มียิ่งลักษณ์ คนไทยยังอยู่กันได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือถ้าไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ในระบอบการปกครองของไทยแล้ว คงไม่มีใครอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าจะต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญ จะขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างคนไทย เราต้องร่วมกันนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา และสร้างความเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ
       ด้านน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ลูกสาวคนเล็กของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันโดยระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เจ็บจนชิน ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ

สนช.เผยไม่มีล็อบบี้ให้ถอดถอน
      รายงานข่าวจากสนช. แจ้งว่า การลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น สมาชิกสนช.ต่างยืนยันตรงกันว่าไม่มีการล็อบบี้ให้ถอดถอน โดยเฉพาะในงานเลี้ยงสังสรรค์สนช. ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ เมื่อคืนวันที่ 22 ม.ค. นั้นไม่มีการส่งสัญญาณล็อบบี้จากผู้มีอำนาจ แต่สมาชิกสนช.มีคำตอบอยู่ในใจล่วงหน้ากันหมดแล้ว เนื่องจากสนช.แต่ละกลุ่มได้พูดคุยกันมาก่อนหน้านี้ถึงแนวทางการลงมติโดยเห็นตรงกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ส่อในทางทุจริตและไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
     รายงานข่าวแจ้งว่า ผลคะแนนถอดถอนที่ออกมาสูงถึง 190 คะแนนนั้น ถือว่าเกินความคาดหมายของสนช.หลายคนที่ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ 150-160 คะแนน ซึ่งเหตุผลที่คะแนนถอดถอนพุ่งขึ้นถึง 190 คะแนน เนื่องจากสนช.สายทหารเกือบทุกคน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสนช.ต่างเทคะแนนในทางเดียวกันคือ การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ขณะที่คะแนนการงดออกเสียงในคดีถอดถอนที่ผ่านมา จะอยู่ 20 กว่าคะแนน ก็หันมาเทลงมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์เช่นกัน เมื่อมารวมกับเสียงของกลุ่ม 40 ส.ว. กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มข้าราชการประจำ ทำให้คะแนนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์เกินเป้าหมายที่สนช.หลายคนคาดการณ์ไว้

คดีระบายข้าว-อัยการสั่งฟ้องมีส่วน
      สนช.หลายคนเห็นตรงกันว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมมาตอบข้อซักถามต่อสนช.ด้วยตัวเองในวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของน.ส.ยิ่งลักษณ์ลดน้อยลง แม้จะมาแถลงปิดคดีด้วยตัวเองในวันที่ 22 ม.ค.ก็ตาม แต่เนื้อหาที่ชี้แจงเป็นเนื้อหาเดิมที่พูดในช่วงแถลงเปิดคดี ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ไม่สามารถชี้แจงเรื่องการขาดทุนโครงการจำนำข้าวได้ชัดเจน และเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการแถลงตอบโต้ทางการเมืองกับป.ป.ช.มากกว่า 
     นอกจากนี้ การที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ก่อนที่สนช.จะลงมติถอดถอน 2 วัน รวมถึงกรณี อสส. มีมติสั่งฟ้องคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ในโครงการจำนำข้าว ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงเรื่องทุจริตในโครงการจำนำข้าวอย่างชัดเจน เพิ่มความชอบธรรมในการลงมติถอดถอนยิ่งขึ้น เพราะถือว่าคดีมีมูลถึงขั้นที่อสส.สั่งฟ้องแล้ว จึงทำให้คะแนนถอดถอนพุ่งไปถึง 190 คะแนน

ไม่ถอดถอน 2 ปธ.-ข้อมูลไม่ชัดเจน
       รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคดีนายนิคม และนายสมศักดิ์ ที่สนช.ลงมติไม่ถอดถอนนั้น เนื่องจากเห็นว่า ข้อกฎหมายในการเอาผิดยังไม่ชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อกฎหมายไม่ชัดเจนต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ทำให้สนช.สายทหาร สายนักวิชาการ สายข้าราชการส่วนใหญ่ ลงมติไม่ถอดถอน ซึ่งผลการไม่ถอดถอนดังกล่าว สนช.เห็นตรงกันว่าจะส่งผลต่อคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ในข้อหาแก้รัฐธรรมนูญ ที่มาส.ว.โดยมิชอบ ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการถอดถอนของสนช.แล้ว มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ถูกถอดถอนเช่นกัน เนื่องจากเป็นข้อหากระทำผิดแบบเดียวกัน และพฤติการณ์ข้อกล่าวหาของอดีต 38 ส.ว.ถือว่าเบากว่า เพราะเป็นเพียงผู้ร่วมลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น 
      ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องขอขอบคุณสมาชิก สนช.ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ตนเอง เป็นการแสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางนิติบัญญัติยังมีความเป็นธรรมอยู่ ซึ่งมติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มีสมาชิกจำนวนมากที่มีความเข้าใจในข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายที่ตนได้นำเสนอไป อีกทั้งการต่อสู้ครั้งนี้ตนไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อต้องการรักษาสถาบันนิติบัญญัติเอาไว้ 
      นายนิคม กล่าวว่า สำหรับอนาคตทางการเมืองหลังไม่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้น คิดว่าหลังจากนี้คงหยุดงานการเมืองสักระยะหนึ่ง และใช้ชีวิตช่วงนี้ตามภาษาข้าราชการที่เกษียณอายุ ทำบุญไหว้พระ

สื่อเทศชี้การเมืองไทยถึงแตกหัก
     ด้านสื่อมวลชนต่างประเทศสำนักใหญ่ๆ ต่างรายงานวิเคราะห์กรณีอสส.แถลงสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ จากคดีทุจริตในโครงการจำนำข้าว มีบทลงโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี พร้อมกับที่สนช.ให้ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีผลตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีว่า เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คาดเดาถึงความแตกหักและมีความวุ่นวายรออยู่
     บีบีซี สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ รายงานการวิเคราะห์ของโจนาธาน เฮด ว่า การถอดถอนและการสั่งฟ้องในวันเดียวกัน เป็นสัญญาณแรงชัดว่าจะไม่มีการประนีประนอมใดๆ และตระกูลชินวัตรจะต้องออกจากการเมือง หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของชาวชนบท แต่เป็นที่เกลียดชังของกลุ่มอีลิต ชนชั้นกลางและคนในเมือง ด้วยข้อกล่าวหาทุจริตและใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ
     เอเอฟพีรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2544 ที่ผ่านมา รัฐบาลที่นำโดยตระกูลชินวัตรถูกโค่นล้มมาแล้วถึง 5 ครั้ง แบ่งเป็นการทำรัฐประหาร 2 ครั้ง และการแทรกแซงของอำนาจฝ่ายตุลาการ 3 ครั้ง 
     นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานานาชาติและความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า สนช.เต็มไปด้วยบุคคลที่ทหารแต่งตั้งมา ดังนั้น การจะช่วยเหลือน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นมีน้อยมาก ผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวกว่านั้นของผู้สนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสั่งสมความคับข้องใจและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเมื่อปรากฏออกมาในที่สุด
      ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์มองว่า ชะตากรรมของพ.ต.ท.ทักษิณและน.ส. ยิ่งลักษณ์นั้นคล้ายคลึงกัน รวมทั้งคดีที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดจะไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ความเป็นกลางของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดจนความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร ที่อาจปูทางไปสู่ความแตกแยกที่มากขึ้นอีกในอนาคต ระหว่างฝ่ายผู้สนับสนุนและกลุ่มคนชนชั้นกลางในเมืองหลวงที่ต่อต้านกลไกทางการเมืองของตระกูลชินวัตร

ย้ำแตกแยกรากหญ้า-ชนชั้นกลาง
       รอยเตอร์ระบุว่า ทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากกลุ่มชาวชนบท แต่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายและถูกนักเคลื่อนไหวที่เป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางออกมาต่อต้าน ในสมัยพ.ต.ท. ทักษิณ ถูกโค่นล้มด้วยรัฐประหารปี 2549 ส่งผลให้เดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อหลบหนีโทษจำคุก และยังคงอยู่ในต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้ แต่ยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองของไทย ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกยึดอำนาจในปี 2557 และจำเป็นต้องแจ้งกำหนดการเดินทางไปต่างประเทศต่อรัฐบาลทหารทุกครั้ง 
     นิตยสารไทม์ของสหรัฐรายงานว่า ผลการตัดสินของสนช.ในคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลให้ความแตกแยกรุนแรงเพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนชนบทที่ส่วนใหญ่สนับสนุนกลไกการเมืองของตระกูลชินวัตร กับกลุ่มคนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ
      ไทม์สัมภาษณ์นายศักดิ์สิทธิ์ ไสยสมบัติ บล็อกเกอร์วิเคราะห์การเมืองว่า สนช.พยายามกีดกันกลุ่มคนฝ่ายชินวัตร ออกไปจากการเมืองให้นานที่สุด เพื่อไม่ให้มีผู้ขัดขวางในภารกิจใดๆ ที่รัฐบาลทหารจะดำเนินการในอนาคตอันใกล้ และการตัดสินของสนช. มีแต่จะทำให้ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองของไทยเพิ่มขึ้นไปอีก
     รายงานระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังเผชิญหน้ากับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีจากคดีที่อสส.สั่งฟ้อง ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะสร้างความโกรธแค้นให้ฝ่ายผู้สนับสนุนตรกูลชินวัตร หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ 

กระทบความชอบธรรม'ประยุทธ์'
    นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ว่า การตัดสินถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลายสภาพเป็น "ฮีโร่ทางการเมืองที่ไม่มีวันตาย" เหมือนกับพ.ต.ท.ทักษิณ และแม้ฝ่ายผู้สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในหนทางข้างหน้า แต่การ กระทำดังกล่าวยิ่งทำให้คนไทยนับล้านก้าวข้ามบุคคลทั้งคู่ไปได้ยากขึ้นอีก
     ด้านเอเชียน วอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุถึงการวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษา PQA Associates ในกรุงเทพฯ ว่าการตัดสินใจแจ้งข้อหาดำเนินคดีอาญากับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ของ อสส. จะไม่ทำให้เกิดกระแสการประท้วงขนาดใหญ่ในทันที แต่การถอดถอนดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่พยายามให้คนเห็นว่าตนเป็นกลาง แม้จะปฏิเสธแค่ไหนก็ตาม คดีนี้ถือเป็นภาวะถดถอยของความชอบธรรมของรัฐบาลทหารไทย และอาจกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความไม่สงบในอนาคตอันใกล้

'บิ๊กตู่'ปักหลักทำงานทำเนียบ
     เมื่อเวลา 08.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยนายกฯ ได้หยุดพูดคุยกับนางเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายบริหาร ที่มารอรับด้านหน้าตึก พร้อมชี้มือไปทางฝั่งคลองเปรมประชากรและฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมด้านข้างทำเนียบ
     จากนั้นเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เชิญรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมหารือ อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน
      ด้านนางเรณู เปิดเผยว่า นายกฯสอบถามถึงความคืบหน้าการจัดตลาดน้ำโบราณวิถีไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมด้านข้างทำเนียบ โดยกำชับให้ดูแลเรื่องของความสะอาดและอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าชมงาน เพื่อให้เป็นต้นแบบไปปรับใช้ยังสถานที่อื่นๆ ให้ใช้ประโยชน์จากคลองได้ คาดว่านายกฯจะมาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 2 ก.พ.

เกาะติด'สนช.'ลงมติถอดถอน
      เวลา 09.00 น. นายกฯ หารือกับทีมเศรษฐกิจ อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากนั้นในเวลา 14.00 น. นายเปเตอร์ ยาค็อบ เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ โดยในวันนี้นายกฯไม่มีภารกิจนอกสถานที่แต่อย่างใด
   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อน ไหวของฝ่ายรัฐบาล ภายหลังจากที่ประชุมสนช.มติเสียงส่วนใหญ่ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงมีมติไม่ถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ ไม่มีบุคคลใดในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
     รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงมีท่าทีปกติ และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่ตลอดทั้งวัน ซึ่งรวมถึงการลงมติดังกล่าวของสนช.

ออกทีวีโวเข้ามา 8 เดือนแก้ได้มาก
      เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ตอนหนึ่งว่า สัปดาห์นี้มีเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและสังคมหลายเรื่อง เรื่องใดที่อยู่ในกระบวนการของผู้ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าการบริหารของรัฐบาล ของคสช. สปช. สนช.และกระบวนการยุติธรรมนั้น อยากให้ผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรงได้ดำเนินการจนกว่าจะจบกระบวนการ ประชาชนควรติดตามอย่างมีสติ มีเหตุ มีผล ใช้สติปัญญาความรู้ใคร่ครวญให้ถูกต้อง อย่าให้ทุกอย่างเป็นอุปสรรคกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในภาคใหญ่ของประเทศ และปัญหาของประชาชนในภาคการเกษตร และอื่นๆ ด้วย 
      นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าคสช. และรัฐบาล วันนี้เราเข้ามาแค่ 7-8 เดือนเท่านั้น บางอย่างทำง่ายๆ ก็เสร็จเร็ว บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็ทำได้ มีคนเดือดร้อนก็แก้ปัญหาให้เขา แต่ไม่ใช่ว่าทำปีเดียวแล้วเสร็จทั้งหมด เสร็จไม่ได้เพราะเรื่องมีมากเป็น 100 เรื่อง และต้องผูกพันกับกฎหมาย กระบวนการ วิธีการ ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ ซึ่งต้องแก้คู่ขนานกันไป ที่ผ่านมาถ้าแก้ไขแล้วมีความพร้อมอยู่แล้ว ก็ดูว่าทำไมตนถึงเข้ามาแก้มากขนาดนี้ แสดงว่าแก้ไขได้ไม่มีประสิทธิ ภาพหรือไม่พร้อม ทั้งนี้ รัฐบาลและคสช.จะเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว

เตือนสื่ออย่าถามให้เกิดการต่อต้าน
       "เรื่องความขัดแย้งไม่มีผลดีกับใครเลย ก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ของกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีปัญหาตรงไหนมาก็ว่ามา รายงานเข้ามา ผมจะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบให้ทั้งหมด คราวนี้ถ้าบางอย่างผมตอบเองไม่ได้ บางอย่างไปเข้าสู่ขั้นตอน เข้าสู่หน่วยงาน เข้าสู่ช่องทางของเขามา ถามผมทุกเรื่องบางครั้งก็อารมณ์เสียอยู่เหมือนกัน ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้เจตนา ต้องขอความร่วมมือจากสื่อต่างๆ อะไรที่รัฐบาลขอความร่วมมือ ก็ช่วยขยายให้เรา เช่น ค่านิยม 12 ประการ ซึ่งผมไม่ได้ไปบังคับใคร แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งที่คิด ที่ติดอยู่ในตัว ติดอยู่ในหัวก็เกิดประโยชน์กับตนเอง อย่างน้อยก็เตือนสติ" นายกฯ กล่าว
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดังนั้น สื่อทุกช่อง ทุกสื่อ อะไรที่เป็นสิ่งที่ดี อย่าเอาไปถามให้เกิดการต่อต้านขึ้นมา ไม่เกิดประโยชน์ เหนื่อยกันเปล่าๆ ซึ่งไม่เห็นประโยชน์เลย เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปถามแบบนั้น นี่คือเป็นสิ่งที่อยากให้ผู้จัดรายการ พิธีกรต่างๆ โดยเฉพาะช่องโทรทัศน์ของราชการหรือช่องที่ใช้เงินของราชการ ดูด้วยว่าควรทำตัวอย่างไร ตนไม่ได้ไปบังคับหรือกำกับอะไรมากมายอยู่แล้ว ทั้งนี้ เราจะพิจารณาดูแลกันไปให้ เหมาะสมก็ฝากไว้ด้วย

เสธ.อู้ไม่ฟันธงอนาคต'ยิ่งลักษณ์'
     เมื่อเวลา 18.00 น. ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดโครงการสปช.พบสื่อมวลชน โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานและมีสมาชิกสปช. ร่วมงานจำนวนมาก 
      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินการต่ออนาคตของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกสนช. ถอดถอนว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดไว้ว่าในมาตรา 35 (4) ผู้ที่ประพฤติมิชอบหรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ต้องไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการฟ้องศาลฎีกาฯ ซึ่งต้องดูคำพิพากษาของศาล เนื่องจากมีคำฟ้องหลายคดี และตอนนี้ยังเร็วเกินไปหากให้เราพิจารณา หรือให้ความเห็นว่ากรณีการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตรงไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม การยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีมาตราที่เกี่ยวกับมาตรา 34 (4) เพื่อให้ได้ที่มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง พวกที่มีคดีทุจริตหรือทุจริตการเลือกตั้ง จะมิให้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้าสู่วงการเมือง ซึ่งการกำหนดว่าจะบัญญัติการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตัดสิทธิตลอดชีวิตนั้น ยังไม่มีการคุยกันว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

ปชป.โดดซ้ำ-จี้คสช.สั่งตม.เข้ม
     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากสนช. มีมติถอดถอน และอสส.มีมติสั่งฟ้องอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำรอยพี่ชายที่เดินทางออกไปต่างประเทศ ตนเห็นว่าคสช.ควรมีคำสั่งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทุกแห่ง ให้ดูแลอย่างเข้มงวด ไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ 
      "กรณีนี้มีบทเรียนมาแล้วว่า กว่าที่ศาลจะมีคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณก็ออกนอกประเทศไปนานแล้ว โดยที่ไม่มีใครรู้ หรือสกัดกั้นได้ทัน จึงไม่ควรให้มีการซ้ำรอยในคดีของน.ส. ยิ่งลักษณ์อีก ขนาดผมและกลุ่มบุคคลอีกหลายคนที่ได้ไปร่วมเจรจากับคสช.ก่อนการปฏิวัติ ทุกวันนี้ยังถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ดังนั้นกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ถือว่าเป็นผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิด คสช.จึงควรวางมาตรฐานที่สูงกว่า เพราะนอกจากถูก สนช.ถอดถอนแล้วยังจะโดนคดีอาญาที่ร้ายแรงกว่าพวกผมด้วยซ้ำ" นายนิพิฏฐ์กล่าว

โวยสนช.ปล่อย'นิคม-สมศักดิ์'
     นายพิฏฐ์ ยังกล่าวถึงการที่สนช.มีมติไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ว่า เชื่อว่าสังคมอยากรู้เหตุที่ไม่ถอดถอนของสนช.แต่ละคนคืออะไร การจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีแล้วนั้น รับไม่ได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า บุคคลทั้งสองมีความผิด การที่สนช.ไม่ถอดถอน ทำให้กลายเป็นว่า ประมุขสถาบันนิติบัญญัติทำผิดกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่กลับลอยนวล แม้จะมีการตีความได้สองทาง แต่อย่าลืมว่าเป็นการกระทำผิดก่อนที่จะมีการปฏิรูป และตอนนี้เราก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูปแล้ว กลายเป็นว่าเขาไม่ผิด ถือเป็นเรื่องแปลก ในเมื่อมีการปฏิรูปก็ควรเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะปฏิรูปทำไม จะอ้างว่ายกประโยชน์ให้จำเลยก็ไม่ได้เพราะคำนี้ใช้กับคดีอาญาเท่านั้น แต่นี่เป็นความผิดทางการเมืองที่ย้อนหลังได้ 
      "แม้การลงมติถอดถอนจะเป็นความลับแต่สังคมอยากรู้ว่า เหตุผลที่นำมาสู่การถอดถอนหรือไม่ถอดถอนคืออะไร ดังนั้นขอเสนอว่าเมื่อเราต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก็ควรจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้กระบวนการถอดถอนสมาชิกต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน และมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรณีคำพิพากษาของศาลยุติธรรม" นายนิพิฏฐ์กล่าว

'พีมูฟ'ถกรบ.-แก้ปัญหายากจน
      เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ เกือบ 100 คน นำโดยนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาพีมูฟ มาประชุมร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน 
    ต่อมาเวลา 14.00 น. ม.ล.ปนัดดา พร้อมตัวแทนกลุ่มพีมูฟ ร่วมกันแถลง โดยนายประยงค์กล่าวว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยจะใช้ข้อเท็จจริง และความเดือดร้อนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ มีการเสนอต่อที่ประชุมว่า ระหว่างการพิจารณาแก้ปัญหา ขอให้ประชาชนได้อยู่ในพื้นที่ก่อน ส่วนประเด็นที่มีความก้าวหน้าคือ โครงการนำร่องธนาคารที่ดินที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยที่ประชุมมีมติจะผลักดันโครงการดังกล่าว โดยโอนโครงการไปยังสำนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ต้องขอมติจากครม.อีก หากโครงการนี้ดำเนินการได้จะทำให้ประชาชนกว่า 500 ครอบครัว มีความมั่นคงในการใช้ที่ดิน นอกจากนี้ยังมีมติจะยกระดับสำนักงานโฉนดชุมชน เป็นหน่วยงานตามกฎหมาย เพื่อให้จัดสรรที่ดิน ซึ่งจะปลดล็อกให้กับประชาชนกว่า 2.4 แสนราย
     นายประยงค์กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ อาทิ เขื่อนปากมูลที่จะต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ หรือกรณีที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้มีการหารือในภายหลัง

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 19:40 น. ข่าวสดออนไลน์

ชูวิทย์ โพสต์'ถอดถอนยิ่งลักษณ์ ใครได้ประโยชน์?'
    เมื่อ 23 ม.ค. เฟซบุ๊ก "ชูวิทย์ I′m No.5" ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความดังนี้
ถอดถอนยิ่งลักษณ์ ใครได้ประโยชน์?
   โครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. นำโดย นายวิชา มหาคุณ กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นโครงการที่มีการทุจริตเชิงนโยบายอย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยจับทุจริตมา
  คุณวิชาประดิษฐ์วาทกรรมที่ว่า "รัฐจำนำข้าว ชาวนาจำนำชีวิต ประเทศจำนำหนี้"
   ผมในฐานะอดีตฝ่ายค้านต้องขอยกย่องชมเชยคุณวิชา ว่ามีลีลาสำนวนโวหารแพรวพราวกินใจ ไม่ด้อยไปกว่าคุณอภิสิทธิ์ นั่งฟังการแถลงแล้วเหมือนคุณวิชาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาเสียเอง นี่ถ้าเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต้องเรียกว่า ส.ส. ทั้งที่อยู่ในและนอกสภา ตามห้องอาหารห้องกาแฟ หรือเดินอยู่ตามห้องโถง ต้องนิ่งเงียบกริบ เหมือนฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไงอย่างงั้น
    นึกย้อนอดีตตอนหาเสียงเมื่อครั้งที่แล้ว ถกเถียงกันระหว่างนโยบายรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย กับประกันราคาข้าวของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการช่วยเหลือชาวนา จะไปหวังกำรี้กำไรคงไม่มี เพราะเตรียมตัวขาดทุนกันอยู่แล้ว และรัฐบาลในอดีตกี่ยุคกี่สมัยก็ไม่เคยได้กำไรจากข้าวสักครั้ง
     แต่เท่าที่ฟัง คุณวิชาแกบอกว่านโยบายประกันราคาข้าวดีกว่า พูดง่ายๆว่าเชียร์นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เขา แถมยังมีพยานปากเอกเป็น คุณอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหมอวรงค์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เสียด้วย
การถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ไม่ให้เล่นการเมือง 5 ปี ให้คุณให้โทษใครไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆกลับเป็นพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอย่างพรรคประชาธิปัตย์โดยแท้ ไม่ใช่ชาวนากับประชาชนโดยรวมแต่อย่างใด
      เพราะข้าวที่ขาดทุนไปแล้วก็ขาดทุนเหมือนเดิม ป้องกันการโกงอะไรก็ไม่ได้ แถมชาวนาก็ลืมตาอ้าปากไม่ได้อยู่ดี

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!