WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8835 ข่าวสดรายวัน


รัฐสภาอาเซียนบี้สนช. '
บิ๊กตู่'เข้ม'สปช.' รีดผลงานปฏิรูป

       'บิ๊กตู่'นั่งหัวโต๊ะประชุมแม่น้ำ 5 สาย ปลื้มผลงานเดินหน้าด้วยดีทุกคณะ แต่ติงสปช.ต้องรีดผลงานด้านปฏิรูปการเมือง-ปฏิรูปประเทศออกมาให้ชัดเจน มั่นใจรัฐธรรมนูญเสร็จตามโรดแม็ปเลือกตั้งได้แน่ในปี 2559 ด้านกสม.ออกมติค้านยุบควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เดินสายยื่นทั้งครม.-สปช.-สนช. ขณะที่'ณัฐวุฒิ'โพสต์ห่วงรัฐธรรมนูญใหม่ไม่เป็นประชาธิปไตย องค์กรรัฐสภาอาเซียนแถลงการณ์ชี้สนช.ไทยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกร้องเลิกปั๊มกฎหมายที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ประชาชน ระบุการเมืองไทยย้อนยุคไปเหมือน เผด็จการทหารในพม่าปี 1990 

บิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะถกแม่น้ำ 5 สาย 

     เวลา 13.40 น. วันที่ 4 ก.พ. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางถึงสโมสรทหารบก วิภาวดีฯ เพื่อเป็นประธานการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 

      ผู้เข้าร่วมประชุม คสช. มี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคสช. พล.ร.อ. ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาคสช.ด้านกฎหมาย และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ 

     สำหรับ ครม.มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

สนช.-สปช.-คยร.มากันครบ

     สนช. มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 และประธานกมธ. สนช.ทั้ง 23 คณะ

     สปช. มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช.คนที่ 1 น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 และประธานกมธ.ปฏิรูปสปช.ทั้ง 18 คณะ 

     ขณะที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มี นายบวรศักดิ์ ประธานกมธ.ยกร่างฯ นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ. นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธาน นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาฯ กมธ.ยกร่าง เข้าร่วม 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรักษาความปลอดภัยบริเวณสโมสรทหารบก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการควบคุมฝูงชน กระจายกำลังรักษาความปลอดภัยพื้นที่โดยรอบอย่างเข้มงวด

'อ.ปื๊ด'เผย'บิ๊กตู่'ห่วงขัดแย้งอีก

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาหารือนาน 3 ชั่วโมง จากนั้นเวลา 17.00 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ว่า ในที่ประชุมมีคนตั้งข้อสังเกตในการรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อการปฏิรูป บางคนถามแบบละเอียดเกี่ยวกับถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ในเรื่องการเลือกปฏิบัติ ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศ ซึ่งเป็นธรรมดาในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยกมธ.ยกร่างฯ รายงานต่อที่ประชุมว่า ได้พิจารณากฎหมายไปกี่มาตราแล้ว ส่วนประเด็นใดที่ยังมีความเห็นขัดแย้ง เช่น การลดฐานะ และผนึกกำลังของ กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน เราต้องรับฟัง และนำไปพิจารณาในตอนที่ต้องทบทวนร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อีกทั้งนายกฯ เป็นห่วงเรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่ามีมาตรการใดที่จะไม่ให้คนกลับมา ตีกันอีกครั้ง 

       นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องสปช. ในที่ประชุมตกลงกันแล้ว ว่าจะดำเนินการตามโรดแม็ปมองไปถึง 20 ปีข้างหน้าว่า จะปฏิรูปอย่างไรให้ประเทศไทยมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้แบ่งประเด็นการปฏิรูปได้เป็น 36 เรื่องใหญ่ 7 วาระ ทั้งนี้ ครม. ได้เสนอต่อ สปช.ว่า หากมีเรื่องใดที่เริ่ม ปฏิรูปได้ในช่วงที่ สปช.ไม่ต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ส่งให้ครม.ดำเนินการได้

'บิ๊กป้อม'พอใจงานเดินหน้า

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานที่ปรึกษาคสช.กล่าวว่า การพูดคุยเป็นไปด้วยดี ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เมื่อถามว่าสิ่งที่ต้องเร่งมีจุดไหนบ้าง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถามกว้างเกิน ไปถามนอกโลกแล้วกลับมาที่โลก ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่และมาปรับให้ตรงกันว่าจะเดินอย่างไรเท่านั้น โดยต่างคนต่างปรับ ปรับให้มาเจอกันคือทำให้รัฐธรรมนูญ มีความสมบูรณ์และเป็นประชาธิปไตยอย่างถาวร

     เมื่อถามว่าด้านความมั่นคงจะต้องปรับในส่วนไหนหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ยัง มันเพิ่งเริ่มต้น ยังต้องทำอีกเยอะ เดือนเม.ย.นี้ ร่างรัฐธรรมนูญจะออก ถามตอนนี้เร็วเกินไป ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ฟังแล้วก็พอใจ

      ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า คุยกันเรื่องการทำงาน การประสานงานและการนำเสนอกฎหมาย โดยกฎหมายที่เป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลจะต้องเร่ง เพราะที่ผ่านมากฎหมายที่สนช.ทำส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเก่า แต่กฎหมายใหม่ในส่วนของรัฐบาลยังไม่ค่อยมี ก็ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่พูดคุยกันก็ไม่มีปัญหา

     นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. กล่าวว่า แต่ละฝ่ายได้รายงานผลดำเนินการ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้เร่งรัดการทำงานของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการกำหนดโรดแม็ปของปี 2558 ให้แต่ละด้านมีความชัดเจน ทั้งสนช. สปช. และการประสานงานการทำงานระหว่างกัน ให้มีระบบวิปทั้งคสช. รัฐบาล และแม่น้ำทุกสาย นอกจากนี้เร่งให้สร้างผลงานให้ประจักษ์ เห็นเป็นประโยชน์และจับต้องได้ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปี

      เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์เร่งเพราะยังเห็นว่าล่าช้าใช่หรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า เร่งรัดทุกครั้ง ไม่ได้หมายความว่าล่าช้า แต่เร่งรัดเพราะต้องการให้เห็นผลงานเป็นรูปธรรม เพราะมีเวลาอยู่น้อย ดังนั้นเร่งทำงาน

เผยบิ๊กตู่สั่งเร่งมือ-เวลามีน้อย

       เมื่อเวลา 17.30 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ครม.นำตัวกรอบของรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯ ได้ร่างมาให้พิจารณา ซึ่งครม.ก็เห็นดีในกรอบที่ร่างมา แต่มีบางเรื่องที่ห่วงว่าต้องออกรายละเอียดที่ดี ไม่เช่นนั้นรัฐบาลในอนาคตจะทำงานยาก และบางอย่างอาจทำให้เรื่องบางเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงนั้นทำไม่ได้ ซึ่งต้องดูในรายละเอียดอีกที เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงกรอบความคิดอยู่ ส่วนอย่างอื่นก็ไม่มีอะไร นอกจากนี้วันนี้คุยกันเรื่องกฎหมายว่าไปช้า อยู่ที่ไหน ซึ่งพบว่าไปช้าอยู่ที่กฤษฎีกา ที่กระทรวง เขาก็เร่งให้มีกฎหมายเข้าสภา

เมื่อถามว่ามีกรณี สนช.มีมติในบางเรื่อง เช่น เรื่องพลังงาน ซึ่งสนช.ส่งไปยังรัฐบาลแต่รัฐบาลก็ไม่ได้เห็นด้วย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ถ้าใช้คำว่ามติอาจไม่ตรง ตนขอใช้คำว่าเขา ให้ข้อยุติของเขามาเป็นข้อเสนอว่าในเรื่องนั้นๆ ควรทำอย่างไร แต่คงไม่ใช่จะมาสั่งฝ่ายบริหารให้ทำ 

ด้านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ให้สัมภาษณ์ว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการรายงานความคืบหน้าของแม่น้ำแต่ละสายว่ามีปัญหาอุปสรรคอย่างไร ภายในแม่น้ำ 5 สายจะรับไม้หรือ ส่งต่อกันอย่างไร โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นผู้รายงานรายละเอียดในส่วนครม. จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กำชับว่าเส้นตายของภารกิจจะมาถึงแล้วให้เร่งทำงาน ต้องรับไม้ส่งต่อกันให้ดี ทั้งนี้ยังกำหนดว่าการประชุมแม่น้ำ 5 สายต่อจากนี้จะมีเดือนละครั้ง ซึ่งครั้งหน้าในเดือนมี.ค. สนช.จะเป็นเจ้าภาพ ต่อด้วยในเดือนเม.ย เป็นคิวของ สปช.

จี้สปช.เร่งรีดผลงานปฏิรูปปท.

พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ได้รับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย หลังจากนี้ต้องคุยกับกมธ.ที่เหลือที่ไม่ได้มาในวันนี้ว่าจะทำงานรวมกันอย่างไร และจะเดินหน้าอย่างไรหลังจากนี้ หากคุยกันแล้วคงเป็นรูปธรรมออกมา และประธานกมธ.ยกร่างฯ คงจะมาแถลง ซึ่งเราได้รับทราบข้อห่วงใยของแม่น้ำทุกสาย ทั้งครม. คสช. สนช. เข้าใจแม่น้ำทุกสายต้องเดินหน้าร่วมกัน จะต่างคนต่างเดินไม่ได้ 

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สนช.และกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำชับ กมธ.ยกร่างฯ ให้ร่างกฎหมายโดยเห็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ที่สำคัญต้องให้ประชาชนได้รับทราบในกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญด้วย รวมถึงกำชับให้คณะกรรมการปฏิรูปดำเนินงานให้มีผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.นี้ ส่วนที่ สนช.เสนอขอเข้าให้ความเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะรับไปพิจารณาว่าจะใช้วิธีไหนได้บ้าง 

นายคำนูณกล่าวว่า นายกฯ ยังกำชับ สปช.ให้เร่งเดินหน้าปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ออกมาในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพราะเมื่อเข้าเดือนเม.ย.นี้ จะต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จฉบับแรกก่อน ด้าน สนช.นั้น นายกฯ ไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องใด เพียงถามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ 

"บิ๊กกี่"เผยไม่ได้พูดถึงกรณีมะกัน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ วิปสนช. กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้กำชับ สนช. เพราะเราทำงานตามกรอบ แต่พูดถึงการออกกฎหมายที่ นายกฯ เห็นว่าน่าจะออกได้มากกว่านี้ ซึ่ง นายกฯ ได้เร่งให้พิจารณา ทั้งนี้นายกฯ ยังพูดถึงร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ขอให้ สนช.ช่วยพิจารณา แต่ไม่ได้เร่งรัดให้ออกกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังพูดถึงทิศทางการทำงานแนวทางการปฏิรูป ต้องการให้แม่น้ำ 5 สายเดินไปในทิศทางเดียวกัน และให้ยึดประชาชนเป็นหลัก ส่วนการให้ข่าวนั้น นายกฯ ขอทุกฝ่ายอย่าพูดให้เกิดประเด็นแตกแยก แต่ให้พูดถึงผลลัพธ์ของงานที่ทำเพื่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่มีการพูดถึงการยกเลิกกฎอัยการศึก 

พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช.และที่ปรึกษาคสช. กล่าวว่า การประชุมไม่มีอะไรเป็นพิเศษ หารือถึงการทำงานตามโรดแมป ที่คสช.วางไว้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น การยกเลิกกฎอัยการศึกหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ได้หยิบยกมาพูด ยืนยันว่าการประชุมวันนี้เพื่อให้แม่น้ำทั้ง 5 สายทำงานร่วมกันเท่านั้น 

เดือดสปช.อย่าเอามติมากดดัน 

รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำหรับการประชุมร่วมกันระหว่างแม่น้ำ 5 สาย บรรยากาศการหารือตลอด 3 ชั่วโมงเป็นไปด้วยความราบรื่นโดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้แต่ละฝ่ายรายงาน ผลการทำงานฝ่ายละประมาณ 30 นาที โดยเริ่มจากสนช. ซึ่งนายพรเพชร ได้รายงานความคืบหน้าการพิจารณากฎหมายของสนช. ซึ่ง นายกฯ เห็นว่ายังออกกฎหมายช้าอยู่ ต้องเร่งดำเนินการอย่าให้ติดขัด กฎหมายใดพิจารณาเองได้ก็ดำเนินการไปทันที โดยเฉพาะกฎหมายที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปและภาษีมรดก ไม่ต้องรอ ครม.หรือกฤษฎีกา จากนี้ไป สนช.ต้องเร่งพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับ คสช.และรัฐบาล เพราะ ที่มีการพิจารณาแล้วเสร็จส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ค้างมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาและกระทรวงต่างๆ 

จากนั้น นายกฯ ได้พูดถึงการทำงานของ สปช.ว่าต้องช่วยกันผลักดัน "อย่าเอามติมากดดัน ผมตั้ง สปช.ขึ้นมาช่วย ดังนั้นก็ต้องมีมติไปในทางเดียวกัน" ส่วนเรื่องที่ทำการปฏิรูปต้องเป็นเรื่องที่เร่งด่วนและจำเป็นเท่านั้น เพื่อจะได้เป็นไปตามโรดแม็ปที่ คสช.วางไว้ ซึ่งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ก็รายงานถึงแผนการทำงานด้านปฏิรูป 

ส่วน กมธ.ยกร่างฯ นั้น นายบวรศักดิ์ ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ว่าได้พิจารณาไปแล้ว 133 มาตรา พร้อมยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับที่กินได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ กมธ.ยกร่างฯ ทำงานด้วยความรอบคอบ อย่าให้มีปัญหาภายหลัง และขอให้ระมัดระวังการพิจารณาเกี่ยวกับหน่วยงานที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ว่าต้องคิดให้รอบคอบ เนื่องจากจะมีเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

สมคิดให้สปช.-สนช.-คยร.คุยกัน

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เสนอให้กมธ. ยกร่างฯ เน้นการร่างบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งให้ครอบคลุมและรอบคอบ ส่วนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า สนช.อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมากกว่านี้ ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช.กล่าวเสริมว่า สนช. สปช.และกมธ.ยกร่างฯจำเป็นต้องคุยนอกรอบให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ภาพที่ออกมามีความ ขัดแย้ง ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาคสช. ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญว่าขณะนี้ยังมีหลายประเด็นที่ต้องปรับแก้ โดยเฉพาะบางส่วนที่ให้อำนาจประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากเกินไปอาจทำให้เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐบาลได้ 

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอให้แม่น้ำทั้ง 5 สายนึกถึงอดีตก่อนการยึดอำนาจ ปัจจุบันที่กำลังทำงานปฏิรูปเพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในอนาคต และขอให้แม่น้ำทั้ง 5 สายทำความเข้าใจกันและทำงานประสานมากกว่ากันที่ผ่านมา เพราะขณะนี้เวลาได้กระชั้นชิดเข้ามาแล้ว และพล.อ. ประยุทธ์ ยังได้พูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ระเบิดที่สยามพารากอน ที่สามารถจับคนร้ายได้แล้ว ซึ่งจะแถลงข่าวในเร็วๆ นี้ สถานการณ์เช่นนี้คล้ายๆ ปี 2553 ที่มักจะมีเรื่องแบบนี้ขึ้น ส่วนประเด็นการยกเลิกกฎอัยการศึกและการทำประชามติที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงเลย

"บิ๊กตู่"เผยสบายใจงานเดินหน้า

เมื่อเวลา 17.25 น. ที่สโมสรทหารบก พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ว่าเราเหมือนลงเรือลำเดียวกันแล้ว คือต้องคัดท้ายและไปกันให้ราบรื่น โดยที่ไม่สวนกระแสน้ำ ไม่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ทำให้การไปสู่จุดมุ่งหมายมันช้าจนเกินไป วันนี้ไม่ได้มีข้อบกพร่องอะไรเลย ตนขอชื่นชมทั้ง 5 คณะ วันนี้เป็นเพียงโจทย์ทุกเรื่อง และต่อไปจะต้องนำไปตกผลึกว่าจะแค่ไหนอย่างไร โดยเอาข้อสังเกตของแต่ละส่วนแต่ละฝ่ายไป ตนเป็นหัวหน้าคสช. มีความสบายใจที่มีความก้าวหน้าอย่างนี้ เพียงแต่เรามาจัดลำดับความเร่งด่วนว่า อะไรที่จะทำให้เร็ว และอะไรที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกับรัฐบาล วันนี้มันต้องไปด้วยกัน ไม่มีขัดแย้งกันอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเปิดเผยข้อเสนอและข้อสังเกตของคสช.และรัฐบาลได้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าสิ่งสำคัญตนได้ย้ำหลักการเดิมของคสช. ว่าเราจะไม่ไปสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม และทำอย่างไรจะทำให้เกิดบรรยากาศเอื้อต่อการปฏิรูปได้ ฉะนั้นอะไรที่ยังไม่ได้ข้อยุติคงต้องหารือเพิ่มเติม สื่อคงต้องช่วยเรา ประชาชนก็อย่าเพิ่งไปเดือดร้อน รวมทั้งนักการเมือง อดีตนักการเมืองอย่าเพิ่งไปเดือดร้อน ว่ากฎหมายนี้จะออกมาอย่างโน้นอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปวิเคราะห์วิจารณ์ เพราะยังไม่จบขั้นตอนกระบวนการ ยังเป็นแนวความคิด ฉะนั้นสิ่งที่ต้องชื่นชมพวกเราคือ การที่ไม่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ปิดกั้นแนวความคิดของกลุ่มต่างๆ ในการปฏิรูป เพียงแต่หาหนทางเจอกันได้อย่างไร สมมติว่า 10 เรื่องตรงกัน 8 เรื่อง อีก 2 เรื่องไม่ตรงกันก็หยุดตรงนี้ไว้ก่อน เอา 8 เรื่องมาทำให้ได้ก่อน 

ไปข้างหน้าโดยไม่ให้ขัดแย้ง

ต่อข้อถามว่ามีข้อห่วงใยอะไรจากแม่น้ำ 5 สายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าข้อห่วงใยของตนเป็นห่วงว่าเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ฉะนั้นประเด็นที่เป็นห่วงคืออะไรที่จะจบสิ้นภายใน 1 ปี และต้องทำให้เสร็จ อะไรเป็นเรื่องการปฏิรูป และจะปฏิรูปต่อกันไปอย่างไร ทำอย่างไรสิ่งที่วางแผนไว้ระยะสั้นระยะยาวจะต่อเนื่อง จะมีกลไกอะไรหรือไม่ ซึ่งตนคงชี้นำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ซึ่งพวกเราไม่ค่อยถนัดเรื่องของข้อกฎหมาย วันนี้เราเดินหน้าประเทศด้วยการเอาปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในอดีตที่ผ่านมามาแก้ไข ว่าทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งหมดไม่สามารถทำให้ดีขึ้นในเวลาสั้นๆ 

นายกฯกล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ได้มีโอกาสพบกับนักธุรกิจญี่ปุ่น เขาบอกว่าที่มาคุยกับเราได้ เพราะเชื่อมั่นรัฐบาลที่วันนี้มีเสถียรภาพ สร้างบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย ตนก็กังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้เขากังวลหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่กังวล และเห็นว่าเรามีความตั้งใจในการเดินหน้าประเทศ แต่เขาเป็นห่วงว่าวันข้างหน้าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ตนได้เล่าให้ฟังว่า วันหน้าเราก็ต้องสร้างให้ต่างชาติมั่นใจในการมาลงทุน ไม่เช่นนั้นเขาไม่มาลงทุนจะทำอย่างไร เศรษฐกิจเราก็เดินหน้าไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ตนทำความเข้าใจกับสนช. สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 

"การประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตนพูดข้อห่วงใยในนามของรัฐบาล ว่าเราจะเดินอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม หรือกีดกันใคร ทุกอย่างเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ถ้าเป็นกระบวนการยุติธรรมกฎหมายคงมีผลย้อนหลังไม่ได้ ฉะนั้นต้องเอากฎหมายหลักมาว่ากัน หรือจะเป็นกฎหมายแพ่งกฎหมายอาญาก็ว่ากันไป ใครผิดใครถูกก็ว่ากันมา อะไรที่เกิดก่อน 22 พ.ค.57 กฎหมายก็ว่าไป อะไรที่หลัง 22 พ.ค.มาแล้วเราจะเดินหน้าประเทศ และไปสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีธรรมา ภิบาล นักการเมืองมีคุณภาพ ประชาชนมีความพึงพอใจ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยความสงบสุขต่อไป ดูแลชีวิตทรัพย์สินประชาชนให้ได้ทุกหมู่เหล่า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ยันทันเลือกตั้งตามกำหนดปี 59

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯจะส่งร่างได้ภายในเดือนเม.ย. หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าได้ๆ ก็เป็นไปตามกำหนด เผลอๆ อาจจะเร็วด้วย เพราะเขาพยายามจะทำให้เร็วเพื่อจะมีเวลาซักค้านกัน ปรับปรุงแก้ไขกันอีก เพราะต้องไปเสนอให้สปช. ครม. คสช. ดูอีก ก็พยายามให้เป็นไปตามที่วางไว้ 

เมื่อถามว่าสรุปว่าวันนี้จะสามารถเดินและจบได้ตามโรดแม็ปที่วางไว้ได้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าจบไม่จบถามตนอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องไปถามคนมีส่วนร่วมข้างนอกด้วย ว่า วันนี้ทางฝ่ายการเมืองผู้เห็นต่างว่าอย่างไร ที่เขาทำวันนี้เข้าใจหรือเปล่า ว่าประเทศชาติ เราเจออะไรกันอยู่ ตนก็ทำให้เกิดความชอบธรรม ไม่ได้ไปไล่ล่าทั้งที่หลายฝ่ายบอกว่าตนต้องทำให้เต็มที่ แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วมันจะสำเร็จหรือไม่ มันจะเกิดความขัดแย้งหรือไม่ก็ไม่ได้ ก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเขาดำเนินการไป

ต่อข้อถามว่า กำหนดการเลือกตั้งจะเป็นปี 59 หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าก็ต้องเป็นไปตามกำหนดการ แต่มีเรื่องกฎหมายลูกซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน รวมถึงการเตรียมการเลือกตั้งก็มีกลไกอยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยสรุปการประชุมติดตามความคืบหน้าของแม่น้ำ 5 สายตามโรดแม็ปเป็นไปด้วยความแฮปปี้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าดี ก็ดูหน้าสิยิ้มอยู่ วันนี้อารมณ์ไม่มีอะไร ที่ต้องพูดกันเยอะเพราะเรื่องเยอะ แม่น้ำ 5 สายปิง วัง ยม น่าน ก็ต้องลงมาที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือสายเลือดคนไทยทั้งประเทศ

โวอารมณ์ดี-แต่ห้ามแหย่บ่อย

"วันนี้เราต้องมีรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคตอยากให้มันทำได้ หากถามว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้าจะให้ผมบังคับให้ทำให้ได้ มันไม่ใช่ มันต้องด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย คนไทยในประเทศช่วยไปบอกด้วยว่าพอได้แล้วอย่ามาสู้กันด้วยความรุนแรง สู้กันด้วยระเบิด ลูกหลานอันตรายและเจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากทำงาน มันก็เป็นบ่อเกิดการทุจริตผิดกฎหมาย การก้าวก่าย ใช้กำลังในทางไม่ชอบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่าแม่น้ำ 5 สายเป็นห่วงเรื่องอารมณ์ของนายกฯหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ห่วงผมเรื่องอะไร ผมเป็นคนอารมณ์ดีจะตาย จริงๆ ผมเป็นคนอารมณ์ดี ผมเป็นคนตลก ไม่เห็นหรือเวลาผมตลก พวกคุณก็ตลกผมตลอด เวลาผมเสียงดังบางทีผมก็แกล้งก็ได้ ส่วนใหญ่ผมจะแกล้งนะเวลาหงุดหงิด ไม่ได้หงุดหงิดจริง แต่อย่าแหย่บ่อยแล้วกัน ขอบคุณทุกคนนะ ต้องการให้ทุกคนยิ้ม"

เผย"บิ๊กป้อม"เข้มเรื่องสื่อ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของกมธ.ยกร่างฯ นายวิษณุ ตั้งข้อสังเกตว่า การร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงภาระเชิงงบประมาณ และรายจ่ายภาครัฐในการจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความฉับไวในการบริหารงานภาครัฐ เพราะบางบทบัญญัติพูดถึงการรับฟังและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจมีกระบวนการและขั้นตอนอีกมาก จึงฝากให้กมธ.ยกร่างฯกลับไปพิจารณา โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ได้รับฟังข้อสังเกตดังกล่าว อีกทั้ง นายวิษณุ ยังฝากไปยังกมธ.ของ สนช.และ สปช. ในเรื่องการแถลงข่าวว่าให้ระมัดระวัง ควรแถลงในเรื่องที่เป็นมติและเป็นข้อยุติแล้ว เพื่อไม่ให้สับสน 

รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประวิตรกล่าวต่อที่ประชุมในฐานะคสช. เสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ขอให้ไปแก้ไขเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งเดิมกมธ.ยกร่างฯ ยึดตามแนวทางรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ให้รัฐบาลเซ็นเซอร์ข่าวสารในภาวะสงครามได้ และตัดถ้อยคำ "ในภาวะการรบ" ออก ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรยกเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา โดยขอให้กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มถ้อยคำเหตุการณ์ความไม่สงบเข้าไปด้วย ให้รัฐบาลเซ็นเซอร์ได้ เพราะหากมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกไป อาจทำให้สถานการณ์ทวีความยุ่งยากยิ่งขึ้น ขณะที่นายวิษณุกล่าวว่า อยากให้ไปดูว่าจะมีข้อยกเว้นในการเซ็นเซอร์สื่อ ในภาวะเหตุการณ์ความไม่สงบได้หรือไม่ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯบางส่วนได้ดูข้อกฎหมายแล้วพบว่า หากรัฐบาลประกาศกฏอัยการศึก ทหารสามารถสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเผยแพร่สื่อได้อยู่แล้ว อีกทั้งในพื้นที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจขอความร่วมมือในเรื่องนี้ได้เช่นกัน แต่เรื่องนี้ก็จะถูกสังคมและสื่อมองได้ว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพได้

บิ๊กตู่ยันไม่ไล่ล่า-ถอดถอนปู

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. รายงานภารกิจและความคืบหน้าการร่างกฎหมายของสนช.ให้ที่ประชุมทราบ รวมถึงกรณีการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เสร็จสิ้น โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าเรื่องการถอดถอน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งไล่ล่าหรือเลือกปฏิบัติต่อใคร รัฐบาลมุ่งเน้นรักษาความสงบและเร่งสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เพราะยังมีปัญหาเก่าที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ได้สร้างปัญหาใหม่ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องครัวเรือน แล้วจะไปไล่ล่าหรือไปทำใครทำไม

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับเรื่องความปรองดองและความมั่นคง นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ที่บ้านเมืองไม่มีทางออก เหมือนติดหล่ม เพราะรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย และเวลานี้บ้านเมืองสงบ มีโอกาสแก้ไขปัญหา เราต้องเร่งมือขณะที่ยังอยู่ภายในกฎอัยการศึก และต้องช่วยกันคิดว่า หากมีรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีคสช. ไม่มีกฎอัยการศึก และปัญหาเดิมๆ จะกลับมาหรือไม่ และจะป้องกันกันอย่างไร ซึ่งต้องให้ทุกคนกลับไปคิดเป็นการบ้าน

ณัฐวุฒิห่วงรธน.ใหม่ไร้ปชต.

วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์ และแกนนำนปช. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ถึงการประชุมร่วมระหว่างคสช. ครม. สปช. สนช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมแม่น้ำ 5 สาย เพื่อกระชับความเข้าใจและตรวจการบ้านตามโรดแม็ป ได้ยินคนบนเรือแป๊ะพูดกันว่ารัฐธรรมนูญร่างแรกผ่านไปแล้ว 50% เปรียบเป็นฟุตบอล พอหมดครึ่งแรกก็จะวิเคราะห์เกมส์ที่ผ่านมาและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในครึ่งหลัง ถ้าปลายทางของรัฐธรรมนูญคือการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องบอกว่ามองเกมส์ครึ่งแรกแล้วน่าเป็นห่วง เพราะยิ่งเดินอำนาจอธิปไตยของประชาชนก็ดูจะอ่อนแอลง

นายณัฐวุฒิระบุว่า สิ่งบ่งชี้บางประการ เช่น มีคน 7 คน เป็นกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ มีสมัชชาคุณธรรมคอยให้ข้อมูลชี้นำสังคมว่าใครบ้างมีหรือไม่มีคุณธรรม มีส.ว.สรรหาเต็มสภาและทำท่าว่าอำนาจจะมหาศาล มีมาตรา 7 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดกรณีพิพาทเมื่อถึงทางตัน ถ้าจบแบบนี้เห็นว่าเราจะเข้าสู่ "สังคมอนุรักษนิยม" ภายใต้อำนาจรัฐราชการ ซึ่งจะสวนทางกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอำนาจสูงสุด ไม่ได้มีปัญหากับระบบราชการ แต่การมีข้าราชการจัดการเลือกตั้ง คุมแต่งตั้งโยกย้าย ชี้ขาดจริยธรรม กำกับนโยบายฝ่ายการเมืองตั้งแต่ช่วงหาเสียง ยังมองไม่ออกว่ารัฐบาลเลือกตั้งจะใช้อำนาจบริหารอย่างไร 

"นี่คือความห่วงใยแป๊ะในฐานะผู้จัดการทีมที่เชื่อกันว่าทุกคนต้องตามใจจะรับไว้พิจารณาแก้เกมส์ในครึ่งหลัง แต่ถ้าแป๊ะและคณะเห็นว่ามาถูกทางจะเดินต่อไปเช่นนี้ ก็แล้วแต่แป๊ะ" นายณัฐวุฒิระบุ

กสม.ยื่นค้านรวมผู้ตรวจฯ

เมื่อเวลา 15.00 น. นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ประชุมกสม.มีมติให้ทำหนังสือถึงหัวหน้าคสช. ประธานสปช. ประธานสนช. ครม. และประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ทบทวนมติการควบรวม ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกสม. เนื่องจากอำนาจหน้าที่และการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของ 2 องค์กรแตกต่างกัน หากควบรวมจะทำให้ประชาชนเสียโอกาสและทางเลือกในการยื่นเรื่องร้องเรียน อีกทั้งบทบาทขององค์กรใหม่อาจถูกลดทอนลง เพราะการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของกรรมการ 11 ด้าน ไม่สอดคล้องกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส 

นางอมรากล่าวว่า นอกจากนี้จะทำให้ประชาคมโลกตั้งคำถามการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไทยยังคงเดิมหรือไม่ ขณะที่กสม.ยังไม่มีกฎหมายการทำงานสอดคล้องกับระหว่างประเทศ ซึ่งเคยเสนอให้สภาพิจารณาแล้ว หลังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่เรื่องยังค้างการพิจารณา ส่วนปัญหาการทำงานอื่นตามที่คณะกรรมการประสานงานกับไอซีซีที่เคยทักท้วงมานั้น ขณะนี้ได้ปรับปรุงการทำงานเกือบครบถ้วนแล้ว

ด้านนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. กล่าวว่า การควบรวมจะเกิดปัญหาการทำงานมากกว่าเสริมประสิทธิภาพ เพราะ 2 องค์กรมีวัฒนธรรมและภารกิจต่างกัน ยืนยันการทำงานไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 7 องค์กรร่วมหารือการทำงาน หากเรื่องร้องเรียนที่รับผิดชอบตรงกับภารกิจขององค์กรใด จะโอนให้ไปรับผิดชอบ ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ให้แยก 2 องค์กรเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการยื่นเรื่องร้องเรียน และอยากให้การทำงานแยกส่วนกัน

"วิษณุ"แจงสัมปทานปิโตรเลียม

เมื่อเวลา 18.00 น. ที่สโมสรทหารบก นายวิษณุกล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ไม่ได้ตรวจการบ้าน แต่ทุกส่วนรายงานความ คืบหน้า โดยจะตรวจการบ้านในเดือนมี.ค. สำหรับการส่งกฎหมายให้สนช.พิจารณา รัฐบาลส่งไป 82 ฉบับถึงวันนี้จะเริ่มหยุด เพื่อทยอยเข้าทีเดียว เนื่องจากยังมีกฎหมายชุดใหญ่ที่อยู่ในมือของคณะกรรมการกฤษฎีกา 10 ฉบับเป็นพวงเดียวกัน และยังมีร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้วและยังอยู่ที่กระทรวงต่างๆ เพื่อถามว่าจะเอากฎหมายฉบับนี้หรือไม่อีก 30 ฉบับ ดังนั้น ช่วง 1-2 วันนี้กระทรวงต่างๆ จะทยอยตอบมา จากนั้นจึงจะเสนอเข้าสู่สนช.อีก 30 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวถามกรณีสปช.มีความเห็นไม่ตรงกับครม.เรื่องการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้เคลียร์ใจในที่ประชุมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีอะไรต้องเคลียร์ใจ เรื่องนี้เกิดจากรัฐบาลขอให้สปช.ให้ความเห็น ซึ่งประธานสปช.ชี้แจงว่าหน้าที่ของสปช. คือให้คำแนะนำตามที่ร้องขอและคิดเรื่องการปฏิรูป ส่วนเรื่องสัมปทานไม่ใช่โครงการที่อยู่ในการปฏิรูป เมื่อสปช.พิจารณาแล้วก็ส่งเรื่องกลับมาให้ครม. ซึ่งจะทำหรือไม่ก็อยู่ที่ครม. หรือแม้แต่มีการเสนอปฏิรูป 11 ด้านมายังรัฐบาล รัฐบาลจะเดินตามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลตัดสินใจเพราะเป็นผู้รับผิดชอบ หากดำเนินการผิด ซึ่งสปช.จะไม่ถูกฟ้องตามที่เสนอเด็ดขาด ยกตัวอย่างเรื่องการจัดทำประชามติเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่าทำประชามติได้ สุดท้ายจะทำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ขนาดโหวตออกมาแล้วยังไม่สามารถบังคับรัฐบาลได้

เผยขอบเขตศาลวินัยการคลัง

เมื่อถามว่าจะรู้ได้เมื่อใดว่าจะต้องทำประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าต้องถามใจประชาชน ก็ต้องตัดสินใจ ตอนนี้รัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ ขอให้เขียนมาให้เสร็จก่อนแล้วจะบอก ใกล้ๆ เดือนเม.ย.ที่รัฐธรรมนูญจะออกก็น่าจะรู้ ต้องให้เวลา หากจะดำเนินการก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญว่าให้ทำได้ แต่คงไม่ถึงเดือนก.ค.อย่างที่ตั้ง ข้อสังเกต ทั้งนี้ ช่วงจัดทำประชามติจะไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะคนละประเด็นกัน การทำประชามติที่ดีไม่ต้องชุมนุมเกิน 5 คนเพื่อหาเสียง ไม่เหมือนเลือกตั้ง การจะคงกฎอัยการศึกให้ไปถึงตรงนั้นคงลำบาก แต่การลงประชามติไม่เกี่ยวกัน การจะไปออกโทรทัศน์ว่าให้รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ก็ ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมหรือก่อความไม่สงบ ไม่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง ประเด็นสำคัญคือการสร้างความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนที่จะเข้ามาสร้างความเข้าใจต้องเป็นกลาง ไม่ใช่นักปลุกระดมพูดเข้าข้างตัวเอง 

นายวิษณุกล่าวถึงข้อเสนอตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงว่า ศาลดังกล่าวเป็นศาลวินัยการเงินการคลัง ซึ่งการทุจริตจะเกี่ยวกับเรื่องเงินหรือไม่เกี่ยวก็ได้ ถ้าเกี่ยวกับเงิน การใช้เงินประชานิยม ก็มาที่ศาลนี้ ซึ่งในต่างประเทศจะเรียกว่าศาลบัญชี แต่หากการทุจริตไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทอง แต่เป็นทุจริตเชิงนโยบาย หรือเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนก็ไปศาลอื่นอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าศาลนี้จะล้อกับมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญเรื่องกลไกป้องกันประชานิยมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนเรื่องประชานิยมไว้แล้วว่าห้ามทำประชานิยมแบบที่เอาเงินไปใช้เพื่อประโยชน์หาเสียง หรือประชานิยมใช้เงินของแผ่นดิน ให้ตัวเองได้รับความนิยมโดยคนรุ่นหลังมารับภาระใช้เงินให้ เช่น ก่อหนี้แล้วให้คนอีก 50-60 ปีมาใช้หนี้ แต่ตัวเองได้คะแนนได้หน้า หรืออาจจะได้ใต้โต๊ะ บนโต๊ะ ซึ่งเป็นประชานิยมที่ไม่พึงปรารถนา แต่ประชานิยมแบบอื่นทำได้ 

ป.ป.ช.เร่งสำนวนสอย 269 ส.ส.

วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะทำงานในคดีถอดถอนอดีต ส.ส. 269 ราย จากกรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว.มิชอบ ได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว แบ่งเป็น 3 กลุ่มความผิด คาดว่าคณะทำงานจะสรุปคดีเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พิจารณาได้ภายในกลางเดือนก.พ.นี้ จากนั้นจะส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการต่อไปทั้ง 3 กลุ่มความผิด 

นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนการดำเนินคดีอาญากับ ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันนั้น คาดว่าคณะทำงานจะสรุปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ในช่วงเดียวกัน เพื่อพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาเป็นรายบุคคลต่อไป ทั้งนี้ กรณี ดังกล่าวจะมี ส.ส.ที่ถูกดำเนินการทั้งการถอดถอนและดำเนินคดีอาญาด้วย

นายปานเทพยังกล่าวถึงกรณีที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แนะให้มีการตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงเพื่อการพิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นจะได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว ส่วนคดีทุจริตประพฤติมิชอบก็น่าจะมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นศาลเดี่ยวพิจารณาคดีทุจริตโดยตรง จะได้ทำคดีได้รวดเร็วขึ้น 

รับลูก"ป๋า"-ตั้งศาลคดีทุจริต

นายปานเทพกล่าวว่า ขณะนี้หากข้าราชการทั่วไปกระทำผิดอาญาต้องถูกนำสำนวนคดีส่งศาลตามขั้นตอน ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ซึ่งปกติมีคดีอื่นๆ ให้พิจารณาอยู่แล้วจำนวนมาก หากมีศาลที่พิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นมาเป็นการเฉพาะก็จะช่วยลดขั้นตอน พิจารณาคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะจะเป็นศาลในลักษณะชำนาญการพิเศษ เหมือนศาลฎีกาแผนก คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่ปัจจุบัน และยังสอดรับกับที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแนะให้มีศาลแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณขึ้นมาด้วย 

ประธานป.ป.ช.กล่าวว่า ที่สำคัญคือกระบวนการขั้นตอนพิจารณาคดีก่อนถึงศาล จะต้องพิจารณาให้รวดเร็ว อย่างป.ป.ช.ก็ต้องทำงานเร็ว รับเฉพาะคดีใหญ่ๆ มีความเสียหายต่องบประมาณจำนวนมากๆ จะทำให้การปราบปรามทำได้รวดเร็ว คนมีความเกรงกลัว ไม่กล้าทุจริต ส่วนคดีเล็กมีความเสียหายน้อยลงมา ก็ส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) แบ่งเบาไปดำเนินการ แต่ขั้นตอนการทำงานของป.ป.ช.เอง ต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

บิ๊กตู่ตกใจ-ข้าวกะเพราจานละ100

เมื่อเวลา 17.20 น. วันที่ 4 ก.พ. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.แถลงภายหลังประชุมร่วม 5 ฝ่ายว่า รัฐบาลได้แจ้งให้แต่ละฝ่ายทราบถึงการขับเคลื่อน 9 ยุทธศาสตร์การทำงานว่าเป็นอย่างไร และได้แสดงความห่วงใยว่าผู้มีรายได้น้อยทำอย่างไรจะลดความเหลื่อมล้ำ เพราะการอธิบายเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาแก้ปัญหาโดยให้เขารับเงินไปเลย แต่วันนี้เราทำอย่างนั้นไม่ได้ จึงต้องไปสร้างความเข้าใจว่าจะช่วยเหลืออย่างไรในช่วงที่ประเทศชาติกำลังคับขัน ตอนนี้เศรษฐกิจยังแย่อยู่ 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมร่วมได้พุดคุยเรื่องเศรษฐกิจหลายอย่าง ต้องมองว่าเราควรดูเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคว่าเป็นอย่างไร โดยนำตัวเลขทั้งหมดมาวิเคราะห์ ที่เป็นปัญหาคือการติดลบทั้งการท่องเที่ยว การค้าขาย เพราะรัฐบาลช่วงที่ผ่านมามีปัญหาจากการเมือง แต่ไตรมาสสุดท้ายปี"57 เมื่อเราเข้ามาก็สามารถเดินหน้าได้ เพราะนำเงินออกมาใช้จ่ายได้ ทำให้ตัวเลขเป็นบวกแต่ก็โตไม่เกิน 1% สิ่งที่เราทำคือการมาไล่ดูข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) หรือข้อมูลการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ว่าสินค้าประเภทใดส่งออกตกลง เช่น ข้าว-ยางที่มีมูลค่าส่งออกสูงมาตลอด แต่วันนี้ราคาดีขึ้น สุดท้ายเราก็มาดูประชาชนเดือดร้อนอย่างไร จัดอาชีพให้ สร้างตลาดชุมชน ตลาดธงฟ้าทุกอำเภอ 

นายกฯกล่าวว่า ส่วนปัญหาค่าครองชีพและราคาอาหารจานเดียวที่พุ่งสูงขึ้นนั้น ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูต้นทุนซึ่งไม่ได้สูงขึ้นมากมาย เพียงแต่เมื่อขายได้น้อยผู้ประกอบการจึงขายแพงขึ้น ประชาชนจึงประกอบอาหารกินเองในบ้านไม่ค่อยออกนอกบ้าน จึงทำให้เกิดการขึ้นราคาอาหาร ก็ได้สั่งให้ไปเดินดู และใครมีข้อมูลให้บอกมาร้านเจ๊นั้นนี้ขายแพงจะไปดูให้ ไข่-หมูเป็นอย่างไร แต่จะให้ไปควบคุมมากก็ไม่ใช่ ไม่เช่นนั้นจะอยู่กันไม่ได้ ทำอย่างไรให้ขายได้เท่าเดิม และถ้าสถานการณ์ไม่ปกติ คนไม่เที่ยวไม่กินจะเป็นอย่างไร ก็ต้องไปเล่นงานตำหนิคนที่เป็นต้นเหตุ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.เศรษฐกิจช่วงเช้าวันที่ 4 ก.พ.ตนได้สั่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไปดูว่างบลงทุน ทั้งขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างที่มีหลายขั้นตอน ตอนนี้ต้องเร่งให้เป็นไปตามกำหนด เพียงแต่ต้องไปดูว่ามีบริษัทสนใจจะประมูลหรือไม่ และมีปัญหาขาดแรงงานที่ต้องไปดูอีก และจะต้องออกกฎหมายแรงงานต่างด้าว เราคิดหมด อย่างตลาดกลางเศรษฐกิจชุมชน เช่นที่ไปเปิดที่จ.นครราชสีมา ขายข้าวได้ราคามากกว่าปกติ 800 บาท ทุกวันนี้ที่ตนพูดออกสื่อไปลูกจ้างพนักงานที่ทำงานเป็นกะจะไม่ได้ฟัง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และรอว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไร เขาต้องอาศัยอ่านน.ส.พ. ดังนั้นน.ส.พ.ต้องช่วยตนลงว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวที่อยู่ในช่วงไฮซีซั่น ตัวเลขเป็นบวกในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เราต้องทำให้เกิดความปลอดภัย สร้างกลไกแรงจูงใจให้แก่ต่างชาติ เพราะเขามาเที่ยวโดยไม่สนใจกฎหมายพิเศษ และเร่งขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจชายแดนให้เร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนายกฯเดินออกจากสโมสรทหารบก ผู้สื่อข่าวได้บอกว่ากะเพราที่สโมสรทหารบกจานละ 100 บาทไม่รวมไข่ดาว นายกฯรู้หรือไม่ ซึ่งนายกฯถามว่าจริงหรือ พร้อมเรียกนายทหารที่ดูแลสโมสรมาสอบถามแล้วให้ดำเนินการแก้ไข พร้อมระบุว่า "ทำไมแพง หรือเห็นเป็นสื่อเลยขายให้แพง"

"บิ๊กตู่"เยือนญี่ปุ่น-จับเข่า"อาเบะ"

วันที่ 4 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือสารัตถะเกี่ยวกับการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ วันที่ 8-10 ก.พ.นี้ โดยคณะประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและการกีฬา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ซึ่งการเยือนครั้งนี้ ตาม คำเชิญของนายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ถือเป็นการเยือนประเทศประชาธิปไตยที่เป็น ทั้งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตก ในเอเชียครั้งแรกของนายกฯ ตั้งแต่รับตำแหน่ง และถือเป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญถึงการยอมรับและให้เกียรติผู้นำไทยและเห็นว่าประชาธิปไตยของไทยเดินหน้า

สำหรับภารกิจสำคัญ ได้แก่ การหารือทวิภาคีกับนายกฯญี่ปุ่นในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบราง การพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย การฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองไทย นอกจากนี้ นายกฯจะหารือกับประธานกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาญี่ปุ่น-ไทย การพบปะกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น ได้แก่ ประธานและผู้บริหารระดับสูงของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น(เคดันเรน) ที่กรุงโตเกียว ประธานและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตคันไซ ที่นครโอซากา รวมถึงประธานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่น อาทิ ฮอนด้า และมิตซุย

นายกฯจะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ คือบันทึกแสดงเจตจำนงเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาระบบราง โดยระบุเส้นทางที่มีความสำคัญลำดับต้นที่ 2 ฝ่ายจะร่วมมือพัฒนา และการยกระดับกลไกคณะทำงานระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เป็นระดับรัฐมนตรีเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยให้รัฐมนตรีคมนาคมสองฝ่ายลงนาม และบันทึกความร่วมมือเกี่ยวกับความร่วมมือส่งเสริมธุรกิจไทยในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในไทย และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันในประเทศที่สาม ระหว่าง JETRO กับคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน

วิษณุแจงกม.ติดต่อราชการ

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 4 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงการประกาศใช้พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2558 และมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน นับจากประกาศคือเดือนก.ค.นี้ว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการติดต่อราชการ ทั้งขออนุญาตจดทะเบียนต่างๆ ขอเอกสารประกอบอาชีพและขออนุญาตบางอย่าง เช่น การก่อสร้างบ้าน มีใจความสำคัญคือ ทำให้ประชาชนทราบขั้นตอนการยื่นคำขอ ระยะเวลาขอเอกสาร รวมถึงกำหนดค่าธรรมเนียมใช้บริการอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการทุจริตและการเสียโอกาส อาทิ การกำหนดระยะเวลาต่ออายุเอกสารที่อาจทำให้ยุ่งยาก จนบางคนต้องซื้อความสะดวก และบางประเทศละทิ้งการลงทุนในไทยไปประเทศอื่น

นายวิษณุกล่าวว่า หน่วยงานราชการจะต้องทำคู่มือหรือชี้แจงไว้ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องในการขอเอกสาร จะนำร่องในกรมที่มีประชาชนใช้บริการมากที่สุด 10 กรมจาก 150 กรมก่อน ซึ่งการดำเนินการหากมีเอกสารนอกเหนือจากคู่มือหน่วยงานราชการมีสิทธิเรียกร้องขอได้เพียงครั้งเดียว มิเช่นนั้นจะถือว่ามีความผิด และเอกสารดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาของก.พ.ร.และให้ครม.ตรวจสอบด้วย โดยจะต้องตัดเอกสารที่ไม่จำเป็นออก

นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้ทุกกระทรวง ทุกจังหวัดตั้งศูนย์บริการร่วม หรือ วันสต็อปเซอร์วิส เพื่อประสานแต่ละกรมภายในกระทรวงเดียวกัน หรือหน่วยงานภายในจังหวัด โดยประชาชนไม่ต้องตามเรื่องเดินเอกสารด้วยตนเอง และอนาคตอาจส่งเรื่อง ข้ามกระทรวงได้ แต่หากบางกระทรวงไม่สามารถใช้อำนาจหรือปฏิบัติงานไม่ดี ในอนาคตอาจมีศูนย์รับคำขออนุญาต มีอำนาจทำหน้าที่แทนกระทรวงได้ ถือเป็นการยึดคืนอำนาจ ของกระทรวงนั้นๆ เบื้องต้นอาจตั้งเพียงแห่งเดียว เช่น ในกรุงเทพฯ เนื่องจากต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อรับรอง เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตได้ ซึ่งประชาชนจะสะดวกในการติดต่อราชการ ภายใต้คำขวัญ "เร็วขึ้น ถูกขึ้น ง่ายขึ้น หรือ faster cheaper easier"

นายวิษณุกล่าวว่า บทลงโทษเจ้าหน้าที่ราชการที่ไม่สามารถดำเนินการตามคู่มือจะใช้บทลงโทษตามกฎหมายอื่น และมีความผิดทางวินัยร้ายแรง โดยตนจะเสนอครม.พิจารณา หากมีการฝ่าฝืนให้มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายต่อไป นอกจากนี้ประชาชนฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ในกรณีกระทำผิดมาตรา 157 ได้ จะมีการประเมินผลของส่วนราชการทุก 5 ปี โดยทำงานส่งให้ครม.พิจารณาต่อไป

รัฐสภาอาเซียนแถลงยี้สนช.ไทย

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เว็บไซต์องค์กรผู้แทนรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอพีเอชอาร์) เผยแพร่บทความเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยับยั้งการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพราะไม่ใช่หน่วยงานที่ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 

นายชาร์ลส์ ซานเตียโก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซีย และประธานองค์กรผู้แทนรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงว่าสภานิติบัญญัติที่รัฐบาลทหารไทยแต่งตั้งขึ้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้แทนประชาชน โดยมีความพยายามในการพิจารณาร่างกฎหมายที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายสิบฉบับ รวมถึงการบังคับใช้กฎอัยการศึกของรัฐบาลทหารเมื่อเดือนพ.ค.2557 ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่กำลังจะเข้าสู่วาระพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เอพีเอชอาร์มีความกังวลอย่างยิ่งต่อต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายหลายฉบับของสนช. โดยเฉพาะกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม การยกเลิกการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลเพื่ออนุญาตให้รัฐบาลสามารถสอดแนมพลเรือนได้โดยไม่ต้องขออำนาจศาล รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการทำเหมืองแร่ฉบับใหม่ที่จะยกเลิกมาตรการคุ้มครองชุมชนจากผลกระทบของการทำเหมือง ซึ่งกลุ่มสังคมหลายกลุ่มยังต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหว ภายใต้ข้อบังคับคุมเข้มของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคสช. อย่างไรก็ตาม หลายกลุ่มยังเดินหน้าท้าท้ายและไม่ยอมแพ้ที่จะถ่ายทอดความเห็นต่างต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้โดยไม่ถามความคิดเห็นของประชาชน 

ด้านนายวอลเดน เบลโล สมาชิกสภาคองเกรสฟิลิปปินส์ และรองประธานเอพีเอชอาร์ ระบุว่าตนได้เห็นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีทั้งก้าวหน้าและเสื่อมถอยในสภาฟิลิปปินส์ และทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมืองเมื่อรัฐบาลผู้มีอำนาจ ตั้งตัวเป็นฝ่ายต่อต้านความต้องการของประชาชน รวมถึงขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้การเลือกตั้งและระบบสภาจะมีช่องโหว่ของความบกพร่อง แต่อย่างน้อยต้องมีการตรวจสอบและสร้างสมดุลให้การพิจารณาร่างกฎหมายที่ถูกต้อง การได้อ่านข่าวความคืบหน้าของประเทศไทยในวันนี้ ทำให้ตนนึกถึงประเทศพม่าในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีการจำกัดสิทธิ์ การใช้ศาลทหาร และการบีบบังคับให้นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

"รัฐบาลทหารในประเทศไทยมีอำนาจเป็นศูนย์ตามระบอบประชาธิไตย และสมควรคืนอำนาจให้กับประชาชนชาวไทยในทันที เพื่อให้ประชาชนได้เลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้อย่างถูกต้อง" นายเบลโลกล่าว 

นอกจากนี้ เอพีเอชอาร์ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยเข้ากับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีจุดประสงค์ที่เห็นได้ชัดว่าต้องการลดอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการเรียกร้องความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกละเมิด เอพีเอชอาร์จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมเอเชียตะวันออกฉียงใต้ (อาเซียน) แสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกกฎอัยการศึก รวมถึงนำรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 กลับมาใช้ เพื่อเร่งดำเนินการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรม

วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 17:38 น.  ข่าวสดออนไลน์
 
 

รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนจี้สภาไทยคืนประชาธิปไตย 

     วันที่ 4 ก.พ. เว็บไซต์องค์กรผู้แทนรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอพีเอชอาร์) เผยแพร่บทความเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยับยั้งการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพราะไม่ใช่หน่วยงานที่ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 
 
      นายชาร์ลส์ ซานเตียโก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซีย และประธานองค์กรผู้แทนรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงว่าสภานิติบัญญัติที่รัฐบาลทหารไทยแต่งตั้งขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้แทนประชาชน โดยมีความพยายามในการพิจารณาร่างกฎหมายที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายสิบข้อ รวมถึงการบังคับใช้กฎอัยการศึกของรัฐบาลทหารเมื่อเดือนพ.ค.ปีก่อน ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่กำลังจะเข้าสู่วาระพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
 
      เอพีเอชอาร์มีความกังวลอย่างยิ่งต่อต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายหลายฉบับของสนช. โดยเฉพาะกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม การยกเลิกการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลเพื่ออนุญาตให้รัฐบาลสามารถสอดแนมพลเรือนได้โดยไม่ต้องขออำนาจศาล รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการทำเหมืองแร่ฉบับใหม่ที่จะยกเลิกมาตรการคุ้มครองชุมชนจากผลกระทบของการทำเหมือง  
 
     กลุ่มสังคมหลายกลุ่มยังต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหว ภายใต้ข้อบังคับคุมเข้มของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคสช. อย่างไรก็ตาม หลายกลุ่มยังเดินหน้าท้าท้ายและไม่ยอมแพ้ที่จะถ่ายทอดความเห็นต่างต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้โดยไม่ถามความคิดเห็นของประชาชน  
 
      ด้านนายวอลเดน เบลโล สมาชิกสภาคองเกรสฟิลิปปินส์ และรองประธานเอพีเอชอาร์ ระบุว่าตนได้เห็นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีทั้งก้าวหน้าและเสื่อมถอยในสภาฟิลิปปินส์ และมันทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมืองเมื่อรัฐบาลผู้มีอำนาจ ตั้งตัวเป็นฝ่ายต่อต้านความต้องการของประชาชน รวมถึงขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 
 
    แม้การเลือกตั้งและระบบสภาจะมีช่องโหว่ของความบกพร่อง แต่อย่างน้อยต้องมีการตรวจสอบและสร้างสมดุลให้กับการพิจารณาร่างกฎหมายที่ถูกต้อง การได้อ่านข่าวความคืบหน้าของประเทศไทยในวันนี้ ทำให้ตนนึกถึงประเทศพม่าในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีการจำกัดสิทธิ์ การใช้ศาลทหาร และการบีบบังคับให้นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
 
     “รัฐบาลทหารในประเทศไทยมีอำนาจเป็นศูนย์ตามระบอบประชาธิปไตย และสมควรคืนอำนาจให้กับประชาชนชาวไทยในทันที เพื่อให้ประชาชนได้เลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้อย่างถูกต้อง” นายเบลโลกล่าว 
 
     นอกจากนี้ เอพีเอชอาร์ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยเข้ากับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีจุดประสงค์ที่เห็นได้ชัดว่าต้องการลดอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการเรียกร้องความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกละเมิด เอพีเอชอาร์จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมเอเชียตะวันออกฉียงใต้ (อาเซียน) แสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกกฎอัยการศึก รวมถึงนำรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 กลับมาใช้ เพื่อเร่งดำเนินการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!