WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8836 ข่าวสดรายวัน


กกต.ร้องบิ๊กตู่ ถูกลดอำนาจ 
กมธ.นัด 74 พรรค หารือยกร่างรธน.


โต้ข่าวลือ - พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ และ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่ได้โดนคสช.เรียกไปปรับทัศนคติตามที่มีข่าวลือในสังคมออนไลน์ จะมีก็แค่คนมาแอบถ่ายรูปหน้าวัดตอนดึกๆ ดื่นๆ เท่านั้น เมื่อวันที่ 5 ก.พ.

       'เทียนฉาย' ลุยปฏิรูปป.ป.ช. เล็งปรับอำนาจหน้าที่ให้งานกระชับมีประสิทธิภาพ กมธ.ยกร่างฯ เชิญ 74 พรรค การเมืองรับฟังหลักการใหม่ระบอบการเมือง 16 ก.พ.นี้ 'บวรศักดิ์' ระบุหากทำประชามติ คสช.-ครม.ต้องส่งเรื่องให้สนช.แก้รธน.ชั่วคราวก่อน 6 ส.ค. 'วิษณุ' ย้ำม.ค.59 เลือกตั้งได้ กกต.ร้อง "บิ๊กตู่" เบรกตั้งกจต.คุมเลือกตั้ง ญาติน้องเกดโวยป.ป.ช.เกือบ 5 ปีทำคดีสลายม็อบปี"53 ไม่คืบ ข้องใจจำนำข้าวแค่ปีครึ่งเสร็จ 'วิชา'ยันไม่ได้นิ่งเฉย ขู่อีก 3 เดือนยังเงียบยื่นฟ้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ สนช.รุมจวกรัฐสภาอาเซียนฯไม่ใช่องค์กรถูกต้อง

"บิ๊กตู่"ได้เข้าเฝ้าเจ้าชายญี่ปุ่น

      เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกำหนดการเดินทางเยือนญี่ปุ่นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8-10 ก.พ.นี้ว่า นายกฯ และคณะจะออกเดินทางในวันที่ 8 ก.พ. เวลา 09.00 น. จากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 โดยเครื่องบินกองทัพอากาศ และเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติ กรุงโตเกียว ในเวลา 16.55 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง จากนั้นช่วงค่ำเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ และภริยา

       สำหรับ ภารกิจในวันที่ 9 ก.พ. นายกฯ จะพบปะหารือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ นายยาซูฮิซะ ชิโอซากิ ประธานกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาญี่ปุ่น-ไทย นายเทซูเกะ คิตายามะ ประธานธนาคาร Sumitomo Mitsui Banking Corporation นายยาตาซูกิ ทากิมาระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ประธานกรรมการบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ผู้แทนผอ.ประธาน และซีอีโอบริษัทมิตซุย คอร์เปอร์เรชั่น นอกจากนี้นายกฯจะให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อญี่ปุ่น และช่วงบ่ายจะเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ที่พระราชวัง อะคะซะกะ จากนั้นจะหารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น ที่สำนักนายกฯญี่ปุ่น และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือ 2 ฉบับ ก่อนร่วมกันแถลงข่าว

ย้ำมั่นใจลงทุนในไทย

     ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า วันที่ 10 ก.พ. ช่วงเช้านายกฯ พร้อมคณะจะฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานีรถไฟโตเกียวและรถไฟสายต่างๆ และชมบรรยากาศการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ทดลองโดยสารรถไฟความ เร็วสูงชินคันเซน ไปนครโอซากา และพบกับองค์กรเศรษฐกิจในเขตคันไซ อาทิ ประธานสมาพันธ์เศรษฐกิจคันไซ ผู้แทนหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา เกียวโต และโกเบ จากนั้นช่วงบ่ายจะเดินทางกลับประเทศไทยถึง บน.6 ในเวลา 20.10 น.

โฆษกรัฐบาลกล่าวถึงคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นที่เข้าพบนายกฯเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นยืนยันจะไม่มีการย้ายฐานการผลิตในไทย และปัจจัยที่ดึงดูดให้ญี่ปุ่นลงทุนได้คือเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งนายกฯได้ยืนยันว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นจะปฏิรูปการเมืองและเดินตามโรดแม็ป และทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เมื่อถามว่าสื่อต่างประเทศรายงานว่านักธุรกิจญี่ปุ่นที่เข้าพบนายกฯเรียกร้องทางการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนกับการลงทุนในไทย โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นความคลาดเคลื่อนเพราะไม่มีการพูดถึงเลย มีแต่ชื่นชมความสงบเรียบร้อยของไทยที่กลับคืนมา 

จีนพร้อมร่วมพัฒนารถไฟ

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเมิ่ง เจี้ยนจู้ สมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง และเลขาธิการคณะกรรมการการเมืองและกฎหมายพรรคคอมมิวนิสต์จีน เข้าพบและหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมถึงผบ. เหล่าทัพร่วมหารือด้วย

ร.อ.นพ.ยงยุทธ เปิดเผยว่า นายเมิ่ง เจี้ยนจู้ ถือเป็นทูตพิเศษของประธานาธิบดีจีน ซึ่งมาเยือนไทยตั้งแต่วันที่ 4-8 ก.พ. เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในความร่วมมือด้านความมั่นคงต่างๆ โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดีมากขึ้น ทางจีนพร้อมเดินหน้าพัฒนาเส้นทางรถไฟร่วมกับไทย รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ พลังงาน การค้า และ การศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการซื้อสินค้าการเกษตรจากไทยไม่ว่าข้าวและยางพารา จะมีการเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังขอบคุณไปยังประธานาธิบดีจีนในความปรารถนาดีและเข้าใจในสถานการณ์ในไทย โดยจีนได้ชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยที่เดินหน้าประเทศตามโรดแม็ป ที่วางไว้

แท็กซี่ชนระทึกหน้าทำเนียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 05.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำประตูสะพานอรทัย กำลังปฏิบัติหน้าที่ ได้เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้น มีรถแท็กซี่สีชมพู หมายเลขทะเบียน ทษ 1555 กทม. ของสหกรณ์สหมิตรแท็กซี่ จำกัด ชนแผงกั้นเหล็กทางเข้าป้อมอรทัยอย่างแรง ตรวจสอบภายในรถพบนายเสงี่ยม ลีนาราช อายุ 46 ปี ชาวจ.สกลนคร เป็นโชเฟอร์อยู่ในอาการตกใจ

หลังเกิดเหตุนายเสงี่ยม เปิดเผยว่า ขับรถแท็กซี่มาส่งผู้โดยสารบริเวณตลาดสะพานขาว จากนั้นได้วิ่งมาตามถนนลูกหลวงเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุ มีอาการวูบหลับใน ทำให้รถพุ่งชนแผงกั้นบริเวณสะพานอรทัยได้รับความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ ยังมีเสาเต็นท์ที่พักของเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยและป้ายได้รับความเสียหายเล็กน้อย จากนั้นเวลา 06.00 น. ตัวแทนบริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาตรวจสอบที่เกิดเหตุและร่วมรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุบัติเหตุ ไม่เกี่ยวกับการลอบป่วนเมืองหรือสร้างสถานการณ์แต่อย่างใด

ซ่อมใหญ่รังนกกระจอก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในห้องพักสื่อมวลชน 2 และ 3 (รังนกกระจอก 2-3) ว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองจะปรับปรุง ซ่อมแซมห้องตั้งแต่เย็นวันที่ 6 ก.พ. จึงขอความร่วมมือให้เก็บทรัพย์สินส่วนตัวให้เสร็จก่อนวันที่ 6 ก.พ. โดยเจ้าหน้าที่จัดหาสถานที่ทำงานสื่อเป็นการชั่วคราว เป็นเต็นท์ติดแอร์ ตั้งอยู่สนามหญ้าหลังตึกนารีสโมสร พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อินเตอร์เน็ต ปลั๊กไฟ ไฟฟ้าส่องสว่าง โต๊ะพับ เก้าอี้ ไว้รองรับการทำงาน ซึ่งการปรับปรุงซ่อมแซมจะใช้เวลา 15 วัน

ขณะที่รังนกกระจอก 1 ซึ่งเคยมีกระแสข่าวจะทุบทิ้งในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯใหม่ๆ นั้น ปรากฏว่าขณะนี้ เจ้าหน้าที่กรมโยธาฯ ได้บูรณะซ่อมแซมตามโครงการที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ขอความเห็นชอบจากคสช.และอนุมัติงบประมาณไว้ โดยไม่มีการทุบทิ้ง

สปช.ลุยปฏิรูปป.ป.ช.

เวลา 09.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ประชุมหารือกับนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. และกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน รวมทั้งผู้บริหารของสำนักงานป.ป.ช. เพื่อวางกรอบแนวทางการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการทำงานของ ป.ป.ช.ว่าจะเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปอย่างไร โดยใช้เวลาหารือและร่วม รับประทานอาหารกลางวันนานกว่า 4 ชั่วโมง 

นายเทียนฉาย เปิดเผยว่า เมื่อจะมีการปฏิรูปองค์กรอิสระ ป.ป.ช.จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ช่วงนี้จึงต้องเตรียมตัวให้เข้ากับร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย โดยป.ป.ช.จะเป็นคนคิดกรอบและลงรายละเอียดทั้งหมด ส่วนหน้าที่หลักของป.ป.ช. ที่ทำอยู่มี 3 ด้านคือการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบุคลากรภาครัฐระดับสูง การป้องกัน และการส่งเสริมการไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และการปราบปราม จึงต้องทบทวนทั้ง 3 ด้าน ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าใจว่ายังคงมี 3 ด้านนี้เหมือนเดิม 

ขีดเส้นเม.ย.หลักการชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสียของป.ป.ช.ที่ต้องรีบปรับปรุง นายเทียนฉายกล่าวว่า อย่าเรียกว่าข้อเสียแต่จุดอ่อนและประสิทธิภาพที่ต้องเร่งทำ ต้องกระชับมากขึ้น หากมีองค์กรใหม่ขึ้นมาต้องเตรียมประสานงานให้ราบรื่นมากขึ้น เมื่อถามว่าป.ป.ช.ขณะนี้อุ้ยอ้ายเกินไปใช่หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่ เพียงแต่ต้องดูรายละเอียดของป.ป.ช. ซึ่งตนให้ข้อมูลในกรอบกว้างๆ ได้เท่านี้โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลา 


ชนทำเนียบ - นายเสงี่ยม ลีนาราช อายุ 46 ปี ชาวสกลนคร ขับรถแท็กซี่สีชมพู ทะเบียน ทษ 1555 กทม. ชนแผงกั้นเหล็กทางเข้าป้อมอรทัยหน้าทำเนียบรัฐบาล จนได้รับความเสียหาย เบื้องต้นสารภาพหลับในจนเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เมื่อเช้ามืดวันที่ 5 ก.พ.

ต่อข้อถามว่าจะยุบป.ป.ช.เหมือนที่มีการวิจารณ์หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า ยุบไม่ได้ ยุบแล้วใครจะดูแลปราบปรามการทุจริต เพียงแต่ต้องปรับอำนาจหน้าที่ เนื่องจากต้องประสานกับหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่จะถูกปรับองค์กรไปและหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ตนแจ้งกับป.ป.ช.ว่าคงไม่เกินเดือนเม.ย.นี้ อย่างน้อยหลักการจะต้องเสร็จ เพราะมีเวลาไม่มาก 

ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ถ้าป.ป.ช.ยังไม่เสนอแนวทางปรับปรุงในตอนนี้ ยังจะมีช่องทางเสนอขณะที่แก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และจะได้รองรับกับหลักการการเสนอกฎหมายองค์กรอิสระ ซึ่งไม่ถือว่าเสียหาย รอดูความชัดเจนของกฎหมายที่กำลังยกร่างออกมาแล้วค่อยปรับแก้ไปในคราวเดียวกัน 

กมธ.ยกร่างฯ จ่อถกปรองดอง

ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างบทบัญญัติว่า เข้าสู่การพิจารณาภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอำนาจ และการบริหารท้องถิ่น ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะคงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หมวด 14 ตั้งแต่มาตรา 281-290 ซึ่งสาระสำคัญ กมธ.ได้เปลี่ยนคำ การปกครองท้องถิ่น มาเป็นการบริหารท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับการบริหารงานที่ต้องมีรูปแบบหลากหลาย เหมาะสมตามภูมิสังคม เพราะการดูแลส่วนท้องถิ่นไม่ใช่การปกครองแต่เป็นการบริหาร ไม่มีนัยยะสำคัญ แค่สื่อความหมายให้ชัดเจน และคงไม่กระทบกับการทำงาน เพราะในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าราชการท้องถิ่น อีกทั้งองค์กรอื่นในท้องถิ่นไม่ได้มีแค่ของกระทรวงมหาดไทย

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การพิจารณาในหมวด 7 มีทั้งสิ้น 6 มาตรา คาดว่าจะพิจารณาเสร็จในวันที่ 5 ก.พ. จากนั้นวันที่ 9 ก.พ. จะเริ่มพิจารณารายมาตรา ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม

เชิญ 74 พรรคระดมความเห็น

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ จัดโครงการสัมมนาเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย กมธ.ยกร่างฯ กมธ.ปฏิรูปการเมืองของสปช. อนุกมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของสปช.และองค์กรอื่นๆ สถาบันพระปกเกล้า ตัวแทนพรรคการเมือง และสื่อมวลชน ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 08.30-13.00 น. ที่รัฐสภา ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 ห้องประชุม 306-307 ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ทุกฝ่ายเข้าร่วม โดยวันที่ 6 ก.พ. จะทำหนังสือเชิญทั้ง 74 พรรคที่จดทะเบียน แต่จะสนใจหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของแต่ละพรรคและกลุ่มการเมือง

เมื่อถามว่าการเชิญพรรคเข้าร่วมเสวนา เพราะกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องระบบการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เรื่องนี้เราเตรียมการและใช้หลักรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ถ้าพรรคมีข้อเสนอ ที่ดีกว่าเราก็ต้องรับฟังให้มากที่สุด จึงเชิญพรรคและกลุ่มการเมืองมาเพื่อจะได้ตอบข้อสงสัย

"บวรศักดิ์"ชี้ไม่กดดันเร่งร่างรธน.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายกฯ ระบุให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อนกำหนดว่า ไม่กดดัน และอาจเป็นไปได้ แต่ยังเร็วที่จะพูดถึงตอนนี้ เพราะต้องดูกฎหมายลูกและพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อีกทั้งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะหากจะทำประชามติต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งผู้มีอำนาจแก้ไขตามรัฐธรรมนูญคือ คสช. และครม. ที่ต้องทำเรื่องมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ สนช.เป็นผู้ลงมติก่อนวันที่ 6 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจคณะกรรมการ 7 คน แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ในอดีตเราใช้ระบบการแต่งตั้งแบบครึ่งทางของสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งสหรัฐให้อำนาจฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แต่ในอังกฤษไม่ให้อำนาจนักการเมืองแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งในอดีตระบบครึ่งทางที่เราใช้นั้นพบว่ามีปัญหา เช่น กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กมธ.ยกร่างฯจึงต้องมาคิดกันใหม่ ซึ่งระบบแบบสหรัฐนั้นเราไม่เอาด้วยแน่นอน จึงเห็นว่าต้องใช้ระบบอังกฤษ เมื่อถามว่าเป็นการป้องกันนักการเมืองล้วงลูกข้าราชการใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ใช่

"วิษณุ"เผยกม.ที่ต้องมีก่อน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพียง 8-9 ฉบับเท่านั้น แต่มีกฎหมายลูกอื่นๆ เป็นร้อยฉบับ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเชื่อว่ามีไม่เกิน 10 ฉบับ และที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งมีเพียง 2-3 ฉบับเท่านั้น อาทิ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรค การเมือง และอาจมีกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะครั้งนี้จะมีคณะกรรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เกิดขึ้นมา 

"3 ฉบับนี้จำเป็นต้องมี ถ้าหากมีการออกเสียงประชามติ ก็ต้องมีกฎหมายว่าด้วยการลงประชามติอีกฉบับหนึ่ง ฉะนั้น 3-4 ฉบับเท่านั้นที่เพียงพอต่อการจัดการเลือกตั้ง ส่วนกฎหมายอื่นอาจรอได้ แต่ต้องมีอยู่ดี อาจรอให้สภาหน้ามาออกก็ได้ อย่างกฎหมาย ป.ป.ช. กฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน หรือแม้แต่กฎหมายตรวจเงินแผ่นดินแบบนี้ก็ต้องแก้ เพราะจะมีอะไรผิดไปจากเดิม" นายวิษณุกล่าว

ยืนยันม.ค.59 เลือกตั้งได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าภายใน 3 เดือนหลังรัฐธรรมนูญร่างเสร็จสิ้นจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ แต่ต้องร่างกฎหมายลูกไว้ก่อนด้วย เพราะ 3 เดือน คือการนำเข้าสภา ซึ่งนายกฯ เคยถามว่า ทำไมไม่ร่างไว้ก่อนจะได้เร็ว ทางกมธ. ยกร่างฯ จึงต้องร่างไว้ก่อน คือเดือนเม.ย.นี้ กมธ.จะร่างธรรมนูญเสร็จร่างแรก ระหว่างนั้นเขาจะทำกฎหมายลูกไปพลางๆ แต่ยังเสนอเข้าสภาไม่ได้ ต้องรอรัฐธรรมนูญแก้ไขและประกาศใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีกำหนดประกาศใช้ในเดือนก.ย. กฎหมายลูกเข้าสภาจากนั้นประมาณเดือนพ.ย.-ธ.ค. รอลง พระปรมาภิไธย เดือนม.ค.2559 น่าจะประกาศการเลือกตั้งได้

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ให้พิจารณาแก้ไขเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ ว่าไม่ได้มีการแก้ เป็นเพียงการสอบถามเข้ามาและปรากฏ อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ คำถามคือจะทำได้ หรือไม่ มีวิธีไหนใดบ้าง หรือใช้มาตรการใด ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้จะทำ แต่ลองให้เขาไปคิดดูเท่านั้นเอง

เซ็นเซอร์สื่อแล้วแต่กมธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการนี้จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เข้าใจว่าคำตอบคงพอมีอยู่แล้วว่า การเซ็นเซอร์คงต้องเก็บเอาไว้ในช่วงที่มีสงคราม แต่ไม่ต้องมีสงครามรัฐก็ใช้มาตรการได้ เช่น เมื่อรัฐไปตรวจข่าวไม่ได้ รัฐก็ให้จัดพิมพ์แต่สั่งห้ามเผยแพร่ แค่นี้ก็จบอยู่ตรงนั้น และการห้ามเผยแพร่ไม่จำเป็นต้องรอสงคราม 

ต่อข้อถามว่าข้อเสนอดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้คำตอบคงรู้แล้วว่ากมธ.ยกร่างฯ บอกว่ามาตรการที่จะใช้กับกรณีของสื่อแรงที่สุดคือการเซ็นเซอร์หรือตรวจก่อนที่จะเผยแพร่ ความจริงถ้าไม่ให้ไปตรวจสอบก็ทำได้ แต่เราห้ามที่จะไม่ให้เผยแพร่ได้อยู่แล้ว แค่ประกาศกฎอัยการศึกก็ห้ามเผยแพร่ได้อยู่แล้ว แปลว่าไม่ต้องไปตรวจแต่คุณแค่ขายไม่ได้

"ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาก็เขียนกันแบบนี้ว่าการตรวจสอบก่อนเผยแพร่ให้ทำได้เฉพาะกรณีสงคราม ส่วนสมาคมสื่อมวลชนจะไปโต้แย้งอะไรก็สามารถทำได้ในชั้นกมธ.ยกร่างฯ ถ้ากมธ.เห็นว่าไม่ต้องและหยุดไว้ตามที่ปรากฏในร่าง รัฐบาลก็ไม่ได้ว่าอะไร" นายวิษณุกล่าว 

ชี้ทำเกินมาตรฐานรธน.ไม่ได้ 

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช.ด้านพลังงานกล่าวว่า เรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ เป็นการตั้งข้อสังเกตของพล.อ.ประวิตร ในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ฝากกมธ.ยกร่างฯ ไปเป็นการบ้าน การเขียนหรือแก้ไขเพิ่มข้อความในการบัญญัติการเซ็นเซอร์ข่าวสารในภาวะสงครามหรือภาวะความไม่สงบ จะต้องมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ไม่ใช่การสั่งให้ไปดำเนินการหรือยึดถือปฏิบัติ ซึ่งนายบวรศักดิ์ได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้วว่า การบัญญัติเซ็นเซอร์ข่าวสารถือเป็นเรื่องมาตรฐานในการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องอื่นนอกจากนี้จะไม่มีการบรรจุไว้ 

"เรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอาจทำให้มาตรฐานของรัฐธรรมนูญเกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจถูกมองว่าเป็นรอยด่างของประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ทั้งเรื่องของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน จึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้เป็นมาตรฐาน อย่างน้อยรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในอนาคตถือเป็นฉบับที่ประเทศมีการปฏิรูป ก็ต้องให้ออกมาดีกว่าฉบับอื่นๆในอดีต" นายอลงกรณ์กล่าว 

กกต.ดิ้นคัดค้านตั้งกจต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกต.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าคสช. ประธาน สปช. ประธาน สนช. ครม. ประธาน กมธ.ยกร่างฯ สมาชิก สนช. สมาชิก สปช. และสื่อมวลชน รวม 3 ประเด็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อกรณี กมธ.ยกร่างฯ มีมติลดทอนอำนาจ กกต. ดังนี้ 

1.การให้มี กจต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทน เห็นว่าการแยกผู้ควบคุมการเลือกตั้ง กับผู้จัดการเลือกตั้งออกจากกันไม่ใช่ หลักสากลที่นานาอารยประเทศยอมรับ กว่าร้อยละ 90 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำหนดให้ กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั้งระบบ การให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของฝ่ายการเมืองที่ให้คุณให้โทษได้มาเป็นกจต. อาจส่งผลให้ขาดอิสระ เกิดความสงสัยในความเป็นกลาง รวมทั้งขณะจัดเลือกตั้งยังต้องรับภาระงานประจำ ยากจะจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ บริสุทธิ์ยุติธรรม

2.กรณีให้ กกต.มีอำนาจเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เฉพาะในช่วงก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ส่วนการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร (ใบแดง) เป็นอำนาจของศาล เห็นว่าควรคงอำนาจใบเหลืองและใบแดงก่อนประกาศผลเลือกตั้งไว้ที่กกต. เนื่องจากการพิจารณาให้ใบแดงของศาลต้องใช้เวลา ทำให้เกิดช่องว่างทำให้ผู้กระทำผิดเข้าไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ หรือด้านบริหารได้ก่อนที่ศาลจะวินิจฉัย เช่น การเข้าไปเลือกผู้นำประเทศ การตรากฎหมาย สร้างความเสียหายแก่ประเทศ ขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้ ผู้กระทำผิดกลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง ใช้อิทธิพลข่มขู่พยานเพื่อประโยชน์ในการชนะคดีเลือกตั้ง

เชื่อมีทุจริตเลือกตั้งมากขึ้น

จดหมายระบุอีกว่า การให้ กกต.มีอำนาจเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผล ทำให้ ผู้สมัครที่มีทุนมากกว่าได้เปรียบเพราะพร้อมจะแข่งขันในการเลือกตั้งใหม่โดยไม่มี ข้อจำกัดด้านเงินทุน จึงไม่เป็นการส่งเสริมให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม แม้ปัจจุบัน กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่การทุจริตยังคงอยู่ ดังนั้น หากยกเลิกอำนาจดังกล่าวของ กกต.จะทำให้นักการเมืองไม่ยำเกรงกฎหมาย กล้าทำทุจริตฝ่าฝืนกฎหมายมากขึ้น เทียบได้จากสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังประกาศผล นักการเมืองเกรงกลัวที่กระทำผิดมากกว่าปัจจุบัน

3.การตัดอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานกับหน่วยราชการ ในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากกระบวนการส่งเสริมและให้การศึกษาถือเป็นกระบวนการต้นน้ำสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยและความเข้มแข็งของสังคม ปัญหาการเมืองส่วนหนึ่งมาจากการซื้อสิทธิขายเสียง จำเป็นต้องให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งของ กกต. ทุกประเทศทั่วโลก

"อ๋อย"ห่วงสังคมสู่ทางตัน

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องอย่าให้เสียเวลาเปล่าว่า ไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทราบหรือไม่ว่า สิ่งที่แม่น้ำหลายสายทำกันอยู่นี้อาจนำสังคมไทยไปสู่ทางตัน เนื่องจากกฎกติกาที่กำลังสร้างกันขึ้นนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม อาจจะไม่ได้มุ่งกีดกันใครเป็นการเฉพาะ แต่กำลังปิดโอกาสประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ให้มีสิทธิ์มีเสียงกำหนดอนาคตและความเป็นไปของบ้านเมือง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เสียเวลาเปล่าจริงๆ แม่น้ำทั้งห้าสายจึงจำเป็นต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลายไปพร้อมกันด้วย

นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีป.ป.ช.เตรียมสรุปคดีถอดถอนอดีตส.ส. 269 รายกรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาของส.ว.ก่อนส่งเรื่องให้ สนช.ว่า ในฐานะอดีตส.ส.ที่ร่วมแก้ไขเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่าทำตามหน้าที่ สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 291 วรรคหนึ่ง และมีเอกสิทธิ์คุ้มครองตามมาตรา 130 อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกไปแล้ว พวกตนไม่ได้เป็นส.ส.แล้ว ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ ป.ป.ช.อย่าทำหน้าที่แบบมีอคติ หากป.ป.ช.ยังคงดึงดันจะเสนอเรื่องให้ สนช.ถอดถอนอดีตส.ส.ทั้ง 269 ราย ตนจะใช้สิทธิยื่นเรื่องต่อศาลอาญาฟ้องป.ป.ช.กลับ ตามมาตรา 157 รวมทั้งจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ค้านดึงยางใส่พ.ร.บ.สวนป่า

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ยื่นหนังสือต่อพล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานกมธ.การเกษตรและสหกรณ์ สนช. ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. สวนป่า (ฉบับที่)... (แก้ไขพ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535) เพื่อคัดค้านและต่อต้านการบรรจุไม้ยางพารา ในบัญชีต้นไม้ท้ายพ.ร.บ.สวนป่า เนื่องจากจะทำให้การตัดโค่นและเคลื่อนย้ายไม้ยางพาราสุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้แสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ดุลพินิจ ซึ่งที่ผ่านมาการโค่นไม้และเคลื่อนย้ายทำได้โดยเสรี ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ หากพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสนช. จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง 6 ล้านคนในพื้นที่สวนยาง 21 ล้านไร่ต้องเดือดร้อน ขายไม้ยางพาราได้ราคาต่ำลงเพราะพ่อค้ารับซื้อไม้ยางจะอ้างต้นทุนที่สูงขึ้นจากส่วยไม้ยางพารา ถือเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ร้อนของชาวสวนยางท่ามกลางปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่แล้ว

สนช.ไฟเขียวให้ตัดออก

ต่อมาที่ประชุมสนช. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สวนป่า ฉบับที่ พ.ศ. ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขมาจาก พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 โดยปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลและแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กำหนดบทนิยามของป่า จากเดิมที่สวนป่ามีแค่ 2 ชนิด แต่ของใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 62 ชนิดเป็น 64 ชนิด ทั้งนี้ หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมมีมติเห็นสมควรให้ประกาศใช้พ.ร.บ. สวนป่า เป็นกฎหมายต่อไป ด้วยคะแนน 185 ต่อ 2 งดออกเสียง 5 

พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานกมธ.การเกษตรและสหกรณ์ สนช. ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.สวนป่า แถลงว่า ที่ประชุมสนช.มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยตัดรายชื่อต้นไม้ที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.จำนวน 8 รายการจากที่ครม. เสนอ 66 รายการ อาทิ ยางพารา มะฮอกกานี โกงกาง ยูคาลิปตัส กระถิน สนประดิพัทธ์ เสม็ด เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรและเพื่อความเหมาะสม 

เปิดช่องสมัครใจขึ้นทะเบียน

พล.อ.ดนัยกล่าวว่า ส่วนผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนตามพ.ร.บ.สวนป่า ต้องสมัครใจ หากขึ้นทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิ์ต่างๆ โดยไม่เสียค่าทะเบียน สามารถตัดโค่น แปรรูปไม้หรือเคลื่อนย้ายได้ โดยได้รับการยกเว้นไม่เสียค่าบำรุงหรือค่าภาคหลวง ซึ่งจะไม่กระทบกับประชาชนหรือผู้ทำสวนป่ารายย่อย หรือเกษตรกรชาวสวนที่จะรื้อ โค่น ตัด สวนยางเพื่อปลูกใหม่ แต่จะกระทบกับ ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายเท่านั้น

พล.อ.ดนัยกล่าวต่อว่า โทษผู้ที่ฝ่าฝืนจากเดิมมีทั้งโทษอาญา ทั้งจำคุกและปรับ กมธ.เห็นว่าควรดูเรื่องเจตนาเป็นหลัก หากมีการละเมิด ก็ใช้วิธีตักเตือน และที่สุดคือถอนการขึ้นทะเบียนสวนป่า โดยผู้ทำสวนป่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่จัดทำบัญชีแสดงชนิดจำนวนไม้ที่ปลูกตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด กมธ.ได้ตัดโทษจำคุกออกเหลือเพียงโทษปรับ 10,000 บาท หรือหากทำบัญชีเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนความผิดจากการค้า มีไว้ในครอบครอง หรือนำไม้มาสวมตอ จะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

สอบประวัติ 4ว่าที่กสทช.

นอกจากนี้ ที่ประชุมสนช. ยังมีมติตั้งกมธ.สามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประเภทผู้ที่มีผลงาน หรือมีความรู้ และ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ทางด้านกฎหมายแทนตำแหน่งที่ว่างลง (นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2557) จำนวน 17 คน มีกำหนดเวลา 30 วัน 

สำหรับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้สมควรเป็น กสทช.ด้านกฎหมาย มี 4 คน ประกอบด้วย ผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกสทช. โดยวิธีคัดเลือกกันเอง 2 คน ได้แก่ พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น นายธรกรณ์ พูนภิญโญศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และจากวิธีการสรรหา 2 คน ได้แก่ นายทวีเดช เส้งแก้ว นายนิพันธ์ จิตะสมบัติ ทั้งนี้ หลังการตรวจสอบประวัติและความประพฤติแล้ว สนช.จะต้องลงมติคัดเลือกเพียง 1 คน เพื่อดำรงตำแหน่งเป็น กสทช.ต่อไป 

รุมจวกรัฐสภาอาเซียน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีองค์กรผู้แทนรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอพีเอชอาร์) ระบุสนช. มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และออกกฎมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการศึกษาสภาพปัญหาความจริงของไทย ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และองค์กรนี้ก็ไม่ใช่รัฐสภา อาเซียนฯ แต่พยายามตั้งชื่อให้ใกล้เคียง อาจมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สนช.ตรวจสอบว่าองค์กรนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ใครเป็นผู้บริหาร

ส่วนนายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. กล่าวว่า น่าจะสืบเนื่องจากการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ (กสม.) เพราะการพิจารณากฎหมาย อื่นๆ ยังไม่มีอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิ อย่าเอาบริบทประเทศอื่นมาเหมารวมกับไทย ที่สำคัญไทยยึดหลักไม่แทรกแซงประเทศอื่น ที่บอกว่าสนช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นที่ผ่านมาเราออกกฎหมายตามข้อตกลงของอาเซียนแล้ว 40-50 ฉบับไม่เห็นว่ารัฐสภาอาเซียนฯ แถลงข่าวหรือทักท้วงว่าออกกฎหมายไม่ชอบธรรม 

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 กล่าวว่า องค์กรนี้ถูกต้องหรือไม่ เท่าที่ทราบเป็นองค์กรของเอกชนที่พยายามเข้าร่วมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ไอพียู) ที่สนช.ออกกฎหมายยังไม่เห็นมีฉบับไหนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเลย และเราเกิดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีการบังคับใช้ ตนคงไม่ให้ราคาองค์กรนี้เพราะไม่ใช่องค์กรที่ถูกต้อง เป็นที่รับรองของรัฐสภาอาเซียนฯ (อ่านรายละเอียด น.3) 

พระพยอมเชื่อคสช.ไม่เชิญตัว 

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์ในโซเชี่ยลมีเดียว่าอาจถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกตัวไปปรับทัศนคติ หลังแสดงความคิดเห็นว่า อาตมาพูดเป็นกลางก็เหมือนกับอาจารย์หรือครูบาอาจารย์อื่นๆ พูดกัน คนอื่นพูดแรงกว่าอาตมาอีก อาตมาอยากบอกว่าอย่าสั่งสมอคติ สองมาตรฐาน ให้จัดการทุกอย่างด้วยความเสมอภาคแล้วจะไม่เกิดแรงอัดอั้นปะทุ อาตมาว่ากฎหมายขายได้ ล้มเหลวในความน่าเชื่อถือเพราะคำว่าไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเทศอยู่ได้ แต่ถ้าถอดถอนความเป็นธรรมออกจากกฎหมายอยู่ลำบาก พวกใช้กฎหมายเละเทะอยู่ยาก 

พระพยอมกล่าวว่า ที่มีกระแสข่าวอาตมาจะโดน คสช.เรียกไปปรับทัศนคติ เขาคงไม่กล้าเสียมวลชน เพราะต้นทุนทางสังคมเราก็ไม่ได้ต่ำต้อยถึงกับไม่มีอะไรเป็นฐานเลยในชีวิต ตอนนี้ทหารฉลาด มีจิตวิทยาสูง อย่างมากก็แอบมาถ่ายรูปหน้าวัดตอนดึกๆ แต่จะเรียกอาตมาไปคงไม่ทำเพราะเท่ากับเติมเชื้อแรงปะทุ ถ้าเขาอยากทำงานสบายๆ อย่ามายุ่งกับอาตมาดีกว่า 

"ที่มีคนออกมาบอกว่าจะมีการตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง นักวิชาการก็ออกมาพูดสวนทันที ตัวอย่างเช่นไมค์ทองคำทำไมกฎหมายปล่อยหาย เวลานี้ทำอะไร พูดอะไร ขว้างงูไม่พ้นคอ ลองตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง ใครโดนก่อน เผลอๆ ลูกน้องคนตั้งโดนก่อน ซึ่งอาตมา ไม่ได้พูดนักวิชาการเขาพูดกัน เวลาจะพูดอะไรลืมนึกถึงคนรอบข้าง" พระพยอมกล่าว

พระราชธรรมนิเทศกล่าวว่า นักการเมืองเล่นกันจนเละเทะ ตอนนี้เลยซวย ปากก็แห้ง ท้องก็หิว จะเล่านิทานให้ฟังมีตัวนากอยู่ 2 ตัว ช่วยกันดำน้ำจับปลาได้ 1 ตัว แต่ตกลงกันไม่ได้ อีกตัวจะเอาท่อนหัว อีกตัวก็จะเอาท่อนหัว ไม่มีใครเอาท่อนหาง สุดท้ายไปให้สุนัขจิ้งจอกตัดสิน สุนัขจิ้งจอกหั่น 3 ท่อน แล้วคว้าตรงกลางไป เหลือหางกับหัวไว้ให้นาก 2 ตัว ที่พูดไม่ได้ว่าทหารเป็นสุนัขจิ้งจอก แต่มันคล้ายๆ นิทาน สมนำหน้านักการเมือง เล่นบทนากปัญญาอ่อน ถ้าตกลงกันได้ไม่เล่นกันแรงก็จะได้กินตรงกลาง

จี้ป.ป.ช.เร่งสางปมคดี 99 ศพ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายณัทพัช อัคฮาด น้องชายของน้องเกด น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ยื่นหนังสือถึงนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อทวงถามเรื่องที่เคยยื่นร้องเรียนต่อป.ป.ช.ไว้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2554 ตามเลขที่ลงรับหนังสือที่ 53631584 เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ

นายณัทพัชกล่าวว่า คดีนี้อีก 3 เดือนจะครบ 5 ปีแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าจากป.ป.ช.เลย จนศาลไต่สวนคดีเสร็จแล้ว ตัดสินแล้วว่าในวัดปทุมวนารามไม่มีอาวุธปืน ไม่มีโจรชุดดำ คนที่ตายก็ตายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้า แต่เปรียบเทียบกับคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ป.ป.ช.ทำงานรวดเร็วเหลือเกิน เสร็จใน 1 ปี 6 เดือน ฟันทั้งวินัยและจ่ออาญา

"ผมมาวันนี้ไม่ได้มาเพราะคุณยิ่งลักษณ์ แต่มาตามเรื่องของผม รวมถึงญาติพี่น้องของ ผู้เสียชีวิตที่ยังรอคอยความยุติธรรมจากป.ป.ช.อยู่ ถ้าป.ป.ช.คิดทำอย่างรวดเร็วและจริงจังก็คงไม่ถึง 5 ปี หากเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผมหารือกับทนายความไว้แล้วเพื่อเตรียมยื่นฟ้องต่อกองปราบฯ ร้องป.ป.ช.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ คิดว่าป.ป.ช.ทำงานช้ามากสำหรับคดีนี้ จนศาลตัดสินออกมาครบหมดแล้ว แต่คดีนี้ยังอยู่ในหลุมดำอยู่เลย ทำไมไม่รวดเร็วเหมือนคดีคนอื่นบ้าง" นายณัทพัชกล่าว

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่ได้นิ่งเฉยแต่อย่างใด แต่ยังไม่มีความชัดเจนทั้งเรื่องการใช้อำนาจของผู้สั่งการ และยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นพิจารณาผลการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งหลังจากนี้จะนัดประชุมกรรมการป.ป.ช.เพื่อพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะแถลงผลการประชุมให้ทราบต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้เสียหายได้ยื่นเงื่อนไขให้คืบหน้าใน 3 เดือน นายวิชากล่าวว่ายังไม่ทราบรายละเอียด

กกต.ร้องแม่น้ำ 5 สาย ค้านยึด'จัดลต.'ริบ'เหลือง-แดง' 

มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เพื่อประกอบการพิจารณากรณี กมธ.ยกร่างฯมีมติให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทน กกต. 

จากกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติเบื้องต้นเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1.ให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทน กกต. 2.ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เฉพาะในช่วงก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร (ใบแดง) เป็นอำนาจของศาล 3.การตัดอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการส่งเสริมและสนับสนุนหรือประสานงานกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือสนับสนุนองค์การเอกชนในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ในชั้นนี้ กกต.ขอให้ข้อสังเกตบางประการต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนี้ 

1.ประเด็นให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทน กกต. ทาง กกต.เห็นว่า 

1.1 การจัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง ควรมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว หลักการที่จะแยกผู้ควบคุมการเลือกตั้ง (Regulator) กับผู้จัดการเลือกตั้ง (Operator) ออกจากกันนั้น ไม่ใช่หลักสากลที่นานาอารยประเทศยอมรับ เพราะการจัดการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 90 กำหนดให้ กกต.เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั้งระบบ

1.2 การเลือกตั้งที่จะบริสุทธิ์ยุติธรรมต้องจัดการเลือกตั้งโดยองค์กรที่มีหลักประกันความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้น หากมีการกำหนดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายการเมืองที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการประจำได้ มาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง อาจส่งผลให้ขาดความเป็นอิสระและเกิดความสงสัยในความเป็นกลางทางการเมืองได้ 

1.3 การให้ข้าราชการประจำ เจ้าหน้าที่ของรัฐมาทำหน้าที่เป็นกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนขาดการพัฒนากระบวนการและทักษะความชำนาญของบุคลากรการเลือกตั้งได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องรับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่มีมากกว่า 7,000 แห่งตลอดทั้งปี 

2.ประเด็นให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เฉพาะก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร (ใบแดง) เป็นอำนาจของศาล กกต.เห็นว่าควรให้คงอำนาจให้ กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ก่อนประกาศผลเลือกตั้งไว้ 

2.1 คำร้องที่ กกต.ต้องยื่นต่อศาลนั้น กระบวนการพิจารณาของศาลต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ทำให้เกิดช่องว่างให้ผู้กระทำความผิดสามารถเข้าไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติหรือด้านบริหารได้ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย อาทิ การเข้าไปเลือกผู้นำประเทศ การตรากฎหมายซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ และเป็นการเปิดช่องให้ผู้กระทำความผิดกลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง 

2.2 การให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว จะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีทุนมากกว่าได้เปรียบ เพราะพร้อมที่จะแข่งขันในการเลือกตั้งใหม่โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม เป็นการไม่ส่งเสริมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2.3 ปัจจุบัน กกต.จะมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่การทุจริตการเลือกตั้งก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นการยกเลิกอำนาจดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำให้นักการเมืองไม่ยำเกรงกฎหมาย กล้าที่จะกระทำการทุจริตและฝ่าฝืนกฎหมายมากยิ่งขึ้น เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 ในเวลานั้น จะเห็นได้ว่านักการเมืองเกรงกลัวต่อการที่จะกระทำฝ่าฝืนกฎหมายมากกว่าปัจจุบัน

3.การตัดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการส่งเสริมและสนับสนุนประสานงานกับหน่วยราชการฯ ในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนออกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กกต.เห็นว่า 

3.1 การกำหนดอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 การตัดบทบาทอำนาจหน้าที่ในประเด็นดังกล่าวออกไปจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้นเป็นของคู่กัน ดังในหลายประเทศที่กระบวนการส่งเสริมและให้การศึกษา ถือเป็นกระบวนการต้นน้ำที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยและความเข้มแข็งของสังคม 

3.2 ปัญหาทางการเมืองของไทยส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หากจะป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการให้การศึกษาทางการเมือง (Civic Education) แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญด้านหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกประเทศทั่วโลก

3.3.การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างตื่นตัว (Active citizen) จะมีส่วนช่วยในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อาทิ ประชาชนจะเป็นหูเป็นตาร่วมกันสอดส่องเหตุการณ์ทุจริตการเลือกตั้ง และไม่เกรงกลัวที่จะเป็นพยานในคดีเลือกตั้ง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!