WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นายกฯเผย รบ.เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร-ช่วยเหลือให้ตรงจุดและทั่วถึง

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ"ว่า การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการวางรากฐาน ให้เป็นชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็ง จากการที่ได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวเกษตรกร พบว่าเงินที่รัฐบาลได้ดำเนินการให้การสนับสนุนไปนั้น ก็สามารถจะช่วยเหลือพวกเขาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อยากให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันนั้น ให้มีการสนับสนุนแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย นอกจากการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเหมือนเช่นที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือให้ชาวเกษตรกรมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เขาก็บอกว่าทุกรัฐบาลก็ยังไม่มีใครทำได้ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด

    สำหรับ ตัวอย่างชุมชนที่เข้มแข็ง และผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ที่จังหวัดนครราชสีมา คือการจัดการ คลัสเตอร์มันโคราช"(Korat Tapioca Cluster: KOTAC) ซึ่งถือเป็นการทำการเกษตรแบบบูรณาการที่มีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐในระดับจังหวัด กลุ่มเกษตรชุมชนและผู้ผลิตภาคเอกชนที่เข้มแข็ง มีการรวมตัวกันของกลุ่มสหกรณ์ภายในจังหวัด เพื่อบริหารจัดการผลผลิต มันสำปะหลัง และเป็นต้นทางในการจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย จัดการระบบการตลาด มีกลุ่มอุตสาหกรรมภาคเอกชนที่ร่วมกันรับซื้อผลิตผลมันสำปะหลังเพื่อนำไปแปรรูป จัดจำหน่ายเป็นกลุ่มปลายทาง ในขณะที่ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเอกชนอีกหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้สนับสนุนในการค้นคว้าวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้การผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลังนั้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    การทำงานเป็นระบบและเป็นทีมอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ อันนี้ก็จะเป็นการช่วยกันร่วมมือกันในทุกภาคส่วน และปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไข รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกร ผ่านการจัดทำแปลงต้นแบบที่มีการนำเทคโนโลยี 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการน้ำ การจัดการดินดาน การจัดหาพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการป้องกันการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ซึ่งเกษตรกรที่จะต้องเข้าร่วมโครงการนั้น จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หลาย ๆ คนก็ทำให้เกิดผลผลิตที่มีรายได้ ที่มีราคาดี มีคุณภาพ

    นอกจากนั้น ในกลุ่มเกษตรกร ก็มีการสร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่าย มีกิจกรรมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการลดต้นทุน มีการศึกษาดูงานและบูรณาการอย่างสม่ำเสมอ ผมอยากให้ชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเช่นนี้ ก็ได้ให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันบูรณาการลงพื้นที่ เข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ในทุกจังหวัดให้เข้มแข็งให้ได้ จะได้เป็นตัวกลางในการติดต่อกับภาครัฐ และภาคเอกชนในการบริหารจัดการ รวมทั้งการรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสูงขึ้น เท่าที่รับทราบนั้น การซื้อขายในพื้นที่ตั้งตลาดชุมชนต่าง ๆ นั้น ทำให้ราคาข้าวก็สูงขึ้น ผลผลิตอื่นก็สูงขึ้นตามลำดับ แตกต่างจากการซื้อขายให้กับพ่อค้าคนกลางในช่วงที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ เราสามารถดำเนินการได้ทันที ทุกคนต้องช่วยกันแล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยทุกคนต้องปรับตัว สร้างความเข้มแข็งให้ได้ ถ้ารอการช่วยเหลืออย่างเดียวก็ไปไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นแค่เราร่วมมือกัน ประสานกัน สร้างพลังขึ้นมาก็จะมีประสิทธิภาพ ปัญหาหลายอย่างก็จะไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในเรื่องของราคาตกต่ำ ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งกดราคาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นรัฐก็จะดูแลให้มากขึ้นในส่วนตรงนี้ แต่ขอให้เป็นสหกรณ์ให้ได้ ที่เข้มแข็งด้วย เล็ก ๆ ก็รวมเป็นสหกรณ์ใหญ่ขึ้นมาเหมือนกับที่จังหวัดนครราชสีมาเขาทำกัน

     เรื่องของการจัดที่ดินทำกินเพื่อป้องกันการบุกรุกป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาตินั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 2.71 ล้านรายครอบคลุมพื้นที่ 35.34 ล้านไร่ ซึ่งในลำดับต่อไปนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยก็จะเดินหน้าจัดพื้นที่ป่าสงวนอีก จำนวน 53,872 ไร่ รวมไปถึงการจัดที่ดินในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อีก 4,683 ไร่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการจัดที่ดินทำกินนี้บ้าง ก็ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าพื้นที่ป่านั้นเป็นพื้นที่สงวนที่จำเป็นต้องมีการปกป้องดูแลเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรืออุทกภัยทั้งหมดนั้น เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าทั้งสิ้น เพราะบ้านเราเป็นป่าฝน

    ในปัจจุบันนั้น ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ปีนี้ก็จะมากกว่าปีที่ผ่าน แล้วในอนาคตอาจจะแห้งแล้งมากขึ้น ฝนตกน้อยลงหรือฝนนอกพื้นที่อะไรเหล่านี้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็อาจจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้จากการทำการเกษตรอาจจะมีผลกระทบกับเกษตรกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกข้าว หรือพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำ

    นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สำรวจที่ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อจะนำมา matching กับแผนที่ zoning เพื่อให้เกิดการทำพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสม จะได้บริหารจัดการได้เกี่ยวกับเรื่องบริหารจัดการน้ำ ระบบชลประทาน ถือมาได้เท่าไรก็คงเท่านั้น มากกว่านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำต้นทุนนะครับแต่ปัจจุบันถ้าเราสามารถจัดระบบชลประทานได้น้อยจนเกินไป เก็บกักน้ำได้ไม่ดีนัก ปริมาณน้ำที่ตกมาบางทีที่ตกมาบางทีก็ตกไม่ลงเขื่อน ตกนอกเขื่อน ตกท้ายเขื่อน อะไรเหล่านี้ต้องแก้ไข ต้องแก้ไขทั้งหมดต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณมาก แต่ปีนี้ก็มีงบประมาณจำนวนหนึ่งที่ต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเร่งด่วนเรื่องแล้งซ้ำซาก หรือพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อการทำนาปรังอาจจะทำไม่ได้

    ในขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลจะเร่งให้การสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ในระยะสั้นเร่งด่วนหลาย ๆ ด้าน เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต การจัดหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม สำหรับในส่วนของระยะยาวนั้น ก็จะเร่งให้ความรู้ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชผสมผสาน ธนาคารปุ๋ย ธนาคารเมล็ดพันธุ์ในท้องที่ รวมไปถึงการจัดการพื้นที่โซนนิ่ง ที่จะต้องคำนึงถึงตลาดและการรับซื้อด้วย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ผมกล่าวไปแล้วในช่วงแรก

   "ภาคเกษตรนั้น ถือเป็นภาคการผลิตสำคัญมากในไทย เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง มีราคา คุณภาพด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ขอให้ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยาก เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เป็นแค่นโยบาย หรือใช้จ่ายงบประมาณเท่านั้น ช่วยเหลือไม่ตรงจุด งบประมาณที่ได้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ต้องตรง ต้องทันเวลา รวดเร็วทันเวลาแล้วก็ทั่วถึง"

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!