WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8839 ข่าวสดรายวัน


'บิ๊กตู่'ปัด! ไม่ตอบห้าม'ปู'ไปนอก 
วินธัยแถลงรับ หวั่นกระทบคดี ทนายชี้ขัดรธน. อุปทูตอเมริกา เมินชี้แจงสนช.


เยือนญี่ปุ่น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ กรุงโตเกียว ในการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อ 8 ก.พ.

       'บิ๊กตู่'ควงมาดามน้องเหินฟ้าเยือนญี่ปุ่น ไม่ยอมตอบห้าม'ปู'ไปฮ่องกง โฆษกคสช.แจงเแทนต้องคิดให้รอบคอบหวั่นกระทบคดีจำนำข้าว สปช.เห็นด้วยห้ามผู้ต้องหาคดีอาญาไปนอก เกรงปล่อยเสือเข้าป่า ทนายอดีต นายกฯหญิงแย้งขัดหลักคุ้มครองสิทธิ-เสรีภาพตามรธน. ป.ป.ช.เตรียมส่งหนังสือบี้รมว.คลังหาคนรับผิดชอบค่าเสียหายจำนำข้าว คุยหลักฐานแน่นมัดคดี'สมชาย-บิ๊กจิ๋ว'สลายม็อบปี'51 'วิษณุ"ชื่นชม'กกต.-กสม.'ค้านโดนริบอำนาจ แต่สุดท้ายอยู่ที่กมธ.ยกร่างรธน. โพลเผยประชาชนหนุนรวมกสม.-ผู้ตรวจฯ อุปทูตสหรัฐเมิน คำเชิญกมธ.สนช.เรียกไปซักฟอก 11 ก.พ.

'บิ๊กตู่'นำครม.เยือนญี่ปุ่น

     เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 8 ก.พ. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และภริยา พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ และรมว.ต่างประเทศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่าง เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. ตาม คำเชิญของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ กรุงโตเกียว เวลา 16.55 น. วันเดียวกัน

     ภารกิจสำคัญในการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าเฝ้าฯ มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ การหารือทวิภาคีกับนายกฯญี่ปุ่น โดยจะมีการหารือในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบราง การพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยสู่ญี่ปุ่น 

ลุยพบเอกชน-นั่งชินคันเซน

       นอกจากนี้ นายกฯ จะหารือกับประธานกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาญี่ปุ่น-ไทย การพบปะกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น ได้แก่ ประธานและผู้บริหารระดับสูงของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ที่กรุงโตเกียว ประธานและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตคันไซ ที่นครโอซากา รวมถึงประธานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่น อาทิ ฮอนด้า และ มิตซุย

        ในโอกาสนี้ นายกฯจะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ คือบันทึกแสดงเจตจำนง(เอ็มโอไอ)เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาระบบราง โดยระบุเส้นทางที่มีความสำคัญลำดับต้นที่สองฝ่ายจะร่วมมือพัฒนา และการยกระดับกลไกคณะทำงานระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เป็นระดับรัฐมนตรีเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยให้รมว.คมนาคมสองฝ่ายลงนาม และบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอซี) เกี่ยวกับความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจไทยในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในไทย และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันในประเทศที่สาม ระหว่างองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร)กับคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและทดลองนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงชินคันเซนด้วย

ไม่ตอบเบรก'ปู'ไปฮ่องกง

      พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ที่คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯเดินทางไปฮ่องกง ตามที่ยื่นหนังสือขอเดินทางไปต่างประเทศ 1 สัปดาห์ต่อคสช.ว่า "ให้ไปอ่านหนังสือ พิมพ์ดูนะ หนังสือพิมพ์เขาเขียนว่าอย่างไร"

     พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. และโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กรณีนี้ขั้นตอนการพิจารณาอาจต้องใช้เวลามากขึ้นไม่เหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะต้องนำองค์ประกอบและเหตุผล ทั้งทางเจตนาและทางกฎหมายมาพิจารณาด้วย โดยเฉพาะขณะนี้กำลังเริ่มเข้าสู่กระบวนการที่อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งฟ้องคดีรับจำนำข้าว จึงอาจต้องมีการประสานขอแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับข้อปฏิบัติทางกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคสช.ต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ขออนุญาตและไม่ให้กระทบกับกระบวนการทางคดี

        "การเดินทางไปต่างประเทศหลายบุคคลที่มีเงื่อนไข ให้แจ้งบอกกล่าวมาทาง คสช.ก่อน ขอเรียนว่าส่วนใหญ่ต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่ประสงค์ให้ถูกรบกวน จึงเป็นไปได้ที่แม้ว่าจะได้รับอนุญาตแต่ อาจไม่เป็นที่รับทราบของสังคม" พ.อ. วินธัยกล่าว

อสส.ระบุเป็นอำนาจคสช.

        ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกอสส. กล่าวว่า สำหรับคดีจำนำข้าว เมื่ออสส.แถลงว่าจะเป็นผู้ยื่นฟ้องไปแล้วนั้น ทางอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนกำลังดำเนินการร่างคำฟ้องในคดีนี้อยู่ ตนไม่ได้อยู่ในคณะทำงานจึงยังไม่ทราบความคืบหน้าว่าเสร็จถึงขั้นใด จะยื่นฟ้องได้เมื่อไหร่ ขอว่าใน วันจันทร์ที่ 9 ก.พ. เมื่อเปิดทำการแล้วจะตามสอบถามให้ แต่เชื่อว่าน่าจะส่งฟ้องได้ในเร็วๆ นี้ เพราะนับตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวเรื่องอสส.จะส่งฟ้องเองนั้นได้กำหนดภายใน 30 วัน ซึ่งจะครบภายในวันที่ 21 ก.พ.

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างนี้หากน.ส. ยิ่งลักษณ์ขอเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า ขณะนี้อสส.ยังไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้อง ประเด็นนั้นทางอสส.จึงไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของทางอื่น หากยื่นฟ้องเมื่อไหร่ก็จะเป็นอำนาจศาลที่จะพิจารณา ตรงนี้อสส.ไม่เกี่ยว ต้องไปถามคสช. แต่ถ้าฟ้องไปแล้วก็จะเป็นอำนาจศาล

สปช.หนุนไม่ปล่อยเสือเข้าป่า

        พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า ตนไม่มองเรื่องนี้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเกินไป เพราะก่อนหน้านี้ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เป็น ผู้ต้องหาคดีอาญา คสช.ก็อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้ตามปกติ แต่วันนี้ เมื่อเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาคงอนุญาตลำบาก เพราะตัวอย่างในอดีตก็มีให้เห็น ว่าเคยมี ผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศ แล้วไม่ยอมกลับมาต่อสู้คดี 

        "ส่วนตัวไม่ได้มองแง่ร้ายว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นเสือที่กำลังจะขอหนีเข้าป่า แต่ถ้าครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้ออกนอกประเทศได้ แล้วเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นมา ก็คงตอบคำถามไม่ได้ และไม่คิดว่าประเด็นนี้ จะทำให้เกิดภาพว่า คสช.กำลังบีบคั้น อดีตนายกฯมากเกินไป จนกระทบภาพความปรองดองที่ สปช.กำลังทำงานอยู่ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจตามหลักสากล ไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งประชาชนคงเข้าใจ" พ.ต.อาณันย์ กล่าว

ทนายชี้ขัดหลักสิทธิ-เสรีภาพ 

        นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทีมทนายทำงานอยู่ในกรอบเฉพาะในทางคดีเท่านั้น ส่วนการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปที่ไหน อย่างไร หรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทีมทนายทราบ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ความจริงแล้ว หากอดีตนายกฯประสงค์จะเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ ก็ไม่ได้ติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย แม้ว่าอสส.จะมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็นเพียงความเห็น แต่ยังไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นน.ส. ยิ่งลักษณ์จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมของ อสส.หรือศาล 

        "ในคดีอาญามีหลักอยู่ว่า ต้องสันนิษ ฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึง ที่สุด ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวนี้ รัฐธรรม นูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของไทยที่ผ่านๆ มาทุกฉบับ ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ แม้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ได้รับรอง และคุ้มครองไว้ในมาตรา 4" นายนรวิชญ์กล่าว

แค่ยื่นฟ้องยังไม่ต้องมาศาล

นายนรวิชญ์กล่าวว่า สำหรับการยื่นฟ้องคดีอาญาของ อสส.ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีขั้นตอนที่แตกต่างจากการยื่นฟ้องคดีอาญาทั่วๆ ไป ตั้งแต่ในชั้นการยื่นฟ้องต่อศาล และการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้หรือไม่ในวันยื่นฟ้อง กฎหมายกำหนดแต่เพียงให้ อสส.ที่เป็นโจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต่อศาลพร้อมคำฟ้องเพื่อประกอบการพิจารณา และรวมไว้ในสำนวนเท่านั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ในการยื่นฟ้องต่อศาลให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลด้วย 

นายนรวิชญ์กล่าวว่า มีตัวอย่างเทียบได้ในคดีเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีการยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ซึ่งในวันยื่นฟ้องก็ไม่ต้องนำตัวนายสมชายไปศาลด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ศาลจึงจะส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก ซึ่งเป็นวันที่จำเลยต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาล ดังนั้น ในสำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อยังไม่การกำหนดนัดพิจารณา ครั้งแรก หาก คสช.มีคำสั่งห้าม น.ส. ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ น่าจะขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของ ผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ที่รัฐธรรม นูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดได้รับรอง และคุ้มครองไว้ตลอดมา

"มาร์ค"บอกเข้าใจคสช.

ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ กล่าวว่า เข้าใจว่า คสช.พิจารณาถึงความจำเป็นในการเดินทางและความมั่นใจว่าจะไม่มีการหลบหนี เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เนื่องจากศาลอนุมัติ แต่ในครั้งนี้น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ขึ้นศาลจึงต้องเป็นอำนาจของ คสช. เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่หากจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องขออนุญาต รวมถึงตนด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการแสดงออกทางการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ คสช.สั่งห้ามมีขบวนพาเหรดล้อการเมืองว่า นี่ถือเป็นประเพณี อยากให้เจ้าหน้าที่และคสช.ได้พิจารณาว่าการผ่อนคลายให้แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ไม่ได้ไปสร้างปัญหาหรือไปปลุกปั่นหรือปลุกระดม แต่เป็นการแสดงออกของสังคม คิดว่าอยากให้เปิดโอกาส เพราะถึงอย่างไรบ้านเมืองก็ต้องกลับเข้าสู่การใช้สิทธิ เสรีภาพ แต่ตนก็เข้าใจในกรณีที่ให้ทำอะไรแล้ว แต่กลับไปทำอะไรที่แอบแฝงหรือปลุกปั่นทำให้เกิดความวุ่นวาย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เข้าใจได้ว่าต้องการให้เกิดความสงบ 

"นิพิฏฐ์"คาด"ปู"ขอลี้ภัย

ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อใดที่นักการเมืองถูกดำเนินคดี หากจะเดินทางออกไปต่างประเทศต้องขออนุญาต คสช.และรัฐบาล ในรายของอดีตนายกฯ ที่ คสช.ไม่อนุญาตตามคำขอนั้น คาดว่า เมื่อ อสส.ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วจะมีการกำหนดวันให้อดีตนายกฯในฐานะผู้ถูกร้องต้องไปแสดงตัวศาลฎีกาตามลำดับต่อไป จากนั้นหากน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขออนุญาต คสช. เพื่อเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติ ซึ่งในการพิจารณาคดีอาญา อาจใช้เวลายาวนาน เป็นปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าที่สุดแล้วน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจใช้วิธีการ ขอเดินทางออกไปนอกประเทศแล้วไม่กลับมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เชื่อว่าจากบทเรียนของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เลือกการหลบหนีคดี และไม่เป็นผลดีตลอดมานั้น น่าจะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกการทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมือง มากกว่าที่จะเดินทางออกนอกประเทศและไม่กลับมา เนื่องจากการขอลี้ภัยทางการเมืองจะส่งผลให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ มีเครดิตมากกว่า ได้ทั้งสิทธิ และความชอบธรรมที่จะสามารถนำไปใช้ ในการขยายผลทางการเมืองได้ต่อไป

ป.ป.ช.บี้คลังเช็กบิลจำนำข้าว

นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ป.ป.ช.จะออกหนังสือส่งไปยังกระทรวงการคลังเพื่อให้ติดตามความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว โดยขณะนี้เหลือขั้นตอนการให้กรรมการป.ป.ช.รับรองมติของป.ป.ช. พร้อมสรุปสำนวนหลักฐานให้กระทรวงการคลังได้ทราบถึงต้นเหตุของการทุจริต เพื่อให้ไปดำเนินการว่าใครจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเท่าไหร่

นายวิชากล่าวว่า เรื่องที่ป.ป.ช.จะส่งไปยังกระทรวงคลังนั้นป.ป.ช.จะไม่มีการระบุตัวเลขความเสียหาย เพราะคิดว่ากระทรวงการคลังมีความรู้ความชำนาญ แต่พื้นฐานเบื้องต้นจะต้องไม่ต่ำกว่าที่คณะอนุกรรม การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้สรุปไว้ก่อนหน้านี้ 

ขอติดดาบเรียกค่าเสียหายเอง

"ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายกับเรื่องนี้ แต่คิดว่าท่านต้องตื่นตัวแล้วเพราะหนี้ที่เราต้องชำระนั้นจะใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหน เป็นเรื่องของการมีจิตสำนึกสาธารณะในการเอาเงินของประเทศกลับคืนมา คิดว่านายสมหมาย ภาษี รมว.คลังเป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธาอยู่แล้วครับ ท่านเป็นคนมีอะไรก็พูดตรงๆ ผมชอบมาก" นายวิชากล่าว

นายวิชากล่าวว่า เวลานี้ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วยตัวเอง เพราะกฎหมายยังให้เป็นหน้าที่ ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลังไปดำเนินการ โดยป.ป.ช. มีหน้าที่แค่ติดตามตรวจสอบเท่านั้น แต่หากในอนาคตจะมีการให้อำนาจป.ป.ช. ในส่วนนี้ ป.ป.ช.ก็มีความพร้อมและไม่คิดว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด

ลุ้นคดีฟ้อง"สมชาย-จิ๋ว"สลายม็อบ

ส่วนกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งในคดีที่ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ สั่งสลายการชุมนุมปี 2551 ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ นายวิชากล่าวว่า เรื่องนี้เมื่ออสส.ไม่ดำเนินการสั่งฟ้อง ทางป.ป.ช.ก็ต้องฟ้องร้องเอง โดยให้ทนายความดำเนินการฟ้องร้อง ส่งไปที่ศาลแล้วและศาลนัดพิจารณาว่าจะรับฟ้อง หรือไม่ กระบวนการที่ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนในเรื่องนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีข้อสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่สรุปรายงานมาให้ด้วย และยังมีข้อสรุปของรัฐสภา มีประกอบกันหลายส่วน แม้แต่ของผู้เชี่ยวชาญ และศาลปกครองที่เคยชี้ในเรื่องนี้ด้วยว่ากรณีกระทำการสลายการชุมนุมนั้นเกินขอบเขตหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้ป.ป.ช.มีความมั่นใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในคดีดังกล่าวฟ้องร้องเฉพาะนายสมชายคนเดียวหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า นอกจากนายสมชายจะมีพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ และครม.ในสมัยนั้น ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอฟังว่าศาลรับพิจารณาหรือไม่ เท่าที่ทราบศาล นัดเร็วๆ นี้ จำวันที่ไม่ได้แน่ชัด หากศาลสั่งออกมาก็ต้องเริ่มกระบวนการเตรียมสำนวนและอะไรต่ออะไร เป็นหน้าที่ของทนายความซึ่งป.ป.ช.ได้ส่งให้ทนายหมดแล้ว

ปลุกปชช.ช่วยปราบโกง

นายวิชายังกล่าวถึงกรณีที่ป.ป.ช. ต้องการให้ประชาชนหันมาร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ว่า ประชาชนต้องมีความตื่นตัว ร่วมแรงร่วมใจกับป.ป.ช.ในการทำงานเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะเรื่องการแจ้งเบาะแส ไม่ทอดทิ้ง สนับสนุน เคลื่อนไหวเพื่อให้เห็นว่าประชาชนเป็นเกราะกำบังให้ป.ป.ช. ซึ่งป.ป.ช.ก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าเราเป็นคนที่ไว้วางใจได้ เชื่อถือได้ น่าศรัทธา ดังนั้นคดีต่างๆ ต้องทำให้ชัดเจน ทำให้มีความรู้สึกว่ามีพลังเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ เพราะถ้าป.ป.ช.ไม่ทำให้เห็นชัดเจนประชาชนคงไม่ต้องการเข้ามาสนับสนุน

นายวิชากล่าวว่า เครื่องมือที่จะช่วยให้เห็นผลคือประชาชนต้องรู้ว่าเขาควรช่วยป.ป.ช.เฝ้าระวังในจุดไหนอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการสอนให้รู้ว่างบประมาณแผ่นดินมีเหตุที่จะโกงได้ในจุดไหนอย่างไร ชุมชนต่างๆ จะต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้และคอยช่วยเฝ้าระวัง เพราะการป้องกันการทุจริตไม่ใช่แต่เพียงว่า บอกว่าฉันจะเป็นคนดี เท่านั้นไม่พอ จะต้องอ่านเกมออก รู้ว่าบริษัทไหนเป็นของใคร ประมูลได้หรือไม่ได้ ต้องรู้และคอยเตือนผู้บริหารท้องถิ่นว่าประชาชนรู้ทัน ดังนั้นต้องให้เรียนรู้กันตั้งแต่ระดับนักศึกษา อาทิ เรียนบัญชี เรียนวิศวกร ก็ต้องเรียนรู้ถึงจุดด้อยจุดด่างของวิชาชีพนั้นๆ ด้วยว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตได้อย่างไร และจะป้องกันได้อย่างไร

พท.อัดจ้องเล่นงานตระกูลชินวัตร

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า ถือเป็นความพยายามของ ป.ป.ช.ที่สั่งฟ้องทั้งคดีจำนำข้าวมาจนถึงคดีของนายสมชาย ไม่น่าแปลกใจหากสังคมจะเห็นตรงกันถึงเจตนารมณ์ของ ป.ป.ช.ที่จ้องเล่นงานคน ในตระกูลชินวัตร จ้องทำลายฝ่ายประชา ธิปไตยชัดเจนขึ้นทุกที อยากถาม ป.ป.ช.ว่าคดีสั่งสลายการชุมนุมปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ จนมี ผู้เสียชีวิต 90 กว่าศพนั้น ป.ป.ช.ทำคดีไปถึงไหนแล้ว ควรออกมาพูดให้สังคมได้รับรู้ความคืบหน้าบ้าง 

"คดีของอดีตนายกฯ สมชายเป็นเรื่องอุบัติเหตุจนมีคนตาย ไม่ใช่มาจากการสั่งฆ่าประชาชน ขณะที่นานาชาติก็จับตามองเรื่องนี้อยู่ ดังนั้น ป.ป.ช.ควรเร่งรีบดำเนินการในคดีนี้ด้วย อย่าเร่งรัดแต่คดีของฝั่งพรรคเพื่อไทย จะได้ไม่เป็นการตอกย้ำว่า ป.ป.ช.สองมาตรฐาน" นายวรชัยกล่าว

"วิษณุ"ยันปรับแก้ร่างรธน.ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อคัดค้านเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกกต. ว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ อยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงที่ผ่านมามีการส่งเนื้อหาแต่ละมาตราที่ร่างแล้วให้หลายฝ่ายดูแบบไม่เป็นทางการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นระยะ ซึ่งบางมาตรา กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้เนื้อหาเหมือนกัน จึงยังแก้ไขอย่างไม่เป็นทางการได้ตลอดเวลาหาก กมธ.จะแก้ แต่เมื่อถึงเดือนเม.ย.นี้ ครบ 120 วันที่ต้องมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์แล้ว กมธ.ยกร่างฯ จะต้องเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการมาให้ ครม. คสช.และสปช. ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้ 

นายวิษณุกล่าวว่า ในวันประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แจ้งความประสงค์อยากจะให้ กมธ.ยกร่างฯ ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ด้วย ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ไม่ขัดข้อง เมื่อถึงตอนนั้นจะมีความคิดเห็นหลั่งไหลออกมาอย่าง เป็นทางการ ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะต้องรับเข้าไปเพื่อแก้ไขเนื้อหาอย่างเป็นทางการ อีกหนหนึ่ง

แนะพูดกันด้วยเหตุผล

ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ยกร่างฯ จะต้องเชิญตัวแทนจากองค์กรอิสระไปหารือด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีความคิดเห็น ขัดแย้งกันในประเด็นเกี่ยวกับองค์กรอิสระ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เรียกว่าเป็นความขัดแย้ง แต่เมื่อเวลาจะร่างหรือปฏิรูปอะไรใหม่ ต้องมีความแตกต่างไปจากของเดิม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา กกต. ป.ป.ช. และรัฐบาลได้รับผลกระทบหมด แต่หากใครมีปัญหาอย่างไรขอให้แสดงความเห็นออกมา ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามคิดว่า กกต.และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำถูกด้วยซ้ำไป หากเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ทำไม่ถูกต้องก็ต้องบอกเขาไป แต่สุดท้ายอยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯ

เมื่อถามว่าจะกลายเป็น กมธ.ยกร่างฯ ไปเปิดศึกรอบทิศหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ เมื่อครั้งที่ตนทำงานด้านปฏิรูปไม่เคยคิดว่าไปเปิดศึก แต่ต้องพูดกันด้วยเหตุผล เพราะสุดท้ายถ้าไม่เปลี่ยนอะไรเลย หรือยอมตาม ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิรูปไปทำไม คำว่า "ปฏิรูป" แปลว่าเปลี่ยนรูปแบบใหม่ การเปลี่ยนทำให้คนที่เคยชินกับอะไรก็ตามต้องได้รับผลกระทบหรือไม่พอใจ บางครั้งรุนแรงและไม่รุนแรงเสมอไป ดังนั้น ใครทำเรื่องปฏิรูปต้องคิด ต้องให้คนที่ได้รับผลกระทบมาชี้แจงแสดงเหตุผลและชั่ง น้ำหนักกัน

ปชช.หนุนรวมกสม.-ผู้ตรวจ

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง "องค์กรสิทธิมนุษยชน" จากประชาชนทั่วประเทศทุกภูมิภาค จำนวน 1,251 หน่วย ระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ. พบว่า ร้อยละ 22.06 พึงพอใจอย่างมาก ต่อผลการดำเนินงานที่ ผ่านมาของกสม. ร้อยละ 46.92 ระบุค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 15.91 ระบุไม่ค่อยพึงพอใจ ร้อยละ 7.84 ระบุไม่พึงพอใจเลย และร้อยละ 7.27 ไม่แน่ใจ ซึ่งผู้ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ-พึงพอใจอย่างมาก ให้เหตุผลว่า เป็นหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือและดูแลประชาชนอย่างดี และมีผลงานปรากฏ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็ก และสตรี ขณะผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยพึงพอใจ-ไม่พึงพอใจเลย ให้เหตุผลว่าการบริการยังไม่ ทั่วถึง ทำงานไม่เป็นกลาง

ส่วนการควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน ร้อยละ 55.00 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะจะช่วยให้การติดต่อดำเนินการทำได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ช่วยถ่วงดุลการทำงานของแต่ละฝ่าย ร้อยละ 34.93 ไม่เห็นด้วย เพราะทั้งสองหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน และไม่แน่ใจว่าเมื่อถูกควบรวมกันแล้วจะทำงานร่วมกันได้ดีหรือไม่ และร้อยละ 10.07 ไม่แน่ใจ

"กรณ์"ห่วงจีนแฝงภัยซ่อนเร้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า เราอยากเห็นการดำเนินการโดยเร็วในโครงการรถไฟเชื่อมกับจีนที่หนองคาย แต่ผมมองว่าเป็นข่าวดีที่มีการรายงานว่ามีการสะดุดในการเจรจาระหว่างไทยกับจีนต่อเงื่อนไขการกู้เงินเพื่อลงทุนในรถไฟความเร็วสูงสะท้อนให้เห็นว่าข้าราชการกระทรวงการคลังยังทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของไทยเราได้ดี ไม่ได้ยอมเขาไปทุกเรื่อง ซึ่งปัญหาที่ทำให้สะดุดคืออัตราดอกเบี้ยที่จีนเสนอ และเงื่อนไขของจีนที่ต้องให้จีนรับผิดชอบในทุกขั้นตอนของโครงการ รวมถึงการบริหารรถไฟด้วย 

นายกรณ์ระบุว่า ผมว่าทางจีนอาจสบายเกินไป รถไฟก็ได้ขาย งานก่อสร้างก็ได้ ทำเงินไม่ต้องลง แถมได้เก็บดอกเบี้ย จากเรา วันนี้ไทยเราควรเจรจาให้เป็นการร่วมลงทุนตามแนวบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เดิมที่เราเคยเจรจาไว้กับจีน วิธีการ คือไทยใช้เส้นทางรางเป็นทุน จีนลงเงิน และ สองประเทศร่วมกันถือหุ้นในบริษัทที่มีสัมปทานเดินรถและบริหารโครงการ การกู้เงินเป็นการกู้โดยบริษัทร่วมทุนแทนที่จะเป็นการกู้โดยรัฐไทย

การกู้เงินมาลงทุนนั้นง่ายกว่าเพราะไม่ต้องเหนื่อยเจรจาเงื่อนไขอะไรมาก แต่ความเสี่ยงตกอยู่ที่เรา 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ฝ่ายจีนได้ประโยชน์มหาศาลทั้งในแง่รายได้จากของที่ขายเราและในทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมผ่านเราสู่อาเซียนได้ ซึ่งการเอาง่ายไว้ก่อนมักซ่อนภัยไว้ภายหลัง

อุปทูตสหรัฐเมินพบสนช.

วันที่ 8 ก.พ. นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่กมธ.การต่างประเทศได้ทำหนังสือเชิญ นายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย มาชี้แจงในวันที่ 11 ก.พ.นี้กรณี ที่ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แสดงความเห็นทางการเมือง ที่กระทบกับประเทศไทย ว่า ขณะนี้สถานทูตสหรัฐได้แจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศว่าอุปทูตสหรัฐไม่สะดวกที่จะเดินทางมาชี้แจงต่อสนช. เนื่องจากติดขัดต่อระเบียบปฏิบัติที่จะให้อุปทูตนั้นมาปรากฏตัว ซึ่งทาง กมธ.การต่างประเทศก็รับทราบและเข้าใจดี อีกทั้งคงจะไม่มีการส่งหนังสือเชิญซ้ำ

"การเชิญของกมธ.การต่างประเทศนี้ เป็นเพียงแค่การเชิญมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มาพูดคุยกันเท่านั้น เหมือนเช่นที่เราเชิญทูตสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย หรือฮังการี เป็นการปฏิบัติตามปกติ แต่ถ้าไม่มาเราก็เข้าใจและคงรอไว้เป็นโอกาสหน้าคงจะได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อย่างไรก็ตาม ทางสถานทูตไม่ได้ชี้แจงถึงกรณีการแถลง ของนายแดเนียลแต่อย่างใด" นายชูเกียรติกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!