WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8840 ข่าวสดรายวัน

แถลงเปิดคอบร้าฯ อุปทูตย้ำ ทวงคืนปชต.ไทย 'บิ๊กตู่'อินเจแปนเจอป้ายประท้วง จี้คดีฮิโรยูกิ-เรียกร้องเลือกตั้ง'อาเบะ'ก็เร่ง-ให้มีรบ.พลเรือน 'คสช.-อสส.'โยนนัวห้าม'ปู'บิน


เข้าเฝ้าฯ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เข้าเฝ้าฯเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารประเทศญี่ปุ่น และพระวรชายา ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.

       อุปทูตสหรัฐย้ำอีก รอไทยเป็นปชต. ปรับสัมพันธ์ไว้คุยรัฐบาลพลเรือน 'บิ๊กตู่'ไปญี่ปุ่น เจอชูป้ายประท้วง ทวงคดี'ฮิโรยูกิ' เรียกร้องปชต. ห้าม'ปู'ไปนอก'คสช.-อสส.'โยนวุ่น วิษณุยันเป็นอำนาจ 'คสช.' บิ๊กโด่งเผยแค่ชะลอ ขอศาล เป็นคนตัดสินใจ 'ปึ้ง'ชี้เรื่องนี้ต้องถาม'บิ๊กตู่'ด้าน ยิ่งลักษณ์กลับไปพักเชียงใหม่แล้ว ศาลปค.แถลงค้าน กมธ.ยกร่างให้ตุลาการพ้นราชการหลังอายุ 65 ปี 'สุวัจน์'จัดแซยิดทุกวงการร่วมอวยพรคึกคัก

'บิ๊กตู่'ขอบคุณญี่ปุ่นยังเชื่อมั่น
      เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (เร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) นายยะสุฮิสะ ชิโอะซะคิ รมว.สาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น นำกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-ญี่ปุ่น พรรคเสรีประชาธิปไตย เข้าพบหารือระหว่างอาหารเช้ากับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ วันที่ 8-10 ก.พ. โดยนายกฯแสดงความขอบคุณญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นในประเทศไทยและยังลงทุนต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาทั้งด้านอุทกภัยและสถานการณ์การเมือง 
       นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองไทยว่า รัฐบาลยึดแนวบริหารประเทศด้วยความโปร่งใสควบคู่การปฏิรูปเพื่อให้ไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง โดยเดินหน้าปฏิรูปตามโรดแม็ปขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 และเตรียมการเลือกตั้งตามแนวประชาธิปไตยให้มีผลยั่งยืน ซึ่งกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-ญี่ปุ่น แสดงความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองไทยและยินดีสนับ สนุนการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการปฏิรูปประเทศ

กลุ่มธุรกิจทยอยหารือ
      จากนั้นนายฮิโรยูกิ อิชิเงะ ประธาน JETRO เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ โดยยืนยันจะลงทุนในไทยต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นประสบอุปสรรคด้านการลงทุนในไทย เนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดจึงขอฝาก ให้นายกฯ ช่วยพิจารณา
       ต่อมานายเทซุเกะ คิตะยะมะ ประธานธนาคารซุมิโตโม่ มิตซุย นำผู้บริหารธนาคารเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ โดยนายเทซุเกะ กล่าวว่าปีที่ผ่านมาแม้ไทยจะประสบปัญหาอุทกภัยรวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง แต่นักลงทุนยังคงลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนของเอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่เพิ่มมูลค่าขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นก็มีโครงการลงทุนในไทยในด้านพลังงาน 

ชวนร่วมลงทุนพัฒนา'ทวาย'
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะมองไทยเป็นศูนย์กลางทางการลงทุนในอาเซียนและยืนยันว่าไทยพร้อมดูแลนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกันมากว่า 600 ปี หากติดขัดประการใดสามารถประสานผ่านช่องทางต่างๆ ได้ และรัฐบาลยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทุกวันนี้ไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ จึงอยากให้ธนาคารซุมิโตโม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ นายเทซุเกะ ยินดีรับเรื่องนี้ไปพิจารณาและจะขอรับคำแนะนำจากนายกฯอีกครั้งหนึ่ง
      นอกจากนั้น นายเทซุเกะ ในฐานะประธานและคณะกรรมการ Japan-Thailand Business Forum และ Japan-Thailand Association นำคณะเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯอีกครั้ง ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่ารัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคงควบคู่กับการเมือง เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่งและการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยและญี่ปุ่นสามารถร่วมมือกันได้อีกมาก นอกจากนี้ไทยยังมีโครงการร่วมกับญี่ปุ่นและพม่าในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จึงขอให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนและผลักดันด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นในไทยอย่างดีที่สุด

ชี้ใช้กม.พิเศษเพื่อสร้างเชื่อมั่น
         จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคนดันเรน) จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ ตอนหนึ่งว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย ยืนยันจะเดินหน้าตามแผนโรดแม็ปที่วางไว้ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นอีกในวันข้างหน้า ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการอยู่ในอำนาจยาวนาน การเข้ามาบริหารประเทศครั้งนี้ เพราะจำเป็นต้องเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง การจะเกิดประชา ธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างถาวรได้นั้น ต้องเกิดจากปัจจัย 3 ประการ คือรัฐบาล ประชาชนในประเทศ และการสนับสนุนจากประเทศ เพื่อนบ้าน
     นายกฯ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่บริหารประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็น เวลา 8 เดือน รัฐบาลบริหารตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนประเทศอื่นๆ มีรัฐบาลชั่วคราว ใช้ระเบียบราชการแผ่นดินตาม ปกติ มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมีเพียงกฎหมายพิเศษที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้น เพื่อให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยในการบริหารประเทศ ซึ่งการมีกฎหมายพิเศษก็เพื่อให้มั่นใจ ไม่ได้มีไว้ไม่ให้เชื่อมั่น

หวังเจริญตามรอยญี่ปุ่น
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากทุกรัฐบาลทำได้อย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำ คงไม่เกิดปัญหาเหมือนปี 2549 และ 2557 จึงขอฝากให้ ช่วยดูรัฐบาลที่จะมาต่อไปด้วยว่าจะพัฒนาศักยภาพได้อย่างไร ให้มีธรรมาภิบาลอย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นมี เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นอีก เพราะส่วนตัวก็ไม่รับรองว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเมืองทั้งสิ้น
       "ปัญหาไม่ได้เกิดจากผม นายกฯบางคนอาจเห็นว่า ผมเป็นรัฐบาลที่เข้ามาจากการควบคุมอำนาจ แต่ผมอยากถามว่าวันนี้ผมได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่ ทุกประเทศ ทุกธุรกิจ มีใครเดือดร้อนบ้าง มีอย่างเดียวคือผู้ที่สูญเสียทางการเมือง ต้องให้ความเป็นธรรมกับผมด้วย" นายกฯ กล่าว

นายกฯ ยุ่นชื่นชม"ตู่"ทุ่มเท

      เวลา 17.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือทวิภาคีกับนายชิน โซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จากนั้นเวลา 18.45 น. นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนและลงนามเอกสารความร่วมมือ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ความร่วมมือในการพัฒนาระบบราง ระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย-ญี่ปุ่น และ 2.บันทึกความร่วมมือ (MOC) ในการส่งเสริมการทำธุรกิจและการลงทุนของไทยในญี่ปุ่น เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มีความมั่นคงยั่งยืน พร้อมแถลงข่าวร่วมกัน
     นายอาเบะได้กล่าวแสดงความยินดีกับความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมชื่นชมพล.อ.ประยุทธ์ที่ได้ทุ่มเทเพื่อนำประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสุดความสามารถ ญี่ปุ่นมีความหวังถึงการปรองดองของไทยและคืนการปกครองโดยพลเรือนโดยเร็วที่สุด และไทยยังเป็นความหวังในภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียน

ประยุทธ์ยันจะกลับมาสู่ปชต.
        ด้านพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางมาญี่ปุ่นในครั้งนี้ เพื่อย้ำความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการดำเนินบทบาทของทั้ง 2 ประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และอาเซียน ส่วนโครงการระบบราง ที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามเจตจำนงระหว่างกัน ที่จะศึกษาและพัฒนา 3 เส้นทางเร่งด่วนในไทย จะเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ทั้งด้านบนและด้านล่าง และโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมาร์ ซึ่งจะเป็นโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ เชื่อมอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงและเอเชียใต้เข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงเรื่องการหารือในแนวคิดของไทย ที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับเอกชนญี่ปุ่น โดยมีไทยเป็นฐานการผลิต จุดเชื่อมโยง และศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงถึงความคืบหน้าในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วของประเทศไทยว่า อีกไม่นานการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะแล้วเสร็จ และคาดว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559 ตนเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านสั้นๆ นี้ ที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของคนไทยทุกคน จึงขอให้ชาวญี่ปุ่นมีความมั่นใจได้ว่า ประเทศไทยกำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหารอบด้านในทุกเรื่อง และขอให้สัญญาว่า ไทยจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน เชื่อว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว

ม็อบชูรูป'ฮิโรยูกิ'ประท้วงบิ๊กตู่
           ส่วนนางนราพร จันทร์โอชา ภริยานายกฯ พร้อมภริยารองนายกฯและรัฐมนตรีที่ร่วมคณะเดินทาง เวลา 09.30 น. ไปดูงานโครงการฝึกอาชีพสำหรับผู้พิการของบริษัท เจเอแอล ซันไลท์ จำกัด จากนั้นช่วงบ่ายเยี่ยมชมสถานีโทรทัศน์ NHK เพื่อชมการผลิตรายการและพบผู้อำนวยการบริหารการผลิตฝ่าย NHK แลกเปลี่ยนความคิดและรายการการศึกษาภาษาอังกฤษ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนผ่านโทรทัศน์ทางไกล ที่โรงเรียนไกลกังวล ในฐานะที่นางนราพรเป็นรองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม


รับบิ๊กตู่ - คนไทยและญี่ปุ่นชุมนุมประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างเยือนญี่ปุ่น โดยชูป้ายเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกับชูภาพนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายม็อบเม.ย.2553

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นคนไทยที่อยู่ที่ญี่ปุ่น มารวมตัวชุมนุมประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยชูป้ายผ้าที่มีข้อความภาษาไทย อังกฤษ และญี่ปุ่น โจมตีรัฐบาลและกองทัพ พร้อมกับเรียกร้องประชาธิปไตยและให้ยกเลิกกฎอัยการศึก รวมถึงมีการชูภาพของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่ที่พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดเข้าพบนายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ในเวลา 17.55 น. วันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมาปักหลักชุมนุมตั้งแต่เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น หรือเวลา 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยชุมนุมนาน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นอนุญาต จากนั้นทั้งหมดได้สลายตัว ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะมาถึงทำเนียบรัฐบาลญี่ปุ่น

รัฐบาลเมินชุมนุมประท้วง
     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจว่ามีกรณีดังกล่าวหรือไม่ เพราะนายกฯไปปฏิบัติภารกิจกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เจรจาธุรกิจการค้า และสร้างความร่วมมือในการวางโครงสร้างเส้นทางคมนาคม ส่วนประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตย ถ้าคนไทยกลุ่มใดที่อยู่ในญี่ปุ่นออกมาเคลื่อน ไหวโดยไม่ได้ละเมิดกฎหมายของญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นคงทำอะไรไม่ได้ ตรงนี้จึงไม่ถือเป็นสาระสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องเสียเวลากับเรื่องแบบนี้ และไม่ได้ตรวจสอบว่ามีการชุมนุมจริงหรือไม่ อีกทั้งเราไม่นำมาเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การทำงานของนายกฯต้องเสียจากแผนงานที่วางไว้ จึงไม่ใช่ประเด็นที่เราต้องวิตกว่ามีหรือไม่มีการชุมนุม 
     "เรื่องการทำความเข้าใจนั้น ถ้าคนจะเข้าใจเขาก็พร้อมเข้าใจอยู่แล้ว แต่ถ้าคนที่เราอธิบายแล้วแต่ยังไม่เข้าใจ เราไม่มีวิธีอื่นใด นอกจากเราจะมองข้ามตรงนี้ไป"พล.ต.สรรเสริญกล่าว
      เมื่อถามว่ากรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับประเทศไทยอย่างเดียว เพราะผู้นำหรือรัฐมนตรีของประเทศอื่นก็พบเจอการที่มีคนมาชุมนุมต่อต้านเขาในต่างประเทศทั้งนั้น

ปปช.แจงฟ้อง'สมชาย'
       วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของสำนวนถอดถอน 269 ส.ส. จากกรณีแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่า ขณะนี้ความคืบหน้าของสำนวนในส่วนของพยานหลักฐานเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว อยู่ที่ฝ่ายธุรการว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อไร ซึ่งคาดว่าจะเสร็จและส่งมายัง สนช.พิจารณาภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้ นอกจากนี้ ป.ป.ช.จะสั่งฟ้องคดีอาญากับ 5 อดีต ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกันด้วย
    นายปานเทพยังกล่าวถึงศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งในคดีที่ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ สั่งสลายการชุมนุมปี 2551 ว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนดังกล่าวมีความสมบูรณ์เพียงพอจะส่งฟ้องเอง จึงประสานสภาทนายความเพื่อยกร่างฟ้องนายสมชาย กับพวก อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. พล.ต.อ.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. จากนั้นจึงส่งฟ้องไปยังศาลฎีกาฯ และเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯ ได้ประทับ รับฟ้อง พร้อมตั้งองค์คณะขึ้นพิจารณาสั่งคดีในวันที่ 24 ก.พ. นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้อง ต่อไป หรือไม่อย่างไร ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องรอฟังผลการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ในวันที่ 24 ก.พ.นี้เช่นกัน

โยนคสช.ชี้'ปู'ไปนอก
       นายปานเทพยังกล่าวถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เตรียมส่งฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ป.ป.ช.ยังไม่ทราบความคืบหน้า เนื่องจากเรื่องอยู่ที่อสส.แล้ว เท่าที่ทราบอสส.ไม่ต้องนำผู้ถูกกล่าวหาไปสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เมื่อศาลฎีกาฯ ประทับรับฟ้องแล้วให้เรียก ผู้ถูกกล่าวหามาในภายหลัง พออสส.ฟ้องไปแล้วศาลฎีกาฯ รับ จะต้องมีหนังสือเรียกตัว ผู้ถูกกล่าวหามาในภายหลัง ทั้งนี้การขอเดินทางต่างประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในช่วงนี้คงไม่เกี่ยวกับศาลฎีกาฯ เป็นเรื่องของคสช.จะพิจารณาความเหมาะสม 
      ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง คสช. ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ส่วนที่มีการมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจขอลี้ภัยทางการเมือง ตนมองว่ายังไกลเกินไป เรื่องยังไม่ไปถึงขั้นนั้น สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่า ป.ป.ช. ทำงาน 2 มาตรฐาน ขอยืนยันว่า ป.ป.ช.ทำงานเพียงมาตรฐานเดียว สำนวนการชี้มูลการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และโครงการ 396 โรงพัก สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

คดีมาร์คเข้าที่ประชุม 10 ก.พ.นี้
       รายงานข่าวจากป.ป.ช. แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.วันที่ 10 ก.พ. นายวิชาในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีการสลายการชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนเม.ย. - พ.ค. 2553 จะรายงานความคืบหน้าของคดีให้ที่ประชุมรับทราบ และจะสรุปรายงานกรณีมีผู้ร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรม นูญและกฎหมาย และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยอนุกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่า ข้อมูลและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปเรื่องให้ที่ประชุมป.ป.ช.พิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกร้องหรือไม่
       รายงานข่าวระบุด้วยว่า มีผู้ร้องเอาผิดนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เกี่ยวกับการสั่งการสลายการชุมนุม อาทิ 1.กรณีปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบโดยใช้วิธีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. รุนแรงเกินไปไม่เหมาะสมกับสถาน การณ์ และไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 99 คน 2.ยืนยันสั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.บริเวณแยกคอกวัว เป็นเหตุให้นายสวาท วานาม, นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์, นาย ไพรศล ทิพย์ลม เสียชีวิต เหตุเกิดที่บริเวณแยกคอกวัว เขตพระนคร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 และ 3.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53

อสส.ปัดไม่เกี่ยวชะลอ"ปู"บิน
     ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ว่า ขณะนี้คณะทำงานอัยการร่างคำฟ้องเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงกำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นฟ้อง ซึ่งมีเอกสารเป็นจำนวนมาก ส่วนการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ นั้น คงจะฟ้องพร้อมตัวน.ส. ยิ่งลักษณ์ คาดว่าคงฟ้องได้ทันภายในวันที่ 21 ก.พ. นี้ ซึ่งจะครบกำหนด 1 เดือน ภายหลังจากที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. มีคำสั่งฟ้องดำเนินคดี ส่วนทาง ป.ป.ช.จะประสานส่งตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ทางอัยการเมื่อใดนั้น คณะทำงานอัยการกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกัน แต่ตนยังไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะนัดมาพบอัยการเมื่อใด
      เมื่อถามถึงกรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่ระบุว่านายตระกูล ได้ประสานให้คสช. ชะลอการเดินทางออกไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเกรงจะกระทบต่อรูปคดี โฆษก อสส.กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ตามหลักแล้วอัยการไม่มีอำนาจในการห้ามเดินทางไปต่างประเทศ เว้นแต่จะมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้ว ก็จะเป็นอำนาจในการพิจารณาของศาล

ชี้ส่ง'ปู'ฟ้อง-ศาลสั่งขังได้
       นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนกล่าวว่า กรณีอสส.ประสานไปยังป.ป.ช.ให้ดำเนินการนำตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์มาฟ้องคดี แต่หากทางป.ป.ช.ไม่ได้ตัวมาฟ้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ พ.ศ.2553 ข้อ 8 ระบุไว้ว่า หากนำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้อง ให้ ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาฯในศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว แต่หากไม่ได้นำตัวมาศาลให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้องด้วย


สหรัฐย้ำ - นายดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ประจำปี 2558 ที่โรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก โดยหวังว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว เมื่อวันที่ 9 ก.พ.

วิษณุยันเป็นอำนาจ'คสช.'
        ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีคสช.ไม่อนุญาตน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า การไม่อนุญาตเป็นการใช้อำนาจของคสช.ตามกฎอัยการศึก ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า ใครก็ตามจะเดินทางไปต่างประเทศต้องมาขออนุญาต ซึ่งมีหลายคนที่อยู่ในข่าย ส่วนติดอะไร ทำไมคสช.ไม่อนุญาตตนไม่ทราบ 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามข้อกฎหมายแล้ว การที่อัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเป็นต้องไปศาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อไร เมื่อนั้นผู้ถูกกล่าวหาจำเป็นต้องไปศาล ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหา แต่การที่คสช.จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครจะเดินทางออกนอกประเทศ ไม่เกี่ยวกับกับเรื่องศาล หรือเรื่องอะไรทั้งนั้น เป็นอำนาจคสช.ตัดสินใจ การจะมาบอกว่าเป็นเหตุสมควร ไม่สมควรหรือไม่ เพราะยังไม่ถูกฟ้องนั้น ไม่ต้องเอามาพูดอามาโยงว่าวันแรกต้องไปศาล แต่คสช.จะอ้างเหตุผลอะไรตนไม่ทราบ

บิ๊กป้อมโยนเป็นเรื่องกม.
      ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณี คสช.ไม่อนุญาตให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศว่า คสช.ได้สอบถามไปยัง อสส.แล้ว โดยเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายอยู่ จึงอยากให้รอไปก่อน ดังนั้น เป็นเรื่องกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับคสช.
    เมื่อถามว่าทีมทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ คสช.ไม่มีสิทธิ์ห้าม พล.ประวิตรกล่าวว่า คสช.ไม่มีสิทธิ์ห้ามก็ถูกแล้ว เราไม่ได้โต้แย้ง 
      ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นเพราะกังวลว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์หลบหนีออกนอกประเทศหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถาม อสส.เอาเอง 
     เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า จะห้ามได้หรือ แต่อะไรที่สร้างความขัดแย้งก็อย่าทำ ไม่ชอบอะไรขอให้เก็บเอาไว้ ยืนยันว่ารัฐบาลเดินหน้าสร้างปรองดอง มีอุปสรรคเราก็แก้อยู่ ส่วนที่นักศึกษาขึ้นป้ายผ้าล้อเลียนการเมืองบ้างนั้น ก็ไม่ได้จับนักศึกษา ขอแค่อย่าทำให้สังคม เกิดความเข้าใจผิด

บิ๊กโด่งชี้แค่ให้'ปู'ชะลอ 
      พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความมั่นคงขณะนี้ คสช.ยังดูแลความมั่นคงได้ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลบ้านเมือง แต่คนที่เห็นต่างก็ต้องทำความเข้าใจ สิ่งใดที่ผิดกฎหมายต้องเข้าสู่กระบวนการ รวมถึงต้องเร่งสร้างปรองดอง สมานฉันท์ ต้องดำเนินการต่อไป
      ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการห้ามไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศ ว่า ตนได้รับนโยบายจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และทราบดีว่าเรื่องนี้คนไทยให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามในช่วงนี้อยู่ในขบวนการทางกฎหมาย จำเป็นต้องมีความรอบคอบ และการนำเสนอข้อมูลให้หัวหน้า คสช.ตัดสินใจ เป็นการรับข้อมูลจากส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในเรื่องกฎหมาย เราปรึกษาหารือกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและเห็นตรงกันว่าน่าจะชะลอไปก่อน 

ขอให้ศาลตัดสินดีกว่า
      "คสช.ต้องการอำนวยความสะดวกทุกคนที่ให้ความร่วมมือ แต่บางสิ่งบางอย่างมีผลเกี่ยวกับทางคดี และอาจมีผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาได้ จำเป็นต้องชะลอไว้ก่อนเพื่อให้ศาลเป็น ผู้ตัดสินในเรื่องนี้ต่อไป" พล.อ.อุดมเดชกล่าว 
     เมื่อถามว่า ในเรื่องคดีถ้ายังไม่สิ้นสุดน.ส. ยิ่งลักษณ์ก็ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ใช่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ให้รอในขั้นตอนของอัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการ และเมื่อเข้าสู่ระบบของศาลแล้วต้องฟังตามนั้น แม้ขณะนี้รัฐบาล และ คสช.จะมีอำนาจสั่งการสิ่งต่างๆ ก็ตาม แต่เป็นรัฐบาลแล้วเราต้องเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้อง และมันมีความเหมาะสมที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะมันอาจมีปัญหาในภายหลังได้ และเรื่องนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์น่าจะทราบแล้ว ซึ่งการพิจารณาเรื่องต่างๆ ก็เปิดเผยทางสื่ออยู่แล้วว่าขั้นตอนควรรออะไร อย่างไรบ้าง จำเป็นที่จะต้องรอคอยตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป 
      เมื่อถามว่าทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์แย้งว่า อสส.ยังไม่ได้ส่งให้ศาล และศาลยังไม่ได้รับฟ้อง จะขอความร่วมมือ คสช.เดินทางออกไปต่างประเทศได้หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เราหารือแล้วเห็นว่าควรเป็นไปตามขั้นตอนในขบวนการทางกฎหมาย ขอให้รอเล็กน้อย ดูว่าศาลจะชี้ชัดอย่างไร 

เชิญทูตทหารฟังคสช.แจง
      พล.อ.อุดมเดชยังกล่าวถึง คสช.ทำหนังสือเชิญผู้ช่วยทูตทหารประจำประเทศไทยทุกประเทศเข้าฟังการชี้แจงสถานการณ์ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ว่า มีผู้ช่วยทูตทหารประจำประเทศ ไทยอยู่จำนวนมาก ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจเพื่อให้เขานำไปชี้แจงในประเทศของเขาได้ถึงความจำเป็นในการปฏิบัติงานต่างๆ ของคสช. และรัฐบาล ที่เป็นประโยชน์และเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ ซึ่งมิตรประเทศควรเข้าใจการดำเนินการของรัฐบาลและ คสช.ว่าสร้างความสงบสุขได้ แม้ยังมีการสร้างสถานการณ์เล็กๆ น้อยๆ บ้าง แต่คิดว่าไม่มาก เพราะเจ้าหน้าที่ยังควบคุมสถานการณ์ได้ดี
      เมื่อถามว่าจะชี้แจงเรื่องที่ คสช.เชิญ ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองมาพูดคุยเป็นประเด็นหลักหรือไม่ เพราะสหรัฐยังกังวลใจในเรื่องนี้อยู่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เรื่องนี้จำเป็น เราต้องชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมาเกิดความไม่สงบเรียบร้อยจนทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ดังนั้น เราจำเป็นเพื่อสร้างความสงบ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่แค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งได้รับความร่วมมือพอสมควร แต่มีบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่ก็พยายามตักเตือน ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ ไม่ได้กระทบหลักละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเชิญมาพูดคุยกัน 

ปึ้งชี้ห้าม'ปู'บินให้ถาม'บิ๊กตู่'
      นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีห้ามน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศว่า ตนแสดงความเห็นได้ไม่มาก เพราะคสช.ขอร้องไว้ ซึ่งกรณีน.ส. ยิ่งลักษณ์นั้น เหมือนที่ทนายส่วนตัวพูดเพราะคดียังไม่เริ่มต้น และยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณา การเดินทางไปต่างประเทศจึงมีสิทธิ์ไปได้ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้คิดหลบหนี
     เมื่อถามว่าสาเหตุที่คสช. ไม่อนุญาตเพราะมีข่าวจะไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่าหากมีโอกาสได้พบกับพี่ชายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และทั้ง 2 คนไม่ได้มีภารกิจที่จะมาวุ่นวายกับประเทศไทย สมัยพ.ต.ท.ทักษิณศาลอนุญาตให้ไปต่างประเทศได้ ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์วันนี้ยังไม่ได้ขึ้นศาล เท่าที่ฟังศาลก็ไม่ได้สั่งห้ามเพราะคดียังไม่ได้พิจารณา และเจอข้อหาว่าส่อ ปล่อยให้มีการทุจริต ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทุจริต ดังนั้นต้องต่อสู้กันในชั้นศาล ส่วนที่คสช.ไม่อนุญาตถือเป็นเจตจำนงของคสช.หรือกระบวนการทางกฎหมายนั้น ต้องไปถามคสช.เอง ต้องถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯในฐานะหัวหน้าคสช. ส่วนที่คสช.อ้างว่าการไม่อนุญาตครั้งนี้เป็นขั้นตอนของอัยการสูงสุดนั้น ก็ต้องถามพล.อ.ประยุทธ์ 
     "ผมพูดมากไม่ได้ เพราะเขาตรวจสอบอยู่ ข้อสงสัยทั้งหมดต้องถามหัวหน้าคสช. ทุกอย่างอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ความจริงอัยการก็ยังไม่ส่งฟ้อง ไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาตศาล เพราะศาลไม่ได้ห้าม แต่วันนี้อำนาจอยู่ที่คสช. หัวหน้าคสช.ต้องตอบว่าเหตุผลทำไมถึงไม่ให้ไป วันนี้อย่าไปคิดอะไรมาก คิดมากก็ปวดหัว" นายสุรพงษ์ กล่าว

'วรชัย'ซัดยิ่งย้ำ 2 มาตรฐาน
      นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า เป็นเรื่องการเมือง เพราะคดีปกติสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ อีกทั้งคดียังไม่สิ้นสุด ยังไม่มีการตัดสินและยังไม่ได้สั่งฟ้อง ดังนั้นไม่ควรจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง อีกทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่หนีอยู่แล้ว โดยระบุเองว่าจะไม่หนีไปไหน และยอมตายในเวทีประชาธิปไตย จะติดคุกก็ยอม 
     นายวรชัย กล่าวว่า การไม่อนุญาตให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ไป ชัดเจนว่าเสรีภาพของประชาชนหมดไปทุกวัน ส่วนที่มีคนมองว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์จะทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ลี้ภัยและคงอยู่ในประเทศ พร้อมสู้ในเวทีประเทศไทย เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด แต่ถูกกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย ซึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีแล้วได้รับการประกันตัวยังไปต่างประเทศได้ หรือคนที่ศาลตัดสินแล้วก็ยังไปต่างประเทศได้เช่นกัน ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิด อัยการยังไม่สั่งฟ้อง ดังนั้นไม่ควรสั่งห้าม
     "เชื่อว่าความรู้สึกของคนที่ไม่พอใจจะเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ก่อความรุนแรง เป็นความรู้สึกสะสมที่อาจไม่ให้ความร่วมมือต่อรัฐบาล ไม่คุย ไม่สมาคมด้วย และเรื่องนี้อาจทำให้ต่างประเทศมองว่าไทยสองมาตรฐาน ทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งก็ไม่จบ สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเข้าไปอีก มองว่าถึงเวลาที่ไทยควรลดความขัดแย้ง ลดเงื่อนไขเหล่านี้ได้แล้ว" นายวรชัยกล่าว 

'สมชาย'พร้อมสู้คดีสลายม็อบ
      นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กล่าวถึงป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีสั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ว่า เรื่องนี้นานแล้ว ตอนนั้นส่งเรื่องให้อสส.แต่พิจารณาแล้วมีมติว่าไม่ฟ้อง ตั้งกรรมการร่วมกันอีกครั้งหนึ่งก็มีมติไม่ฟ้องอีก คิดว่าเรื่องจบแล้ว และมั่นใจว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่เคยสั่งสลายชุมนุม ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นมีระเบียบและมีแนวทางปฏิบัติ จะเห็นว่าในวันเกิดเหตุทางตำรวจก็โดนหนักมากเพราะตำรวจมีเพียง 1,800 คน ขณะที่ม็อบมีเป็น 10,000 คน ทั้งยังมีคำสั่งไม่ให้ตำรวจพกอาวุธใดๆ ด้วย
     เมื่อถามว่า ป.ป.ช.หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาฟ้องเองเหมือนไล่บี้ตระกูลชินวัตรหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ตนก็งงๆ เพราะนึกว่าจบไปแล้ว แต่เมื่อ ป.ป.ช.หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ตนก็พร้อมสู้ตามกระบวนการ เชื่อว่า จะได้รับความเป็นธรรมจากศาล เพราะข้อเท็จจริงก็มีอยู่

'ยิ่งลักษณ์'กลับเชียงใหม่
        เมื่อเวลา 18.00 น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางโดยเครื่องบิน มาถึงสนามบินจ.เชียงใหม่ จากนั้นได้เดินทางไปยังหมู่บ้านกรีนวันเล่ย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาจ.เชียงใหม่แทน หลังจากคสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางไปพักผ่อนที่ฮ่องกง โดยอ้างว่ายังติดคดีที่อสส.ยื่นฟ้องทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

แอมเนสตี้แถลงจวกรัฐประหาร
      วันเดียวกัน นายรูเพิร์ต แอ็บบอต ผอ.งานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่แถลงการณ์ต่อสถานการณ์การเมืองไทยว่า น่ากังวลอย่างยิ่งที่กองทัพไทยพยายามให้อำนาจมากขึ้นกับตนเอง เพื่อละเมิดสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นเงื่อนไขที่ประเทศต้องปฏิบัติตาม ซึ่งร่างแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 จะทำให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้เพื่อสั่งควบคุมตัวบุคคลได้โดยพลการ แทนที่จะเป็นอำนาจของศาล พวกเขาควรถอนร่างกฎหมายนี้โดยทันที
      นายรูเพิร์ต กล่าวว่า นับแต่เกิดรัฐประหาร กองทัพได้เพิ่มอำนาจให้กับตนเอง จับกุมพลเรือนโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือไม่มีโอกาสได้รับการไต่สวนคดีจากศาล โดยสั่งควบคุมตัวไว้ไม่เกิน 7 วัน และนำตัวมาขึ้นศาลทหารโดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดี เมื่อรวมกับอำนาจที่มาจากร่างแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารแล้ว จะทำให้ทหารควบคุมตัวพลเรือนได้นานถึง 84 วัน ที่ผ่านมามีหลายร้อยคนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการตามอำนาจของกฎอัยการศึก และพลเรือนอีกหลายคนต้องเข้ารับการไต่สวนคดีในศาลทหาร ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ชี้อ้างมั่นคงละเมิดสิทธิ 
      "ประเทศไทยมีแนวโน้มมุ่งสู่การกดขี่ปราบปราม อ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ที่ผ่านมากองทัพละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และจากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ากองทัพไม่มีความคิดจะเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่เลย และถือว่าขัดกับข้ออ้างหลังการทำรัฐประหาร ว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการที่จำกัดสิทธิเพียงชั่วคราว แนวโน้มดังกล่าวต้องยุติลงโดยทันที แทนที่จะเพิ่มอำนาจศาลทหาร หน่วยงานของรัฐควรยกเลิกอำนาจของผู้บัญชาการทหารและศาลทหารที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีต่อพลเรือน และให้ฟื้นฟูการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ของตน" นายรูเพิร์ตกล่าว
       ผอ.งานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า ในฐานะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ตามกฎหมายแล้ว ประเทศไทยไม่สามารถควบคุมตัวบุคคลได้โดยพลการ การควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนโดยใช้กฎหมายของฝ่ายบริหาร จึงเป็นการละเมิดสิทธิเหล่านี้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป็นหลักการไว้นานแล้วว่าศาลทหารต้องไม่ทำหน้าที่ไต่สวนคดีต่อพลเรือน

สหรัฐย้ำอีก-เร่งคืนปชต.
       วันเดียวกัน ที่ห้องอัมพรพิสิฏฐ์ โรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก นายดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ และกล่าวแถลงเปิดงานว่า ความแน่วแน่มั่นคงของสหรัฐที่มีต่อเอเชีย ต่อสันติภาพ เสรีภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และประชาธิปไตย ตลอดจนคู่ความร่วมมือของเราในภูมิภาคนี้ยังคงเหมือนเดิม รวมถึงประเทศ ไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วม เป็นมิตรประเทศ และพันธมิตรใกล้ชิดมายาวนาน 182 ปี
       นายแพทริกกล่าวอีกว่า การเยือนประเทศ ไทยโดยนักการทูตอาวุโสของสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ ย้ำชัดเจนถึงมิตรภาพอันยาวนานระหว่างเรา รวมถึงการที่สหรัฐให้ความสนับ สนุนคนไทยตลอดมา และหวังว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิป ไตยโดยเร็ว เพื่อให้ฟื้นคืนความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราได้อย่างเต็มศักยภาพ กระนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับพวกเราทุกฝ่าย และส่งผลให้จำต้องปรับเปลี่ยนการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ในยามที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการกลับสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ศาลค้านกมธ.ให้เกษียณ 65
      สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุมติที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุด จากการประชุมเมื่อวันที่ 6 ก.พ. เพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 65 ปีนั้นว่า ที่ประชุมมีความเห็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อจำนวนตุลาการศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดในอนาคต เนื่องจากอายุเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้น อยู่ที่ 47 ปี และตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ที่ 58 ปี
         ดังนั้น หากตุลาการศาลปกครองพ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 65 ปี จะส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจของบุคคลที่จะสมัครสอบคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครอง เพราะจะเหลือเวลาเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งตุลาการฯ เพียง 5-6 ปีเท่านั้น จะทำให้ขาดตุลาการฯที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะมาพิจารณาพิพากษาคดี ก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพการพิจารณาพิพากษาคดีและการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้เสนอความเห็นดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เพื่อพิจารณาและส่งความเห็นดังกล่าวให้ กมธ.ยกร่างฯต่อไป

เริ่มแล้วเปิดฝึก'คอบร้าโกลด์'
      เมื่อวันที่ 9 ก.พ. พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 15 ที่ห้องอัมพรพิสิฏฐ์ โรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก โดยมีเอกอัครราชทูตหรือ ผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมในพิธีเปิด ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย
      วันเดียวกันพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. พร้อมด้วยคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพบก ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ วันที่ 9-10 ก.พ. มีกำหนดเข้าเยี่ยมคำนับนายชาน ชุน ซิง รมช.กลาโหม สิงคโปร์ และพล.ต.เพอรี่ ลิม เชง เหยา ผบ.ทบ.สิงคโปร์ เพื่อย้ำสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างกองทัพ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง ความร่วมมือทางทหารในด้านการข่าว การฝึกศึกษา นอกจากนี้พล.อ. อุดมเดช ยังเข้าร่วมพิธีปิดการฝึกระดับทวิภาคีในการฝึกผสมทางบก รหัสคชสีห์ ที่ค่ายลิมชูกัง โดยปีนี้กองทัพบกสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการฝึก และกองทัพบกไทยส่งกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 5 เข้าฝึกร่วมกับหน่วยกองพันทหารราบที่ 4 กองพลน้อยทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 6 ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 13 ก.พ. 
      พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า การเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้ตามคำเชิญของผบ.ทบ.สิงคโปร์ เนื่องจากเรามีการฝึกร่วมกันภายใต้รหัสคชสีห์ ซึ่งปกติไทยและสิงคโปร์จะสลับกันเป็นเจ้าภาพ สำหรับการฝึกร่วมคชสีห์ เป็นการฝึกในระดับกองพัน ซึ่งต้องมีความสมบูรณ์ในด้านกลยุทธ์ต่างๆ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!