WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8842 ข่าวสดรายวัน


ไม่มีเรื่องปูขอลี้ภัย มะกันยัน ยูเอ็นเตือนไทยอีก 
แถลงการณ์จี้ทบทวน ร่างแก้พรบ.ศาลทหาร ชี้ละเมิดสิทธิพลเรือน ทบ.ถก 25 ผช.ทูตทหาร วอนอย่าเรียกเผด็จการ


แจงทูต - ผู้ช่วยทูตทหาร 25 ประเทศ เข้าพบพล.ท.ศุภกร สงวนชาติสรไกร รองเสธ.ทบ. เพื่อฟังข้อชี้แจงการบริหารงานของคสช. โดยคสช.ยืนยันไม่ได้จับกุมคุมขัง ผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ที่บก.ทบ. เมื่อวันที่ 11 ก.พ.

        โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชา ชาติออกแถลงการณ์ บี้รัฐบาลไทย ย้ำวิตกร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาล ทหารที่สนช.จะแก้ไขเพิ่มเติม ใหม่ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หวั่นละเมิดสิทธิเสรีภาพพลเรือน จี้ทบทวนด่วน ด้านอดีตนายกฯ 'ยิ่งลักษณ์'ชิลชิลตระเวนแอ่วเชียงใหม่ ควง พี่สาว"เจ๊แดง"กินก๋วยเตี๋ยวสบายใจ คนใกล้ชิดยืนยันไม่ลี้ภัยไปต่างประเทศแน่นอน พร้อมถกทีมทนายสู้คดีจำนำข้าวในชั้นศาล ขณะที่อุปทูตสหรัฐเข้าพบรองนายกฯ ยงยุทธ ปัดข่าว'ปู'ขอลี้ภัยสหรัฐ เผยไม่เคยได้ยินรายงานในเรื่องนี้ ย้ำให้ไทยเดินตามโรดแม็ปคืนประชาธิปไตย ด้านกระทรวงต่างประเทศมะกันกังวลที่ 'บิ๊กตู่'ให้สัมภาษณ์ที่ญี่ปุ่น กรณีระบุอาจมีรัฐประหารอีกถ้ารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาไม่ได้

อุปทูตมะกันเข้าพบรองนายกฯ
       เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 11 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสถานเอกคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯด้านสังคม โดยใช้เวลาหารือ 1 ชั่วโมง 
     นายยงยุทธ เปิดเผยว่า หารือกันในฐานะทั้ง 2 ประเทศเป็นมิตรกันมายาวนาน โดยคุยในเรื่องที่มีความสำคัญต่อสังคมของไทย และความร่วมมือที่สหรัฐจะมีต่อเรา ทั้งด้านการวิจัยวัคซีนโรคเอดส์ ซึ่งอยู่ในระหว่าง การเจรจา ขณะเดียวกันเรายังซักถามเรื่องการ จัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ได้มีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากกิจการเหล่านี้
     เมื่อถามว่า มีการพูดถึงท่าทีทางการเมืองของสหรัฐหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่าสหรัฐมุ่งหวังให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งตนแจ้งว่าเรามีโรดแม็ปในการทำงานและดำเนินการตามแผนนั้นแล้ว
     ด้านนายแพทริก เมอร์ฟี่ ให้สัมภาษณ์ ถึงความเข้าใจในโรดแม็ปของรัฐบาลและคสช.ว่า สหรัฐเพียงแต่หวังให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และการมาพบกับรองนายกฯของไทยก็รู้สึกซาบซึ้งอย่างมาก พูดคุยกัน ในฐานะเพื่อน โดยสหรัฐกับไทยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันมายาวนาน ทั้งนี้ ตนและรองนายกฯได้พูดคุยถึงความท้าทายในด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา และประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย แม้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องระดับภูมิภาค แต่มีผลกระทบระดับโลกเช่นกัน

ปัดไม่รู้ข่าวยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัย 
      "แน่นอนว่าสหรัฐหวังให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยและการปกครองโดยพลเรือน ส่วนสิ่งที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว. ต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก พูดไว้ก็มีความชัดเจนมากแล้วถึงข้อห่วงใยของสหรัฐ ซึ่งผมมีข้อห่วงใยต่อการแสดง ออกในเชิงบริบทที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไทย การที่ไทยกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยก็มีหลายส่วนจะช่วยพัฒนามิตรภาพและความร่วมมือกันที่มายาวนาน เช่น การยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก การคืนเสรีภาพแก่ประชาชนโดยเร็ว การสร้างความมั่นใจต่อประชาคมนานาชาติ ด้วยการจัดเลือกตั้งโดยเร็วตามโรดแม็ป" นายแพทริกกล่าว
      เมื่อถามถึงข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในสหรัฐ จึงอยากทราบถึงท่าทีของสหรัฐในตอนนี้ นายแพทริก กล่าวว่าตนยังไม่ทราบถึงรายงานดังกล่าว แต่สหรัฐไม่สามารถเลือกข้างทางการเมืองของไทยได้ ในฐานะมิตรประเทศ เราหวัง ให้ไทยประสบความสำเร็จในการคืนกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เพียงความสำเร็จของไทยเท่านั้น แต่เป็นความสำเร็จของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประชาคมโลก อีกด้วย สหรัฐไม่สามารถเลือกข้างใดๆ ได้ เราอยากให้คนไทยได้แสดงออกซึ่งเสียง ของประชาชนถึงความต้องการและมีส่วนร่วม ในกระบวนการต่างๆ เมื่อหลักนิติธรรม และเสรีภาพพลเมืองคืนกลับมาแล้ว เสียงของประชาชนจะเป็นที่ได้ยินอีกครั้ง

ประวิตรแจงซ้ำ-ตามดูแล'ปู'
      เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจรถส่วนตัวของน.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่จ.เชียงใหม่ว่า ไม่มีอะไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช.ก็พูดไปแล้ว ยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับวีไอพีทุกคน เพราะเรากลัวจะมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่ง ไม่เฉพาะเจาะจงน.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว เจ้าหน้าที่พร้อมดูแลและให้ความปลอดภัยกับทุกคน
      เมื่อถามว่า กลัวจะมีมือที่สามสร้างสถานการณ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรยอมรับว่าก็กลัว กลัวทั้งนั้น กลัวทุกคน ไม่อยากให้มีและเกิดเหตุอะไรขึ้น 
      ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยทางการเมือง พล.อ.ประวิตรปฏิเสธว่าไม่มี ตนไม่รู้ ต้องไปถามอดีต นายกฯ รอให้มันเกิดขึ้นมาก่อนค่อยมาถามคสช.ว่าจะทำอย่างไร สื่ออย่าเพิ่งมโนถาม ไปข้างหน้าก่อน ต่อข้อถามว่าจะปล่อยให้เกิดขึ้นก่อนถึงค่อยแก้ปัญหา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่มีอะไร ตอนนี้เราดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคน
      เมื่อถามว่า การข่าวมีสิ่งผิดปกติอะไรถึงต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบ ก่อนเดินขึ้นไปยังห้องทำงานบนตึกบัญชาการทันที
      ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานประชุมหารือข้อราชการของกระทรวงมหาดไทย โดยประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังผู้ว่าฯทั่วประเทศว่า ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นศัตรูกับฝ่ายใด เรามาช่วยทำงานให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ไม่ได้ต้องการอะไร ขออย่าเอาความเห็น ต่างเป็นข้อขัดแย้ง โดยเฉพาะการเอาผลประโยชน์มาเป็นที่ตั้ง ขอให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยไม่ทำตัวเป็นผู้สร้างความขัดแย้ง ให้สร้างความเข้าใจเพื่อลดความขัดแย้งรุนแรง และขอให้ช่วยกันทำความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปกับประชาชน

ทบ.เรียกทูตทหาร 25 ปท.แจง
        เมื่อเวลา 09.00 น. ที่บก.ทบ. พล.ท.ศุภกร สงวนชาติสรไกร รองเสนาธิการทหารกองทัพบก พร้อมด้วย พล.ท.ประณต แสงเทียน เจ้ากรมข่าวทหารบก เชิญผู้ช่วยทูตทหารประจำประเทศไทย 21 ประเทศ และตัวแทนด้านทหารจากสถานทูตอีก 4 ประเทศ เข้าชี้แจงรับฟังการสรุปสถานการณ์และ แผนงานของคสช.
      พล.ท.ศุภกร กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้พบผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นที่นานาชาติมีข้อสงสัยแบบหน้าต่อหน้าให้เข้าใจตรงกัน ทั้งนี้ ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศบางส่วนมองว่าการคงกฎอัยการศึกไม่น่ากระทบภาพลักษณ์ เพราะเป็นการรักษาความมั่นคงในประเทศ ส่วนข้อกังวลต่อสถานการณ์การเมืองของไทย คือคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังถูกสนช. ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และขณะนี้อัยการสูงสุดตรียมส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

วอนอย่าใช้คำว่ารัฐบาลเผด็จการ
       จากนั้นพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.กล่าวว่า พล.อ.อุดมเดชในฐานะเลขาธิการคสช. มอบให้กรมข่าวทหารบกและทีมโฆษกทบ. เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศเข้ารับฟังการชี้แจงของคสช.เพื่อรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศไม่ได้สอบถามถึงคดีของน.ส. ยิ่งลักษณ์ แต่คสช.ชี้แจงว่าเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายนิติบัญญัติมีมาก่อนที่จะมีคสช. เป็นเหมือนมาตรการ ถ่วงดุลตรวจสอบผู้บริหารปกติ ที่มีอยู่ใน ทุกองค์กรและเป็นสากล ยืนยันไม่ใช่ผลพวงทางการเมือง ส่วนกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัยทางการเมืองนั้น ไม่มีการพูดถึง
      พ.อ.วินธัยกล่าวว่ารัฐบาลไทยไม่อยากให้ใช้คำว่า "เผด็จการ" เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการทุกอย่างเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านเวที ช่องทางที่กำหนดให้อย่างกว้างขวาง ไม่ได้คิดเองทำเอง ไม่ฟังใครในรูปแบบของเผด็จการ อย่างที่บางบุคคลพยายามบิดเบือน มีเป้าหมายสุดท้ายก็เพื่อประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม การขับเคลื่อนประเทศเหมือนระบอบประชาธิปไตยทั่วไปที่เป็นสากลผ่าน 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ 

มะกันกังวลคำสัมภาษณ์'บิ๊กตู่'
      วันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงการ ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยข้อความแถลงข่าวประจำวัน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่นว่า น.ส.เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า มีความกังวลต่อกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ของการก่อรัฐประหารในอนาคต หากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8-10 ก.พ.ที่ผ่านมา 
      ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนของสหรัฐซึ่งยังส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมการฝึกคอบบร้าโกลด์ประจำปี 2558 ที่ประเทศไทย รวมถึงข้อคิดเห็นต่อประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่น และการขาดซึ่งระบอบประชา ธิปไตยในประเทศ โฆษกหญิงระบุว่า แม้จะส่งเจ้าหน้าที่ทหารร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ แต่รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาลดขนาดความร่วมมือในอนาคต ขณะที่กรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น รัฐบาลไทยยังจำเป็นต้องปรับนโยบายทางการเมืองอีกหลายส่วน และบทสัมภาษณ์ที่อ้างถึงการก่อรัฐประหารนั้น แน่นอนว่าสร้างความวิตกให้กับสหรัฐ แต่ยังต้องตรวจสอบว่ามีหน่วยงานใดแสดงความกังวลต่อคำแถลงของรัฐบาลไทยหรือไม่

บิ๊กโด่งโต้จำกัดสิทธิยิ่งลักษณ์
       ที่หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. กล่าวกรณี คสช.ติดตามความเคลื่อนไหว ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เท่าที่ทราบ น.ส. ยิ่งลักษณ์คงเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้จำกัดแต่อย่างใด เช่นเดียวกับคนอื่นที่ไม่ได้จำกัดเหมือนกัน แต่เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องในเรื่องคดีความซึ่งได้หารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นบุคคลอื่นที่จะเดินทางก็เป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องนี้ คงต้องฟังการชี้ชัดของศาลต่อไป
      เมื่อถามว่าการข่าวทางทหารพบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยไปประเทศสหรัฐ อเมริกาหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ และการปฏิบัติงานของทหารในพื้นที่หลังเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จึงสั่งการให้ดูแลเป็นพิเศษ เพราะห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน แม้เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างสถานการณ์ ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรใหญ่โต แต่ฝ่ายความมั่นคงโดยนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตรสั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงบูรณาการช่วยเหลือและดูแลพื้นที่ จึงเข้มงวดการดูแลรักษาความปลอดภัยมากขึ้น โดยดูความเหมาะสมในการตั้งจุดตรวจและตั้งด่าน บางส่วนใช้การลาดตระเวนร่วมด้วย เป็นการทำบางจังหวะและบางสถานที่ ซึ่งเป็นไปตามความจำเป็น เพราะเราไม่ต้องการให้สถานการณ์เกิดความตึงเครียด แต่จำเป็นต้องมีการตรวจตราในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งหมดตามความเหมาะสม ทุกคนเมื่อผ่านจุดตรวจก็ต้องได้รับการตรวจ ไม่มีปัญหาอะไร 

แบ่งรับแบ่งสู้ตั้งด่านหน้าบ้าน
      เมื่อถามว่ายังมีการตั้งด่านตรวจหน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จ.เชียงใหม่หรือไม่ พล.อ. อุดมเดชกล่าวว่า จุดตรวจสามารถวางได้ทั่วไป วันนี้วางจุดนี้ อีกวันอาจวางจุดอื่น ไม่มีการวางถาวร นอกจากจุดหลักจริงๆ ที่มีการวางจุดตรวจร่วมระหว่างตำรวจกับทหาร แต่จุดทั่วไปหากไปวางในพื้นที่หลักตลอดเวลาคนที่ปรารถนาดีไม่ดีก็จะทราบจุดตรวจและหลีกเลี่ยงการตรวจของเจ้าหน้าที่ จึงต้องวางสลับผลัดเปลี่ยนในพื้นที่ให้ครอบคลุม บางจุดคงวางได้ไม่เป็นเวลา เพื่อให้คนไม่ปรารถนาดีจะได้ไม่ล่วงรู้และทำอะไรได้ ไม่สะดวก ถือเป็นเรื่องปกติ
      เมื่อถามว่าเราจะดูแลเหมือนกันหมดทุกคนใช่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ทุกคนเป็นประชาชนก็ต้องดูแลความปลอดภัยทั้งสิ้น การดูแลความปลอดภัยต้องมีการตรวจ อาจมีผลกระทบบ้างในเรื่องความไม่สะดวกแต่ผลออกมาคือภาพของความปลอดภัย และสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่จะทำในระดับที่เหมาะสมและมีความจำเป็น เพื่อให้ปลอดภัยกับคนทั่วไป จะได้อุ่นใจในการออกมาทำงานและดำเนินชีวิตปกติ ดังนั้นอย่าไปกังวลหรือคิดมากเกินไป เราไม่ได้ ไปจ้องจะไปควบคุมใครเป็นพิเศษ 
        เมื่อถามว่าคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเลือก ลี้ภัย หรือต่อสู้คดีและยอมติดคุก ผบ.ทบ.กล่าวว่า คงไปตอบแทนไม่ได้ แต่คิดว่า ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อสังคม เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต่างๆ ทุกคนคงรู้ตัว และคดีความต่างๆ ก็ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าใครผิด หรือไม่ผิดในตอนนี้ คงมีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดเดาอะไรไปไกลขนาดนั้นจะกลายเป็นประเด็นที่ไม่ดี ขณะนี้ชาติบ้านเมือง ของเราต้องการความสงบเรียบร้อยและต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน เจ้าหน้าที่เองจะพยายามเข้าใจในทุกส่วนและทุกฝ่าย ขอให้ร่วมมือกันและดำเนินการกันไปตามกรอบกฎหมายและขั้นตอน 

อดีตส.ว.-รองผบ.ตร.เตือน
      พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีตส.ว.และอดีตรองผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจรถในขบวนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จ.เชียงใหม่ ว่า รายละเอียดเรื่องนี้ไม่ทราบ แต่ในฐานะที่เคยเป็นตำรวจยึดหลักว่า การตรวจค้นจะต้องมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่า มีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือจะใช้ในการ กระทำความผิด และการตรวจค้นผู้หญิง จะต้องให้เจ้าหน้าที่หญิงเป็นผู้ตรวจค้นตามหลักสากลทั่วโลก อันเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกตรวจค้นจะต้องมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย หรือมีพิรุธ 
      พล.ต.อ.จงรัก กล่าวว่า ที่สำคัญน.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นถึงอดีตนายกฯ และเป็นผู้หญิงด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรต้องเป็นที่สงสัย หรือมีพิรุธแต่อย่างใด แต่ด้วยขณะนี้มีสถานการณ์พิเศษ ซึ่งผู้ตรวจค้นอาจใช้เหตุผลอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ได้ ตนพูดเพราะห่วงใยบ้านเมือง กำลังมีบรรยากาศปรองดอง การดำเนินการใดๆ นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติ หรือการกระทำที่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ 

'ปู'กินก๋วยเตี๋ยว-โต้ขอลี้ภัย
         รายงานข่าวจากคนใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์แจ้งว่า หลังจากมีทหารเข้าตรวจรถจนเกิดเสียงวิจารณ์นั้น ปรากฏว่าตลอดทั้งวันเดียวกันนี้ ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบคอยเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งพักผ่อนอยู่ที่บ้านพัก ที่อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยในช่วงเที่ยงอดีตนายกฯพร้อมนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาว ออกไปรับประทานก๋วยเตี๋ยว ซึ่งยังคงได้รับความสนใจมีประชาชนมาให้กำลังใจและขอถ่ายรูป ส่วนที่มีกระแสข่าวจะขอลี้ภัยทางการเมืองนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ส่วนที่อัยการสูงสุดนัดน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อนำตัว ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 19 ก.พ.นั้น ในสัปดาห์หน้า ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาว่าควรเดินทางไปตามนัดหรือไม่อย่างไร 
      รายงานข่าวเผยว่า อดีตนายกฯจะใช้เวลาพักผ่อนที่บ้านพักจ.เชียงใหม่ ต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก น้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ลูกชายมีภารกิจการเข้าค่าย เบื้องต้นมีกำหนดจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเย็น วันที่ 12 ก.พ. หรือเช้าวันที่ 13 ก.พ.นี้ 

ตัดใจไม่ได้ไปงานเลี้ยงยุพราช
       นายมหวรรณ กะวัง นายกสมาคมศิษย์เก่ายุพราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า มีโอกาสพูดคุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อนร่วมรุ่นบัวเกี๋ยง ผ่านทางไลน์เพื่อเรียนเชิญร่วมงานคืนสู่เหย้าชาวบานเย็น วันที่ 14 ก.พ.นี้ ซึ่งตรงกับวันแห่งความรัก หรือวาเลนไทน์ ที่สนามโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ตอบปฏิเสธและฝากขอโทษคณาจารย์เพื่อนพี่น้องศิษย์เก่าทุกรุ่น ที่ไม่สามารถร่วมงานได้ หลังถูกทหารค้นรถที่หน้าหมู่บ้านกรีนวัลเล่ย์ อ.แม่ริม ก่อน ไปไหว้กู่บรรพบุรุษ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง และพบประชาชนที่ตลาดสันกำแพง 
       "เดิม น.ส.ยิ่งลักษณ์ตั้งใจมาร่วมงาน แต่หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รู้สึกไม่สบายใจและไม่สะดวกมาร่วมงาน เพราะถูกทหารฝ่ายความมั่นคงเฝ้าติดตามและจับตาความเคลื่อนไหวตลอด หากมาร่วมงานทำให้หลายฝ่ายอึดอัดใจ อาจทำให้บรรยากาศ งานกร่อย ไม่สนุกสนาน จึงขอพักผ่อนกับครอบครัว เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลและคสช.หวาดระแวงเกินไป" นายมหวรรณกล่าวและว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบให้พล.ต.ต.กริช กิติลือ ผบก.กองอำนวยการปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดงานดังกล่าวแทนแล้ว ซึ่งตนได้ให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบกลับมาว่า "อดทนเธอ" ก่อนจบการพูดคุยกันผ่านทางไลน์ 

ทนายความเตือนคสช.ละเมิด
       วันเดียวกัน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า กรณีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 และตำรวจหลายนาย เข้าตรวจรถยนต์ของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่จ.เชียงใหม่ ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ในรถ ซึ่งอดีตนายกฯแสดงความบริสุทธิ์ใจยินยอมให้ค้นรถยนต์ แต่หลังจากนั้น มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจคอยติดตามตลอดทั้งวันไม่ว่าไป ที่ใดและก่อนหน้านี้ในช่วงกลางคืนจะมีทหารมาเฝ้าหน้าบ้านพัก นำรถทหารมาจอดในสนามหญ้าบริเวณหมู่บ้านนั้น การกระทำดังกล่าวแม้จะไม่เป็นการควบคุมตัวโดยตรง แต่ถือเป็นการควบคุมตัวทางอ้อม ลิดรอนสิทธิความเป็นส่วนตัว จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลด้วย 
      นายนรวิชญ์กล่าวว่า ส่วนที่ฝ่ายมั่นคงระบุเป็นการดูแลบุคคลสำคัญนั้น ก็ขอให้ประสานโดยตรงเพื่อให้เกิดความสบายใจ ทั้งสองฝ่าย ตั้งแต่มีการยึดอำนาจและประกาศใช้กฎอัยการศึก อดีตนายกฯปฏิบัติตามเงื่อนไขของคสช.ด้วยดีตลอดมา ไม่ว่า จะอยู่ในประเทศหรือเดินทางไปต่างประเทศ ไม่เคยทำให้เกิดความวุ่นวายในทางการเมือง 

จี้หยุดคุกคามสิทธิและเสรีภาพ
       นายนรวิชญ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะทนายขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งทหาร และตำรวจ ยุติการคุกคามสิทธิและเสรีภาพอดีตนายกฯ ตามที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรม นูญ และควรปล่อยให้คดีเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมาย ทั้งนี้ในวันที่ 12 ก.พ. ทางทีมทนายจะประชุมร่วมกัน อีกครั้งเพื่อตรวจสอบข้อกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งเขียนข้อเสนอเพื่อเสนอน.ส.ยิ่งลักษณ์ พิจารณาต่อไป 
       ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีการนัดส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้อสส. เป็นผู้ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มารายงานตัว อสส. ก็ต้องนำสำนวนไปส่งฟ้องได้ทันที เพราะ ในวันฟ้อง ไม่จำเป็นต้องนำตัวจำเลยไป 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าตัวไม่มาในวันดังกล่าวจะดำเนินการขอหมายเรียกเลยหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า ยังไม่ใช่ จะต้องอีก นัดหนึ่ง เพราะหลังจากศาลรับฟ้องแล้ว กระบวนการของศาลคือ ต้องตั้งองค์คณะ และจะนัดพิจารณาครั้งแรก ซึ่งในวันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องเดินทางมายืนต่อหน้าศาลด้วยตัวเอง เพราะต้องมีตัวอยู่ต่อหน้าการพิจารณาองค์คณะของศาล ถ้าในวันนั้นไม่ไป ถือว่าจะต้องไปดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวมา

'ไก่อู'อ้างมาตรการรปภ.
      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการขอลี้ภัยทางการเมือง ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่อยากให้คิดไปไกล ที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวมาโดยตลอดว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็น หลักการสำคัญของรัฐบาลที่ไม่ต้องการใช้อำนาจพิเศษ เพราะต้องการให้ทุกอย่างเดินสู่กระบวนการยุติธรรม จะถูกหรือผิดก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ขณะที่คสช.มีหน้าที่ดูแลในส่วนของความปลอดภัยของน.ส. ยิ่งลักษณ์ 
       ต่อข้อถามกรณีที่ฝ่ายความมั่นคง ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตลอดเวลาจะเป็นการสร้างความอึดอัดให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ เป็นการกระทำกับบุคคลสำคัญระดับวีไอพีทุกคน เราไปดูความปลอดภัยให้ เช่นเดียวกันถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์เดินทาง ไปที่ใด จะมีการรักษาความปลอดภัยโดยมีส่งชุดปฏิบัติการไปล่วงหน้า ถามว่าอึดอัดหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปที่ใดของประเทศ ก็จะมีมาตรการดูแลในลักษณะนี้ทุกที่ ซึ่งเป็นการดูแลความปลอดภัยสำหรับวีไอพี ไม่ใช่การคุกคาม เนื่องจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยเป็น ผู้นำของประเทศ และไม่อยากให้คิดในแง่การเมือง เพราะจะทำให้ความขัดแย้งไม่สามารถหมดไปได้จากสังคมไทย จึงขอให้มองโลกในแง่ดีและเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้วย


กินเตี๋ยว - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถ่ายรูปร่วมกับประชาชน อย่างยิ้มแย้ม ระหว่างแวะกินก๋วยเตี๋ยวช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ขณะที่ทหารยังคงติด ตามความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ อยู่

อัยการแจงขั้นตอนฟ้องจำนำข้าว
       แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 19 ก.พ. ว่าจะมีการนำสำนวนยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์แน่นอน เนื่องจากศาลฎีกาฯ เป็นศาลระบบไต่สวน ซึ่งส่งแต่สำนวนฟ้องไปโดยที่ไม่ต้องนำตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปส่งฟ้องศาลในวันดังกล่าวก็ได้ เพียงแต่ยืนยันที่อยู่ภูมิลำเนาให้ชัดเจน เชื่อว่าในวันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาตามนัด เพราะขณะนี้ยังอยู่ในประเทศ และไม่ได้ เดินทางไปไหน
       แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนที่ทีมทนาย ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจขอเลื่อนการส่งฟ้องนั้น ขึ้นอยู่กับคณะทำงานในการฟ้องคดีนี้ จะพิจารณาว่ามีเหตุอันควรให้เลื่อนหรือไม่ ซึ่งคณะทำงานฟ้องในคดีนี้ ประกอบด้วย นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะ และนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เป็นรองหัวหน้าคณะ ซึ่งคณะทำงานส่วนใหญ่มาจากอัยการสำนักงานสอบสวนเดิมที่อยู่ในคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. และมีอัยการเพิ่มเติมมาจากต่างจังหวัด 2-3 คน ส่วนอายุความนั้น ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่แจ้งมาในวันฟ้อง เท่าที่ปรากฏในคำฟ้องนั้น เป็นฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จากกรณีละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ซึ่งอายุความจะอยู่ที่ 15 ปี

เชื่อหนังสือที่บิ๊กตู่อ้าง-ของเก่า
      แหล่งข่าวจากอสส. กล่าวถึงกรณี พล.อ. ประยุทธ์ ระบุได้รับเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรจากอสส. ไม่ควรให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศว่า ไม่ทราบ รายละเอียดแน่ชัด แต่เข้าใจว่าหนังสือที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับนั้น เป็นความเห็นว่าอยู่ในช่วงใกล้ยื่นฟ้องแล้ว จึงอยากขอให้ยื่นฟ้องต่อศาลก่อน ไม่ได้มีเจตนาจะให้ คสช.มีคำสั่งห้ามมิให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศ เพราะอัยการก็มองเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ เชื่อว่าหากคดีเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว การดำเนินการจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระบวนพิจารณาในศาลฎีกาฯ เป็นระบบไต่สวนที่จะพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง และองค์คณะ จะเป็นผู้ซักถามพยานทั้ง 2 ฝ่ายเอง จากที่อัยการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดในสำนวน คาดว่าหากผ่านกระบวนการ ขั้นตอนช่วงคัดเลือกองค์คณะหรือนัดสอบคำให้การในช่วงแรกแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว
      นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึง ป.ป.ช.ส่งหนังสือแจ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รายงานตัวกับอัยการในวันที่ 19 ก.พ.ว่า ขณะนี้ทีมทนายยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว จึงไม่ทราบรายละเอียดว่ามีเนื้อหาอย่างไร หรือแจ้งให้ดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยทีมทนายจะนัดประชุมในบ่ายวันที่ 12 ก.พ. เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อแจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบ ต่อไป เพราะที่ผ่านมาคณะทำงานอัยการเคยระบุว่าการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ สามารถยื่นฟ้องได้โดยไม่ต้องนำตัวไปศาลในวันนั้น เราเพียงต้องการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้จะหลีกเลี่ยงวิธีปฏิบัติใดๆ ต้องรอดูรายละเอียดในหนังสือแจ้งของ ป.ป.ช.ก่อนว่า อ้างอิงกฎหมายใดบ้าง

อ๋อยชี้มาตรการคสช.ไม่ส่งผลดี
      ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก ถึงมาตรการที่ดำเนินการต่อผู้เห็นต่างว่า มาตรการที่ใช้กับผู้ที่เห็นต่างขณะนี้จะไม่สำเร็จตามที่ตั้งไว้ แต่จะเป็นผลเสียต่อการ ร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป การแก้ปัญหาด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ และการแก้ปัญหาขัดแย้ง ทั้งนี้ การเรียกไปพูดคุยหรือการไปหาที่บ้านนั้น ไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างมีเหตุผล แต่ขอความร่วมมือไม่ให้แสดงความเห็นการเมืองใดๆ เลย ทั้งให้สัมภาษณ์และใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิบัติตามได้ 
      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การใช้มาตรการนี้ส่งสัญญาณที่ไม่เป็นผลดี อาจตีความได้ว่า คสช.และรัฐบาลไม่ต้องการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ทั้งที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และยังส่งผลกระทบต่อการปรองดอง ทั้งนี้ ตนไม่ได้เสนอให้เรียกตัวฝ่ายอื่นหรือฝ่ายใดมารายงานตัว แต่เห็นว่าหากจะแก้ปัญหาขัดแย้งและสร้างปรองดอง สิ่งที่ควรทำแทนการเรียกผู้เห็นต่างมารายงานตัวหรือไปเยี่ยมถึงบ้านคือ ส่งเสริมให้แสดงความ คิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง สร้างกฎกติกา ที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่าย รวมทั้งส่งเสริมให้ฝ่ายต่างๆ และผู้ที่คิดต่างหรือขัดแย้งกันได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันในลักษณะสานเสวนาที่สร้างสรรค์และเสมอภาคกัน

'ณัฐวุฒิ'เตือนรบ.ตามกดดัน'ปู'
       ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ไม่มีความจำเป็นและประโยชน์ใดๆ เลยที่ฝ่ายความมั่นคงจะตาม "กดดัน" หรือถึงขั้น "คุกคาม" นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพราะการสร้าง "รอย" ในความรู้สึกของฝ่ายหนึ่ง ย่อมเกิดคำถามต่อท่าทีของผู้มีอำนาจที่เรียกร้องความร่วมมือจากทุกฝ่าย
      เรื่องแบบนี้ถ้าไม่มีเจตนาเป็นอื่น ครั้งต่อๆ ไปน่าจะมีแนวปฏิบัติที่สร้างความเข้าใจ และสบายใจร่วมกันได้ ส่วนที่ผ่านมาแล้ว ผมมั่นใจว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์มีความเป็น "ลูก ผู้หญิง" พอที่จะไม่ถือสาหาความหรือขยายผลเป็นเรื่องใหญ่ 
       "อยากเห็นคำพูดของ 'ลูกผู้ชาย'หลายคนใน คสช.ที่ช่วยกันยืนยันว่า แม้มีอำนาจมากแต่จะใช้อย่างระมัดระวัง เป็นกลาง ไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มปรากฏเป็นจริงแบบสิ้นสงสัย แต่เดี๋ยวนี้คนยังถามกันอยู่เลยว่าทำไมยิ่งลักษณ์โดยค้นรถ แต่บางคนมาจากสวนโมกข์จัดกำลังดูแลอย่างดี อภิสิทธิ์ไปเปิดงานร้องเพลงสบายใจ แต่ยิ่งลักษณ์ไปไหนต้องจำกัดจำเขี่ย จะพบประชาชน ไม่ใช่เฉพาะกับนักการเมืองเท่านั้น แต่ประชาชนคนเล็กคนน้อยไม่ว่าฝ่ายไหนไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน แบบนี้ถึงเรียกว่าเรายืนบนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย" นายณัฐวุฒิระบุ

ปิดห้องถกหมวดสิทธิเสรีภาพ
       วันเดียวกัน นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.ยกร่างฯจะประชุมภายใน โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง โดยหมวดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และหมวดเกี่ยวกับการปฏิรูปและสร้างความปรองดองจะต้องรอข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปของสปช. 18 คณะที่ต้องส่งเข้ามาภายในวันที่ 13 ก.พ.นี้ จากนั้นในสัปดาห์หน้า กมธ.จะเริ่มยกร่างเป็นรายมาตราในภาค 4 เกี่ยวกับการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในสัปดาห์นี้จะหารือเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับกลไกการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
      นายคำนูณ กล่าวว่า ขณะที่สาระสำคัญของภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนั้น ในหลักการมีความเป็นไปได้ ที่จะมีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ จาก 3 ฝ่ายและควรมีกลไกปรองดองและการปฏิรูปว่าจะประสานกับการเมืองปกติอย่างไร แต่เพื่อความรอบคอบจะให้กมธ.ปฏิรูปสปช. 18 คณะ ให้ความเห็นมายังกมธ.ก่อน ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกจะส่งให้ประธาน สปช.วันที่ 17 เม.ย.นี้ จากนั้นจะส่งร่างให้กับคณะรัฐมนตรี คสช. และสนช. ทั้งนี้ ในวันที่ 23-28 ก.พ.นี้ กมธ.ยกร่างฯจะประชุม นอกสถานที่ที่จ.ชลบุรี เพื่อยกร่างรายมาตรา ซึ่งเป็นไปได้ที่จะพิจารณาในหมวดเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง 

ล็อกห้องถกลับวิปแม่น้ำ 5 สาย
       เมื่อเวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการประสานงาน ตามคำสั่งแต่งตั้งของนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นครั้งแรก มีนายเทียนฉาย เป็นประธาน มีตัวแทนจากทุกองค์กรเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ได้แก่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่ปรึกษาและเลขานุการคณะที่ปรึกษาคสช. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช.คนที่ 1 และประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประสปช. คนที่ 2 นายสมชาย แสวงการ เลขานุการกมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เข้าประชุมแทนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ประธานกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน ประธานกมธ.วิสามัญของสปช.อีก 6 คณะ และนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสปช. รวม 32 คน มีวาระรับฟังความคิดเห็น ติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปของกมธ.ทั้ง 18 คณะ ที่เกี่ยวพันต่อการบริหารของรัฐบาล โดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

ตั้งกรรมการประสานงานสปช.
       นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิปสปช. เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันของตัวแทนแม่น้ำ 5 สาย มีความเห็นร่วมกันในการ วางแนวทางปฏิรูปและการบริหารจัดการ ในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1.กำหนดกรอบหลักการปฏิรูปต้องเสร็จภายในวันที่ 27 ก.พ. ส่วน วิธีการ รวมถึงกระบวนการปฏิรูปต้องเสร็จภายในวันที่ 10 เม.ย. ขณะที่การยกร่างกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ 31 ก.ค.
       นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสปช. โดยจะแก้องค์ประกอบของคณะกมธ.วิสามัญสปช. เพื่อให้การปฏิรูปมีแนวทางดำเนินการ ในทิศทางเดียวกับแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งองค์ประกอบประกอบด้วย ประธานและรองประธานสปช. ประธานกมธ.สปช. 18 คณะ กมธ.วิสามัญสปช. 5 คณะ เลขาธิการสปช. โฆษกวิปสปช. ผู้ช่วยโฆษกวิปสปช. ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คนจากคสช. ครม. และสนช. เลขานุการวิปสปช. และผู้ช่วยเลขานุการวิป สปช. ทั้งนี้ คณะกรรมการประสานงานของประธานสปช. ได้แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการเพิ่มเติมอีก 3 คน ได้แก่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่ปรึกษาและเลขานุการคณะที่ปรึกษาคสช. 2.นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ3.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1

'บิ๊กป้อม'ถกผบ.พันทั่วประเทศ
      เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคสช. และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช. เป็นประธานประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคสช. ต่อผู้บังคับหน่วยขึ้นตรง ระดับกองพันทั่วประเทศที่ ขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม กว่า 1,200 นาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของคสช. โดยมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เลขา นุการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คสช. พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ และนายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ.พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร.และพล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์ รองผบ.ทอ. เข้าร่วมประชุม
        พล.อ.ประวิตรกล่าวเปิดประชุมว่า ทุกคนในที่นี้เป็นคสช. ต้องช่วยกันขับเคลื่อน ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ปีนี้ถือว่า มีภัยแล้งหนัก อยากให้ผู้บังคับหน่วยช่วยดูแลและ ขับเคลื่อน ตอนนี้รัฐบาลได้ส่งงบประมาณ ไปในพื้นที่ และขอให้ทุกคนช่วยกันดูว่า ในพื้นที่ใดและจุดใดติดขัดอย่างไร ทั้งด้านงบประมาณและด้านอื่นๆ ทุกคนต้องช่วยกัน ขับเคลื่อนประเทศ 

ปปช.นัดส่งอัยการฟ้องข้าวจีทูจี
       วันที่ 11 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งสำนวนอาญาคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบให้แก่อัยการสูงสุด (อสส.) ว่า ในวันที่ 12 ก.พ. ป.ป.ช.จะทำหนังสือส่งถึงกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เพื่อให้ประเมินและพิจารณาเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ในโครงการรับจำนำข้าวกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 73/1 วรรคท้าย แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 
      จากนั้นวันที่ 16 ก.พ. จะส่งสำนวนการไต่สวนในคดีอาญากล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และพวกรวม 21 ราย ให้กับอสส. พิจารณาส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอาญานายบุญทรง กับพวกรวม 21 ราย กรณีระบายข้าวจีทูจีโดยมิชอบ แบ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย คือ นายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ พ.ต.วีระวุฒิ วัจจนะพุกกะ เลขานุการนายบุญทรง ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ 3 ราย เอกชน 13 ราย และบริษัท 2 แห่ง คือ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และบริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
     ต่อมาเวลา 13.00 น. นายปานเทพ และคณะกรรมการ รวมทั้งผู้บริหารสำนักงานป.ป.ช. ได้หารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานกมธ. ถึงการผลักดันการแก้ไขกฎหมายป.ป.ช. ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาของสหประชาชาติเรื่องการส่งเสริมและป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกภาคีอยู่

UN ห่วงกม.ศาลทหารละเมิดสิทธิ
      วันที่ 11 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ กรณีประเทศไทย/การแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุ กังวลต่อเนื้อหาบางมาตราของข้อเสนอเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารปี 2557 วางแผนจะลงมติเพื่อรับรองร่างแก้ไข ดังกล่าว ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ กังวลอย่างยิ่งต่อข้อเสนอเพื่อแก้ไขมาตรา 46 ซึ่งให้อำนาจ ผู้บังคับบัญชาทหารสั่งควบคุมผู้ต้องหาทั้งทหารและพลเรือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ถึง 84 วัน โดยไม่มีองค์กรตุลาการตรวจสอบ
      การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีองค์กรตุลาการตรวจสอบ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มาตรา 9 ของกติการะหว่างประเทศฯ กำหนดว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาทางอาญาต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตีความคำว่า "โดยพลัน" ว่า หมายถึงภายในเวลา 2-3 วัน
      สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เน้นย้ำถึงหลักประกันที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ไว้ว่าจะยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องให้ สนช.ทบทวนร่างแก้ไขพ.ร.บ. ดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยองค์กรตุลาการ สิทธิในการพบทนายความ สิทธิที่จะอุทธรณ์คดี 
      เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจำกัดการใช้ศาลทหารเฉพาะพิจารณาคดีความผิดต่อกฎหมายทหารซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ภายใต้บทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยมีหน้าที่รับประกันว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่มีอำนาจ มีอิสระ และเป็นกลาง (มาตรา 14) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เน้นย้ำว่าการพิจารณาคดีของพลเรือนโดยศาลทหาร ไม่สามารถลิดรอนสิทธิในส่วนนี้ได้

คปก.ค้านยุบรวมกสม.-ผู้ตรวจ
        วันที่ 11 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค นายคณิต ณ นคร ประธานคปก. พร้อมด้วยกรรมการคปก. ร่วมกันแถลงกรณีการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าคปก.เห็นว่าไม่ควรควบรวมกสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน และเห็นว่าควรให้คงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ให้ซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่น โดยเฉพาะอำนาจตรวจสอบจริยธรรม และการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้การสรรหากสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ยึดโยง ภาคประชาสังคมและมีที่มาจากความหลากหลาย 
       นายคณิต กล่าวว่า คปก.ยังเห็นว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ยังจำเป็นต้องคงอยู่ในรัฐธรรมนูญต่อไป ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และกสม. โดยคงอำนาจหน้าที่ของตัวเองและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วขึ้นในการฟ้องคดีต่างๆ ซึ่งข้อเสนอของคปก.นั้นไม่ใช่มาจากความรู้สึกแต่มาจากการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นจากหลายด้าน โดยคปก.ส่งหนังสือข้อเสนอนี้ต่อนายกฯ ประธานสนช. ประธานสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา 
       ด้านนายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการคปก.กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าการควบรวมเป็นกระบวนการทำลายงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยหรือไม่ หากควบรวมองค์กรที่มีพื้นฐานแตกต่างกันจะเกิดการชักเย่อ ขัดแย้งในคณะกรรมการชุดใหม่ และกลายเป็นไม้แคระ หรือสัตว์ประหลาด หากกมธ.ยกร่างฯไม่นำเรื่องนี้ไปศึกษาอย่างเป็นธรรม เชื่อว่าองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่จะไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์การด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ซึ่งกว่า 40 องค์กรออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯควรทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดีกว่าเดิม และฟังเสียงของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มาก

มือดีแฮ็กเว็บไซต์กรมประชาฯ 
       วันที่ 11 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์กรณีเว็บไซต์สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ถูกผู้ที่อ้างว่าชื่อกลุ่ม "อินโดนีเซียน ไซเบอร์ แครช (Indonesian Cyber Crash)" เจาะเข้าระบบ โดยมีหน้าเว็บไซต์ใหม่ปรากฏขึ้นมาแสดงข้อความของแฮ็กเกอร์ ว่า "INDONESIAN CYBER CRASH Mr.xSaputra_AttackeR" เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา นานประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่ข่าวทั่วไปเปิดอ่านได้ตามปกติว่า รับทราบรายงานเบื้องต้นแล้ว โดยกรมประชาฯ ติดตามตรวจสอบรายละเอียดและหารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อแก้ไขแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลต่อระบบข้อมูลของกรมประชาฯ และข้อมูลในเว็บดังกล่าวก็เป็นข้อมูลสาธารณะที่หน่วยงานราชการต้องเผยแพร่ ให้ประชาชนรับทราบอยู่แล้ว 
    ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์เพิ่มการดูแลระบบคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์มากขึ้น และเป็นห่วงต่อกรณีเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการถูกเจาะระบบ เพื่อสร้างความปั่นป่วน จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือและช่วยกันดูแลไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ 

 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 14:52 น.  ข่าวสดออนไลน์

รายงานพิเศษ : เสียงสะท้อนห้าม'ปู'ไปนอก

      กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางต่อประเด็นการสั่งห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปฮ่องกง

      นอกจากอัยการสูงสุด (อสส.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะโยนกันไปมาว่าใครเป็นคนสั่งห้ามแล้ว 

ยังถกเถียงกันมากว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพหรือไม่ เพราะคดียังไม่ขึ้นสู่ศาล 

      อสส.ยังไม่ได้ส่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

 

ยอดพล เทพสิทธา 

คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

      กรณี ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถ้าเป็นการดำเนินการในสถานการณ์ปกติไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะถ้าสำนวนยังไม่ถึงศาล จะห้ามไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาเดินทาง ออกนอกประเทศไม่ได้ และต่อให้อัยการส่งเรื่องต่อศาลแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังมีสิทธิออกนอกประเทศหากได้รับอนุญาตจากศาล 

     แต่ ขณะนี้ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก มีคสช.เป็นผู้มีอำนาจ คำสั่งดังกล่าวจึงทำได้แต่ไม่ถูกหลัก เพราะเราไม่มีสิทธิจำกัดเสรีภาพการเดินทางของใคร และใช้เหตุผลอะไรมาเป็นข้อทักท้วง 

      มองว่า คดีของน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ จะใช้เวลาต่อสู้กันอีกนาน ถ้ารวบรัดตัดตอนต้องไม่ลืมภาพเหตุการณ์หลังศาลวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วเกิดอะไรขึ้น 

     กรณีของน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ก็เช่นกัน ต้องไม่ลืมว่าคดี ดังกล่าวมีรอยด่างอยู่แล้ว เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ทำผิดเอง ป.ป.ช.ก็พูดเองว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์มีส่วนรู้เห็น ดังนั้น หากรวบรัดเท่ากับเป็นการทำลายระบบกฎหมายทั้งระบบ 

จึง เชื่อว่าคดีดังกล่าวยังมีเวลาอีกนานที่จะสู้คดี และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีนี้เป็นคดีการเมืองแท้ๆ การสั่งห้ามไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกหลัก 

      เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างแน่นอนแต่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดคาด คงมีประสบการณ์จากกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ มาแล้ว

 

วิญญัติ ชาติมนตรี 

กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) 

     ต้อง ดูก่อนว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ที่ถูกเชิญเข้า พบทหารช่วงแรกของการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ได้ลงนามยอมรับเงื่อนไขของ คสช. ที่ตอนหนึ่งระบุว่า หากจะออกนอกราชอาณาจักรไทยต้องทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช.ก่อนหรือไม่ 

       ถ้า ไม่ได้ลงนามยอม รับเงื่อนไขก็เป็นที่แน่นอน ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือประชาชนคนใดก็สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก็ได้ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดไม่อาจจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ อีกทั้งเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนยังเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน สากล 

      เมื่อ พิจารณาการขอเดินทางไปต่างประเทศกับขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ถูกอัยการสั่งฟ้องดำเนินคดีต่อศาล เท่ากับ ยังไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของศาล การเดินทางตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมีจึงสามารถ ทำได้ 

     หรือต่อให้ถึงขั้นตอนที่ศาลรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวและไม่มีการกำหนด เงื่อนไขเพิ่มเติมใดๆ ไว้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ก็สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้อยู่ดี 

      การแถลงโยนกันไปมา ระหว่าง อสส. และคสช. คือ ความพยายามหลีกเลี่ยงที่ จะไม่รับรองสิทธิเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ การปฏิเสธและโยนไปให้ อสส.ของคสช.คือท่าทีที่ยอมรับอยู่ในตัวเองว่าไม่อาจปฏิเสธคำขอของน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ได้ 

     ส่วนอัยการฯ เอง ก็มีหน้าที่เพียงแค่รับสำนวนจาก ป.ป.ช.มาเพื่อสั่งฟ้องต่อศาล ไม่ได้มีอำนาจควบคุมหรือจำกัดอิสรภาพผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด 

    หาก ประเมินจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะพบว่าการตั้งข้อสังเกตขอเดินทางออกนอก ประเทศครั้งนี้ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อต้องการจะหนีคดีนั้น ไม่มีความสมเหตุสมผลเลย เนื่องจากกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาลยังอีกยาวนาน 

      ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์เองก็ยืนยันมาโดยตลอด ว่าต้องการจะสู้ต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ในคดีโครงการรับจำนำ ข้าว สอดคล้องกับความมั่นใจของทีมทนายว่ามีพยานหลักฐานทั้งเอกสารและบุคคลครบถ้วน สำหรับการต่อสู้คดี

 

ยุทธพร อิสรชัย 

คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

      องค์กร ที่กำกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล อย่างเรื่องการห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศระหว่างที่มีการดำเนินคดีโดยเฉพาะคดี ทางอาญานั้น ปกติแล้วจะเป็นหน้าที่ของศาล เพราะเป็นองค์กรที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ 

      แต่ ขณะนี้บ้านเมืองกำลังอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ภายใต้ การปกครองของคณะรัฐประหาร การกำหนดท่าที หรือความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมถือว่ายังไม่มีหลักประกันว่าจะ เป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม หรือไม่ 

      อีกทั้งในสภาวะ เช่นนี้แต่ละองค์กรย่อมไม่มีใครอยาก ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเพราะเกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือเจอแรง เสียดทาน คสช.จึงอาจใช้อำนาจส่วนนี้ห้ามไม่ให้บุคคลทาง การเมืองออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก 

       ถ้า ดูตามหลักแล้วก็เป็นเรื่องที่จะใช้อำนาจดังกล่าวได้ และไม่เพียงเฉพาะนักการเมือง คนทั่วไปก็อาจมีสิทธิเจอการใช้อำนาจนี้ เช่นกันหากผู้มีอำนาจเห็นว่าไม่เหมาะสม 

ถ้าในสถานการณ์ทั่ว ไปคงถูกมองว่า ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่อย่าลืมว่าขณะนี้ บรรยากาศยังไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย จึงเป็นการสะท้อนว่าหากสภาวะบ้านเมืองไม่ปกติ อยู่ในสถานการณ์พิเศษ การคาดหวังต่อ กระบวนการยุติธรรมก็ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก 

     ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องพยายามให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่กติการะบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด 

     การสั่งห้ามครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจกังวลว่าสถานการณ์จะซ้ำร้อยเดิม แม้ว่ากรณีนี้จะยังไม่เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลแต่ก็ถือว่าเริ่มอยู่ใน กระบวนการ 

     อย่างไรก็ตาม เห็นว่าควรจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพราะจากบทบาทการต่อสู้ที่ผ่านมาก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ว่าอยู่ในกระบวน การประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 การสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่การสู้คดีในการพิจารณาถอดถอน 

    เพราะหากหนีคงไม่เป็นผลดีและไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!