WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'ปู'ผวา-งดร่วมคืนสู่เหย้า ฎีการับคดี ฟ้อง'สมชาย'สลายม็อบ ปปช.ยื่นบุญทรงชดใช้จีทูจี ทนายยิ่งลักษณ์โวยละเมิด เพื่อไทยปัดข่าวลี้ภัยสหรัฐ อุปทูตมะกันหวังเห็นปชต.

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร - ยุทธพร อิสรชัย

 

 


สุขุม นวลสกุล-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

      คสช.เชิญทูตทหาร ตปท.แจง ยันอัยการศึกยังจำเป็น 'ปู'ไม่ไปร่วมงานคืนสู่เหย้ายุพราชเชียงใหม่แล้ว หวั่นงานกร่อย หลังโดนทหารค้นรถติดตามตลอด ทนายชี้ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล

@ รบ.แจงค้นรถปูไม่เกินกว่าเหตุ

      เมื่อเวลาประมาณ 08.10 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางมาถึงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปฏิบัติภารกิจติดตามงานตามปกติ ภายหลังกลับจากเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยวันนี้ไม่มีหมายงานปฏิบัติภารกิจภายนอกทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด

       พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องการลี้ภัยทางการเมืองว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่อยากให้คิดไปไกล ต้องไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง อย่างไรก็ตาม คสช.จะมีการดูแลในส่วนของความปลอดภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวมาโดยตลอดว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นหลักการสำคัญของรัฐบาลที่ไม่ต้องการใช้อำนาจพิเศษ เพราะต้องการให้ทุกอย่างเดินสู่กระบวนการยุติธรรม เรื่องดังกล่าวจะถูกหรือผิดก็ค่อยว่ากันไป 

      เมื่อถามว่าทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุในกรณีตรวจค้นรถยนต์ส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คงไม่เกินกว่าเหตุ อีกทั้งเสนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ได้ชี้แจงแล้วว่าโดยปกติถือเป็นแนวทางการปฏิบัติที่หากมีบุคคลสำคัญระดับวีไอพีเข้ามาในพื้นที่ จะต้องให้ความเคารพและดูแลให้มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้ต้องดำเนินต่อไป ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจต่างพยายามใช้ความนุ่มนวลในการปฏิบัติหน้าที่ 

@ 'บิ๊กโด่ง'ปัดข่าว'ปู'ขอลี้ภัย

        พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณี คสช.ติดตามความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เท่าที่ทราบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ เราไม่ได้จำกัดแต่อย่างใด เช่นเดียวกับคนอื่นที่ไม่ได้จำกัดเหมือนกัน แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องด้านคดีความ ได้หารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นบุคคลอื่นที่จะเดินทางก็เป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องนี้คงจะต้องฟังการชี้ชัดของศาลต่อไป สำหรับด้านการข่าวทางทหารอาจรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีการขอลี้ภัยไปประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ 

"หากให้คิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเลือกลี้ภัยหรือต่อสู้คดีและยอมติดคุก ผมคงไปตอบแทนไม่ได้ แต่คิดว่าทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อสังคม เพราะฉะนั้นจะทำอะไรทุกท่านคงรู้ตัว และคดีความต่างๆ ก็ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าใครผิดหรือไม่ผิดในตอนนี้ คงดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป อย่าไปคาดเดาอะไรไปไกลขนาดนั้น จะกลายเป็นประเด็นที่ไม่ดี ขณะนี้ชาติบ้านเมืองของเราต้องการความสงบเรียบร้อย และต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน เจ้าหน้าที่เองก็จะพยายามเข้าใจในทุกส่วนและทุกฝ่าย ขอให้ร่วมมือกันและดำเนินการกันไปตามกรอบกฎหมายและขั้นตอน" พล.อ.อุดมเดชกล่าว 

@ แจงไม่จ้องคุมใครเป็นพิเศษ

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า การปฏิบัติงานของทหารในพื้นที่หลังเหตุวางระเบิดหน้าห้างสยามพารากอน ได้สั่งการให้ดูแลเป็นพิเศษ ดูความเหมาะสมในการตั้งจุดตรวจและตั้งด่าน บางส่วนใช้การลาดตระเวนร่วมด้วย บางจังหวะและบางสถานที่ไม่ต้องการให้สถานการณ์เกิดความตึงเครียด แต่จำเป็นต้องตรวจตรา ทุกท่านเมื่อผ่านจุดตรวจก็ต้องได้รับการตรวจ ไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่ายังมีการตั้งด่านตรวจหน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า จุดตรวจสามารถวางได้ทั่วไป วันนี้วางจุดนี้ อีกวันอาจวางจุดอื่น ไม่วางถาวร นอกจากจุดหลักจริงๆ การวางจุดตรวจร่วมระหว่างตำรวจกับทหาร แต่จุดทั่วไปหากไปวางในพื้นที่หลักตลอดเวลา คนปรารถนาดีหรือไม่ดีก็จะทราบจุดตรวจ และหลีกเลี่ยงการตรวจของเจ้าหน้าที่ จึงต้องวางสลับผลัดเปลี่ยนในพื้นที่ให้ครอบคลุม บางจุดคงวางได้ไม่เป็นเวลา เพื่อให้คนไม่ปรารถนาดีจะได้ไม่ล่วงรู้ และทำอะไรได้ไม่สะดวกถือเป็นเรื่องปกติ

เมื่อถามว่าเราจะดูแลเหมือนกันหมดทุกคนใช่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ทุกคนเป็นประชาชน ต้องดูแลความปลอดภัยทั้งสิ้น การดูแลความปลอดภัยอาจมีผลกระทบบ้างเรื่องความไม่สะดวก แต่ผลคือภาพของความปลอดภัยสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะทำในระดับที่เหมาะสมและจำเป็น เพื่อให้ปลอดภัยกับคนทั่วไป จะได้อุ่นใจในการออกมาทำงานและดำเนินชีวิตปกติ ดังนั้นอย่าไปกังวลหรือคิดมากเกินไป เราไม่ได้ไปจ้องจะไปควบคุมใครเป็นพิเศษ 

@ 'จงรัก'เตือนค้นรถ'ปู'ต้องสงสัย

พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีต ส.ว.และอดีตรอง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารตรวจรถของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ จ.เชียงใหม่ว่า การตรวจค้นจะต้องมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือจะใช้ในการกระทำความผิด และการตรวจค้นผู้หญิงก็จะต้องให้เจ้าหน้าที่หญิงเป็นผู้ตรวจค้นตามหลักสากลทั่วโลก อันเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกตรวจค้นจะต้องมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยหรือมีพิรุธ ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นถึงอดีตนายกฯ และเป็นผู้หญิงด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรต้องเป็นที่สงสัยหรือมีพิรุธแต่อย่างใด แต่มีสถานการณ์พิเศษ ผู้ตรวจค้นอาจใช้เหตุผลอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ได้ ที่พูดเพราะห่วงใยบ้านเมือง กำลังมีบรรยากาศปรองดอง การดำเนินการใดๆ นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติ หรือการกระทำที่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองต้องพิจารณาให้รอบคอบ

@ 'มะกัน'แนะไทยเลิกอัยการศึก

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม นายยงยุทธ์แถลงภายหลังนายแพทริคเข้าหารือว่า ได้คุยเรื่องความร่วมมือที่สหรัฐจะมีต่อประเทศไทย ทั้งการร่วมมือด้านการวิจัย การสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ อยู่ระหว่างการเจรจา เราได้ซักถามการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ได้มีโอกาสได้รับผลประโชชน์จากกิจการเหล่านี้

เมื่อถามว่ามีการพูดถึงท่าทีทางการเมืองของสหรัฐในการหารือหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ทางสหรัฐมุ่งหวังให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ได้แจ้งทางอุปทูตกลับไปว่าประเทศไทยมีโรดแมปในการทำงานและดำเนินการตามนั้นแล้ว

เมื่อถามว่าทางสหรัฐมีความเข้าใจแค่ไหนในโรดแมปดังกล่าว นายแพทริคกล่าวว่า ทางสหรัฐเพียงแต่หวังให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย โดยนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวถึงความเป็นห่วงของทางสหรัฐก่อนหน้านี้แล้ว ทางสหรัฐคิดว่าการที่ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยนั้นจะช่วยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทางสหรัฐและไทยมีมาอย่างยาวนาน ยกตัวอย่างเช่น การยกเลิกกฎอัยการศึก คืนเสรีภาพให้แก่ประชาชน และการให้หลักประกันแก่สังคมโลกว่าจะเกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว

@ ยันไม่เลือกข้างการเมืองไทย

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในสหรัฐ จึงอยากทราบถึงท่าทีของสหรัฐในขณะนี้ นายแพทริคกล่าวว่า ยังไม่ทราบถึงรายงานดังกล่าว สหรัฐไม่สามารถเลือกข้างการเมืองของไทยได้ แต่ในฐานะมิตรประเทศ หวังให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จคืนกลับสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงความสำเร็จของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นความสำเร็จของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นความสำเร็จของประชาคมโลกอีกด้วย ทางสหรัฐอยากให้ประชาชนของไทยได้แสดงออกซึ่งเสียงของประชาชนถึงความต้องการและมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ เมื่อหลักนิติธรรมและเสรีภาพพลเมืองได้คืนกลับมาแล้ว เสียงของประชาชนจะเป็นที่ได้ยินอีกครั้ง

@ กังวล'บิ๊กตู่'ให้สัมภาษณ์ที่ญี่ปุ่น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานการแถลงข่าวประจำวัน ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยมีนางเจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เป็นผู้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ตอนหนึ่งของการแถลงข่าว มีการพูดคุยถึงเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย โดยผู้สื่อข่าวถามขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อสื่อของญี่ปุ่น เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ทหารอาจจะเข้ามายึดอำนาจอีกครั้งหากมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นางซากีกล่าวว่า สหรัฐมีความเป็นห่วงกังวลต่อรายงานดังกล่าว แต่จะต้องตรวจสอบและดูว่ามีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่

@ 'บิ๊กป้อม'ติงอย่ามโน'ปู'ขอลี้ภัย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าค้นรถส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า เรื่องนี้ได้พูดกันไปหลายครั้งแล้ว ไม่ได้มีอะไร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พูดไปแล้ว และยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับวีไอพีทุกคน เพราะบุคคลวีไอพีมีความสำคัญเราก็กลัวว่าหากมีอะไรเกิดขึ้น การดูแลรักษาความปลอดภัย ก็ไม่ใช่เฉพาะเจาะจง น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว เจ้าหน้าที่พร้อมดูแลและให้ความปลอดภัยกับทุกคน

เมื่อถามว่าแสดงว่ากลัวว่าจะมีมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวยอมรับว่า "ก็กลัวสิครับ กลัวทั้งนั้น กลัวทุกคน ไม่อยากให้มีและเกิดเหตุอะไรขึ้น" 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขอลี้ภัยทางการเมืองนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวปฏิเสธว่า "ไม่มี ผมไม่รู้ก็ต้องไปถามอดีตนายกฯ เองจะมาถามผมได้อย่างไร รอให้มันเกิดขึ้นมาก่อนค่อยมาถาม คสช.ว่าจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไร สื่ออย่าเพิ่งมโนถามไปข้างหน้าก่อน" เมื่อถามต่อว่าแล้วจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ก่อนถึงจะค่อยแก้ปัญหาหรือ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีอะไรหรอก เราดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคน

@ คสช.แจงผช.ทูตทหาร8ข้อ

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ ทางกรมข่าวทหารบก พร้อมด้วยทีมโฆษกกองทัพบก เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ ร่วมรับฟังการชี้แจงการดำเนินงานของ คสช. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงตามบริบทของการบริหารจัดการประเทศที่รัฐบาลและ คสช.กำลังขับเคลื่อนอยู่ โดยมี พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร รองเสนาธิการทหารบก เป็นประธาน

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงผลการชี้แจงผู้ช่วยทูตทหารว่า ในที่ประชุมได้ชี้แจงเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1.ได้ย้ำถึงเหตุผลความจำเป็นการเข้าควบคุมอำนาจและการบริหารประเทศ ขอให้ผู้ช่วยทูตทหารมิตรประเทศมั่นใจว่าการดำเนินการของ คสช.เป็นไปด้วยความจำเป็น มีเหตุผลชอบธรรม สถานการณ์ของไทยมีความแตกต่างจากการเข้าควบคุมอำนาจในประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน คงไม่สามารถพิจารณาเพียงอาศัยมุมมองแบบดั้งเดิมในอดีตได้ 2.รัฐบาลและ คสช.พยายามอย่างเต็มที่จะดำเนินงานต่างๆ ตามโรดแมปหรือขั้นตอนการบริหารประเทศมุ่งไปสู่การเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ 3.การสรุปผลงานของคสช.และรัฐบาลในห้วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความพยายามของ คสช.ว่าปัญหาของประเทศและประชาชนจะต้องได้รับการแก้ไข

@ ยันไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า 4.ผู้ช่วยทูตทหารมีความห่วงใยของในบางประเทศต่อสถานการณ์ในไทยในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา เราชี้แจงไปว่าเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายนิติบัญญัติ ได้เริ่มต้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาดำเนินการเอาในช่วงของ คสช.เพราะเป็นเหมือนมาตรการถ่วงดุลตรวจสอบผู้บริหารปกติ มีอยู่ในทุกๆ องค์กร และเป็นสากล ขอยืนยันว่าไม่ใช่ผลพวงในทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมา คสช.เน้นทางบริหารแก้ปัญหาประเทศ ดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม

5.กรณีต่างประเทศบางประเทศเรียกร้องให้ยุติการเรียกตัวและคุมขังกลุ่มการเมือง นักวิชาการ ผู้วิจารณ์ทางออนไลน์ เราได้ชี้แจงว่าปัจจุบันมิได้ใช้วิธีคุมขังหรือกักขังตามที่มีบางส่วนกล่าวถึง เพราะที่ผ่านมาพบว่าการแสดงความคิดเห็นนอกช่องทางที่กำหนด บางครั้งจะไปจุดประกายความขัดแย้ง แทนที่จะสร้างสรรค์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายไม่แน่ใจว่าเพื่อประเทศ หรือเพื่อกลุ่มพวกพ้องและส่วนบุคคล ดังนั้นจึงต้องแลกเปลี่ยนมุมมองให้เท่านั้น ยืนยันว่า คสช.เคารพและรับฟังการแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ และกำหนดให้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นไว้ให้มากมาย ส่วนการเชิญหรือการขอเข้าไปพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองภายใต้สถานการณ์ของประเทศยังอ่อนไหวอยู่ บางส่วนอาจยังไม่เป็นแนวทางเดียวกัน จุดมุ่งหมายหลักคือไม่ต้องการให้ไปนำเสนอเรื่องใดบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ชี้นำสังคมภายใต้มุมมองส่วนบุคคลจนนำไปสู่ความรู้สึกขัดแย้งของคนในสังคม นำไปสู่การแสดงออกเชิงต่อต้าน ขัดต่อความสงบเรียบร้อย คสช.ตระหนักดีว่าผู้เห็นต่างไม่ใช่ผู้ทำผิด ไม่จำเป็นต้องขังหรือทำอะไรในฐานะผู้ทำความผิด การดำเนินการทุกอย่างยังอยู่ภายใต้ หลักสิทธิมนุษยชน

@ ย้ำ'ม.112-อัยการศึก'ยังจำเป็น

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า 6.กรณีผู้กระทำทำผิดคดีอาญา ม.112 เป็นฐานความผิดทางอาญาเดิมไม่ใช่เฉพาะช่วง คสช. เป็นคดีละเอียดอ่อนมีผลกระทบต่อจิตใจคนไทยจำนวนมาก จึงมีคนส่วนใหญ่ติดตามให้ความสำคัญ ยิ่งมีหลายคนรู้สึกว่าเรื่องลักษณะนี้เป็นเรื่องที่พวกเขาได้ถูกคนไม่ดีบางคน พยายามละเมิดสิทธิทางความรักความรู้สึก ทำลายอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญการแก้ปัญหานี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน อย่างที่มีการกล่าวอ้าง 7.กรณีความจำเป็นของการใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากยังต้องให้ทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยดูแลความปลอดภัย และบังคับใช้กฎหมาย ร่วมกับตำรวจ กับฝ่ายปกครอง เพราะสถานการณ์ยังคงละเอียดอ่อน ยืนยันว่าใช้เท่าที่จำเป็น มีเพียง 2 เรื่องหลักคือ ไม่ให้ชุมนุมทางการเมือง อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวผู้ต้องสงสัยกระทำความผิด หรือต้องสงสัยการกระทำที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ส่วนขั้นการสอบสวน เพื่อฟ้องร้องลงโทษเอาผิดยังคงอาศัยแนวทางตามกฎหมายปกติ 

@ ไม่อยากให้ใช้คำว่า'เผด็จการ'

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า 8.ไม่อยากให้ใช้คำว่าเผด็จการ เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการทุกอย่างเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านเวที ช่องทางที่กำหนดให้อย่างกว้างขวาง ไม่ได้คิดเองทำเองไม่ฟังใครในรูปแบบของเผด็จการ อย่างที่บางบุคคลพยายามบิดเบือน มีเป้าหมายสุดท้ายก็เพื่อประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม การขับเคลื่อนประเทศเหมือนระบอบประชาธิปไตยทั่วไปเป็นสากลผ่าน 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ในส่วนอำนาจนิติบัญญัติ ยังคงใช้ระบบการลงมติเพื่อออกเสียงโหวตจากเสียงส่วนมากในสภา แต่ด้วยสภาวะไม่ปกติ จึงมีข้อแตกต่างบ้าง เช่น กรณีที่มาของสมาชิกในสภาต่างๆ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยจะพิจารณาคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ และบางส่วนมาจากภูมิลำเนาที่หลากหลายจากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มีขีดความสามารถเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคม

เมื่อถามว่า ทางผู้ช่วยทูตทหารได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการขอลี้ภัยออกนอกประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวสั้นๆ ว่า ไม่มี 

เมื่อถามย้ำว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขอลี้ภัยนั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ต้องดูเงื่อนไขและดูข้อปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีเจตนา หรือลักษณะท่าทีที่จะส่อไปในทางหลบหนี มีการแสดงเจตนาอันบริสุทธิ์ และยินดีชี้แจงตามช่องทางที่สามารถกระทำได้ 

@ 'ทนายปู'ชี้ลิดรอนสิทธิส่วนตัว

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวว่า ภายหลัง คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปต่างประเทศตามคำขอ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้เดินทางไปที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อทำบุญไหว้บรรพบุรุษ แต่ในระหว่างการเดินทาง มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 และตำรวจหลายนายเข้าตรวจค้นรถยนต์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งอยู่ในรถ และได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตรวจค้นรถยนต์ได้หลังจากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปที่ใดก็ตามในจังหวัดเชียงใหม่ จะสังเกตเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจคอยติดตามตลอดทั้งวัน ก่อนหน้านี้ในช่วงเวลากลางคืนก็มีทหารมาเฝ้าหน้าบ้านพัก นำรถทหารมาจอดในสนามหญ้าบริเวณหมู่บ้าน การกระทำในลักษณะดังกล่าว แม้จะไม่เป็นการควบคุมตัวโดยตรง แต่ก็เป็นการควบคุมตัวโดยทางอ้อม เป็นการลิดรอนสิทธิความเป็นส่วนตัว ยังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีการดูแลวีไอพีตามที่ฝ่ายความมั่นคงให้สัมภาษณ์ ก็ขอให้ประสานงานโดยตรงเพื่อให้เกิดความสบายใจกันทั้งสองฝ่าย นับแต่มีการยึดอำนาจและประกาศใช้กฎอัยการศึก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ คสช.ด้วยดีตลอดมา ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่เคยทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายในทางการเมืองแต่อย่างใด

@ อ้าง'วิษณุ'ชี้'ปู'ไม่ต้องไปศาล

นายนรวิชญ์กล่าวว่า สำหรับการฟ้องคดีถูกกล่าวหาโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดได้แถลงว่าจะใช้เวลาร่างฟ้องประมาณ 1 เดือน หรือจะฟ้องคดีไม่เกินเดือนมีนาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเข้าใจว่าในช่วงวันที่ 10-21 กุมภาพันธ์จะใช้สิทธิและเสรีภาพเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงยื่นขออนุญาตเดินทางตามเงื่อนไขของ คสช. ประกอบกับสำนักงานอัยการสูงสุดเองแถลงชัดเจนแล้วว่า อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจในการห้ามการเดินทาง เว้นแต่จะมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว เป็นอำนาจของศาลฎีกา ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่ถึงขั้นตอนตามกฎหมายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องเดินทางไปศาล และในทางปฏิบัติที่ผ่านมาการยื่นฟ้องคดีของอัยการสูงสุดก็ไม่เคยมีการนำตัวจำเลยมาพร้อมกับการยื่นคำฟ้องแต่อย่างใด เรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลงานฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล และ คสช.ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องมาในวันที่อัยการยื่นฟ้อง ปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไป ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตามที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และควรปล่อยให้คดีเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายต่อไป

@ 'ปู'ไม่ไปร่วมงานคืนสู่เหย้า

นายมหวรรณ กะวัง นายกสมาคมศิษย์เก่ายุพราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดงานคืนสู่เหย้าชาวบานเย็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ที่สนามโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยว่า ได้พูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อนร่วมรุ่นบัวเกี๋ยง ผ่านทางไลน์เพื่อเรียนเชิญร่วมงานดังกล่าวแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ตอบปฏิเสธ และฝากขอโทษคณาจารย์เพื่อนพี่น้องศิษย์เก่าทุกรุ่น ที่ไม่สามารถร่วมงานได้ หลังถูกทหารค้นรถที่หน้าหมู่บ้านกรีนวัลเล่ย์ อ.แม่ริม ก่อนเดินทางไปไหว้กู่บรรพบุรุษ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง และพบปะประชาชนที่ตลาดสันกำแพง บ้านเกิด เดิมที น.ส.ยิ่งลักษณ์ตั้งใจมาร่วมงาน หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ และไม่สะดวกมาร่วมงาน เพราะถูกทหาร ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าติดตามและจับตาความเคลื่อนไหวตลอด หากมาร่วมงานทำให้หลายฝ่ายอึดอัดใจ อาจทำให้บรรยากาศงานกร่อย ไม่สนุกสนาน จึงขอพักผ่อนกับครอบครัวที่บ้านพัก เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาล และ คสช.หวาดระแวงเกินไป น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.กริช กิติลือ ผู้บังคับการกองอำนวยการปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 องค์ใหม่แทนองค์เดิมที่ชำรุดของโรงเรียน เป็นประธานพิธีเปิดงานดังกล่าวแทนแล้ว ตนได้ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบกลับมาว่า "อดทนเธอ" ก่อนจบการพูดคุยผ่านทางไลน์ 

@ "วรชัย"ลั่นให้เกียรติกันบ้าง

นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ตรวจค้นรถของน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า การที่ทหารออกมาขอโทษและอ้างว่าไปดูแลรักษาความปลอดภัยคงไม่ใช่ ส่วนตัวคิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือการตรวจค้นติดตาม ก่อนหน้านี้ทหารและตำรวจ ไม่ได้มีภารกิจบริเวณดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไป จึงมีการตั้งด่านตรวจ สอดรับกับการที่ไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปต่างประเทศ เพราะกลัวว่าจะหลบหนี ข้อเท็จจริงนั้นน.สงยิ่งลักษณ์ พูดมาตลอดว่าจะไม่หนี ผิดกับการกระทำกับอีกฝ่ายหนึ่ง พระสุเทพ ปภากาโรเป็นคู่ขัดแย้งกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปไหนมาไหนก็มีตำรวจอารักขาอย่างดี การรวมตัวและฟังคำเทศน์ที่วัดสวนโมกข์ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการปราศรัยบนเวทีกปปส. ถือเป็นการกระทำสองมาตรฐานที่ไม่เป็นธรรม อย่าลืมว่าความรู้สึกของประชาชนเก็บไว้ทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นการเติมเชื้อไฟในใจประชาชน ขอเรียกร้องว่าให้เกียรติกันบ้าง นายกฯยิ่งลักษณ์ และพวกเราไม่หนีไปไหน ขอให้เคารพสิทธิกันบ้าง

@ พท.ชี้ยังไม่ถึงเวลา"ปู"ลี้ภัย

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กรณีข่าวการขอลี้ภัยของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ถึงเวลานี้ยืนยันว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ไปไหน ยังไม่หนีไปไหน ต้องสู้ในกระบวนการยุติธรรมก่อนให้รู้ว่าความเป็นธรรมมีหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่เห็นเหตุผลจะหนีหรือลี้ภัยอะไรตอนนี้ ลี้ภัยไปแล้วได้อะไร อยากให้ดูที่มาของข่าวนี้ว่าออกมาจากฝ่ายไหน การปล่อยข่าวนี้ออกมาเพื่อให้สอดคล้องข่าวการค้นรถน.ส.ยิ่งลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ทหารที่จ.เชียงใหม่ที่ระบุว่าเกรงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะหนีออกนอกประเทศ จึงมีข่าวนี้ออกมาตอกย้ำหรือไม่ แนวทางที่อาจจะเป็นไปได้ในกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะออกนอกประเทศแล้วไม่กลับมาสู้คดีต่อเลยนั้น อาจจะต้องรอเวลาให้มีการสู้คดีในชั้นศาลเสียก่อน อาจต้องเวลาอีก 2-3 เดือน เมื่อถึงตอนนี้จะมีการไต่สวนคู่ความ รวมทั้งพยานที่ฝ่ายน.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องร้องขอต่อศาลอีก และเมื่อกระบวนการไต่สวนเริ่มไปได้สักระยะ เริ่มจะเห็นสัญญาณของการตัดสินแล้ว ถึงตอนนั้นเมื่อประเมินแล้วว่าคำตัดสินอาจเป็นลบ ถึงตอนนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีการคิดเรื่องการออกนอกประเทศ

@ 'ปู'กินก๋วยเตี๋ยวพร้อมพี่สาว

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นางเยาวเรศ ชินวัตร พี่สาวและครอบครัว รวม 5 คน ออกจากบ้านพักกรีนวัลเล่ย์ อ.แม่ริม มารับประทานอาหารกลางวันที่ร้านช้างม่อยกาแฟ 2499 เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อชื่อดังของเชียงใหม่ อยู่คูเมืองด้านในตรงข้ามศูนย์มาลาเรียเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยใช้รถตู้ทะเบียน กธ 77 เชียงใหม่ เป็นพาหนะเดินทาง พร้อมรถติดตามอีก 2 คัน โดยไม่มีทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าติดตามและบันทึกภาพความเคลื่อนไหวเช่นวันก่อน 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทักทายประชาชนที่มารับประทานอาหารพร้อมถ่ายรูปร่วม โดยสั่งก๋วยเตี๋ยวเนื้อและกาแฟรับประทาน โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับ ขณะที่บรรยากาศหน้าหมู่บ้านกรีนวัลเล่ย์ มีเพียง รปภ.ของหมู่บ้านดูแลความเรียบร้อยเพิ่มกำลังดูแลจาก 2 นาย เป็น 4 นาย โดยให้บุคคลภายนอกแลกบัตรทุกรายพร้อมชื่อ-เบอร์โทรก่อนเข้าหมู่บ้าน

@ ศาลฎีการับฟ้องสมชายสลายพธม.

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาฯ เจ้าของสำนวน และผู้พิพากษาองค์คณะ รวม 9 คน มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งปี 2551) เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กรณีวันที่ 7 ตุลาคม 2551 รัฐบาลนายสมชายมีคำสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย โดยนายธนสิทธิ์ เจ้าของสำนวนคดีและผู้พิพากษาองค์คณะรวม 9 คน มีคำสั่งนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย วันที่ 11 พฤษภาคมนี้ เวลา 09.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 โดยเมื่อองค์คณะฯมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีแล้ว หลังจากนี้ศาลฎีกาฯจะส่งหมายแจ้ง นายสมชาย อดีตนายกฯ กับพวกที่ตกเป็นจำเลยรวม 4 คน เดินทางมาศาลเพื่อสอบคำให้การ โดยวันที่ 11 พฤษภาคม นายสมชายกับพวกจำเลยจะต้องเดินทางมาแสดงตัวต่อศาลด้วยตนเองเป็นครั้งแรกตามขั้นตอน เพื่อจะสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธ

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวว่าศาลประทับรับฟ้องแล้วหรือยัง แต่ถ้าหากศาลประทับรับฟ้องแล้ว ก็ต้องเตรียมข้อมูลต่อสู้ตามกระบวนการ ขอดูรายละเอียดคำฟ้องตัวจริงของป.ป.ช.ก่อน จะได้เตรียมต่อสู้คดีอย่างถูกต้อง และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม

@ วิปแม่น้ำ5สายถกแผนปฏิรูป 

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานของประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ปรึกษาและเลขานุการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะตัวแทนจาก สนช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูป สปช. 18 คณะ การประชุมดังกล่าว สปช.รายงานวาระการปฏิรูป 36 วาระอย่างละเอียดและเร่งรัดตรวจสอบการบ้านคณะกรรมาธิการฯทั้ง 18 คณะด้วย เพื่อให้เร่งรัดทันตามกำหนดกรอบการปฏิรูปที่ต้องทำภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 เมษายน

@ วิปสปช.งดแปรญัตติร่างกม.

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ. วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขข้อบังคับการประชุม สปช. ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุมพิจารณาแก้ไข 2 เรื่อง คือ 1.ปรับโครงสร้างวิป สปช. โดยให้ประธานคณะกรรมาธิการทุกคณะไปเป็นวิป สปช. จากเดิมแต่ละคณะจะส่งตัวแทนมาเป็นวิป สปช. ทั้งคณะมีไม่เกิน 36 คน และ 2.แก้ไขกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสนอโดย สปช. ให้ยกเว้นการพิจารณาชั้นแปรญัตติเป็นการให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไปเพื่อความรวดเร็ว 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!