WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8846 ข่าวสดรายวัน


ยันเคลื่อนไหวต่อ 4 ผู้ต้องหา ไม่รับเงื่อนไขคสช. 
ไก่อูยันไม่ปิดกั้นแต่อย่าผิดกม. สนช.ไม่สน-ดันพรบ.ศาลทหาร สปช.หนุน'ตู่'จับคู่ถกปรองดอง


ปล่อยตัว- สน.ปทุมวัน ยินยอมให้ประกันตัวนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน พร้อมพ่อน้องเฌอ และเพื่อนอีก 3 คน โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 2 หมื่น ข้อหาขัดประกาศคสช. เมื่อเวลา 02.45 น.วันที่ 15 ก.พ.หลังจัดกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

        'กลุ่มพลเมืองโต้กลับ'ลั่นสู้ต่อ อิงแถลงการณ์ 'อียู'จี้เลิกกฎอัยการศึก- นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เล็งจัด 16 มี.ค.นี้วันเดียวกับ4 ผู้ต้องหาจัดชุมนุมหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ อาจถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ทนายอานนท์ย้ำไม่มีเงื่อนไขประกันตัว ตร.เตรียมแกะเทปปราศรัย ตรวจกล้องวงจรปิดเพื่อเอาผิดเพิ่ม สนช.เมินองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลห่วงละเมิดสิทธิประชาชน มั่นใจร่างพ.ร.บ.ศาลทหารผ่านวาระ 2-3 ในสัปดาห์นี้ ยันเนื้อหาแค่ใช้ควบคุมทหารด้วยกันเอง กมธ.ยกร่างฯ เผยสเป๊ก 14 กก.ปรองดอง ไม่ฝักใฝ่การเมือง 'พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล' เตือน 'บวรศักดิ์'อย่าเพ้อฝันคิดทำกฎหมายอภัยโทษ ชี้ปรองดองเกิดยาก สปช.แนะ 'บิ๊กตู่'จับเข่าคุย'ทักษิณ'เชื่อจุดเริ่มต้นปรองดองแท้จริง โพลห่วงเสถียรภาพการเมือง-ของแพง'ยิ่งลักษณ์'กลับจากเชียงใหม่แล้ว

ตร.แจ้งข้อหาขัดคำสั่งคสช.

      จากกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen จัดงาน "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" พร้อมอุปกรณ์จำลองหีบเลือกตั้ง มาวางหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในประเทศโดยเร็ว เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 ก.พ. ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัว นายสิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย พร้อมอุปกรณ์เครื่องเสียง มาที่สน.ปทุมวัน เพื่อดำเนินคดีข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยให้ พนง.สอบสวน ทำการเปรียบเทียบปรับ 100 บาท พร้อมถ่ายรูปทำประวัติ 

       ต่อมาเจ้าหน้าทหารยังเชิญตัวนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ อายุ 36 ปี คนขับรถแท็กซี่ นายอานนท์ นำภา อาชีพทนายความ และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมในปี 2553 ที่ร่วมชุมนุมมาด้วย โดยมีกลุ่มนักศึกษากว่า 50 คน ยืนให้กำลังใจจับกลุ่มร้องเพลงที่หน้าสน.ปทุมวัน ขณะที่เจ้าหน้าที่สอบปากคำ ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ภายในห้องพนักงานสอบสวนนั้น

      เมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 15 ก.พ. พ.ต.อ. จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.ปทุมวัน เผยว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาทั้ง 4 คน ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตร.ยอมให้ประกัน-นัดอีก 16 มี.ค.

      ต่อมาเวลา 03.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวทั้ง 4 คน เบื้องต้นพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงินละ 20,000 บาท มีเงื่อนไขว่าหากทั้ง 4 คนจัดกิจกรรมในลักษณะที่ขัดคำสั่ง คสช. จะริบเงินประกันและควบคุมตัวทันที โดยวันที่ 16 มี.ค. เจ้าหน้าที่นัดผู้ต้องหาทั้ง 4 มาเพื่อทำสำนวนส่งฟ้องศาลทหารต่อไป เบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 4 ให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น 

      นายอานนท์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ หลังจากนี้จะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้แสดงสิทธิเสรีภาพได้ระดับหนึ่ง พวกตนเข้าใจเจ้าหน้าที่ว่าต้องการให้บ้านเมืองสงบแต่ใช่ว่าเงียบไปเลย

จากนั้นนายพันธ์ศักดิ์ ได้อ่านบทกวี ชื่อว่า (ขอเรียกท่านว่าเผด็จการ) ให้กับคณะนักศึกษาที่มานั่งรอได้ฟัง ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

เร่งสรุปสำนวนส่งศาลทหาร

     เวลา 13.00 น. พ.ต.อ.จารุต ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัว 4 ผู้ต้องหาเรียบร้อยแล้ว โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ ประกอบด้วยห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ห้ามออกนอกประเทศ และต้องอยู่ในเคหสถานที่แจ้งไว้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดแต่อย่างใด หลังจากที่ได้รับการประกันตัว

      พ.ต.อ.จารุต กล่าวว่า หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะเร่งถอดเทปที่บันทึกในช่วงชุมนุม เพื่อแกะถ้อยคำที่มีการพูดสนทนาเพื่อหาหลักฐานทั้งหมด รวมถึงตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมในช่วงดังกล่าวว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายในข้อหาอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ คาดว่าจะเร่งสรุปสำนวนทั้งหมดพร้อมหลักฐานได้ภายในเดือนก.พ.นี้

      พ.ต.อ.จักริน พันธ์ทอง พงส.ผทค.สน. ปทุมวัน กล่าวว่า จากการสอบปากคำทั้งหมดให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล โดยนัดผู้ต้องหาเข้าพบเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลทหารในวันที่ 16 มี.ค. ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะทำสำนวนรวบรวมคดี และหากผู้ต้องหามีพฤติกรรมดังกล่าวอีกจะถูกดำเนินคดีต่างกรรมต่างวาระต่อไป

"อานนท์"ยันเคลื่อนไหวต่อ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. นายอานนท์ นำภา โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึง 3 เงื่อนไขของตำรวจก่อนให้ประกันว่า พวกเราไม่รับเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ เพราะเห็นว่าการจะได้ประกันตัวต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมให้ประกันตัวได้โดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนนายสิรวิชญ์ ที่ผ่านมาเคยถูกจับกุมมาแล้ว 1 ครั้ง และติดเงื่อนไขที่เคยตกลงกับทางทหารว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงถูกตั้งข้อกล่าวหา 2 ข้อ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนัดมาพบอีกครั้งในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อดำเนินคดีต่อไป ยืนยันว่าหลังจากนี้ทางกลุ่มของตนจะเคลื่อนไหวอีกแน่นอน แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียดว่าจะใช้สถานที่ใด เพราะไม่ได้ผิดเงื่อนไขการประกันตัว

มีเพียง"จ่านิว"ถูกเซ็นรับเงื่อนไข

     น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทั้ง 4 คน ได้รับการประกันตัวหมดแล้วเมื่อคืนวันที่ 14 ก.พ. เวลา 02.50 น. ส่วนตนรับผิดชอบในคดีของ นายอานนท์ นายพันธ์ศักดิ์ หรือพ่อน้องเฌอ และนายวรรณเกียรติ ซึ่งทั้ง 3 คน ถูกแจ้งเพียงข้อหาเดียวคือฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยนายอานนท์ ใช้ตำแหน่งทนายประกันตัว ส่วนนายพันธ์ศักดิ์ และนายวรรณเกียรติ ใช้หลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท โดยทั้ง 3 คน ได้รับ สิทธิประกันตัว พร้อมทั้งใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงเจรจาต่อรองว่าจะไม่ลงรับเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่

      น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนนายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ได้สอบถามนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการ บดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เข้ามาช่วยดูแล ทราบว่านายสิรวิชญ์ โดนแจ้ง 2 ข้อหา คือฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 และผิดเงื่อนไขที่เคยถูกควบคุมตัว จึงต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 40,000 บาท พร้อมทั้งต้องลงนามยอมรับเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ 1.ต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและเปิดเผย 2.ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 3.ห้ามออกนอกประเทศ 

      น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจนัดผู้ต้องหาทั้ง 4 อีกครั้งในวันที่ 16 มี.ค. เพื่อสรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการทหารให้ดำเนินการสั่งฟ้องศาลทหารต่อไป แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจยังทำสำนวนไม่เสร็จก็ขยายเวลาสรุปสำนวนออกไปได้อีก 1 เดือน 


ลุยเบตง- นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่อำเภอเบตง จ.ยะลา พร้อมระบุว่าจังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน เมื่อวันที่ 15 ก.พ.

เล็งจัดกิจกรรมสอดรับ"อียู"

       นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับฯ กล่าวว่า ทางกลุ่มยังไม่มีการหารือถึงแนวทางการทำกิจกรรม เบื้องต้นจะรณรงค์นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพต่อไปในหน้าแฟนเพจของเฟซบุ๊ก "กลุ่มพลเมืองโต้กลับฯ" ส่วนตัวมองว่าควรจะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และวันที่ 16 มี.ค.ที่เพื่อนนักกิจกรรมทั้ง 4 อาจถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารนั้น คิดว่าจะจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร สอดคล้องต่อการที่นักกิจกรรมถูกควบคุมตัว และสอดรับกับทาง ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศ ไทย ที่ออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาอีกด้วย 

ไก่อูอ้างกวนน้ำให้ขุ่นไม่เป็นผลดี

        พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีกลุ่มนักศึกษาและประชาชน 4 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศคำสั่งคสช. ระหว่างจัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยบริเวณหอศิลป์กรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลและคสช.รับได้และเปิดโอกาสให้กลุ่มคนแสดงความเห็นโดยไม่สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่การเคลื่อนไหวต้องฟังเสียงประชาชนรอบข้างด้วยว่ามีความเห็นต่อการแสดง ออกอย่างไร ที่ผ่านมาการควบคุมอำนาจ ของ คสช.อาจไม่ตรงใจของบางคนแต่เราพยายามจะเดินหน้าให้มีประชาธิปไตยกลับมาโดยเร็ว ฉะนั้นการกวนน้ำเพื่อให้ขุ่นย่อมไม่เป็นผลดี 

เมื่อถามว่ารัฐบาลประเมินอย่างไรที่ส่งสัญญาณขอความร่วมมือไปหลายทาง แต่ยังมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า เราอย่าไปประเมินทุกเรื่อง ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะจะทำให้งานหลักตามโรดแม็ปที่รัฐบาลตั้งใจทำเสียได้ เรื่องใดที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ยินดีรับฟังเสียงสะท้อนกลับมาอยู่แล้ว รัฐบาลจึงไม่กังวลเพราะมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ขณะที่ คสช.ต้องดูแลความเรียบร้อย ไม่ให้กระทบกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม นายกฯ ไม่ได้แสดงความเห็นใดต่อเรื่องนี้

วอนขอให้ช่วยกันสู่การเลือกตั้ง

"เรื่องใดที่หนักนิดเบาหน่อยก็ถ้อยที ถ้อยอาศัย นักศึกษาเขามีภาระหนักในด้านการเรียนทางหนึ่งแต่ก็มีพลังช่วยได้ ส่วนเรื่องกฎอัยการศึกหรือการเลือกตั้งรัฐบาลมีโรดแม็ปที่กำหนดเป้าหมายชัดเจนเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งภาระหน้าที่นี้รัฐบาลหรือ คสช.เดินลำพังคงไม่รอด ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ใช่ขอให้อดทนรอ แต่เป็นการช่วยกันเพื่อเดินไปให้ถึงจุดนั้น โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว 

สนช.นัดถกพรบ.ศาลทหารวาระ 2-3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิต ชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดประชุมสมาชิก สนช.ในวันที่ 19-20 ก.พ.นี้ มีวาระพิจารณาร่างกฎหมาย 7 ฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้เสนอ และฉบับที่ประธานป.ป.ช.เป็นผู้เสนอและร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารในวาระ 2-3 ด้วย 

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 19 ก.พ. ระหว่างเวลา 09.30-10.00 น. สนช. ยังเชิญให้ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้ารายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราให้สมาชิก สนช.ได้รับทราบเป็นครั้งแรกด้วย 

เมินข้อห่วงใยองค์กรสิทธิมนุษยชน

พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช สมาชิก สนช.ในฐานะเลขานุการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร กล่าวว่า คาดว่าที่ประชุม สนช.น่าจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขฉบับ ดังกล่าว ในวาระ 2-3 ในวันที่ 20 ก.พ. เนื่องจากถูกบรรจุไว้ในวาระเรื่องด่วนลำดับสุดท้าย ยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องตามประมวลกฎหมายอาญาและมีความทันสมัยมากขึ้น

ส่วนกรณีข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ให้ สนช.ทบทวน โดยเฉพาะมาตรา 46 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ถึง 84 วันนั้น พล.ร.ท.กฤษฎากล่าวว่า เจตนารมณ์ของมาตรานี้ ตลอดจนถึงพ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหารทั้งฉบับคือ ไว้ใช้ควบคุมดูแลทหารด้วยกันเอง ไม่มีส่วนใดไปกระทบต่อสิทธิพลเรือน ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นขององค์กรสิทธิมนุษยชนน่าจะเกิดจากการเห็นเพียงร่างแรกที่ถูกนำเสนอให้ สนช.เห็นชอบรับหลักการในวาระ 1 และเมื่อเข้าสู่ชั้น กมธ.วิสามัญแล้ว การปรับแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในมาตรา 46 ที่เขียนชัดเจนว่า ให้ผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งทราบกันดีว่าไม่มีพลเรือนคนไหนอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาทหารอยู่แล้ว

เลิกกฎอัยการศึกอยู่ที่รัฐบาล-คสช. 

พล.ร.ท.กฤษฎากล่าวว่า อยากให้ผู้ที่ยังห่วงกังวลต่อการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ฟังการอภิปรายจากสมาชิก สนช.ที่อาจมีการเสนอขอแก้ไขในรายละเอียดได้อีก นอกจากนี้พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธาน กมธ.วิสามัญ ก็อาจนัดแถลงชี้แจงรายละเอียดและเจตนารมณ์อีกครั้งก่อนเข้าสู่การพิจารณา เพื่อให้สังคมเข้าใจตรงกัน และขอชี้แจงว่าร่างแก้ไขพ.ร.บ.ศาลทหารไม่ได้เพิ่งมาริ่เริ่มหลัง คสช.ยึดอำนาจ แต่ร่างแก้ไขฉบับนี้พยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2552 แล้วแต่ไม่สำเร็จ ยืนยันว่าเมื่อผ่านการพิจารณาของ สนช.จนนำไปสู่การบังคับใช้แล้ว จะไม่มีพลเรือนคนใดได้รับผลกระทบ แม้จะอยู่ในระหว่างการบังคับใช้กฎอัยการศึกก็ตาม

เมื่อถามถึงกรณีคณะผู้แทนสหภาพยุโรปหรืออียูประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร พล.ร.ท.กฤษฎากล่าวว่า ศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ไปตามกฎหมาย ส่วนการใช้กฎอัยการศึกและคำสั่งให้นำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลและคสช.

สปช.แนะ"ตู่"จับเข่าคุยทักษิณ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เสนอให้นายกฯ เป็นคนกลางเรียกแกนนำทุกฝ่าย พูดคุยเรื่องการปรองดอง พร้อมหนุนนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ยกเว้นแกนนำว่า การปรองดองถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะนำมาเขียนไว้ในกฎหมายกี่ฉบับหรือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่สำเร็จ เพราะต้องเริ่มจากการปฏิบัติจริง และคนที่จะปฏิบัติได้ดีที่สุดในเวลาเช่นนี้คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. อีกทั้งการปรองดองไม่ใช่การนำเอาทหาร ตำรวจลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน แต่อยู่ที่ตัวนักการเมือง แกนนำกลุ่มต่างๆ และพรรคการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยทำมาแล้วให้มีการพูดคุยกัน และหลังปฏิวัติวันที่ 22 พ.ค.2557 ก็ยังไม่ได้ทำต่อ ดังนั้น จะต้องนำแกนนำมาพูดคุยกันตรงนี้


กลับกรุง- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วยน้องไปป์-ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ลูกชาย บินกลับจากเชียงใหม่ถึงสนามบินดอนเมือง และนั่งรถต่อไปยังบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 เมื่อวันที่ 15 ก.พ.

       นายวันชัย กล่าวว่า สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำเพื่อให้ประเทศกลับสู่ความปรองดองโดยเร็ว คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์จะต้อง คุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขอให้นัดเลยจะเจอกันที่ไหน แต่ต้องมีคนร่วมพูดคุยด้วย ไม่ใช่คุยกันแค่ 2 คน เพราะอาจถูกมองว่าไปเกี้ยเซี้ยกัน จากนั้นนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่าอะไรที่ทำได้และ ทำไม่ได้บ้าง

ชี้ไม่ทำ-หวั่นปฏิวัติเสียของ

      นายวันชัย กล่าวว่า 2.พล.อ.ประยุทธ์ต้องคุยกับคู่ขัดแย้งคือแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงคู่ขัดแย้งกลุ่มการเมือง แกนนำ นปช. แกนนำ กปปส. จะไปพบเองหรือเข้าพบทีละคู่ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วนำมาบอกประชาชน

      "ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เริ่มพูดคุยอย่างจริงจัง เชื่อว่าการปรองดองจะยังไม่เกิดขึ้น แม้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาดีอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น ขอเป็นกำลังใจให้นายกฯ เริ่มต้นพูดคุยอย่างจริงจังได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาในประเทศนี้ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่นายกฯ ทำมาทั้งหมดจะกลายเป็นความล้มเหลว และเสียของโดยสิ้นเชิง" นาย วันชัยกล่าว

อดีตส.ว.เตือนคสช.ยึดกม.สากล

       นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี หนึ่งใน 38 อดีตส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ กล่าวว่า จากการหารือเบื้องต้นทุกคนจะไปชี้แจงต่อที่ประชุมสนช. แต่คงไม่ได้พูดทุกคนเพราะอาจซ้ำประเด็นกัน เชื่อว่าสมาชิกสนช.ซึ่งเป็นผู้ใหญ่จะเข้าใจเพราะคดีพวกตนไม่เกี่ยวกับการทุจริต ที่ผ่านมากรณีถอดถอน 2 อดีตประธานสภา ซึ่งมีน้ำหนักมากว่าแต่ก็ยังไม่ถูกถอดถอน เราจึงเบาใจแต่อยากไปชี้แจงให้สังคมรับทราบ

       นายสิงห์ชัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับ ข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ ที่จะให้มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่าแค่พูดว่าจะปรองดอง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจหรือคสช.จะต้องระวัง กระบวน การตรวจสอบหรือการจับกุมเพื่อดำเนินคดี ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายสากล ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มการเมืองนำเป็นข้ออ้างว่าถูกรังแกเพียงฝ่ายเดียว กลายเป็นประเด็นการเมือง ทำให้ปรองดองเกิดขึ้นยาก อยากฝากว่าอย่าพยายามเปิดประเด็นในเรื่องของต่างประเทศ ควรจะเงียบเฉยแล้วประคับประคองสถานการณ์เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้

กมธ.ลุยยกร่างหมวดปฏิรูป

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ในสัปดาห์นี้ที่ประชุมกมธ. ยกร่างฯ จะเริ่มการพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง โดยตั้งใจจะพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 20 ก.พ.นี้ โดยหมวดการปฏิรูปเนื้อหาบางส่วนนั้น กมธ.ยกร่างฯได้ขอความเห็นไปยัง กมธ.ปฏิรูปของ สปช. 18 คณะ เสนอความเห็นว่าต้องการให้ประเด็นใดถูกบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญด้วย เบื้องต้นมีกมธ.ปฏิรูปของสปช.ส่งความเห็นมายังกมธ.ยกร่างฯแล้ว 9 คณะ

หนุนตั้งกก.ปรองดองแห่งชาติ

      นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบหมวดการปรองดอง กล่าวกรณีนายบวรศักดิ์เตรียมตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบว่า เบื้องต้นคณะกรรมการจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน มีคุณสมบัติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สังคมยอมรับ มีประสบการณ์สร้างสันติสุข ส่วนฝ่ายคู่ขัดแย้ง 5 คนนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 คน จะเป็นผู้คัดเลือกอีกครั้ง รวมกรรมการชุดนี้ มี 14 คนโดยจะทำหน้าที่สร้างปรองดองในระยะยาว แก้ปัญหาทำให้ความขัดแย้งเป็นประชาธิปไตย สันติวิธี ชอบด้วยกฎหมายไม่ให้แตกแยก หักล้างและบาดหมางกัน เบื้องต้นแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงตัวร่างบทบัญญัติที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯเท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาแต่อย่างใด 

แนะ"ตู่"เรียกทุกฝ่ายเคลียร์ขัดแย้ง

      นายเอนก กล่าวว่า สำหรับกระบวนการปรองดองให้เกิดความสำเร็จนั้น มองว่า ทุกคนต้องหันหน้าคุยกัน โดยเฉพาะผู้มีอำนานสูงสุดของบ้านเมือง ต้องเชิญทุกฝ่ายมาคุยกัน เนื่องจากทุกคนเชื่อถือและมั่นใจว่ามีอำนาจทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายไปสู่สันติวิธีและสันติสุขได้ เท่าที่ฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก็พร้อมเดินหน้า เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ที่มีอำนาจของบ้านเมืองจะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา 

    "อยากให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองรีบดำเนินการ และขอวิงวอนทุกฝ่าย ให้อดทน ใจเย็น โดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องการการเลือกตั้ง กมธ.ยกร่างฯพยายามทำงานอย่างรวดเร็ว ถือว่าเร็วกว่ากำหนด บ้านเมืองปกครองระบอบอื่นไม่ได้นอกจากระบอบประชาธิปไตย ไม่อยากให้เรื่องนี้บาดหมางกัน เห็นใจทุกฝ่าย และอยากขอให้ผู้ที่ทำกิจกรรมการเมืองช่วงนี้ทำด้วยความสุขุมและเยือกเย็นที่สุด" นายเอนกกล่าว

ปชป.เตือน"บวรศักดิ์"อย่าเพ้อฝัน

     นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังหารือให้มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพื่อเสนอร่างกฎหมายอภัยโทษ และให้เวลาการทำงาน 5 ปีว่า ขอเตือนประธานกมธ.ยกร่างฯ ต้องอยู่กับความเป็นจริงบ้าง เรื่องใดทำได้จริงหรือไม่ ตนว่าบางครั้งบุคคลในสองสภาที่ตั้งขึ้น เป็นพวกเพ้อฝันเกินไป พอถึงเวลาแล้วทำไม่ได้อย่างที่พูดก็ตอบสังคมยาก เพราะเอาเเต่พูดเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ และก่อนจะทำเรื่องอื่น ตอบคำถามได้หรือไม่ว่าตั้งแต่ยึดอำนาจมาจนถึงวันนี้ การปฏิรูปในโหมดการเมือง เรื่องใดที่เป็นรูปธรรมบ้าง นอกจากหลีกไปทำเรื่องภาษีมรดกหรือกฎหมายที่ดิน

      นายพิเชษฐ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการปรองดอง ห่วงว่าคงเกิดยาก เนื่องจากมีการหยิบคดีที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดการเผชิญหน้า มาบีบให้อีกฝ่ายเข้าตาจน ทั้งการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯในคดีรับจำนำข้าว และคดีสลายการชุมนุมในปี 2551 ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ โดยเฉพาะเรื่องที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับอนุญาต

ห่วงรัฐบาลกำลังหลงกลเพื่อไทย

       "รัฐบาลกำลังหลงกลยุทธศาสตร์และแผนของพรรคเพื่อไทย จนวันนี้ความนิยมในตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์พุ่งสูงขึ้นจากวันที่ถูกยึดอำนาจเพราะคะเเนนความสงสาร อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังวางเกมไว้ให้ประชมคมโลกเห็นว่า เเม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นผู้หญิง แต่กำลังต่อสู้กับการถูกจำกัดเสรีภาพ จากรัฐบาลทหาร เหมือนกรณีนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่า โดยมีสหรัฐเล่นบทพระเอกเคียงข้าง เรียกเสรีภาพคืนให้อดีต นายกฯของไทย ใครก็รู้ว่าสหรัฐเคยเล่นบทแบบนี้มาแล้ว จึงเตือนว่าอย่าไปเปิดศึกภายนอกประเทศ เพราะจะกระทบการส่งออกกว่าปีละหมื่นล้านบาท ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ให้ยอมทุกอย่าง แต่ต้องคิดถึงภาพรวมว่าเราจะต่อสู้หรือแข่งขันทางการค้าบนเวทีโลกลำบากขึ้น" นายพิเชษฐกล่าว

กปปส.ยังกั๊กเรื่องอภัยโทษ

      นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. กล่าวว่า จุดยืนเรื่องปรองดองของ กปปส.ตั้งแต่ต้นคือ หากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้คู่ขัดแย้งมีส่วนร่วมคลี่คลายสถานการณ์นั้นทำได้ แต่ต้องยึดหลักนิติรัฐ ซึ่งครั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯต้องชี้ให้ชัดว่า ความหมายของคำว่าอภัยโทษ ครอบคลุมแค่ไหน เพราะหลักกฎหมายเดิมยังมีอยู่ คือคนที่จะได้รับการอภัยโทษ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนสิ้นสุดกระบวนการ รับผิดและรับโทษก่อน จากนั้นเมื่อสำนึกผิดก็จะได้รับการอภัยโทษ นี่คือหลักการนิติรัฐ ซึ่งไม่ใช่การเอาคำว่าปรองดองอ้าง เพื่อขออภัยโทษโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม เพราะต่อไปบ้านเมืองจะวุ่นวาย จะมีเเต่คนมาขออภัยโทษ ดังนั้น ขอแนะนำว่า การหาทางเพื่อไปสู่การปรองดองในชาติเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ฝืนหลักนิติรัฐด้วย ทั้งนี้ กปปส.ขอดูรายละเอียดก่อนถึงจะบอกว่า สนับสนุนแนวคิดนี้หรือไม่

พท.ร่วมแสดงความเห็นกมธ.

       นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการตอบรับเข้าร่วมสัมมนาหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจัดขึ้น ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ว่า ตนและนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย เข้าร่วมสัมมนาเป็นการส่วนตัว ตามที่กมธ.มีหนังสือเชิญมาถึงหัวหน้าพรรค และไม่กังวลต่อเสียงวิจารณ์เพราะถือว่าเมื่ออาสาเข้ามาทำงานต้องทำให้ดี เพื่อรับฟังสิ่งที่กมธ.ดำเนินการเป็นหลัก หากมีประเด็นใดที่เห็นเพิ่มเติมและมีโอกาสจะเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับไว้พิจารณา หรือนำกลับมาคุยภายในพรรคเป็นการเฉพาะว่าเห็นอย่างไร 

      "วันนี้ที่ไปรับฟัง ไม่ใช่การเก็บข้อมูลมารายงานพรรค เพราะเราประชุมไม่ได้ แต่เห็นว่าถ้ามีเรื่องใดจะได้เสนอให้เขาทราบ และไม่กลัวว่าจะเป็นผลผูกพันในอนาคตว่าไปยอมรับรัฐธรรมนูญ เพราะถึงอย่างไรเขาก็บังคับใช้อยู่แล้ว" นายชวลิตกล่าว

ปชป.ห่วงให้เวลาพูดน้อย

       นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนจะไปร่วมสัมมนาตามหนังสือเชิญจากกมธ.ยกร่างฯ โดยไปในนามส่วนตัว ทั้งนี้ ตนกังวลในเรื่องของเวลาที่กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้แต่ละตัวแทนพรรคแสดงความคิดเห็นเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น เท่าที่ทราบจะมีตัวแทนพรรคเข้าร่วมถึง 30-40 พรรค คาดว่าแต่ละพรรคจะมีเวลาพูดเพียง 3 นาที หากเป็นเช่นนั้น คงน่าเสียดาย เพราะตนคงไม่มีโอกาสให้ความเห็นในประเด็นสำคัญได้อย่างครบถ้วน 

      นายจุรินทร์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ควรรับฟังข้อมูลจากพรรคการเมือง ในฐานะ ผู้ปฏิบัติและผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง อย่างครบถ้วน เช่น เรื่องผลกระทบที่ทำให้พรรคอ่อนแอลง เรื่องของระบบที่ให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้น แทนที่จะทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลได้ทำงานอย่างมีประสิทธิ ภาพมากขึ้น 

โพลชี้คนห่วงปท.ไร้เสถียรภาพ

      สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชน ทั่วประเทศเรื่อง "ความเป็นห่วง/วิตกกังวลของคนไทย ณ วันนี้" โดยเเบ่งหัวข้อ สำรวจเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,254 คน ระหว่างวันที่ 9-14 ก.พ. โดยความเป็นห่วง/วิตกกังวล ด้านการเมือง พบว่าเป็นเรื่องการบริหารประเทศของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุด ถึงร้อยละ 85.57 เพราะมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น เหตุระเบิดที่พารากอน 

      รองลงมาร้อยละ 78.55 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล เพราะหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะต้องเกิดความวุ่นวายอีกครั้ง การไม่ยอมรับรัฐธรรม นูญของคนบางกลุ่ม และร้อยละ 73.05 การทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้ง แตกแยกของนักการเมือง เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ได้ นักการเมืองไทยยังมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างชัดเจน

กังวลสินค้าแพง-ภัยสังคม

      ส่วนความเป็นห่วง/วิตกกังวลด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 88.92 ระบุว่าของแพง สินค้าและบริการต่างๆ ขึ้นราคา ร้อยละ 80.54 การจ้างงาน เงินเดือน สวัสดิการ ว่างงาน และอันดับ 3 ร้อยละ 79.51 ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม 

สำหรับความเป็นห่วง/วิตกกังวล ด้านสังคม ร้อยละ 83.25 ระบุภัยสังคมต่างๆ อาชญากรรม ปล้น ฆ่า ข่มขืน รองลงมาร้อยละ 76.32 ระบุพฤติกรรมของวัยรุ่นและเยาวชน เพราะเป็นวัยที่ติดเพื่อนไม่สนใจการเรียน ชอบมั่วสุม เที่ยวเตร่ ติดยาเสพติด พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล และร้อยละ 72.01 ระบุการฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ยึดติดวัตถุนิยมติดเทคโนโลยี 

       ส่วนใครหรือหน่วยงานใดที่คิดว่าจะมาแก้ปัญหาความวิตกกังวลได้ พบว่า ร้อยละ 87 ระบุ นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 81.10 คสช./ทหาร และร้อยละ 79.11 ระบุทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

"ปู"พาน้องไปป์กลับกทม.แล้ว

       วันที่ 15 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้พาน้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ไปรับประทานอาหารและชมวิวที่ดาดฟ้าของห้างเมญ่า แยกรินคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จากนั้นได้ไปขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติ จ.เชียงใหม่ เพื่อกลับกรุงเทพมหานคร โดยมีประชาชนเข้ามาขอถ่ายภาพก่อนขึ้นเครื่องเป็นระยะ หลังจากไปพักผ่อนที่ จ.เชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มาถึงกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. มีประชาชนเข้ามาขอถ่ายรูปและให้กำลังใจ ก่อนกลับเข้าบ้านพักส่วนตัว ในซอยโยธินพัฒนา 3 

      นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง "การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์" จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,252 ตัวอย่าง วันที่ 12-13 ก.พ. พบว่า ร้อยละ 47.68 ระบุควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ร้อยละ 25.33 ระบุคสช. ไม่ควรอนุญาตเพราะอยู่ในช่วงการดำเนินคดี ควรรอให้ศาลพิจารณาคดีให้ เสร็จสิ้นก่อน และเกรงว่าจะลี้ภัยทางการเมือง ไปแล้วไม่กลับมาเลย ร้อยละ 23.16 ระบุ คสช. ควรอนุญาตเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทำได้ และถือว่าไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง และร้อยละ 3.83 ไม่แน่ใจ 

       หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับอนุญาตจาก คสช./ศาลให้เดินทางไปต่างประเทศ ร้อยละ 35.22 ระบุว่าเชื่อว่าไปและจะกลับมาตามกำหนด ร้อยละ 32.75 เชื่อว่าไปแล้วจะไม่กลับมาเลย ร้อยละ 14.46 ระบุว่าเชื่อว่าไปและกลับ แต่จะไม่กลับมาตามกำหนด ร้อยละ 2.64 ระบุว่า เชื่อว่าจะไม่เดินทางไปต่างประเทศเลย ร้อยละ 14.94 ไม่แน่ใจ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!