WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ชง'บิ๊กตู่'ลุยปรองดอง นั่งคุมเอง นัด'คู่ขัดแย้ง'หาข้อยุติ ปล่อย'อานนท์-พวก'นศ.จี้เลิก'อัยการศึก''ออสซี่'ร่วมเวทีอุดรฯ ปู-ไปป์บินกลับกทม.

ปล่อยตัว - เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกควบคุมทั้ง 4 คน จากการทำกิจกรรมรำลึกเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. และชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์



กลับ กทม. - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมน้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย เดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง หลังจากไปพักผ่อนที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์

    ทหาร-ตร.ให้ประกันกลุ่มจัดกิจกรรม 'เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก' นักศึกษา มช.-มธ.ออกแถลงการณ์จี้ คสช.เลิกอัยการศึก

@ พท.อัดรธน.ทำให้เกิดปัญหา

     พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมเข้าร่วมสัมมนาหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะจัดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า การแสดงความเห็นจะเป็นไปตามกรอบที่ กมธ.ยกร่างฯส่งมาให้ จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งความเห็นของตน และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการ พท. จะเป็นความเห็นส่วนตัว เนื่องจาก พท.ไม่สามารถเรียกประชุมพรรคได้ 

     "จะยึดแนวทางที่นายโภคิน พลกุล แกนนำ พท. เคยเสนอ กมธ.ยกร่างฯ ไว้ ประกอบกับสิ่งที่ได้เคยศึกษาไว้ก่อนวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้ผมและนายชวลิต ได้รับมอบหมายจากพรรคในฐานะผู้ติดตามการจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป" นายสามารถกล่าว และว่า ส่วนตัวเมื่ออ่านกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญแล้ว มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการนำเอาสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติอาจจะเกิดปัญหา อาทิ การสมัคร ส.ส.นอกจากต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องมีกรรมการขึ้นมาตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เวลาลงสมัครจริงๆ อาจจะมีปัญหา ถ้ากรรมการที่มาตรวจสอบเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าได้กรรมการที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรมจะเป็นการตัดโอกาสคนที่ไม่ใช่พวกตัวเองหรือไม่ 

@ จวกทำลายระบบพรรค

       นายสามารถ กล่าวอีกว่า ประเด็นการให้ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ผู้สมัครไม่ได้รับผิดชอบหรือมีนโยบายที่ชัดเจน การไปบอกกับประชาชนทำให้เกิดความเชื่อถือในการทำงานจะทำอย่างไร หรือการให้พรรคการเมืองซึ่งนำเสนอนโยบายซึ่งต้องใช้งบประมาณต้องชี้แจงที่มาที่ไปของงบประมาณที่ใช้ ทั้งหมดล้วนเป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง ที่สุดแล้วจะทำให้พรรคการเมืองซึ่งเป็นแหล่งรวมคนที่มีอุดมการณ์การเมืองเดียวกันที่เข้มแข็งหมดไป เพราะคนจะไปสมัครอิสระกันหมด การให้ผู้สมัครอิสระไม่ต้องมีนโยบายจะทำให้ที่สุดแล้วเกิดวิธีการนอกกฎหมาย นำมาซึ่งการซื้อสิทธิขายเสียงขึ้นได้

     "นอกจากนี้ประเด็นเสถียรภาพรัฐบาลจะไม่มีเมื่อ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส. อาจเกิดการซื้อตัวย้ายพรรคให้วุ่นวาย อีกทั้งประเด็น ส.ว.มีอำนาจมากขึ้น ทั้งในการตรวจสอบและการเสนอกฎหมายได้ แล้วให้เอากลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนกลั่นกรอง สุดท้ายแล้วจะทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตรกันไปหมด" นายสามารถกล่าว และว่า ไม่นับประเด็นเรื่องท้องถิ่นที่ให้มีสมัชชาประชาชนขึ้นมาตรวจสอบองค์การปกครองท้องถิ่น ถ้าสมัชชามาจากคนที่เป็นกลางเห็นแก่ท้องถิ่นไม่เอนเอียงก็ดี ถ้าสมัชชา มีที่มาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายหนัก ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เราคงไปสะท้อนในที่ประชุม

@ 'จุรินทร์'ชี้ให้เวลาน้อยเกินไป 

       นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า จะไปร่วมสัมมนาตามหนังสือเชิญจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในนามส่วนตัวตามกรอบในหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่อง หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง 

      "เป็นกังวลในเรื่องของเวลาที่ กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้แต่ละตัวแทนพรรคได้แสดงความคิดเห็นในเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น เท่าที่ทราบจะมีตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมถึง 30-40 พรรค ดังนั้น หากประเมินจากเวลาที่ กมธ.ยกร่างฯกำหนด คาดว่าแต่ละพรรคจะมีเวลาพูดเพียง 3 นาที หากเป็นเช่นนั้น คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอย่างน้อยผมคงไม่มีโอกาสได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นสำคัญที่อยากให้ กมธ.ยกร่างฯรับฟัง เพื่อไปประกอบการพิจารณาได้อย่างครบถ้วน" นายจุรินทร์กล่าว

      นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในข้อเสนอที่เตรียมมาหารือจะมีหลายประเด็นที่คิดว่า กมธ.ยกร่างฯควรจะต้องรับฟังข้อมูลอีกด้านอย่างครบถ้วน อย่างน้อยในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง ในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง เช่น เรื่องของผลกระทบที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความอ่อนแอลง แทนที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพราะในทุกประเทศทั่วโลกที่เขาใช้ระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการเสริมสร้างให้พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นกลไกหลัก เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความสามารถ ความคิดเห็นที่เหมือนกัน เพื่อนำไปพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ 

@ กมธ.ถกหมวดปฏิรูป-ปรองดอง 

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ว่า สัปดาห์นี้ กมธ.ยกร่างฯจะเริ่มพิจารณาร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ที่ประชุมตั้งใจจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์

     "หมวดการปฏิรูปเนื้อหาบางส่วนทาง กมธ.ยกร่างฯได้ขอความเห็นไปยัง กมธ.ปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 18 คณะ ได้เสนอความเห็นว่ามีความต้องการให้ประเด็นใดถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เบื้องต้นได้รับรายงานว่ามี กมธ.การปฏิรูปของ สปช.ส่งความเห็นกลับมายัง กมธ.ยกร่างฯ ประมาณ 9 คณะแล้ว" นายคำนูณกล่าว

@ ชี้หน้าตารธน.จะเริ่มชัดเจนขึ้น 

      นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของกระบวนการยกร่างหลังจากนี้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพราะว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญของหมวดนี้ล้วนเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน การที่จะมีเรื่องปฏิรูปและปรองดองเข้าไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้เฉยๆ แต่ต้องปฏิบัติได้ โดยผ่านกลไกที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องในช่วงที่มีรัฐบาลและรัฐสภาในสถานการณ์ที่ปกติต่อเนื่องไปประมาณ 4-5 ปี

       "ข้อสรุปทั้งหมดจาก สปช.จะถูกส่งทอดไปสู่กลไกที่ขับเคลื่อนนอกเหนือจากระบบบริหารราชการปกติ เมื่อขับเคลื่อนไปสักระยะหนึ่งจะสลายตัวไป ยกเว้นจะให้อยู่ต่อเนื่องไปก็จะต้องทำประชามติ" นายคำนูณกล่าว 

       นายคำนูณ กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมที่จะตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบว่า กมธ.ยกร่างฯยังไม่เห็นรายละเอียด เข้าใจว่าเป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งไว้เพื่อเตรียมพิจารณาในสัปดาห์นี้ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรคงต้องรอผลการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯอีกครั้ง

@ 'เอนก'แย้มสเปก กก.ปรองดอง 

        นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบหมวดการปรองดอง กล่าวกรณีที่นายบวรศักดิ์ เตรียมตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติเพื่อมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ว่า คณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน มีคุณสมบัติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สังคมยอมรับ มีประสบการณ์ในการสร้างสันติสุข ส่วนฝ่ายคู่ขัดแย้ง 5 คนนั้นทางผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 คน จะเป็นผู้ทำหน้าที่คัดเลือกอีกครั้ง

        "คณะกรรมการจะทำหน้าที่สร้างความปรองดองในระยะยาว แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทำให้ความขัดแย้งเป็นประชาธิปไตย สันติวิธี ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้แตกแยก หักล้าง และบาดหมางกัน แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงตัวร่างบทบัญญัติที่เตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาแต่อย่างใด" นายเอนกกล่าว

@ วอนทุกฝ่ายอดทน-ใจเย็น

      นายเอนก กล่าวว่า กระบวนการปรองดองให้เกิดความสำเร็จนั้น ทุกคนต้องหันหน้าคุยกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนานสูงสุดของบ้านเมือง ต้องเชิญทุกฝ่ายมาคุยกัน เนื่องจากทุกคนเชื่อถือและมั่นใจว่ามีอำนาจที่จะทำให้ความขัดแย้ง ทุเลาคลี่คลายไปสู่สันติวิธี และสันติสุขได้ อีกทั้งเท่าที่ฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะเดินหน้า เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ที่มีอำนาจของบ้านเมืองจะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา

       "ดังนั้น อยากเสนอสิ่งเหล่านี้เพื่อให้โอกาสกับบ้านเมืองกลับสู่สันติสุข เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หากบ้านเมืองปกครองโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขัดแย้งกัน แต่สถานการณ์พิเศษตอนนี้มีฝ่ายที่สามซึ่งไม่ใช่สองฝ่ายที่ขัดแย้งมาคุมอำนาจรัฐอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดี" นายเอนกกล่าว และว่า อยากให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองรีบดำเนินการ และขอวิงวอนไปยังทุกฝ่าย ขอให้อดทน ใจเย็น โดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องการการเลือกตั้ง ตนอยู่ใน กมธ.ยกร่างฯพยายามทำงานกันอย่างรวดเร็ว ถือว่าเร็วกว่ากำหนด บ้านเมืองปกครองระบอบอื่นไม่ได้นอกจากระบอบประชาธิปไตย 

@ 'พิเชษฐ'เบรกตั้งกก.ปรองดอง 

       นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ กำลังหารือให้มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ว่า ขอเตือนท่านประธาน กมธ.ยกร่างฯ ต้องอยู่กับความเป็นจริงบ้าง ว่าเรื่องใดทำได้จริงหรือไม่ ตนเห็นว่าบุคคลในสองสภาที่ตั้งขึ้นเป็นพวกเพ้อฝันเกินไป พอถึงเวลาแล้วทำไม่ได้อย่างที่พูดจะตอบสังคมยาก

       "เพราะเอาเเต่พูดเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งก่อนจะทำเรื่องอื่นนั้นจะตอบคำถามได้ไหมว่า ตั้งแต่ยึดอำนาจถึงวันนี้ การปฏิรูปในโหมดการเมือง เรื่องใดที่เป็นรูปธรรมบ้าง นอกจากหลีกไปทำเรื่องภาษีมรดกหรือกฏหมายที่ดิน" นายพิเชษฐกล่าว และว่า การปรองดอง ห่วงว่าคงเกิดยาก เนื่องจากมีการหยิบคดีที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดการเผชิญหน้า มาบีบให้อีกฝ่ายเข้าตาจนทั้งการดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และคดีสลายการชุมนุมในปี 2551 ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีต

     นายกฯ โดยเฉพาะเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น รัฐบาลกำลังหลงกลยุทธศาสตร์และแผนของพรรคเพื่อไทย (พท.) จนวันนี้ความนิยมในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์พุ่งสูงขึ้นจากวันที่ถูกยึดอำนาจเพราะคะเเนนความสงสาร 

      นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยยังวางเกมไว้ให้ประชาคมโลกเห็นว่า เเม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นผู้หญิง แต่กำลังต่อสู้กับการถูกจำกัดเสรีภาพจากรัฐบาลทหาร เหมือนกับกรณีนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในประเทศพม่า โดยมีสหรัฐอเมริกาเล่นบทพระเอกเคียงข้างเรียกเสรีภาพคืนให้อดีตนายกฯของไทย จึงเตือนว่าอย่าไปเปิดศึกภายนอกประเทศ เพราะจะกระทบการส่งออกกว่าปีละหมื่นล้าน ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ให้ยอมทุกอย่าง แต่ต้องคิดถึงภาพรวมว่า เราจะต่อสู้หรือแข่งขันทางการค้าบนเวทีโลกลำบากขึ้น

@ สนช.เมินตปท.ห่วงกม.ศาลทหารฯ

      พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับที่.... พ.ศ..... กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ของ สนช. ว่า คาดว่าที่ประชุม สนช.น่าจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขฉบับดังกล่าว ในวาระ 2 วาระ 3 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เนื่องจากถูกบรรจุไว้ในวาระเรื่องด่วนลำดับสุดท้าย 

      "ขอยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องตามประมวลกฎหมายอาญาและมีความทันสมัยมากขึ้น" พล.ร.ท.กฤษฎากล่าว และว่า กรณีที่ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ให้ สนช.ทบทวน โดยเฉพาะมาตรา 46 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ถึง 84 วันนั้น เจตนารมณ์ของมาตรานี้ตลอดจนถึงกฎหมายธรรมนูญศาลทหารทั้งฉบับคือ ไว้ใช้สำหรับการควบคุมดูแลทหารด้วยกันเอง ไม่มีส่วนใดไปกระทบต่อสิทธิพลเรือน

@ ยันพลเรือนไม่ได้รับผลกระทบ

       พล.ร.ท.กฤษฎากล่าวว่า ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นขององค์กรสิทธิมนุษยชน น่าจะเกิดจากการเห็นเพียงร่างแรกที่ถูกนำเสนอเข้ามาให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบรับหลักการในวาระ 1 และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้น กมธ.วิสามัญแล้ว ก็ได้ปรับแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในมาตรา 46 ที่เขียนอย่างชัดเจนว่า ให้ผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาที่มีความผิดตามกฎหมาย อยากให้ผู้ที่ยังห่วงกังวลต่อการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ฟังการอภิปรายจาก สนช.อีกครั้งในวันพิจารณา ที่ยังอาจมีการเสนอขอแก้ไขในรายละเอียดได้อีก 

      พล.ร.ท.กฤษฎา กล่าวว่า ทาง พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจจะนัดแถลงชี้แจงรายละเอียดและเจตนารมณ์อีกครั้ง ก่อนเข้าสู่การพิจารณา เพื่อให้สังคมได้เข้าใจตรงกัน และขอชี้แจงว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารไม่ได้เพิ่งมาริเริ่มดำเนินการหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ แต่ร่างแก้ไขฉบับนี้พยายามจะผลักดันมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว แต่ไม่สำเร็จ 

      เมื่อถามถึงกรณีที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรปหรืออียูประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร พล.ร.ท.กฤษฎากล่าวว่า ศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ไปตามกฎหมาย ส่วนการใช้กฎอัยการศึกและคำสั่งให้นำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องของนโยบาย

@ ห่วงเสียของหาก'ปรองดอง'ไม่ได้

      นายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.สามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติขึ้นมาถือเป็นเรื่องที่ดี ในการวางเจตนารมณ์ว่าจะต้องทำการปรองดองให้สำเร็จ เป็นการวางแผนระยะยาว ตนสนับสนุน แต่ส่วนตัวอยากจะให้ทำเรื่องปรองดองในตอนนี้เลย ไม่จำเป็นต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

       "โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรแสดงความต้องการปรองดอง ดำเนินการเองได้เลย เพราะบรรยากาศขณะนี้เอื้ออำนวยอย่างมาก อาจจะเป็นการเชิญคู่ขัดแย้งมาพูดคุยเหมือนก่อนที่รัฐประหารก็ได้ เรื่องปรองดองต้องการการปฏิบัติไม่ใช่ทำเป็นตัวหนังสือ ถ้ารัฐบาลไม่ทำตอนนี้ให้สำเร็จจะถือว่าล้มเหลวและเสียของเป็นอย่างมาก" นายวันชัยกล่าว

@ แนะ'บิ๊กตู่'คุย'แม้ว-คู่ขัดแย้ง'

นายวันชัยกล่าวว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องทำเพื่อให้ประเทศกลับสู่ความปรองดองโดยเร็ว คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขอให้นัดเลยว่าจะเจอกันที่ไหน แต่จะต้องมีคนร่วมการพูดคุยด้วยไม่ใช่คุยกันแค่ 2 คน เพราะอาจถูกมองว่าไปเกี้ยเซี้ยกัน จากนั้นต้องนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง 

"2.พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องคุยกับคู่ขัดแย้งคือแกนนำ พท. แกนนำ ปชป. รวมถึงคู่ขัดแย้งกลุ่มการเมือง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยจะไปพบเองหรือเข้าพบทีละคู่ เมื่อพูดคุยได้ข้อสรุปแล้วก็นำมาบอกกับประชาชนว่าอะไรที่ตกลงได้ และอะไรที่ตกลงไม่ได้บ้าง" นายวันชัยกล่าว

@ อดีตส.ว.เห็นด้วยตั้งกก.ปรองดอง 

ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติขึ้นมา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความปรองดอง ทำให้ทุกฝ่ายได้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ดี เพราะหากไม่มีการปรองดอง ประเทศจะยังมีปัญหาในการขับเคลื่อนของทุกๆ ด้าน แต่การปรองดองต้องไม่นำไปรวมกับเรื่องการทุจริตและการฆ่าคนตาย นอกจากนี้ทุกๆ ฝ่ายเองต้องหยุดพฤติกรรมที่จะสร้างความขัดแย้งซึ่งกันและกันด้วย มาถึงตอนนี้แล้วการปรองดองต้องทำให้จริง โดยเฉพาะแกนนำของกลุ่มขัดแย้งควรจะมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก

@ พท.ติง5ปีปรองดองนานไป 

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการหาหนทางสร้างความปรองดองฯ ของนายบวรศักดิ์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เวลาที่เนิ่นนานถึง 5 ปี ประเทศชาติและประชาชนคงบอบช้ำมากถ้าไม่รีบดำเนินการในทันทีที่มีอำนาจ ควรรีบดำเนินการเหมือนเช่นในอดีตที่ผู้ถืออำนาจรัฐได้ดำเนินการเยียวยาทันที ซึ่งก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกครั้ง ขอเสนอข้อพิจารณาสำคัญของการนำคุณธรรม อภัยมาใช้เยียวยาปัญหาบ้านเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้ 5 ข้อ 1.ให้รับฟัง 2.อย่ารอพิสูจน์ความจริงและการสำนึกผิด 3.ควรทำทันที 4.การใช้คุณธรรม 5.อภัยเพื่อถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กำลังงง ไม่ค่อยเข้าใจที่นายบวรศักดิ์ กำลังจะเสนอ เพราะมีการพูดถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เพื่อทำงานศึกษาหาทางออกและความขัดแย้งในประเทศ ที่สำคัญมีการพูดถึงเรื่องการอภัยโทษ ทั้งที่เดิมทีเวลาทำเรื่องปรองดอง จะมีแต่การพูดถึงการนิรโทษกรรม ต้องเข้าใจก่อนว่าการอภัยโทษ กับการนิรโทษกรรมนั้นแตกต่างกัน เป็นคนละความหมาย เพราะการอภัยโทษเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ถ้าการนิรโทษจะเป็นอำนาจของรัฐสภา เป็นการลงมติในการออกกฎหมาย ไม่รู้ว่าที่ประธาน กมธ.ยกร่างฯจะเสนอนั้น จะเป็นการไปอภัยโทษให้ใครหรือคนกลุ่มไหน

@ 38ส.ว.ยันแจงปมถอดถอน 

นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี หนึ่งใน 38 อดีต ส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ กล่าวถึงการชี้แจงเพื่อแก้ข้อหากรณีถูกถอดถอนต่อที่ประชุม สนช.ว่า จะว่าตามกระบวนการ และคงไม่ไปต่อว่าหรือกล่าวหาใคร เพราะเราไม่ใช่กลุ่มการเมืองหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเชื่อว่าสมาชิก สนช.ซึ่งเป็นผู้ใหญ่จะเข้าใจ เพราะคดีพวกตนไม่เกี่ยวกับการทุจริต ที่ผ่านมากรณีถอดถอน 2 อดีตประธานสภาซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าแต่ก็ยังไม่ถูกถอดถอน ดังนั้นจึงเบาใจ แต่อยากไปชี้แจงทุกคนเพราะเชื่อว่าสังคมได้ตัดสินพวกตนไปแล้วเพราะไม่ทราบรายละเอียด

@ ทหารปล่อย4นักกิจกรรมแล้ว

สำหรับกรณีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 4 คนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ได้แก่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ นักกิจกรรมสันติวิธี นายอานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง หรือพ่อน้องเฌอ โดยทั้ง 4 คนถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน 

ต่อมาเวลา 02.52 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้ให้ประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมทั้ง 4 คนแล้ว และทั้งหมดจะต้องขึ้นต่อสู้คดีที่ศาลทหารต่อไป

@ 'ทนายอานนท์'เผยนาทีถูกจับ

นายอานนท์ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่า กิจกรรมที่จัดขึ้น ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับมั่นใจว่าเป็นการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เป็นเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเมื่อจัดกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่ โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. แจ้งความจับตนและนักกิจกรรมอีก 3 คน คือนายสิรวิชญ์ นายวรรณเกียรติ และนายพันธ์ศักดิ์ ถูกทหารคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวันตั้งแต่ราวหกโมงเย็น มีการพูดคุยกันอยู่นาน ซึ่งตอนแรกตำรวจจะปล่อยตัวอยู่แล้วแต่ทหารไม่ยอม ในที่สุดราวห้าทุ่มกว่าถูกแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกปล่อยตัวราวตีสองกว่า

"ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่เราปฏิเสธ เพราะเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ แต่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจึงขอยื่นประกันตัวกระทงละ 20,000 บาท สำหรับนายวรรณเกียรติและนายพันธ์ศักดิ์ ส่วนผมใช้ตำแหน่งทนายความประกันตัวออกมา ด้านนายสิรวิชญ์เนื่องจากเคยลงนามกับทหารเรื่องห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงโดนอีกหนึ่งกระทง ประกันตัวออกมา 40,000 บาท" นายอานนท์กล่าว

@ ไม่รับเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหว

นายอานนท์กล่าวว่า ตอนขอประกันตัว ตำรวจบอกว่าจะแจ้งให้เซ็นยอมรับเงื่อนไข ห้ามออกนอกประเทศ ให้อยู่เป็นหลักแหล่ง และห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งหมดไม่ยอมเซ็นโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะคิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นเป็นเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้

นายอานนท์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่นัดให้ทั้งหมดมารายตัวที่ สน.ปทุมวันอีกครั้งในวันที่ 16 มีนาคม สำหรับทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เตรียมคุยกันว่าจะมีกิจกรรมทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ เพราะอำนาจและคำสั่งรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มไม่ยอมรับตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวต่อไปจะทำอยู่ในกรอบเดิมคือสร้างสรรค์และสันติ

@ 'พ่อน้องเฌอ'ลั่นจะจัดอีก

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า จุดยืนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ คือต้องการเปิดพื้นที่ให้คนได้แสดงความคิดเห็น กิจกรรมของเราออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่มีเชิงชุมนุม แต่จัดขึ้นโดยมีวาระ ไม่ใช่อยู่ๆ รวมตัวกันเลย แต่มีวัน เวลา สถานที่ และเงื่อนไขทางการเมืองที่ชัดเจน เช่น ที่เคยจัดกิจกรรม "เค้าดาวน์ เรารุ่ง" บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปลายปีก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะได้แจ้งเจ้าหน้าที่ มีการปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอมาทุกอย่าง อย่างห้ามล้ำออกมานอกถนน ห้ามป้ายผ้า เป็นต้น ซึ่งหากจะเป็นข่าวก็เพียงโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ฝ่ายประชาธิปไตย แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อาจเป็นเพราะจัดขึ้นกลางเมือง และเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง ทำให้ทหารต้องมาเชิญตัวไปรับแจ้งข้อกล่าวหา กลายเป็นภาพใหญ่ที่สื่อนำไปพูดต่อ 

"เข้าใจว่าเป็นการจัดงานบริเวณใจกลางเมือง ถ้าเจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ได้อาจจะเกิดการเสียหน้า ซึ่งตอนแรกที่ในข่าวออนไลน์บางสำนักสรุปว่า นายสิรวิชญ์ โดนปรับ 100 บาท ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงก่อให้เกิดความรำคาญ ส่วนอีก 3 คนที่เหลือ ไม่มีแจ้งข้อกล่าวหานั้นถูกต้อง แต่เข้าใจว่าทหารคงไม่ยอม อย่างไรต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา เลยโดนขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/ 2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเราอ้างคำ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยบอกว่า จัดกิจกรรมได้ไม่มีความผิดอะไร ถ้าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ทหารซึ่งอยู่ที่ สน.ปทุมวัน ไม่ยอม ในที่สุดทั้งหมดก็โดนแจ้งข้อหา" นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง 2.ห้ามออกนอกประเทศ 3.ต้องอยู่ที่เคหสถานที่แจ้งไว้นั้น ไม่มีใครเซ็นรับเงื่อนไขจากทาง คสช.เลย เพราะในกลุ่มมีหลายคนยืนกรานว่าจะไม่ยอมรับเงื่อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขอไว้ให้นายสิรวิชญ์ยอม เพราะต้องเรียนหนังสือให้จบ ซึ่งเมื่อทั้งหมดเสียงแข็งอยู่หลายครั้ง ประกอบกับตนและนายอานนท์ยืนยันว่าถ้ามีเงื่อนไขจะยอมเข้าคุก ตอนประกันตัวจึงไม่มีเงื่อนไขใดๆ พ่วงมาด้วย ทุกคนสามารถเคลื่อนไหวได้ตามอิสระ ยกเว้นการเดินทางออกนอกประเทศที่ต้องขออนุญาตท้องที่ สน.ปทุมวัน ก่อน ซึ่งไม่ได้เขียนพ่วงมา แต่เหมือนว่าเป็นธรรมเนียมของผู้ประกันตัวทุกคนอยู่แล้ว

@ เพจพลเมืองโต้กลับแจงปมจับ

ด้านเพจพลเมืองโต้กลับได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ภาพเหตุการณ์ในงานเลือกตั้งที่(รัก)ลัก กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย นิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน รวมถึงญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้ง นั้นเพราะนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศก็ไม่เคยสัมผัสรสแห่งเสรีภาพอีกเลย

"บรรยากาศรำลึกการเลือกตั้งนี้ถูกห้ามจัดทั้งที่ยังไม่เริ่มกิจกรรม โดยไม่มีสาเหตุชี้ชัดว่าห้ามไปทำไม เพราะอะไร ตำรวจริบเครื่องเสียง อุปกรณ์ประกอบฉาก หีบเลือกตั้ง อย่างไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น (โดยตั้งข้อหาแรกว่าก่อกวนความสงบ) เมื่อกิจกรรมจบลง ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้จัดกิจกรรม 4 คน ภายหลังได้มีการปล่อยตัวชั่วคราวจากเงินประกันคนละ 2 หมื่นบาททั้งสิ้น 3 คน และ 4 หมื่นบาท 1 คน และทั้งหมดรอส่งขึ้นศาลทหารในขั้นต่อไป"

@ ตร.ให้ประกัน4นักกิจกรรม

พ.ต.อ.จักริน พันธ์ทอง พงส.ผทค.สน.ปทุมวัน เปิดเผยว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ถูกแจ้งข้อหา ร่วมกับพวกที่หลบหนี ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ จากการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล ก่อนให้ประกันตัวคนละ 20,000 บาท กลับไปในเวลา03.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดยนัดผู้ต้องหาเข้าพบเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลทหาร ในวันที่ 16 มีนาคม ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะทำสำนวนและหากผู้ต้องหามีพฤติกรรมดังกล่าวอีกจะถูกดำเนินคดีต่างกรรมต่างวาระต่อไป

@ ทนายแจงได้ประกันหมดแล้ว 

น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ทั้ง 4 คน ได้ร้บการประกันตัวหมดแล้ว ตนรับผิดชอบในคดีของ นายอานนท์ นายพันธ์ศักดิ์ และนายวรรณเกียรติ ซึ่งทั้ง 3 คน ถูกแจ้งเพียงข้อหาเดียวคือ ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดย นายอานนท์ ใช้ตำแหน่งทหนายประกันตัว ส่วนนายพันธ์ศักดิ์ และนายวรรณเกียรติ ใช้หลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท 

น.ส.เยาวลักษณ์กล่าวว่า กรณีของ นายสิรวิชญ์ ได้สอบถาม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ที่เข้ามาช่วยดูแล ทราบว่า นายสิรวิชญ์ โดนแจ้ง 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 และผิดเงื่อนไขที่เคยถูกควบคุมตัว จึงต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเป็นจำนวน 40,000 บาท พร้อมทั้งต้องลงนามนามยอมรับเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ 1.ต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและเปิดเผย 2.ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 3.ห้ามออกนอกประเทศ 

@ 'พิชญ์'ชี้ทหารจับคู่ขัดแย้งปชช.

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า สถานการณ์การจับกุม ดำเนินคดี และประกันตัว กรณีเลือกตั้งที่ลัก ผมคิดว่าหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การตัดสินใจที่ใช้ข้อหาการละเมิดคำสั่ง คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และการตัดสินใจนำเรื่องเข้าสู่ศาลทหาร คิดว่าในทางการเมือง คือการวัดกำลังกันครั้งแรกระหว่างประชาชนกับทหารอย่างสมบูรณ์แบบ และทำให้ทหารกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนมากขึ้นกว่าข้ออ้างในการยึดอำนาจที่บอกว่าเข้ามาเพราะประชาชนทะเลาะกันเอง

"ที่สำคัญยิ่งงานนี้คู่ขัดแย้งเปลี่ยนจาก นักการเมืองฝ่ายยิ่งลักษณ์ หรือเสื้อแดง กับทหาร มาสู่ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยกับทหารที่ยึดอำนาจ คือ คสช. เพราะใช้กฎหมายของ คสช. และเป็นโครงสร้างกฎหมายที่ทำให้ระบบการรัฐประหารสถาปนาความเป็นผู้ปกครองที่แท้จริงของประเทศ ตั้งแต่กฎอัยการศึก คำสั่ง คสช. และ ศาลทหาร ย้ำนะครับ นี่คือฐานทางกฎหมายสำคัญของการทำรัฐประหารรอบนี้ที่ไม่ยอมเสียของ ดังนั้น เรื่องของการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม่น้ำห้าสายอะไรนั่นเป็นเรื่องรองครับ เรื่องหลักคือ กฎอัยการศึกที่ประกาศตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ การยึดอำนาจและใช้คำสั่ง คสช และ การใช้ศาลทหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นการสร้างข้อยกเว้นให้กับกระบวนการทางกฎหมายปกติ และใช้ลักษณะพิเศษคือ การใช้ดุลพินิจว่าจะหันมาใช้เรื่องนี้เมื่อไหร่ แทนที่จะใช้ศาลปกติ หรือองค์กรอิสระ"

@ ชี้เข้าทางตปท.เลิกอัยการศึก

"จะเห็นว่าคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกำลังจะถูกจัดการด้วยศาลทหาร ถ้าเป็นกรณีที่เข้าสู่ปริมณฑลที่จะเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพทางการเมือง (แต่ในคำของผู้มีอำนาจมองว่ามันคือเรื่องของการสร้างความแตกแยก) เรื่องนี้ถือว่าเข้าทางที่ต่างประเทศเขารณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและศาลทหารมากขึ้น จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นจึงกลายเป็นความขัดแย้งโดยตรงระหว่างทหารกับประชาชนที่รักประชาธิปไตยมากขึ้น และข้อกล่าวหาที่จะโยงไปที่ทักษิณและเสื้อแดง

จะอ่อนลง นี่คือการปรับทัพในการต่อสู้ใหม่ที่ทำให้ทหารเจอกับต่างชาติโดยตรง ซึ่งสิ่งที่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดชัยชนะของทหารในรอบนี้คือก็คือกองเชียร์รัฐประหารเอง 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!