WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปู ไม่ไป-อัยการฟ้องวันนี้ บิ๊กตู่ป้อง รมต.ผลงานดีลั่นไม่ปรับยก'ไก่ตรุษจีน'เตือนสื่อ พท.จวกเอาผิด6แสนล. คลังเร่งสรุป'จำนำข้าว' ดึงสต๊อก 17 ล.บวกด้วย กมธ.ถกคุมงบพีอาร์รัฐ

       'บิ๊กตู่'ตัดเกรด รมต.สอบผ่านทุกคน ยันยังไม่คิดปรับ ครม. เตือนอย่าทำตัวเป็น'ไก่ตรุษจีน'บอกนักศึกษาเคลื่อนไหวระวังเดือดร้อน'โต้ง'ชี้จำนำข้าวช่วย ศก. ย้อนถามจีดีพีต่ำ ใครรับผิดชอบ

'บิ๊กตู่'ประเมินรมต.ผ่านหมด

      เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความพึงพอใจผลการทำงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาลว่า รู้กันบ้างหรือไม่ว่ามีผลงานอะไรของรัฐบาลที่ออกมาบ้าง จำได้ไหม ยังจำได้ไหม ผลงานที่ผ่านมามีทั้งหมด มีเยอะแยะ แต่สื่อก็ยังเขียนว่ารัฐบาลไม่เห็นทำอะไร นั่งกันอยู่เฉยๆ อ่านแล้วก็โมโห พูดอย่างนี้หมดกำลังใจเหมือนกัน ที่ผ่านมาถึงวันนี้ออกกฎระเบียบมากมาย ปรับปรุงวิธีการกระบวนการรื้อของเก่าทำของใหม่ ไม่ง่าย ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ครม.ชุดนี้ทำทั้งสิ้น แล้วถ่ายทอดให้ข้าราชการดำเนินการต่อ ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองลงลึกไปถึงข้างล่าง แต่มีความเสียหายเยอะ ไม่อยากพูด

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประเมินผลงานของรัฐมนตรีให้ผ่านทุกคนอยู่แล้ว ต้องขอบคุณเพราะทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อย อดตาหลับขับตานอน ผลงานวันนี้จับต้องได้ ที่สำคัญคือประเทศไม่ล้ม ที่ผ่านมาประเทศเราจะล้มอยู่แล้ว ไม่รู้กันหรืออย่างไรว่าประเทศเป็นอย่างไรอยู่ ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศล้มไปแล้วเกือบจะพังพาบ รัฐบาลไปดันขึ้นมา รื้อฐานราก ที่ผ่านมาอาจไม่มีใครรู้เพราะไม่มีใครมาตอบคำถาม มีแต่เท่านั้นที่พูดมาก พอพูดมาก็หาว่าพูดเกินไป พอไม่พูดก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะเอาอย่างไรกัน

เตือนอย่าทำตัวเป็นไก่ตรุษจีน

     "วันนี้วันตรุษจีนอยากเป็นเหมือนไก่ตรุษจีนกันก็เอาสิ ต่างเก่งต่างก็จิกตีกันตลอดเวลาที่อยู่ในเข่ง สุดท้ายถึงเวลาก็ถูกนำไปฆ่าเชือดคอทั้งเล้า ตายทั้งเข่ง อย่าทำตัวเป็นไก่ตรุษจีน ผมไม่ได้ว่าตัวเองดีหรือเก่งกว่าใคร แต่สื่อชอบออกมาตำหนิรัฐบาลแย่ เข้ามาแล้วไม่ทำอะไร ไม่มีผลงาน แต่ความจริงของเก่าไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องราวเลย ทำไมสื่อไม่ไปถามรัฐบาลที่แล้วบ้างทำไมถึงมีปัญหาเช่นนี้ ทำไมปล่อยให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องมาแก้ปัญหา ไปถามรัฐบาลคนดีคนเก่งของพวกท่านดู น่ารำคาญจริงเลยพวกนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

      ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการปรับ ครม.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่คิด มีเรื่องใหญ่โตกว่านี้เยอะ ถ้าคิดถึงเรื่องนี้เรื่องเดียวก็คงไม่ต้องทำอะไรแล้ว ควรรู้ว่างานเยอะขนาดไหน ทุกกระทรวงก็ทำกันอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาต่างก็อดตาหลับขับตานอน แต่สื่อก็ยังไปวิพากษ์วิจารณ์ อ่านดูแล้วก็รู้สึกแปลกๆ มีการเขียนถึงเรื่องของผลประโยชน์ อยากถามว่ารัฐมนตรีจะไปเอาประโยชน์อะไร ทุกคนไม่ได้ยากจน ทุกคนรู้ฐานะดีว่าเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น เข้ามาทำอะไร ทุกคนทุ่มเท เป็นเรื่องของเกียรติยศ เดี๋ยวก็ไปแล้ว ทำไมต้องมาทำอะไรให้เกิดความเสียหายกับวงศ์ตระกูล ไม่เข้าใจ ทุกคนไม่ได้อยากอยู่ ไม่ได้อยากทำ แต่คนไทยทั้งชาติจะทำอย่างไร

      เมื่อถามว่า เมื่อเข้ามาแล้วเจอปัญหามากมายเช่นนี้รู้สึกตกใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "แหม อย่างกับเข้ามาเป็นนายกฯ แล้วตกใจ ไม่ตกใจหรอก เพราะรู้ว่ามีปัญหาเยอะถึงเข้ามา เข้ามาเพราะรู้ว่ามีปัญหามากมาย แต่ไม่ตกใจ เพราะรู้ว่าเป็นอย่างไรอยู่ แต่ตกใจอย่างเดียวคือมากกว่าที่คิดไว้เยอะ ไอ้เรื่องที่แย่ๆ"

ห่วงน.ศ.เคลื่อนระวังเดือดร้อน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งว่า เป็นห่วงอยู่ เดี๋ยวจะเดือดร้อนเรื่องการเรียนการศึกษา ไม่รู้จะไปประท้วงอะไรเรื่องเลือกตั้งกันนักหนา รู้กันอยู่แล้วว่าการ

เลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อทุกอย่างพร้อม มีรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามโรดแมป แล้วจะมาเรียกร้องให้เลือกตั้งเดี๋ยวนี้ ก็ยังเลือกตั้งไม่ได้ ขอร้องว่าอย่ามาร้องตอนนี้เลย ถ้าต้องการออกมาแสดงความคิดเห็นก็มีช่องทางให้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาคิดว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็คงมี เจ้าหน้าที่กำลังดูอยู่ ถ้าสื่อรู้ก็ขอให้ช่วยบอกหน่อยว่าใครบ้างอยู่เบื้องหลัง เดี๋ยวไปถามฝ่ายความมั่นคงให้

มอบ'วิษณุ'ดูกม.ฟ้องแพ่ง'ปู'

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนโครงการรับจำนำข้าวให้กระทรวงการคลังฟ้องเรียกร้องความเสียหายทางแพ่ง วงเงินกว่า 6 แสนล้านบาท จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า การประชุม ครม.วันนี้ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาในข้อกฎหมาย ว่าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลตรงไหนอย่างไร และ ครม.ต้องดำเนินอย่างไร เป็นเรื่องคดีความ ต้องดูความรับผิดชอบว่าอยู่ตรงไหนอย่างไร

     เมื่อถามว่า เป็นห่วงสถานการณ์อย่างไรหรือไม่ เพราะตอนนี้คดีความต่างๆ อยู่ในจุดของการตัดสิน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วอย่างไร เร็วเกินไปหรืออย่างไร จะให้ช้าลงกว่าเดิมหรืออย่างไร ทุกคดีอันไหน เขาพร้อมเขาก็ทำ 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่กลัวว่าถูกมองว่าเร่งรัดคดี จะกลัวทำไม ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่ในศาล คนเริ่มต้นดำเนินการก็ไม่ใช่ แต่เป็นกระบวนการ ป.ป.ช.สอบสวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนมาเป็นรัฐบาล อะไรตามออกมาก็เป็นเรื่องของกฎหมาย เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่มีการเมืองหรือการกลั่นแกล้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ช่วยอธิบายสิ สื่อเข้าใจหรือเปล่าว่าทำไมเป็นอย่างนี้ อย่าไปมโนเองหรือเขียนเอง

สั่งพณ.ล้มประมูลข้าวรอบแรก

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ให้รัฐเรียกความเสียหาย จะยิ่งเป็นการบีบให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีหรือไม่ว่า ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีจะเกิดอะไรขึ้นมา แล้วถ้าไม่หนีจะเกิดอะไรขึ้น ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไรกับใครสักคน ถ้าเขาหนี เขาก็ไม่มีความสุข เขาอยู่เขาก็ต้องสู้คดี ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าผิดถูกอย่างไร ก็ต้องไปสู้คดีในศาล

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว อยู่ในวงเงินกว่า 6 แสนล้านบาท หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเลข มูลค่าโครงการใช้ไปเท่าไหร่ แล้วขายข้าวไปเท่าไหร่ ที่เหลือจะเป็นยอดเงินขาดทุนอยู่ บวกกับข้าวในคลัง หักลบกลบหนี้ตอนนี้ยังไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะขายข้าวได้เมื่อไหร่ ข้าวจะเสื่อมราคาหรือไม่ ถ้าขายข้าวได้ราคาต่ำ มูลค่าการขาดทุนก็สูงขึ้น วันนี้ค่าเช่าโกดังเก็บข้าวตกเดือนละ 2,600 ล้านบาท เสียเปล่าๆ จะทำอย่างไร ถ้าเก็บไว้อีกสักปีจะเสียเท่าไหร่ คง 3 หมื่นกว่าล้านบาท

       นายกฯกล่าวถึง การตรวจสอบนอมินีการประมูลข้าวรอบแรกว่า คงจะต้องประมูลเพิ่ม เพราะ 4 แสนตันประมูลรอบแรก เป็นบริษัทที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เร่งขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องตรวจสอบความถูกต้อง สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบว่าบริษัทรับไป 4 แสนตัน จาก 9 แสนตัน อาจเป็นนอมินีบริษัทเดิมที่มีปัญหา ต้องให้ประมูลใหม่ และได้สั่งให้ยุติแล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลนี้ทำทุกอย่าง ทำช้าไปก็หาว่าขายไม่ออก แต่พอทำเร็วไปก็หาว่าไม่รอบคอบ แล้วจะเอาอย่างไร แต่ตนก็ทำของตนแบบนี้ จะทำไม 

'วิษณุ'แย้มฟ้องแพ่งใช้เวลานาน

       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การฟ้องร้องต้องยื่นต่อศาลแพ่ง มีกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเข้ารัฐ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดว่าหลังจาก ป.ป.ช.ส่งหนังสือให้หน่วยงานนั้นแล้วจะต้องฟ้องต่อศาลแพ่งภายในเวลาเท่าใด แต่ทราบกันอยู่แล้วว่าต้องยื่นฟ้องภายในอายุความ คดีแพ่งสั้นกว่าคดีอาญา การฟ้องร้องทางแพ่งเป็นคนละส่วนกับคดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าวที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การพิจารณาคดีแพ่งก็มีโอกาสใช้เวลานาน 

ผบ.ทอ.เชื่อส่งฟ้อง'ปู'ไม่วุ่น

       พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ คสช. กล่าวถึงการดูแลสถานการณ์ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เตรียมส่งฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าไม่น่าจะมีอะไร กลุ่มต่างๆ จะออกมาเคลื่อนไหวก็คงไม่มี คงเข้าใจว่าบ้านเมืองต้องการความสงบเรียบร้อยและต้องเดินหน้า ขอร้องทุกคนว่าให้ทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากไม่สามารถเดินหน้าตามโรดแมปได้ทุกคนก็เดือดร้อน ปัจจุบันบ้านเมืองต้องต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาต่างๆ ก็ยากอยู่แล้ว ถ้าภายในชาติเข้มแข็ง จะช่วยประเทศชาติขับเคลื่อนได้ดีขึ้น 

คลังเล็งถกพาณิชย์สรุปตัวเลข

      นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช.แล้ว ได้สั่งการไปยังนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง จัดทำแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการคลังแล้ว แต่ยังไม่ตอบกลับมา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการคลังหน่วยงานเดียว มีหลายหน่วยงานรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ต้องมาช่วยพิจารณาด้วย ขอเวลา 2-3 วันหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มอบหมายให้นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย 

       นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือจาก ป.ป.ช. เรื่องความเสียหายคงต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะล่าสุดมีการปิดบัญชีข้าวจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่ 6.82 แสนล้านบาท จากโครงการรับจำนำข้าว 15 โครงการ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 หากแยกเฉพาะของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโครงการจำนำข้าว 4 โครงการขาดทุน 5.18 แสนล้านบาท ส่วนอีก 11 โครงการขาดทุน 1.63 แสนล้านบาท เป็นโครงการตั้งแต่ปี 2547-2554 

เล็งนำสต๊อก 17 ล.มาประเมินด้วย

    นายรังสรรค์กล่าวว่า อนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้นัดประชุมเพื่อสรุปผลการปิดบัญชีข้าวในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการปิดบัญชีจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับปีงบประมาณ ในการปิดบัญชีครั้งนี้จะนำผลการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงผลการตรวจสต๊อกข้าวและคุณภาพข้าวของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มาร่วมคำนวณด้วย

      "ผลขาดทุนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ยังบอกยาก เพราะการปิดบัญชีครั้งที่ผ่านมาได้หักค่าเสื่อมของข้าวไว้แล้ว ในปีแรกจะหักค่าเสื่อมในอัตรา 10% ปีที่ 2 จำนวน 20% ปีที่ 3 จำนวน 30% และปีที่ 4 จำนวน 40% ส่วนระยะเวลาที่เหลือของสต๊อกข้าวนั้น หักค่าเสื่อมในอัตราสูงสุดที่ 40% ดังนั้น จะต้องนำข้อมูลสต๊อกข้าวของ ม.ล.ปนัดดามาเทียบเคียงก่อนจะประเมินผลขาดทุนออกมา รวมถึงต้องนำราคาขายจริงที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้มาคำนวณใหม่ด้วย ล่าสุดพบว่าราคาในช่วงเดือนกันยายน 2557 สูงกว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พอสมควร" นายรังสรรค์กล่าว 

      แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การประเมินความเสียหายนั้นคงต้องนำข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 17 ล้านตันมาประเมินด้วย ขณะนี้ยังประเมินลำบาก เพราะคุณภาพข้าวในแต่ละโกดังแตกต่างกันมาก กระทรวงการคลังยังไม่ชัดเจนว่าผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้นเป็นหน่วยงานใด อาจจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หรืออาจจะเป็นการตั้งคณะทำงานร่วมกัน คาดว่าเร็วสุดจะสรุปสัปดาห์หน้า

"ปู"ไม่ไปอัยการสูงสุดวันส่งฟ้อง

รายงานข่าวจากคณะทำงานทีมกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวว่า ล่าสุดจากการหารือกันของทีมทนายและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ข้อสรุปว่าอดีตนายกฯ จะไม่เดินทางไปรายงานตัวที่อัยการสูงสุด ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ไม่มีผลกระทบต่อรูปคดี กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่าต้องไป เพราะเป็นเพียงวันนำตัวไปส่งฟ้อง กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องเดินทางไปรายงานตัว

"โต้ง"อัดฟ้องแพ่งไม่เป็นธรรม

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง แด่ ป.ป.ช.ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จีน โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสุทธิเป็นบวก จะให้ทวงค่าเสียหายจากใคร ระบุว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ปฏิบัติต่ออดีตนายกรัฐมนตรีอย่างซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรม สร้างความหนักใจให้กับส่วนราชการคือกระทรวงการคลัง เพราะถ้าไม่ดำเนินการก็เสี่ยงจะกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาจาก ป.ป.ช.ว่าละเว้นปฏิบัติ แต่หากจะดำเนินการใดๆ ต่อไป ก็ย่อมขัดต่อหลักเหตุผลในแนวคิดเรื่องผลประโยชน์และความเสียหาย เพราะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในช่วงรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นโครงการที่มีประโยชน์สุทธิทางเศรษฐกิจเป็นบวก

ยันจำนำข้าวเกิดประโยชน์ศก.

นายกิตติรัตน์ระบุอีกว่า ได้ชี้แจงแก่ ป.ป.ช.ตั้งแต่ชั้นไต่สวนพยานแล้วว่า สำนักเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้คำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในปี 2554/55 และปี 2555/56 ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเป็นมูลค่าถึง 308,000 ล้านบาท และ 315,000 ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับจีดีพีร้อยละ 2.7 และร้อยละ 2.8 ของประเทศในปี 2555 และ 2556 สูงกว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายสุทธิทางบัญชี ที่กำลังดำเนินการปิดบัญชีกันอยู่เป็นจำนวนมาก "พวกผมไม่ใช่พวกที่บริหารเศรษฐกิจของประเทศแบบเช้าชามเย็นชาม เศรษฐกิจจะโตหรือไม่โต ก็แล้วแต่ยถากรรม เวลาเศรษฐกิจไม่โตต่างหากที่เรียกว่าเป็นความเสียหาย ทุกๆ ร้อยละหนึ่งของจีดีพีที่ต่ำไปจากที่ควรเป็น หมายถึงความเสียหายประมาณ 120,000 ล้านบาทต่อปี เช่นในปี 2557 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตเพียงร้อยละ 0.7 ขณะที่ทุกประเทศในอาเซียนโตเอาๆ นี่แหละความเสียหาย จะให้เรียกค่าเสียหายจากใครก็เชิญคิดกันเอาเอง" นายกิตติรัตน์กล่าว

ถามกลับอีกฝ่ายไม่เคยโดน

"ปิดบัญชีฯ โครงการก็ยังทำกันไม่ถูกต้องเรียบร้อย ถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ทำกันอย่างรวบรัดเร่งรีบ ยอมรับกันเองในมติ ในชั้นกล่าวหาว่าไม่พบว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริต หรือมีส่วนรู้เห็น แต่ตอนไปแถลงคดีก็ใช้วาทกรรมว่าส่อนั่นส่อนี่ นี่ยังจะส่งเรื่องให้ส่วนราชการดำเนินการทางแพ่งต่อทั้งที่รู้แก่ใจว่าเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสุทธิเป็นบวก มิน่าล่ะคนทั้งสังคมเขาถึงรู้สึกว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง นี่ยังไม่นับเรื่องที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เคยถูกดำเนินการอะไรอย่างจริงจังสักเรื่องเดียว ทั้งที่สังคมเห็นกันอยู่ชัดๆ ว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ ความยุติธรรมอยู่ไหน" นายกิตติรัตน์ระบุ

"เต้น"เผยป.ป.ช.ลุกลี้ลุกลน 

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่ม นปช. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เห็นอาการลุกลี้ลุกลนของ ป.ป.ช. จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวแล้วอดคิดไม่ได้ว่ามีคนตั้งใจให้การเล่นงานน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วเสร็จก่อนโรดแมป คสช. ส่วนตัวเห็นว่านี่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมปกติ แต่เป็นรายการล่าข้ามทศวรรษ ติดพันมาตั้งแต่ยุค คมช. การฟ้องร้องทั้งหลายตลอดจนองค์กรและบุคคลที่ทำหน้าที่ล้วนกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญ 50 ตามแผนบันได 4 ขั้น แม้วันนี้ตัวแม่คือรัฐธรรมนูญไม่อยู่แล้วแต่ ตัวลูกยังอยู่ครบ ท่าทีไม่ลดราวาศอกแม้แต่น้อย หัวหน้า คสช.บอกว่าจะไม่ยุ่ง ให้ว่าไปตามกระบวนการ อยากจะบอกว่าเพราะกระบวนการแบบนี้แหละที่ทำให้ยุ่งจนไม่เห็นทางแก้ในปัจจุบัน 

จี้ป.ป.ช.สอบสัมปทานปิโตรฯ21 

นายณัฐวุฒิระบุอีกว่า ถ้าเอามาตรฐานเดียวกัน ป.ป.ช.ต้องเริ่มนับหนึ่งในการตรวจสอบรัฐบาลนี้กรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้แล้ว เพราะก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินโครงการจำนำข้าว ป.ป.ช.ก็ไปหยิบผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ รวบรวมข้อมูลจากรัฐบาลชุดอื่นมาส่งหนังสือเตือนว่าอย่าทำจะเกิดความเสียหาย รัฐบาลชุดที่แล้วยืนยันว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนา หาเสียงเอาไว้และแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้วพร้อมมีกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ป้องกันทุจริต สุดท้ายก็ลงมือถอดถอน ดำเนินคดีอาญา และจะฟ้อง 6 แสนล้านบาท สัมปทานปิโตรเลียมไม่ใช่แค่งาน ทีดีอาร์ไอ แต่เป็นมติ สปช. คสช.ตั้งเอง เขาคัดค้าน องค์กรต่างๆ เคลื่อนไหว ทำไม ป.ป.ช.ไม่ทำหนังสือเตือนรัฐบาล ถ้าเดินหน้าตามเดิมแล้วมีคนร้อง ป.ป.ช.แสดงว่าต่อไป 

นายกฯประยุทธ์ต้องถูกถอดถอนอาญา และฟ้องค่าเสียหาย ไม่ตั้งใจตีรวนแต่จะชวนให้คิดว่า เล่นไม่เลิกกันแบบนี้ หลายคนคงเห็นอนาคตนายกฯยิ่งลักษณ์สาหัส แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือจะไม่เห็นอนาคตประเทศไทย

ป.ป.ช.ส่งให้คลังฟ้องแพ่งแล้ว

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ลงนามและส่งหนังสือให้กระทรวงการคลังแล้ว ในหนังสือจะบรรยายค่าความเสียหายจากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 3 ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท และต่อมาคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ยังได้สรุปออกมาล่าสุดว่ามีเสียหายประมาณ 6 แสนล้านบาท รวมถึงความเสียหายจากข้าวเสื่อมคุณภาพที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไปตรวจสอบมา ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดว่าต้องดำเนินการภายในเมื่อไหร่ แต่กระทรวงการคลังน่าจะดำเนินการโดยเร็ว 

"การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ ป.ป.ช.ส่งให้กระทรวงการคลัง มีการไต่สวนทุกอย่างเป็นลำดับ ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ไต่สวนเจาะจงเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ทำทั้งสองฝ่าย คดีอื่นๆ อย่างโครงการประกันราคาข้าวในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนี้ก็กำลังพิจารณากันอยู่" นายปานเทพกล่าว 

นายปานเทพกล่าวว่า นอกจากนี้ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ทางอัยการสูงสุดจะนำคดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ระบุแล้วว่า ในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาหรือไม่มาก็ได้ เป็นดุลพินิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง ไม่มีปัญหา แต่ในวันนัดพิจารณาครั้งแรกภายหลังจากศาลรับฟ้องแล้วต้องเดินทางไป ไม่ไปไม่ได้

อสส.ยื่นฟ้องศาลฎีกา"ปู"วันนี้

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หัวหน้าคณะทำงานและรองหัวหน้าคณะทำงานอัยการ เป็นตัวแทนของนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) จะเดินทางไปยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังยื่นฟ้องคดีแล้ว เวลา 10.45 น.ทางสำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับยื่นสำนวนฟ้องในคดีนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำนักงานอัยการสูงสุด จะคัดค้านการประกันตัวหรือการเดินทางไปต่างประเทศ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า คาดว่าคงจะไม่มี เพราะตามขั้นตอนแล้วศาลฎีกาฯจะต้องประชุมเพื่อคัดเลือกองค์คณะให้ได้ 9 คนก่อน เงื่อนไขต่างๆ นั้นองค์คณะผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเอง 

"วันชัย"ย้ำไม่เจรจาส่อเสียของ 

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวกรณีเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความปรองดองว่า เมื่อรัฐประหารแล้วต้องสานงานต่อเรื่องความปรองดอง แต่ไม่ใช่แค่การออกกฎหมายหรือร้องรำทำเพลง สิ่งสำคัญต้องเร่งพูดคุยกับคู่ขัดแย้งที่เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคู่ขัดแย้งที่สำคัญ สิ่งที่ตนเสนอ ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน แต่หากยังไม่มีการปรองดอง ต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญดีอย่างไร ก็เสียเวลาเสียของ การเจรจาเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่นำไปสู่การปรองดอง ทำได้ทั้งทางตรงและทางลับ อย่างไรก็ตาม เมื่อนายกรัฐมนตรีตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เจรจา ก็ถือว่าจบ จะไม่เสนอเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการปรองดองของ สปช. แต่หากที่ประชุม สปช.หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายจะลุกขึ้นแสดงจุดยืนอย่างแน่นอน

สนช.นัด25ก.พ.คดีถอด38ส.ว.

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาถอดถอนอดีต 38 ส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบตามที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการว่า วันที่ 25 กุมภาพันธ์จะประชุม สนช.เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนนัดแรก เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวน รวมทั้งการพิจารณาขออนุญาตยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมของผู้ถูกกล่าวหา 

นพ.เจตน์กล่าวว่า ส่วนการประชุม สนช.วันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) จะรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ กมธ.รวบรวมความคิดเห็นของสมาชิก สนช.ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญจะรายงานให้ที่ประชุม สนช.รับทราบเป็นครั้งที่สอง กมธ.ดังกล่าวจะขอเพิ่มภารกิจ ให้มีหน้าที่ติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่แค่การรวบรวมความเห็นเท่านั้น และขอขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 90 วัน โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีไม่เกิน 400 มาตรา เขียนเนื้อหาให้สั้น ส่วนรายละเอียดให้ไปกำหนดในกฎหมายลูกแทน

ขันนอตหน่วยงานแก้ออกกม.อืด

นพ.เจตน์ กล่าวถึงผลการประชุมวิป สนช.ว่า กรณีมีการพูดถึง สนช.ให้ความเห็นชอบกฎหมายออกมาน้อยเกินไป จากการหารือในวิปรัฐบาล สนช.และ ครม.เห็นตรงกันว่า หลังจากนี้การพิจารณากฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งไปยังส่วนราชการต่างๆ เพื่อเร่งให้ความเห็นกลับมา หน่วยงานต่างๆ ไม่แจ้งความเห็นกลับมาภายในเวลา 2 สัปดาห์ ให้ถือว่าหน่วยงานนั้นเห็นชอบร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป ทำให้กฎหมายออกมาเร็วขึ้น ส่วนการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรรมาธิการวิสามัญได้นำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ เห็นว่าร่างดังกล่าวมี 19 ประเด็น แยกเป็นสองส่วนคือ 1.การอนุมัติตามอนุสัญญาการต่อต้านการทุจริตของสหประชาติ 10 ประเด็น 2.การพัฒนาปรับปรุงวิธีพิจารณากฎหมาย ป.ป.ช. วิป สนช.เห็นว่า ให้พิจารณาในส่วนแรกไปก่อน ส่วนที่สองให้รอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยนำมาพิจารณา จะได้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ยื้อร่างพ.ร.บ.ชุมนุมฯออกไปก่อน 

นพ.เจตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เสนอโดย น.ส.จินตนันท์ ชญาตร์ ศุภมิตร สนช. เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เสนอโดยสมาชิก สนช. แม้ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงินผู้เสนอจะต้องให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อน แต่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการต่างๆ ว่า จะมีความพร้อมในการปฏิบัติ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจึงให้ส่งร่างดังกล่าวกลับให้ไป ครม. เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ภายใน 30 วัน โดยธรรมเนียมปฏิบัติ ครม.ต้องเสนอร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาประกบ เพื่อพิจารณาไปในคราวเดียวกัน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ 35 มาตรา คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สนช.ยังไม่เห็นด้วย และเสนอให้แก้ไขบางประเด็น จึงขอให้ สนช.ชะลอการพิจารณาไปก่อน

"หมอวรรณรัตน์"ปัดชงห้ามทหารปว.

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวออกมาว่า นพ.วรรณรัตน์ เสนอในการสัมมนาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ควรมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าห้ามทหารทำการปฏิวัติรัฐประหารอีกเด็ดขาดว่า ขอปฏิเสธว่าไม่ใช่แนวคิดของตน เนื่องจากการสัมมนาวันนั้น ตนเป็นเพียงตัวแทนของพรรคการเมือง เข้าไปเป็นหนึ่งในผู้รับฟังความคิดเห็นเท่านั้น และไม่ได้เสนอแนวคิดให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าห้ามทหารทำการปฏิวัติรัฐประหารตามที่เป็นข่าวออกมา แต่มีพรรคการเมืองเล็กพรรคหนึ่ง เสนอแนวคิดนี้ ผู้ที่นั่งฟังในวงเสวนาทุกคนทราบดีว่าเป็นแนวความคิดของพรรคการเมืองใด 

กมธ.ยกร่างฯถกเข้มแทรกแซงสื่อ

สำหรับการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน พิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อใน ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ส่วนที่เกี่ยวการปฏิรูปสื่อสารมวลชน มีสาระสำคัญ คือ ต้องการให้มีการคุ้มครองสิทธิสื่อและการกำกับดูแลสื่อจากภาคประชาสังคม ดูแลเรื่องการผูกขาดสื่อ การแทรกแซงสื่อ การครองสิทธิข้ามสื่อ ไม่ให้กระทบกับการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน นอกจากนี้ต้องการให้มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการของรัฐให้เกิดความโปร่งใส ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และต้องการให้จัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกผลกระทบจากสื่อ โดย กมธ.ยกร่างฯถกเถียงในประเด็นนี้หลากหลาย ที่ประชุมยังมีการเสนอให้บรรจุการใช้งบของรัฐในการจ้างจัดงานอีเวนต์ ต้องเปิดประมูลและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคและอื่นๆ ต้องมีหน่วยงานกลางดูแลเรื่องนี้ จึงเสนอให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ และไม่ให้ใช้งบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวบุคคลและใช้งบเพื่อแทรกแซงสื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าท้ายสุดที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาไปก่อนหน้านี้ จึงเสนอให้ยกไปรวมไว้ในภาค 1 หมวดสิทธิเสรีภาพแทน ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้นำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล

เร่งถกหมวดปฏิรูปก่อนปรองดอง

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ พร้อมด้วย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 6 และ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ ร่วมกันแถลงผลการคืบหน้าการประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 9 การปฏิรูปเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 10 การปฏิรูปด้านพลังงาน ส่วนที่ 11 การปฏิรูปด้านแรงงาน และส่วน 12 การปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาเรื่องปฏิรูปแรงงาน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนของผู้ใช้แรงงานและให้เสรีภาพผู้ใช้แรงงานสามารถร่วมเจรจาต่อรองตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องการปฏิรูปด้านวัฒนธรรมนั้น ต้องมีการสนับสนุนให้มีสมัชชาศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เรื่องของการปรองดอง หมวดนี้อาจจะพิจารณาร่างไม่ทันสัปดาห์นี้ เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯจะเร่งพิจารณาหมวดการปฏิรูปให้เสร็จก่อน ขณะนี้ผ่านไปได้แค่ 6-7 ด้านเท่านั้นจากทั้งหมด 18 ด้าน คาดว่าจะนำเรื่องหมวดปรองดองไปพิจารณาลงรายมาตราในการประชุม กมธ.ยกร่างฯนอกสถานที่ที่ จ.ชลบุรีต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!