WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8855 ข่าวสดรายวัน


ชี้แล้ว 99 ศพ ปปช.แจ้งข้อหามาร์ค 
กมธ.ลดสส.เขตเหลือ 250 คน บัญชีรายชื่อเพิ่มเป็น 200-220 บิ๊กตู่เลื่อนสัมปทานปิโตรอีก 3 ด. 'สมหมาย ภาษี'ระทึก-ฎีกาชี้คดี


รุดเยี่ยม - นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. พร้อมนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกด ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ปี"53 เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมือง ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.

       กมธ.ยกร่างฯ เคาะจำนวนส.ส. 450-470 คน แบ่งเป็นระบบเขต 250 บัญชีรายชื่อ 200-220 ห้ามคนต้องคดีทุจริต-ถูกวุฒิสภาถอดถอนดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา'มาร์ค-เทือก'คดีสลายม็อบแดงปี'53 จ่อชี้มูลถอดถอน 250 อดีตส.ส.ปมแก้รธน.เรื่องที่มาส.ว. คณะไต่สวนชงเข้าที่ประชุมใหญ่ 3 มี.ค. ส่วนคดีไมค์แพง ตั้งอนุไต่สวนอธิบดีกรมโยธาฯ พร้อมพวกรวม 8 ราย ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกองค์คณะ 9 คนคดีจำนำข้าว คณะผู้แทนไทยเตรียมชี้แจงองค์การการค้าโลก กรณีแจกเงินชาวนาไร่ละพัน 'บิ๊กตู่'เลื่อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียม จาก 16 มี.ค. ไปอีก 3 เดือน

บิ๊กตู่ลั่นไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ 

      เวลา 09.00 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคสช. ก่อนประชุม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นำคณะและเยาวชน เข้าพบ นายกฯ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์การจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ประจำปี 2558 

      จากนั้นนายกฯ ได้รับฟังเด็กนักเรียนร้องเพลงวันมาฆบูชา เมื่อฟังจบ พล.อ.ประยุทธ์หันมาถามผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดีถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา ก่อนที่เด็กนักเรียน จะร่วมกันร้องเพลงค่านิยม 12 ประการ และเมื่อถึงท่อนท้ายที่ขอให้คนไทยทุกคนรัก และสามัคคีกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์แสดงอาการตื้นตันก่อนพูดเสียงดังและหันหน้ามาทางกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า "ลุงไม่เคยใช้อำนาจบาตรใหญ่ แต่มีคนพยายามยั่วยุให้ใช้" เมื่อถามว่าเป็นใคร พล.อ.ประยุทธ์ยิ้มแต่ไม่ตอบคำถามดังกล่าว ก่อนเป็นประธานการประชุมทันที

โต้ข่าว"แม้ว"ขอคุย

        เวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมร่วมถึงการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองว่า เดินหน้าตามโรดแม็ป ความมั่นคงก็ดูเรื่องความปลอดภัย ใครที่เคลื่อน ไหวแล้วผิดกฎหมายดำเนินคดีให้เต็มที่เท่านั้นเอง การเมืองก็คือการเมือง ยืนยัน ตนไม่ใช่นักการเมือง มาบริหารในช่วงเวลาวิกฤตด้วยวิธีพิเศษบวกปกติ ภายใต้แรงกดดันของสังคม ของสื่อ ของต่างประเทศ แต่ยืนยันว่าตนไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นไปคิดเอาว่าตนทำเพื่ออะไร

      เมื่อถามถึงกระแสข่าวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพยายามติดต่อมายัง นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่รู้ ผมไม่รู้ ผมไม่ยุ่ง จะไปไหนก็ไปเถอะไป จะไปไหนท่านก็ไปของท่านอยู่แล้ว อย่ามายุ่ง กับผม เพราะผมก้าวหลุดพ้นกับดักพวกนี้ไปหมดแล้ว ไปว่ากันตามกฎหมาย อย่ามาเอาผมไปรบกับคนนั้นคนนี้ ผมขี้เกียจ ไม่เอาด้วยแล้ว ถามไม่พ้นสักที" เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าไม่มีการพยายามติดต่อเข้ามาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มี

ข้องใจเด็กรักลุงตู่-ผู้ใหญ่ไม่ชอบ 

      เมื่อถามว่านายกฯเป็นอะไรหรือไม่ ดูเหมือนการให้สัมภาษณ์บางช่วงแสดงอาการท้อออกมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีท้ออยู่แล้ว บังเอิญช่วงนั้นพอดีน้ำลายจุกคอ ไม่มีอะไร ตนไม่ใช่หน้าดราม่า ไม่ใช่นักแสดง

      เมื่อถามว่ามั่นใจแค่ไหนว่าเมื่อเสร็จภารกิจจากการปฏิรูปทุกด้านแล้ว สถานการณ์การเมืองจะสดใสและดีขึ้นกว่าเดิม นายกฯ กล่าวว่า วันนี้การปฏิรูปยังไม่เริ่มเลยจะมาถามอะไร มันช้าเกินไปหรืออย่างไร การทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาก็คาดหวังว่าจะให้ทุกอย่างดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าทำแล้วแย่กว่าเดิม จะทำไปทำไม ปัญหาคือทุกคนต้องร่วมมือกับตน ขอให้สื่อไปตั้งคำถามรัฐบาลชุดต่อไปด้วยว่าได้ทำต่อจากสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำไปแล้ว หรือยัง เหมือนที่มาถามตนว่าได้แก้ปัญหาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาทำไว้หรือยัง บางอย่างอาจทำเสร็จแต่บางอย่างถ้าทำไม่เสร็จ ก็ต้องส่งต่อไปยังรัฐบาลชุดถัดไป

       เมื่อถามว่าอุปสรรคอะไรที่จะทำให้คสช.เดินหน้าตามโรดแม็ปไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวติดตลกว่า "ผมไม่สบายมั้ง ทุกวันนี้ผมทำงานตลอดเวลาท่ามกลางอุปสรรคที่มีเยอะ ทั้งสิ่งแวดล้อม ปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ความร่วมมือของคนภายในประเทศ ทุกวันนี้ผมได้รับไปรษณียบัตรจากเด็กๆ ทำให้ผมชื่นใจ มีบางคนเขียนให้กำลังใจขอให้ลุงตู่สุขภาพแข็งแรง พักผ่อนบ้างนะคะลุงตู่ ทำไมเด็กมันรักผม แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ชอบผมเลย"

โต้ข่าวปลดปลัดสธ. 

      เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวจะปลด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มี แล้วมีใครอยากเป็นหรือไม่

      เมื่อถามถึงแนวทางการปรับโครงสร้างที่ดินและการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีที่ดินและมรดกของรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า เป็นการปรับปรุงภาษีทั้งระบบ ซึ่งไม่เคยทำทั้งระบบมาก่อน โดยรวมสิ่งปลูกสร้างที่ ไม่เคยเสียภาษี เสียมากเสียน้อยยังไม่ทราบ เรื่องยังอยู่ที่กระทรวงการคลัง จะหลุดออกไปข้างนอกได้อย่างไรอย่าไปฟัง ยืนยัน เรื่องใดที่รัฐบาลไม่ได้เป็นคนพูดหรือแถลง รัฐบาลยังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ได้ปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนที่สปช.พูดเป็นเรื่องการปฏิรูป แต่ฟังดูบางทีเหมือนจะเชื่อมโยงกันแต่ยังไม่มีการสั่งการ แค่ข้อเสนอ ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะเดือดร้อนใคร บางอย่างยังไม่เกิดแต่จะไปเกิดในรัฐบาลต่อไป เมื่อกฎหมายเรียบร้อยถึงจะออกมา จะผ่านกรรมาธิการ (กมธ.) หรือไม่ ก็ไม่รู้ ต้องไปแก้ไขกันเพราะมี กมธ.ถึง 3 คณะที่ออกกฎหมายแต่ละฉบับ

สั่งเลื่อนเปิดสัมปทานปิโตรฯ

      พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นต่างในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า ที่ประชุมหารือกันแล้ว หลังการพูดคุยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีข้อยุติว่าจะตั้งคณะกรรมการศึกษารายละเอียดฝ่ายรัฐบาลและผู้เห็นต่าง ขึ้นมาพิจารณา ตนตัดสินใจไปว่าให้แก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อนจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องบอกว่าอย่างเร็วที่สุดต้องใช้เวลา 3 เดือน ดังนั้นถ้าแก้กฎหมายไม่ทันก็ต้องเลื่อนการเปิดสัมปทานในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ออกไปก่อน ส่วนคณะกรรมการร่วมที่ตั้งมาก็คุยกันต่อไป 

      เมื่อถามว่าระหว่างที่แก้กฎหมายจะสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปถามฝ่ายคัดค้าน อย่ามาถามตน เพราะตนไม่ได้เป็นคนทำให้ช้า เสียเวลา ต้องไปถามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าถ้าเป็นอย่างนี้เขาจะรับผิดชอบอย่างไรได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่จัดหาพลังงาน แต่เมื่อเราฟังความ คิดเห็น เขาต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้น เราก็น้อมรับและหาทางออกกันต่อไป เมื่อเกิดการเสียเวลาขึ้น ถ้ามีความผิดพลาดเสียประโยชน์ เขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ รู้อยู่แล้วว่ามีใครบ้าง ทุกคนต้องยอมรับกันบ้างไม่ใช่ไม่รับอะไรเลย ตนสั่งให้ลงบันทึกไว้หมดแล้วว่าใครคิดเห็นอย่างไร ถือว่าทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกัน ถ้ารัฐฟังก็ต้องรับผิดชอบกับรัฐด้วย

       เมื่อถามว่าคณะกรรมการร่วมต้องหารือให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 16 มี.ค. ตามเดิมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ อย่าเอามาพันกัน ถ้าวันที่ 16 มี.ค. ไม่สามารถยื่นสำรวจสัมปทานได้ก็เลื่อนไป ระหว่างนี้ก็พูดคุยทำกฎหมาย 

13 มี.ค.นัดประชุมที่หัวหิน 

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 13 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์จะนำ คสช. ครม. และที่ปรึกษานายกฯ ไปประชุมนอกสถานที่เพื่อให้คสช.และครม.ได้พักผ่อน เพราะเห็นว่ามีความเหนื่อยล้า โดยจะไปที่สถานที่พักของกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยจะเดินทางออกจาก กทม.ในช่วงเช้าและประชุมช่วงบ่าย จากนั้นมีการเล่นกีฬาและกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน 

ศาลฎีกาเลือกองค์คณะ"จำนำข้าว" 

เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ ศาลฎีกา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาในศาลฎีกาทั้งหมด 173 คน เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คน ในศาลฎีกา เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีโครงการ จำนำข้าว คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง ผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 จากกรณีละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐบาลเป็นเงินกว่า 6 แสนล้านบาท ที่อสส.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีผู้เข้าร่วมประชุม 146 คน ใช้วิธีลงคะแนนลับนาน 1 ชั่วโมง จึงเสร็จสิ้น การนับคะแนนปรากฏตามลำดับดังนี้ 1.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 2.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา 3.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา 4.นายธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา 5.นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา 6.นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา 7.นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา 8.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา และ9.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ได้รับเลือกเป็นองค์คณะ

นัดฟังรับฟ้องหรือไม่ 19 มีค.

ทั้ง 9 คน จะนัดประชุมกันภายใน เพื่อเลือกผู้พิพากษา 1 คน เป็นเจ้าของสำนวนในคดี และร่วมกันพิจารณาคำฟ้องของ อสส.ว่าครบองค์ประกอบและอยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาฯที่จะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้หรือไม่ โดยศาลฎีกาฯนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

องค์การค้าโลกสอบแจกไร่ละพัน 

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เผยว่า สัปดาห์หน้าคณะผู้แทนถาวรไทยฯ จะต้องเข้าชี้แจงดับเบิลยูทีโอ หลังสมาคมการค้าธัญพืชของสหรัฐ รวมทั้งภาคเอกชนของสหภาพยุโรป (อียู) ยื่นหนังสือต่อดับเบิลยูทีโอ ให้ตรวจสอบนโยบายช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาทของรัฐบาล ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 15,000 บาทต่อครัวเรือน และโครงการจำนำยุ้งฉางช่วยชาวนาภาคเหนือ-อีสาน รวม 2 ล้านตัน วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นการอุดหนุนภายใน ซึ่งผิดเงื่อนไขของดับเบิลยูทีโอหรือไม่

นายธวัชชัยกล่าวว่า โครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เป็นการจ่ายเงินโดยตรงและมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตต่อเกษตรกรรายย่อย ถือว่าตามกฎดับเบิลยูทีโอสามารถทำได้ ไม่ถือว่าผิดกฎเพราะไม่ได้นำเงินไปซื้อข้าวมาเก็บ หรือซื้อผลผลิตทางการเกษตรมาไว้เหมือนในอดีต จึงไม่เป็นการบิดเบือนราคาตลาด เบื้องต้นข้อมูลของโครงการที่มีเชื่อว่าคณะผู้แทนถาวรไทยฯสามารถชี้แจงทุกข้อสงสัยของทั้งสหรัฐและอียูได้ ไม่น่ามีปัญหา

ปีติพงศ์ยันไม่ผิดกฎดับเบิลยูทีโอ

นายธวัชชัยกล่าวว่า ส่วนโครงการรับจำนำในยุ้งฉาง แม้จะจ่ายเงินรับซื้อข้าวให้กับเกษตรกรแต่เป็นราคาในตลาด รัฐบาลไม่ได้เข้าซื้อนำตลาดจนสูงโด่ง ส่งผลให้กลไกการตลาดบิดเบือน และยังกำหนดขอบเขตการรับจำนำทั้งในเรื่องพื้นที่และปริมาณที่ชัดเจน คือในเขตอีสานกับเหนือเฉพาะผู้ที่มียุ้งฉาง ยืนยันได้ว่าไทยไม่อยู่ในข่ายผิดเงื่อนไขดับเบิลยูทีโอ รัฐบาลสามารถทำได้

"จากโครงการที่รัฐบาลไทยต้องการเข้า ไปกระตุ้นเศรษฐกิจในครัวเรือนเกษตรกร ในเร็วๆ นี้ จะอัดงบประมาณลักษณะคล้ายๆ กันคือจ่ายให้กับเกษตรกรโดยตรง ถือว่าไม่ผิดต่อข้อตกลง เพราะทุกอย่างไม่ได้บิดเบือนราคาในตลาด ทุกโครงการทำได้แต่อาจมีประเทศสมาชิกอื่นที่จับตามองถือเป็นเรื่องปกติ" นายธวัชชัยกล่าว

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มั่นใจว่านโยบายนี้ไม่ผิดกฎดับเบิลยูทีโอ เพราะเป็นการให้เงินกับชาวนายากจน ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ซึ่งทำได้อยู่แล้ว ส่วนการจำนำยุ้งฉางเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์

"วิษณุ"เล็งคุยจนท.ฟ้องแพ่ง"ปู" 

ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการเข้ามาช่วยดูแลกรณีป.ป.ช. ส่งเรื่อง ให้กระทรวงการคลังเรียกร้องค่าเสียหาย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ว่า ขอคุยกับเจ้าหน้าชั้นผู้น้อยในระดับปฏิบัติหลายหน่วยงานก่อนและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อน จากนั้นจะหารือกับรมว.คลังคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้น่าจะได้พูดคุย

แยกแถลงเปิดคดี 38 สว.

ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงขั้นตอนพิจารณาถอดถอนอดีตส.ว. 38 คน ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบในการ ประชุมสนช.วันที่ 25 ก.พ.นี้ว่า ตัวแทนของป.ป.ช. ที่จะมาแถลงเปิดคดีคือ นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. ขณะที่กลุ่มอดีต 38 ส.ว.ที่ถูกกล่าวหาได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแถลงเปิดคดี โดยมีนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. ในฐานะอดีตส.ว.นนทบุรี เป็นผู้แถลงสรุปข้อกล่าวหาทั้งหมด 

ลงมติ 13 มี.ค.รวดเดียว 

นายสุรชัยกล่าวว่า การลงมติวันที่ 13 มี.ค. ถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก โดยจะลงมติรวดเดียวทั้ง 38 คนเพื่อไม่ให้เสียเวลา มั่นใจว่าสมาชิกจะใช้วิจารณญาณตรวจสอบข้อกล่าวหาทั้งหมดและลงมติได้ โดยไม่จำเป็นว่ามติ ที่ออกมาจะต้องสอดคล้องกับมติถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวรัชยพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ส่วนที่ป.ป.ช.จะชี้มูลสำนวนที่อดีตส.ส. 269 คน ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ หากป.ป.ช.ส่งเรื่องถึงสนช. จะเริ่มพิจารณากระบวนการถอดถอนทันที

นพ.เจตน์ ศิรธนานนท์ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. แถลงหลังการประชุมวิปสนช. ถึงการประชุมสนช.เป็นพิเศษในวันที่ 25 ก.พ. เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนอดีตส.ว. 38 คน ว่าจะเป็นวันแถลงเปิดสำนวนโดยป.ป.ช. และแถลงเปิดสำนวนของฝ่ายผู้ถูกร้อง การแถลงเปิดคดีจะใช้เวลาไม่นานและจะประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ต่อ โดยมีร่างพ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณของสนช. 4 ฉบับ คือร่างพ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และร่างพ.ร.บ. เชื้อโรคและพิษจากสัตว์

ถกแม่น้ำ 5 สายก่อนสงกรานต์ 

นพ.เจตน์กล่าวว่า การยื่นญัตติซักถามสมาชิกสนช.สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 27 ก.พ. เวลา 12.00 น. และวันที่ 5 มี.ค. จะดำเนินการตามกระบวนการซักถามที่สมาชิกยื่นญัตติ ซักถามไว้ โดยผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นผู้ตอบชี้แจง จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ จะเป็นวันแถลงปิดคดีในวันที่ 12 มี.ค. และลงมติในวันที่ 13 มี.ค. 

นพ.เจตน์กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้แบ่งฐานกลุ่มความผิดของอดีต 38 ส.ว. เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติเห็นชอบวาระที่ 1 2 และ 3 จำนวน 22 คน 2.กลุ่มเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติวาระที่ 1 และ 3 แต่ไม่ลงมติวาระ 2 ในมาตรา 6 จำนวน 15 คน และ3.กลุ่มที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติเฉพาะวาระ 2 ในมาตรา 6 คือ นายวิทยา

นพ.เจตน์กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติว่าการประชุมแม่น้ำ 5 สายจะมีขึ้นในวันที่ 8 หรือ 9 เม.ย. แต่ต้องก่อนเทศกาลสงกรานต์โดย จะใช้รัฐสภาเป็นสถานที่ประชุม เนื่องจากสนช.เป็นเจ้าภาพ นอกจากนั้นยังมีมติรณรงค์ให้สมาชิกใส่ผ้าไทยมาประชุมสนช.ทุกวันพฤหัสบดี เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทย

เอนกเร่งกม.ปรองดองใน 2 ด. 

เวลา 12.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แขวงลาดยาว นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (คศป.) ให้สัมภาษณ์หลังนำคณะกรรมการคศป. เยี่ยมผู้ต้องขังที่มีคดี เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มแรกว่า พบผู้ต้องขัง 19 คน ที่ต้องคดีทางการเมือง ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน จากการพูดคุยผู้ต้องขังมีท่าทีที่มีความปรองดองต่อกัน ไม่อาฆาตมาดร้าย ทุกคนเข้าใจ ยอมรับและสำนึกผิด โดยหวังว่าจะได้รับการอภัยโทษ

นายเอนกกล่าวว่า จากนี้จะเร่งยกร่างกฎหมายสร้างความปรองดองแห่งชาติให้เสร็จในกรอบเวลา 2 เดือน หลังเสร็จสิ้นการ ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่ที่จ.ชลบุรี ซึ่งผู้ต้องขังทางการเมืองจะอยู่ ในข่ายได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมาย รวมถึงแกนนำผู้ชุมนุม ผู้สั่งการและผู้ต้องหาคดี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะได้รับการอภัยโทษหลังได้รับโทษแล้ว ยืนยันร่างกฎหมายปรองดองไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะตรากฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ หลังจากนี้จะไปเยี่ยมผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย ซึ่งมีผู้ต้องขังอีกเกือบ 100 คน รวมทั่วประเทศมีประมาณ 200 คน

นายเอนกกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมปี 2556-57 เพิ่มเติม 

กมธ.เปิดช่องกลุ่มการเมืองลงสส.

เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ พัทยา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ช่วงดึกวันที่ 23 ก.พ. ที่ประชุมพิจารณาจนจบหมวด 1 มีสาระสำคัญในมาตรา 76 ที่เปิดช่องให้จัดตั้งกลุ่มการเมืองของคณะบุคคลที่รวมกันเป็นสมาคมมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ไปจดแจ้งกับ กกต.สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพื่อเปิดช่องให้ภาคประชาชน ทำงานการเมืองและพัฒนาเป็นพรรคการเมือง และยังสอดรับกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบผสมที่สามารถรองรับกลุ่มการเมืองและพรรคเล็กให้มีส่วนร่วมได้ 

นายคำนูณกล่าวว่า จากนั้นพิจารณาหมวด 3 รัฐสภา โดยยึดหลักการจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการเพื่ออุดช่องว่างที่เคยเป็นปัญหาในอดีต อย่างมาตรา 97 ที่บังคับให้ต้องมีประธานรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่ทุกช่วงเวลา โดยให้รองประธานสภาหรือรองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนตามลำดับ ในกรณีไม่มีประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ 

ให้ส.ส.-ส.ว.ถอดถอนกันเองได้ 

นายคำนูญกล่าวว่า ส่วนมาตรา 100 ให้ ส.ส.หรือส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาของตน หากเห็นว่า ส.ส.หรือส.ว.ผู้ใดกระทำการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็น ส.ส.หรือส.ว. โดยเสียงถอดถอนใช้จำนวน 3 ใน 4

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในมาตรา 102 เป็นการแก้ปัญหาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ไม่สามารถผลักดันพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ออกมาได้ เนื่องจากไม่มีบทบังคับให้ทำ กมธ.ยกร่างฯ จึงวางหลักการบังคับให้ผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมาย หากไม่ดำเนินการหรือไม่ทันภายในเวลาอันสมควร ให้ถือว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีเกิดความเสียหาย ผู้เสียหายย่อมฟ้องรัฐให้รับผิดชอบค่าเสียหายได้ 

 


สืบพยาน - นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ขึ้นศาลจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 24 ก.พ. เพื่อรับฟังการสืบพยานฝ่ายโจทก์ คดีถูกกลุ่มทหารใช้ปืนอาก้ายิงถล่มใส่บ้านพักกลางเมืองอุดรธานี เมื่อเดือนม.ค.57 จนบาดเจ็บสาหัส


กำหนดจำนวนส.ส.450-470 คน 

จากนั้นเวลา 16.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 3 รัฐสภา ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร โดยมาตรา 103 กำหนดให้ส.ส.มีจำนวนไม่น้อยกว่า 450 คน แต่ไม่เกิน 470 คน ซึ่ง มาจากส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 250 คน โดยส.ส. 1 คนต่อจำนวนประชากร 260,000 คน เช่น ในกทม. หากคิดจำนวนประชากร ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะมีส.ส. 22 คน เป็นต้น

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีไม่น้อยกว่า 200 คน แต่ไม่เกิน 220 คน โดยประชาชนต้องออกเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีลงคะแนนโดยลับแต่ละประเภทแยกกัน โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่น มาตรา 107 การเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แบบ Open List หรือให้ประชาชนเลือก "คนที่รัก พรรคที่ชอบ" และให้ผู้ใดที่อยู่ในบัญชี ดังกล่าว 1 คน ได้รับเลือกเป็นส.ส. เพื่อ จัดอันดับความนิยมตามความต้องการของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น พรรค ก เสนอรายชื่อเรียงลำดับ 1-5 ให้ประชาชนทราบว่ามีผู้สมัครคนใดลงบ้าง แต่หลังเลือกตั้งพบว่าหมายเลข 5 มีคะแนนนิยมมากที่สุด ดังนั้น เมื่อคิดคำนวณส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว รายชื่อลำดับที่ 5 จะเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค คนที่จะได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไป ก็จะเรียงลำดับตามความนิยมของประชาชนที่เลือกเข้ามา

เสียงข้างน้อยติงทำลายพรรค

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า มาตรา 108 การกำหนดเขตเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ แบ่งพื้นที่ประเทศเป็น 6 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ ในแต่ละพื้นที่ มีส.ส.ภาคละ 30-35 คน ขณะที่การคิดคำนวณ ส.ส.ของแต่ละพรรค กกต.เป็นผู้นับคะแนนเอง โดยยึดระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่คำนึงถึงคะแนนเสียงของประชาชนตามความเป็นจริง และเปิดให้พรรคเล็กเข้ามาสู่สภาได้มากขึ้น เช่น สมมติ พรรค ก ได้คะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 ล้านคน โดยคิดจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 30 ล้านคน จะทำให้พรรค ก มีส่วนแบ่งส.ส. ร้อยละ 10 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด 450 คน ดังนั้น พรรค ก.จะมีโควตา ส.ส. 45 คน ถ้า พรรค ก ได้คะแนนส.ส.ระบบเขต 30 คน จะเหลือโควตา ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 15 คน ซึ่งเฉลี่ยจากคะแนนความนิยมจาก 6 ภาค 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมกมธ.ยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน ใช้เวลาถกเถียงในระบบ Open List ค่อนข้างมาก และกมธ.เสียงข้างน้อยหลายคนมองว่า ระบบนี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจการคิดคะแนนได้ยาก อีกทั้งยังถือเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของ กมธ. ที่ต้องการเสริมสร้างพรรคให้เข้มแข็ง เพราะระบบนี้ไม่ได้ส่งเสริมศักยภาพของพรรค กลับกันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนนิยมที่ตัวบุคคล ไม่ใช่อุดมการณ์ของพรรค ซึ่งที่สุดจะทำให้พรรคอ่อนแอและทำลายพรรคในที่สุด

กมธ.ห้ามคนต้องคดีทุจริตลงการเมือง

ช่วงบ่ายที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ พิจารณาส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สาระสำคัญ มาตรา 113 ว่าด้วย บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งส.ส. ซึ่งนำบทบัญญัติมาตรา 102 มาพิจารณาปรับแก้ไข มี 2 ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯ อภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนแรก นำบทบัญญัติของมาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ซึ่งระบุว่า "กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด" มากำกับไว้

มีกมธ.ยกร่างฯ สายทหารรายหนึ่ง คัดค้านว่าเมื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะเกิดการต่อสู้บนท้องถนน นำไปสู่สงครามกลางเมืองอีกหรือไม่ ดังนั้นกมธ. ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน จะยังยืนยันว่ามาตรา 35 จำเป็นว่าต้องเขียนแบบนี้ แสดงว่าเรายืนยันจะพาประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองทั้งที่รู้เต็มอกว่าเป็นผลกระทบจากมาตรานี้หรือไม่ หากเราทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ 

การอภิปรายดังกล่าวทำให้ที่ประชุมตึงเครียดขึ้นทันที จนต้องขอใช้วิธีหยั่งเสียงสมาชิกในห้องเป็นรายบุคคล วงใหญ่เห็นว่าควรให้คงบทบัญญัติข้อความดังกล่าวนี้ไว้ 

ถูกถอดถอนลงสมัครไม่ได้

ขณะที่ส่วนที่ 2 ซึ่งที่ประชุมหยิบยกขึ้นมาอภิปรายและแสดงความเห็นคือ ข้อความ ในวรรคท้าย ซึ่งว่าด้วยประเด็นห้ามผู้เคยถูกวุฒิสภาถอดถอนออกจากตำแหน่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งนำบทบัญญัติมาตรา 102 (14) ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาอ้างอิง ท้ายที่สุด ที่ประชุมไม่มีการปรับแก้ไข ก่อนที่นาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ จะสั่งปิดประชุมในเวลา 17.30 น. 

รายงานข่าวจากกมธ.ยกร่างฯ เผยว่า การบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ตัดสิทธิ์การสมัคร ส.ส.ของอดีตกรรมการบริหารพรรคอาทิ บ้านเลขที่ 111 และ 109 ในการสมัคร ส.ส.ทั้งหมด แต่มีผลเฉพาะกับผู้ที่เป็นตัวการกระทำในการทำความผิดของคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น สำหรับกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกถอดถอนโดยมติของสนช. ยังไม่ชัดเจนว่า จะเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครส.ส.หรือไม่ เนื่องจากกระบวนการถอดถอนของสนช. แตกต่างจากกระบวนการถอดถอนบุคคลตามรัฐธรรมนูญปกติ 

ปปช.ตั้งอนุไต่สวนอธิบดีโยธาฯ

เวลา 16.30 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกป.ป.ช. แถลงหลังประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมพิจารณาตามที่คณะทำงานแสวงหาข้อ เท็จจริงกรณีร้องเรียนให้ตรวจสอบการจัดซื้อไมโครโฟนในห้องประชุม ครม. ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 โดยมีมติว่าพล.อ.ประยุทธ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และปลัดสำนักนายกฯ ไม่ได้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมการจัดซื้อในโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบัญชาการ 1 และ 2 รวมทั้งระบบโสตทัศนูปกรณ์ หรือไมค์แพง เพราะเป็นเพียงผู้อนุมัติ ป.ป.ช.จึงไม่รับเรื่องไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง

นายวิชากล่าวว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และน.ส.ศิระภา วาระเลิศ รองอธิบดีกรมโยธาฯ มีพฤติการณ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ในการ จัดซื้อระบบโสตทัศนูปกรณ์ ร่วมกับคณะกรรมการกำหนดราคากลางจากกรมโยธาฯ ในการจัดจ้างโครงการพัฒนาปรับปรุงทำเนียบรัฐบาลและบ้านพิษณุโลก และคณะกรรมการจัดจ้างและจัดซื้อครุภัณฑ์งานติดตั้งระบบห้องประชุมทำเนียบรัฐบาล จากกรมโยธาฯ รวมทั้งหมด 8 ราย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคำนวณราคากลางและการต่อรองราคาที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของราชการ และเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายเข้ามาปรับปรุงระบบเสียง ระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง ระบบ วิดีโอวอลและระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และ 2554) มาตรา 103/7 จึงมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวต่อไป โดยมีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการ 

แจ้งข้อกล่าวหามาร์ค-เทือก

นายวิชากล่าวว่า ที่ประชุมป.ป.ช.พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้ง เป็นรองนายกฯ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุม ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เม.ย. - 19 พ.ค.2553 โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า หลังจากมีการใช้กำลังทหารเพื่อขอคืนพื้นที่ใน วันที่ 10 เม.ย. 2553 ต่อเนื่องถึงวันที่ 19 พ.ย.2553 ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จากการที่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งสองมอบนโยบายขอคืนพื้นที่ 

นายวิชากล่าวว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฝ่ายนโยบายคือฝ่ายผู้สั่งการ คือนายกฯ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และนายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยนายอภิสิทธิ์มอบให้นายสุเทพ เป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้กำลังทั้งหมด จึงปราฏว่าการใช้กำลังทหารในการขอคืนพื้นที่นั้นไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและใช้อาวุธเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเข้าร่วมชุมนุม โดยปราศจากอาวุธและประชาชนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งเป็นเหตุให้มีนายพัน คำกอง และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ เสียชีวิต และยังมีนายสมร ไหมทอง ได้รับบาดเจ็บสาหัสและยังมีประชาชนอื่นเสียชีวิตอีกหลายราย ตามที่ปรากฏในคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้นว่า ความตายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานทหาร จึงเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ออกจากตำแหน่ง 

นายวิชากล่าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งหนังสือบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพมาแก้ข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐรายอื่นๆ จะยุติ โดยจะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ดังนั้นจะรอให้ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแล้วให้มาแก้ข้อกล่าวหาต่อไป หากมีความคืบหน้าจะแถลงให้ทราบ

ยังมีคดีอาญารออยู่ 

นายวิชากล่าวว่า กรณีนี้เป็นการดำเนินคดีกรณีถอดถอนยังไม่รวมถึงคดีอาญา เนื่องจากพบว่ามีพฤติการณ์เข้าขั้นส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนออกจากตำแหน่ง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะแก้ข้อกล่าวหาได้หรือไม่จึงจะพิจารณาดำเนินคดีอาญาต่อไป อย่างไรก็ตาม กรณีของคดีอาญา ยังคงต้องไต่สวนต่อไปเรื่อยๆ 

"ยังมีกรณีเรื่องการชันสูตรพลิกศพที่ยังไม่จบรออยู่ ดังนั้น การสอบอาญาก็ต้องสอบไปเรื่อยๆ แต่ที่ป.ป.ช.เห็นว่าสามารถให้แก้ ข้อกล่าวหาได้ก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับนายพัน คำกอง ซึ่งเห็นว่าศาลวินิจฉัยชัดเจนว่านายพัน กับด.ช.คุณากร ศาลได้วินิจฉัยไว้ชัดเจน รวมทั้งนายสมร ที่บาดเจ็บสาหัส ปรากฏเขาเป็นคนนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วย ป.ป.ช.ดูค่อนข้างละเอียดกระบวนการดูแลพื้นที่และขอคืนพื้นที่ มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือไม่ หรือจะใช้ระบบของทหารกวาดล้าง มันคงไม่ได้ ต้องแยกแยะ ให้เห็นว่าจุดไหนเป็นจุดที่ทำอะไร อย่างไร คือจะเป็นเรื่องรายละเอียดที่เราต้องขอดู จากการชี้แจงข้อกล่าวหาของอดีตนายกฯ และอดีตรองนายกฯว่าได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างไรหรือไม่" นายวิชากล่าว

ให้ชี้แจงภายใน 15 วัน 

เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ หมายรวมถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ.ด้วยหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ทหารผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จะต้องหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องคือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง 

เมื่อถามว่านำพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า จะนำมาดูว่าจะมีส่วนได้รับอานิสงส์หรือไม่ ซึ่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพก็ยังค้างคาอยู่เลย เมื่อถามว่ากำหนดวันให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ มาแก้ข้อกล่าวหาเมื่อใด นายวิชากล่าวว่า ภายใน 15 วันตามกฎหมาย หลังจากได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 

"อนุพงษ์"มีชื่อในกลุ่มจนท.รัฐ 

แหล่งข่าว ป.ป.ช.เผยว่า สำหรับชื่อของพล.อ.อนุพงษ์ จะรวมอยู่ในเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนประเด็นที่จะต้องไต่สวนโดยละเอียด คือการควบคุมสถานการณ์และสั่งการของประธานและผอ.ศอฉ.ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 ที่มีการขับรถบรรทุกเข้าไปในที่เกิดเหตุและเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 กรณีเหตุการณ์ยิงเข้าไปในเขตวัดปทุมฯ จนมีเหตุให้น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาและผู้ชุมนุมหลายคนเสียชีวิต 

มาร์คยันพร้อมชี้แจง 

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงมติดังกล่าวว่าได้รับทราบมติแล้ว ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานและพร้อมชี้แจงเท็จจริง ถือป็นอำนาจหน้าที่ ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดจากตนเลย การพิจารณาจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะอนุ และตนก็ยอมรับผลการพิจารณาดังกล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับทราบมติป.ป.ช. ที่แจ้งข้อกล่าวหาตนกรณีเหตุการณ์ปี 2553 แล้ว ตนยอมรับกระบวนการตรวจสอบและพร้อมให้ความร่วมมือ ชี้แจงข้อกล่าวหาต่อไป โดยจะนำเอาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ว่าได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ

คณะไต่สวนปปช.ชี้มูลถอด250สส.

นายวิชาแถลงว่า ที่ประชุมป.ป.ช.พิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีถอดถอนอดีตส.ส. 258 คน แต่ยังไม่ใช่การลงมติของคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ เป็นเพียงการลงมติในนามองค์คณะไต่สวนที่จะส่งมติให้ที่ประชุมป.ป.ช. ชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 3 มี.ค. ซึ่งองค์คณะไต่สวนที่มีคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะได้พิจารณาสำนวนถอดถอนแล้ว มีมติเห็นว่าส.ส. 250 คน มีมูลความผิดฐาน ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291(1) วรรคหนึ่ง ขณะเดียวกันยังมีส.ส.อีก 3 ราย ที่เสียชีวิตไปแล้ว แม้จะเห็นว่ามีความผิด แต่ความผิด เป็นอันระงับไปเนื่องจากถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ ยังมีอดีตส.ส.อีก 2 คน คือ นาย ยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีตส.ส. พรรคชาติไทย ที่เห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ยกคำร้องให้ข้อกล่าวหาตกไป

นายวิชากล่าวว่า จากการไต่สวนยังพบว่ามีอดีตส.ส.อีก 3 ราย ที่มีความผิดทั้งคดีถอดถอนและคดีอาญา กรณีการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งมีภาพหลักฐานชัดเจนว่าเป็น ใครบ้าง หลังจากนี้จะเรียกอดีตส.ส.ทั้ง 3 คน มาแก้ข้อกล่าวหาในคดีอาญา เมื่อพิจารณา คดีอาญาเสร็จแล้วจะส่งสำนวนให้ อสส.พิจารณาต่อไป ส่วนเหตุผลของการลงมติถอดถอนอดีตส.ส. 250 ราย เนื่องจากเห็นว่า อดีตส.ส.เหล่านี้มีพฤติการณ์รับทราบในการปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญที่มีการรับหลักการในวาระแรก ที่ไม่ตรงกับฉบับที่มีการ เข้าชื่อขอเสนอแก้ไข

3 รายถูกแจ้งอาญาควบด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตส.ส. 3 รายที่ถูกดำเนินคดีอาญาและถอดถอนได้แก่ 1.นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่เป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับฉบับที่เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขไปเปลี่ยนในชั้นที่มีการรับหลักการ 2.นายนริศร ทองธิราช อดีตส.ส.สกลนคร กรณีการเสียบบัตรแทนกัน 3.นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีตส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย กรณีการเสียบบัตรแทนกัน อย่างไรก็ตาม การประชุมป.ป.ช.ครั้งนี้ ที่ประชุมป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาคดีอาญา เพิ่มเติมกับอดีตส.ส.อีก 1 คน เนื่องจากพบหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียบบัตรแทนกันคือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย 

26กพ.สมหมายระทึก-ฎีกาชี้คดี

วันที่ 24 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาในคดีที่นายทัศพงศ์ วิชชุประภา อดีตรอง ผอ.บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ซึ่งเคยเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงการคลังและอดีตประธานสภากรรมการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด นายสมพร แก้วงาม นายนพพร เทพสิทธา นายจิระเสกข์ ตรีเมธสุนทร และนายเตชะ บุณยะชัย กรรมการบริษัทไทยเดินเรือฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยขอให้ลงโทษฐานกระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของ เจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 โดยศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น.

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2547 จำเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีมติให้ พักงานโจทก์ โดยอาศัยบัตรสนเท่ห์กล่าวหาโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งที่อยู่ในขั้นตอนสอบ ข้อเท็จจริงจากบัตรสนเท่ห์ ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าโจทก์มิได้ทุจริต เห็นควรยุติเรื่อง โดยรายงานสรุปความเห็นให้จำเลยทราบ แต่จำเลยกลับมิได้ดำเนินการอย่างไรกับโจทก์ที่ถูกสั่งพักงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และขาดรายได้เลี้ยงชีพเป็นเวลา 8 เดือน 

นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังลงนามสั่งพักงานโจทก์โดยไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจสั่งพักงานประจำเป็นอำนาจของ ผอ.บริษัทไทยเดินเรือฯ ตามระเบียบบริษัทว่าด้วยการบรรจุ การ แต่งตั้ง พ.ศ.2540 ข้อ 42 ต่อมาจำเลยที่ 1 กับพวกยังเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนข้อเท็จจริงจากการกล่าวหาโดยบัตรสนเท่ห์เป็นกล่าวหาโดยนาวาตรีปรารมภ์ โมกขะเวส อดีต ผอ.บริษัทไทยเดินเรือฯ เพิ่มเติมในรายงานการประชุมของสภากรรมการของบริษัท ในวันที่ 2 เม.ย. 2548 ที่มีการรับรองรายงานการประชุมไปแล้ว อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนกรณีอ้างว่านาวาตรีปรารมภ์เป็นผู้กล่าวหาโจทก์ด้วย การกระทำของจำเลยกับพวกมีเจตนาทุจริตกลั่นแกล้งโจทก์และปกปิดการกระทำผิดในการสั่งพักงานโจทก์ผิดพลาด เป็นการกระทำโดยมิชอบ 

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อปี 2550 จำคุกจำเลยที่ 1-5 คนละ 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลย มีคุณงามความดีจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะร้ายแรง โทษจำคุกไม่รอลงอาญา ขณะที่ปี 2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกา 

"ขวัญชัย"ขึ้นศาลคดีถูกลอบยิง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา อดีตประธานชมรมคนรักอุดร พร้อมด้วยนายศุภวัส ทักษิณ ทนายความ นปช. นายกรวีร์ สาราคำ ลูกชาย เดินทางขึ้นศาลฯ เพื่อสืบพยานโจทก์เพิ่มเติม กรณีถูกลอบยิง เมื่อ วันที่ 22 ม.ค. 57 โดยมีสมาชิกคนสนิท ที่นับถือประมาณ 20 คน เดินทางมาให้กำลังใจ และบางส่วนได้เข้าไปรับฟังการเบิกความของศาล

นายศุภวัส ทักษิณ ทนายความของนายขวัญชัยกล่าวว่า วันนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 4 ปาก ช่วงเช้าถึงช่วงบ่ายมีการสืบพยานโจทก์ 2 ปาก ซึ่งเป็นพยานที่ทำงานในร้านคาร์แคร์ เยื้องกับจุดเกิดเหตุ ซึ่งได้ยินเสียงปืนจึงวิ่งมาดู และอีกปากเป็นพยานที่ขับรถจักรยานยนต์มาประสบเหตุ ขณะคนร้ายยิงถล่ม ส่วนอีกปากที่จะสืบต่อ คือนายกรวีร์ ลูกชายนายขวัญชัย ซึ่งเป็นพยานที่อยู่กับนายขวัญชัย ก่อนถูกยิง 

ด้านนายขวัญชัยกล่าวว่า คดีนี้ตนขึ้นศาลมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นคิวของบุตรชาย โดยศาลนัดสืบและให้ปากคำพยานโจทก์ หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมเมื่อตนเองเป็นฝ่ายถูกทำร้าย สำหรับร่างกายขณะนี้เริ่มเดินได้เป็นปกติ แต่ยังต้องใช้ไม้เท้าเพื่อประคองตัวระหว่างเดิน แขนขวาขยับได้มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ในส่วนของสถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร ขณะนี้เริ่มออกอากาศตามปกติ โดยเปลี่ยนรูปแบบการออกอากาศจากการเมืองล้วนๆ เป็นเรื่องแนวทางทำมาหากิน เพื่อให้ความร่วมมือกับ คสช. เรียกว่าทำมาหากินขายสินค้า ไม่ยุ่งกับการเมืองแล้ว 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!