WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8856 ข่าวสดรายวัน


มาร์ค อ้าง-คดี 99 ศพ '3 บิ๊ก'รู้ดี ทั้ง'ป้อม-ป๊อก-ตู่'
แอมเนสตี้ยก 7 ข้อจี้ไทย เลิกอัยการศึก-ละเมิดฯ สนช.ถกถอดถอน 38 สว. กมธ.เคาะที่มา 200 วุฒิฯ วีไอพี 5 กลุ่มเลือกกันเอง


ตักบาตร - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ณ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ กทม.

      กมธ.ยกร่างที่มา 200 ส.ว. แบ่งผู้ทรง คุณวุฒิ 5 กลุ่มให้ไปเลือกกันเอง เรียกเลือกตั้งทางอ้อม สนช.เปิดคดีถอดถอน 38 ส.ว. ป.ป.ช.ยันมีอำนาจไต่สวนแม้จะไม่มีรธน. 50 ด้านอดีตส.ว.แจงทุก ขั้นตอนถูกต้องตามรธน. โวยกล่าวหาร่างปลอม แค่ขั้นตอนธุรการ ด้านเพื่อไทยเชื่อ ดันถอด 250 ส.ส.อีก เปรียบแก้ที่มาส.ว.ผิด ขณะกมธ.ให้แต่งตั้งทั้งหมด มาร์คซัด 'ป้อม-ป๊อก-ตู่'ก็ร่วมประชุมสลายม็อบ ไม่รู้จะมาเป็นพยานให้หรือไม่ 



'บิ๊กตู่'ชี้ไม่ควรเถียงที่มาส.ว.
       เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานการจัดกิจกรรมรณรงค์การปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับงาช้าง ว่า วันนี้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาในประเทศหลายเรื่อง เปรียบเหมือนเมื่อเข้ามาเจอช้างตัวเล็ก แต่ปัจจุบันเราเจอช้างหลายตัว เจอช้างมากขึ้น ในฐานะ นายกฯก็ตั้งใจแก้ไขปัญหาในทุกเรื่อง และทำให้ต้องพูดซ้ำทุกวัน หลายคนบอกว่าเบื่อ แต่ตนเบื่อตัวเองมากกว่า
     "วันนี้ผมดูทีวีของรัฐ เถียงกันเรื่องที่มา ส.ว. ฟังแล้วปวดหัว เรื่องไม่ควรเป็นเรื่องกลับมาทะเลาะกัน วันนี้เราพยายามลดปัญหาเรื่องคนและเรื่องช้าง แต่กลับมีเรื่องพระเข้ามาอีก อยากให้นึกเสมอว่าทุกคนเป็นคนไทย ผิดถูกอย่างไรก็เป็นคนไทย ผมจะไม่ยอมให้ใครทำผิดกฎหมายและทำให้ประเทศชาติเดือดร้อนอีก จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่คนไทยอยู่ร่วมกันและรักกัน จึงขอร้องว่าอย่าทะเลาะกัน ที่สำคัญอีกอย่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ก็ไม่เห็นว่ามีใครเดือดร้อน นักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยากเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และมีจำนวนเพิ่มขึ้น สงสัยว่าคงอยากทดลองว่าการท่องเที่ยวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยในบริเวณพื้นที่จัดงานเป็นไปด้วยความเข้มงวด มีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบโดยรอบบริเวณ 

สปช.ลุยถก'สมัชชาคุณธรรม'
        ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิปสปช.) แถลงภายหลังการประชุมวิปสปช.ว่า ก่อนเข้าสู่วาระ ตัวแทนฝ่ายคสช.ได้หารือเบื้องต้นโดยเห็นว่าสปช.เป็นสภาที่ปรึกษาด้านข้อมูลให้ รัฐบาลและคสช. ซึ่งการดำเนินการต่างๆของสปช.นั้น คสช.และรัฐบาลจะนำไปพิจารณาเป็นพิเศษ พร้อมประสานให้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขัดข้องหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขอให้ทุกภาคส่วนประสานงานกันก่อนจะสื่อสารสู่สาธารณะ โดยกฎหมายใดที่เสนอจากสปช. ครม.จะพิจารณาให้เสร็จภายใน 20 วัน และจะส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาตามกระบวนการออกกฎหมาย ส่วนการเชิญข้าราชการมาให้ข้อมูลขอให้ประสานรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้จัดบุคลากรที่สปช.ต้องการอย่างรวดเร็ว ส่วนสนช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่สปช.ส่งมาก่อนขั้นรับหลักการ เพื่อพิจารณาให้รอบด้านและถูกต้อง ให้การทำงานร่วมกันของสปช. สนช. ครม. และคสช. ราบรื่น ไม่คลาดเคลื่อน 
       นายวันชัย กล่าวว่า ที่ประชุมวิปสปช.ยังมีมติว่าการประชุมสปช.วันที่ 2 มี.ค.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีเนื้อหาเพื่อจัดการกับนักการเมือง ข้าราชการ และบุคคลที่มีพฤติกรรมที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม จึงเห็นควรให้มีองค์กรที่มีมาตรการแซงก์ ชั่นทางสังคม โดยมีกฎหมายรองรับ ขณะที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เร่งรัดให้กรรมาธิการ 18 คณะเสนอกรอบการปฏิรูป 36 ประเด็นภายในวันที่ 27 ก.พ. และจะต้องชัดเจนว่าจะปฏิรูปอย่างไร ภายใน วันที่ 10 เม.ย.นี้ ส่วนวันที่ 31 ก.ค.จะต้องร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เสร็จ 

สนช.เริ่มถกถอดถอน 38 ส.ว.
       ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานประชุมพิจารณากระบวน การถอดถอนอดีตส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนการแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และการแถลงคัดค้านโต้แย้งเปิดสำนวนของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้นายพรเพชรเชิญตัวแทนฝ่าย ผู้กล่าวหาคือ นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. และตัวแทนฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา 29 คน เข้าห้องประชุม
       จากนั้นนายวิชัยแถลงเปิดคดีว่า จากสำนวนถอดถอนอดีตส.ว.ที่ส่งให้ป.ป.ช. พิจารณา มีการกล่าวหาอดีตส.ว. 50 คน มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ แต่จากการไต่สวนของป.ป.ช.พบว่ามีอยู่ 38 คน ที่มีพฤติการณ์ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมาย แบ่ง ผู้ถูกกล่าวหาเป็น 4 กลุ่มความผิด ประกอบด้วย 1.ข้อกล่าวหา นางภารดี จงสุขธนามณี และพล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 3 แต่ไม่ได้พิจารณาลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 6 ที่มีการแก้ไขหลักการสำคัญ มีผลทำให้ผู้เคยดำรง ตำแหน่งส.ว.ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพลง สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว.ได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้น 2 ปี 

ปปช.เปิดคดีแจงข้อหา
        2.ข้อกล่าวหา นายประสิทธิ์ โพธสุธน นายสมชาติ พรรณพัฒน์ พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ นายดิเรก ถึงฝั่ง นายประวัติ ทองสมบูรณ์ นายกฤช อาทิตย์แก้ว พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ นายภิญโญ สายนุ้ย นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ นายสุเมธ ศรีพงษ์ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล นายพีระ มานะทัศน์ นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง นาย สุวิศว์ เมฆเสรีกุล นายรักพงษ์ ณ อุบล นายบวรศักดิ์ คณาเสน นายจตุรงค์ ธีระกนก นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ และนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร รวม 22 คน กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 1, 2 และ 3 
       3.ข้อกล่าวหา นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ นายโสภณ ศรีมาเหล็ก นายต่วน อับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ นายวรวิทย์ บารู นายสุโข วุฑฒิโชติ นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง นายสุริยา ปันจอร์ นายถนอม ส่งเสริม นายบุญส่ง โควาวิสารัช และนายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ รวม 13 คน กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 1 และ 3 และ 4.ข้อกล่าวหา นายวิทยา อินาลา กรณีร่วมลายมือชื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 1 และ 2

ยันมีอำนาจแม้ไร้รธน.50
        กรรมการป.ป.ช. กล่าวอีกว่า ไต่สวนพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ทั้ง 38 คน เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข กับร่างรัฐธรรมนูญที่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อลงมติวาระที่ 1, 2 และ 3 มีเนื้อหาไม่ตรงกัน มีการแก้ไขหลักการสำคัญให้ส.ว.ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ลงสมัครเป็นส.ว.ได้อีก โดยไม่ต้องรอให้พ้นตำแหน่ง 2 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ลงมติ ไม่ปรากฏว่ามีส.ว.ร่วมลงชื่อรับรองร่างดังกล่าว ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยืนยัน ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นจึงวินิจฉัยได้ว่าอดีตส.ว.ทั้ง 38 คน มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้ว่าร่างที่ลงมติไปนั้น เป็นร่างสอดไส้ เสนอโดยมิชอบ ข้ออ้างว่าไม่ทราบว่าร่างที่ลงมติเห็นชอบเป็นคนละฉบับกับที่ร่างที่เข้าชื่อเสนอนั้น รับฟังไม่ขึ้น
       นายวิชัย กล่าวยืนยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนถอดถอนกรณีดังกล่าว แม้รัฐธรรมนูญปี"50 จะไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 24/2557 ให้พ.ร.บ.ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ประกอบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 6 ให้สนช.ทำหน้าที่เป็นส.ส. และส.ว. ซึ่งสนช.มีข้อบังคับการประชุมปี 2557 ระบุให้สนช.มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ดังนั้น ป.ป.ช.ย่อมมีอำนาจไต่สวน พร้อมส่งรายงานคำร้องถอดถอนมายังสนช. เพื่อดำเนินการถอดถอนได้

'กฤช'ลุกแจงยันไม่ขัดรธน.
      จากนั้นนายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีตส.ว.กำแพงเพชร แถลงเปิดสำนวนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตอนหนึ่งว่า ในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงนั้น จากการตรวจสอบคำร้องที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อป.ป.ช. ขอให้ถอดถอนพวกตนออกจากตำแหน่งนั้น ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 61 เพราะในคำร้องมีแค่ลายเซ็นและหมายเลขสมาชิกส.ส.เท่านั้น ทั้งที่มาตรา 61 ระบุให้ใส่รายละเอียดมากกว่านี้ อีกทั้งสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช.ที่ชี้มูลให้ถอดถอนพวกตนนั้น ในท้ายสำนวนมีชื่อนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. ที่มีปัญหาเรื่องการดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะตอนประกาศ คปค.แต่งตั้ง นายภักดีเป็นกรรมการป.ป.ช. ปรากฏหลักฐานชัดว่านายภักดียังไม่ได้ลาออกจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งขัดต่อคุณ สมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นป.ป.ช. อีกทั้งขณะนี้เป็นคดีฟ้องร้องอยู่ที่ศาลปกครอง 
       "ไม่ว่าผลจะออกมาถอดถอนหรือไม่ก็ตาม การวินิจฉัยของสนช.อาจดำเนินการต่อไป ไม่ได้และมติอาจมีปัญหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ถูกกล่าวหากระทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยมีคำสั่งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 ซึ่งก่อนหน้านี้พวกผมยังเคยช่วยพรรคประชาธิปัตย์แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรามาแล้ว" นายกฤชกล่าว
       อดีตส.ว.กำแพงเพชรกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 130 ให้เอกสิทธิคุ้มครองแก่สมาชิกรัฐสภาว่าการอภิปรายในสภาใดๆ ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุฟ้องร้องได้ จึงเห็นว่าการทำหน้าที่ของป.ป.ช. ไม่มีความรอบคอบ เราจะให้บ้านเมืองเราเดินไปโดยให้อำนาจป.ป.ช.แบบนี้หรือ ยิ่งมีอำนาจยิ่งไม่มีความยุติธรรม พวกตนทั้ง 38 คนไม่ได้กระทำการที่ส่อว่าจงใจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่ป.ป.ช.กล่าวหา

'วิทยา'ยันไม่มีร่างปลอม
         จากนั้นนายวิทยา อินาลา อดีตส.ว.นครพนมแถลงว่า ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย มีเพียงร่างเดียว ไม่มีร่างปลอม ซึ่งการขอแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอไปนั้นทำได้ หากยังไม่บรรจุญัตติเข้าวาระการประชุม ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าวาระการประชุมช่วงบ่าย วันที่ 27 มี.ค. 2556 แต่นายอุดมเดชขอแก้ไขเนื้อหาในช่วงเช้า ซึ่งทำได้ตามแนวทางปฏิบัติของกระบวนการพิจารณาทางนิติบัญญัติ ข้อ 3 ระบุว่าผู้เสนอหลักจัดทำร่างรัฐธรรมนูญหรือพ.ร.บ. สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างพ.ร.บ.ใหม่ มาเปลี่ยนกับร่างฉบับเดิมได้ ซึ่งอาจจะแก้เฉพาะส่วนที่ผิด หรือนำร่างใหม่มาเปลี่ยนร่างเดิมได้ แต่ต้องใช้เลขรับหนังสือเดิม ดังนั้นร่างแก้ไขที่มีการเพิ่มเติมเนื้อหามาตรา 6 เข้าไป จึงชอบด้วยมาตรา 291 ร่างที่เข้าชื่อเสนอกับร่างที่ลงมติ จึงเป็นร่างฉบับเดียวกัน ไม่ใช่ร่างปลอม 
      "พวกผมร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ใต้อาณัตพรรคการเมืองหรือบุคคลใด เพราะการลงมติไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราจำใส่สมองตลอดว่าส.ว.มีหน้าที่อย่างไร ผ่านการปฏิญาณตนมาแล้ว การมาบอกว่าเราล้มล้างระบอบประชา ธิปไตย อยากถามว่าเอาสมองส่วนไหนมาคิด" นายวิทยากล่าว 

สงสัย'ปปช.'ลงมติซ้ำซ้อน
      นางภารดี จงสุขธนามณี อดีตส.ว.เชียงราย ชี้แจงว่าตนและพล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน อดีตส.ว.พะเยา ได้ลงชื่อยื่นญัตติและลงมติในวาระ 3 เท่านั้น ไม่ได้ลงมติในขั้นรับหลักการวาระที่ 1 และ 2 จึงอยากถามว่าทำไมป.ป.ช.ต้องลงมติถึง 2 ครั้ง ทั้งที่การลงมติในครั้งแรก ยุติแล้วว่าตนและพล.ท.พงศ์เอกหลุดจากคดีแล้ว ซึ่งองค์ประชุมของป.ป.ช.ครบทั้ง 8 คนไม่มีอะไรผิดกฎหมาย แต่ผ่านไปเพียง 10 วันก็หยิบยกมาทบทวนใหม่ ทำให้การทำงานของป.ป.ช.ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะการจะหยิบยกมติดังกล่าวขึ้นมาทบทวนใหม่ ต้องมีหลักฐานเพิ่ม และต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ แต่สิ่งที่ป.ป.ช.ทำคือ ไม่มีการแจ้งให้ตนและพล.ท.พงศ์เอก รับทราบเลย อย่างนี้ถือว่าดิสเครดิต ทำงานสองมาตรฐาน หรือไม่
     ด้านพล.ท.พงศ์เอกชี้แจงว่า การลงมติของป.ป.ช.ในครั้งแรก มติเท่ากันคือ 4 ต่อ 4 ทำให้ประธานป.ป.ช.ใช้อำนาจตัดสินเสียงชี้ขาด ซึ่งประธานลงมติให้หลุดจากคดีดังกล่าว ดังนั้นตนและนางภารดี จึงไม่อยู่ในรายชื่อ 38 คน แต่การนำกลับมาทบทวนใหม่ อ้างตามกฎหมายการถอดถอนว่าต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการป.ป.ช.ที่มีอยู่ ซึ่งมติ 4 ต่อ 4 ถือว่าตนและนางภารดีผิด จึงไม่เข้าใจว่าคะแนน 4 ต่อ 4 มากกว่ากึ่งหนึ่งอย่างไร ดังนั้น ตนและนางภารดีจะถูกถอดถอนหรือไม่ อยู่ที่ดุลพินิจของสนช.ที่จะชี้ซ้ายหรือชี้ขวา

พอใจได้ชี้แจงต่อสาธารณะ
       จากนั้นนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี ชี้แจงว่าสิ่งที่ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินครั้งนี้ เป็นจิตนาการที่คิดเองว่านักการเมืองจะไปสร้างอิทธิพล กินบ้านกินเมือง แล้วผลักให้เป็นส่วนหนึ่งของความ ขัดแย้งทางการเมือง ขอบคุณที่สนช.รับเรื่องพวกตนไว้พิจารณา และเปิดให้พวกตนได้ชี้แจงต่อที่ประชุม เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะว่าสิ่งที่พวกตนทำมีผลต่อประชาชนอย่างไร เพราะจะมีสักกี่คนที่รู้เนื้อหาสาระในการกล่าว หาครั้งนี้
       ต่อมานายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี แถลงสรุปว่า ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของส.ว.ในการแก้รัฐธรรมนูญนั้นทำถูกต้องทุกประการ และการแก้ที่มาส.ว. ไม่ได้หมายความว่าแต่ละคนจะกลับมาลงสมัคร ส.ว.อีกครั้ง เพราะยังไม่มีใครตัดสินใจ ถ้าจะกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็ถือว่าองค์ประกอบยังไม่ครบถ้วน ยืนยันว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และข้อกล่าวหาที่ว่าจงใจใช้อำนาจหน้ที่ขัดต่อมาตรา 291 เรื่องการล้มล้างการปกครองนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองตรงไหน ยืนยันว่าพวกเราทุกคนมีความหลากหลาย ไม่ว่าข้าราชการ ทหาร ผู้ว่าฯ ที่ผ่านศึกเหนือเสือใต้มามาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเราจะกระทำการล้มล้างการปกครอง

ตั้ง'หยุย-ทรงสุดา'กก.ซักถาม
      จากนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งถึงการยื่นแสดงความประสงค์จะแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจา ต้องยื่นต่อสนช.ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ถึง 3 มี.ค. แต่หากต้องการแถลงเป็นหนังสือ ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 3-9 มี.ค. ส่วนการยื่นญัตติซักถามให้ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. ถึงเวลา 12.00 น.ของวันที่ 27 ก.พ. และให้ตั้งกรรมาธิการซักถาม 7 คน คือนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายยุทธนา ทัพเจริญ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน พร้อมกำหนดวันซักถามใน วันที่ 5 มี.ค. จากนั้นได้สั่งปิดประชุม

ปานเทพโต้วุ่นมาตรฐานปปช.
       นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยวิจารณ์เรื่องที่ป.ป.ช. เตรียมพิจารณาชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. 250 ราย ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาวิจารณ์กัน ป.ป.ช.ทำคดีตามที่ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องมาจากสภาและมีผู้ร้องเรียนยื่นเข้ามา ป.ป.ช.ไม่มีทางอื่น ต้องเดินหน้าทำคดีและทำมาตามลำดับ จนเข้าสู่การพิจารณาขององค์คณะไต่สวนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นกรณีที่คล้ายกับที่ชี้มูลความผิดถอดถอนอดีตส.ว. 38 คนและสนช.พิจารณาอยู่ขณะนี้ 
       นายปานเทพ กล่าวว่า เราทำงานทุกอย่างตามกฎหมาย ไม่ใช่เล่นการเมือง ป.ป.ช. ทำตามหน้าที่ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ หากไม่ทำก็จะโดนละเว้น ยืนยันไม่ใช่ทำแต่คดีของนักการเมืองข้างใดข้างหนึ่ง พิจารณาทุกเรื่องที่ร้องเข้ามา อย่างกรณีที่แจ้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ปี 2553 อย่างไรก็ตามกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนไม่ได้รู้สึกท้อ เแต่ยืนยันว่าทำงานตามกฎหมายโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติแล้วสังคมจะเห็นเอง

มาร์คอ้าง'ตู่'รู้ดีคดีสลายม็อบ
      ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า ยอมรับมติของป.ป.ช.ที่เห็นว่าเป็นเหตุเข้าข่ายการถอดถอนออกจากตำแหน่ง พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์และยืนยันว่ามีการปรับหลักการทำงานเพื่อหลีกเหลี่ยงความสูญเสีย แต่กรณีที่มีผู้ใช้อาวุธไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่คืนความสงบให้กับสังคม ซึ่งเรื่องนี้ คนที่ทำงานร่วมกันรู้ดี เช่นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น รวมถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นรองผบ.ทบ.ในขณะนั้นด้วย เพราะเข้าร่วมประชุมอยู่จึงรู้ดีถึงการทำงานในขณะนั้น หาก ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ซึ่งไม่แน่ใจว่าบุคคลทั้งหมดพร้อมที่จะเป็นพยานให้หรือไม่
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่ป.ป.ช.กล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ตนก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าในสถานการณ์ขณะนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยจะเป็นการทำผิดกฎหมายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และในการดูแลสถานการณ์ก็พยายามหลีกเลี่ยงการ สูญเสียด้วยการปรับแนวทางเท่าที่จะทำได้ ทั้งระดับนโยบายการกำหนดยุทธศาสตร์ 

อ้างเตือนแล้ว-ไม่เกี่ยวคนตาย
        เมื่อถามกรณี ป.ป.ช.ยกการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมทั้งการบาดเจ็บสาหัสของนายสมร ไหมทอง มาเป็นตัวอย่าง ผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการปฏิหน้าที่ของทหารนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีที่ป.ป.ช.หยิบมานั้นไม่ใช่การสลายการชุมนุมหรือการขอคืนพื้นที่ แต่อยู่ในระหว่างการใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ โดยกรณีนายพันและนายสมรเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่กรณี ด.ช.คุณากร เกิดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งมีเหตุที่ทำให้เกิดการปะทะหรือการใช้อาวุธ แต่กรณีของนายพันกับนายสมรชัดเจนว่านายสุรชัย ขับรถตู้ฝ่าด่านเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารมีการแจ้งเตือน ส่วนนายพัน ที่เสียชีวิตไม่ได้อยู่ในรถแต่วิ่งออกมาดูเหตุการณ์ จึงยืนยันได้ว่าไม่มีเรื่องเจตนาที่จะทำให้เกิดความสูญเสีย เพราะมีการเตือนตามขั้นตอนทุกอย่าง
       "ก็เป็นดุลพินิจของป.ป.ช.ว่าหลังจากแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจะมีความเห็นอย่างไร แต่ผมก็มั่นใจในความบริสุทธิ์และเคารพการตรวจสอบ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

'วรชัย'ดักคอแผนสร้างภาพ
       นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ฐานะแกนนำนปช. กล่าวถึงป.ป.ช.มีมติส่งหนังสือบันทึกแจ้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ว่า เมื่อศาลอาญาได้ยกฟ้องทั้งคู่ไปก่อนหน้านี้แล้ว เข้าใจว่าป.ป.ช.รู้อยู่แล้วว่าต่อให้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลทั้งคู่ และส่งเรื่องให้สนช. พิจารณาถอดถอน ทางสนช.ก็จะมีมติไม่ถอดถอน อ้างว่า ศาลอาญายกฟ้องไปแล้ว ทั้งนี้ เป็นเพียง ความพยายามของป.ป.ช.ที่จะสร้างภาพว่ามีมาตรฐานเดียว ตนมองว่าเป็นการฟ้องแก้เกี้ยวเท่านั้น ท้ายที่สุด สนช.จะบอกว่าถอดถอน ไม่ได้เพราะศาลอาญายกฟ้องไปแล้ว 
      "ผมเชื่อว่าถอดถอนคนทั้งคู่ไม่ได้ เพราะมีใบเบิกทางจากศาลอาญาที่ยกฟ้องไปแล้ว สุดท้ายก็โบ๋เบ๋ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น" นายวรชัยกล่าว

พท.เชื่อดันถอดอดีต 250 ส.ส.อีก
        นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติถอดถอนอดีต ส.ส. 250 คนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า ยืนยันว่าข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ที่รับมาจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงตามข้อเท็จจริง อย่างที่ระบุว่ามีการปลอมแปลงร่างแก้ไขก็ไม่จริง ทั้งหมดเป็นงานธุรการของรัฐสภา อีกทั้งการอภิปรายของสมาชิก ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ไม่มีการกล่าวหาว่าปลอมแปลงแต่อย่างใด ส่วนการที่สมาชิกรัฐสภาเสนอแก้ไขกฎหมายถือว่าเป็นหน้าที่ที่ทำได้ รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ให้อำนาจแก้ไขได้ 
        นายสมคิด กล่าวต่อว่า เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ไม่ได้ พอจะแก้ไขรายมาตราก็ไม่ได้อีก ทั้งที่ได้ดำเนินการทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญและทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเสนอแนะ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 130 เป็นเอกสิทธิ์ที่ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกทิ้งไป ยิ่งไม่มีกฎหมายมารองรับในการถอดถอนตามมาตรา 270

ชี้สอดคล้องกมธ.ให้แต่งตั้งส.ว.
        "วันนี้ผมจนปัญญาที่จะอธิบาย เพราะ จะดันทุรังถอดถอน และเศร้าใจหากเล่าให้ ลูกหลานฟังว่าที่ถูกถอดถอน เพราะไปแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ที่แก้ไขไม่ได้ ก็มาสอดคล้องกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดที่มา ส.ว. 200 คนมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด พวกเราคงทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากฟ้องประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้นกับการถอดถอนอดีต ส.ส. 250 คน"นายสมคิดกล่าว
       นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้รับทราบมติอนุกรรมการ ป.ป.ช. ที่กล่าวหาตน ให้ดำเนินคดีอาญากับตนในกรณีเกี่ยวข้องกับการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งตนยอมรับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. แต่กรณีการเสียบบัตรแทนกัน ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไปเสียบบัตรแทนคนอื่น ส่วนที่มีรูปตนอยู่ในวิดีโอ เนื่องจากตนไปดึงเอาบัตรลงคะแนนของตนเองออกมาเพื่อไปลงคะแนน เนื่องจากมีคนมานั่งแทนที่นั่งตน ทั้งนี้ ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีการเสียบบัตรแทนกันก็ไม่มีชื่อตนเข้าไปเกี่ยวข้อง และที่ผ่านมาอนุกรรมการของป.ป.ช.ไม่เคยเรียกตนไปชี้แจง จึงขอยืนยันในความบริสุทธิ์และพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองต่อไป 

พท.ลั่นพร้อมเลือกตั้งทุกกติกา
       นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง ตามแนวคิดของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าวิธีการที่เขาคิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนไม่เสียเปล่า และทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดมีจำนวนที่นั่งในสภามากเกินไป แต่จะมีปัญหาตามมา คือจะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก เพราะหากพรรคใดได้คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อร้อยละ 1 จะทำให้มีส.ส.ประมาณ 4 คน ฝ่ายบริหารจะถูกต่อรองจากพรรค การเมืองต่างๆ ตลอด รวมถึงจะมีปัญหาการย้ายขั้วของพรรคการเมืองตามมาอีก รัฐบาลอาจถึงขั้นล้มลุกคลุกคลาน ทำให้การบริหารไม่มีเสถียรภาพ นายกฯก็จะขาดภาวะการเป็นผู้นำ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะเป็นห่วงสถานะของรัฐบาล มองว่าระบบดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขและพัฒนาประเทศโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ 
      นายสามารถ กล่าวอีกว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่ได้เสียงข้างมากในสภามาหลายสมัย ดังนั้นจะยืนยันทำพรรคให้เข้มแข็งและส่งผู้สมัครทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อตามกติกาใหม่ ซึ่งในที่สุดแล้วประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน 

กมธ.ห้ามคนถูกถอดลง'สส.'
      ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแถลงว่า กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นแล้ว โดยมาตรา 110-111 คงหลักการตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม มีปรับเปลี่ยนเล็กน้อยคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่นอกเขตเลือกตั้ง หรือนอกราชอาณาจักร จะมีสิทธิต่อเมื่อลงทะเบียนแสดงความจำนงว่าจะออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนมาตรา 112 กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง มีการเพิ่มเติมคือต้องแสดงสำเนาแบบรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปีให้กกต. เว้นแต่เป็นผู้ไม่มีรายได้ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนว่ามีการจ่ายภาษี
       นายคำนูณ กล่าวว่า มาตรา 113 ว่าด้วยบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนใหญ่คงเดิม มีเพิ่มเติมในข้อ 8 คือเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำการทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนข้อ 15 กำหนดว่า เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตามมาตรา 256 หรือ 257 ส่วนมาตรา 115 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จะได้รับเลือกเป็นส.ส.ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเสียงโหวตโน 

ชี้'ปู'ส่อถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต
      นายคำนูณ กล่าวอีกว่า มาตรา 119-120 กำหนดให้กกต.เป็นผู้มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อยุบสภา ภายใน 45-60 วันนับแต่ยุบสภา และกกต.ก็มีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ หากมีเหตุใดๆ ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยใดไม่สามารถทำได้ในวันเดียวกัน ขณะที่มาตรา 118 มีการวางแนวทางใหม่ในข้อ 1 ว่าด้วยการสิ้นสมาชิกภาพส.ส. กำหนดว่าหากนายกฯหรือคณะรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะถูกยุบตามไปด้วย เพื่อปกป้องฝ่ายบริหารที่คาดว่าจะเป็นรัฐบาลผสม หวังให้ส.ส.ตรวจสอบนายกฯและฝ่ายบริหารด้วยการถอดถอนในแนวทางอื่นแทน 
       เมื่อถามว่า กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกสนช.ถอดถอน จะเข้าตามมาตรา 113 หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่ามาตรานี้ประยุกต์มาจากมาตรา 102 (14) ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่าหากเคยถูกวุฒิสภาถอดถอนจากตำแหน่ง ตามมาตรา 274 ห้ามสมัครรับเลือกตั้ง แม้จะเขียนไว้ให้ถูกตัดสิทธิ 5 ปี แต่พอพ้นโทษแล้วก็ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้อยู่ดี 
        "ยังไม่ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าการถอด ถอนอดีตนายกฯ ส.ส. และส.ว.ในระหว่างนี้จะเข้าข่ายตามมาตราดังกล่าวและเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ระหว่างที่ไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว ซึ่งขณะนั้นก็ ไม่มีส.ว. แต่มีสนช. ถือว่าทำหน้าที่แทนส.ว.ด้วย จึงยังไม่แน่ใจ คาดว่ากมธ.ยกร่างฯจะหาข้อยุติได้ในเร็ววันนี้" 

ให้กกต.กำหนดวันเลือกตั้งเอง
       โฆษกกมธ.ยกร่างฯระบุว่า ส่วนตัวมองว่ามาตรานี้ถือเป็นการตัดสิทธิและจำกัดสิทธิ การตีความต้องทำตามลายลักษณ์อักษรและตีความอย่างแคบ หมายความว่า ต้องดูว่าเคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ ส่วนกรณีนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ตนเข้าใจว่า ไม่ใช่เป็นการต้องคำพิพากษาว่าทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตยุติธรรม แต่ต้องรับผลจากการถูกตัดสิทธิ 5 ปี ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งพบว่านักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 ไม่ได้เป็นตัวการกระทำการ จึงไม่น่าเข้าข่ายตามมาตรานี้ แต่คนที่ไม่สามารถเล่นการเมืองได้คือคนที่ถูกใบแดงจนเป็นเหตุให้เกิดการ ยุบพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า การให้อำนาจกกต.กำหนดวันเลือกตั้งและเลื่อนวันเลือกตั้ง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่มีประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ทำให้บางหน่วยไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ จึงต้องแก้ปัญหาให้กกต.มีอำนาจเด็ดขาด หากหน่วยไหนมีเหตุไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ก็เป็นหน้าที่กกต. จะประกาศงดเลือกตั้งเฉพาะเขต รวมถึงให้งดการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นรายภาคด้วย หากพื้นที่ไหนมีปัญหา ซึ่งทำให้ไม่สามารถนับคะแนนได้ จนกว่าเขตที่มีปัญหาจะลงคะแนนและนับคะแนนได้ จึงประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 

แจงขั้นตอนตั้งสว.
        พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ยกร่างฯ แถลงว่า การพิจารณาส่วนที่ 3 วุฒิสภา มาตรา 123 กำหนดให้ส.ว. มีจำนวนไม่เกิน 200 คน เป็นได้ 6 ปี วาระเดียว ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจากบุคคล ดังนี้ 1.ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เลือกกันเองให้ได้ไม่เกิน 10 คน 2.ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร ข้าราชการฝ่ายทหารซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพ พนักงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าองค์กรดังกล่าว เลือกกันเองประเภทละไม่เกิน 10 คน แต่ต้องไม่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น 
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า 3.ผู้แทนองค์กรวิชาชีพหรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งเลือกกันเองตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. จำนวนไม่เกิน 10 คน 4.ผู้ซึ่งมาจากการเลือกกันเองขององค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น ไม่เกิน 50 คน 5.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากร ธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และอื่นๆ ตามที่พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ ไม่เกิน 100 คน 

ให้สว.ตั้งกมธ.สอบประวัติรมต.
       พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรา 127 กำหนดให้ผู้ที่เคยเป็นส.ว.พ้นตำแหน่งมาไม่เกิน 2 ปี จะเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่ได้ ส่วนมาตรา 132 กำหนดว่าเมื่อนายกฯ จะนำความกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล วุฒิสภาจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อก่อน แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อแจ้งให้นายกฯ ทราบ โดยไม่ต้องลงมติ นอกจากนี้ยังนำมาบังคับใช้กับการเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าหน่วยราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของรัฐวิสาหกิจด้วยโดยอนุโลม ทั้งนี้ การดำเนินการของกมธ.จะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา

รบ.โอเคแผน'ปปช.'ปราบโกง
      เมื่อวันที่ 25 ก.พ. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมครม. เมื่อ วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอให้ครม.สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐแปลงแนวทางและมาตรการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 2 ปี 2556-2560 สู่การปฏิบัติ โดยกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานก.พ.ร. สำนักงานก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง 
      สำหรับ ยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 ปี 2556-2560 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และ 1 มาตรการคือ 1.ยุทธศาสตร์ปลูกและปลุกจิตสำนึกการต่อต้านการทุจริต เน้นปรับเปลี่ยนฐานความคิดของคนในทุกภาคส่วน รักษาประโยชน์สาธารณะ 2.ยุทธศาสตร์บูรณาการการทำงานของหน่วยงาน ต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านการทุจริตและเครือข่ายระหว่างประเทศ
       4.ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริหารและเครื่องมือป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน ส่วนมาตรการ ประกอบด้วย 1.กำหนดตำแหน่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกิจการที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม 2.กำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด 3.การสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการเปิดเผยวิธีการคำนวณราคากลางและให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐทำบัญชีรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญา 

'นายกฯตู่'ผุดไอเดียเรือรับจ้าง
      เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 25 ก.พ. ที่ตลาดน้ำวิถีไทยคลองผดุงกรุงเกษม เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 61 รูปทางเรือ เพื่อถวายเป็น พระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา โดยมีครม. ผู้นำเหล่าทัพ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.คณะผู้บริหารกทม. ปลัดกระทรวง ทบวง กรม องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมพิธีทำบุญตักบาตรจำนวนมาก 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นพิธีทำบุญตักบาตร พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือกับม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ โดยเสนอแนวคิดปรับปรุงคลองผดุงฯเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ และจัดให้มีเรือรับจ้างเพื่อรับ-ส่งนักท่องเที่ยว
       ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เผยว่า แนวคิดเรื่องการจัดให้มีเรือรับจ้างสัญจรในคลองผดุงฯนั้น ทำได้เฉพาะหน้าแล้ง เนื่องจากในช่วงฤดูฝนคลองผดุงฯ ต้องใช้ระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้กทม.ไม่สามารถดำเนินการเองได้ คาดว่าจะเปิดให้เอกชนที่สนใจมาดำเนินการร่วมกับกทม. เบื้องต้นอาจจัดโครงการนำร่องใน 3 เดือนแรกก่อน เพื่อประเมินผลตอบรับ ส่วนตลาดน้ำที่จะสิ้นสุดในวันที่ 1 มี.ค.นั้น ที่ผ่านมาได้ผลตอบรับดี ทุกคนพอใจ คาดว่าจะมีผู้ประชาชนมาเที่ยวยังตลาดน้ำฯไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนคน สร้างรายได้ให้แม่ค้าส่วนใหญ่ถึง วันละ 10,000 บาท หลังจากนี้จะใช้พื้นที่เปิดเป็นตลาดขายสินค้าเกษตรที่มาจากเกษตรกรโดยตรง อาทิ ข้าวและผัก คาดว่าจะเปิดตลาดเป็นครั้งแรก วันที่ 10 มี.ค.นี้ และจัดเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้ประชาชนทั่วไป แต่จะไม่ทำเป็นตลาดสำเร็จรูปอีก

'บิ๊กตู่'สั่งตั้งเสาธงชาติในทำเนียบ
       เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานนายกฯ เปิดเผยถึงข่าวการตั้งเสาธงชาติบริเวณตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดให้ตั้งเสาธงชาติบริเวณสนามหญ้าด้านหน้าตึกสันติไมตรี หลังนอก เพราะเห็นว่าสถานที่ราชการควรมีเสาธงตั้งไว้เพื่อความสง่างาม ทั้งนี้ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ ได้มอบให้ กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและกรมยุทธโยธาทหารบก เป็นผู้ก่อสร้าง ใช้งบประมาณกว่าล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือนมี.ค.นี้ 
      พล.ต.วีรชน กล่าวต่อว่า เสาธงดังกล่าวมีขนาดความสูงประมาณ 30 เมตร เท่ากับขนาด เสาธงที่อยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า และการติดตั้งเสาธงใหม่ครั้งนี้ เป็นหลักความเชื่อของทหารที่ควรตั้งเสาธงปักให้เหนือจากพื้นดินตั้งขึ้นไป ไม่ใช่ปรับฮวงจุ้ยเพื่อแก้เคล็ดหรือเสริมดวงรัฐบาลแต่อย่างใด

'ป๊อก'ชี้สอบไมค์แพงยังไม่ทุจริต
        เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯและปลัดสำนักนายกฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีป.ป.ช.ระบุไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อไมโครโฟนห้องประชุมครม. ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ว่า รู้ชีวิตขึ้นอีกมาก เคยบอกทุกคนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างนี้ ไม่มีกฎระเบียบข้อใดให้ตนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้ ตอนนั้นบางคนทั้งเขียนทั้งพูด แต่งเรื่องที่ปราศจากข้อเท็จจริง คงไม่กลัวบาปกลัวกรรม ซึ่งตนได้อดทน คิดอย่างเดียวว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ตนรับราชการมายาวนาน ไม่เคยคิดเอารัดเอาเปรียบผู้ใด ไม่โกรธใคร สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสอนลูกหลานเยาวชนว่า ชีวิตคนเราดำรงอยู่ได้ด้วยการให้อภัย
     พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงป.ป.ช.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กรณีจัดซื้อไมโครโฟนทำเนียบรัฐบาลแพงเกินจริงว่า นายมณฑลจะเข้าไปชี้แจงกับคณะอนุกรรมการฯ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้น คาดว่าจะมีผลต่อการดำเนินการทางกฎหมายและการดำเนินงานในตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาฯ แต่กรณีนี้ถือว่ายังไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องยากหากจะเรียกว่าทุจริต 
       เมื่อถามว่าการตั้งอนุกรรมการฯ จะสร้างแรงกระเพื่อมหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ในระบบราชการหากมีการตรวจสอบถือว่าดีกับสังคม แต่อย่าไปบอกว่าตรวจสอบเพราะทุจริต ต้องรอผลการพิจารณาจากป.ป.ช.ก่อน หากทุจริตจริงก็ต้องลงโทษตามขั้นตอนกฎหมาย

26 กพ.ตั้งทีมถกแก้กม.พลังงาน
     เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมออกประกาศยกเลิกการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขพ.ร.บปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 6 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนายกฯมีคำสั่งให้เลื่อนการเปิดสัมปทานรอบนี้ออกไป เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) ซึ่งวันที่ 26 ก.พ.จะหารือตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน มาพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
      รมว.พลังงาน กล่าวว่า โดยหลักการแก้ไขพ.ร.บ.จะแก้ในส่วนของเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไขพ.ร.บ.เสร็จสิ้น กระทรวงพลังงานจะออกประกาศให้เอกชนเข้ายื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกครั้งภายใน 120 วัน ดังนั้นจึงคาดว่าประเทศไทยจะสามารถเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้ภายใน 7 เดือนหรือไม่เกินช่วงเดือนต.ค.2558 ยอมรับว่า การเลื่อนเปิดสัมปทานรอบนี้ออกไปส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่การที่มีกรอบระยะเวลาที่แน่นอน จึงเชื่อว่าจะกระทบไม่มาก
      นายณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า โดยระหว่างนี้จะเตรียมแผนจัดหาปิโตรเลียม เร่งก่อสร้างคลังสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ระยะที่ 2 เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ 10 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ และล่าสุดได้เร่งสั่งซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ สปป.ลาว จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต
      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ว่า นายกฯคิดว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้เพราะไม่ใช่การยกร่างทั้งฉบับ เพียงแต่แก้ไขในบางเรื่องเท่านั้น จึงให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการ รับฟังความคิดเห็นของกรรมการภาคส่วนต่างๆ ฝ่ายละเท่าๆ กัน จากนั้นยกร่างกฎหมายและเข้าสู่ที่ ประชุมครม. ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ แล้วส่งต่อ สนช. ซึ่งรัฐบาลประสานเร่งรัดสนช.ออกเป็นกฎหมายด่วน เพราะทราบดีว่าหลายคนรอให้มีกฎหมายที่ชัดเจนและ มีกติกาให้เรียบร้อย รัฐบาลคาดหวังให้เสร็จภายใน 3 เดือน เท่าที่ได้ยินเห็นว่าจะเขียนให้มีหลายๆ สูตรรวมกันเพื่อนำไปใช้ในสัมปทานครั้งต่อๆ ไปด้วย

'แอมเนสตี้'จี้ไทยหยุดจำกัดสิทธิ
      เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดา องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ แถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2557-2558 พร้อมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยว่า ยังคงมีความตึงเครียดทางการเมืองต่อเนื่องตลอดทั้งปี การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอ่อนแอลง ความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชายแดนใต้ มีการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกอย่างเข้มงวด การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ ส่งผลให้มีการจับกุมโดยพลการต่อบุคคลจำนวนมาก ซึ่งหลายคนถือว่าเป็นนักโทษทางความคิด จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุนนุมโดยสงบ และเลิกควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ
       น.ส.ปริญญา บุญญฤทธิ์ฤทัยกุล ผอ.แอมเนสตี้ฯประเทศไทย กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ 7 หัวข้อว่า 1.ด้านความมั่นคง ให้ปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพการเดินทาง หยุดควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ รวมถึงยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีพลเรือน 2.ด้านเสรีภาพแสดงความคิดเห็น ให้ฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทันที แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ
       3.ด้านวิกฤตทางการเมือง ให้ทบทวนวิธีควบคุมฝูงชน การเดินขบวนประท้วงให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล สอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยให้สั่งพักราชการไว้ก่อน เยียวยาเหยื่อและครอบครัวผู้ถูกละเมิดสิทธิ และให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงสถานที่ควบคุมตัวบุคคลภายใต้กฎอัยการศึก 4.ด้านการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ให้สอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาการทรมานที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทางการ และชดเชยเยียวยาแก่เหยื่อที่ถูกกระทำ
      5.ด้านความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ ให้สอบสวนกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในทุกกรณี ยกเลิกหรือแก้ไขกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะมาตรา 17 ที่มีข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ 6.ด้านผู้ลี้ภัย ให้ประกันว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ให้สอบสวนกรณีการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงยา ให้ปฏิบัติต่อแรงงานพลัดถิ่นอย่างเป็นธรรม 7.ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที
จากนั้นน.ส.ปริญญาได้มอบหนังสือรายงานและข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผอ.กองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ ผู้ได้รับมอบหมายจาก นายกฯมารับมอบหนังสือดังกล่าว

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!