WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8859 ข่าวสดรายวัน


ขัดหนัก-ร่างรธน. ลาออก! 'ทิชา'ทิ้งสปช.ด้วย 
'ตู่ -โด่ง'อุ้มสนช. ป้องสภาลูกเมีย พท.-ปชป.ฉะยับ นศ.มธ.ยก'ป๋วย'ชูต้านเผด็จการ


ประท้วง - น.ศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งดำหน้าป้ายประท้วงนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ ที่มาบรรยายพิเศษในงาน 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่สำนักงานบัณฑิตอาสาสมัครเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 28 ก.พ.

       'ทิชา ณ นคร'ยื่นลาออกจากสปช.-กมธ.ยกร่างรธน.โพสต์'พอแล้วสำหรับปลาผิดน้ำ' เหตุน้อยใจผลักดันสัดส่วนสตรีในพรรคและองค์กรท้องถิ่นไม่สำเร็จ ทะเลาะกันเดือด ถึงขั้นเดินร้องไห้ออกจากห้องประชุม'บวรศักดิ์'บ่นเสียใจ เล็งดัน'นันทวัฒน์ บรมานันท์'เสียบแทน แสลงใจเรียกส.ว.ลากตั้ง เผยรัฐธรรมนูญทะลุแล้ว 310 มาตรา นัดถกใหม่ 5 มี.ค.'ประยุทธ์-อุดมเดช' อุ้มสนช. ตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม นายกฯชี้อย่าเอาไปพันกับเรื่องสภาผัวเมีย มันคนละสมัย กำชับให้ตรวจสอบว่าคนที่ตั้งมาทำงานได้หรือไม่ น้องบิ๊กป้อมรับดึงเมียมาช่วยงาน ยันไม่ขัดหลักจริยธรรม พท.-ปชป.รุมจวกแย่กว่าส.ส.เสียอีก น.ศ. แต่งดำชูป้ายเกลียดเผด็จการในงาน 100 ปีดร.ป๋วย ถาม'ยงยุทธ'หลานดร.ป๋วย เหตุใดช่วยงานรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ครม.สัญจรสวนสนฯจ.ประจวบฯ 13 มี.ค.นี้ อารักขาเข้ม โฆษกมั่นใจไม่ซ้ำรอยขอนแก่น

น้องบิ๊กป้อม รับตั้งเมียช่วยงาน
       วันที่ 28 ก.พ. พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการวิจารณ์กรณีสมาชิกสนช.แต่งตั้งภริยา บุตร รวมถึงครอบครัวเข้ามาช่วยงานสนช. โดยได้รับเงินเดือนราชการว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลของสนช. ตามระเบียบข้อบังคับของสนช.ไม่มีข้อห้ามเรื่องนี้ เพราะระเบียบกำหนดแค่หลักการกว้างๆ ในแต่ละตำแหน่งว่า ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรเท่านั้น เช่น อายุ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ จึงนำภริยา บุตรหรือเครือญาติมาช่วยงานได้ ยอมรับว่าตนนำภริยามาช่วยงานเป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. เพราะต้องการคนที่ไว้วางใจได้มาช่วยดูแลเรื่องเอกสาร ล่าสุดให้ภริยาออกจากตำแหน่งดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งเปลี่ยนตัวก่อนจะมีข่าวออกมาอีก
    เมื่อถามว่า กรณีนี้ถูกวิจารณ์เรื่องคุณธรรม จริยธรรมว่าไม่เหมาะสม พล.ร.อ. ศิษฐวัชรกล่าวว่า หากคนมีความรู้ ความสามารถก็ต้องยอมรับ จะไปปิดกั้นไม่ได้ บางคนมีความรู้ ความสามารถสูง การศึกษาดี จบปริญญาโท บางคนเป็นถึงด๊อกเตอร์แล้วจะไปใช้คนอื่นทำไม หากจะแก้ไขกฎระเบียบไม่ให้นำเครือญาติมาช่วยงานสนช. เพื่อให้เกิดความรัดกุมก็พร้อมยอมรับและยินดีปฏิบัติตามกติกา 

ยันสนช.ไม่มีข้อห้ามระบุไว้
      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีสนช.แต่งตั้ง บุตร ภริยา และคนในครอบครัว เป็นผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาส่วนตัวว่า เป็นดุลพินิจของแต่ละคน ซึ่งทำได้ ไม่มีข้อห้ามระบุไว้ เป็นไปตามที่ประธานสนช.ให้สัมภาษณ์ ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกมธ.ยกร่างฯโดยตรง 
      โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯได้ร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา กำหนดโครง สร้างหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง อย่างสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ หากเกิดเหตุการณ์แบบกรณีเดียวกันนี้แล้วเห็นว่าผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง สามารถร้องเรียนให้สมัชชาคุณ ธรรมฯตรวจสอบได้ จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะมนตรี 5 คน และสมาชิกสมัชชาฯ อีก 50 คน พิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงว่าเข้าข่ายตามคำร้องหรือไม่ 
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญถึงมาตราห้าม ส.ส.และส.ว. เป็นบุพการี บุตร คู่สมรส หรือเครือญาติกันเอาไว้ เน้นที่ ส.ว.มาจากเลือกตั้งทางอ้อม กำหนดคุณ สมบัติต้องห้ามโดยชัดเจนว่า ห้ามมีเครือญาติดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลย เป็นไปตามเจตนารมณ์ว่า ส.ว.ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมและเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง ส่วนส.ส.ด้วยกันนั้น ไม่มีข้อห้ามว่า ห้ามเป็นเครือญาติกัน เนื่องจากส.ส.มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องเปิดกว้างให้เป็นสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเป็นสิทธิของประชาชนที่มาเลือกตั้งใช้ดุลพินิจว่า จะเลือกใครเป็นผู้แทนของตน 

'บวรศักดิ์'ชี้เกิดขึ้นทุกยุค
       นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการตั้งลูกหลานเข้ามาทำหน้าที่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางตำแหน่งจำเป็นต้องได้คนที่ไว้ใจเข้ามาช่วยทำงาน โดยเฉพาะลขานุการส่วนตัว ซึ่งการแต่งตั้งผู้ช่วยหรือผู้เชี่ยวชาญประจำตัวนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่โตหรือมีส่วนบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะการแต่งตั้งลักษณะแบบนี้ก็มีการปฏิบัติและดำเนินการมาทุกยุคทุกสมัย เพราะนำคนที่ไว้วางใจเข้ามาช่วยเหลือในการปฏิบัติงานให้เกิดความคล่องตัว

ปชป.เย้ยส.ส.มีจริยธรรมมากกว่า
     นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า สนช.บางคนพูดว่านักการเมืองเลวเหมือนกันหมด วันนี้มีข้อมูลประจักษ์ว่านักการเมืองดี มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงกว่า กรณีมีการเปิดเผยการตั้งผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ หรือ ผู้เชี่ยวชาญของสนช. ที่ตั้งลูกที่ยังเรียนอยู่ และภรรยาหรือพี่ชาย น้องชายที่อยู่ต่างประเทศ จำนวนมาก ความจริงไม่มีข้อกำหนดหรือระเบียบห้ามไว้ แต่การมีตำแหน่งเหล่านี้ไว้ เพราะส.ส.หรือนักการเมืองมีงานหลายหน้าที่ทั้งงานในพื้นที่ งานสภา งานกรรมาธิการ การจ้างคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวก็พอทำใจได้หากปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยได้จริงๆ
       นายสาธิตกล่าวว่า ถ้ากรณีเอาชื่อมาใส่ใว้ หวังเป็นเพียงรายได้ให้ตนอย่างเดียว ทั้งที่สนช. มีงานหน้าเดียวเท่านั้นคืองานสภา ถ้าด้วยเหตุผลนี้ ตนรู้สึกผิดหวังในการปฏิรูปครั้งนี้จริงๆ นักการเมืองจำนวนมาก แม้ไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้ แต่ไม่เคยกล้าคิดทำ เพราะพรรคและวัฒนธรรมทางการเมืองของพวกตนสอนว่าต้องตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและคนอื่นโดยเฉพาะประโยชน์ชาติหรือส่วนรวม นี่คือวิธีคิดและลงมือทำจริงอย่างมีจริยธรรมของตนและนักการเมืองอีกมากที่ถูกตราหน้าว่าเลว

พท.จวกแย่ยิ่งกว่าสภาผัวเมีย
       นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีตส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวเรื่องเดียวกันว่า ตามระเบียบข้อบังคับ สนช.ไม่ได้ห้ามเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าประชาชนจะรู้เองว่าคนดีใน สนช.ได้แต่งตั้งลูกเมียตัวเองเข้าไปกินเงินเดือนหลวงนั้น เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อก่อนเคยประณามเหยียดหยาม ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งว่าเป็นสภาผัวเมีย แปลกใจที่คนดีใน สนช.ที่อ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูปกฎหมาย คืนความสุขให้ประชาชน แต่วันนี้ตั้งลูกเมียตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยประจำตัว โดยอ้างว่ากฎหมายไม่ห้าม ไม่กระดากใจกันบ้างหรือคนดีทั้งหลาย

'บิ๊กโด่ง'อุ้มสนช.ชี้ไม่ผิดกฎ
      ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาชิกสนช. สายทหารแต่งตั้งเครือญาติเป็นที่ปรึกษาว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ให้ข่าวไปแล้ว ตนไม่อยากก้าวล่วง เพราะไม่ได้เป็นสนช.ด้วย ประธาน สนช.พูดไปแล้วว่าไม่ได้ผิดกฎหมาย บางทีคนที่มีความรู้ ความสามารถที่เกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องก็มี ซึ่งเป็นไปได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และเป็นไปตามกฎระเบียบที่ขณะนี้ไม่ได้ห้ามไว้ ส่วนเรื่องความเหมาะสมต่างๆ ขอให้ฟังจาก ประธาน สนช.
     พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ที่อาจออกมาต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด อยู่ในช่วงปรับปรุงแก้ไขของคณะกรรมาธิ การ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ใครมีความคิดเห็นอย่างไรก็ควรส่งความเห็นไปที่กมธ. ยกร่างฯ อย่าเพิ่งไปเคลื่อนไหว ควรช่วยกันระดมความเห็นในกรอบและช่องทางที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย สำหรับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อาจจะออกมานั้น เรามีการประชุมติดตามสถานการณ์ตลอด พยายามทำความเข้าใจกับผู้ที่จะทำให้เกิดปัญหา ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ให้ทำเกินขอบเขต ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
       ผบ.ทบ. กล่าวว่า ได้รับนโยบายจากรัฐบาล ดูแลความสงบเรียบร้อยก็ต้องทำให้ได้ ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้อะไรที่รุนแรงเกินกว่ากรอบกฎหมาย ต่างประเทศก็เข้าใจ การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน นายกฯบอกให้ฝ่ายปฏิบัติใช้หลักทำความเข้าใจ ขณะนี้ยังเกิดความเรียบร้อยอยู่ กองทัพบกจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความสงบไว้ให้ได้ ขอให้ทุกคนมั่นใจ

'ทิชา'ไขก๊อกกมธ.-ลั่นปลาผิดน้ำ
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันที่ 28 ก.พ. นางทิชา ณ นคร สมาชิก สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์เฟซบุ๊กบ้าน กาญจนาภิเษก ซึ่งเขียนหนังสือด้วยลายมือ ประกาศลาออกจากสมาชิก สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ มีผลวันที่ 1 มี.ค.นี้ 
      นางทิชา ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า ถึงเวลาที่ต้องหมดเวลากับบางภารกิจ เบื้องต้นไม่ได้คิดจะสมัคร สปช.แต่ผู้ใหญ่ที่เคารพที่สุดขอมา จากนั้นเข้ามาทำงาน กระทั่งผ่านการโหวตเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จนทราบว่าเงินเดือนจากภารกิจนี้เยอะมาก 
    "ป้าจึงตัดสินใจหาที่บริจาคเงิน 40% ทุกเดือนออกไป จนกระทั่ง 4 เดือนเต็มเพียงพอแล้วสำหรับภาวะปลาผิดน้ำ ขอบคุณและขอโทษทุกคนที่ไม่ได้ปรึกษาใครและไม่ได้ฟังคำทัดทานใคร" นางทิชาระบุ

เผยเบื้องหลัง'ทิชา'ลาออก
     แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ แจ้งว่า สาเหตุการลาออกของนางทิชาเนื่องจากต้องการผลักดันประเด็นสิทธิสตรีในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในมาตรา 76 ที่ระบุว่าการจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ต้องมีเงื่อนไขว่ากรณีบัญชีรายชื่อของพรรคใด ที่มีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าเพศหนึ่ง อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครซึ่งเป็นเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งหมายถึงบังคับพรรคต้องส่งผู้สมัครส.ส.หญิงทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 30 และในมาตรา 215 องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งหรือได้รับความเห็นชอบจากประชาชนหรือวิธีอื่น อย่างน้อยสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 
     แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมเมื่อคืนวันที่ 23 ก.พ. ซึ่งนางทิชา นางถวิลวดี บุรีกุล และน.ส.สุภัทรา นาคะผิว พยายามอธิบายสนับสนุนใน 2 มาตราดังกล่าว แต่ถูกทักท้วงโดย กมธ.ที่ไม่เห็นด้วย นำโดยนายจุมพล สุขมั่น เห็นว่าควรเขียนรัฐธรรมนูญโดยเปิดกว้าง 

ทะเลาะเดือด-ร่ำไห้วอล์กเอาต์
     ขณะที่นางถวิลวดีอภิปรายโน้มน้าว กมธ.ยกร่างฯ ว่าต้องการให้คำนึงถึงสิทธิสตรี เนื่องจากมีความสำคัญ หากนึกไม่ออกก็ให้คิดถึงมารดาก็จะเข้าใจ ทำให้นายจุมพล อภิปรายตอบโต้โดยขอให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ อบรมกมธ.ยกร่างฯ บางคนที่อภิปรายไม่สุภาพ เสียดสีถึงมารดา ซึ่งนายบวรศักดิ์ พยายามไกล่เกลี่ย 
      จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ หญิงพยายามอภิปรายสนับสนุนกลุ่มนางทิชา แต่ตกลงกันไม่ได้ นายบวรศักดิ์สั่งให้แขวนมาตราดังกล่าวไว้ก่อน ส่งผลให้นางทิชาไม่พอใจ เดินร้องไห้ออกจากที่ประชุม พร้อมด้วยนาง ถวิลวดี และน.ส.สุภัทรา 

รับไม่ได้คำตัดสิน'บวรศักดิ์'
    แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทั่งบ่ายวันที่ 27 ก.พ.ที่ประชุมนำประเด็นที่แขวนไว้มาพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังตกลงกันไม่ได้ นายบวรศักดิ์จึงเสนอให้โหวตตัดสิน ซึ่งนางทิชาก็ไม่ยอม พร้อมแสดงความน้อยใจว่า เรื่องอื่นยังไม่เห็นต้องโหวตเลย แต่เรื่องสตรีกลับให้โหวตตัดสิน ส่งผลให้นางทิชาเขียนใบลาออกจากสมาชิกสปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นทันที และประเด็นดังกล่าวก็ยังแขวนไว้รอการพิจารณาอยู่ 
      นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ตนไม่ทราบสาเหตุการลาออกเพราะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แต่ทุกคนคิดว่าการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ในประเด็นสิทธิสตรีจะผ่านการพิจารณาได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อผลออกมายังไม่ได้ข้อยุติ อาจเป็นเหตุผลให้นางทิชาลาออก ส่วนประเด็นสิทธิสตรีจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่คิดว่าขึ้นอยู่กับสวรรค์ 

สภาแจงขั้นตอนเลือกกมธ.ยกร่าง
      นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 32 วรรคสาม ระบุว่าให้ประธาน สปช.แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ภายใน 15 วัน ซึ่งหลักเกณฑ์คือต้องให้ สปช.สมัครและคัดเลือกโดยที่ประชุมสปช. และให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเข้ารับตำแหน่งแทน 
    นายจเร กล่าวว่า ส่วนกระบวนการเลือก สปช.เป็น กมธ.ยกร่างฯ รอบที่ผ่านมา ไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะเสร็จไปแล้ว จึงต้องหารือกันอีกครั้งในที่ประชุม สปช. ส่วนการแต่งตั้ง สปช.ในตำแหน่งที่ว่างลง ตามมาตรา 28 กำหนดให้สมาชิก สปช. มีจำนวนไม่เกิน 250 คน ขึ้นอยู่กับ คสช.จะพิจารณาหรือไม่ เพราะจำนวนที่เหลืออยู่ก็ไม่เกินกว่าที่กำหนด

เลื่อน'นันทวัฒน์'เสียบแทน
     เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า เราอาสาเข้ามา ไม่ได้ถูกบังคับ แล้วจะทำให้ดีที่สุด ไม่มีใครเป็นผู้นำและผู้ตาม เราทำงานร่วมกันโดยอิสระและเสียสละ วันนี้กมธ.เหลือ 35 คน โดยมีนางทิชา ลาออกไป ซึ่งตนไม่ทราบสาเหตุ แต่เข้าใจทุกการตัดสินใจ และรู้สึกเสียดายนางทิชา ซึ่งทำงานเพื่อสังคมมาตลอดได้ลาออกไป 
     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เชื่อว่านางทิชา มีจุดยืนที่ต้องการแสดงความในใจให้ปรากฏด้วยการยื่นใบลาออก เราเคารพการตัดสินใจและดีใจที่เคยทำงานร่วมกัน ส่วนบุคคลที่จะมาแทนนั้น เบื้องต้นสปช.บอกว่าจะใช้การดันผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงในลำดับที่ 21 ขึ้นมาแทน ซึ่งคือนายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เลื่อนขึ้นมาแทน น่าจะช่วยทำหน้าที่ได้อย่างดี 

พ้อเสนอสิ่งที่ดีแต่ถูกติเตียน
      ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า จนถึงวันนี้ทุกคนคงรับรู้แล้วว่าทำไมเราต้องเอาเรื่องสำคัญอย่างสถาบันการเมืองมาพิจารณาเป็นเรื่องสุดท้ายที่ต่างจังหวัด น่าตกใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงสิ่งดีๆ ที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่กลับไม่มีคำชื่นชมออกมา เมื่อมีส่วนที่กระทบนักการเมืองก็มีเสียงวิจารณ์มากมายตามมา ซึ่งเราคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีคลื่นลูกใหญ่เปรียบดังสึนามิแบบนี้ตามมาทันที แต่ยังเชื่อมั่นว่ากมธ.ยกร่างฯจะทำหน้าที่ได้สำเร็จแน่ 
      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ผลการพิจารณาที่พัทยาระหว่างวันที่ 23-28 ก.พ. เราลงรายมาตราผ่านไปทั้งสิ้น 119 มาตรา เอาเรื่องสำคัญมาตกลงที่นี่เพื่อให้กมธ.อยู่กันครบถ้วน รัฐธรรมนูญที่ร่างมีเจตนารมณ์ให้บ้านเมืองเปลี่ยนไป 4 ทิศทาง 1.สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและมีสมดุล 3.หนุนสังคมที่เป็นธรรม 4.นำชาติไปสู่สันติ

ยันคืนความเป็นใหญ่ให้ปชช.
       นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นี่เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ความสำคัญกับพลเมือง ทำให้ราษฎรที่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของนักการเมืองและข้าราชการ พ้นจากราษฎรเป็นพลเมืองที่มีความสำคัญไม่แพ้นักการเมือง เริ่มจากการร่างรัฐธรรมนูญให้ตระหนักรู้เสรีภาพและความรับผิดชอบที่มีต่อบ้านเมือง ไม่ให้พลเมืองนั่งเฉยๆ แล้วให้นักการเมืองมาตัดสินใจแทน ทั้งยังส่งเสริมเรื่องครอบครัว การศึกษา องค์กรอิสระ 
     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการถอดถอน ได้คืนความเป็นใหญ่ให้ประชาชน หากสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติชี้ว่านายกฯ ครม. ส.ส. ส.ว. ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็ส่งให้ประชาชนลงมติถอดถอน ส่วนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นหลักการสำคัญ นอกจากจะใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาแล้วยังต้องทำประชามติด้วย นี่คือการทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งตนอยากฟังเสียงจากพลเมืองเช่นกัน

แสลงใจถูกเรียกส.ว.ลากตั้ง
     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ด้านการเมืองต้องใสสะอาดและสมดุล เริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดถึงระบบการเมืองและผู้แทนที่ดี มีการปฏิรูปการเมืองและพรรคการเมือง มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้อำนาจป.ป.ช. ตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง เพื่อความรวดเร็วและเฉียบขาด มีการตั้งศาลการคลังและงบประมาณขึ้นมา กรณีเชื่อว่ามีการใช้งบประมาณนำไปสู่ความเสียหาย ส่วนการสร้างสมดุล ก็มีมาตราทำให้พลเมืองสมดุลกับนักการเมือง กำหนดให้มี 2 สภา โดยสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง คอยทำหน้าที่ทางกฎหมาย แต่เราก็สร้างวุฒิสภาอีกสภาหนึ่ง ไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ฐานเสียงพรรค เพื่อให้มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยวิธีเลือกตั้งทางอ้อม ไม่ใช่ลากตั้ง 
   ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า รัฐธรรม นูญยังเขียนครอบถึงแนวทางการปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน แต่สื่อกลับไม่สนใจนำเสนอ ไม่สนใจคนเล็กคนน้อย รวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม สนใจแต่ส.ว.ลากตั้ง สนใจกลุ่มอำนาจเก่าผู้มีเงินอยู่เดิม คนที่ใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ประชุมพรรค ทั้งที่หัวใจสำคัญของการเมืองคือเราต้องกระจายอำนาจไปยังคนไม่มีสิทธิ มีเสียง 

ยันปรองดอง-ไม่เกี้ยเซี้ย
    "ยืนยันเราต้องการนำชาติกลับสู่สันติสุข เพราะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าความขัดแย้งวันนี้พักรบได้ชั่วคราวเพราะการเข้ามาของคสช.และการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ลั่นระฆังให้เลือกตั้งแล้ว เหตุการณ์จะกลับไปเหมือน ที่เคยเป็นมานับสิบปีหรือไม่ จึงตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อกำหนดกระบวนการอย่างสันติวิธีเพื่อนำชาติไปสู่สันติสุข ไม่ใช่ใช้วิธีเกี้ยเซี้ยหรือปัดฝุ่นเข้าใต้พรม" ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าว
    เมื่อถามว่า จะมีการทบทวนร่างรัฐธรรม นูญตามที่หลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.จะทบทวนร่างทั้งฉบับอีกครั้ง พร้อมเชิญหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วย อาทิ กกต. กสม. ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งการรับฟังความคิดทำต่อไปได้จนถึงเดือนมิ.ย. ก่อนจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสปช.ในวันที่ 23 ก.ค.นี้

ฝันเป็นรธน.ฉบับสุดท้าย
    เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องทำประชามติหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า หากตนมีอำนาจ จะเสนอให้ประชาชนออกเสียงให้ทำประชามติ ดังนั้น ต้องถามคสช.และครม.ในเวลาอันสมควรมาถึง ซึ่งตนจะเสนอต่อผู้มีอำนาจต่อไป นายกฯบอกว่า ค่อยว่ากันอีกครั้งเมื่อเวลามาถึง 
    เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าจะ สัมฤทธิผลหรือไม่ ขอบอกเลยว่าไม่มีฉบับใดที่ดีที่สุดในโลก แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุด เท่าที่ 36 คนจะทำได้ ที่ผ่านมา ตนพบว่าคนที่เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ค่อยพูด ตนได้คุยกับตัวแทนจากพรรคพลังชล ได้รับคำชมว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้ช่วยพรรคเล็กได้มาก แต่มีแค่พรรคใหญ่นั้นที่วิจารณ์ ส่วนกรณีเลือกตั้งทางอ้อมนั้น อยากให้ไปอ่านดีๆ ว่าลากตั้งตรงไหน มันไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 และ 2535 อย่างไร 

ร่างรธน.ใหม่ทะลุ 310 มาตรา
    นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การประชุมกมธ.ยกร่างฯนอกสถานที่ตั้งแต่วันที่ 23-28 ก.พ. พิจารณาเสร็จแล้วมากกว่า 100 มาตรา แต่ ถ้านับตั้งแต่การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง หมดจนถึงบทสุดท้ายว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะมีทั้งสิ้น 310 มาตรา ยังไม่นับบทเฉพาะกาลที่ต้องจัดทำใน ภายหลัง จาก 310 มาตราดังกล่าว ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีจำนวนมาตรามาก กว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ยังไม่มากกว่าฉบับปี 2540

แขวน 4 ประเด็นยังไม่ได้ข้อยุติ
     นายคำนูณ กล่าวว่า ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯยังชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ควรกำหนดสัดส่วนของสุภาพสตรีและเพศตรงข้ามไว้ในสภาท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ 1 ใน 3 หรือไม่ และการกำหนดสัดส่วนสตรีในบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรค 2.การปฏิรูปเรื่องระบบสุขภาพ พิจารณาอยู่ว่าจะกำหนดในหมวดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ซึ่งกมธ.ยกร่างฯเห็นชอบกับหลักการเบื้องต้นแล้ว 
      3.การกำหนดกลไกขับเคลื่อนประเทศ ไทยต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า จะให้มี สภาหรือคณะกรรมการมาดำเนินการ และ 4.กระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองว่าจะถอดถอนในสภาหรือในภาคประชาชน เบื้องต้นเห็นร่วมกันว่าควรถอดถอนในรัฐสภา แต่ภาคประชาชนจะถอดถอนบุคคลเฉพาะกรณีความผิด ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่สมัชชาคุณ ธรรมฯ ให้ความเห็น
     นายคำนูณ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 มี.ค. เพื่อให้เวลาการทำงานกับอนุกมธ.ไปจัดทำบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล และจัดทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อประกอบการพิจารณาของสปช.ต่อไป รวมถึงการให้กมธ.ยกร่างฯบางคนที่เป็นสมาชิกสปช.ไปร่วมประชุมสปช.ในสัปดาห์หน้าด้วย


เปิดหมวก - กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดแสดงดนตรีเปิดหมวก ที่ย่านถนนข้าวสาร เมื่อวันที่ 28 ก.พ. เพื่อระดมทุนช่วยเหลือนักโทษการเมืองและผู้ต้องหาในคดีการเมือง โดยเฉพาะกรณีฝ่าฝืนกฎอัยการศึก

ตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมือง 
      นายคำนูณ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯให้ความเห็นชอบกับบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมตรวจสอบของประชาชน โดยตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 50 คน ต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ให้มีที่มาจากผู้แทนสมัชชาพลเมืองทั้งหมดไม่เกิน 1 ใน 4 และ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมไม่เกิน 1 ใน 4 และสมาชิกส่วนที่เหลือมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
    นายคำนูณ กล่าวว่า สภาตรวจสอบภาคพลเมือง จะเป็นกลไกส่งเสริมให้พลเมืองแต่ละจังหวัดมีส่วนร่วมโดยตรง ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายในเขตจังหวัดซึ่งจะออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาตรวจสอบภาคพลเมืองต่อไป

วางกลไกปฏิรูปสื่อ 3 ด้าน
     โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯยังเห็นชอบกับเพิ่มบทบัญญัติการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ดำเนินการ 3 แนวทาง 1.ให้มีกลไกส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนมีเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบ เร่งพัฒนากลไกที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระจากการถูกครอบงำและแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและทุน
    2.เร่งพัฒนามาตรการและกลไกการกำกับดูแลสื่อสารมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ 3.ให้มีกลไกจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรสื่อสารมวลชนของชาติ เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน

'บิ๊กตู่'ลั่นไม่มีปัญหา-ทิชาไขก๊อก
      เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนางทิชา ณ นคร ลาออกจากสปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้รับรายงานแล้ว ถือเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อไม่ประสงค์จะทำงานต่อไปก็ ลาออก ไม่มีปัญหา ที่เหลือก็ทำงานกันได้ ตนต้องขอขอบคุณในช่วงที่เข้ามาและทำงานด้วยความเข้มแข็ง ซึ่งตนไม่ได้ตำหนิใดๆ หากมีปัญหาส่วนตัวก็เป็นเรื่องส่วนตัวเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อกมธ.ยกร่างฯ เพราะยังมีคนทำหน้าที่อีกมาก แต่ต้องดูว่าจำเป็นต้องตั้งคนขึ้นมาแทนหรือไม่ ต้องถามสปช.ก่อน 
      ส่วนที่นางทิชาระบุเป็นปลาผิดน้ำนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่าปลาผิดน้ำเป็นอย่างไร การทำงานต้องรู้จักการประนีประนอมกันบ้าง พูดคุยกัน แต่ถ้าทำงานร่วมกันไม่ได้จริงๆ จำเป็นก็ต้องจำเป็น ตนไม่ได้ว่าอะไร ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวนาง ทิชาลาออกเนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสัดส่วนการส่งผู้หญิงลงรับสมัครเลือกตั้ง นายกฯกล่าวว่า ในรายละเอียดตนไม่ทราบ แต่อยากบอกว่า วันนี้สิทธิของผู้ชายผู้หญิงเท่ากันแล้ว คงต้องพิจารณากันอีกครั้งว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกำหนดอย่างนั้น เชื่อว่ากมธ. ยกร่างฯคงพิจารณาในเรื่องนี้

บ่นโพลไม่เชื่อมั่นครม.
      นายกฯ กล่าวว่า ทั้งตนและรัฐมนตรีทำงานกันทุกวัน ทุกอย่างเดินหน้า รัฐบาลนี้ทำงานมากที่สุด แม้จะมีโพลออกมา ซึ่งอ่านแล้วก็ต้องปลง เวลาทำโพล คำถามไม่ควรให้เกิดความขัดแย้ง อย่าถามที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน มันไม่เกิดประโยชน์ 
      ใครชมผม ผมก็ยินดี ถ้าติผมในเรื่องที่ยังไม่ได้ทำไม่ได้คิด ผมก็ไม่ติดใจไม่โกรธ ไม่ได้หงุดหงิด แต่ถ้ามาติในสิ่งที่ผมทำอยู่แล้วมาบอกว่าไม่ทำ เช่น รัฐบาลนี้ไม่เคยคิดทำโครงการใหม่ๆ เลย ต้องถามว่ามีหรือไม่ ที่พูดทุกวันตลอด 8 เดือนแล้ว รัฐบาลผมทำทุกอย่าง แต่กลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าในอดีตดีอยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องเข้ามา ขอพูดอีกครั้งว่ายินดีรับคำตำหนิ โพลที่ออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ชื่อมั่นในตัวผม แต่ไม่เชื่อมั่นในครม. หรือรัฐมนตรีคนนั้นคนนี้ ผมไม่สบายใจ เพราะนั่นคือทีมงานของผม และทำงานร่วมกันมา ทั้งหมดต้องทำงานในกรอบรัฐบาล ทำในนามของครม. ทำตามนโยบาย ถ้าผมไม่สั่ง เขาต้องคิดและเสนอให้ผมเป็นคนอนุมัติ ครม.อนุมัติตามระเบียบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ" นายกฯ กล่าว
      นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 70 ล้านคน ไม่ได้ทำให้คนส่วนหนึ่ง ไม่ได้ทำให้พรรคใดพรรคหนึ่ง คนไทยทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องยาก ตนถึงต้องพูดทุกวัน เหนื่อยที่จะพูดแต่ต้องพูด

'ตู่'ก็อุ้มสนช.ตั้งเครือญาติ
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสมาชิกสนช.ตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยว่า ตนได้ถามกลับไปเช่นกันและได้รับคำตอบว่าไม่มีกฎหมายเขียนระบุไว้ อย่าไปพันกันกับเรื่องสภาผัว-สภาเมีย เพราะมันคนละสมัย ครั้งนั้นบอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ซึ่งตนกำชับไปว่าขอให้ระมัดระวังและตรวจสอบด้วยว่าที่ตั้งมาทำงานหรือไม่ได้อย่างไร มีเหตุผลจำเป็นหรือไม่ หรืออาจเขียนกฎหมายในรัฐธรรมนูญหรือระเบียบเพื่อระบุว่ากลไกเหล่านี้จะต้องไม่มีครอบครัว ซึ่งจะเขียนได้หรือไม่ ตนก็ไม่ทราบเพราะคำว่าประชาธิปไตย ทุกคนก็ต้องการ เรื่องนี้ต้องพูดด้วยกฎหมาย แต่ถ้าถามตนว่าถูกหรือไม่ ตนไม่ขอตอบ
    เมื่อถามว่า จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสนช.ที่ตั้งเครือญาติมาทำงานเป็นผู้ช่วยหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เขามีความผิดอะไรถึงต้องตั้งกรรมการ คงต้องให้สนช.ตรวจสอบกันเอง ตนมอบให้ประธานสนช.เป็นผู้รับผิดชอบ อย่าเอากระแสมาทำเพราะจะทะเลาะกันไปใหญ่ หากมีร้องเรียนว่าทำผิดหรือทุจริตก็ต้องสอบสวน อย่าเอาความรู้สึกเข้ามา ส่วนที่ประธานสนช. แต่งตั้งภรรยาเป็นผู้ช่วยนั้น ให้ไปถามนายพรเพชร แต่ตนขอบอกว่ากฎหมายห้ามมีหรือไม่ ก็ไม่มี และเป็นเรื่องส่วนตัว ขอให้ไปถามเจ้าตัวว่าทำไมถึงแต่งตั้ง

เร่งเยียวยาทุกสีตามกรอบครม.
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีมีคำสั่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557 ว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ตนบอกไปว่าขอให้ดูแล ซึ่งต้องพิจารณาว่าควรจะเยียวยาเท่าไรอย่างไร หากรัฐบาลนี้จะอนุมัติก็ต้องอนุมัติในกรอบ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามว่าเยียวยาได้แค่ไหน 
     "เขากำลังสอบสวนติดตามว่าจะทำได้แค่ไหน ก็พันไปสู่ครั้งที่แล้วว่ามีการจ่ายเกิน ก็ว่ากันผิดหรือถูก คงไม่ใช่ความผิดของคนรับเงิน แต่คนตัดสินใจถูกหรือผิด ผมไม่รู้ แต่จำไว้ว่าอย่าสร้างนิสัยให้คนอยากได้อย่างเดียว แต่ต้องให้และรับด้วย ถ้าจะร้องกันว่า คนนั้นได้มาก คนนี้ได้น้อยก็จะขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ และจะเป็นเครื่องมือของคนไม่ดี" นายกฯกล่าวและว่า การเยียวยาจะดูแลทุกคนไม่ได้แยกว่านปช.หรือใครที่เป็นนักโทษ ถ้าคนไทยก็ต้องดูแลหมด 
    เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่ต้องรอคดีความที่ค้างอยู่ในป.ป.ช.เสร็จก่อนใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า กำลังพิจารณาว่าหากต้องจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประทังความสูญเสีย เช่น พิการ ต้องขอครม. ให้อยู่ในวงเงินที่ควรจะจ่ายไปก่อนสำหรับคนที่ไม่มีความผิด แต่จะไปจ่ายเท่าเดิมคงไม่ได้ ส่วนเรื่องที่ค้าง อยู่ป.ป.ช.ก็เป็นเรื่องของคดี 

มาร์คขอข้อมูล 3 บิ๊กคดีเสื้อแดง

       ที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีถูกป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาในฐานะนายกฯกรณีสั่งการใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเมือง เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553 ว่า ตนยังไม่ได้รับหนังสือจากป.ป.ช. แต่ ขณะนี้ประสานขอข้อมูลจากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นเป็นผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผบ.ทบ. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะนั้นเป็นรมว.กลาโหม เพื่อขอข้อมูลในระดับปฏิบัติงาน หากข้อมูลเพียงพอก็อาจจะไม่ขอเพิ่มพยาน ทั้งนี้ ไม่มีความประสงค์จะกดดันใคร เพราะทั้ง 3 ต่างเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์

ย้ำตัวแทนปชช.ต้องมีสิทธิแก้รธน.

     นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรม นูญที่เปิดให้นายกฯเป็นคนนอกว่า หากเกิดในภาวะปกติจะถูกมองว่ารัฐธรรมนูญถอยหลังและทำให้เกิดวิกฤตตามมา เพราะหลายประเทศนายกฯมาจากการเลือกตั้ง จึงต้องบัญญัติให้ชัดเจนถึงที่มาของนายกฯคนนอก ซึ่งตนยังมีข้อสงสัยถึงเงื่อนไขการเข้ามา ยืนยันว่าการทำประชามติเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือลดอำนาจประชาชนที่จะทำให้เกิดปัญหาในการตรวจสอบ

     นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางออกของการแก้รัฐธรรมนูญควรทำประชามติ และไม่ควรขาดความยืดหยุ่น เชื่อว่าตัวแทนของประชาชนจะต้องมีสิทธิแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่กระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบของประชาชนหรือเป็นแก้ไขเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเองและขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของไทย

"อ๋อย"ซัดยิ่งสร้างวิกฤตปท.

      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดที่ส.ว. 200 คนมาจากการสรรหา นายกฯมาจากคนนอกได้ว่า จะสร้างวิกฤตมากขึ้นกว่าเดิม แม้ประชาชนไปเลือกตั้งแต่ไม่สามารถเลือกผู้บริหารประเทศได้ ในที่สุดจะได้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน การให้คนนอกเป็นนายกฯได้ ไม่ใช่เผื่อไว้วิกฤต แต่เขียนไว้เพื่อบอกว่าคนนอกเท่านั้นที่จะเป็นนายกฯได้ เพราะถ้าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งตั้งรัฐบาลได้ ก็จะถูกถอดถอนโดยส.ว. ลากตั้ง รวมกับเสียงฝ่ายค้าน

       นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ผู้ที่กำหนดความเป็นไปของรัฐบาลก็คือส.ว.ลากตั้ง ซึ่งมีอำนาจล้นฟ้า การเมืองจะกลับไปเหมือน 30 ปีก่อน คือแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่จะเลวร้ายกว่านั้น ยังมีองค์กรอิสระ สภาคุณธรรม จริยธรรมและกลไกอื่นๆ มาจัดการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็น การผสมความไม่เป็นประชาธิปไตย ระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2521 กับปี 2550 ซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตย วางกลไกต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง

ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ

      "วิกฤตของประเทศจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อสังคมพบว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยและแก้ไขไม่ได้ด้วย เนื่องจากเขียนป้องกัน ไว้ไม่ให้แก้ไข ทั้งการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน และต้องเป็นประชามติก่อน กันไม่ให้ผู้ที่เคยเป็นรัฐบาลกลับมาเป็นรัฐบาล จำกัดอำนาจของประชาชน สร้างการปกครองโดยผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง" นายจาตุรนต์กล่าว

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำลายการแบ่งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ขณะที่ส.ว.มีอำนาจล้นฟ้า ตามปกติถือว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่มาจากการลากตั้งแล้วยังมีอำนาจออกกฎหมายเอง และให้คุณให้โทษฝ่ายบริหารได้ด้วย เท่ากับทำลายการแบ่งแยกอำนาจซึ่งเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

เชื่อประชาชนออกมาต้านแน่

     นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อย่าหวังเลยว่าจะแก้ไขได้ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น อีกทั้งต้องทำประชามติเสียง 2 ใน 3 ยิ่งยากเข้าไปอีก สรุปได้เลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามแก้ไข แต่พูดให้สวย ให้ดูว่าแก้ไขได้ เขียนเพื่อให้มองเป็นประชาธิปไตย เขียนเพื่อให้มองว่าไม่ได้ห้ามแก้ แต่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อน 

     "อย่าหวังเลยว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เป็นรัฐธรรมนูญเสี้ยวใบ หน้าฉากคือประชาธิป ไตย แต่กลไกยังอยู่ในมือของกลุ่มเครือข่ายเดิมที่มีอำนาจอยู่ ประชาชนไม่ได้อะไรเลย" นายวรชัยกล่าว

      นายวรชัย กล่าวว่ามั่นใจว่าประชาชนจะต้องออกมาต่อต้าน แต่อาจจะเป็นการวางยาเพื่อให้รัฐธรรมนูญไปต่อไม่ได้ และยืดเวลาให้กับตัวเอง เพื่ออยู่ในอำนาจต่อไปอีกหรือไม่ และถึงเวลานั้น หากมีปัญหาเกิดขึ้น ขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้ ประกาศเดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแม็ป เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

'ยงยุทธ'ร่วมงาน 100 ปีดร.ป๋วย

      เมื่อเวลา 12.30 น. ที่สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดงาน "โครงการสืบสานปณิธานงานอาสาสมัครและงานพัฒนาของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในโอกาส รำลึก 100 ชาตกาล" โดยเชิญนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯและที่ปรึกษาคสช. ซึ่งเป็นหลานของศ.ดร.ป๋วย มากล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชีวิตและบทบาทงานพัฒนาอาสาสมัคร"

      นายยงยุทธ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ศ.ดร.ป๋วย ถือเป็นบุคคลตัวอย่างในเรื่องความกล้าหาญ ที่ผ่านมาได้ต่อสู้และท้วงติงกับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในสังคม ในอดีตตนเคยถามถึงเรื่องที่บ้านเมืองเรายังไม่มีประชาธิปไตย ก็ได้รับคำตอบว่า รุ่นของศ.ดร.ป๋วย อาจจะไม่ได้เห็นประชาธิปไตย แต่รุ่นของตนคงได้เห็น พร้อมให้สัจจะว่าจะไม่มีทางรับตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงช่วงถามตอบในวงเสวนา ตัวแทนนิสิต นักศึกษาจากกลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย (บอ.ป.) 1 คน แต่งกายด้วยชุดดำล้วน ได้ลุกขึ้นถามนายยงยุทธว่า ทำไมถึงรับตำแหน่งทางการเมืองและมีความคิดอย่างไร นายยงยุทธกล่าวว่า ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองในสถานการณ์เช่นนี้ ตนได้ปรึกษากับครอบครัวและคนใกล้ชิดแล้ว เห็นว่าการเข้ามาช่วยกันเช่นนี้แล้วสามารถช่วยเหลือสังคมได้ ตนไม่ได้รู้สึกว่าเราอยู่ในระบอบเผด็จการ เพราะหากเป็นเผด็จการจริง เราคงไม่สามารถจัดงานและนั่งเสวนาร่วมกันแบบนี้ได้ แต่ถึงแม้จะไม่มีเสรีภาพบ้างก็ตาม

น.ศ.แต่งดำชูป้ายเกลียดเผด็จการ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด้านนอกอาคารจัดงาน มีกลุ่มนิสิต นักศึกษากลุ่ม บอ.ป. 4 คน แต่งกายชุดสีดำล้วน พร้อม ป้ายผ้ามีข้อความว่า "ผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างไรก็ตาม"มารอคัดค้านการกล่าวปาฐกถาพิเศษของนายยงยุทธ

     โดยตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า การมาคัดค้านในวันนี้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นบัณฑิตอาสาสมัครที่ยึดถือปณิธานของ ศ.ดร.ป๋วย ว่าเราจะไม่สนับสนุนเผด็จการ อย่างคำของศ.ดร.ป๋วย ที่ระบุว่า'ผมเกลียดชังเผด็จการ ไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างไรก็ตาม'เราไม่อยากให้สถาบันการศึกษามีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบเผด็จการ แต่ไม่มั่นใจว่าเราจะทำได้ขนาดไหน 

       ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า งานรำลึก ศ.ดร.ป๋วย มีการจัดงานขึ้นในหลายสถานที่ มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก มั่นใจว่าจะมีป้ายผ้าเขียนคำของศ.ดร.ป๋วย ติดทุกสถานที่ที่จัดงานดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะต้องนำคำเหล่านี้ขึ้นอยู่แล้ว หากผู้มีอำนาจต้องการปลดป้ายนี้ออกจากงาน ก็ต้องไปปลดทั่วประเทศที่จัดงานนี้ขึ้น รวมถึงที่ฐานอนุสาวรีย์ศ.ดร.ป๋วยด้วย

'ตู่'นำทีมครม.สัญจรประจวบฯ

       ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2558 ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. และครม.คนอื่นๆ จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 13 มี.ค. ไปยังสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน ของกองทัพบก ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมครม. จะเริ่มในเวลา 13.00-17.00 น. จากนั้นช่วงค่ำ นายกฯและครม.จะร่วมรับประทานอาหารค่ำ ที่ริมหาดสวนสนประดิพัทธ์ งานเลี้ยงจะเสร็จสิ้นในเวลา 20.00 น. เบื้องต้นคาดว่านายกฯ และครม.จะพักค้างคืนที่หัวหิน เนื่องจากเช้าวันที่ 14 มี.ค. อาจมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ร่วมกัน

ทหารคุมเข้ม-ไร้ม็อบป่วน

      ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า การจัดประชุมครม.สัญจร ครั้งนี้ เกิดจากนายกฯอยากเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อพบปะพูดคุยกัน อย่างไม่เป็นทางการ ส่วนการลงพื้นที่พบประชาชนนั้นยังไม่ชัดเจน ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ รัฐบาลไม่ห่วงเรื่องกลุ่มเคลื่อนไหว หรือก่อเหตุป่วนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฝ่ายความมั่นคง ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว หลังจากนี้จะประเมินผล เพื่อจัดครม.สัญจรในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

     รอ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนการเดินทางไปเยือนต่างประเทศของนายกฯนั้น ในปลายเดือน มี.ค. จะไปเยือนสิงคโปร์ ก่อนบินต่อไปยังประเทศบรูไน ตามคำเชิญของผู้นำทั้งสองประเทศ เพื่อแนะนำตัวในฐานะนายกฯ พร้อมร่วมหารือทวิภาคี เพื่อกระชับความสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ต่อไป

จ่อเค้นคำตอบอดีต 38 ส.ว.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาถอดถอนอดีต 38 ส.ว. ออกจากตำแหน่งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ ที่จะประชุมสนช.ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ เพื่อให้คู่กรณีคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และอดีต 38 ส.ว. มาตอบข้อซักถามต่อกมธ.ซักถามนั้น ปรากฏว่า มีสมาชิกสนช. 6 คน ยื่นประเด็นซักถามประกอบด้วย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร นายสนิท อักษรแก้ว พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นพ.เจตน์ ศิริธรานนท์ นายสุธรรม พันธศักดิ์ และนายสมชาย แสวงการ โดยซักถามทั้งป.ป.ช.ฝ่ายเดียว และอดีต 38 ส.ว.ฝ่ายเดียว และซักถามคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

      ทั้งนี้ ประเด็นที่จะซักถามป.ป.ช.ส่วนใหญ่ จะคล้ายกับกรณีการซักถามนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา คือสอบถามเรื่องข้อกฎหมายในการเอาผิดอดีต 38 ส.ว.ว่า หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสภาพไปแล้ว เหตุใดจึงส่งเรื่องถอดถอนให้สนช.พิจารณาถอดถอน และฐานความผิดที่ใช้กล่าวหาอดีต 38 ส.ว. เป็นความผิดตามกฎหมายป.ป.ช.ข้อใด รวมถึงการให้ป.ป.ช.ชี้แจงถึงเรื่องการกระทำของอดีต 38 ส.ว.ที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนในการลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน 

     ขณะที่คำถามที่จะซักถามอดีต 38 ส.ว.จะเน้นเรื่องเจตนาลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรม นูญทั้ง 3 วาระว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องการลงสมัครส.ว.อีกรอบไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี จริงหรือไม่ รวมถึงกรณีที่ระบุว่าไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าชื่อเสนอแก้กฎหมาย เป็นร่างกฎหมายคนละฉบับกัน จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ชัดเจนได้อย่างไร

6 เดือน'รบ.'คะแนนนิยมลด

      วันที่ 28 ก.พ. กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ประเมินผลงาน 6 เดือน รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จากประชาชนจำนวน 1,158 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่าประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ย 6.20 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินการทำงานรอบ 3 เดือนรัฐบาลที่ได้ 6.52 คะแนน และลดลงจากการทำงานครบ 3 เดือน คสช.ที่ได้ 6.90 คะแนน 

       การประเมินครั้งนี้รัฐบาลได้คะแนนมากที่สุดในด้านความมั่นคงของประเทศ 7.11 คะแนน และได้คะแนนน้อยที่สุดในด้านเศรษฐกิจ 5.58 คะแนน

      ความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เฉลี่ย 7.26 คะแนน จากเต็ม 10 ซึ่งลดลงจากรอบ 3 เดือนที่ได้ 7.43 คะแนน และลดลงจากรอบ 3 เดือนหัวหน้า คสช.ที่ได้ 7.76 คะแนน โดยการประเมินครั้งนี้ นายกฯ ได้คะแนนมากที่สุดในด้านความเด็ดขาดกล้าตัดสินใจ 7.89 คะแนน และได้คะแนนน้อยที่สุดในด้านความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ 6.13 คะแนน

     เมื่อเทียบผลงานในช่วง 6 เดือน กับความคาดหวังเมื่อทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ร้อยละ 44.8 ระบุผลงานดีกว่าที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 27.4 ระบุผลงานพอๆ กับที่คาดหวังไว้ และร้อยละ 8.4 ระบุผลงานแย่กว่าที่คาดหวังไว้ ร้อยละ 19.4 ระบุไม่ได้คาดหวังไว้ ทั้งนี้ ร้อยละ 39.4 เห็นว่าควรปรับครม. ร้อยละ 36.2 เห็นว่าไม่ควรปรับครม. ร้อยละ 24.4 ไม่แน่ใจ

      หากมีสิทธิออกเสียงเลือกนายกฯ ร้อยละ 68.7 ระบุจะออกเสียงสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 12.6 จะไม่ออกเสียงสนับสนุน ร้อยละ 18.7 งดออกเสียง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการทำงานครบ 3 เดือนรัฐบาลและครบ 3 เดือนคสช. พบว่าเสียงสนับสนุนลดลงเท่ากับร้อยละ 6.3 และร้อยละ 11.8 ตามลำดับ 

ฉุน บวรศักดิ์ ปมสิทธิหญิง'ทิชา'ไขก๊อก ร่ำไห้ทิ้งกมธ.-เก้าอี้สปช. สัญจรรธน.พัทยาวงแตก เฟซบุ๊กระบายปลาผิดน้ำ ดัน'อ.นันทวัฒน์'นั่งแทน บิ๊กตู่ไม่ขอยุ่งสภาลูก-เมีย 

ไขก๊อก - ภาพของนางทิชา ณ นคร สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเข้าร่วมประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนประกาศขอลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่ง



   กมธ.ยกร่างฯวงแตก 'ทิชา ณ นคร'ไขก๊อกพร้อมเก้าอี้ สปช. โพสต์ข้อความ'ปลาผิดน้ำ' เผยขัดแย้งปมสัดส่วนผู้หญิงในสนามการเมือง ถูกสมาชิกต้านจนเดินร้องไห้ออกจากห้องประชุม 'บวรศักดิ์'บอกเสียใจ ยันทบทวนร่าง รธน.อีกครั้ง

 

@ 'ทิชา'ไขก๊อก'สปช.-กมธ.'

 

     นางทิชา ณ นคร หรือ "ป้ามล" สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์ข้อความลาออกจากการเป็น สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ โดยระบุสาเหตุของการลาออกตอนหนึ่งว่า "4 เดือนเต็มเพียงพอแล้วสำหรับภาวะปลาผิดน้ำ"

 

    ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางทิชาที่ร่วมคณะ กมธ.ยกร่างฯไปประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้แจ้งเจตจำนงต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อขอลาออกจากการเป็น สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ พร้อมโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

 

     ชื่อ "บ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจ" ข้อความว่า "ข้าพเจ้านางทิชา สมาชิก สปช.ลำดับที่ 091 และหนึ่งในสามสิบหกคนใน กมธ.ยกร่างฯ ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งสองคือ สมาชิก สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2558" นอกจากนี้ยังได้โพสต์ภาพมีข้อความว่า ตัดสินใจแล้ว ดีแล้ว ชอบแล้ว พร้อมภาพยกมือไหว้ และเขียนว่า "ทุกการตัดสินใจ ผูกพันกับชีวิต กับสังคม กับประเทศ ทิชา ณ นคร"

 

@ โพสต์ข้อความ'ปลาผิดน้ำ'

 

     ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นางทิชาได้โพสต์ข้อความเป็นภาพสถานที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยระบุว่าเป็น "งานสุดท้ายในฐานะ กมธ.การยกร่างฯ และกลับไปเป็นป้ามล" และมีข้อความต่อว่า "ถึงเวลาที่ต้องหมดเวลากับบางภารกิจ!!!" โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า "เบื้องต้นไม่ได้คิดจะสมัคร สปช. แต่ผู้ใหญ่ที่เคารพที่สุดขอมา จากนั้น ก็เป็นเนื้อหาถึงรายละเอียดช่วงเวลาที่เข้ามาทำงาน จนกระทั่งผ่านการโหวตเข้ามาเป็น กมธ.การยกร่างฯ จนกระทั่ง 4 เดือนเต็มเพียงพอแล้วสำหรับภาวะปลาผิดน้ำ ขอบคุณและขอโทษทุกคน ที่ไม่ได้ปรึกษาใครและไม่ได้ฟังคำทัดทานใคร" ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊กบ้านกาญจนาภิเษกได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจต่อนางทิชาจำนวนมาก

 

@ เผยหลั่งน้ำตา-วอล์กเอาต์

 

     ข่าวแจ้งว่า นางทิชาไม่ได้แจ้งถึงสาเหตุของการลาออก โดยผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์ติดต่อเพื่อสอบถาม แต่นางทิชาไม่รับสายแต่อย่างใด ขณะที่มีรายงานว่า การประชุม กมธ.ยกร่างฯช่วงดึกคืนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีประเด็นถกเถียงถึงเรื่องสิทธิสตรี บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียดกว่า 1 ชั่วโมง ส่งผลให้นางทิชาถึงกับหลั่งน้ำตาและได้เดินออกจากห้องประชุมทันที

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางทิชายังได้แสดงเจตจำนงลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยเขียนด้วยลายมือและมีการเผยแพร่ในไลน์ของ กมธ.ยกร่างฯเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบ แต่ กมธ.ยกร่างฯต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นถึงสาเหตุที่นางทิชาลาออก เพียงระบุว่า ทราบข่าวเมื่อช่วงดึกวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนางทิชาได้เดินทางกลับไป กทม. ในช่วงเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์แล้ว จึงยังไม่มีการสอบถามเหตุผล ขณะที่ กมธ.ยกร่างฯหลายคนพยายามโทรศัพท์และส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ถึงนางทิชาเพื่อสอบถาม แต่นางทิชาไม่รับสายหรือตอบข้อความกลับแต่อย่างใด

 

@ เผยเบื้องหลังการโบกมือลา

 

      แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯแจ้งว่า สาเหตุการลาออกของนางทิชา เนื่องจากต้องการผลักดันประเด็นสิทธิสตรีในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในมาตรา 76 ที่ระบุว่า "การจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ต้องมีเงื่อนไขว่า ในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ที่มีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพศใดมากกว่าเพศหนึ่ง อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้น ต้องมีรายชื่อผู้สมัครซึ่งเป็นเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 1 ใน 3" ซึ่งหมายถึงบังคับพรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.หญิง ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ จำนวนร้อยละ 30 และในมาตรา 215 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องมีคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง หรือได้รับความเห็นชอบจากประชาชนหรือวิธีอื่น โดยอย่างน้อยสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 

 

@ ร้องไห้ออกจากห้องประชุม

 

     "การประชุมเมื่อคืนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นางทิชา นางถวิลวดี บุรีกุล และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ได้พยายามอธิบายสนับสนุนใน 2 มาตราดังกล่าว แต่ถูกทักท้วงโดย กมธ.ยกร่างฯที่ไม่เห็นด้วยนำโดยนายจุมพล สุขมั่น ที่เห็นว่าควรเขียนรัฐธรรมนูญเปิดกว้าง ขณะที่นางถวิลวดีได้อภิปรายโน้มน้าว กมธ.ยกร่างฯในตอนหนึ่งว่า 'ต้องการให้คำนึงถึงสิทธิสตรี เนื่องจากมีความสำคัญ หากนึกไม่ออกก็ให้คิดถึงมารดาก็จะเข้าใจ' ทำให้นายจุมพลอภิปรายตอบโต้ โดยขอให้นายบวรศักดิ์อบรม กมธ.ยกร่างฯบางคนที่อภิปรายไม่สุภาพ เสียดสีถึงมารดา 

 

       ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์พยายามไกล่เกลี่ย จากนั้น กมธ.ยกร่างฯผู้หญิงได้พยายามอภิปรายสนับสนุนกลุ่มนางทิชา แต่สุดท้ายยังตกลงกันไม่ได้ นายบวรศักดิ์สั่งให้แขวนการพิจารณาในมาตราดังกล่าวไว้ก่อน จึงส่งผลให้นางทิชาไม่พอใจเดินร้องไห้ออกจากที่ประชุม ขณะที่นางถวิลวดี น.ส.สุภัทราเดินตามออกไปจากห้องประชุมเช่นกัน" แหล่งข่าวกล่าว 

 

@ น้อยใจ'บวรศักดิ์'เสนอโหวต

 

"ช่วงบ่ายวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมได้นำประเด็นที่แขวนไว้มาพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังตกลงกันไม่ได้ นายบวรศักดิ์จึงเสนอให้โหวตตัดสิน แต่นางทิชาไม่ยอม พร้อมกับแสดงความน้อยใจว่า ทีเรื่องอื่นๆ ยังไม่เห็นต้องโหวตเลย แต่เรื่องสตรีกลับต้องโหวตตัดสิน ส่งผลให้นางทิชาเขียนใบลาออกจาก สปช.และ กมธ.ยกร่างฯด้วยลายมือก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯในช่วงเย็นทันที" แหล่งข่าวกล่าว

 

นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า ไม่ทราบสาเหตุการลาออกของนางทิชา เพราะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แต่ทุกคนคิดว่าการประชุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีจะผ่านการพิจารณาได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อผลออกมายังไม่ได้ข้อยุติก็อาจจะเป็นเหตุผลให้นางทิชาลาออกจาก กมธ.ยกร่างฯ ส่วนประเด็นสิทธิสตรีจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ไม่ทราบ แต่คิดว่าขึ้นอยู่กับสวรรค์ 

 

@ 'บวรศักดิ์'เสียใจ'ป้ามล'ออก 

 

ด้านนายบวรศักดิ์กล่าวถึงการลาออกของนางทิชาว่าไม่ทราบสาเหตุ แต่เข้าใจทุกการตัดสินใจ ทั้งยังรู้สึกเสียดายนางทิชา ซึ่งทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอดลาออกไป เชื่อว่านางทิชามีจุดยืนของตนเองที่ต้องการแสดงความในใจให้ปรากฏด้วยการยื่นใบลาออก ซึ่งเคารพการตัดสินใจและดีใจที่ได้เคยทำงานร่วมกัน

 

"เราอาสาเข้ามา ไม่ได้ถูกบังคับ แล้วจะทำให้ดี ไม่มีใครเป็นผู้นำและผู้ตาม หากจะมีผู้นำก็ทั้ง 36 คน ในการทำงานอาจมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน รู้สึกว่าข้อเสนอของเราไม่ได้รับการยอมรับ แต่สุดท้ายแล้วคือทำงานร่วมกันโดยอิสระและเสียสละ หากยึดหลักว่าการทำงานของเราจะทำการเปลี่ยนแปลง" นายบวรศักดิ์กล่าว และว่า ส่วนบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่แทนนางทิชา เบื้องต้นทาง สปช.บอกว่าจะใช้การดันผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงในลำดับที่ 21 ขึ้นมาแทน ซึ่งก็คือ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งน่าจะสามารถเข้ามาช่วยทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

 

@ 'บิ๊กตู่'ไม่ตำหนิ'ทิชา'ลาออก

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีนางทิชาลาออกจาก กมธ.ยกร่างฯและ สปช.ว่า ได้รับรายงานแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะเมื่อครั้งเข้ามาเป็น สปช. มีทั้งส่วนที่คัดเลือกและเสนอตัวเข้ามา เมื่อไม่ประสงค์ที่จะทำงานต่อไปก็ลาออก ไม่มีปัญหา

 

"บางครั้งคนเราก็ต้องมีเหตุผลส่วนตัวกัน คงไม่ต้องไปซักถามเหตุผล เมื่อไม่ประสงค์ที่จะทำก็ไม่เป็นไร ซึ่งผมต้องขอขอบคุณในช่วงที่เข้ามา และทำงานด้วยความเข้มแข็ง ผมไม่ได้

 

ตำหนิใดๆ หากมีปัญหาส่วนตัวก็เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อ กมธ.ยกร่างฯ เพราะยังมีคนทำหน้าที่อีกจำนวนมาก แต่ต้องดูว่าจำเป็นที่จะต้องตั้งคนขึ้นมาแทนหรือไม่ คงต้องถาม สปช.และ สนช.ก่อนว่าจะต้องตั้งเพิ่มหรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

@ ชี้'หญิง-ชาย'สิทธิเท่ากันแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า นางทิชาระบุว่า ที่ต้องลาออกเพราะเหมือนเป็นปลาผิดน้ำ ถือว่าเกิดความขัดแย้งภายในหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าปลาผิดน้ำเป็นอย่างไร ในการทำงานของคนไทยจะต้องรู้จักการประนีประนอมกันบ้าง พูดจาพูดคุยกัน ทำงานร่วมกัน แต่ถ้าทำงานร่วมกันไม่ได้จริงๆ แล้วจำเป็น ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะต่างคนต่างคิด 

 

เมื่อถามว่า นางทิชาลาออกจาก กมธ.ยกร่างฯ เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสัดส่วนการส่งผู้หญิงลงรับสมัครเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในรายละเอียดไม่ทราบ แต่อยากบอกว่า วันนี้สิทธิของผู้ชายผู้หญิงเท่ากันแล้ว คงต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกำหนดอย่างนั้น เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯคงพิจารณาในเรื่องนี้เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิที่เท่ากันระหว่างหญิงชาย 

 

"ขณะนี้ผู้หญิงมีสิทธิมากกว่าเสียอีก เพราะจะใช้นางหรือนางสาวก็ได้ แต่ผู้ชายใช้นายได้อย่างเดียว ผู้หญิงได้เปรียบตลอดอยู่แล้ว (หัวเราะ) เพราะผู้หญิงเป็นเพศมารดา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

@ ให้คสช.ชี้ตั้งใครแทน'ทิชา'

 

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. กล่าวถึงการพิจารณาแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯคนใหม่แทนนางทิชาที่ลาออกว่า ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 32 วรรคสาม ที่ระบุว่าให้ประธาน สปช.แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ กมธ.ยกร่างฯลาออก หลักเกณฑ์ที่ว่านั้นต้องให้ สปช.สมัครคัดเลือกโดยที่ประชุม สปช. และให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเข้ารับตำแหน่งแทน กระบวนการเลือก สปช.เป็น กมธ.ยกร่างฯรอบที่ผ่านมา ถือเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเป็นกระบวนการที่ผ่านและเสร็จไปแล้ว 

 

"การแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯอาจต้องหารือกันอีกครั้งในที่ประชุม สปช. ขณะที่การแต่งตั้งสมาชิก สปช.ในตำแหน่งที่ว่างลง คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คสช. โดยคิดว่าแม้นางทิชาจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่จะไม่มีผลในทางกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ สปช.ที่เหลืออยู่"

 

@ 'ประสาร'วอนอย่าขยาย

 

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช.ด้านการเมือง ที่เข้าร่วมการสัมมนาฟังความคิดเห็นเรื่อง "10 ประเด็นเด่นนวัตกรรมการเมืองไทย" ที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) จัดขึ้นที่โรงแรมเดอะสุโกศล ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นางทิชา ณ นคร ได้แจ้งความจำนงในการลาออกจากตำแหน่งทั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและ สปช. ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องการต่อสู้เกี่ยวกับสตรีเพศ ขอเรียนว่านี่คือความเข้มข้นที่เกิดขึ้นใน สปช.และใน กมธ.ยกร่างฯ จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนเข้าใจและอย่านำไปขยายความ

 

@ 'บวรศักดิ์'เปรียบสึนามิถล่ม

 

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แถลงผลการประชุม กมธ.ยกร่างฯที่พัทยา ระหว่างวันที่ 23-28 กุมภาพันธ์ว่า กมธ.ยกร่างฯทุกคนคงรับรู้แล้วว่า ทำไมต้องเอาเรื่องสำคัญอย่างสถาบันการเมืองมาพิจารณาเป็นเรื่องสุดท้ายที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่งที่เมื่อพูดถึงสิ่งดีๆ ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์กลับไม่มีคำชื่นชมออกมา แต่เมื่อมีส่วนที่กระทบนักการเมืองก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายตามมา 

 

"เราก็พอคาดการณ์ไว้แล้วว่า จะมีคลื่นลูกใหญ่เปรียบดังสึนามิแบบนี้ตามมาทันที แต่ยังเชื่อมั่นว่า กมธ.ยกร่างฯจะทำหน้าที่ได้สำเร็จแน่" นายบวรศักดิ์กล่าว

 

@ รธน.ใหม่เปลี่ยน4ทิศทาง

 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ผลการพิจารณาระหว่างวันที่ 23-28 กุมภาพันธ์ สามารถลงรายมาตราผ่านไปทั้งสิ้น 119 มาตรา โดยรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างมีเจตนารมณ์ให้บ้านเมืองเปลี่ยนไป 4 ทิศทาง 1.สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและมีสมดุล 3.หนุนสังคมที่เป็นธรรม และ 4.นำชาติไปสู่สันติ 

 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า นี่เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ความสำคัญกับพลเมือง ต้องการทำให้ราษฎรที่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของนักการเมืองและข้าราชการเป็นพลเมืองที่มีความสำคัญไม่แพ้นักการเมือง โดยเริ่มจากการร่างรัฐธรรมนูญให้ตระหนักรู้เสรีภาพและความรับผิดชอบที่มีต่อบ้านเมือง ไม่ต้องการให้พลเมืองนั่งเฉยๆ แล้วให้นักการเมืองมาตัดสินใจแทน ส่วนการถอดถอนได้คืนความเป็นใหญ่ไปให้ประชาชน หากสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติชี้ว่านายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส.ส. ส.ว. ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็ส่งให้ประชาชนลงมติถอดถอน ส่วนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นหลักการสำคัญ นอกจากจะใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาแล้ว ยังต้องทำประชามติด้วย นี่คือการทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ 

 

@ ย้ำส.ว.ไม่ได้มาจากลากตั้ง

 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ด้านการเมืองใสสะอาดและสมดุล เริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดถึงระบบการเมืองและผู้แทนที่ดี มีการปฏิรูปการเมืองและพรรคการเมือง มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง มีการตั้งศาลการคลังและงบประมาณขึ้นมา ส่วนการสร้างสมดุลมีมาตราทำให้พลเมืองสมดุลกับนักการเมือง กำหนดให้มี 2 สภา โดยสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง คอยทำหน้าที่ทางกฎหมาย และสร้างวุฒิสภาอีกสภาหนึ่ง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ฐานเสียงพรรคการเมือง เพื่อทำให้มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่สามารถได้รับการเลือกตั้งได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยวิธีการเลือกตั้งทางอ้อม ไม่ใช่ลากตั้ง 

 

@ ยันมุ่งปรองดอง-ไม่เกี้ยเซี้ย

 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้เขียนครอบถึงแนวทางการปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน แต่สื่อกลับไม่สนใจนำเสนอ ไม่สนใจคนเล็กคนน้อย รวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่กลับสนใจแต่ ส.ว.ลากตั้ง สนใจกลุ่มอำนาจเก่า ผู้มีเงินอยู่เดิม 

 

"ยืนยันว่าเราต้องการนำชาติกลับสู่สันติสุข เพราะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ความขัดแย้งวันนี้พักรบได้ชั่วคราว เพราะการเข้ามาของ คสช.และการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ลั่นระฆังเก๊งให้เลือกตั้งแล้ว เหตุการณ์จะกลับไปเหมือนที่เคยเป็นมานับ 10 ปีหรือไม่ แล้วเมื่อนั้นเราก็จะกลายเป็นที่ 10 ของอาเซียน จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการปรองดองเพื่อกำหนดกระบวนการอย่างสันติวิธีเพื่อนำชาติไปสู่สันติสุข ไม่ใช่ใช้วิธีเกี้ยเซี้ยหรือปัดฝุ่นเข้าใต้พรม" นายบวรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

@ ยันทบทวนร่างรธน.อีกครั้ง 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่หลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ จะทบทวนร่างทั้งฉบับอีกครั้ง พร้อมทั้งเชิญหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วย อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยการรับฟังความคิดเห็นสามารถทำต่อไปได้จนถึงเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สปช.ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

 

เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องประชามติหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า หากมีอำนาจจะเสนอให้ประชาชนออกเสียงให้ทำประชามติ ดังนั้นต้องไปถาม คสช.และ ครม.ในเวลาอันสมควร ที่ผ่านมานายกฯบอกว่า ค่อยว่ากันอีกครั้งเมื่อเวลามาถึง 

 

@ 310มาตราไม่รวมเฉพาะกาล

 

ขณะที่เวลา 10.00 น. กมธ.ยกร่างฯ ได้ประชุมร่วมกัน มีนายบวรศักดิ์เป็นประธานการประชุม แต่ไม่ได้มีการพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แต่เป็นการชี้แจงถึงความคืบหน้าของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เมืองพัทยา ว่าสามารถพิจารณาร่างบทบัญญัติได้ 119 มาตรา เหลือมาตราที่ยังไม่ได้ข้อสรุปและนำกลับไปพิจารณาต่อที่กรุงเทพฯ อีก 4 มาตรา อาทิ การถอดถอนโดยกระบวนการภาคประชาชน สัดส่วนชายหญิงในการเป็นผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการปฏิรูปประเทศไทย และประเด็นปฏิรูปสาธารณสุข และเมื่อรวมบทบัญญัติที่พิจารณามาทั้งหมด จำนวน 310 มาตรา แต่ยังไม่นับรวมมาตราที่อยู่ในบทเฉพาะกาล 

 

@ ปรับปฏิทินการทำงานใหม่

 

สำหรับขั้นตอนการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯนับจากนี้ จะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 มีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาในส่วนของบทเฉพาะกาล จากนั้นจะเริ่มทบทวนบทบัญญัติทีละมาตรา ไล่ตั้งแต่มาตรา 1 รวมทั้งจะมีการนำความเห็นและเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายที่สะท้อนมาประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แจ้งตารางเวลาทำงานที่ปรับใหม่ คือวันที่ 9-31 มีนาคม จะเป็นการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมพิจารณาเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะพิจารณาและทบทวนประเด็นที่จำเป็น วันที่ 3 เมษายน เป็นวันกำหนดที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องแล้วเสร็จทั้งหมด, วันที่ 4-16 เมษายน จะเป็นช่วงการนำร่างรัฐธรรมนูญไปรับฟังความเห็นประชาชน เบื้องต้นกำหนดไว้ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ, วันที่ 17 เมษายน ส่งร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ สปช.พิจารณา, วันที่ 20 -22 เมษายน และวันที่ 24-26 เมษายน จะเป็นการรับฟังความเห็นของ สปช. และวันที่ 26 เมษายน จะเป็นวันเริ่มนับการยื่นคำขอแปรญัตติของ สปช. ทั้งนี้ในวันดังกล่าว กมธ.ยกร่างฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาทำขอคำแปรญัตติ โดยจะครบกำหนดส่งคำแปรญัตติวันที่ 25 พฤษภาคม 

 

@ ให้ความสำคัญ3องค์กรใหม่

 

นายคำนูณ สิทธิสมาน กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า การพิจารณายกร่างฯนอกสถานที่ กมธ.ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วมากกว่า 100 มาตรา โดยยอดรวมร่างรัฐธรรมนูญ มีกว่า 310 มาตรา มากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ 1 มาตรา แต่ไม่มากเท่าปี 2540 ที่มีกว่า 339 มาตรา โดยเป็นเนื้อหาตั้งแต่ภาค 1 จนถึงบทแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่รวมบทเฉพาะกาลที่มีไม่ต่ำกว่า 10 มาตรา ซึ่งจะมีการบัญญัติสาระสำคัญ เช่น การยกระดับ 2 องค์กร คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มานายกรัฐมนตรีมีเงื่อนไขเช่นไร และที่สื่อมวลชน

 

ซักถามต่างๆ จะนำไปบัญญัติลงในส่วนนี้เช่นกัน "ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเห็นว่า มีประเด็นที่ กมธ.ยกร่างฯ เน้นย้ำอยู่ 3 จุด คือสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ระดับชาติ เพื่อประมวลจริยธรรม คุณธรรมของนักการเมือง และสามารถที่จะเสนอรายชื่อผู้ที่กระทำผิดจริยธรรมต่อให้ กกต. เพื่อให้ประชาชนลงคะแนนตอนเลือกตั้งครั้งใหม่, สมัชชาพลเมือง ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในหมวด 7 การกระจายอำนาจ และสภาตรวจสอบภาคพลเมือง" นายคำนูณกล่าว 

 

@ แขวน4ประเด็นรอบทสรุป

 

นายคำนูณกล่าวว่า ยังมีประเด็นที่รอการพิจารณาอีก 4 ประเด็น คือ 1.เรื่องสัดส่วนเพศหญิงและเพศตรงข้าม มาตรา 215 ว่า อย่างน้อยสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนของสตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม, มาตรา 76 ว่าด้วยการพิจารณาการส่งผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ต้องมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าเพศหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้น ต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 

 

นายคำนูณกล่าวว่า 2.ประเด็นการปฏิรูปสุขภาพ ที่ต้องการหาแนวทางการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ขณะนี้มีราคาแพงมาก 3.กลไกขับเคลื่อนการปฏิรูป ภาค 4 ซึ่งยังไม่ตกผลึกเช่นกัน 4.การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยก่อนหน้านี้มีประเด็นการถกเถียงจะให้ภาคประชาชนหรือรัฐสภาเป็นผู้ถอดถอน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ควรจะมีกระบวนการถอดถอนโดยรัฐสภาเท่านั้น โดยมีสาระสำคัญเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 270 274 

 

@ 'อ๋อย'ซัดร่างรธน.สร้างวิกฤต 

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดที่มาของ ส.ว. 200 คน มาจากการสรรหา ขณะที่นายกฯมาจากคนนอกได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญตามที่ยกร่างมาถึงวันนี้ จะเป็นการสร้างวิกฤตทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม การเลือกตั้งมีก็จะเหมือนไม่มี คือไม่มีความหมายประชาชนได้ไปเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเลือกผู้บริหารประเทศได้ ในที่สุดจะได้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากความต้องการประชาชน และประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ 

 

"การที่เขียนให้คนนอกเป็นนายกฯได้ ไม่ใช่ เผื่อไว้วิกฤต แต่เขียนไว้แบบนี้เท่ากับบอกว่า คนนอกเท่านั้นที่จะเป็นนายกฯได้ เพราะถ้าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าตั้งรัฐบาลได้ในช่วงแรกก็จะถูกถอดถอนโดย ส.ว.ลากตั้ง ซึ่งรวมเสียงฝ่ายค้านอีกไม่เท่าไหร่ สามารถถอดถอนนายกฯและรัฐมนตรีได้" นายจาตุรนต์กล่าว และว่า 

 

ผู้ที่กำหนดความเป็นมาเป็นไปของรัฐบาลก็คือ ส.ว.ลากตั้ง ซึ่งจะมีอำนาจล้นฟ้า เมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นมาในที่สุด นักการเมืองจำนวนมากก็จะเรียนรู้ว่าผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงคือ ส.ว.แล้วต้องดูว่าวุฒิสภาจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองก็กลับไปเหมือน 30 ปีก่อน คือเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ

 

@ ชี้ทำลายการแบ่งแยกอำนาจ

 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้จะเกิดวิกฤตหลังเลือกตั้งไม่นาน เมื่อประชาชนพบว่าเลือกตั้งไปแล้วไม่มีประโยชน์ วิกฤตของประเทศจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อสังคมพบว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยและแก้ไขไม่ได้ เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญนี้เขียนป้องกันไว้ไม่ให้มีการแก้ไข ทั้งโดยการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน และต้องเป็นประชามติเสียก่อน เป็นการกันไม่ให้ผู้ที่เคยเป็นรัฐบาลกลับมาเป็นรัฐบาล "เหมือนมีเจตนาที่จะจำกัดบทบาทผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และเกินเลยถึงขั้นที่จำกัดอำนาจของประชาชนทั้งหมด สร้างการปกครองที่ผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรที่ไม่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ จุดประสงค์นี้ต้องการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และให้ใช้ไปอีกนาน" นายจาตุรนต์กล่าว และว่า รัฐธรรมนูญแบบนี้ได้ทำลายการแบ่งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไปหมดแล้ว คือองค์กรอิสระไม่รู้อยู่ตรงไหนอำนาจอธิปไตยทั้งสาม เท่ากับเป็นการทำลายการแบ่งแยกอำนาจซึ่งเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

 

@ 'มาร์ค'ค้านนายกฯคนนอก

 

    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ว่า ยืนยันตั้งแต่ต้นแล้วว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรจะทำให้ถอยหลัง การเปิดช่องให้นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. จะยิ่งทำให้เป็นเงื่อนไขให้พรรคขนาดเล็ก มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ต้องระมัดระวัง ควรเขียนให้ชัดว่า เงื่อนไขอะไรที่ถือว่าเป็นภาวะวิกฤตจนต้องมีนายกฯ มาจากคนนอก 

 

      "สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ดูจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และซ้ำเติมปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้น และทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติอ่อนแอลง เช่นกำหนดให้รัฐสภามีมติไม่ไว้วางใจนายกฯ แล้วจะต้องมีการยุบสภาทั้งหมด ผมไม่เข้าใจว่า กำหนดประเด็นนี้มาเพื่ออะไร รวมทั้งการให้รัฐมนตรีต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. ก็ไม่เห็นประโยชน์อะไร การเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.ด้วยนั้น ขัดตรงไหน ประเด็นเหล่านี้ควรต้องนำมาทบทวนกัน ทั้งนี้การทำประชามติ จะเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อทำให้เกิดการยอมรับในตัวรัฐธรรมนูญ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

@ 'บิ๊กโด่ง'ฮึ่มกลุ่มป่วนรธน.

 

     พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ที่อาจออกมาต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด อยู่ในช่วงปรับปรุงแก้ไขของ กมธ.ยกร่างฯ ใครมีความคิดเห็นอย่างไรก็ควรส่งความเห็นไปที่ กมธ.ยกร่างฯ อย่าเพิ่งไปเคลื่อนไหว ควรช่วยกันระดมความเห็นในกรอบและช่องทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย "กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อาจจะออกมานั้น เรามีการประชุมติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ก็พยายามทำความเข้าใจกับผู้ที่จะเกิดปัญหา ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และคงไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวาย เพราะได้รับนโยบายจากรัฐบาลในการดูแลความสงบเรียบร้อยให้ได้ ก็ต้องทำให้ได้" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

 

@ ไม่ก้าวล่วงสนช.ตั้งลูกเมีย

 

      พล.อ.อุดมเดชยังกล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้ง ภรรยา บุตร และเครือญาติ เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สนช., ผู้ชำนาญการประจำตัว สนช., ผู้ช่วยประจำตัว สนช. และผู้ช่วยผู้ดำเนินงานของ สนช. ว่าไม่อยากก้าวล่วง และไม่ได้เป็น สนช.แล้ว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็พูดไปแล้วว่า ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร บางทีคนที่มีความรู้ ความสามารถ ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องก็อาจจะมี ซึ่งเป็นไปได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และเป็นไปตามกฎระเบียบ ไม่ได้ห้ามไว้ ส่วนเรื่องความเหมาะสมต่างๆ ขอให้ฟังจากประธาน สนช.

 

@ 'บิ๊กอู้ด'ตั้งลูกไม่ขัดจริยธรรม 

 

     พล.อ.อู้ด เบื้องบน สมาชิก สนช. ที่แต่งตั้ง พ.ต.ศิริพัฒน์ เบื้องบน บุตรชายเป็นผู้ช่วยประจำตัว สนช. กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยให้เข้ามาช่วยทำหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย และบุตรชายทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายออกมาดีพอสมควร การแต่งตั้งให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน แล้วยังเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สนิทและไว้วางใจได้ เป็นความสะดวกในการทำงาน งานที่ออกมาก็จะมีประสิทธิภาพตามที่ต้องการ "หากจะถามถึงคุณธรรมและจริยธรรม ผมว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร การที่เราไม่ได้ทำขัดต่อระเบียบข้อบังคับถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นความผิดหรือจะต้องให้ไปมีปัญหาในการทำงาน" พล.อ.อู้ดกล่าว

 

      พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การที่ สนช.แต่งตั้งเครือญาติมาช่วยงานนั้น มองว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล และระเบียบข้อบังคับของ สนช.ไม่มีข้อห้ามและยอมรับว่าได้ตั้งภรรยามาช่วยงานเป็นผู้ช่วยประจำตัว สนช. เพราะต้องการคนที่ไว้วางใจได้มาช่วยดูแลเรื่องเอกสารแต่ล่าสุดให้ภรรยาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว โดยเปลี่ยนตัวก่อนที่จะมีข่าวออกมาเสียอีก

 

@ พท.ได้ทีถามกระดากใจหรือไม่

 

     นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามระเบียบข้อบังคับ สนช.ไม่ได้ห้ามเรื่องการแต่งตั้งลูก เมีย หรือเครือญาติมาดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงานประจำตัว สนช. แต่เชื่อว่าประชาชนจะรู้เองว่า คนดีใน สนช.ทั้งหลายได้แต่งตั้งลูกเมียตัวเองเข้าไปกินเงินเดือนหลวงนั้น เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อก่อนเคยประณามเหยียดหยาม ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นสภาผัวเมีย แปลกใจที่คนดีใน สนช.ที่อ้างว่า เข้ามาปฏิรูปกฎหมาย คืนความสุขให้ประชาชน แต่วันนี้กลับตั้งลูกเมียตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยประจำตัวโดยอ้างว่า กฎหมายไม่ห้าม ไม่กระดากใจกันบ้างหรือคนดีทั้งหลาย

 

       นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.กทม.พท. กล่าวว่า สนช.ควรจะเป็นต้นแบบ จึงต้องถามกลับไปว่า ที่ตั้งลูก ภรรยา และเครือญาตินี้ แตกต่างกับคนที่ถูกว่าไปหรือไม่ ทั้งนี้ มองว่าเป็นภาพพจน์ที่ไม่ดี และเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ชอบในเรื่องของจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง

 

@ นายกฯชี้กม.ไม่ห้าม-ให้ระวัง

 

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์กรณี สนช.ตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยว่า เรื่องนี้ได้ถามกลับไปเช่นกัน และได้รับคำตอบว่าไม่มีกฎหมายเขียนระบุไว้ อย่าไปพันกันกับเรื่องสภาผัว สภาเมีย เพราะมันคนละสมัย ครั้งนั้นก็บอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม ครั้งนี้ก็เหมือนกัน จึงได้กำชับไปว่าขอให้ระมัดระวังและไปตรวจสอบด้วยว่า ที่ตั้งมาทำงานหรือไม่อย่างไร มีเหตุผลความจำเป็นหรือไม่ หรืออาจจะเขียนกฎหมายในรัฐธรรมนูญหรือระเบียบเพื่อระบุว่า กลไกเหล่านี้จะต้องไม่มีครอบครัว จะเขียนได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะคำว่าประชาธิปไตยทุกคนก็ต้องการ แต่ต้องไม่จับถูกจับผิด อีกทั้งเป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย เรื่องนี้คงต้องพูดด้วยกฎหมาย แต่ถ้าถามว่าถูกหรือไม่ ไม่ขอตอบ

'บวรศักดิ์ อุวรรณโณ' ท้าทายความรู้เท่าทัน


คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน

ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปจากการคาดการณ์ของประชาชนทั่วไป ว่าที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเร่งร่างกันออกมานี้น่าจะต้องออกมาเพื่อสนองแนวคิดที่ว่า

"ประชาชนไทยยังไม่พร้อมที่จะมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความคิดและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการใช้สิทธิถูกชักจูงด้วยอำนาจและเงิน จนระบบไม่สามารถสร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ เปิดโอกาสให้คนกลุ่มหนึ่งใช้การเลือกตั้งเข้ามาแสวงประโยชน์ จึงจำเป็นต้องออกแบบการเมืองกันใหม่เพื่อกันประชาชนที่โง่เขลาเบาปัญญานี้ออกไป ให้ใช้สิทธิได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น"

ด้วยโครงสร้างความคิดที่ก่อตัวขึ้นมาล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันนี้ ทำให้ประเมินกันว่าที่สุดแล้ว "รัฐธรรมนูญ" ที่กำลังเขียนกันขึ้นมาเพื่อกำหนดโครงสร้างอำนาจในประเทศใหม่ จะต้องเป็นไปตามแนวที่กลุ่มแกนนำล้มประชาธิปไตยกำหนดทิศทางไว้

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ที่น่าสนใจอยู่ที่ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม "รัฐธรรมนูญ" เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย การเขียนขึ้นโดยให้สวนทางกับหัวใจของประชาธิปไตยคือ "สิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชน" เป็นเรื่องที่น่าอับอายกับคนที่รู้เท่าทัน

ซึ่งอาจจะเป็นคนในประเทศไทยด้วยกัน หรือคนต่างประเทศก็ได้

การเขียนรัฐธรรมนูญให้ "โครงสร้างอำนาจ" เบี่ยงเบนไปจากหัวใจของประชาธิปไตย คือ "สิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชน" เป็นเรื่องที่น่าขายหน้า

ดังนั้น หากจะทำ จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้คนที่มีความสามารถสูงยิ่ง ได้รับความเชื่อถืออย่างเยี่ยมยอดในการชี้นำให้ประชาชนคนทั่วไปคล้อยตามในเหตุผล กลบเกลื่อนการเบี่ยงเบนนั้นให้เนียนสนิท

อธิบาย "ความไม่เท่าเทียม" ให้คนฟังแล้วคิดว่า "เท่าเทียม" ได้ระดับเห็น "ดำ" เป็น "ขาว" ได้อย่างแนบเนียน

วันนี้ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" เปิด "โครงสร้างอำนาจ" ออกมาแผ่หราให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นแล้ว

รัฐธรรมนูญที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์แห่งยุค เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง

ภารกิจของคณะกรรมการยกร่างดูเหมือนว่าจะไม่ยากเย็นอะไรนัก

เพราะถึงที่สุดแล้ว ทุกสิ่งอย่างทุกโครงสร้างอำนาจไม่ต่างอะไรกับพิมพ์เขียวที่เปิดกันออกมาแล้วก่อนหน้านั้น

ชัดเจนในที่มาที่ไปของโครงสร้างแต่ละฝ่ายว่าอิงอยู่กับอำนาจของใคร ให้ราคากับสิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชนหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นที่มาของ "ส.ส." หรือ "ผู้แทนราษฎร" ที่อิงอยู่กับ "อำนาจ" ที่จะเป็นราคาของตำแหน่ง

ที่มาของ "ส.ว." หรือ "วุฒิสภา" กับ "อำนาจ" ที่เป็นราคาของตำแหน่ง

ที่มาของ "นายกรัฐมนตรี" ของ "รัฐมนตรี" และ "กระบวนการตรวจสอบ" ที่ทำให้รู้ว่าจะต้องเอาอกเอาใจใคร

เหล่านี้หากใช้สติปัญญาเพียงเล็กน้อย ย่อมประเมินวิเคราะห์ได้ว่า เป็นการสะท้อนโครงสร้างที่เอื้อให้ "อภิสิทธิ์ชนกลุ่มใด" มี "สิทธิเหนือกว่าประชาชนทั่วไป"

ใครเป็น "พลเมืองชั้นพิเศษ" ใครเป็น "พลเมืองชั้นสอง" สำหรับการอยู่ร่วมเป็นประชาชนของชาติ ของประเทศเดียวกัน

การร่างให้เป็นไปตามพิมพ์เขียวไม่ใช่เรื่องยากเย็น

แต่ภารกิจที่ดูจะยากมากกว่าของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ อธิบายพิมพ์เขียวดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกว่าเป็นประชาธิปไตย

และทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าตัวเองรู้เท่าทัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!