WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แปลงร่าง'สนช.-สปช.'คุมรัฐบาล ไม่เว้นวรรคแม่น้ำ 4 สาย รธน.เสร็จ'315 มาตรา''บิ๊กตู่'บี้ขรก.ฟังคืนสุข จดบันทึกรายงานรมต. ฮึ่มชกสื่อฉุนถามผลงาน ต่ออายุปปช.ให้รอก่อน

 

 มติชนออนไลน์ :
ทักทาย -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทักทายนายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระหว่างเป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม

 

      กมธ.ยกร่างฯเคาะเว้นวรรค 2 ปี เฉพาะตัวเอง ชง'สปช.-สนช.'แปลงร่างเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูป-กก.ยุทธศาสตร์ฯ สพม.ชง ป.ป.ช.-ผู้ตรวจฯสอบ สนช.จ้างเครือญาติ

'บิ๊กตู่'หนุน'คอสต์'ป้องกันทุจริต

    เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจับมือกับอังกฤษ โดยการเข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (คอสต์) เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และเพื่อให้มีกลไกในการตรวจสอบ การทำงานทุกวันนี้อย่าซีเรียส การทำงานทุกอย่างมีปัญหาอยู่แล้ว วันนี้ที่เราเข้ามา เราต้องการทำทุกอย่างให้ประเทศเกิดความภาคภูมิใจ มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น ตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามา มีปัญหามากมาย ทุกคนจึงอยากให้ประเทศเดินหน้าไปได้ นโยบายสำคัญวันนี้คือรัฐบาลต้องการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความโปร่งใส ถึงจะยากแต่จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง และขอกำลังใจจากประชาชนให้ความร่วมมือ เจตนาวันนี้เข้ามาไม่ได้มุ่งหวังสืบทอดผลประโยชน์ สืบทอดอำนาจ ถ้าคิดจะทำเช่นนั้นคงไม่มาทำเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตและการเข้าร่วมโครงการกับคอสต์ ขอให้จำเอาไว้ เราเข้ามาเพื่อต้องการให้ประเทศปลอดภัย ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้นและอยู่อย่างทัดเทียมมิตรประเทศ แม้วันนี้เราจะถูกปรับอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2557 อยู่ที่ 35 ขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่น่าพอใจ อยากให้ขึ้นไปมากกว่า แต่คงเป็นเรื่องยาก การสร้างความโปร่งใสไม่ใช่เรื่องของภาครัฐอย่างเดียว ทุกคนต้องช่วยกัน

เร่งสร้าง 3 ป.ลดความขัดแย้ง 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนยอมรับ จะต้องไม่ใช้กฎหมายในทางที่ผิดหรือสร้างความขัดแย้ง จะต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างความไม่โปร่งใส เราจะต้องยึดมั่นทำงานให้โปร่งใสและรวดเร็วให้ได้ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรม และหลัก 3 ป. คือ ป้องกัน ปราบปราม และปลุกจิตสำนึก วันนี้เชื่อมั่นว่าตนไม่ได้ใช้อำนาจหรือไปทรมานใคร ไม่ได้ใช้อำนาจหรือกฎหมายมาตราใดอย่างที่คนอื่นพูด อำนาจและกฎหมายเหล่านั้นไว้ใช้กับคนไม่ดี ทำผิดกฎหมาย มีคดีความ และขอชี้แจงกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า รัฐบาลและ คสช.ไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือทรมานใครที่เรียกตัวมา การเชิญบุคคลมา 3-4 พันคนนั้น มีเพียง 3-4 ร้อยคน และดูแลอย่างดี ตอนนี้ปล่อยกลับหมดแล้วไม่มีการทรมาน แทบจะโอ๋กันด้วยซ้ำ เป็นการเชิญมาพูดคุย วาระแห่งชาติวันนี้จะต้องสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้งและเร่งการปฏิรูป ที่ผ่านมาทั้ง 2 รัฐบาลได้พยายามทำมาตลอด แต่ทำไม่ได้ วันนี้จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดแนวร่วมมุมกลับ วันนี้ก็ได้พูดอย่างระมัดระวังในทุกด้านเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้ง

ชี้แม่น้ำ 5 สายอยู่หรือไปตามรธน.

  "ที่ผ่านมาผมพยายามพูดหรือสั่งการทุกอย่างอย่างระมัดระวัง บางคืนถึงกับฝันว่าสั่งไปจริงแล้วหรือยัง ยอมรับว่าเหนื่อยแต่สู้ได้ ไม่ต้องห่วง อย่าคิดว่าเหนื่อยแล้วจะไปไหน ไม่มีทาง ไม่สำเร็จไม่ไป ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่รู้จะเข้ามาทำไม ไหนใครไม่ชอบหน้าผมก็บอกมาเลย จะได้จบๆ สักที ถ้าประชาชนไม่ต้องการผมก็จะไม่อยู่แล้ว ผมทำขนาดนี้ ไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ดังนั้น ขอให้ทุกคนร่วมมือกับผมในการเดินหน้าประเทศ ช่วยกันหาทางเดินหน้าต่อให้ได้ ทางไหนตันก็หาทางใหม่ และยืนยันว่าไม่ได้ต้องการอะไรทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ ผมเองและรัฐมนตรีทุกคนที่เข้ามาก็ไม่ได้อะไรเลย ส่วนเรื่องแม่น้ำ 5 สายอย่าไปกังวล ใครจะอยู่จะไปผมก็ยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเดี๋ยวผมจะเป็นคนตัดสินเอง ขอวันนี้อย่านำทุกอย่างมาตีกัน ไม่เช่นนั้นประเทศก็ไม่ต้องไปไหน มีรัฐธรรมนูญก็ตีกันอีก แล้วจะให้ผมทำอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เข้มขรก.จดบันทึก'คืนความสุข'

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกประเทศผ่านการปฏิรูปมาหมดแล้ว เราช้ากว่าประเทศอื่นๆ วันนี้เราต้องเอาทุกเรื่องมาปฏิรูป จึงขอใช้เวลา เพราะต้องแก้กฎหมาย กระบวนการ แก้คน แก้ทัศนคติในการทำงาน สร้างกลไกอีกหลายเรื่อง จึงขออย่าใจร้อนมากนัก ใจร้อนมากจะเสียของ เดี๋ยวก็จะเตรียมการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญก็กำลังจะออกมา อย่ากังวล ถ้าประชาชนไม่ยอมรับ ตนก็ไม่เอาด้วยแล้วประเทศนี้ ทำไมถึงไม่เข้าใจกัน รัฐบาลนี้เข้ามาเป็นรัฐบาลจริงๆ เพียงแค่ 6 เดือน วันนี้เราจะต้องทำทุกอย่างไม่ให้เกิดแรงต้าน ให้ประชาชนเข้าใจ สีไหนตนไม่สนใจ ถ้าเราดูแลเขาดีและมีความจริงใจให้ ก็ต้องสามารถทำได้ อย่างวันนี้ตนไปในบางพื้นที่ที่มีคนห้ามก็ไม่เห็นเขาจะว่าอะไร ในเมื่อที่ผ่านมาตนก็ทำงานให้ทุกคนอยู่แล้ว 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันก่อนเจอนักข่าวถามว่ารัฐบาลมีผลงานอะไร ตนแทบจะชกหน้าคนถาม ทำมาตั้งเยอะแยะไม่เห็นหรืออย่างไร วันนี้จะพูดไปเรื่อยๆ ยอมเหนื่อย ยอมเจ็บคอ ต่อไปนี้ทุกคืนวันศุกร์ ข้าราชการทุกกระทรวงต้องจดบันทึกให้รัฐมนตรีให้ทราบว่าตนพูดอะไรไปบ้าง นักข่าวเองก็ต้องฟังเหมือนกัน เวลามาถามจะได้รู้เรื่องและมีแนวคิดจะเปิดเวที และถามนักข่าวบ้างเหมือนการสอบ แล้วส่งให้บรรณาธิการดีไหม วันนี้คิดเยอะอยู่ในหัว รับข้อมูลมาทุกเรื่อง 

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของข้าราชการก็จะต้องดูแลระบบราชการไม่ให้การเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ ที่ผ่านมานักการเมืองไม่เคยเซ็นอะไรสักอย่าง คดีที่อยู่ทุกวันนี้คอยดูเถอะ ข้าราชการจะโดนเป็นจำนวนมาก วันนี้ขอให้ไปช่วยกันคิดเรื่องสัญญาคุณธรรม เร่งรัดให้ได้ภายในปีนี้ว่าจะทำอย่างไร เพราะข้าราชการเองก็ต้องมีเกราะคุ้มกันตัวเอง ไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง รวมถึงเรื่องสัมปทานโครงการประมูลคลื่นความถี่ในระบ 4จี ก็จะต้องทำให้ได้ภายใน 6 เดือน พร้อมปรับโครงสร้างไอซีที และยืนยันว่าตนไม่ได้ประโยชน์

ส.นักข่าวตินายกฯฮึ่มชกหน้าสื่อ

     วันเดียวกัน เฟซบุ๊กบีบีซีไทยได้สัมภาษณ์นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีแสดงความไม่พอใจผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามถึงผลงานรัฐบาล โดยใช้คำว่า "แทบชกหน้าคนถาม" ว่า การแสดงออกดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้นำประเทศใดควรคิดและกระทำ โดยส่วนตัวเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีอาจอัดอั้นตันใจกับการทำงาน แต่ไม่ควรแสดงออกด้วยคำพูดในลักษณะนี้ เพราะชี้ให้เห็นว่าไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังไม่เอื้อต่อบรรยากาศของสังคมไทย

    "คนไทย สังคมไทย ให้โอกาสนายกฯมานานพอสมควรแล้ว ท่านต้องทบทวนตนเองในฐานะผู้นำ ไม่ว่าจะมาเป็นผู้นำวิธีการใดก็ตาม" นายมานพกล่าว

    บีบีซีไทย ยังระบุว่า โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯเห็นว่าคำพูดของนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ใช่การคุกคามสื่อโดยตรง แต่เป็นการคุกคามเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่การคุกคามสามารถทำได้หลายรูปแบบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้บุคคลข่มขู่ หรือพูดข่มขู่เอง ไม่ตอบคำถาม หรือย้อนถามกลับ 

    นายมานพ บอกบีบีซีไทยว่า นายกรัฐมนตรีไทยหลายคนในอดีตมีวิธีที่นุ่มนวลหากไม่ต้องการตอบคำถามสื่อ เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะนิ่งเงียบ นายชวน หลีกภัย มักใช้วลีที่ว่า "กำลังดำเนินการอยู่" หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยมีสัปดาห์หยุดพูด หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็จะมีวิธีการที่ไม่ตอบโต้ แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครแสดงออกในลักษณะที่ดูเป็นเชิงข่มขู่

ทูตอังกฤตรับลูก"คอสต์"

นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการของคอสต์เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและธนาคารโลกเพื่อสร้างกลไกและมาตรฐานความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ เน้นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และใช้เงินภาษีอย่างคุ้มค่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยใช้ความกล้าหาญเข้าร่วมโครงการโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟสสองถือเป็นจุดเริ่มต้นให้นานาชาติยอมรับ ขณะเดียวกันการป้องกันการคอร์รัปชั่นจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

'บิ๊กป้อม'ยันคสช.ไม่สืบอำนาจ 

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงข้อเสนอของนายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี ว่า นายกรัฐมนตรีพูดไปหมดแล้ว ยืนยันไม่มีสืบทอดอำนาจ ถ้าไปทำเช่นนั้นต่อไปจะไม่มีคนมาทำงาน พอหมดหน้าที่ก็หมดเลย 2 ปี ไม่มีใครแล้ว เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีชี้แจงแล้วคิดว่าคนที่สนับสนุนให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี น่าจะเข้าใจ

    เมื่อถามว่ามีความกังวลกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ไม่เป็นประชาธิปไตย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เรื่องร่างรัฐธรรมนูญยังไม่จบ เพราะเมื่อร่างเสร็จแล้วต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากนั้นก็ คสช.สุดท้ายก็จะเข้าสู่ ครม. รัฐบาลและ คสช.รับฟังข้อท้วงติงทั้งหมด เพราะเป็นภาพใหญ่ เราต้องมาดูกัน

    พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีแนวทางของรัฐบาลกับคณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ตรงกันว่า ต้องมาดูกันอีกครั้ง ขณะนี้เป็นเรื่องของคณะ กมธ.ยกร่างฯ แต่เมื่อมาเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. ก็ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนการประชุมแม่น้ำทั้ง 5 สายในวันที่ 11 มีนาคม ยังไม่มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าว ขอให้ใจเย็นๆ ปล่อยให้ทางคณะ กมธ.ยกร่างฯ ดำเนินการตามโรดแมป ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สกัดกั้นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มนั้น ไม่มี เพราะคณะ กมธ.ยกร่างฯ ก็มีบุคคลทั่วไป จะพิจารณาดูว่าในอดีตที่ผ่านมารัฐธรรมนูญใช้แล้วมีปัญหาอะไร เพื่อมาแก้ไขไม่ให้ติดขัดเหมือนที่ผ่าน 

'บิ๊กโด่ง'ชี้ต่ออายุตามสถานการณ์

     พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปีว่า คงเร็วเกินที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะทุกเรื่องยังไม่ได้ข้อยุติอะไร เป็นเพียงการเสนอแนวคิดกันทั้งนั้น ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไปแล้ว ขณะนี้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เราเพียงติดตามการเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ต่อไป คิดว่าแม่น้ำ 5 สายไม่มีเจตนาสืบทอดอำนาจ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ต้องคิดรอบด้าน โดยพื้นฐานไม่มีใครต้องการแสวงหาอำนาจ แต่บางอย่างมีกรอบความจำเป็นในเรื่องสถานการณ์ชาติบ้านเมือง ต้องมาคิดกัน

"บวรศักดิ์"แจงสปช.ร่างรธน.10มี.ค.

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างบทบัญญัติบทเฉพาะกาลที่เหลืออยู่รวมทั้งมาตราที่ยังไม่พิจารณาไม่ได้ข้อยุติ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายบวรศักดิ์ได้แจ้งให้สมาชิกในที่ประชุมรับทราบว่าในช่วงเย็นของวันเดียวกันนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯประกอบด้วยนายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ นายปกรณ์ ปรียากรณ์ และนายชูชัย ศุภวงศ์ จะไปบันทึกเทปที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อชี้แจงความคืบหน้าของการยกร่างรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นใหญ่ ประกอบด้วย เรื่องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล และหนุนสังคมเป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข นอกจากนี้ตนได้ขออนุญาตนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ว่าจะขอนำ กมธ.ยกร่างฯไปนำเสนอภาพรวมของจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งหมดในการประชุม สปช.ในวันอังคารที่ 10 มีนาคม นายเทียนฉายก็รับปาก การนำเสนอภาพรวมของรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่ได้เป็นการสื่อสารเฉพาะ สปช.เท่านั้น แต่จะสื่อสารให้คนทั้งประเทศทราบความคืบหน้าด้วย

"เจษฎ์"ไม่ผิดหวัง"บิ๊กตู่"เมิน

นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ออกมาระบุไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี แต่ให้ยึดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ว่า ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเกิดภายใต้ คสช. ส่วนตัวไม่รู้สึกผิดหวังและยังยืนยันจะเดินหน้าเสนอประเด็นห้ามแม่น้ำ 5 สายดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปีต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ข้อเสนอดังกล่าวไม่ต้องการสร้างความบั่นทอนจิตใจแก่บุคคลที่ทำหน้าที่แต่อย่างใด เพราะหากเข้ามาทำหน้าที่เพื่อไปเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.และรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่ แต่หากเข้ามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองในการส่งไม้ต่อให้คนจะมาสานงานในวาระต่อไปก็ไม่ถือว่าเป็นการบั่นทอนจิตใจ ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ป้องกันการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่เวลาเรานำเสนอสิ่งใดไปก็คิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว หากสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ

ชี้ช่องให้ป.ป.ช.นั่งเก้าอี้ต่อ

นายเจษฎ์กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอต่ออายุการดำรงตำแหน่งออกไปว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของการต่ออายุ แต่เป็นเรื่องของการกำหนดการทำหน้าที่ไปจนกว่าจะส่งไม้ต่อให้คนที่เข้ามาทำหน้าที่ในภายหลัง เป็นการทอดระยะเวลาออกไปเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการทำงาน กรณีของบุคคลที่ครบวาระและอายุ 70 ปีนั้น ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ถ้าติดขัดก็อาจต้องให้นั่งทำหน้าที่อยู่ต่อไป แต่อาจมีกลไกให้อยู่ทำหน้าที่เท่าจำนวนที่มีอยู่ก็ได้

"วิษณุ"ชี้ต่ออายุป.ป.ช.ไม่ด่วน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสนอต่ออายุการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่านายกฯไม่มีอำนาจอะไรไปต่ออายุ ส่วนที่ระบุให้ใช้อำนาจพิเศษนั้นเป็นอำนาจของ คสช.จะพิจารณา

เมื่อถามว่าผู้มีอำนาจต่ออายุคือหัวหน้า คสช.เพียงคนเดียวใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะการใช้อำนาจต้องเป็นองค์คณะ เมื่อถามว่า ป.ป.ช.มีการหารือเรื่องนี้กับ คสช.เมื่อไหร่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อมีการเสนอกฎหมาย ป.ป.ช.ครั้งที่ผ่านมาเพื่อเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทาง สนช.จึงตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาก่อนจะรับหลักการ มีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่าหากมีความจำเป็นต้องต่ออายุ จะต้องเขียนแก้ไว้ในกฎหมายตั้งแต่ครั้งนั้น และประเด็นอื่นๆ เช่น การเพิ่มอำนาจขึ้นมาหารือ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับกัน สุดท้ายก็ดึงออกหมด เหลือไว้เพียงเรื่องเดียวคือเรื่องการทำสนธิสัญญา จากนั้นก็ไม่ได้พูดอะไรกันต่อ เมื่อถามว่าจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ รัฐบาลไม่พูดอะไรด้วยอยู่แล้ว และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องด่วนอะไร

"วันชัย"แจง"เทียนฉาย"ประกัน

ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวิป สปช. แถลงว่า ได้รับมอบหมายจากนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. มาชี้แจงให้ทำความเข้าใจกรณีสื่อหลายฉบับพาดหัวข่าวว่า "เทียนฉายยอมตายถ้ารัฐธรรมนูญมีตำหนิ" ว่าสิ่งที่นายเทียนฉายพูดไปนั้นไม่ได้หมายความว่าเอาตัวเองเป็นประกัน ถ้ารัฐธรรมนูญมีตำหนิแล้วจะยอมตาย แต่หมายความว่าในฐานะที่เป็นประธาน สปช. ยืนยันว่าจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในชั้น สปช.อย่างดีที่สุด เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยมากที่สุด และมีประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด แก้ปัญหาชาติให้ดีที่สุด และหากตรงไหนมีตำหนิหรือไม่เข้าใจเป็นเรื่องส่วนบุคคลและพรรคการเมือง

นายวันชัยกล่าวว่า นายเทียนฉายยืนยันว่าจะมีกลไกแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีกว่าเก่าแน่นอน และรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นจะขจัดความเหลื่อมล้ำทั้งเศรษฐกิจและสังคม มีกฎหมายเป็นเครื่องมือให้ความเป็นธรรมกับทุกส่วน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะอย่างมาก ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ได้ดีที่สุด เวลาที่เหลือของ สปช.งวดเข้ามาทุกที ไม่ต้องการให้ประชาชนผิดหวัง และรัฐธรรมนูญเป็นความรับผิดชอบของ สปช. จึงต้องทำให้ออกมาดีที่สุด

สปช.ขออภิปรายร่างรธน.10วัน 

นายวันชัยกล่าวว่า ขณะนี้นายเทียนฉายได้เตรียมการรองรับการอภิปรายของ สปช.เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 17-26 เมษายน โดยจะพิจารณางานของกรรมาธิการทุกคณะ สมาชิกทุกคนจะร่วมอภิปรายและแปรญัตติ จำนวน 25 คนต่อ 1 ญัตติ และร่วมพิจารณาแต่ละญัตติอย่างมีเหตุผล สิ่งที่สมาชิกอภิปรายทั้งหมดทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะนำไปปรับปรุงเพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด นอกจากนั้นยังได้เตรียมวาระของการปฏิรูปทั้งหมด 36 วาระ มีการตั้งคณะกรรมาธิการแต่ละคณะเป็นเจ้าภาพ ได้ส่งกรอบการปฏิรูปมายังประธาน สปช.แล้ว และประธาน สปช.ได้สั่งการให้กลั่นกรองพิจารณาว่าเรื่องใดควรเป็นเรื่องสำคัญ ให้เร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ 10 เมษายน และจะเร่งพิจารณาในแต่ละคณะในเรื่องสำคัญๆ ที่ประชาชนร้องเรียนให้เร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปพรรคการเมือง การเข้าสู่อำนาจรัฐ เศรษฐกิจ

ชงถกแกนนำแม่น้ำ5สายเพิ่ม

นายวันชัยกล่าวว่า ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 11 มีนาคม สปช.จะเสนอกรอบการปฏิรูปทั้ง 36 วาระต่อที่ประชุม ว่าการปฏิรูปด้านไหนจะเร่งออกเมื่อไหร่ เพื่อเป็นการประสานการทำงานร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนั้น นายเทียนฉายยังได้เสนอว่าให้มีการประชุมแกนนำของแม่น้ำ 5 สาย ทั้งนายกฯ คสช. ประธาน สปช. ประธาน สนช. ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความใกล้ชิดมากขึ้น เพราะการทำงานงวดเข้ามาทุกขณะ

เมื่อถามว่า นายเทียนฉายได้ฝากชี้แจงถึงกรณีให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมืองหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเข้ามาทำงานเพื่ออะไร และเชื่อว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร จะให้เว้นวรรคหรือไม่ ทุกคนพร้อมปฏิบัติตาม 

"อ๋อย"เสนอ4ข้อ"5สาย"เว้นวรรค

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ใครควรเว้นวรรค ไม่เว้นวรรค ว่า "เดิมทีก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับการตัดสิทธิแม่น้ำ 5 สายสักเท่าไร ดูเหมือนผู้เสนอเรื่องนี้จะใช้คำว่าตัดสิทธิทางการเมือง กินความค่อนข้างกว้าง เข้าใจว่าเสนออย่างนั้นอาจต้องการให้เกิดความหวือหวาโดยไม่ได้หวังผลอะไรจริงจังก็ได้ แต่เมื่อเห็นถกเถียงกันจนเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้เลยขอแสดงความเห็นบ้าง การเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค มีเหตุผลอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เห็นว่าบรรดาผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในแม่น้ำ 5 สายจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปเสียทุกคนและทุกเรื่อง ควรเสนอเรื่องที่สำคัญในทางหลักการสัก 2-3 เรื่องก็พอ ข้อแรก ไม่ควรห้ามบุคคลเหล่านี้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากบุคคลเหล่านี้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ก็ไม่ควรห้ามไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าอาจมีการร่างรัฐธรรมนูญให้เอื้อประโยชน์แก่บางพรรคหรือบางพวก แต่ก็ต้องถือว่าเมื่อเขาได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ก็ต้องยอมรับเขา" นายจาตุรนต์ระบุ

จี้ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ

ข้อที่สอง ผู้ไม่ได้มีส่วนโดยตรงกับการร่างรัฐธรรมนูญหรือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรต้องถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี เพราะการไปห้ามสำหรับผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ข้อที่สาม ผู้มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญและผู้มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ควรเว้นวรรคจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและวุฒิสภา เว้นแต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรอิสระและวุฒิสภามีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือมีการยึดโยงกับประชาชนทั่วไป แต่ข้อนี้จะมีข้อเสียตรงที่ไม่ได้บอกบุคคลเหล่านี้ไว้ก่อน อาจยกเว้นสำหรับผู้ลาออกไปก่อนร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จก็ได้ ข้อที่สี่ ผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.และองค์กรอื่นในแม่น้ำ 5 สาย ไม่ควรรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง เรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แค่บุคคลเหล่านี้ประกาศเสียเองว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่มาจากการเลือกตั้งก็พอ

"นิพิฏฐ์"หนุน"5สาย"เว้นวรรค

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการให้เว้นวรรค 2 ปี เนื่องจากในขณะนี้มีประชาชนส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ เพราะฉะนั้นการแสดงเจตนาว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ถือเป็นการสร้างกติกาที่ดีที่สุดให้กับประเทศ คนที่สร้างกติกานั้นไม่ได้มีส่วนได้เสียในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าหากไม่มีการแสดงเจตนาออกมา ก็แสดงว่าผู้ที่ร่างกติกาอยู่ในขณะนี้นั้น มีเจตนาว่าจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 มีผลบังคับใช้ออกมา

"อำนวย"ท้าให้ลงเลือกตั้ง

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ไม่อยากให้ไปจำกัดสิทธิแม่น้ำ 5 สาย อย่างสมาชิก สปช. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยากสมัคร ส.ส.หรือ ส.ว.ก็ทำได้ ถ้าลงสมัครเลือกตั้งก็ไม่เป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะการเลือกตั้งจะอยู่ที่ประชาชน แต่ถ้าเป็นการสรรหาไม่ควรลง ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเว้นวรรคทางการเมืองของแม่น้ำ 5 สาย จะเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่นั้น หากมาจากประชาชนก็ไม่ห่วง แต่ต้องไม่มาจากสรรหาหรือแต่งตั้ง เพราะไม่ตรงกับหลักประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ควรให้คนไม่กี่คนมาแต่งตั้งคนอื่น 

"ขอให้ สนช. สปช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มาสมัคร ส.ส.ใน 250 เขตไปเลย อยากให้เพิ่ม ส.ส.เขตเป็น 375 เขต ส่วนบัญชีรายชื่อให้มีจำนวน 125 คนเช่นเดิม จะคัดสรรอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ขอให้เป็นจำนวนนี้ พวก สนช. สปช. กรรมาธิการฯ ขอให้มาลงสมัครเลือกตั้ง ให้ผ่านประชาชน แบบนี้จะเห็นด้วย ขณะที่เรื่องปรองดองก็ขอให้ทำควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นายอำนวยกล่าว

สพม.เชื่อเว้นวรรค2ปีเกิดยาก 

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวคงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ อีกทั้งการเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ได้ระบุในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพียงแค่บุคคลในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานต่างๆ จะยอมรับในแนวคิดนี้ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องยาก 

ชงป.ป.ช.-ผู้ตรวจฯสอบ"สนช."

นายธีรภัทร์กล่าวถึงกรณีสมาชิก สนช.แต่งตั้งเครือญาติให้เป็นผู้ปฏิบัติงานให้สมาชิก สนช.โดยได้รับเงินเดือนว่า สนช.กว่า 50 ราย ได้ให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเข้าช่วยปฏิบัติงานนั้น ถือว่าไม่ควรกระทำ เนื่องจากบุคคลดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช.สมควรต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ด้วยมาตรฐานสูงกว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงกำลังจะปฏิรูปประเทศ ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิก สนช.และกรรมาธิการ พ.ศ.2558 การปฏิบัติดังกล่าวอาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย การประกาศ สนช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 เรื่องการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งคุณสมบัติของผู้ถูกแต่งตั้ง เพราะก่อนจะแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว สนช.จะต้องตรวจสอบความสามารถและคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่ออย่างรอบคอบและโปร่งใส แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีความสามารถ ไม่มีคุณสมบัติ หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริง ต้องดำเนินการตามกฎหมาย สพม.ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 6 มีนาคม เพื่อดำเนินคดีต่อไป เพื่อสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานทางการเมือง และการบริหารที่มีธรรมาภิบาลสำหรับหน่วยงานของรัฐในการแต่งตั้ง

"ศรีสุวรรณ"จี้สปช.เลิกตั้งญาติ

ที่รัฐสภา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สปช. ถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ให้ตรวจสอบและสั่งการให้สมาชิก สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กระทำการในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเสนอหรือแต่งตั้งบุคคลที่เป็นบุตร ภรรยา และเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวสมาชิก สปช. ภายหลังปรากฏข่าวต่อสื่อสารมวลชนว่า สนช.ได้แต่งตั้งเครือญาติเข้าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการประจำตำแหน่งจำนวนมาก

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเห็นว่ากฎระเบียบหรือข้อบังคับของ สปช. ใช้ระเบียบหรือข้อบังคับเดียวกันกับ สนช.ทุกประการ จึงขอให้ประธาน สปช.ใช้อำนาจสั่งการหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ให้สมาชิก สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอชื่อบุคคลที่เป็นบุตร ภรรยา และเครือญาติพี่น้อง เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการประจำตัว สมาชิก สปช. โดยขอให้ตรวจสอบและสั่งการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะเข้ายื่นเรื่องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไป

เคาะ"สปช.-สนช."แปลงร่าง

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ แถลงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้พิจารณา ภาค 4 หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 1 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ในมาตรา 279 เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล ให้มีสภาขับเคลื่อนฯและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีองค์ประกอบและที่มา 1.สภาขับเคลื่อนฯประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 120 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ สปช. 60 คน สนช. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิมีความเชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 คน 2.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วยกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาและมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่เกิน 50 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติสภาขับเคลื่อนฯ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกทั้ง 2 สภา จะต้องมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกและกรรมการตามอำนาจหน้าที่อื่น รวมทั้งเรื่องอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ชงการปฏิรูปต่อครม.-รัฐสภา

นายคำนูณกล่าวว่า สภาขับเคลื่อนฯและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีอำนาจหน้าที่ อาทิ ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปต่อรัฐสภา ครม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ส่วนการปฏิรูปในด้านอื่น มิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้ให้กระทำได้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และสภาขับเคลื่อนฯให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสภาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เมื่อ ครม.ได้รับข้อเสนอแล้วให้ ครม.พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอและให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างเพียงพอ กรณี ครม.ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอใดได้ให้ชี้แจงเหตุผลต่อรัฐสภาและสภาขับเคลื่อนฯทราบ กรณีสภาขับเคลื่อนฯเห็นว่าการปฏิรูปที่ ครม.ไม่ดำเนินการนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและมีมติด้วยคะ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!