WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8866 ข่าวสดรายวัน


กราดยิง-ปาระเบิด หน้าศาล ตร.เร่งสอบปมป่วน 
พท.-ปชป.รุมยี้สภาขับเคลื่อน'เทียนฉาย'โต้สืบทอดอำนาจ สนช.ลงมติถอด 38 สว.12 มีค.


ป่วนเมือง - เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุคนร้ายกราดยิง และปาระเบิดตกเข้าไปบริเวณลานจอดรถของศาลอาญา ถนนรัชดาฯ พบกระเดื่องชนิดอาร์จีดี 5 ตำรวจเร่งหาชนวนเหตุที่ชัดเจน เมื่อค่ำวันที่ 7 มี.ค.

     กราดยิง-ปาระเบิดซ้ำใส่ศาลอาญา รัชดาฯ ตร.มุ่งปมสร้างสถาน การณ์ป่วนเมือง เพื่อไทย-ปชป.รุมค้านสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ ชี้เข้าข่ายสืบทอดอำนาจชัดเจน 'จาตุรนต์'ระบุเป็นการผูกเงื่อนตายสังคม หวั่นเพิ่มความขัดแย้ง 'เทียนฉาย'แจงพัลวัน ไม่ได้เปิดช่อง สปช.สืบทอดอำนาจ แค่สานต่องานปฏิรูป 'คำนูณ'อ้างเรื่องด่วน เตรียมตั้งอนุกมธ.เขียนพ.ร.บ.ขับเคลื่อนปฏิรูปฯ 'พล.ท.นาวิน'1 ในกมธ.ยกร่างฯ แอ่นอกรับอยากร่วมในสภาขับเคลื่อน สนช.ร่นโหวตถอด 38 อดีตส.ว. 12 มี.ค. 

สปช.รับรายงานร่างรธน. 10 มี.ค.

      วันที่ 7 มี.ค. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีคำสั่งนัดประชุม สปช. ครั้งที่ 14/2558 ในวันที่ 9 มี.ค. และครั้งที่ 15/2558 ในวันที่ 10 มี.ค. เวลา 11.00 น. โดยมีวาระการประชุมคือ การรับทราบรายงานความคืบหน้าของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว คือ รายงานการพิจารณาของคณะกมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรื่อง ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์

     สำหรับ การประชุมในวันที่ 10 มี.ค. มีวาระพิจารณา คือ พิจารณารายงานของกมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การปฏิรูประบบการผังเมืองและการใช้พื้นที่ (การปฏิรูปโครงสร้างองค์กร) รวมถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ 

รับสภาขับเคลื่อนกำกับรบ. 

    นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์กรณีกมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่น้อยกว่า 120 คน โดยมีที่มาจากสปช. 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 30 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน ว่า ถือเป็นหลักการที่ใช้ได้ มองว่าสภา ขับเคลื่อนฯไม่ได้เป็นการแปลงร่างสปช. ให้อยู่ทำหน้าที่ต่อ เพราะจะมีสปช.เพียง 60 คนที่ไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อ เนื่องจากไม่สามารถทำเรื่องการปฏิรูปให้เสร็จได้ภายใน 1 ปี จึงต้องมีกลไกมาให้คำแนะนำ หรือกำกับรัฐบาลใหม่ที่จะมาดำเนินการเรื่องการปฏิรูปต่อไป 

ไม่ใช่สืบอำนาจแต่สานงาน 

    นายเทียนฉาย กล่าวว่า สภาขับเคลื่อนฯ ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมาย มีหน้าที่เพียงแค่การให้คำแนะนำ ปรึกษา เรื่องการปฏิรูปประเทศแก่รัฐบาลชุดใหม่เท่านั้น จึงไม่ใช่การเปิดช่องให้สปช.มาสืบทอดอำนาจต่อ แต่เป็นเพียงการสานงานต่อเรื่องการปฏิรูป

    นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้สปช.ชุดปัจจุบันเข้าไปเป็นสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องการทำงานด้านปฏิรูป จะได้ไม่เสียของ หากใช้คณะกรรมการ ชุดใหม่มาทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนฯ ก็จะไม่เกิดความต่อเนื่อง เกรงว่าจะมีปัญหาเหมือนตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ระบุว่า ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการออกกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ 

ส่วนกรณีการเขียนบทเฉพาะกาลให้สปช.ชุดปัจจุบัน และกมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดอายุลงในวันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก จากเดิมที่กำหนดให้พ้นวาระหลังจากรัฐธรรม นูญฉบับใหม่ประกาศใช้นั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าวมาก 

เร่งตั้งอนุกมธ.เขียนกฎหมายลูก 

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ว่า สภาขับเคลื่อนฯจะมีขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ ส่วนขณะนี้คงต้องเร่งตั้ง อนุกมธ.เขียนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยต้องตั้งประธานอนุกมธ.ชุดนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ตั้ง แต่คาดว่าไม่น่าจะช้า เพราะในส่วนของประธาน อนุกมธ.พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่องอื่นๆ ได้ทยอย ตั้งและทำงานไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ การเขียน กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องดูท่าที ของร่างรัฐธรรมนูญควบคู่ไปด้วย ร่างรัฐ ธรรมนูญจะนิ่งจริงๆ ก็คือวันที่ 23 ก.ค. 2558 เพราะเป็นร่างสุดท้ายที่จะส่งให้ สปช.พิจารณา

แจงดึง 60 สปช.นั่งสภาขับเคลื่อน 

      เมื่อถามว่าเริ่มมีความเห็นจากหลายฝ่ายว่าการตั้งสภาขับเคลื่อนฯ เป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ ใช่การสืบทอดอำนาจ เป็นการทำงานเฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิรูปซึ่งแยกออกจากการบริหารราชการแผ่นดินปกติ ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าไม่มีกลไกการปฏิรูปหลังจากที่มีรัฐบาลปกติ ก็จะเหมือนกับข้อเสนอของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เคยเสนอแนวทางการปฏิรูปการสร้างความปรองดองก่อนหน้านี้ แต่ไม่มี การขับเคลื่อนต่อ กมธ.ยกร่างฯจึงอยากให้มีกลไกในการปฏิรูปที่แท้จริง โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารในเรื่องปกติ แต่จะปฏิรูปแต่ละด้านเท่านั้น

     นายคำนูณ กล่าวว่า วาทกรรมสืบทอดอำนาจอาจพูดได้ แต่ถ้าดูเนื้อหาจริงๆ แล้วจะพบว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเพื่อการปฏิรูป การ เดินหน้าประเทศต้องไม่สะดุด จึงต้องมีกลไกการปฏิรูป ส่วนที่เอาคนจากสปช. มา ประเด็นนี้เราก็คิดกันมาก แต่คิดแล้วว่าถ้าเอาคนใหม่ทั้งหมดจะไม่มีความผูกพัน ในหลักคิดการปฏิรูป จึงเอาสปช.เพียง 60 คน ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้โดยตรงมาสานต่อ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ไม่ใช่สปช.ทั้งหมด 

กมธ.โต้ต่อท่ออำนาจ 

      พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวประเด็นเดียวกันว่า ขออย่ามองกันด้านเดียวว่าการมีองค์กรดังกล่าวขึ้นมาเป็นการต่อท่ออำนาจ กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เพียงวางโครงสร้างข้างต้นเพื่อให้การปฏิรูปเดินต่อได้เท่านั้น อีกทั้งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เห็น การแต่งตั้งประธานอนุกมธ.ที่จะเข้ามาเขียนพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ทำ ถ้าเห็นข้อกำหนด และรายละเอียดทุกอย่างชัดเจนแล้วค่อยมาติงว่าต่อท่ออำนาจหรือไม่ แต่อย่าไปคิดด้านเดียว ทุกคนที่เข้ามาทำงานไม่ต้องการเห็นความไม่เป็นธรรม 

รับอยากร่วมสภาขับเคลื่อน 

    พล.ท.นาวินกล่าวว่า ตนก็เหนื่อยเหมือนกันที่ไม่ว่าจะเขียนมาตราใดก็ถูกด่าหมด ได้แต่ก้อนหิน แต่เท่าที่ดูประชาชนก็เข้าใจ มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่ออกมาติติง ยอมรับว่าถูกนักการเมืองด่าเพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สร้างกลไกที่ทำให้นักการเมืองที่มีพฤติกรรมแบบในอดีตทำงานยากขึ้นในอนาคต

    เมื่อถามว่า ส่วนตัวอยากเข้าทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนฯ หรือไม่ พล.ท.นาวินกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าใครอยากเป็นแล้วจะได้เป็น เพราะ ต้องดูพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยว่ารายละเอียดการสรรหา คุณสมบัติ ที่มา วาระการดำรงตำแหน่งเป็นอย่างไร แต่ถามตนก็อยากสานต่องานที่ทำมากับมือให้จบ อยากเห็นประโยชน์ที่เราใส่เข้าไปให้ประชาชนผลิดอกออกผลอย่างจริงจัง 

จาตุรนต์อัดสืบทอดคสช. 

     นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษา ธิการ อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสภาขับเคลื่อนฯ ว่า การปฏิรูปในหลายๆ ด้านอย่างมากโดย สปช.เป็นเรื่องผิดตั้งแต่ต้นแล้ว ความจริง สปช.ควรทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่ทำหลายๆเรื่องอย่างที่ทำอยู่ เพราะไม่ได้มาจากประชาชน และไม่มีช่องทางไหนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้นแนวทางปฏิรูปของสปช.จึงไม่เป็นจริงได้ และไม่สอดคล้องผลประโยชน์ประชาชนด้วย 

  นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อมีคณะมา ขับเคลื่อนการปฏิรูป เท่ากับเอาแนวทางของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนมากำหนดให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องทำตาม เท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และองค์กรต่างๆ ที่เป็นความต่อเนื่องจากการรัฐประหาร ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีสปช.และสนช.อยู่ในนั้น จริงๆ แล้วก็คือการสืบทอดอำนาจอย่างเดียวกัน เพียงแต่มีความชัดเจนขึ้นว่าสืบทอดอำนาจกลุ่มคนเดียวกันอย่างชัดเจน 

    นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้ในอนาคตหลังมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ก็ต้องทำตามแนวทางปฏิรูปเหล่านี้ โดยไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมือง พัฒนาบ้านเมืองได้ตามความต้องการของประชาชน เท่ากับเรากำลังวางระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้อยู่ไปอีกยาวนานนั้นเอง เนื่องจากการรัฐประหารไม่สามารถนำไปสู่การปฏิรูปได้อยู่แล้ว และยิ่งปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชน ยิ่งไม่มีทางเกิดอะไรที่จะสอดคล้องผลประโยชน์ประชาชน ยิ่งทำให้ล้าหลัง ตอบสนองผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

ชี้กำลังผูกเงื่อนตายให้สังคม 

   เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ใกล้แล้วเสร็จ สะท้อนอะไรในอนาคตได้แล้วหรือยัง นายจาตุรนต์กล่าวว่า สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีทิศทาง ไม่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างแท้จริง เมื่อคสช.เข้ามายึดอำนาจโดยใช้ข้ออ้างแก้ขัดแย้ง กฎหมายที่ไม่เป็นกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้ของรัฐบาลก่อน ต่อมากลายเป็นว่า แก้ปัญหาและปฏิรูปทุกด้าน แต่ไม่พูดถึงวิสัยทัศน์ ทิศทางที่ชัดเจน ไม่ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาของสังคมไทยเสียก่อน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างได้แสดงความเห็น การดำเนินการจึงสะเปะสะปะ ไม่มีทางที่ประสบความสำเร็จ

   เมื่อถามว่า มองว่าการทำงานของ คสช.และรัฐบาลที่มาถึงครึ่งเทอม จะเป็นไปตามโรดแม็ปหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เนื่อง จากไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและขาดคนที่จะจัดการในการบริหารประเทศแล้ว ผู้ที่มาทำหน้าที่ต่างๆ ยังสร้างปัญหาขึ้นมามากขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญระบบหรือกฎกติกาที่กำลังสร้างขึ้น ทั้งการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ กำลังผูกปมให้เป็นเงื่อนตายของสังคมไทย เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างขึ้นนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชน ไม่มีอำนาจใดๆ เลย เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่จะมาบริหารต่อไป ก็จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และยังมีเรื่องความไม่ยุติธรรมเต็มไปหมดในกฎกติกาต่างๆ เท่ากับว่าขณะนี้กำลังมีการสร้างระบบ กติกาที่นำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นไปอีกในอนาคต ส่งที่จำเป็นเวลานี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากขึ้น คือต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นได้มากๆ ไม่ใช่ปิดการแสดงความคิดเห็นอย่างที่เป็นอยู่

ปชป.จี้กมธ.ยกร่างฯแจงเหตุผล 

      นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสภาขับเคลื่อนฯว่า ถ้ากมธ.ยกร่างฯไม่ทำความกระจ่างออกมา ก็มองได้หลายมุม ต้องมีความชัดเจนว่าตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็จะไม่เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการสืบทอดอำนาจ ที่ผ่านมาเราพยายามปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาอะไร แต่ปัญหาที่นำไปสู่วิกฤตคือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็ต้องถามว่าสภาขับเคลื่อนฯ นี้ช่วยแก้ปัญหาตรงไหน ถ้าเรายังมีความคิดแก้วิกฤตชาติด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งก็คงยาก เพราะครั้งสุดท้ายปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมแต่อยู่ที่ คนเข้าไปทำงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลุแก่อำนาจ กระบวนการตรวจสอบไม่มีประ สิทธิภาพ สิ่งที่กมธ.ยกร่างฯทำมานั้นไปไกลเกิน ไม่ว่าจะเป็นที่มา ส.ส. ส.ว. พอเข้าไปมีตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ การตรวจสอบอยู่ตรงไหน 

    นายเกียรติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้คนเขียนเป็นคนอธิบายดีกว่าว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องมีคนมาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพราะต้องมีงบประมาณมาใช้จ่าย แล้วอำนาจขับเคลื่อนคืออะไร เพราะอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจนในที่สุดก็เสียเงิน เสียเวลาไม่ได้ผลอะไร และถ้าเขียนอะไรขึ้นมา โดยไม่เป็นที่ยอมรับ สังคมไม่เข้าใจเบื้องต้นก็ยังมองไม่เห็นว่ามีสภาขับเคลื่อนฯ มาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และเป้าหมายคืออะไร

ข้องใจลากยาวจนเปิดสภา 

    เมื่อถามถึงมติให้สปช.และกมธ.ยกร่างฯทำงานต่อไปจนกว่าเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เป็นการต่ออายุให้ตัวเองหรือไม่ นายเกียรติกล่าวว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น ประเด็นคือสปช.ตั้งขึ้นมาเพื่อดูเรื่องการปฏิรูป โดยให้มาคิดไม่ได้บอกให้ทำ ควรไปคิดว่านโยบายพรรคการเมืองที่ออกมานั้นจะทำอย่างไร ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง แต่กังวลว่าในที่สุดแล้วเราได้อะไรที่ชัดเจนจากสปช. ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตอีก ต้องไปหาเครื่องมือที่ทำให้พรรคการเมืองไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ให้มีการโกงกัน สิ่งเหล่านี้อยากเห็นเป็นรูปธรรม นายเกียรติกล่าวว่า ส่วนกมธ.ยกร่างฯ ก็อยากถามว่าอยู่เพื่ออะไร อยู่ทำไม ณ วันที่ได้รัฐธรรมนูญแล้วหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ ก็จบแล้ว ที่ผ่านมาประเทศไทยร่างรัฐธรรมนูญมามากฉบับ ความรู้ที่เกี่ยวข้องมีเหลือพอที่จะร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างรวดเร็วด้วยซ้ำ ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นชอบแน่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วแก้ปัญหา

ผลประโยชน์ทับซ้อน 

   นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ต้องถามผู้ยกร่างฯ ว่าเจตนาอย่างไรที่ให้ สนช.และ สปช.เข้าไปร่วมในสภาขับเคลื่อนฯ ด้วย นัยยะคืออะไร เพราะสังคมทั่วไปจะมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ซึ่งประเด็นนี้ความจริงแล้วการกำหนดคุณสมบัติควรเป็นหน้าที่ของสภาชุดต่อไป เพราะถ้า สนช. สปช. เข้าไปมีส่วนร่วมก็ไม่พ้นข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ ทับซ้อน ทำเพื่อตัวเองและพวกของตน กมธ.ยกร่างฯ จึงต้องมีคำอธิบายให้เห็นว่าการที่ให้ สนช. สปช. เข้าไปนั่งให้สภาขับเคลื่อนฯ มีประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่ชัดเจนก็ต้องถือว่ามีผลประโยชน์ ทับซ้อนแน่ 

นายวิรัตน์กล่าวว่า ส่วนที่ให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ตรงนี้แค่ทำหน้าที่ช่วงรอยต่อ ไม่น่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจอะไร แต่ถ้าเขียนให้ สปช. สนช. อยู่ในการปฏิรูปด้วยก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงผ่านความเห็นชอบเพราะมีส่วนดีอยู่มาก จุดด้อยมีเพียงส่วนน้อยที่ควรจะต้องแก้ไข เช่น ที่มาของนายกฯ คนนอก ควรเขียนว่าให้นายกฯ มาจากส.ส. แต่หากเกิดวิกฤตนายกฯ ก็สามารถมาจากคนนอกได้ หรือที่มาส.ว.ในสาขาอาชีพควรให้แต่ละอาชีพเลือกมาจำนวน 2 เท่าแล้วให้ประชาชนเลือกให้เหลือ 100 คน

ต้องสรรหาหลังเลือกตั้ง 

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ตนเคยพูดก่อนหน้านี้แล้วว่าเมื่อ สปช.และ สนช.ทำหน้าที่เสร็จแล้วคนเหล่านี้ก็จะแปลงร่างเป็น 2 ส่วนคือ 1.ส่วนใหญ่ไปเป็นส.ว. สรรหา ที่ระบุว่ามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และ 2.ต้องตั้งองค์กรอะไรขึ้นมาแล้วแต่จะตั้งชื่อ เพื่อรองรับคนเหล่านี้ ก็ชัดเจนคือสภาขับเคลื่อนฯ ที่กมธ.ยกร่างฯ การเขียนเช่นนี้น่าเกลียดมาก เพราะหลักการในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกไม่มีใครเขียนเพื่อรองรับอำนาจ ตัวเองหลังการร่างกติกาใหม่ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติไม่ห่วงเท่าไหร่เพราะมีเพียง 50 คน

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนไม่ปฏิเสธเรื่องการปฏิรูปที่ต้องทำต่อให้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นหลักคิดที่ถูกต้องและต้องเป็นพลวัต แต่ควรให้มีการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลใหม่ก่อนแล้วค่อยสรรหาสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ นี้ หากเขียนเช่นนี้ที่สุดจะเกิดปัญหาการไม่ยอมรับและเกิดความขัดแย้งซ้ำขึ้นอีก เหตุใดจึงไม่เอาคนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่นี้บ้าง การที่กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.อยู่ทำหน้าที่ต่อหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ไปแล้ว 7 เดือนยังไม่เพียงพออีกหรือในการสานต่อการปฏิรูป ตนไม่ขัดขวางการปฏิรูป แต่การเขียน อย่างนี้ถือว่า ทำเพื่อสืบทอดอำนาจชัดเจน

ดักคอคสช.ขานรับ 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า กรณีนี้ต้องให้ความเป็นธรรมต่อ คสช. เพราะเป็นเรื่องที่อยากได้ใคร่ดีของ กมธ. ยกร่างฯ สปช.และ สนช. เชื่อว่าที่สุดแล้ว คสช.จะไม่รับแนวคิดนี้แน่นอน แต่คาดว่าจะเอาหลักการที่ต้องปฏิรูปต่อให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพราะหลายเรื่องที่ สปช.เสนอต่อรัฐบาลหรือ คสช.ก็ไม่เอา และหาก คสช.รับแนว คิดนี้เชื่อว่าจะเกิดปัญหาขึ้นแน่จากสาเหตุการไม่ยอมรับตัวบุคคล และจะเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งใหม่ ซึ่งจะขัดต่อหลักอำนาจพิเศษที่มาขัดจังหวะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯ มีมติไม่รับข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ของนายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะอนุกมธ.ยกร่างบท เฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเว้น กมธ.ยกร่างฯ ถูกเว้นวรรคเป็นเวลา 2 ปีนั้น ถือว่าจบไปในเรื่องนี้ แต่หลายภาคส่วนที่เสนอแนะโดยเกรงว่าจะเป็นข้อครหาว่าสืบ ทอดอำนาจ ก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยจะตัดสิน ห้ามความคิดนี้ไม่ได้

สนช.โหวตถอด 38 ส.ว. 12 มี.ค.

วันเดียวกัน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. มีคำสั่งนัดประชุม สนช. ครั้งที่ 15/2558 เป็นพิเศษ วันที่ 11 มี.ค. เวลา 10.00 น. มีวาระสำคัญคือการดำเนินกระบวน การถอดถอน ส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคู่กรณี คือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และส.ว. 38 คน ผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ ยังมีวาระการเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประเภทผู้ที่มีผลงานหรือมีความรู้และความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ทางด้านกฎ หมาย แทนตำแหน่งที่ว่าง พิจารณาร่างพ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

นอกจากนี้ ยังนัดประชุม สนช.ครั้งที่ 16/2558 ในวันที่ 12 มี.ค. เวลา 10.00 น. เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา 38 คนออกจากตำแหน่ง รวมถึงพิจารณากระทู้ถามที่นายวัลลภ ตังคณา นุรักษ์ สนช. ถามรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องปัญหาโครงการจัดซื้อเครื่องเล่นเด็ก เพื่อมอบให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระ เวลา 09.30 น. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายงานความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ร่นจากเดิม 13 มี.ค. 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะโฆษกวิป สนช. กล่าวถึงการพิจารณาคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ว่า ได้รับการประสานมาล่าสุดว่าที่ประชุมจะขยับการลงมติ การถอดถอนคดีดังกล่าวมาเป็นวันที่ 12 มี.ค. จากเดิมในวันที่ 13 มี.ค. ไม่ใช่เรื่องการเร่งรีบหรือรวบรัดการลงมติแต่อย่างใด เพราะขยับขึ้นมาแค่เพียงวันเดียวคงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนวันแถลงปิดสำนวนคดียังเป็นวันที่ 11 มี.ค. เช่นเดิม 

นพ.เจตน์กล่าวว่า ส่วนวิธีการลงมตินั้น วิป สนช.ได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการลงมติเป็นรายบุคคล โดยแยกความผิดเป็น 4 ฐานความผิด ประกอบด้วย 1.กรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในวาระ 3 จำนวน 2 คน 2.กรณีเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในวาระ 1, 2 และ 3 จำนวน 22 คน 3.กรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในวาระ 1 และ 3 จำนวน 13 คน 4.กรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติวาระ 2 เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของสมาชิก สนช. และสะดวกต่อการนับคะแนน 

ปปช.รอนายกฯต่ออายุ 

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอคสช.ขอต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งภายใน ปี 2558 ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการนัดหารือกัน รอทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาอยู่ นายกฯก็คงกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ป.ป.ช.ยังมีคดีที่ต้องดำเนินการจำนวนมาก โดยเฉพาะคดีถอดถอนหลายเรื่องที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาตามลำดับ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ เป็นต้น

สนช.โยนคสช.พิจารณา 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอต่ออายุป.ป.ช. ว่าหากพิจารณาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีกรรมการป.ป.ช.หมดวาระการดำรงตำแหน่ง กำหนดให้มีกรรมการสรรหาเลือกกรรมการป.ป.ช.แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยกรรมการสรรหา ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้าน ขณะนี้กรรมการสรรหาเหลือเพียง 4 คน เนื่องจากไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน แต่กระบวนการสรรหาก็ยังดำเนินการได้ เพื่อให้สนช.ให้การรับรอง ดังนั้น ถ้ายึดตามกฎหมายป.ป.ช.คิดว่าสามารถสรรหาใหม่ได้ เพราะเรายังใช้กฎหมายป.ป.ช.พิจารณาเรื่องถอดถอนได้เลย ซึ่งกรณีนี้เป็นการพิจารณาตามกฎหมายป.ป.ช. หมายถึงการสรรหา กรรมการป.ป.ช.ที่หมดวาระใหม่ทั้ง 5 คน ไม่ ใช่การต่ออายุกรรมการป.ป.ช. แต่ถ้าพิจารณา จากเหตุผลความจำเป็นเรื่องความต่อเนื่องในการพิจารณาคดี โดยให้เป็นการต่ออายุกรรมการป.ป.ช. ตรงนี้สนช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ คงเป็นเรื่องของ คสช.ที่จะพิจารณา 

นพ.เจตน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เนื่อง จากขณะนี้กำลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ หากใช้กติกาเก่าก็ยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาแบบไหน หากมีการสรรรหา กรรมการป.ป.ช.ช่วงเวลานี้ เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาแล้วรายละเอียดมีความแตกต่างจากกติกาเดิมก็จะทำให้มีปัญหา ดังนั้น การเว้นวรรคการสรรหาเพื่อรอคอยรัฐธรรมนูญใหม่น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และให้เป็นเรื่องที่คสช.พิจารณา

เพิ่มเงินประกันแดงล้มเวทีอาเซียน 

วันที่ 7 มี.ค. นายคารม พลพรกลาง ทีมทนายความแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เผยกรณีศาลมีคำสั่งจำคุกแกนนำ นปช.ที่นำกลุ่มผู้ชุมนุมล้มการประชุมอาเซียนที่โรงแรม รอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 ว่า หลังจากเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ได้ยื่นประกันตัวจำเลยทั้งหมดต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 จังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกลับมาแล้วว่า ศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมดโดยเพิ่มวงเงินประกันจากคนละ 700,000 บาท เป็น 800,000 บาท และทำสัญญาการประกันตัวใหม่ ซึ่งทีมทนายจะเตรียมหลักทรัพย์ไปประกันตัวแกนนำทั้งหมดในวันที่ 9 มี.ค.นี้

บึ้ม-กราดยิงหน้าศาลอาญา 

เมื่อเวลา 19.30 น. ร.ต.ท.วิธวัช สาคะ รินทร์ พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน รับแจ้งเกิดเสียงคล้ายระเบิดที่ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ จึงเดินทางมาตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่อีโอดี ในที่เกิดเหตุพบหลุมระเบิดบริเวณลานจอดรถเจ้าหน้าที่ของศาลอาญา หน้าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ห่างจากริมรั้วถนนรัชดาฯ 15 เมตร เป็นหลุมขนาดกว้าง 2 นิ้ว แท่งปูนกันรถไหลแตกได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ประมาณ 20 ซ.ม. พบ เศษปูน และต้นไม้ใกล้บริเวณเสียหาย 

ห่างจากจุดที่เกิดหลุมระเบิดที่รั้วหน้าศาลพบกระเดื่องระเบิดอาร์จีดี 5 ตกอยู่ห่างจากรั้ว 5 เมตร เจ้าหน้าที่เก็บเป็นหลักฐาน เลยจากศาลไปบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์อัยการ พบรถยามาฮ่า นูโว สีดำ-น้ำเงิน ทะเบียน วงต 967 กทม ล้มอยู่ ถัดไปอีก 10 เมตร พบปลอกกระสุน 9 ม.ม. 1 ปลอก และขนาด 11 ม.ม. อยู่กลางถนน เจ้าหน้าที่เก็บไว้เป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบคนเจ็บที่ขับขี่รถจยย.ดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ ขณะเดียวกันมีพยานยืนยันว่าเกิดเหตุกราดยิงหน้าศาลขึ้นด้วย โดยมีผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่าก่อนเกิดเหตุมีรถปิกอัพกับรถจักรยานยนต์ ขับไล่กันมา

หลังเกิดเหตุ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา ผบก.ศูนย์สืบสวน บช.น. พล.ต. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รอง มทภ.1 มายังที่เกิดเหตุ โดยสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!