WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8872 ข่าวสดรายวัน


บิ๊กตู่พ้อ-มะกันแบน ไม่ให้เข้า ติงตัดเสื้อไซซ์เดียว 
ให้คนทั้งโลกสวมใส่ได้ไง พท.-ปชป.ค้านโอเพ่นลิสต์ ดร.โกร่งห่วงศก.หดตัวแรง


ถึงญี่ปุ่น- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อค่ำวันที่ 13 มี.ค. เตรียมเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติระดับโลก ว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่ 1 ที่เมืองเซนได

        'บิ๊กตู่'ตัดพ้ออเมริกาไม่ให้เข้าประเทศ สวนอย่าตัดเสื้อไซซ์เดียวให้คนทั้งโลกใส่ ประชาธิปไตยแต่ละ ประเทศไม่เหมือนกัน เซ็งสื่อนำคำพูดเล่นๆ ไปเขียนจนกลายเป็นประเด็นกรณีระบุคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต เผยสอบได้ที่ 1 วิชาประวัติ ศาสตร์ ทำไมจะไม่รู้ พรรคเพื่อไทย-ประชา ธิปัตย์ประสานเสียงค้านรธน.ใหม่มาตรา 105 ว่าด้วย โอเพ่นลิสต์ ชี้สร้างความสับสน ส่งเสริมจังหวัดนิยม แนะกลับไปใช้แบบเดิมปาร์ตี้ลิสต์ดีกว่า ดร.โกร่งชี้ปัญหาเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อเนื่อง หวั่นลามสถาบันการเงิน เผยทำงานด้านเศรษฐกิจมา 40 ปี เพิ่งเคยประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัว หลายร.พ. ยังเชียร์-ให้กำลังใจหมอณรงค์ ด้านรมต.สำนักนายกฯ เผยหน้าที่ใหม่ปลัดสธ.เป็นที่ปรึกษางานวิจัย สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ

บิ๊กตู่ ตัดพ้อหลายประเทศไม่เข้าใจ

      เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มี.ค. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับโลกวอร์ตัน ครั้งที่ 47 วันที่ 13-14 มี.ค. มีคณาจารย์และนักวิชาการจากวอร์ตัน สคูล ศิษย์เก่า รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค ผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการชั้นนำของโลก เข้าร่วมอภิปรายอนาคตของเอเชีย ในหัวข้อ 'เอเชียในยุคที่โลกไร้พรมแดน' เพื่อให้สอดรับการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการพัฒนาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาค

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยยังเปิด ยังไม่ได้ปิดอะไรเลย ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ยืนยันเราไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปิดกั้นใครอยู่แล้ว ตอนนี้บ้านเมืองสงบ ซึ่งหลายประเทศเข้าใจปัญหา แต่มีอีกหลายประเทศที่ไม่เข้าใจ แต่เขาก็ไม่ใช่ศัตรู เราดูแลชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยเสียอีก

      "ขอทุกประเทศอย่ามาโกรธประเทศไทยเพราะผม วันนี้อะไรที่ติดขัด ผมจะเคลียร์ให้หมด ขอให้ไปบอกประเทศพวกท่านด้วย หากมีปัญหาอะไรบอกผม ผมจะเคลียร์ให้ได้เพราะไปประชุมจับมือกัน ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องพูดกันให้ได้เพราะเราเป็นเพื่อนกัน เราต้องมองโลกในภาพรวมด้วย ไทยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุด เนื่องจากเรายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราเดินหน้าทุกอย่างอย่างมั่นคง แต่ต้องไม่ล้มละลาย" นายกฯ กล่าว

สหรัฐไม่ให้เข้าปท.-อัดตัดเสื้อให้โลก

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คนไทยมีน้ำใจ มีรอยยิ้ม ตนอาจเป็นคนไทยที่ไม่ดีเท่าไร เพราะยิ้มน้อย พูดจาเสียงดังตามแบบทหาร แต่ที่ ทำไปเพราะอยากให้ประเทศเดินหน้าได้ เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยและอาเซียน ทั้งนี้ มนุษยชาติมีความแตกต่าง ฝากไปบอกสหรัฐให้เข้าใจด้วยว่า การตัดเสื้อ จะตัดตัวเดียวแล้วให้ทุกคนใส่ไม่ได้ มันมีหลายขนาด ถึงต้องมีช่างตัดเสื้อ ไม่อย่างนั้นก็ตัดเสื้อโหลมาใส่ อย่าตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลก มันทำไม่ได้ แต่ละประเทศมีปัญหาคนละอย่างกัน แต่ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ ของประเทศตะวันตกและทุกประเทศจะทำให้คนทั้งโลกดีขึ้น และคนทั้งโลกมีความสุข 

    "วันนี้ ผมจะไปคุยกับญี่ปุ่น และสมาชิกอีกหลายประเทศ เราจะมีความร่วมมือในหลายมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมทั้งในและนอกอาเซียน มีอาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวก 6 ผมเดินตลาดพวกนี้ได้ทั้งหมด ใครไม่ให้ผมไป ผมก็ให้รอง นายกฯไป ผมขึ้นมายืนบนนี้ไม่ใช่ผมไม่เสี่ยง ไม่เสียหาย แทนที่ผมจะได้พักผ่อนก็ไม่ได้พัก ไปไหนก็ไปไม่ได้ สหรัฐยังไม่ให้ผมไปเลย แต่ผมให้สหรัฐมาหมด เพราะเราเป็นมิตรกันมายาวนานกว่า 200 ปี ขณะนี้ไทยถูกจับตามองจากทั่วโลกว่า จะล้มเหลวหรือดีขึ้น แต่ผมคิดว่าต้องดีขึ้นอยู่แล้ว วันนี้ เราต้องอยู่กับปัจจุบัน เตรียมอนาคต เพราะทุกอย่างจะเกิดขึ้นในรัฐบาลหน้าทั้งสิ้น ก็ต้องเลือกกันมาให้ดี" นายกฯ กล่าว

ที่ 1 ประวัติศาสตร์-อัลไตแค่พูดเล่น

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนยังถูกต่อว่าอยู่ หาว่าประเทศไทยเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของการปกครองในโลก ซึ่งตนไม่เข้าใจ ทุกประเทศจับตามองเราอยู่ว่าจะไปอย่างไร และแปลกใจว่าทำไมคนไทยไม่มีปัญหาและมองว่าคนไทยอีกส่วนหนึ่งยังไม่อยากเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ต้องปรับการประชา สัมพันธ์ พูด ส่งเสริมในเรื่องที่ดี และตนต้องระวังเรื่องการพูดด้วย เพราะพูดอะไรออกไปอาจมีคนนำไปจับประเด็นจนเข้าใจผิดได้ วันนี้ขอให้ทำความเข้าใจกับต่างชาติ แต่เรื่องการเมืองก็อย่าพูดถ้าเขาไม่ถาม ยืนยันเราเดินหน้าตามโรดแม็ปอยู่แล้ว

    "วันนี้ พูดอะไรก็ระวังพวกนักข่าว วันก่อนพูดเรื่องประวัติศาสตร์ประเทศไทยว่า มีถิ่นฐานมาจากไหนตอนตอบคำถามนักข่าว ทำไมผมจะไม่รู้ บางครั้งผมก็พูดเล่น แต่เอาไปตีความ จับประเด็นจนทำให้เข้าใจผิด หาว่าผมไม่รู้ประวัติศาสตร์ ทำไมผมจะไม่รู้ ผมสอบประวัติศาสตร์ได้ที่ 1 วันหลังผมจะพูดให้น้อยลง นักข่าวจะได้ตกงานกันหมด ถ้ามีปัญหาสงสัยให้ถามคนไทยได้ ผมมีนิสัยที่ชอบถาม เป็นทหารก็ถามลูกน้อง เป็นทหารมา 38 ปี ปีสุดท้ายจะเกษียณอายุ ดันจับพลัดจับผลูขาหัก หกล้ม มาเป็นนายกฯ ซึ่งไม่ได้คิดและไม่อยากเป็น และอยากให้ทุกคนไม่ว่าประเทศไหนอยู่ในโลกแห่งความสุข ผมคาดหวังเช่นนั้น เดี๋ยวผมก็ไปแล้ว ฉะนั้น ต้องช่วยกันดูแล" นายกฯ กล่าว

แจงสั่งชะลอภาษีบ้าน-ที่ดิน

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างนั้น ขออย่าเพิ่งทะเลาะกัน วันนี้ยังไม่ออกอะไรด้วยซ้ำ แค่นำมาหารือ ยืนยันเราจะต้องแบ่งปันเฉลี่ยกันระหว่างคนรวยและคนจน ทั้งนี้คนไทยไม่เคยพบความเปลี่ยนแปลง แต่จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องต่างๆ อะไรที่รัฐบาลให้ก็บอกว่าดี แต่พอจะเก็บภาษีกลับเก็บไม่ได้ ไม่รู้ว่าต่างประเทศเป็นเหมือนกันหรือไม่ แต่หลังจากตนสั่งให้ชะลอเรื่องภาษี ดูเหมือนทุกอย่างจะดีขึ้นแล้ว แต่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเรื่องนี้ต่อไป

     ต่อมาเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลการชะลอขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มันเป็นภาษีเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า วันนี้เห็นว่ายังเดือดร้อนก็ให้ชะลอไปนิดหนึ่งก่อน เพื่อให้อธิบายก่อนว่าโครงสร้างภาษีประเทศไทยเป็นอย่างไร รายได้มาจากที่ไหนและวันนี้รายได้ประเทศไม่ใช่ความผิดของเรา รายได้รัฐมาจากหลายทาง ภาษีมีหลายส่วน มีของส่วนกลางที่จะใช้งบประมาณประเทศทั้งหมดและในส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นภาษีท้องที่ 

ชี้ไทยเก็บภาษีน้อยสุดในอาเซียน

     นายกฯ กล่าวว่า แนวคิดของมาตรการจัดเก็บภาษีบ้านและสิ่งปลูกสร้างคือภาษีท้องที่ เราใช้ของเดิมมานาน จึงต้องปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสมกับประเทศและสถานการณ์ในตอนนี้ แต่จะปรับอย่างไรกำลังดูอยู่ วันนี้รัฐต้องจ่ายเงินให้อปท. 2.6 แสนล้านบาทซึ่งเป็นเงินเพิ่มเติม เพราะอปท.เก็บได้แค่ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 7 หมื่นกว่าล้านบาท เท่ากับอปท.จะต้องใช้เงินจากการจัดเก็บภาษี 3 แสนกว่าล้านบาท ดังนั้น ถ้าจัดเก็บภาษีไม่ได้หรือเก็บได้น้อยลงไปเรื่อยๆ ท้องถิ่นจะไม่มีเงิน รัฐจึงจำเป็นต้องเอาเงินส่วนกลางไปให้อปท.เพื่อลงทุนส่วนต่างๆ 

      เมื่อถามว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจำเป็นต้องเสร็จสิ้นในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวดูก่อน เมื่อถามว่าจะใช้เวลาทบทวนนานหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จะทบทวนไปเรื่อยๆ และจะทบทวนทั้งระบบ จะสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่ามีภาษีอะไรบ้าง จะอธิบายทั้งโครงสร้างให้เข้าใจ ซึ่งประเทศไทยเก็บภาษีต่ำที่สุดแล้ว ก่อนมีมาตรการออกมาจะสร้างความเข้าใจก่อน คิดว่าถ้าพูดกันคนไทยจะเข้าใจ เว้นแต่ผู้มีเจตนาจะไม่เข้าใจ

      เมื่อถามย้ำว่าจะเสร็จทันรัฐบาลนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "จะให้ผมอยู่แค่ไหน เราเก็บภาษีน้อยที่สุดในโลกและในอาเซียน อยู่แล้ว"

อ๋อยชี้ภาษีบ้านซ้ำเติมปัญหาศก.

      วันเดียวกัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง : บริหารประเทศไม่ง่ายอย่างที่คิดว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดูจะเป็นเรื่องที่สับสนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง จนไม่มีใครทราบว่ารัฐบาลต้องการอะไรกันแน่จากการจะออกกฎหมายนี้ เดิมทีการออกกฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์จะหาแหล่งที่มาของรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้มากขึ้น ภาษีนี้เก็บตามมูลค่าของทรัพย์สิน แต่ไม่ถึงกับมีจุดมุ่งหมายถึงขั้น จะนำมาใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเสียทีเดียว เพียงแต่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากกว่า ที่เก็บภาษีกันอยู่เดิม ซึ่งมีการเก็บในลักษณะถดถอยคือ ยิ่งทรัพย์สินมีค่ามากยิ่งเสียภาษีน้อย

     นายจาตุรนต์ โพสต์ต่อว่า เมื่อมีความห่วงใยว่าระบบภาษีใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อ ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากรวมทั้งประชาชนทั่วไป ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจนผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและกระทรวงการคลังต้องออกมาตีกรรเชียงถอยกันใหญ่ มีทั้งออกตัวว่าออกกฎหมายไว้ก่อน อีก 2 ปีข้างหน้าค่อยใช้ มีทั้งเพิ่มราคาที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ราคาที่จะมีการลดหย่อนเป็นว่าเล่น หาหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไม่ได้ และก็กลายเป็นลืมหลักการที่ว่า ผู้มีทรัพย์สินอยู่ในท้องถิ่นซึ่งใช้บริการสาธารณะควรเสียภาษีให้ท้องถิ่นเสียแล้ว

     "การมาเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมากๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจหนักเข้าไปอีก ล่าสุดเห็นว่านายกฯ สั่งให้หยุดเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายคงจะโล่งอกไปตามๆ กัน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กระบวนการคิดและตัดสินใจที่ผ่านมาน่าจะมีปัญหามากถึงขนาดได้แสดงความไม่เข้าใจเรื่องการคลังเอามากๆ ทีเดียว ที่จะเป็นประโยชน์อยู่บ้างก็ตรงที่ทำให้เห็นสัจธรรมบางอย่างคือ ที่ชอบพูดกันว่าเรื่องดีๆ แบบนี้นักการเมือง พรรคการเมือง ไม่มีทางสำเร็จ ต้องรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น จึงจะกล้าทำและทำสำเร็จ มาถึงวันนี้คงเห็นกันแล้วว่าที่พูดอย่างนั้นใช่ว่าจะจริงเสมอไป สัจธรรมอีกข้อหนึ่งคือที่บอกว่า "การบริหารประเทศไม่เห็นจะยากอะไรเลย" เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่อย่างนั้นอีกเหมือนกัน" นายจาตุรนต์ระบุ

ไก่อู แจงใช้ศาลทหารกับพลเรือน

    วันเดียวกัน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพลเรือโทกฤษฎา เจริญพานิช รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร ต้องการชี้แจงกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับจะจัดกิจกรรม พลเมืองรุกเดิน โดยเป็นการเดินทางจาก อ.บางบัวทอง มายังพื้นที่ปทุมวัน ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. ผ่านย่านชุมชนหลายเส้นทาง เพื่อเรียกร้องในประเด็นการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ว่าอยากทำความเข้าใจต่อประชาชนและกลุ่มผู้ที่คิดจะจัดกิจกรรมว่าพลเรือนจะขึ้นศาลทหารเฉพาะในกรณีความผิดร้ายแรงตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 107-112 ซึ่งเกี่ยวกับความผิดต่อสถาบัน และประกาศฉบับที่ 113-118 ซึ่งเกี่ยวกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร เช่น มาตรา 113 ล้มล้างเปลี่ยนแปลง แบ่งแยกราชอาณาจักร ประกาศฉบับที่ 114 สะสมอาวุธสมคบกันเป็นกบฏ ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมที่ร้ายแรง บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ และความสงบสุขของประเทศชาติ

     "ผู้กระทำผิดในคดีร้ายแรงภายใต้กฎอัยการศึกต้องขึ้นศาลทหารเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม กระบวน การยุติธรรมของศาลทหารกับศาลพลเรือนไม่มีความแตกต่างกัน ขอให้ประชาชนเข้าใจและไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ยั่วยุเพื่อหวังผลทางการเมือง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

'อจ.ปื๊ด'สั่งตีปี๊บร่างรธน.ใหม่

    ที่รัฐสภา มีการประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาทบทวนร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์เป็นวันที่ 5 โดยการประชุมครั้งนี้พิจารณาต่อเนื่องในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบ ผู้แทนที่ดี ในหมวด 3 รัฐสภา 

      ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์ได้ขอความร่วมมือกมธ.ยกร่างฯ ที่เคยออกรายการทีวีชี้แจงประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประสานรายการนั้นเพื่อนำเทปรายการที่ออกอากาศไปแล้วมาเผยแพร่ต่อประชาชนอีกครั้งตามสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ศาลปกครอง หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การกระจายข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว เข้าถึงประชาชนได้โดยตรง และป้องกันการฟังความจากฝ่ายการเมืองเพียงข้างเดียวด้วย รวมทั้งขอความร่วมมือนายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างฯ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านท้องถิ่น และน.ส.สมสุข บุญญะบัญชา กมธ.ยกร่างฯ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านสังคม ร่วมออกรายการทีวีเพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆ ด้วย 

      จากนั้นที่ประชุมมีการรายงานถึงผลการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับประชาชนด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่รับทราบสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้ระบุว่าหาก กมธ.ยกร่างฯ จะให้ช่วยดำเนินการเรื่องใด เพื่อส่งสัญญาณให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ยินดีให้ความร่วมมือ 

เตรียมแก้ไขหลังส่งให้สปช.-คสช.

      นายบวรศักดิ์ เปิดเผยถึงการทำคำชี้แจงต่อประเด็นข้อซักถามของพล.อ.ประยุทธ์ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. จำนวน 17 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เบื้องต้นตนจะให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ของกมธ.ยกร่างฯ ไปจัดทำร่างคำชี้แจงและให้กมธ.ยกร่างฯ ร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในบางประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการ แก้ปัญหาการเมืองและไม่ได้มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นที่จะต้องให้ฝ่ายกฎหมาย พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนระยะเวลาที่จะตอบกลับนั้นยังไม่ได้กำหนด

     นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตลอด 5 วันที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาทบทวนบทบัญญัติรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ไปได้ 140 มาตรา หรือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ ในสัปดาห์หน้ากมธ.ยกร่างฯ ยังประชุมกันตามปกติ 

     นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนที่มีการสอบถามว่าจะทบทวนหลักการในบางมาตราหรือไม่นั้น ที่ประชุมเห็นว่าหากกมธ.ยกร่างฯ คนใดติดใจประเด็นใดก็บันทึกไว้และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้รับทราบเพื่อในช่วง 60 วันสุดท้ายของการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากสปช. ครม. และ คสช. จะนำประเด็นต่างๆ มาพิจารณาอีกครั้งได้ เพราะหากใช้เวลาช่วงนี้ทบทวนหลักการอาจจะเสียเวลาและทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามแผนได้ 

เทียนฉายนัดสปช.ถกกก.ยกร่างรธน.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีคำสั่งนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งที่ 16/2558 ในวันที่ 16 มี.ค. เวลา 11.00 น. โดยมีวาระการประชุมคือ เพื่อรับทราบรายงานความคืบหน้าของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วคือ รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง วาระการขับเคลื่อนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ : ระบบการศึกษาการพัฒนาคุณภาพคน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและปัญญาของประเทศ วาระที่ 20 ระบบวิจัยเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของประเทศ วาระที่ 21 ระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ (ระยะที่ 1 ระดับหลักการและสาระสำคัญ) ทั้งนี้ ในวันที่ 17 มี.ค.ประธานสปช.มีคำสั่งงดประชุมในวันที่ 17 มี.ค. เพื่อให้สมาชิกสปช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการได้อย่างเต็มที่

ปชป.ไม่เอาโอเพ่นลิสต์-มีปัญหา

     วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเจตนารมณ์ในมาตรา 105 ให้การเลือกตั้งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นแบบโอเพ่นลิสต์ ว่า ตนได้คุยเรื่องนี้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว มีความเห็นตรงกันว่า เราไม่เห็นด้วย ซึ่งในรายละเอียดอาจมีเรื่องที่ต้องคุยกัน จึงอยากฝากถึง กมธ.ยกร่างฯ และคสช. ว่าถ้าอยากจะใช้ระบบนี้ เราจะเจอปัญหามาก การกำหนดโอเพ่นลิสต์จะทำให้พรรค การเมืองทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่มีปัญหา เกิดความขัดแย้งและไม่มีความเป็นเอกภาพ เช่น ในกรณีของภาคใต้ สมมติในเขต จ.พัทลุง คนเลือกเขาก็จะเลือกในพื้นที่ ไม่มีความเป็นไปได้ที่คนในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช จะมาเลือกให้คนในพื้นที่จ.พัทลุง เป็นต้น ปัญหาที่จะเห็นได้ชัดคือ จะมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่สำคัญในการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง จะทำให้คนในพรรคการเมืองขัดกันเอง เพราะประชาชนจะต้องเลือกกาให้ผู้สมัครได้เพียงคนเดียว โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีประชากรในพื้นที่น้อยกว่า เช่น ภูเก็ต พังงา ระนอง คะแนนเขาจะสู้กับจังหวัดใหญ่ๆ อย่างนครศรีธรรมราชหรือสงขลา ไม่ได้เลย

     "ผมถามว่า ถ้าเกิดพรรคการเมืองใหญ่ๆ เขาไม่เอาด้วย แล้วไม่ลงเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นประชา ธิปไตย อะไรจะเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ อย่าทำเป็นเรื่องเล่นๆ เราฟังท่านมาหลายเรื่องแล้วก็ยอมรับได้บ้าง แต่เรื่องนี้ผมอยากจะบอกว่า มีปัญหาแน่นอน และอาจจะไม่มีความเป็นไปได้ หาก กมธ.ยกร่าง และคสช.จะเดินหน้าสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น จะต้องทบทวนเรื่องนี้ให้ดี" นายนิพิฏฐ์กล่าว

พท.ชี้ 6 ปัญหาของโอเพ่นลิสต์

     ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กมธ.ยกร่างฯเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้จัดรายชื่อผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หรือโอเพ่นลิสต์ว่า ในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้น ให้ผู้มีสิทธิเลือกบัญชีพรรคการเมืองได้บัญชีเดียว และอาจระบุหมายเลขผู้สมัครในบัญชีรายชื่อที่ประสงค์จะให้เป็น ส.ส.ได้หนึ่งคนด้วย ปัญหา คือ 1.เป็นการไม่เคารพการจัดสรรบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมือง เพราะการเลือกแบบบัญชีรายชื่อเป็นการเลือกพรรค ไม่ใช่เลือกตัวบุคคล ดังนั้นเมื่อพรรคจัดทำบัญชีรายชื่อแล้วก็ควรเลือกจากบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่เลือกเป็นรายบุคคลในบัญชีนั้นอีก 2.เกิดความยุ่งยากในการจัดทำบัญชีเลือกตั้ง ประชาชนจะเลือกหรือไม่ก็ได้ ประชาชนจะเกิดความสับสน นอกจากนั้น ผู้สมัครในบัญชีจะต้องหาเสียงเกิดความแตกแยก 3.เกิดความยุ่งยากในการคำนวณคะแนนเสียง เพราะนอกจากจะต้องจัดสรรที่นั่งให้พรรค การเมืองตามสัดส่วนในแต่ละภาคแล้ว ยังต้องมาจัดลำดับบุคคลที่จะได้รับเลือกตั้งอีก และเมื่อไม่บังคับให้เลือกบุคคล จะมีประโยชน์อะไรในการจัดลำดับ

      นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า 4.เป็นการไม่ สอดคล้องกับเหตุผลที่ต้องการให้ผู้สมัครเลือกพรรคการเมือง และไม่ส่งเสริมระบบพรรค การเมือง 5.เมื่อแต่ละบัญชีมีผู้สมัครถึง 30 กว่าคน แล้วเหตุใดจึงให้เลือกผู้สมัครได้คนเดียว ถ้าต้องการให้ประชาชนจัดลำดับก็ควรจัดทั้ง 30 คน แต่เห็นได้ชัดว่าคงใช้เวลาอยู่ในคูหาไม่ต่ำกว่า 10 นาที ซึ่งเป็นการยุ่งยากมากขึ้นไปอีกและปฏิบัติยาก และ 6.ในที่สุดประชาชนก็จัดลำดับตามจังหวัดหรือพื้นที่ที่ตนรู้จักมากที่สุด เมื่อมีประชาชนไม่เท่ากัน ภาคไหน จังหวัดไหนมีประชาชนมากกว่าก็ได้ลำดับต้นๆ กลายเป็นภูมิภาคนิยม จังหวัดนิยม 


ไปอุบลฯ- นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ที่ถูกคำสั่งนายกฯ ย้ายออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปร่วมบรรยายที่จ.อุบลราชธานี โดยมีพยาบาลมาต้อนรับและมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ที่สนามบินอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 มี.ค

ระวังเป็นการส่งเสริมจังหวัดนิยม

     นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าระบบบัญชีรายชื่อเป็นการให้ประชาชนเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรค ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล จึงควรมีบัญชีเดียวทั่วประเทศเหมือนที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นการเหมาะสมและสะดวกต่อการจัดการเลือกตั้งและการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชน การแบ่งเป็นภาคและแยกบัญชี รวมถึงการให้เลือกคนจากบัญชีอีกนั้น จึงไม่มีเหตุผลรองรับจะเป็นการสร้างปัญหาและสร้างความสับสนแก่ประชาชนเสียมากกว่า 

     นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า มองว่าแนวคิดดังกล่าวจะเป็นปัญหาและสร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมากทั้งขั้นตอนและวิธีการ อีกทั้งยังไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเลือกพรรค ซึ่งพรรคเป็นคนเลือกตัวบุคคล จึงเห็นว่าการเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อเมื่อปี 2540 และ 2550 ดีอยู่แล้วที่รูปแบบทำให้เข้าใจและง่ายต่อการเลือก และสามารถคาดการณ์ตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็น ผู้บริหาร เป็นรัฐมนตรีได้ เมื่อช่วงต้นของปี 2550 ใช้ระบบแบ่ง 8 ภาค แล้วกลับมาเปลี่ยนเหมือนปี 2540 ต่างกันเพียงตัวเลขจำนวนคน คือ 375 กับ 125 ซึ่งตนเห็นด้วยกับแบบนี้มากกว่า เพราะแนวคิดแบบเปิดโอเพ่น ให้เลือกบุคคลได้ 30 คน ประชาชนจะเลือกทั้งพรรคทั้งคนหรือไม่เลือกคนก็ได้นั้น แนวคิดดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ประชาชนอาจเลือกคนท้ายสุดหรือเลือกเฉพาะจังหวัดตัวเอง และไม่แน่ว่าเมื่อเลือกไปแล้วจะได้เป็นส.ส.หรือไม่เพราะต้องไปคิดคะแนนทั้งประเทศอีก ยกตัวอย่าง ถ้าภาคหนึ่งมี 5-6 จังหวัด ให้เลือกได้ 30 คน แล้วเลือกเฉพาะคนในจังหวัดจะกลายเป็นจังหวัดนิยมได้

เชื่อสนช.จะไม่ถอดถอน 250 ส.ส.

       วันเดียวกัน นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอดีตส.ส. 250 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับอดีตส.ส.ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอนของ สนช. แต่เมื่อ สนช. ไม่ติดใจและลงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว. ในเรื่องเดียวกันก็รู้สึกเบาใจ เพราะ สนช.น่าจะใช้บรรทัดฐานเดียวกันในการไม่ถอดถอนอดีต 250 ส.ส. เพราะข้อกล่าวหาเหมือนกัน สังเกตได้จากที่มีสนช.บางท่านพูดชัดเจนว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอมก็ไม่ชัดเจน เนื่องจากก่อนนำร่างบรรจุวาระยังสามารถเปลี่ยนได้ และที่สำคัญเพื่อให้เกิดความปรองดองในบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญ 

     นายสามารถ กล่าวว่า หาก สนช.จะบรรจุวาระการถอดถอนเข้าสู่การพิจารณา เชื่อว่าอดีต ส.ส.ทุกคนอยากใช้สิทธิเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง แต่หากทุกคนใช้สิทธิแก้ข้อกล่าวหา กว่าจะเข้าสู่กระบวนการซักถามไปจนถึงขั้นตอนแถลงปิดคดีน่าจะกินเวลาเป็นปีๆ หากเป็นแบบนั้นรู้สึกเห็นใจ สนช.เพราะต้องพิจารณาในเรื่องเดิม แทบไม่เหลือเวลาจะทำอย่างอื่น ถึงตอนนั้นคงหมดวาระกันพอดี ถือเป็นการบ้านที่ สนช.ต้องคิดหนักพอสมควรว่าจะเอาอย่างไร ยกเว้นว่าหากมีมาตรฐานใหม่เกิดขึ้น สนช.คงต้องตอบคำถามสังคมมากพอสมควร

ชี้ส.ส.ที่โดนอาญาอาจไม่รอด

     นายพนัส ทัศนียานนท์ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของ 38 อดีตส.ว.เห็นว่าไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะเขาแยกข้อกล่าวหา เช่น คนที่โดนคดีอาญากรณีร่างปลอมและคนที่โดนเรื่องเสียบบัตรแทนกัน นอกจากนี้ ยังแยกการลงมติในวาระที่ 1 2 และ 3 ซึ่งต้องพิจารณาว่าใครลงมติในวาระอะไรบ้าง ทั้งนี้ ประเด็นที่เขาเอาเป็นเรื่องเป็นราวคือ ไปแก้ให้ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ต้องเว้นวรรค ซึ่งเป็นการแก้ให้ตัวเองได้มาซึ่งอำนาจ เข้ามาตรา 68 ซึ่งถ้าเรื่องมาถึง สนช.ก็ต้องแยกประเด็นว่าคนไหนโดนอะไรบ้าง

     นายพนัส กล่าวอีกว่า ส่วนคนที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา เท่าที่ดูตั้งแต่การพิจารณากรณีของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภา มาจนถึงอดีต 38 ส.ว.ที่รอด ดังนั้น อดีต ส.ส.ส่วนใหญ่จะรอด เพราะข้อกล่าวหาเดียวกับอดีต 38 ส.ว. ส่วนคนที่โดนอาญาก็ต้องดูว่าเขาจะพิจารณาอย่างไรอีกที 

จ่อตั้งตัวแทนส.ส.จาก 4 ภาคแจง

      นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะป.ป.ช.ยืนยันมาตลอดว่า ผิด แต่ตนคิดว่าถ้าสมาชิกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรม นูญเพื่อให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแล้วผิด โลกนี้คงไม่น่าอยู่ อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับเพื่อนอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย คาดว่าจะส่งตัวแทนแต่ละภาคเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. เช่น ภาคเหนือ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส. เชียงราย ภาคกลาง นายวิทยา บุรณศิริ อดีตส.ส.พระนครศรีอยุธยา ภาคอีสาน นายไชยา พรหมา อดีตส.ส. หนองบัวลำภู แต่ต้องรอหารือกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคอีกครั้ง 

     นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนแนวทางการต่อสู้คือยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 291 และศาลรัฐธรรมนูญก็เคยให้คำแนะนำไว้ว่าให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ดังนั้น หากยึดตามหลักการก็มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากสนช. ผลการลงมติไม่น่าจะแตกต่างจากกรณีของอดีต 38 ส.ว.เพราะถูกกล่าวหาในประเด็นเดียวกัน

บิ๊กตู่ระบุคนไทยอยู่ในความกลัว

     เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ตอนหนึ่งว่า มีหลาย เรื่องที่อยากทำความเข้าใจ ไม่อยากให้ประเทศ ไทย คนไทยอยู่ท่ามกลางอาณาจักรแห่ง ความกลัว กลัวจะไม่ปลอดภัย กลัวเศรษฐกิจ กลัวเก็บภาษี หรือกลัวกฎหมายซึ่งรัฐบาลจะทำให้ดีขึ้นกว่าในอดีต แต่ต้องอาศัยเวลา และวันนี้สถานการณ์มีการเปลี่ยน แปลงตลอด มีการขัดแย้งอาจทำให้หลายอย่างล่าช้าไปบ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจ จึงอยากให้ประชาชนทำความเข้าใจด้วยเหตุผล ช่วยกันลดความหวาด ระแวง ความกลัว ความไม่เชื่อใจ แล้วรับทราบถึงเจตนารมณ์ของ คสช.ในการบริหารประเทศ 

     นายกฯ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ส่งผลถึงในประเทศ ทำให้การเก็บภาษีต่างๆ ลดลง เก็บภาษีได้ไม่ตรงกับที่ประเมินไว้ และถ้าเก็บไม่ได้ ความเสี่ยงมันก็เกิดขึ้น รัฐบาลนี้เข้ามาเพียง 8 เดือน แต่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขมานาน บางอย่างมากกว่า 10 ปี วันนี้จึงต้องเอาภาษีสากลมาดูว่ามีอะไรบ้าง ข้อสำคัญงบองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.) จัดเก็บได้น้อยมาก แต่ต้องใช้เงินมากถึง 3-4 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นงบลงทุน ทำให้รัฐบาลมีภาระมากขึ้น หลายโครงการมีปัญหาซึ่ง น่าเสียดาย ดังนั้น รัฐบาลจึงพิจารณาโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ทุกประเภท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทันสมัย เป็นสากล 

รัฐบาลโชคไม่ดีข่าวถูกกลบหมด

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เท่าที่ดูตัวเลข ถ้าเก็บอย่างที่เขาพูดกัน ได้ประมาณ 5 หมื่นกว่าล้านบาท ไม่ได้มากมายแต่ไม่เป็นไร วันนี้เราต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างอื่นด้วย ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน จึงสั่งให้ชะลอเรื่องนี้ไปก่อน จนกว่าจะมีความเข้าใจกันในเรื่องระบบภาษี และเรื่องนี้ยังไม่ได้เข้าครม.เลย เผอิญมันรั่วออกมาก่อนก็ต้องพูดชี้แจงกันใหญ่โต เดี๋ยวจะไม่เข้าใจ ตนยังไม่ได้ตัดสินใจตรงนั้น แต่วันนี้ตัดสินใจแล้วว่าเอาไว้ก่อนเพราะเงินภาษีเหล่านี้ ถ้ามันออกได้ จะไปออกปี 2560 แล้วรายได้ทั้งหมดที่ว่า 5 พันล้านหรือ 5 หมื่นล้าน ก็ไปที่อปท. รัฐบาลหน้าเขาได้ใช้ประโยชน์ ก็ไปดูว่ารัฐบาลหน้าจะทำให้เกิดความโปร่งใสอย่างไร 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำมาตั้งแต่ คสช. 3-4 เดือน รัฐบาลอีก 8 เดือน ทำสิ่งดีไว้เยอะ แต่พอมีปัญหาขัดแย้ง ไม่ปลอดภัย สินค้าแพง เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐไม่มีเงินต้องมารีดภาษีอะไรเหล่านี้ มันทำให้กลบข่าวดีๆ หมด ตนถือว่าเป็นโชคไม่ดีของรัฐบาลนี้แล้วกัน เข้ามาในช่วงโลกมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้าการส่งออกมีปัญหาหมด เราถึงต้องแก้กันอยู่ เราจะดำเนินการด้านเศรษฐกิจแบบตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับปรุงทุกอย่าง สร้างความเข้มแข็งให้ได้ ต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยง ใช้วิกฤตเป็นโอกาส ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาล ไม่ใช่ขัดขวางกันตลอด มันก็ไปไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้

ลดกลัว-มองไปข้างหน้ากับคสช.

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าวันนี้ตนให้ชะลอหมด เรื่องภาษีเอาไว้ก่อน รอบ้านเมืองปลอดภัย มีความสุข เดี๋ยวจะหาว่าตนรังแกเด็ก อะไรที่เข้าใจก็จะทำ อะไรที่ไม่เข้าใจก็อธิบายจะได้เข้าใจ หาทางออกให้ได้ แต่บางคนฟัง บางคนไม่ฟัง บางคนไม่อ่านหนังสือ แล้วบอกว่าไม่ดูแล เข้าไม่ถึง ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ต้องให้ความเป็นธรรมกัน 

     "ลดความกลัวกันหน่อย มองไปข้างหน้าร่วมกับเรา วันนี้มีทุกข์บ้างสุขบ้าง ถ้าเราเอาความสุขชั่วคราวก็เหมือนสายลมเย็น พัดมาแป๊บเดียวก็ไป แล้วก็ร้อนอีกเหมือนเดิม ผมไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้ เอาเงินให้ แก้ปัญหาตามใจทุกอย่าง ทุกคนมีความสุข แล้ววันหน้าความไร้ระเบียบ ความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรมก็เกิดขึ้นอีก ผมจึงอยากทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น อยากให้ทุกคนวาดอนาคตของตัวเองไว้ อนาคตไม่ใช่ว่าสร้างวันเดียว ต้องคิดให้รอบคอบ วันนี้เราอยู่ตรงกลาง ช่วงเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ความเข้มแข็งหรือจะล้มเหลว ขึ้นอยู่กับพวกเรา ผมนำไปอย่างนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ค้านมา ผมก็รับฟัง มาปรับแก้ใหม่ แต่ถ้าไม่ร่วมมือเลย มันก็ล้มเหลว กลับไปที่เก่า" นายกฯ กล่าว

ดร.โกร่ง ชี้วิกฤตเศรษฐกิจหดตัว

     วันเดียวกัน นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรมว.คลังและอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนบรรยายพิเศษให้หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า เศรษฐกิจขณะนี้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าเกษตร ขณะนี้ที่ต้องระวังคือสถาบันการเงินว่าจะกระทบต่อเนื่องหรือไม่ คาดการณ์ว่าในด้านการส่งออกก็จะยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น ประเด็นเศรษฐกิจขณะนี้เป็นเรื่องการรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด "ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะหดตัว เท่าที่ผมทำงานด้านเศรษฐกิจมา ไม่เคยมี มีแต่ขยายตัวมากหรือน้อย นี่เป็นครั้งแรก"

    นายวีรพงษ์ กล่าวถึงนโยบายภาษีของรัฐบาลว่า เห็นด้วยกับการที่นายกฯ เบรกมาตรการภาษีบ้านและที่ดิน นี่ไม่ใช่เวลาที่จะเพิ่มมาตรการภาษีอะไรทั้งนั้น ภาษีปัจจุบันนี้ทำหน้าที่เป็นเครืองมือในการหารายได้เท่านั้น มาตรการภาษีเป็นมาตรการกระจายรายได้ที่เลวที่สุด ขณะเดียวกัน การเพิ่มภาษีในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อประชาชนสองประการ คือ เป็นการเพิ่มภาระ ดึงเงินออกจากกระเป๋าของประชาชน และส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ประชาชนหดหู่

ผอ.อุทยานยื่นบิ๊กตู่-แฉวิ่งเต้นซี 10

     วันที่ 13 มี.ค. นายสมัคร ดอนนาปี ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์จดหมายเปิดผนึก ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กระทรวงกำลังพิจารณาแต่งตั้งรองอธิบดีถึง 10 ตำแหน่ง โดยเฉพาะ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งมีถึง 5 ตำแหน่ง และผู้สมัครส่วนใหญ่มีพฤติการณ์ทุจริต วิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง มีคุณสมบัติสมัครรองอธิบดีได้ และยังใช้วิธีเดิมวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งในสังคมกรมป่าไม้ อุทยานฯ ทช. ไม่มีใครไม่รู้เรื่องทุจริตฝายแม้ว ไม่มีใครไม่รู้เรื่องปลอมแปลงใบเสร็จรับเงินจากต่างประเทศไปเบิกเงิน งบประมาณ จึงขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งให้กระทรวงทส. ขอผลสอบจากป.ป.ช.ที่สอบสวนเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว เท่าที่ทราบมีข้าราชการหลายร้อยคนยอมรับสารภาพว่ามีการทุจริตฝายแม้วจริง เพื่อจะได้ถูกกันเป็นพยาน

      นายสมัคร ระบุว่า การทุจริตที่ผ่านมา มีการช่วยเหลือในขั้นตอนการสอบสวนกันจริง เช่น ข้าราชการกรมอุทยานฯ รายหนึ่ง ตนได้รายงานพฤติการณ์ทุจริตงบประมาณตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันยังเอาผิดไม่ได้ ทั้งที่นำเรื่องเข้าอ.ก.พ.กรมอุทยานฯ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2555 ถึงปัจจุบัน 2 ปี 4 เดือน 7 วันเรื่องยังคงเงียบหาย กรณีนี้เคยมีคำสั่ง คสช.ชัดเจนให้รายงานและดำเนินการให้เสร็จใน 30 วัน ถ้านับจากคำสั่ง คสช.ก็ยังถือว่านานเกินสมควร 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงทส. เปิดให้ข้าราชการสมัครเข้ารับการสรรหาตำแหน่งรองอธิบดีกรมต่างๆ ที่ว่างลงถึง 10 ตำแหน่ง ตั้งแต่กลางเดือนม.ค. มีผู้มาสมัคร 287 คน ท่ามกลางข่าววิ่งเต้นกับฝ่ายการเมือง เพื่อขึ้นเป็นรองอธิบดี โดยตำแหน่งที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ 2 ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมป่าไม้ 1 ตำแหน่ง และรองอธิบดี ทช. 2 ตำแหน่ง ซึ่งทุกตำแหน่งสอบสัมภาษณ์ตั้งแต่วันที่ 22-23 ม.ค. แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศผลคัดเลือกออกมา

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายสมัคร เป็น 1 ในผู้สมัครตำแหน่งรองอธิบดีกรมอุทยานฯ มีบทบาทเรื่องการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีทุจริตในกระทรวงทส. เช่น การตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินบริเวณหาดฟรีดอมทับที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต การดำเนินโครงการทวงคืนผืนป่าโดยใช้มาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานฯ ในพื้นที่อุทยานฯสิรินาถ จ.ภูเก็ต ซึ่งนายสมัคร ออกมาตอบโต้กับกรมที่ดินหลายครั้ง จนผู้บริหารกระทรวงทส. มีคำสั่งห้ามข้าราชการให้สัมภาษณ์ ยกเว้นระดับอธิบดีขึ้นไปเท่านั้น

เผย'นพ.ณรงค์'นั่งกุนซือด้านวิจัย

      วันที่ 13 มี.ค. พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผบช.ภ.1 มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค 1 ที่ 68/2558 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ ระบุ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีข้าราชการจำนวนมากชุมนุมเคลื่อนไหวให้กำลังใจและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดสธ. เมื่อวันที่ 12 มี.ค. พื้นที่รับผิดชอบของพ.ต.อ.พุฒิพัฒน์ วรรธน์จิรัฐ ผกก.สส.ภ.จว.นนทบุรี ปรากฏว่า กก.สส.ภ.จว.นนทบุรี ไม่มีข้อมูล ไม่ตรวจสอบ แสดงถึงการไม่มีความรับผิดชอบและไม่ใส่ใจในการปฏิบัติหน้าที่ จึงอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ให้พ.ต.อ.พุฒิพัฒน์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 1 โดยขาดจากตำแหน่งเดิม และมีคำสั่งตำรวจภูธรภาค 1 ที่ 69/2558 ให้ พ.ต.ท.พิเชียรยศ อรุณพันธ์กุล รองผกก.สส.ภ.จว.สระบุรี รักษาการแทนในตำแหน่ง ผกก.สส.ภ.จว.นนทบุรี

     พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และกรรมการประชาคมสาธารณสุข เผยว่า วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัยแห่งประเทศไทย มาร่วมให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ ก่อนถูกล็อกตัวที่สนามบินไปที่กอ.รมน. สั่งให้รายงานตัวทุกชั่วโมงห้ามหลบหนี ถือเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ตนก็ถูกตามทั่ว จ.สุรินทร์ 

     นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพ กล่าวถึงคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามความเคลื่อนไหวข้าราชการ บุคลากร ลูกจ้างสธ. ไม่ให้ออกมาชุมนุมจัดกิจกรรมว่า เป็น คำสั่งที่ค่อนข้างตลก ยืนยันช่วงนี้จะเป็นการอารยขัดขืนโดยสงบ เช่น สวมชุดดำ ขึ้นป้ายหน้าโรงพยาบาลไปจนกว่าจะได้ปลัดฯคืนมา 

     ส่วนบรรยากาศในแวดวงสาธารณสุข ยังมีการแสดงความคิดเห็นคัดค้านคำสั่งย้าย อาทิ บุคลากรโรงพยาบาลพิจิตร ใส่เสื้อดำมาปฏิบัติงาน โรงพยาบาลนาหม่อมขึ้นป้ายไม่เห็นด้วยกับการโยกย้าย ขณะที่ นพ.ปพน ดีไชยเศรษฐ ผอ.โรงพยาบาลนาหม่อม จ.สงขลา นพ.เทพณรงค์ จารุพานิช นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช โรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งย้ายปลัดสธ. 

     จ.พะเยา นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัยแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งโยกย้าย พร้อมระบุ คณะทำงาน 4 ภาค 12 เขต กำลังประสานงานเพื่อยื่นหนังสือภายในวันที่ 18-19 มี.ค. ให้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ 2.นายรัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ 3.นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. 

     ที่สนามบินนานาชาติจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลชุมชนของจังหวัด 50 คน ถือป้ายให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ ที่มาร่วมงานพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในกลไกการอภิบาลระบบในสาธารณสุข ที่โรงแรมอุบลบุรีรีสอร์ท งานนี้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่ออบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับหัวหน้าหน่วย 20 จังหวัดภาคอีสานประมาณ 100 คน เดิม นพ.ณรงค์จะเป็นประธานเปิดงานและร่วมบรรยาย แต่เมื่อถูกย้าย จึงให้ นพ.วัชระ เพ็งจันทร์ รองปลัด เป็นประธานเปิดงาน และนพ.ณรงค์เข้าร่วมบรรยายหัวข้อ ธรรมาภิบาลในกลไกการอภิบาลระบบในสาธารณสุข 

     นพ.ณรงค์บรรยายว่า วันนี้อยากให้มีการรวมตัวของวิชาชีพเพื่อวางกติการ่วมกันไม่ได้มาปลุกระดมอะไร เพียงแต่อยากให้คนสาธารณสุขตื่นอย่างเต็มระบบว่าจะเป็นหัวขบวนของระบบราชการ เป็นเสาหลักของประเทศ ถ้าจะปลุกระดมก็จะปลุกให้ข้าราชการออกมาช่วยกันวางระบบให้เปิดเผย โปร่งใส ผู้บริหารต้องมีจุดยืนให้ชัดเจนและเดินตามนั้น เชื่อว่าฟ้ามีตา การปฏิรูประบบการเงินการคลังต้องเดินต่อแต่ต้องไม่กระทบรัฐบาล ขณะที่เรื่องภายในสธ.ต้องได้รับการแก้ไข 

      นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขอตัวนพ.ณรงค์ ช่วยราชการสำนักนายกฯ ว่า เบื้องต้นมอบหมายให้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ตนดูแลอยู่ เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์เป็นการขอตัวมาแขวนไว้หรือไม่ นายสุวพันธุ์ ปฏิเสธพร้อมเดินเลี่ยงกลับเข้าห้องทำงานทันที

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของทางชมรมแพทย์ชนบท ยังคงมีความเคลื่อนไหวโจมตี นพ.ณรงค์และกลุ่มที่สนับสนุนปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงที่ปรึกษารมว.สาธารณสุขที่ลาออกไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

กรีด'มะกัน'ตัดเสื้อให้โลกใส่ วาทะบิ๊กตู่ โวยสหรัฐเบรกเข้าประเทศ ฮิวแมนฯจี้'อาเบะ-ยูเอ็น' กดดันประยุทธ์คืน'ปชต.' ปชป.-พท.ค้านโอเพ่นลิสต์ 

มติชนออนไลน์ :  เวทีญี่ปุ่น -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนได เมื่อวันที่ 13 มีนาคม

     'บิ๊กตู่'เปิดประชุมเวทีมหาวิทยาลัยดัง ฝากบอกมะกัน'อย่าตัดเสื้อไซซ์เดียวให้คนทั้งโลกใส่'ชี้แต่ละประเทศมีปัญหาต่างกัน

'บิ๊กตู่'เปิดประชุม'วอร์ตัน'

    เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มีนาคม ที่โรงแรมแชงกรี-ลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมระดับโลกวอร์ตัน ครั้งที่ 47 ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม โดยมีคณาจารย์และนักวิชาการจากวอร์ตัน สคูล เหล่าศิษย์เก่า รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค รวมทั้งนักวิชาการชั้นนำของโลก เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ "เอเชียในยุคที่โลกไร้พรมแดน" 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ยืนยันวันนี้ประเทศไทยยังเปิดยังไม่ได้ปิดอะไรเลย คนไทยต้องช่วยกันเที่ยวเมืองไทย ไปเที่ยวเมืองนอกอย่างเดียวไม่ได้ คนต่างชาติหลายคนบอกชอบประเทศไทย และเห็นว่าวันนี้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย อยากขอให้คนไทยเป็นเจ้าภาพที่ดีด้วย ขณะเดียวกันต้องไม่ทิ้งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย วันนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ แต่มีช่วงที่นักท่องเที่ยวลงไปบ้างในช่วงที่มีการชุมนุม หรือช่วงประชาธิปไตยเต็มใบ ยืนยันรัฐไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือปิดกั้นใครอยู่แล้ว 

อัดมะกันอย่าตัดเสื้อให้คนทั้งโลก 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ขอทุกประเทศอย่ามาโกรธประเทศไทยเพราะผม วันนี้อะไรที่ติดขัดก็จะเคลียร์ให้หมด ขอให้ไปบอกประเทศท่านด้วย หากมีปัญหาอะไรบอกผม จะเคลียร์ให้ได้ เพราะไปประชุมจับมือกัน ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องพูดกันให้ได้เพราะเราเป็นเพื่อนกัน ไม่เช่นนั้นประเทศเล็กก็จะยอมเขาไปเสียหมด เราต้องมองโลกในภาพรวมด้วย ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุด เนื่องจากเรายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้เราเดินหน้าทุกอย่างอย่างมั่นคง แต่ต้องไม่ล้มละลาย

    ในฐานะที่เป็นมนุษยชาติร่วมกันทั้งโลก ท่านคิดตรงนี้ให้เราด้วย โดยเฉพาะตะวันออก ตะวันตกที่มีความแตกต่าง ฝากท่านไปบอกสหรัฐด้วยว่าการตัดเสื้อไม่ตัดตัวเดียวเพราะใส่ทุกคนไม่ได้ มันต้องใส่หลายขนาด ตัดหลายขนาด ถึงต้องมีช่างตัดเสื้อ ไม่อย่างนั้นก็ตัดเสื้อโหลมาใส่ ฉะนั้น อย่าตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลก มันทำไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศมีปัญหาคนละอย่างกัน แต่ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ ของประเทศตะวันตกและทุกประเทศก็จะทำให้คนทั้งโลกดีขึ้น"

ครวญสหรัฐไม่ให้เข้าประเทศ

   "วันนี้ผมจะไปพูดคุยกับญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เราจะมีความร่วมมือในหลายมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมทั้งในและนอกอาเซียน มีอาเซียนบวกสาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียนบวกหก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ผมเดินตลาดพวกนี้ได้ทั้งหมด ใครไม่ให้ไป ผมก็ให้รองนายกฯไป ผมขึ้นมายืนบนนี้ไม่ใช่ผมไม่เสี่ยง ไม่เสียหาย แทนที่ผมจะได้พักผ่อนก็ไม่ได้พัก ไปไหนก็ไปไม่ได้ สหรัฐยังไม่ให้ผมไปเลย แต่ผมให้สหรัฐมาหมด เพราะเราเป็นมิตรกันมายาวนานกว่า 200 ปี" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองจากทั่วโลกว่าจะล้มเหลวหรือดีขึ้น แต่คิดว่าต้องดีขึ้น ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น เพราะมีความหลากหลาย วันนี้ต้องอยู่กับปัจจุบัน เตรียมอนาคต เพราะทุกอย่างจะเกิดขึ้นในรัฐบาลหน้าทั้งสิ้น ก็ต้องเลือกกันมาให้ดีๆ 

     "วันนี้ ผมยังถูกต่อว่าอยู่เลย หาว่าประเทศไทยเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของการปกครองในโลก ผมไม่เข้าใจ ทุกประเทศกำลังจับตามองเราอยู่ว่าประเทศไทยจะไปอย่างไร และแปลกใจว่าทำไมคนไทยไม่มีปัญหา มองว่าคนไทยอีกส่วนหนึ่งยังไม่อยากไปเป็นประชาธิปไตย เราบอกเขาว่าประเทศไทยไม่เหมือนคนอื่น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เผยสอบประวัติศาสตร์ได้ที่1

    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เราต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ประชาชนเข้าใจ ต้องปรับการประชาสัมพันธ์ พูดส่งเสริมในเรื่องที่ดี ผมก็ต้องระวังเรื่องการพูดด้วย เพราะพูดอะไรออกไปอาจมีคนนำไปจับประเด็นจนทำให้เข้าใจผิดได้ ขอให้ทำความเข้าใจกับต่างชาติ แต่เรื่องการเมืองก็อย่าพูดถ้าเขาไม่ถาม 

     วันนี้พูดอะไรก็ระวังพวกนักข่าวข้างหลังด้วย วันก่อนที่ผมพูดเรื่องประวัติศาสตร์ประเทศไทยว่ามีถิ่นฐานมาจากไหนตอนตอบคำถามนักข่าว ทำไมผมจะไม่รู้ บางครั้งผมก็พูดเล่น แต่เอาไปตีความไปจับประเด็นจนทำให้เข้าใจผิด หาว่าผมไม่รู้ประวัติศาสตร์ ทำไมผมจะไม่รู้ ผมสอบประวัติศาสตรได้ที่ 1 วันหลังผมจะพูดให้น้อยลง นักข่าวข้างหลังจะได้ตกงานกันหมด"

ย้ำรบ.ต้องสร้างความแตกต่าง

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอต่างชาติช่วยเพิ่มราคาสินค้าเกษตร เพราะทั้งประเทศไทยและอาเซียนกำลังประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงต้องขอกันดื้อๆ เพราะการไปเจรจากับประเทศต่างๆ หลายครั้ง ยังไม่สำเร็จ เกษตรกรถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ถ้าไม่สนับสนุนก็จะออกนอกระบบกันทั้งหมด จะเกิดปัญหาในภายหลัง วันนี้ต้องสร้างความแตกต่าง เช่นเดียวกับรัฐบาลถ้าไม่แตกต่างก็อยู่ไม่ได้ เพราะจะไม่ได้รับความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ วันนี้ตามกำหนดการต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เลื่อนไป เพื่อมาร่วมกันสร้างโอกาสในการค้าการลงทุน ขอถือโอกาสเชิญชวนชาวต่างชาติมาร่วมชมและซื้อข้าวที่ตลาดข้าวคุณภาพข้างทำเนียบรัฐบาล และฝากให้แจกข้าวและหม้อหุงข้าวเล็กๆ เป็นของที่ระลึก เพื่อจะดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาซื้อข้าวไทยต่อไปด้วย

    "เป็นทหารมา 38 ปี ซึ่งปีสุดท้ายจะเกียษณอายุ ดันจับพลัดจับพลู ขาหัก หกล้ม มาเป็นนายกฯ ไม่ได้คิดและไม่อยากเป็น อยากให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน การปกครองแบบใด เราเป็นคนที่อยู่ในโลกใบเดียวกัน โลกที่เป็นโลกแห่งความสุข คาดหวังแบบนั้นในวันหน้า เดี๋ยวผมก็ไปแล้ว ฉะนั้น ช่วยกันดูแลเรื่องเหล่านี้ เด็ก ผู้หญิง คนชรา คนด้อยโอกาส คนพิการ อย่าไปเอาเปรียบต้องดูแลเขา" นายกฯกล่าว

สหรัฐยันไม่ห้ามจนท.ไทยเข้าปท.

    ด้าน น.ส.เมลิสา สวีนนีย์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ชี้แจงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าไม่สามารถเดินทางไปสหรัฐได้ ว่าทางสหรัฐไม่ได้มีประกาศห้ามการเดินทางของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น โดยใบขอประทับตราวีซ่า เพื่อเดินทางเข้าสหรัฐทุกใบจะได้รับการพิจารณาเป็นรายๆ ไป เป็นไปตามที่กฎหมายของสหรัฐกำหนดไว้

    ทั้งนี้ น.ส.สวีนนีย์ไม่ได้ให้ความเห็นต่อคำพูดของนายกฯที่ติงว่า สหรัฐไม่ควรตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลกใส่แต่อย่างใด

     อนึ่ง วอร์ตัน สคูลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา (หรือที่รู้จักกันในชื่อวอร์ตัน สคูล หรือวิทยาลัยธุรกิจวอร์ตัน หรือสั้นๆ แค่วอร์ตัน) เป็นวิทยาลัยธุรกิจของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย หนึ่งในมหาวิทยาลัยกลุ่ม "ไอวีลีก" ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน 8 แห่ง ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2424 จากการบริจาคเงินของมหาเศรษฐีโจเซฟ วอร์ตัน และถือเป็นวิทยาลัยธุรกิจแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา 

'บิ๊กตู่'บินญี่ปุ่นถก'อาเบะ-ยูเอ็น'

     ต่อมาเวลา 11.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (the Third United Nations World Conference on Disaster Risk Reduction-3WCDPR) ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม โดยนายกฯจะเดินทางถึงท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว เวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันที่ 14 มีนาคม นายกฯและคณะเดินทางออกจากกรุงโตเกียวไปยังเมืองเซนไดโดยรถไฟความเร็วสูง เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นนายกฯหารือทวิภาคีกับนายชินโสะ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ที่เซนได อินเตอร์เนชั่นแนล เซ็นเตอร์ ก่อนเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันผู้นำที่เข้าร่วมประชุม ส่วนช่วงบ่ายนายกฯจะกล่าวถ้อยแถลงและร่วมหารือทวิภาคีกับนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ นายกฯและคณะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินพิเศษของกองทัพอากาศ ถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) เวลา 23.50 น.

ฮิวแมนไรต์สจี้ยุ่น-ยูเอ็นกดดัน'บิ๊กตู่'

     วันเดียวกัน องค์การสิทธิมนุษยชน หรือฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายชินโสะ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น และนายบัน คีมุน เลขาฯยูเอ็น กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยุติการจับกุมที่มีแรงจูงใจทางการเมืองและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และให้เร่งเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว ในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติระดับโลก 

   "นายกฯอาเบะและเลขาฯยูเอ็นควรกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ให้ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูการปกครองระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม" นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์ส วอตช์ภูมิภาคเอเชียกล่าว และว่า ญี่ปุ่นและยูเอ็นควรจะยื่นคำขาดถึงกำหนดเส้นตายที่ชัดเจนในการยุติการปกครองของรัฐบาลทหารในไทย

     แถลงการณ์ยังระบุว่า ในการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายอาเบะควรนำวิสัยทัศน์ที่ประกาศเมื่อปี 2556 เรื่อง "การทูตบนหลักการพื้นฐานคุณค่าของเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นและหลักนิติธรรม" มาใช้กับไทย นายอาเบะควรเปลี่ยนแปลงนโยบายการทูตที่ "ปิดปากเงียบ" ในเรื่องสิทธิมนุษยชนตามแบบแผนของญี่ปุ่น มาสู่นโยบายการมีส่วนร่วมกับสาธารณะและวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น และติดตามผลเพื่อให้แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำตามคำมั่นสัญญาได้จริง ความสัมพันธ์ทางการทูต การเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมที่ใกล้ชิด ทำให้ญี่ปุ่นสามารถที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องสิทธิมนุษยชนกับไทยได้มากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลทหารไทยจะให้สัญญาว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน แต่พวกเขากลับยึดกุมอำนาจอย่างเข้มข้นขึ้น แรงกดดันจากญี่ปุ่นและยูเอ็นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการยกเลิกกฎอัยการศึก ยุติการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองโดยสันติ จะเป็นย่างก้าวสำคัญในการกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยในไทย 

'บวรศักดิ์'ให้เปิดเทปแจงรธน.ในรพ.

     ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม โดยพิจารณาทบทวนร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์เป็นวันที่ 5 ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ในหมวด 3 รัฐสภา 

    ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ขอความร่วมมือ กมธ.ยกร่างฯที่เคยไปออกรายการทีวีชี้แจงเกี่ยวกับการยกร่างฯ ให้ประสานไปยังรายการนั้นเพื่อนำเทปรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้วมาเผยแพร่ต่อประชาชนอีกครั้งตามสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ศาลปกครอง เพื่อกระจายข่าวสารให้เข้าถึงประชาชนโดยตรงและเป็นการป้องกันการฟังความจากฝ่ายการเมืองเพียงข้างเดียวด้วย รวมทั้งขอความร่วมมือนายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างฯ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านท้องถิ่น และ น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา กมธ.ยกร่างฯที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านสังคม ร่วมออกรายการทีวีเพื่อชี้แจงประเด็นต่างๆ ด้วย 

ยันปชช.หนุนร่าง'รธน.'ใหม่

     นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ยืนยันว่า ที่สมาชิก กมธ.ยกร่างฯไม่เข้าร่วมประชุมนั้น ไม่ทำให้องค์ประชุมไม่ครบตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอ สาเหตุที่ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากติดภารกิจต้องไปประชุมอนุ กมธ.ยกร่างฯตามคณะต่างๆ บางคนต้องไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ต่างจังหวัดด้วย ขณะเดียวกันมีการรายงานถึงผลการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับประชาชนด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่รับทราบสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสัปดาห์หน้า ทาง กมธ.ยกร่างฯกำหนดประชุมวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 09.00-12.00 น.

    ส่วนวันอังคาร วันพุธ และวันศุกร์ จะเริ่มประชุมเวลา 13.00 น.

กมธ.ยกร่างฯทบทวน 146 มาตรา

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนบทบัญญัติเป็นรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ เริ่มพิจารณาในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ในส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่วนที่ 3 วุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนที่ 4 บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง และส่วนที่ 5 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตั้งแต่มาตรา 118 จนถึงมาตรา 146 รวม 19 มาตรา ประเด็นสำคัญที่สมาชิก กมธ.ยกร่างฯแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง คือ มาตรา 121 ที่กำหนดให้ ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม จากบุคคลที่มีความหลากหลายทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้ ส.ว.ที่มีมาซ้ำซ้อนกับ ส.ส. และเป็นการสร้างความสมดุลให้คนที่มีความหลากหลายสามารถเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว.ด้วย เป็นสภาพหุนิยม 

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี กมธ.ยกร่างฯบางคนเสนอให้ปรับหลักการโดยกำหนดให้ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งด้วย เพื่อเป็นการยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดคุณสมบัติในบางประเด็นเช่น (2) เคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน (3) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพและ (4) ผู้มาจากการเลือกกันเองขององค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชนด้านท้องถิ่น อาจมีการล็อกตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ได้ 

     กรณีดังกล่าวที่ประชุมเห็นว่าขณะนี้อยู่ในกระบวนการทบทวนรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ หากปรับหลักการอาจต้องใช้เวลาอภิปรายพอสมควร จึงเสนอให้ใช้ช่วงเวลา 60 วันหลังได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากส่วนต่างๆ มาก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาทบทวนหลักการต่างๆ จะเหมาะสมมากกว่า ทั้งนี้ตลอดทั้ง 5 วันของการพิจารณาทบทวนรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ ทาง กมธ.ยกร่างฯพิจารณาไปแล้ว 146 มาตรา จาก 315 มาตรา

'บวรศักดิ์'สั่งแจง'บิ๊กตู่'17 ประเด็น

     นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการทำคำชี้แจงต่อข้อซักถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. จำนวน 17 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เบื้องต้นจะให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปจัดทำร่างคำชี้แจง และให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในบางประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการเมืองและไม่ได้มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น จำเป็นที่ต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนระยะเวลาที่จะตอบกลับนั้นยังไม่ได้กำหนด

'ชูศักดิ์'ชี้ 6 ข้อจุดอ่อนโอเพ่นลิสต์

    ส่วนกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้จัดรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์หรือ "โอเพ่นลิสต์" ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ที่ระบุว่า "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดได้คะแนนเป็นสัดส่วนที่ทำให้ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการจัดสรรให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นเป็นจำนวนตามสัดส่วนนั้น และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อตามบัญชีรายชื่อที่ได้มีการเรียงลำดับแล้วของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้น"

    นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคนั้น ให้ผู้มีสิทธิเลือกบัญชีพรรคได้บัญชีเดียว และอาจระบุหมายเลขผู้สมัครในบัญชีรายชื่อที่ประสงค์จะให้เป็น ส.ส.ได้หนึ่งคนด้วย ปัญหาคือ 1.เป็นการไม่เคารพการจัดสรรบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมือง เพราะการเลือกแบบบัญชีรายชื่อเป็นการเลือกพรรค ไม่ใช่เลือกตัวบุคคล เมื่อพรรคจัดทำบัญชีรายชื่อแล้วก็ควรเลือกจากบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่เลือกเป็นรายบุคคลในบัญชีนั้นอีก 

แนะใช้บัญชีเดียวเหมือนเดิม

    นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 2.เกิดความยุ่งยากในการจัดทำบัญชีเลือกตั้ง ประชาชนจะเลือกหรือไม่ก็ได้ ประชาชนจะเกิดความสับสน นอกจากนั้นผู้สมัครในบัญชีจะต้องหาเสียงเกิดความแตกแยก 3.เกิดความยุ่งยากในการคำนวณคะแนนเสียงเพราะนอกจากจะต้องจัดสรรที่นั่งให้พรรคการเมืองตามสัดส่วนในแต่ละภาคแล้ว ยังต้องมาจัดลำดับบุคคลที่จะได้รับเลือกตั้งอีก และเมื่อไม่บังคับให้เลือกบุคคล จะมีประโยชน์อะไรในการจัดลำดับ

    นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 4.ไม่สอดคล้องกับเหตุผลที่ต้องการให้ผู้สมัครเลือกพรรคการเมืองและไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง 5.เมื่อแต่ละบัญชีมีผู้สมัครถึง 30 กว่าคน แล้วเหตุใดจึงให้เลือกผู้สมัครได้คนเดียว ถ้าต้องการให้ประชาชนจัดลำดับก็ควรจัดทั้ง 30 คน คงใช้เวลาอยู่ในคูหาไม่ต่ำกว่า 10 นาที ซึ่งจะยุ่งยากมากขึ้นและปฏิบัติยาก และ 6.ในที่สุดประชาชนก็จัดลำดับตามจังหวัดหรือพื้นที่ที่ตนรู้จักมากที่สุด ภาคไหน จังหวัดไหนมีประชาชนมากกว่าก็ได้ลำดับต้นๆ กลายเป็นภูมิภาคนิยม จังหวัดนิยม ดังนั้นระบบบัญชีรายชื่อเป็นการให้ประชาชนเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรค ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล จึงควรมีบัญชีเดียวทั่วประเทศเหมือนที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นการเหมาะสมและสะดวกต่อการจัดการเลือกตั้ง

'ปชป.'ติง'โอเพ่นลิสต์'มีปัญหา

     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเจตนารมณ์ในมาตรา 105 ให้การเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นแบบโอเพ่นลิสต์ว่า ได้คุยเรื่องนี้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. มีความเห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วย อยากฝากถึง กมธ.ยกร่างฯและ คสช. ว่าถ้าใช้ระบบนี้ จะทำให้ทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่มีปัญหา เกิดความขัดแย้งและไม่มีความเป็นเอกภาพ เช่น กรณีภาคใต้ สมมุติว่าใน จ.พัทลุง ประชาชนจะเลือกคนในพื้นที่ เป็นไปไม่ได้ที่คนใน จ.นครศรีธรรมราช จะมาเลือกให้คนใน จ.พัทลุง ปัญหาที่จะเห็นชัดคือ จะมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่สำคัญในการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งจะทำให้คนในพรรคการเมืองขัดกันเอง เพราะประชาชนจะต้องการให้ผู้สมัครเพียงคนเดียว โดยเฉพาะจังหวัดที่มีประชากรน้อยกว่า เช่น จ.พังงา และ จ.ระนอง คะแนนเขาจะสู้กับจังหวัดใหญ่ๆ อย่างนครศรีธรรมราชหรือสงขลาไม่ได้เลย

     "เรื่องนี้ ค่อนข้างซับซ้อนและจะเป็นปัญหาให้ระบบการเมือง เราจะไม่มีคนดีๆ หรือนักการเมืองใหม่ๆ เข้ามา เพราะประชาชนเขาจะเลือกคนในพื้นที่ที่เขาคุ้นเคยเท่านั้น คนหน้าใหม่ๆ จะเอาฐานคะแนนเสียงมาจากไหน กมธ.ยกร่างฯหลายคนออกมาบอกว่าถ้ามีปัญหาก็อย่าลงเลือกตั้ง ถ้าพรรคการเมืองใหญ่ๆ เขาไม่เอาด้วย แล้วไม่ลงเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ อะไรจะเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าทำเป็นเรื่องเล่นๆ เราฟังท่านมาหลายเรื่องแล้วก็ยอมรับได้บ้าง แต่เรื่องนี้ผมอยากบอกว่ามีปัญหาแน่นอน หาก กมธ.ยกร่างฯและ คสช.จะเดินหน้าสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ต้องทบทวนเรื่องนี้ให้ดี" นายนิพิฏฐ์กล่าว

พท.คาดพ้นบ่วงเหมือนอดีต 38 ส.ว.

     นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. 250 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า เท่าที่พูดคุยกับอดีต ส.ส.ทุกคนพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เมื่อ สนช.ลงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ในเรื่องเดียวกัน ก็รู้สึกเบาใจ เพราะ สนช.น่าจะใช้บรรทัดฐานเดียวกันในการไม่ถอดถอนอดีต 250 ส.ส. เพราะข้อกล่าวหาเหมือนกัน สังเกตได้จากที่มี สนช.บางคนพูดชัดเจนว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ที่สำคัญเพื่อให้เกิดความปรองดองในบ้านเมืองซึ่งถือเป็นหลักสำคัญ

   นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. กล่าวว่า จะส่งตัวแทนแต่ละภาคเข้าชี้แจง สนช. เช่น ภาคเหนือ นายสามารถ แก้วมีชัย ภาคกลาง นายวิทยา บุรณศิริ อดีต ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ภาคอีสาน นายไชยา พรหมา อดีต ส.ส.หนองบัวลำภู แต่ต้องรอหารือกับนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท. สำหรับแนวทางการต่อสู้ คือยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ตามมาตรา 291 และศาลรัฐธรรมนูญก็เคยให้คำแนะนำไว้ว่าให้แก้ไขเป็นรายมาตรา มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจาก สนช. ผลการลงมติไม่น่าจะแตกต่างจากกรณีของอดีต 38 ส.ว. เพราะถูกกล่าวหาประเด็นเดียวกัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!