WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8875 ข่าวสดรายวัน

คสช.ปฏิเสธกักตัว ทนายบุก ทวง-พยาน 6 ศพ ฮิวแมนไรต์ฯก็จี้ตามหา ปล่อย 4 พลเมืองโต้กลับ ศาลทหารไม่รับฝากขัง บิ๊กตู่ขู่รธน.ล่ม-ร่างใหม่


ปล่อยตัว - ศาลทหารสั่งปล่อยตัวนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ 4 ผู้ต้องหากลุ่มพลเมืองโต้กลับ หลังไม่รับคำร้องขอฝากขังของอัยการ ในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.

       โต้วุ่นทหารบุกนำตัว'น้องแหวน' พยาบาลอาสาคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ ไปกัก 'วินธัย'โบ้ยไม่เกี่ยวกับคสช. ยืนยันไม่มีปฏิบัติการนอกกฎหมาย ระบุอาจถูกกลุ่มบุคคลแอบอ้างเป็นทหารดำเนินการเพื่อให้สังคมเข้าใจผิด ขณะที่ 'ไก่อู'เผยรัฐบาลรับทราบกรณีดังกล่าวแล้ว พร้อมสั่งการให้ตรวจสอบว่าใครเป็นคนพาไปไหนที่ใด ปัด ไม่เกี่ยวข้องด้วย ด้านฮิวแมนไรต์วอตช์ ประเทศไทย จี้ผู้มีอำนาจสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา อย่าแค่ออกมาปฏิเสธ เตือนระวังถูกมองว่าคุกคามพยานเหมือนกรณีเรียกพยานในคดีเดียวกันไปรายงานตัวตอนปฏิวิติใหม่ๆ ทนายยันบุกคสช.ขอคำอธิบาย พท.ท้าทำประชามติ เชื่อรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนแน่ ระบุประเด็นนายกฯ คนนอกท้าทายม็อบพฤษภาทมิฬ บิ๊กตู่ลั่นทำประชามติหรือไม่อยู่ที่ตน ชี้ถ้าร่างรธน.ไม่ผ่านก็ล้มไปแล้วร่างใหม่

ต๊อดโต้เปล่าคุมตัว'น้องแหวน'
       เวลา 11.00 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่บก.ทบ. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงกรณีมีการแชร์ข้อความในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กว่า น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสาผู้เป็นพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ถูกทหารนำตัวไปจากบ้านพัก ตั้งแต่ 11 มี.ค. ว่า จากการประสานข้อมูลกับหลายหน่วยในพื้นที่ ยังไม่พบว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารไปขอควบคุมตัว น.ส.ณัฏฐธิดา ตามที่เป็นข่าว
      "ปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการเชิญไปพูดคุย หรือขอเข้าควบคุมตัว จะให้เหตุผลและมีการแสดงตนชัดเจน เกรงว่าบางกรณีอาจมีผู้ไม่หวังดีไปแอบอ้างเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ขอให้มั่นใจว่าทุกภารกิจ การปฏิบัติใดๆ ของเจ้าหน้าที่จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายก็เท่าที่จำเป็นแบบมีเหตุมีผล โดยหลัก คงมีผลกระทบกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย หรือผู้มีส่วนสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น" พ.อ.วินธัยกล่าว
      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าว น.ส.ณัฏฐธิดาพยาบาลอาสาผู้เป็นพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ ถูกทหารนำตัวออกจากบ้านพักตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ว่า รัฐบาลได้รับรายงานถึงข่าวดังกล่าวแล้ว และรัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบว่าน.ส.ณัฏฐธิดา หายไปจริงหรือไม่ หรือไปที่ใด ใครเป็นคนพาไป ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้

ทนายจ่อบุกคสช.ทวงถามหา
     ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) กล่าวถึงกรณีทหารได้ควบคุม น.ส.ณัฏฐธิดาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ว่า จนถึงขณะนี้ตนและญาติน.ส.ณัฏฐธิดา ยังไม่ทราบว่าน.ส.ณัฏฐธิดาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด แม้จะประสานเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อขอทราบความชัดเจน ก็ยังไม่คืบหน้า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ในคสช.ชี้แจงกรณีดังกล่าว ดังนั้น ในวันที่ 17 มี.ค. ซึ่งจะครบกำหนด 7 วัน ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก หากยังไม่มีคนในคสช.มาชี้แจง ตนจะเข้าไปหาที่กองบัญชาการคสช. ในเวลาบ่ายโมง เพื่อขอให้ใครสักคนชี้แจงในเรื่องนี้ เนื่องจากทำให้ญาติวิตกถึงความปลอดภัยของน.ส.ณัฏฐธิดา อีกทั้งเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน และกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้อำนาจเกินขอบเขต เพราะยังไม่เห็นว่าน.ส.ณัฏฐธิดาได้กระทำการขัดคำสั่งคสช.ในเรื่องใด 
     เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวอาจกระทบกับการเป็นพยานคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ หรือไม่ นายวิญญัติกล่าวว่า แม้จะไม่มีอะไรมารับประกันว่าการควบคุมตัวครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่น.ส.ณัฏฐธิดาเป็นพยานโดยตรงหรือไม่ แต่เราและญาติมีสิทธิ์คิดได้ว่าการควบคุมตัวไป ย่อมส่งผลกระทบกับการเป็นพยาน เพราะเราไม่รู้ว่ามีเจตนาใดแอบแฝงหรือไม่

กังวลส่งผลคดีฟ้องมาร์ค-เทือก
     ต่อมานายวิญญัติ เปิดเผยว่า ถึงขณะนี้ทราบว่าน้องแหวน ยังไม่ได้รับปล่อยตัว และไม่ทราบว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปยังสถานที่แห่งใด รวมทั้งจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่านำตัวไปสอบสวนเรื่องอะไร อีกทั้งน้องแหวนไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ซึ่งตนในฐานะทนายความรู้สึกเป็นกังวลมากเนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญในเหตุการณ์ 6 ศพ วัดปทุมฯ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารควรชี้แจงว่านำตัวไปสอบสวนเรื่องอะไร แม้จะอ้างว่าควบคุมตัวได้ตามกฎอัยการศึก 7 วันก็ตาม แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน ควรแจ้งสิทธิให้กับญาติและทนายรับทราบ รวมทั้งจะต้องปฏิบัติอย่างถูกต้อง ญาติควรทราบว่าถูกนำตัวไปไว้ที่ใดและมีวัตถุประสงค์อะไร
     เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวจะมีผลกระทบกับคดีสำคัญอะไรบ้าง นายวิญญัติกล่าวว่า คงมีผลกระทบกับคดี โดยเฉพาะคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อปี 2553 หรือคดีที่ญาติของผู้เสียชีวิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง ซึ่งในเหตุการณ์ 6 ศพวัดปทุมฯ น้องแหวนถือเป็นประจักษ์พยานปากสำคัญเพราะเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ เห็นกระสุนปืนว่ามาจากทางฝั่งไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องขึ้นเบิกความต่อศาลและทำให้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงในคดีได้ ตนในฐานะทนายความถือว่ามีความวิตกกังวลอย่างมาก

ฮิวแมนไรต์ฯจี้ตรวจสอบทันที
      ด้านนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณีน.ส.ณัฏฐธิดาหายตัวไปว่า ฮิวแมนไรต์ฯยังคงติดตามหาข้อมูลอยู่ว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปจริงหรือไม่ แต่จุดยืนเดิมของฮิวแมนไรต์ฯ คือไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ไม่จำเป็นต้องมีหมายศาลระหว่างการบังคับใช้กฎอัยการศึก ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 เนื่องจากขัดต่อกติกาสิทธิมนุษยชนสากลระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ จึงขอเรียกร้องให้คสช. ยกเลิกมาตรการดังกล่าวทันที เบื้องต้นขอเรียกร้องให้คสช.ติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่แค่รับโทรศัพท์แล้วก็ปฏิเสธ 
      นายสุณัย กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ที่มีการรัฐประหารได้ไม่นาน คสช.เคยออกประกาศเรียก น.ส.ดวงใจ พวงแก้ว 1 ในพยานคดีสลายการชุมนุม 6 ศพ วัดปทุมฯ เข้าไปรายงานตัว การหายตัวไปของน้องแหวน ที่ให้การว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาควบคุมตัวไปอีกนั้น สะท้อนชัดเจนว่า กองทัพพยายามคุกคามพยานในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หรือกล่าวได้ว่าพยายามแทรกแซงกระบวน การยุติธรรม เนื่องจากมีผู้นำกองทัพหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยและพยายามหาทางไม่ยอมรับผิด ซึ่งเห็นได้จากการปฏิเสธต่อกรณีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารสลายการชุมนุมตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯขณะนั้นและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รอง นายกฯที่ดูแลควบคุมศอฉ.ในขณะนั้นเท่านั้น

พลเมืองโต้กลับทำบุญน้องเฌอ
     เมื่อเวลา 07.00 น. วันเดียวกัน ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรมพลเมืองรุกเดินเป็นวันที่ 3 เพื่อคัดค้านการนำพลเมืองขึ้นสู่ศาลทหาร นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ เหยื่อกระสุนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภาเลือด 2553 นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน นายสิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ คนขับรถแท็กซี่ ทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ลัก ที่ห้องศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้นิมนต์พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ พระนักคิดนักเขียน จากวัดสร้อยทอง พร้อมพระสงฆ์และสามเณรรวม 5 รูป มาที่ลานปรีดี เพื่อทำบุญใส่บาตร เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดของน้องเฌอ อายุ 22 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มี.ค. พอดี 
     พระมหาไพรวัลย์ กล่าวให้พรว่า การทำเพื่อประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน อยากให้กำลังใจกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่เชื่อในการทำสิ่งที่ถูกต้อง และขอให้ระลึกถึง 3 ติไว้เสมอทุกครั้งที่ทำกิจกรรม ได้แก่ สติ ขันติ และสันติ

แม่เกดเศร้า-ลูกตายพ่อถูกจับ
      เวลา 08.30 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้เดินเท้าออกจาก มธ. ข้ามท้องสนามหลวง เข้าสู่ถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และขึ้นเรือที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จากนั้นมาลงที่ท่าเรือประตูน้ำ และเดินผ่านห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มาที่วัดปทุมวนาราม โดยมีนางพะเยาว์ ฮัคฮาด แม่ของน.ส.กมนเกด ฮัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิต 1 ใน 6 ศพวัดปทุมฯ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค.2553 รอให้กำลังใจและมอบดอกกุหลาบสีแดงให้ จากนั้นทุกคนร่วมกันวางดอกไม้คารวะดวงวิญญาณ 6 ศพวัดปทุมฯ 
       นางพะเยาว์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของน้องเฌอที่ถูกยิงตาย แต่ทหารต้องการจับกุมพ่อน้องเฌออีก เป็นความเศร้าใจที่สังคมไทยไม่มีความยุติธรรม ตนในฐานะที่สูญเสียลูกเช่นกัน อยากให้กำลังใจพ่อน้องเฌอ และทุกคนที่เรียกร้องความยุติธรรม ขอให้ดวงวิญญาณ 6 ศพ วัดปทุมฯ ช่วยปกป้องพ่อน้องเฌอและพวกด้วย
     เวลา 09.00 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้เดินมาที่หน้าหอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพ มหานคร เพื่อยืนอย่างสงบนิ่งประมาณ 3 นาที เพื่อรำลึกว่าวันที่ 14 ก.พ. กลุ่มมาจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ลักที่สถานที่ดังกล่าว ก่อนถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีเตรียมขึ้นศาลทหารในเวลาต่อมา จากนั้นทั้งหมดเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ สน.ปทุมวัน เพื่อเข้ารายงานตัวตามนัด โดยบรรยากาศรอบๆ มีประชาชนประมาณ 20 คน มาให้กำลังใจด้วย
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำกิจกรรมของนายพันธ์ศักดิ์ในวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่ทหารคอยเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเส้นทาง

4 ผู้ต้องหารุดให้ปากคำเพิ่มเติม
     เมื่อเวลา 10.00 น. นายพันธ์ศักดิ์ นาย สิรวิชญ์ นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และนางพะเยาว์ เดินทางมาถึงที่ สน.ปทุมวัน เพื่อมาให้ปากคำเพิ่มเติมและมารายงานตัวตามกำหนด เพื่อเข้าศาลทหารภายในวันนี้ ส่วนนายอานนท์เดินทางมาก่อนหน้านี้แล้วเพื่อรอให้ปากคำเช่นกัน ทั้งนี้ นายสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
     นายพันธ์ศักดิ์ เผยว่า มาให้ปากคำเพิ่มเติมในชั้นพนักงานสอบสวน คาดว่าพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนให้กับอัยการศาลทหารและมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลทหารภายในวันเดียวกันนี้ ส่วนตัวมองว่า กระบวนการยุติธรรมมีความรวบรัดเกินไป หากเป็นคดีอื่น ต้องใช้เวลาและขั้นตอนมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ต่อสู้ในคดี จึงอยากให้ประชาชนไตร่ตรองว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นมีความยุติธรรมหรือไม่

'อานนท์'อ้าง 4 พยาน-ตร.ไม่ยอม
      ต่อมานายอานนท์ระหว่างการให้ปากคำได้โพสต์เฟซบุ๊กของตัวเองระบุว่า ความคืบหน้าที่สน.ปทุมวัน ผู้ต้องหากลุ่มพลเมืองโต้กลับ เข้าให้การและขอให้พนักงานสอบสวนเรียกพยานฝ่ายผู้ต้องหามาสอบสวน เป็นพยาน 4 คน คือ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอม ยืนยันว่าจะส่งอัยการศาลทหารวันนี้ เพราะสอบพยานฝ่ายทหารเสร็จแล้ว 
     "ผมเห็นว่าไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้แสดงพยานหลักฐาน และไม่ให้ผู้ต้องหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 131 แต่ไม่ปฏิบัติ การสอบพยานเฉพาะฝ่ายโจทก์ โดยไม่สอบฝ่ายผู้ต้องหาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้ผมกำลังดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนทั้งหมดในสำนวนนี้ว่ากระทำผิด มาตรา 157" นายอานนท์ระบุ
    ขณะเดียวกันนายอานนท์ได้แจ้งความกลับทางชุดพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ตามมาตรา 157 ฐานการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ 

ฝากขังศาลทหารอานนท์-เพื่อน
      เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน นำตัวนายพันธ์ศักดิ์ นายอานนท์ นายวรรณเกียรติ และนายสิริวิชญ์ในนามกลุ่มพลเมืองโต้กลับ มาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-27 มี.ค.2558 เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการจัดการชุมนุมเกินกว่า 5 คน และความผิดในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 
     เมื่อเวลา 15.00 น. ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักศึกษาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) นัดรวมตัวนักศึกษาหลายสถาบันกว่า 30 คน อาทิ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเปิดล่ารายชื่อส่งให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อคัดค้านการนำพลเรือน 4 คน ที่จัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (ลัก) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่หอศิลปฯกรุงเทพมหานคร ขึ้นศาลทหาร ซึ่งบรรยากาศมีกิจกรรมปราศัย เล่นดนตรี และอ่านบทกวี อีกทั้งยังทำป้ายผ้าข้อความว่า "พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหารด้วย"

โพสต์ลั่นไม่รับเงื่อนไขปล่อยตัว
      ต่อมาเวลา 16.30 น. น.ส.ภาวินี ชุ่มศรี ทนายความศูนย์สิทธิฯ กล่าวว่า อัยการศาลทหารจะฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 ต่อศาลทหาร ขณะนี้ทางทนายความเตรียมขอให้ไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ทั้งนี้หากศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังและไม่ให้ประกันตัว ผู้ต้องหาทั้ง 4 จะถูกนำตัวเข้าเรือนจำต่อไป แต่หากศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสี่คนจะถูกปล่อยตัวที่เรือนจำในคืนเดียวกันนี้
     ขณะเดียวกัน มีรถตู้ควบคุมผู้ต้องหาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมเจ้าหน้าที่มารอรับผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ท่ามกลางนักข่าวที่ติดตามรอทำข่าวจำนวนมาก
     ต่อมาเวลา 16.47 น. ทนายอานนท์โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า"อัยการทหารกำลังจะฝากขังผมกับเพื่อนอีกสามคนต่อศาลทหาร ผมจะนำเงินที่เพื่อนๆโอนมาจำนวน 500,000 บาท วางประกันต่อศาล เพื่อออกมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมและทำหน้าที่ทนาย ความ ยืนยันว่าพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร แต่หากศาลทหารจะออกข้อกำหนดใดๆ อันเป็นการจำกัดเสรีภาพของผม ผมจะไม่ขอรับเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ศาลทหารต้องปล่อยพลเรือนโดยไม่มีเงื่อนไข และหากศาลทหารจะจำขังผม ก็ขอให้ทหารทั้งหมดทั้งสิ้นรับรู้ไว้ว่า ทุกวินาทีที่ผมถูกจำขังในเรือนจำ นี่เป็นการต่อต้านอำนาจศาลทหารอย่างสันติ เพื่อยืนยันหลักการว่า "พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร" ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจในครั้งนี้ ผมไม่เสียใจที่เลือกยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย และหากคิดถึงผม ขอให้รู้ว่าผมก็คิดถึงทุกท่านเช่นกัน"ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย..." 

น.ศ.ผนึกกำลังรุดไปให้กำลังใจ
      เวลาเดียวกัน ที่คณะนิติศาสตร์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักศึกษา ศนปท. ได้เริ่มเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยไปยังศาลทหารกรุงเทพ ทันทีทราบว่าทั้งสี่คนถูกอัยการทหารเตรียมยื่นคำร้องขอฝากขัง
     จากนั้นในเวลา 17.20 น. ขบวนนักศึกษาเดินมาถึงบริเวณหน้าศาลทหาร กลุ่มนักศึกษาในนาม ศนปท.ประมาณ 20 คน นำโดย นายรัฐพล ศุภโสภณ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายนัชชชา กองอุดม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ นายรังสิมันต์ โรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางมายังศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ เพื่อประท้วงการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร โดยถือป้ายที่มีข้อความประท้วงต่างๆ และร่วมลงนามคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร ขณะเดียวกันได้มีการผลัดเปลี่ยนกันกล่าวโจมตีทหารอย่างดุเดือดผ่านเครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งประกาศว่าทุกคนพร้อมโดนจับ นอกจากนั้นยังมีการอ่านกลอน เเละส่งเสียง "พวกเราคือเพื่อนกัน" "เรามาทวงเพื่อนเราให้กลับคืน" อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กลุ่มนักศึกษายืนยันจะไม่ไปไหน จนกว่าศาลจะปล่อยตัว 4 พลเมืองโต้กลับคืนสู่อิสรภาพ

จี้เลิกศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน
      วันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาร่วมเวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชา ชาติ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 16-18 มี.ค. ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลและคสช. ยกเลิกประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพลเรือนในข้อหาความผิดบางประเภทโดยทันที รวมทั้งประกาศที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทั้งหมด อีกทั้งการพิจารณาคดีในศาลทหารในเวลาที่ประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกา โดยเชื่อมั่นว่าศาลพลเรือนปกติในสถานการณ์ปัจจุบันสามารถใช้พิจารณาอรรถคดีต่างๆ ได้ และเชื่อมั่นว่าจะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมกว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร
      เนื่องจากการใช้กลไกยุติธรรมและศาลทหารต่อพลเรือนที่แสดงออกทางความคิดเห็น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลปัจจุบันจะใช้กลไกศาลทหารและกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวต่อเนื่องและติดต่อกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่ากระทำการนอกกฎหมาย เห็นชัดเจนว่ามุ่งประโยชน์เพื่อโต้ตอบโจมตีต่อนักกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งการพิจารณาคดีในศาลทหาร เป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งขัดกับพันธกรณีที่ไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง

ปล่อยตัวไร้เงื่อนไข 4 พลเรือน
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลุ่มดังกล่าวมาถึงหน้าศาลทหาร เจ้าหน้าที่ทหารประจำศาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดประตูทางเข้า-ออกทันที ขณะที่ช่วงดังกล่าวศาลยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีด้วย 
    น.ส.ภาวิณี กล่าวว่า อัยการขอใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนเเละสั่งฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 เเต่ท้ายที่สุดศาลทหารไม่รับคำร้องฝากขังเเละสั่งให้ปล่อยตัว ซึ่งเห็นว่าผู้ถูกร้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเเละไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี โดยให้ทั้ง 4 มาฟังความเห็นของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค.
      ขณะเดียวกัน นายอานนท์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า "18.30 น. ศาลทหารยกคำร้องอัยการทหาร สั่งปล่อยตัวผมกับเพื่อนโดยไม่มีเงื่อนไข เย้ๆๆๆ"

กมธ.ยกร่างยันไม่แตะหลักการ
      ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า แม้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ และนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ จะไปศึกษาดูงานการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมนี แต่ กมธ.ยกร่างฯ ที่เหลืออยู่จะประชุมทบทวนรายมาตราต่อไป คาดว่าจะทบทวนเสร็จทั้ง 315 มาตรา ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ยืนยันว่าจะไม่แก้ไขในหลักการ แต่จะทบทวนปรับแก้ถ้อยคำให้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น 
      นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ประ ชาชนตลอดจนพรรคการเมืองยังไม่เห็นด้วย อาทิ นายกฯไม่ต้องเป็นส.ส. ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์นั้น กมธ.ยกร่างฯ ยืนยันว่าจะรับไว้พิจารณาต่อไป โดยนำไปพิจารณาในช่วงโค้งสุดท้ายวันที่ 25 พ.ค.-23 ก.ค. สาเหตุที่ไม่อาจพิจารณาระหว่างนี้ได้เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ ต้องไปรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในช่วงกลางเดือนเม.ย.นี้อยู่ดี ซึ่งสมาชิก สปช. ครม.และ คสช. จะเสนอขอแก้ไข ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ จึงต้องรอความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนนำตัดสินใจแก้ไขในช่วงสุดท้าย ถ้าข้อเสนอแก้ไขหลายฝ่ายตรงกันเชื่อว่าจะต้องรับฟังในที่สุด
      "ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกนี้ยังปรับแก้ได้ แต่หลังจากวันที่ 23 ก.ค.จะไม่สามารถปรับแก้ได้แล้ว จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของ สปช.ที่จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 6 ส.ค.ต่อไป" นายคำนูณกล่าว 

ยื่นค้านนายกฯคนนอก-สว.ลากตั้ง
      เวลา 09.50 น.นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ ประธานกลุ่มเสรีชนไทยแลนด์ 58 เข้ายื่นหนังสือต่อ กมธ.ยกร่างฯ ผ่านนายคำนูณ เพื่อให้ทบทวนกรณีเปิดโอกาสคนนอกมาเป็น นายกฯ และส.ว.มาจากระบบเลือกตั้งทางอ้อม โดยเห็นว่าเป็นผลเสียที่ให้บุคคลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งเข้าบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ เนื่องจากไม่ได้สัมผัสกับปัญหาต่างๆ อย่างแท้จริง จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงเป้าหมาย ประกอบกับประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่กระบวนการทางการเมืองยังไม่สมบูรณ์ตามแบบประชาธิปไตย อาจขาดความชอบธรรมในสายตานานาประเทศ ขอให้กมธ.ยกร่างฯ อย่ากังวลจนเกินเหตุและอย่าคิดแทนประชาชน

ดิเรกย้ำรื้อนายกฯคนนอก-ที่มาสว. 
       นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. ในฐานะรองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญร่างแรกที่ออกมา 315 มาตรานั้นมีหลายประเด็นที่ กมธ.ไม่เห็นด้วย ทั้งการให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การให้ส.ว.มาจากการสรรหา หรือเลือกตั้งโดยอ้อมทั้งหมด ซึ่ง กมธ.มองว่าส.ว.สรรหามีอำนาจมโหฬารเกินไป ปลดคนอื่นได้ ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาก็ได้ทักท้วงประเด็นดังกล่าวไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แล้ว
      นายดิเรก กล่าวว่า นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเลือกตั้งในระบบเยอรมนี โดยเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบเดิมดีอยู่แล้ว ประเด็นเหล่านี้สอดคล้องกับความเห็นที่ได้จากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากพรรคและนักวิชาการเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ในวันที่ 20-26 เม.ย.ที่จะประชุมสปช. เพื่อให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญร่างแรกนั้น กมธ.จะใช้เวทีดังกล่าวเป็นช่องทางอภิปรายแสดงความเห็นทักท้วงในประเด็นดังกล่าวแน่นอน

วิษณุแปลกใจสังคมติดใจที่มานายกฯ
      เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในการประชุมแม่น้ำ 5 สายนั้นไม่มีการตกลงใดๆ เป็นเพียงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กับพล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ รายงานต่อที่ประชุมว่าดำเนินการใดไปบ้าง ซึ่งมีการตั้งคำถามจำนวนมาก แล้วนายกฯ ระบุว่า เพื่อไม่ให้เสียเวลาให้รวบรวมคำถามมาแล้วให้กมธ.ยกร่างฯ ไปตอบคำถามมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรวมได้ 17 ข้อ 
     เมื่อถามว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานประสานผ่านนายวิษณุ ขอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กกต. นายวิษณุกล่าวว่า ก็มีหลายหน่วยงานที่ต้องการหารือกับรัฐบาล โดยรัฐบาลมอบให้ตนเป็นผู้หารือ ขณะนี้มีหลายประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมี 315 มาตรา จึงมีหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน แต่ส่วนตัวรู้สึกแปลกใจหลังจากอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้รู้ว่าสังคมไทยทุกยุคสมัยยังคงชุลมุนวุ่นวาย ติดใจอยู่เฉพาะประเด็นที่มาของนายกฯ ระบบเลือกตั้งส.ส. หรือที่เราเรียกว่าการเมืองภาคการเมือง แต่ความเป็นจริงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายประเด็นที่คนอ่านแล้วตั้งคำถาม เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ สมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ยังมีอีกมาก

ชี้ประเด็นสิทธิเสรีภาพประชาชน
      นายวิษณุ กล่าวว่า จากที่ตนสังเกตจากหน้าหนังสือพิมพ์ก็ไม่ค่อยเห็นคนวิจารณ์ เหมือนกับว่าไม่ได้อ่าน หรือก็คงเห็นด้วย แต่ยังไม่แน่ใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งในแง่สิทธิเสรีภาพสำหรับประชาชนถือว่าเป็นเรื่องดี อยากให้คนที่จะมาเป็นรัฐบาลต่อไป ช่วยอ่านร่างรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าว และต้องคิดให้ดีว่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ หากมีปัญหาก็บอกต่อกมธ.ยกร่างฯ ได้ในตอนนี้ ไม่อย่างนั้นจะออกมากล่าวหาว่าคนร่างรัฐธรรมนูญกับคนใช้ ไม่ใช่คนเดียวกัน


หนุนปลัด - ร.พ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ขึ้นป้ายสนับสนุนน.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ที่ถูกคำสั่งย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่อีกหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศก็ขึ้นป้ายลักษณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 มี.ค.

       "บางประเด็นแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต บางประเด็นเขามองว่าจะเกิดปัญหาอะไรในอนาคตก็ต้องป้องกันไว้ก่อน จึงมีอะไรใหม่ๆ ออกมา จึงมีเรื่องสิทธิเสรีภาพขององค์กรอื่นๆ แต่ไม่ได้มาชุลมุนอยู่ที่การเลือกตั้งเยอรมัน หรือระบบโอเพ่นลิสต์ หรือนายกฯ เป็นใคร จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรอ่านและตั้งเป็นข้อสังเกต จึงอยากฝากเรื่องนี้ด้วย ที่ไม่เห็นพูดถึงกัน ผมกลัววันหลังจะกลายเป็นว่าบอกว่าไม่เห็นรู้เรื่อง ไม่เห็นบอก ผมยิ่งเป็นห่วงใหญ่เลย เวลามีคนบอกว่าต้องทำประชามติ เพราะคนจะเข้าใจตามนี้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะผมอ่านแล้วยังมีคำถามในหลายมาตราเลย ต้องกลับไปคิดว่าเวลาเอาไปใช้จริงมันแปลว่าอะไร" นายวิษณุกล่าว

ระบุกมธ.ต้องเร่งทำความเข้าใจ
     เมื่อถามว่า ขณะนี้ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด หรือโอเพ่นลิสต์ ถูกวิจารณ์ว่าทำให้พรรคอ่อนแอ นายวิษณุกล่าวว่า ระบบนี้มีทั้งข้อดีและเสีย มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เมื่อหยิบจุดอ่อนมาพูดในประเด็นที่ทำให้พรรคอ่อนแอ แต่จุดแข็งยังมีอยู่ จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเลือกเอาอะไร จะเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดโดยไม่มีจุดอ่อนเลยคงไม่ได้ ตนยินดีให้วิจารณ์ในวันนี้เพื่อให้กมธ.ยกร่างฯ นำไปคิด ถือเป็นเรื่องดี
     เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้อง ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย มีคนเสนอแนะในที่ประชุมว่ากมธ.ยกร่างฯ ควรสร้างความเข้าใจ 1.ต้องระบุว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาอะไร 2.ทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงหรือไม่ 3.ถ้อยคำหรือความหมายจะต้องแปลออกมาชัดเจน ทั้งนี้ การทำความเข้าใจถือเป็นเรื่องสำคัญแม้วันนี้จะยังไม่ถึงเวลา แต่เมื่อยกร่างเสร็จ จำเป็นต้องเริ่มตะลุยทำในสิ่งนี้ และต้องเผื่อการทำประชามติด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนคงออกเสียงประชามติแบบไม่เข้าใจ เป็นเหตุให้ถกเถียงกันภายหลัง

บิ๊กตู่ขอเวลาตัดสินใจประชามติ
     เวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ทำประชามติภายหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จว่า ตนจะขอตัดสินใจเมื่อถึงเวลาใกล้ๆ ก่อน ซึ่งอำนาจการตัดสินใจสุดท้าย รัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของ คสช. แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องทำประชามติ ฉะนั้นทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อยู่ที่ตนตัดสินใจ พิจารณาร่วมกันว่าควรหรือไม่ควร วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ก็ทะเลาะกันจะเป็นจะตายอยู่แล้ว ทุกคนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย จะเอาแบบเดิมกันทั้งหมด ถามว่าเราจะปฏิรูปได้หรือไม่ 
      "ต้องถามคนที่ออกมาเรียกร้องว่าเขาต้องการอะไร เขาต้องการปฏิรูปใช่หรือไม่ เมื่อมีการปฏิรูปก็ย่อมมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิมบ้าง มีกลไกทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นธรรม เข้าใจคำว่าเสียเวลาเปล่าไหม เราพูดกันเสมอ เสร็จแล้วพอทำไม่ได้ พอมีปัญหา ก็บอกว่าตัวผมไม่รู้จะเข้ามาทำไม เสียเปล่า ถ้าจะแก้ก็พยายามทำให้ พอแก้ไม่สำเร็จเพราะมีการต่อต้าน จนเจ้าหน้าที่ทำไม่ได้ก็มาโทษผมอีกว่าเสียเปล่า" นายกฯ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจใช่หรือไม่ว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะไม่เสียเปล่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนจะไม่ยอมให้เสียเปล่า

ไล่ส่งแกนพท.เว้นวรรค-ก็เว้นไป
       เมื่อถามว่ามีบางกลุ่ม อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประกาศหากกติกายังไม่ชัดเจนจะขอเว้นวรรคทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ดี ก็ไป ให้เว้นจริงๆ แล้วกัน จะได้เลิกทะเลาะกันเสียทีและตนจะไม่เรียกมาปรับความเข้าใจ มันปรับไม่ได้แล้ว อายุเยอะแล้ว เขาคิดแบบเขา จะไปอะไรกันนักหนา แต่ตนก็ฟังไว้ 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า การตัดสินใจทำประชามติหรือไม่ จะประเมินจากอะไรหรือต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อน นายกฯ กล่าวว่า ต้องรอประเมินดูจากสถานการณ์ วันนี้การร่างยังไม่ไปไหนเลย ถ้าตกลงกันเรียบร้อย ไม่มีปัญหา สามารถทูลเกล้าทูลกระหม่อมได้ มันก็จบ โปรดเกล้าฯลงมาก็เลือกตั้ง แต่เมื่อเถียงกันมากๆ ค่อยว่ากันว่าจะทำอย่างไรต่อ 
      "มีอยู่สองอย่าง ไม่งั้นต้องล้มกันทั้งหมด เริ่มใหม่ เอาไงก็ไปเลือกกันมา ถ้าล้มทั้งหมด ต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น ผมถึงเวลากลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ คิดถึงคำตอบที่จะมาตอบกับสื่อ" นายกฯ กล่าว

อุบมีแผนสำรอง-แต่ไม่บอกหรอก
      เมื่อถามว่า ถ้าล้มให้ทั้งหมดจะไม่เสียเวลาหรือสูญเปล่าใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เสียเวลา เสียสมอง เมื่อถามว่าปัจจัยอะไรทำให้ต้องล้มใหม่ทั้งหมด เพราะสถานการณ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ หมายความว่ากลุ่มการเมืองเขาจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้หรือไม่ ถ้าเขาไม่รับแล้วจะทำอย่างไร ถ้าเขาไม่รับก็ต้องไปหาทางทำกันมา จะมาถามตนทำไม ต้องไปถามคนที่ไม่รับ เมื่อถามว่ามีแผนสำรองไว้อย่างไร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี ถึงมีก็ไม่บอก ทำไมจะต้องบอกทุกเรื่อง
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันคล้ายวันเกิดวันที่ 21 มี.ค.นี้ จะไปทำบุญที่ไหน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "อยู่บ้าน อยู่ในกรมนั่นแหละ ไม่ต้องมายุ่งกับผม ผมเกิดคนเดียว ไม่ต้องกวนใคร"

ประยุทธ์ เปิดทำเนียบถกกนพ.
     ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 2/2558 พิจารณาเรื่องการจัดบริหารจัดการที่ดิน เพื่อหาข้อสรุปการจัดหาที่ดินของรัฐรองรับการลงทุนของภาคเอกชน และเพื่อแก้ปัญหาราคาที่ดินในพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ปรับสูงขึ้นมาก ไม่ว่าแม่สอด อรัญประเทศ ตราด มุกดาหาร และสะเดา ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละจังหวัดอยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่บางส่วนไว้รองรับ นอกจากนี้ พิจารณากำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละพื้นที่ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายแดนตามนโยบายจัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล
      ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า ที่ประชุมพูดคุยหลายประเด็น ทั้งสิทธิประโยชน์ ในแต่ละพื้นที่กำหนดโรดแม็ป ซึ่งอาจมีอุตสาหกรรมหลายด้านรวมกัน ทั้งภาคการผลิต ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว รวมทั้งโรงงานขนาดเล็ก เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษทำ 2 อย่าง ทั้งนิคมอุตสาห กรรม และที่ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม 
     เมื่อถามว่า มีการเตรียมกฎหมายที่เบากว่ากฎอัยการศึกเข้ามาดูแลใช่หรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธว่า ไม่มี แต่จะดูแลให้ได้ ซึ่งทุกคนรู้อยู่ว่ามีคนที่รอออกมาเคลื่อนไหว แม้จะมีกฎอัยการศึกก็ยังไม่กลัว ยังวางระเบิด แล้วยังมาถามตนอีก แสดงว่าเขาไม่กลัวกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ แล้วจะมีไว้ทำไม มันจะมีอะไรหนักกว่านี้อีก แต่ถามอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ถ้าอะไรก็ไม่รับ เขียนอะไรมาก็ไม่รับ 

ย้ำอีก-ยันไม่เลิกกฎอัยการศึก
     เมื่อถามว่าจะใช้เวลาประเมินอีกนานแค่ไหนในการคงกฎอัยการศึกไว้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โปรดติดตาม กำลังร่างอยู่ ตนร้อนใจอยู่เหมือนกัน คิดว่าจะทำอย่างไรให้มันสงบ
     "ขอถามว่าจะถอยหลังกลับไปมากๆ ได้หรือไม่ ท้ายที่สุดถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำ จะถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่พอทำไป มีการกระทบกระทั่งแรงกันมากเจ้าหน้าที่ก็เดือดร้อนอีก นั่นล่ะคนไทย อย่าคิดเรื่องกฎหมายเดี๋ยวผมจัดการเอง แต่หาทางทำก่อน วันนี้ถ้าประชาชนร่วมมือกันไม่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ต้องออกมาทำงาน การกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนจะไม่เกิด โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงปฏิรูป ผมทราบดีว่าคนไทยมีอิสรเสรีกันมานาน รัฐบาลมีเวลาทำงานมา 7-8 เดือนเอง ถ้าจะให้ทุกอย่างมันเสร็จแล้วรีบๆ ไป มันก็มีตารางเวลาตามโรดแม็ปอยู่แล้วไม่ใช่หรือ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      เมื่อถามว่าจะพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่หรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธว่า ไม่มี และกฎอัยการศึกมีอยู่แล้วในเขตชายแดนภาคใต้ 30 กว่าอำเภอ ยังไม่เคยยกเลิกเลย แต่พอเอามาใช้ทั่วประเทศ ก็ตื่นเต้นกัน ถ้าไม่ทำความผิดไม่ต้องกลัว แล้วตนจะดูแลให้ ซึ่งกำลังหาทางอยู่

ส่งฟ้องบุญทรง-เจ้าตัวไม่มาก็ได้
      ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) เตรียมยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก รวม 21 คน กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยไม่ชอบต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ในวันที่ 17 มี.ค. เวลา 10.00 น. อัยการจะยื่นฟ้องนายบุญทรง กับพวกรวม 21 ราย ต่อศาลฎีกาฯ แม้นายบุญทรงกับพวกจะเดินทางมาหรือไม่มาตามนัดก็ตาม ตามกฎหมายสามารถยื่นฟ้องคดีได้แม้ตัวจำเลยจะไม่มาก็ตาม เหมือน กรณีอสส.ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 19 ก.พ.
      นายวันชัย กล่าวว่า เบื้องต้นสำนักงานอสส.ยังไม่ได้รับการประสานจากป.ป.ช. ว่านายบุญทรงกับพวกจะมาในวันดังกล่าว หรือไม่ ทั้งนี้หลังจากยื่นฟ้องคดีแล้ว นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนัก งานการสอบสวน ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลคดีนี้ จะเป็นผู้แถลงข่าวถึงรายละเอียดเรื่องการยื่นฟ้องคดีต่อไป

ปูระทึกอีก-ทัวร์นกขมิ้นจ่อสรุป
      รายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก กรณีเดินทางลงพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โดยใช้ทรัพยากรของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐไปหาเสียงระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้สำนวนได้บรรจุเข้าวาระการประชุมของ กกต.แล้ว โดยจะต้องรอให้ กกต.ทั้ง 5 คนร่วมประชุมครบทุกคนก่อนจึงจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ แต่เนื่องจากขณะนี้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายประวิช รัตนเพียร และนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมนีตามคำเชิญของรัฐบาลเยอรมนี จึงต้องรอให้ กกต.ทั้ง 3 คนเดินทางกลับมาก่อน และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าที่ประชุม กกต.จะมีการหารือในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีความชัดเจนแล้ว เพราะในการประชุมกกต.ทั้ง 5 คนจะศึกษาวินิจฉัย และมีมติสรุปสำนวนดังกล่าวได้เลย

เชื่อร่างที่ทำอยู่ไม่ผ่านประชามติ
      นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่นี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งขณะนี้กระแสต้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ แม่น้ำ 5 สายก็ทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล นับวันภาพของพล.อ. ประยุทธ์จะติดลบไปเรื่อยๆ จากการกระทำของคนร่างรัฐธรรมนูญ หากสุดท้ายรัฐธรรมนูญยังออกมาแบบนี้ เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้น อย่างที่มานายกฯ ก็เคยทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาแล้ว และคนกลุ่มนั้นยังอยู่ เขาอาจยังไม่พูด แต่หากวันใดปะทุขึ้นมาจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล รัฐบาลต้องประเมินว่าจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ ขณะนี้เริ่มมีคนออกมาแสดงความเห็นเรื่อยๆ
       "พล.อ.ประยุทธ์ อยากเป็นวีรบุรุษของประเทศเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา แต่คนรอบข้างทำให้ภาพออกมาติดลบ หากยังเดินในรูปแบบปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อยู่ที่นายกฯจะตัดสินใจไปทางไหน ฝากถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าโตๆ กันแล้ว ไม่ควรทำอะไรที่เป็นบาดแผลให้กับบ้านเมือง จริงอยู่อาจได้ประโยชน์แก่บ้านเมืองในระยะสั้น แต่ระยะยาวทำให้บ้านเมืองเสียหายแตกแยก ถ้ารักประเทศไทยจริงอยากให้ทำอะไรในระยะยาว สร้างอนาคตให้ประเทศ อย่าคิดทำในระยะสั้นคือมองคนนั้นได้ประโยชน์ คนนี้ไม่ได้ประโยชน์" นายวรวัจน์กล่าว
      นายวรวัจน์ กล่าวว่า ส่วนการทำประชามติรัฐธรรมนูญ มองว่าถึงทำประชามติออกมาก็ไม่ผ่าน เพราะไม่เป็นไปตามแนวทางของคนส่วนใหญ่ และคิดว่ารัฐบาลไม่กล้าทำประชามติ จะทำให้คนอื่นด่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องเบรกเอง

ภูมิธรรมย้ำรธน.ใหม่ต้องปชต.
     นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องระบุว่ายังปรับแก้รัฐธรรมนูญได้ บางประเด็นมีลักษณะโยนหินถามทาง ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจน พรรคจึงยังไม่ควรแสดงท่าทีอะไร โดยเฉพาะการเว้นวรรคหรือบอยคอตเลือกตั้งที่จะมาถึง ยังเร็วเกินไปที่จะพูด แต่เรายังคงยืนยันในหลักการเดิม ให้ประเทศกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ที่สำคัญไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และสร้างเงื่อนไขสืบทอดอำนาจ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย ควรทำประชามติเพื่อให้ประชาชนแสดงความ เห็นด้วย
      นายภูมิธรรม กล่าวถึงป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอดีต 250 ส.ส.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคกำลังดูข้อกล่าวหาของแต่ละคน เพราะป.ป.ช.ก็ชี้มูลความผิดแตกต่างกัน มองว่าอดีตส.ส.ทุกคนต้องได้รับสิทธิชี้แจงและแก้ข้อกล่าวหาด้วยตนเองอย่างเต็มที่ เพราะหากส่งตัวแทนแต่ละภาคเพื่อชี้แจงแทนนั้น ทำได้แต่ข้อกล่าวหาที่ไม่เหมือนกันก็อาจไม่ละเอียด ไม่ครอบคลุม 

สนช.ดีเดย์2เม.ย.ถอดบุญทรง-ภูมิ
      เมื่อเวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. แถลงว่า ตนมีคำสั่งบรรจุคำร้องของ ป.ป.ช. ให้ถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ส่อว่าทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปกิบัติทำให้เกิดความเสียหาย จากกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ในโครงการรับจำนำข้าว โดยบรรจุเข้าสู่การประชุมสนช.นัดแรกในวันที่ 2 เม.ย.นี้ 
      นายพรเพชร กล่าวว่า ขณะนี้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อมาตรวจและคัดสำนวนคดี ซึ่งมีเอกสารจำนวนมาก รวมทั้งแจกจ่ายสำนวนการไต่สวนให้สมาชิกสนช.ศึกษาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนประชุมนัดแรก แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่สนช.ยังต้องพิจารณาถอดถอนเนื่องจากหากถูกถอดถอนจะถูกตัดสินห้ามดำรงตำแหน่ง 5 ปี 

ทนายชี้'ปู'ไม่ต้องไปศาล 19 มี.ค.
     นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงสนช. บรรจุคำร้องถอดถอนนายบุญทรง และนายภูมิ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดตามพ.ร.บว่าด้วยป.ป.ช. ส่อว่าทุจริต และส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติทำให้เกิดความเสียหาย จากกรณีการขายข้าวแบบจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าวว่า การส่งให้สนช.พิจารณาถอดถอนครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 56 (1) ที่กำหนดว่ากรณีป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใด มีมูล ให้ประธานป.ป.ช.ส่งรายงานไปให้ประธานวุฒิสภา เรื่องนี้เมื่อป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วจึงต้องส่งสำนวนให้ประธานสนช. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ให้พิจารณาถอดถอนบุคคลผู้นั้นอีกทางหนึ่งด้วย โดยวันที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลนายบุญทรงและพวก ได้แยกเป็นส่วนคือสำนวนคดีอาญาส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯต่อไป ส่วนสำนวนถอดถอนส่งให้ประธานสนช.
       นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า วันที่ 19 มี.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องไปศาลฎีกาฯ เพราะขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการระหว่างศาลกับพนักงานอัยการ ที่จะพิจารณาคำฟ้องว่าจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องหรือไม่ หากศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องก็ยกฟ้อง เรื่องจบ แต่ถ้าศาลมีคำสั่งรับฟ้อง กฎหมายกำหนดให้ศาลส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยและกำหนดการพิจารณานัดแรก ซึ่งบังคับด้วยกฎหมายให้จำเลยต้องไปศาล 

สมหมาย ลุยไฟ-เก็บภาษีที่ดิน
     เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2558 นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษีภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับสมบูรณ์ไม่มีการปรับแก้ไข เพื่อส่งต่อให้ภาคสังคม วิชาการ ไปพิจารณาภาษีทั้ง 4 อัตรา คือ ที่ดินสำหรับการเกษตร ที่อยู่อาศัย ที่ใช้เชิงพาณิชย์ และที่รกร้างว่างเปล่า ว่าอัตราที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โดยยืนยันว่าหากยังอยู่ในตำแหน่ง รมว.คลัง จะต้องมีการผลักดันให้ภาษีที่ดินเกิดขึ้นให้ได้ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่ยอมดำเนินการ เพราะจะกระทบกับคะแนนเสียง
     รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีที่ออกมาคัดค้านภาษีที่ดินสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมสนใจแต่เรื่องส่วนตัว เป็นห่วงเฉพาะภาษีที่อยู่อาศัย ไม่ได้มองว่ารัฐบาลก็มีการจัดเก็บภาษีที่ใช้เชิงพาณิชย์ ที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่มีที่ดินมากๆ นำออกมาใช้เพิ่มกระบวนการผลิต เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่คนส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว คนชั้นกลางบางกลุ่มก็เห็นแก่ได้
     "ชะลอภาษีที่ดินออกไปไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่เอา และยังยืนยันว่ากฎหมายนี้ จะจบก็ต่อเมื่อผมออกจากตำแหน่งแล้วเท่านั้น" นายสมหมายกล่าวและว่าทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดิน จะสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 2 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนนี้ไม่ได้เข้ารัฐบาลกลาง ซึ่งหากไม่เดินหน้าภาษีที่ดินในระยะต่อไป จะส่งผลให้รัฐบาลมีความเสี่ยงด้านการคลัง เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำงบประมาณแบบขาดดุลมานาน รัฐบาลก่อนหน้ามีการใช้งบประมาณแบบล้างผลาญกันมามาก ในระยะต่อไปรัฐบาลก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ก็ต้องมีการกู้เพิ่ม ทำงบขาดดุลต่อเนื่องดังนั้นไม่ควรชะล่าใจกับเพดานหนี้สาธารณะ แม้ว่าวันนี้จะยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง
     นายสมหมาย กล่าวว่า ภาษีที่ดินที่จะจัดเก็บสำหรับที่อยู่อาศัย ในหลักการต้องการให้ ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเพิ่มอัตราลดหย่อน จากเดิมอัตราจัดเก็บ ที่ 0.1% ของราคาประเมิน โดยเก็บล้านละ 1 พันบาท ให้ยกเว้นเป็น 1-2 ล้านบาทแรกเสียภาษี 25% ของอัตรา 0.1% จากราคาประเมิน หรือล้านละ 250 บาท บ้าน 2 ล้านเสีย 500 บาทต่อปี โดยบ้านราคาที่ 3-4 ล้านบาท เสียภาษี 50% ของอัตรา 0.1% จากราคาประเมิน หรือล้านละ 500 บาท ดังนั้นถ้าบ้านไม่เกิน 4 ล้านบาท จะเสียภาษีไม่เกิน 1,500 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นภาระมาก

ยกฟ้อง'ปลาบู่'หมิ่น'ปู'โฟร์ซีซั่นส์
     เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำ 2492/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ 332 จากกรณี ว.5 โฟร์ซีซั่นส์
       ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พยานโจทก์นำสืบทำนองว่า ในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ร่วมประชุมกับนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยมีนาย เศรษฐา ทวีสิน นายอนันต์ อัศวโภคิน และบุคคลอื่นๆ รวม 5 คน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ แม้การประชุมดังกล่าวจะไม่เป็นความลับ แต่ไม่เปิดเผยในรายละเอียด รวมทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ ขณะนั้น เลื่อนประกาศการปรับโครงสร้างการประเมินราคาที่ดินและการปรับผังเมืองการใช้ที่ดินในช่วงดังกล่าว ที่โจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นด้านธุรกิจ แต่ยังมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงประชุมกันแค่คนกลุ่มย่อย อีกทั้งเป็นความลับไม่เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก จึงทำให้สงสัย เมื่อสอบถามนายอนันต์ อัศวโภคิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย แต่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมประชุม ถ้าหากนายอนันต์เข้าร่วมประชุมด้วยจริงก็ไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ 
     ศาลเห็นว่า พฤติการณ์โจทก์ มีเหตุสมควรให้จำเลยสงสัยและมีเหตุสมควรที่จำเลยจะออกมาแถลงข่าว แม้จำเลยจะพิสูจน์เรื่องดังกล่าวไม่ได้ และข้อความที่จำเลยแถลงนั้นเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทก็ตาม แต่การที่จำเลยแถลงในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง ด้านนายชวนนท์กล่าวภายหลังว่า ขอบคุณศาลที่พิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีที่ตนถูกน.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องฐานหมิ่นประมาทกรณีจัดรายการสายล่อฟ้า ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ อีกคดีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบพยาน แต่ไม่รู้สึกหนักใจ และพร้อมยอมรับคำพิพากษาของศาล

ร.พ.ยังแต่งดำ-ขึ้นป้ายเชียร์ปลัดสธ.
วันที่ 16 มี.ค. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ว่า ตนลงนามในคำสั่งหลายวันแล้ว มีน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการสอบสวนอีก 3-4 คนจากนอกวงการสาธารณสุข สอบสวนเรื่องการทำงานที่ไม่ลงรอยกัน และเรื่องไม่ให้ความร่วมมือทำตามนโยบายของรัฐมนตรี รวมถึงเรื่องไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่นพ.ณรงค์ได้กล่าวหาด้วย เมื่อทราบผลแล้วจะตัดสินใจ ต่อไป ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน
      ต่อข้อถามว่าเรื่องไม่ชอบมาพากลนั้นหมายถึงจะสอบสวนถึงการบริหารโครงการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ด้วยหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ไม่ใช่ ยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการสอบครั้งนี้ไม่ได้กลั่นแกล้งข้าราชการประจำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องสอบสวน เพราะปลัดอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรี ต้องให้ความร่วมมือทำงาน ส่วนระยะเวลาสอบสวน กำชับว่าให้เร็วที่สุด แต่จะเร่งรัดมากไม่ได้
     เมื่อถามว่าเหตุใดการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพียงคนเดียวเพราะคู่ขัดแย้งมี 2 คน และจะสอบรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ไม่ได้สอบทั้ง 2 คน จะสอบเพียงแค่คนเดียว เพราะนพ.ณรงค์ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องปฏิบัติตามนโยบาย 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคลากรสาธารณสุขตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ยังคงแต่งดำ พร้อมขึ้นป้ายให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นร.พ.ปทุมธานี จ.ปทุมธานี ร.พ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ร.พ.สุรินทร์ จ.สุรินทร์ ร.พ.แพร่ จ.แพร่ ร.พ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ร.พ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก "เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข" 
    ด้านพญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) กล่าวว่า ขณะนี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มแต่งชุดดำและขึ้นป้ายกันแล้ว ส่วนร.พ.สุรินทร์ ที่ตนทำงานอยู่นั้นจะขึ้นป้ายในช่วงบ่าย การแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยที่กระทรวงสาธารณสุขไม่มีธรรมาภิบาล และไว้อาลัยในตัวของรมว.สาธารณสุขและรมช.สาธารณสุข ที่ทั้ง 2 ได้ตายไปจากหัวใจชาวสาธารณสุขแล้ว ส่วนการร่างหนังสือเพื่อยื่นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯนั้นยังติดอยู่ที่เนื้อหา แต่ในสัปดาห์นี้จะยื่นหนังสือได้แน่นอน ทั้งนี้ ประชาคมสาธารณสุขยังขอรอดูท่าทีการทำงานวันแรกของปลัดสธ. ที่สำนักนายกฯก่อนว่ามีงานให้ทำหรือไม่ พวกเราทุกคนเคารพในตัวของนายกฯ และอยากให้นายกฯสนใจปัญหาของพวกเราบ้าง

 

คสช.ปัดเอี่ยวพยานหาย โต้กันวุ่น ญาติยันทหารเชิญขึ้นรถ ทนายบุกทวงถึงทบ.วันนี้ 'น้องแหวน'คดีวัดปทุม ปล่อยพ่อเฌอ-พวก4คน ป้ายพรึบหนุนขึ้นศาลยธ. อัยการส่งฟ้อง'บุญทรง'

มติชนออนไลน์ : ฟ้องศาล - พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ควบคุมตัว 4 ผู้ต้องหากลุ่มพลเมืองโต้กลับ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายอานนท์ นำภา นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และนายสิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ ส่งฟ้องต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม

     ศาลทหารไม่รับฝากขัง ปล่อย 4 ผู้ต้องหา กลุ่ม'พลเมืองโต้กลับ'ไม่มีเจตนาหลบหนี ทนายยัน'น้องแหวน'ถูกทหารเชิญตัวไปไร้ร่องรอย สนช.ประชุมนัดแรกถอดถอน'บุญทรง'พร้อมพวก คดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 'บิ๊กตู่'ยังไม่ตัดสินใจเรื่องทำประชามติร่าง รธน.

@ เทียนฉายเบรกข้อมูลสภาเครือญาติ

       เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการปรึกษากับแม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติขอความร่วมมือลดภาระงบประมาณภาครัฐ การเดินทางของข้าราชการ จึงขอให้สมาชิก สปช.วินิจฉัยในลักษณะที่สอดคล้องเพื่อประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางด้วยเครื่องบินในประเทศ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เคยเทียบตำแหน่งไว้ สำหรับตำแหน่ง สปช.เปรียบเทียบได้กับข้าราชการระดับสูงระดับกระทรวง รวมถึงมติ ครม.มีผลให้ฝ่ายบริหาร กระทรวง ทบวง กรม ให้ผู้บริหารระดับกระทรวงเดินทางโดยเครื่องบินในประเทศด้วยชั้นประหยัด จึงขอให้สมาชิก สปช.วินิจฉัย แม้ไม่มีผลกับ สปช.ก็ตาม

       นายเทียนฉายยังแจ้งที่ประชุมว่า กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภา ในฐานะเลขาธิการ สปช. ขอเอกสารการแต่งตั้งผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ของสมาชิก สปช. และขอเอกสารค่าใช้จ่ายการเดินทางโดยเครื่องบิน ไปที่ไหน กี่รอบ และค่าใช้จ่ายของสมาชิก สปช.ทุกคนว่ามีการเบิกจ่ายไปเท่าไหร่ เรื่องดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ลงนามโดยเลขาธิการสภา เพราะฉะนั้น ตาม พ.ร.บ.กระบวนการข้อมูลข่าวสาร ต้องผ่านไปที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารที่สภาตั้งอยู่แล้ว และจากการที่คณะกรรมการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง มีมติอนุญาตให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นตารางสรุป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากเพราะมีข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องปกปิด เปิดเผยได้เฉพาะชื่อเท่านั้น ทั้งนี้ ได้ให้ข้อมูลกับผู้ที่ร้องขอไปแล้ว 

@ เปิดเวทีถกรธน.ร่างแรก 7 วันรวด

        นายเทียนฉายยังกล่าวชี้แจงถึงการประชุม สปช.เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า ได้ปรึกษากับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการอภิปรายของ สปช.จากเดิมประชุมวันที่ 20-26 เมษายน และเว้นวันที่ 24 เมษายน เพื่อให้ สนช.จัดประชุมนั้น ก็ได้ทำหนังสือถึงประธาน สนช.แล้วว่าในวันที่ 24 เมษายน ขอให้เป็นการประชุมของ สปช.ด้วย ดังนั้น การประชุมของ สปช.จึงเป็นวันที่ 20-26 เมษายน จะประชุมกัน 7 วันเต็ม ขอให้สมาชิกงดเว้นภารกิจอื่นเพื่อให้มีสมาธิอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.ในวันที่ 17 เมษายน 

       นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.ในฐานะรองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.กล่าวถึงรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 315 มาตรา ว่า มีหลายประเด็นที่คณะ กมธ.ไม่เห็นด้วย ทั้งการให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การให้ ส.ว.มาจากการสรรหา ที่ผ่านมาทักท้วงไปยังคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยเรื่องการเลือกตั้งระบบเยอรมัน ระบบแบบเดิมดีอยู่แล้ว ประเด็นเหล่านี้สอดคล้องกับความเห็นที่ได้จากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นพรรคการเมืองและนักวิชาการเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้น ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน จะมีการประชุม สปช.เพื่อให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญร่างแรก ทางคณะ กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะอภิปรายแสดงความเห็นทักท้วงในประเด็นดังกล่าว

@ 'ศรีสุวรรณ'พร้อมแถลงข่าว

       นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงการขอเอกสารแต่งตั้งผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ของสมาชิก สปช. รวมทั้งรายละเอียดการเดินทางโดยเครื่องบินด้วยว่า ได้โทรแจ้งไปยังรัฐสภาแล้ว ได้รับคำตอบกลับมาว่าจะส่งเอกสารรายละเอียดให้ทางไปรษณีย์หรือส่งมาถึงบ้าน แต่เนื่องจาก 2 วันที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่บ้าน จึงพบเพียงใบแจ้งให้ไปรับเอกสารไปรษณีย์ปากเกร็ดแทน ก็จะไปรับในวันที่ 17 มีนาคม แล้วจะแถลงข่าวให้ทราบทันที

@ 'คำนูณ'ยันไม่ทบทวนแก้หลักการ

       เมื่อเวลา 09.15 น. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า แม้สัปดาห์นี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเดินทางไปศึกษาดูงานการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมนี แต่ กมธ.ที่เหลือจะประชุมทบทวนร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 315 มาตรา ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไขในหลักการ จะทบทวนปรับแก้ถ้อยคำให้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น 

       นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ประชาชนตลอดจนพรรคการเมืองยังไม่เห็นด้วย อาทิ นายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส. รวมทั้ง ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์นั้น ทาง กมธ.จะรับไว้พิจารณาในช่วงโค้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-23 กรกฎาคม เพราะหากมีการทบทวนแก้ไขระหว่างนี้ กมธ.ก็จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นที่ประชุม สปช.ในช่วงกลางเดือนเมษายนอยู่ดี สมาชิก สปช.ตลอดจน ครม. และ คสช. จะเสนอขอแก้ไข ดังนั้น จะรอความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนตัดสินใจแก้ไขในช่วงสุดท้าย 

       "หากข้อเสนอแก้ไขหลายฝ่ายตรงกันเชื่อว่าจะต้องรับฟังในที่สุด ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกยังสามารถปรับแก้ได้ แต่หลังจากวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ไม่สามารถปรับแก้อะไรได้แล้วจะเป็นหน้าที่ของ สปช.ที่จะลงมติรับหรือไม่รับ ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้" นายคำนูณกล่าว

@ วิษณุข้องใจมุ่งแต่ที่มานายกฯ

       เวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบกรณีขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่มาประสานผ่านนายวิษณุเองเพื่อขอแก้ไขบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงาน นายวิษณุกล่าวว่า มีหลายหน่วยงานที่ขอหารือกับรัฐบาล โดยรัฐบาลมอบให้ตนเป็นผู้หารือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมี 315 มาตรา ทำให้มีหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน โดยส่วนตัวแปลกใจหลังได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้รู้ว่าสังคมไทยทุกยุคสมัยยังคงมีความชุลมุนวุ่นวายติดอกติดใจอยู่ในเฉพาะประเด็นที่มาของนายกฯ ระบบเลือกตั้ง ส.ส. หรือที่เรียกว่าการเมืองภาคการเมือง แต่ในความเป็นจริงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะอ่านแล้วตั้งคำถาม เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งสมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเมือง อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ยังมีอีกมาก จากที่สังเกตในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ไม่ค่อยเห็นคนออกมาวิจารณ์ เหมือนกับว่าไม่ได้อ่านหรือไม่ก็คงเห็นด้วย แต่ยังไม่แน่ใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ ในแง่ของสิทธิเสรีภาพสำหรับประชาชนถือว่าเป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันต้องการให้คนที่จะมาเป็นรัฐบาลต่อไปช่วยอ่านร่างรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าว คิดให้ดีว่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ หากมีปัญหาก็บอกต่อ กมธ.ยกร่างธรรมนูญได้ในตอนนี้ ไม่อย่างนั้นจะออกมากล่าวหาว่าคนร่างรัฐธรรมนูญกับคนใช้ ไม่ใช่คนเดียวกัน

@ จี้'นักการเมือง'อ่านรธน.ให้ครบ 

       "รัฐธรรมนูญมีหลายประเด็น บางประเด็นเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต บางประเด็นมองว่าจะเกิดปัญหาอะไรในอนาคตก็ต้องป้องกันไว้ก่อน จึงมีอะไรใหม่ๆ ออกมา มีเรื่องสิทธิเสรีภาพขององค์กรอื่นๆ แต่ไม่ได้มาชุลมุนอยู่ที่การเลือกตั้งเยอรมัน หรือระบบโอเพ่นลิสต์ หรือนายกฯเป็นใคร จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรอ่านและตั้งเป็นข้อสังเกต ที่ไม่เห็นพูดถึงกันผมกลัววันหลังจะกลายเป็นว่าบอกว่าไม่เห็นรู้เรื่อง ไม่เห็นบอก ผมยิ่งเป็นห่วงใหญ่เลย เวลามีคนออกมาบอกว่าจะต้องทำประชามติ เพราะคนจะเข้าใจตามนี้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะผมเองอ่านแล้วก็ยังมีเควสชั่นมาร์กในหลายมาตราเลย ก็ต้องกลับไปคิดว่าเวลาเอาไปใช้จริงมันแปลว่าอะไร" นายวิษณุกล่าว

@ ชี้โอเพ่นลิสต์มีจุดแข็งจุดอ่อน

      เมื่อถามว่า ขณะนี้ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดหรือโอเพ่นลิสต์กำลังถูกวิจารณ์ว่าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ นายวิษณุกล่าวว่า ระบบนี้มีทั้งข้อดีและเสีย ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เมื่อหยิบจุดอ่อนมาพูดในประเด็นที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่จุดแข็งก็ยังมีอยู่ จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเลือกเอาอะไร จะเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดโดยไม่มีจุดอ่อนเลยคงไม่ได้ ยินดีที่จะให้มีการวิจารณ์ในวันนี้เพื่อให้ กมธ.ได้นำไปคิด

      เมื่อถามว่า ในเรื่องรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจมากกว่าที่เป็นอยู่นี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถูกต้อง เรื่องดังกล่าวในการประชุมแม่น้ำ 5 สายครั้งที่ผ่านมามีคนเสนอแนะในที่ประชุมว่า กมธ.ยกร่างธรรมนูญควรสร้างความเข้าใจ 1.ต้องระบุว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นต้องการแก้ไขปัญหาอะไร 2.ทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงหรือไม่ 3.ถ้อยคำหรือความหมายจะต้องแปลออกมาชัดเจน ทั้งนี้ การทำความเข้าใจถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้วันนี้จะยังไม่ถึงเวลาก็ตาม แต่เมื่อยกร่างเสร็จจำเป็นต้องเริ่มตะลุยทำในสิ่งนี้ ต้องเผื่อในเรื่องการทำประชามติด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนคงออกเสียงประชามติแบบไม่เข้าใจ เป็นเหตุให้มีการถกเถียงกันภายหลัง

@ เข้าเม.ย.ได้เห็นหน้าตารธน. 

      เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ประชาชนออกเสียงประชามติโดยเลือกรัฐธรรมนูญระหว่างฉบับใหม่กับฉบับปี 40 หรือฉบับปี 50 นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ขอตอบเรื่องนี้ จะมีการทำประชามติหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ เมื่อคิดจะทำแล้วถึงจะมีการคิดคำถาม จึงยังไม่กล้าตอบได้ว่าจะมีการตั้งคำถามอย่างไร เมื่อถามว่า ขณะนี้นักการเมืองบางพรรคออกมาประกาศว่าจะเว้นวรรคทางการเมืองหากรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ได้คิดอะไร เชื่อว่ายังมีเวลาทำความเข้าใจอีกหลายเดือนแต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ให้ความสนใจหรือไม่แคร์ เมื่อทำความเข้าใจแล้วคนเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ สมัยก่อนจำได้หรือไม่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน เห็นร่างรัฐธรรมนูญแล้วบอกว่าเป็นฉบับครึ่งใบจึงไม่ลงรับเลือก ตั้งแต่หลังจากนั้นต่อมาก็ลงสมัคร

       เมื่อถามว่า ในเมื่อความเห็นจากหลายฝ่ายไม่ตรงกัน การทำประชามติถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า รับทราบในส่วนนี้ แต่ถ้าถามว่าจวนจะได้คำตอบหรือยังก็ต้องตอบว่าจวนถึงเวลาแล้ว ครั้งก่อนนักข่าวถามว่าในเดือนมกราคม 2558 แต่คราวนี้ต้องรอเดือนเมษายนว่าร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

@ 'บิ๊กตู่'ยังไม่ตัดสินใจทำประชามติ

      เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีข้อเสนอหลายฝ่ายให้มีการทำประชามติภายหลังการร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอตัดสินใจเมื่อถึงเวลาใกล้ๆ อำนาจการตัดสินใจสุดท้ายรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของ คสช. แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการทำประชามติ เพราะฉะนั้นทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อยู่ที่ตนตัดสินใจพิจารณาร่วมกันว่าควรหรือไม่ควร วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้นก็ทะเลาะกันจะเป็นจะตายอยู่แล้ว ทุกคนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทุกคนจะเอาแบบเดิมกันทั้งหมด 

       "ถามว่าแล้วเราจะปฏิรูปได้ไหม ต้องกลับไปถามคนที่ออกมาเรียกร้องว่าเขาต้องการอะไร หนึ่งเขาต้องการปฏิรูปใช่หรือไม่ เมื่อมีการปฏิรูปก็ย่อมมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิมบ้าง มีกลไกที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นธรรม เข้าใจคำว่าเสียเวลาเปล่าไหม เราพูดกันเสมอ เสร็จแล้วพอทำไม่ได้ พอมีปัญหา ท่านก็บอกว่าตัวผมไม่รู้จะเข้ามาทำไม เสียเปล่า ถ้าจะแก้ก็พยายามทำให้ พอแก้ไม่สำเร็จเพราะมีการต่อต้าน จนเจ้าหน้าที่ทำไม่ได้ก็มาโทษผมอีกว่าเสียเปล่า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะไม่เสียเปล่า

@ ชี้หากไม่ยอมรับรธน.ต้องทำใหม่ 

       เมื่อถามว่าการจะตัดสินใจทำประชามติหรือไม่ จะต้องประเมินจากอะไรหรือต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องรอประเมินดูจากสถานการณ์ วันนี้การร่างยังไม่ไปไหนเลย ถ้าตกลงกันเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไรกัน สามารถทูลเกล้าฯได้ มันก็จบ โปรดเกล้าฯลงมาก็เลือกตั้ง แต่เมื่อเถียงกันมากๆ เดี๋ยวค่อยว่ากันว่าจะทำอย่างไรต่อ มีอยู่สองอย่าง ไม่งั้นก็ต้องล้มกันทั้งหมด เริ่มใหม่ เอาไง ก็ไปเลือกกันมา ถ้าล้มทั้งหมดก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น 

      เมื่อถามว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องล้มใหม่ทั้งหมด เป็นเพราะสถานการณ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่ หมายความว่ากลุ่มการเมืองจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่รับแล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่รับก็ต้องไปหาทางทำกันมา จะมาถามตนทำไม ต้องไปถามคนที่ไม่รับ เมื่อถามว่ามีแผนสำรองไว้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี ถึงมีก็ไม่บอก ทำไมจะต้องบอกทุกเรื่อง

      เมื่อถามว่า ถ้าล้มใหม่ทั้งหมดจะไม่เป็นการเสียเวลาหรือสูญเปล่าอย่างนั้นหรือ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เสียเวลา เสียสมอง" 

@ เมิน'สุรพงษ์'ประกาศเว้นวรรค

     เมื่อถามว่ามีนักการเมืองพรรคเพื่อไทยบางคน อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ประกาศว่าหากกติกายังไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะขอเว้นวรรคทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ดีสิ ก็ไปสิ ให้เว้นจริงๆ ก็แล้วกัน จะได้เลิกทะเลาะกันเสียที" เมื่อถามว่าจะเรียกมาปรับความเข้าใจอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เรียก มันปรับไม่ได้แล้ว อายุเยอะแล้ว เขาก็คิดแบบเขา จะไปอะไรกันนักหนา แต่ก็ฟังไว้ 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันคล้ายวันเกิดวันที่ 21 มีนาคมนี้ จะไปทำบุญที่ไหน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "อยู่บ้าน อยู่ในกรมนั่นแหละ ไม่ต้องมายุ่งกับผม ผมเกิดคนเดียว ไม่ต้องกวนใคร" 

@ รับหาทางผ่อนกฎอัยการศึก 

      พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า กรณีมีการเสนอให้นำ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักรมาใช้แทนกฎอัยการศึก ว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงเคยใช้หรือยัง แล้วใช้ได้หรือไม่ ที่ผ่านมามีการใช้ทุกอย่างแล้ว ทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทั่งมาถึงกฎอัยการศึกถึงหยุดได้

     "ขอถามว่าจะถอยหลังกลับไปมากๆ ได้หรือไม่ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำก็จะถูกกล่าวหาในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่พอทำไปมีการกระทบกระทั่งกันมากเจ้าหน้าที่ก็เดือดร้อนอีก นั่นล่ะคนไทย อย่าไปคิดเรื่องกฎหมายเลย เดี๋ยวผมจัดการเอง แต่หาทางทำก่อน วันนี้ถ้าประชาชนร่วมมือกันไม่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ต้องออกมาทำงาน การกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนก็จะไม่เกิด ผมทราบดีว่าคนไทยมีอิสระเสรีกันมานาน วันนี้เวลาของรัฐบาลมีอีกไม่เท่าไร 7-8 เดือนเอง ถ้าจะให้ทุกอย่างมันเสร็จแล้วรีบๆ ไป มันก็มีโรดแมปอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

       เมื่อถามว่าจะมีการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี และกฎอัยการศึกก็มีอยู่แล้วในเขตชายแดนภาคใต้ 30 กว่าอำเภอ ยังไม่เคยยกเลิกเลย แต่พอเอามาใช้ตรงนี้หน่อยก็ตื่นเต้นกันสำหรับกฎอัยการศึก ถ้าไม่ทำความผิดไม่ต้องกลัว แล้วจะดูแลให้ซึ่งกำลังหาทางอยู่

@ รบ.รับโพลคะแนนนิยมหด 

         ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ระบุว่าประชาชนไม่มั่นใจรัฐบาลในผลงานด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ ปรองดอง และภาพลักษณ์ในสายตาต่างชาติ ว่าทางรัฐบาลได้รับทราบแล้วและรับฟัง ได้ดูแลการทำงานด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวรัฐบาลติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ขอชี้แจงว่าผลงานด้านเศรษฐกิจนั้นมีผลงานที่ออกมาดีในหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะด้านอุตสาหกรรม หรือการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นต้น ทางรัฐบาลกำลังเร่งรัดงานต่างๆ อยู่ ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกกับผลโพลดังกล่าว 

       "นายกฯยังไม่มีการสั่งการอะไรลงมา คาดว่าในที่ประชุม ครม.วันที่ 17 มีนาคม นายกรัฐมนตรีจะมีการสั่งการต่อไป เราก็ทำงานอย่างเต็มที่ ทางผลโพลก็ให้ความไว้วางใจรัฐบาลในเรื่องความสงบเรียบร้อย ส่วนความไม่สบายใจในรัฐบาลด้านต่างๆ รัฐบาลเข้าใจดี และในส่วนของปัญหาต่างๆ ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว

@ ป.ป.ช.ส่งสำนวน 250 ส.ส.ต้นเม.ย.

      นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดถอดถอนอดีต ส.ส. 250 ราย กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่า อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานและการประสานงานระหว่าง ป.ป.ช.กับ สนช. ต้องดูว่า สนช.พร้อมแค่ไหน หาก ป.ป.ช.ส่งสำนวนเข้ามา สนช.ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน เข้าใจว่าช่วงนี้ สนช.มีงานต้องทำมากมาย แต่ก็จะไม่เกินช่วงต้นเดือนเมษายนแน่นอน 

       นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พท. กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อจำกัดไม่สามารถประชุมกันได้ จึงพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ หรือคุยกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เมื่อ สนช.พิจารณาไม่ถอดถอน 38 อดีต ส.ว. ก็น่าเชื่อว่าจะใช้มาตรฐานเดียวกันนี้กับเรา ยกเว้นในส่วนของคนที่ถูกคดีอาญาด้วย ข้อกล่าวหาของ 38 อดีต ส.ว. กับ 250 ส.ส.เป็นข้อกล่าวหาเดียวกัน เนื่องจากจะต้องมีกระบวนการในการถอดถอน คือต้องไปรับฟังข้อกล่าวหา ไปชี้แจง ไปตอบข้อซักถาม และปิดคดี 

@ อสส.ส่งฟ้องบุญทรงพร้อมพวก

       นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงกรณีนายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. มีความเห็นส่งฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 21 คน กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยไม่ชอบว่า ในวันที่ 17 มีนาคม อัยการจะยื่นฟ้องนายบุญทรงกับพวกรวม 21 ราย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแน่นอน 

       นายวันชัยกล่าวว่า ตามกฎหมายสามารถยื่นฟ้องคดีได้แม้ตัวจำเลยจะไม่มาก็ตาม เหมือนกรณียื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เบื้องต้นทาง อสส.ยังไม่ได้รับการประสานจากสำนักงาน ป.ป.ช.ว่านายบุญทรงกับพวกจะเดินทางมาหรือไม่ ทั้งนี้ หลังจากยื่นฟ้องคดีแล้ว นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในฐานะผู้รับผิดชอบคดีนี้จะแถลงข่าวถึงรายละเอียดเรื่องการยื่นฟ้องคดีต่อไป

@ 'สนช.'ถกคดี'บุญทรงƈเม.ย.

     เมื่อเวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ได้มีคำสั่งบรรจุสำนวนถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พ้นจากตำแหน่ง กรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เข้าสู่วาระการประชุม สนช.แล้ว จะประชุมนัดแรกในวันที่ 2 เมษายนนี้ โดยแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว รวมทั้งแจกจ่ายสำนวนการไต่สวนให้สมาชิก สนช.ได้ศึกษาไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนการประชุมนัดแรก แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ สนช.ยังต้องพิจารณาต่อไป เพราะการถอดถอนยังมีโทษในการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีด้วย

@ คสช.ปัดอุ้มน้องแหวนพยานวัดปทุม

       พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดียว่า น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ "น้องแหวน" พยาบาลอาสา ผู้เป็นพยานปากสำคัญในเหตุการณ์ยิงประชาชนเสียชีวิต 6 ศพ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 โดยถูกทหารนำตัวไปจากบ้านพักใน จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าจากการประสานข้อมูลกับหลายหน่วยในพื้นที่ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารไปขอควบคุมตัวน้องแหวนตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด เพราะปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารต้องการเชิญไปพูดคุยหรือขอเข้าควบคุมตัวจะมีการให้เหตุผลและการแสดงตนชัดเจน เกรงว่าบางกรณีอาจมีผู้ไม่หวังดีไปแอบอ้างเพื่อต้องการให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารอันมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าทุกภารกิจการปฏิบัติใดๆ ของเจ้าหน้าที่จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายก็เท่าที่จำเป็น แบบมีเหตุมีผลอย่างแน่นอน โดยหลักๆ คงจะมีผลกระทบกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายหรือผู้มีส่วนสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น 

       พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้รับรายงานถึงกระแสข่าวดังกล่าวแล้ว และรัฐบาลได้สั่งการไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบว่า น.ส.ณัฏฐธิดาหายไปจริงหรือไม่ หรือไปที่ใด ใครเป็นคนพาไป รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้แต่อย่างใด

@ ทนายห่วงยังไม่รู้ชะตากรรม

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้น้องแหวนยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ไม่ทราบว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปยังสถานที่แห่งใด โดยไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่านำตัวไปสอบสวนเรื่องอะไร อีกทั้งน้องแหวนไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในฐานะทนายรู้สึกเป็นกังวลอย่างมาก เนื่องจากน้องแหวนเป็นพยานปากสำคัญในเหตุการณ์ 6 ศพ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ไม่ทราบว่าถูกนำตัวไปทำอะไร จะปลอดภัยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทหารควรชี้แจงว่านำตัวไปสอบสวนเรื่องอะไร แม้จะอ้างว่าสามารถควบคุมตัวได้ตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วันก็ตาม แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน ควรจะแจ้งสิทธิให้กับญาติและทนายความได้รับทราบ รวมทั้งจะต้องมีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ญาติควรจะต้องทราบว่าถูกนำตัวไปไว้ที่ใดและมีวัตถุประสงค์อะไร จะต้องรอดูว่าหากครบกำหนด 7 วัน ตามกฎหมายแล้วในวันที่ 17 มีนาคม ควรจะต้องได้รับการปล่อยตัว 

@ ชี้กระทบคดีมาร์ค-สุเทพ-6ศพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับคดีสำคัญอย่างไรบ้าง นายวิญญัติกล่าวว่า มีผลกระทบกับคดีอย่างแน่นอน อย่างคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระ

สุเทพ ปภากโร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อช่วงปี 2553 หรือแม้แต่คดีที่ญาติของผู้เสียชีวิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองก็ตาม ในเหตุการณ์ 6 ศพ วัดปทุมวนารามราชวรวิหารถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญของคดีนี้ อีกทั้งน้องแหวนเป็นประจักษ์พยานปากสำคัญ เพราะว่าเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เห็นกระสุนปืนว่ามาจากทางฝั่งไหน อย่างไรบ้าง จะต้องขึ้นเบิกความต่อศาลและทำให้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงในคดีได้

@ เตรียมบุก'ทบ.'ขอคำชี้แจง 

นายวิญญัติกล่าวต่อว่า ทาง กนส.ได้ติดต่อกับทางครอบครัวและคนใกล้ชิดของ น.ส.ณัฏฐธิดา หรือน้องแหวน ทุกคนยังคงยืนยันว่าเป็นทหารอย่างชัดเจนทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาพร้อมกับรถยนต์ 2 คัน เข้ามาคุมตัวถึงบ้านพักในบริเวณ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยบอกกับทางครอบครัวว่าจะนำตัว น.ส.ณัฏฐธิดาไปสอบปากคำ แต่ไม่ได้บอกว่าจะนำไปสอบปากคำในกรณีอะไร และสถานที่ที่จะนำตัวไป พาไปตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม เวลาบ่ายสามโมงเศษๆ ส่วนตัวได้สอบถามหลายครั้งแต่คนในครอบครัวยังคงยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง 

"กรณีโฆษก คสช.ออกมาปฏิเสธ ถือว่าเป็นเรื่องไม่จริง หากต่อมามีหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจนก็อยากให้พิจารณาให้ดีว่าทาง คสช.จะชี้แจงหรือรับผิดชอบอย่างไร ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่" นายวิญญัติกล่าว และว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 มีนาคม) จะเข้าไปที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ในเวลาประมาณบ่ายโมง เพื่อขอให้ใครสักคนชี้แจงเรื่องนี้ ทางญาติต่างวิตกถึงความปลอดภัยของ น.ส.ณัฏฐธิดา กรณีนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายใช้อำนาจเกินขอบเขต

@ 'พลเมืองโต้กลับ'ทำกิจกรรม

      เมื่อเวลา 07.00 น. ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมพลเมืองรุกเดินเป็นวันที่ 3 นับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านการนำพลเมืองขึ้นสู่ศาลทหาร นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ เหยื่อกระสุนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน นายสิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ คนขับรถแท็กซี่ ทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้นิมนต์พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักคิดนักเขียนจากวัดสร้อยทอง พร้อมพระสงฆ์และสามเณรทั้งหมด 5 รูป มาที่ลานปรีดี ทำบุญใส่บาตรในโอกาสครบรอบวันเกิดของน้องเฌอ อายุ 22 ปี ในวันที่ 16 มีนาคม

      พระมหาไพรวัลย์กล่าวให้พรนายพันธ์ศักดิ์และพวกว่า การทำเพื่อประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน อยากให้กำลังใจกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่เชื่อในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ขอให้ระลึกถึง 3 ติไว้เสมอทุกครั้งที่ทำกิจกรรม ได้แก่ สติ ขันติ และสันติ

@ เดินทางไกลไปสน.ปทุมวัน

     เวลา 08.30 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้เดินเท้าออกจาก มธ. ข้ามท้องสนามหลวงเข้าสู่ถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และขึ้นเรือที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศมาลงที่ท่าเรือประตูน้ำ และเดินผ่านห้างเซ็นทรัลเวิลด์มาที่วัดปทุมวนาราม โดยมีนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิต 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม รอให้กำลังใจและมอบดอกกุหลาบสีแดงให้ ทุกคนได้ร่วมกันวางดอกไม้คารวะดวงวิญญาณ 6 ศพวัดปทุมวนาราม 

     เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้เดินมาที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ยืนอย่างสงบนิ่งประมาณ 3 นาที เพื่อรำลึกว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ได้มาจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่สถานที่ดังกล่าว ก่อนถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีขึ้นศาลทหาร จากนั้นเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ สน.ปทุมวัน เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย มีประชาชนประมาณ 20 คน มาให้กำลังใจ

@ ตร.ส่ง4ผู้ต้องหาขึ้นศาลทหาร

       พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.ปทุมวัน กล่าวว่า หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันได้รวบรวมสำนวนและพยานหลักฐานทั้งหมดเพียงพอที่จะยื่นฟ้องต่อศาลได้ ยืนยันว่าไม่ได้เร่งรัดทำคดีเนื่องจากมีระยะการทำคดีถึง 30 วัน

      เวลา 13.10 น. พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ พงส.ผนพ.สน.ปทุมวัน พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุมตัว 4 ผู้ต้องหากลุ่มพลเมืองโต้กลับ ประกอบด้วย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายอานนท์ นำภา นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และนายสิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ ไปส่งต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาร่วมกับพวกที่หลบหนีตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

@ ศาลทหารไม่รับคำร้องฝากขัง

       เวลา 17.20 น. กลุ่มนักศึกษาประมาณ 20 คน ได้มาถึงหน้าศาลทหาร นำโดยนายรัฐพล ศุภโสภณ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), นายนัชชชา กองอุดม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนายรังสิมันต์ โรม คณะนิติศาสตร์ มธ. เพื่อคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร พร้อมผลัดเปลี่ยนกล่าววิจารณ์ทหารผ่านเครื่องขยายเสียงอย่างเผ็ดร้อน นอกจากนั้นยังมีการอ่านกลอน ร้องเพลง "เเสงดาวแห่งศรัทธา" เเละส่งเสียง "พวกเราคือเพื่อนกัน" และ "เรามาทวงเพื่อนเราให้กลับคืน" อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชูป่ายผ้า "ไม่เอาศาลทหาร" และป้ายอื่นที่แสดงการต่อต้านอีกจำนวนมาก

     ต่อมาเวลา 18.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทหารได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ทั้งหมดต่างมี

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!