WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8881 ข่าวสดรายวัน


ยังไม่เข็ด! ไพบูลย์ปฏิรูปสงฆ์ 
ชงสปช.ลุยรื้อมหาเถร จัดระเบียบเงินวัด-พระ ไก่อูแจง'บิ๊กตู่'อสรุป ใช้มาตรา 44 ดันนิรโทษ

       'ไพบูลย์'ไม่เข็ดชง สปช.ปฏิรูปวงการสงฆ์ครั้งใหญ่ เสนอออกกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินวัด-พระ รื้อกฎมหาเถรสมาคม เลิกรวมศูนย์อำนาจ สปช.ตั้งธงไม่เอานายกฯ คนนอก ส.ว.ลากตั้ง เด็กเพื่อไทยจี้กมธ.ยกร่างฯ แก้กติกาให้เป็นปชต. สวนดุสิตโพลเผย 10 เดือนคสช. ประชาชนชี้บ้านเมืองสงบขึ้น ความขัดแย้งลด แต่ยังมีการแบ่งพรรค แบ่งพวก แก้ปัญหาเศรษฐกิจเหลว 'บิ๊กตู่'ได้ฤกษ์นำครม.สัญจรสวนสน 27 มี.ค. 'ไก่อู' ยันนายกฯ ยังไม่คิดใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมสุดซอย แต่หากถึงเวลาต้องตัดสินใจ ก็พร้อม

โพลชี้ผลงาน 10 เดือนคสช.

     วันที่ 22 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการทำรัฐประหาร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ นับเป็นเวลา 10 เดือน ทำให้การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หลายฝ่ายต่างวิจารณ์และจับตามองว่าการเมืองไทยจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน 

     'สวนดุสิตโพล'มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,229 คน ระหว่าง วันที่ 16-21 มี.ค. พบว่าร้อยละ 80.63 ระบุหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง บ้านเมืองสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ร้อยละ 77.87 ระบุประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ร้อยละ 71.93 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 70.55 มีการชี้แจง เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น และร้อยละ 61.75 เป็นการเมืองที่มีทหารเข้ามาบริหารประเทศ มาจากการทำรัฐประหาร 

รัฐเข้มแข็งแต่แก้ศก.ไม่ดี

      จุดเด่นของการเมืองไทยวันนี้ ร้อยละ 79.09 ระบุเป็นรัฐบาลทหาร ทำให้มีความเข้มแข็ง มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ ร้อยละ 74.86 ทำงานรวดเร็ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี โดยเฉพาะปัญหาของประชาชน ร้อยละ 72.82 มีการตรวจสอบมากขึ้น ขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 68.19 เน้นการปฏิรูปการเมืองไทยให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และร้อยละ 65.91 การทะเลาะเบาะแว้งของนักการเมืองลดน้อยลง 

     จุดอ่อนการเมืองไทยวันนี้ ร้อยละ 78.93 ระบุยังขาดความสามัคคี มีความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก ร้อยละ 67.13 ปัญหาทุจริตฝังรากลึกมานาน มุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ ร้อยละ 66.64 อยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึก ถูกปิดกั้น ควบคุมสิทธิเสรีภาพ ร้อยละ 64.93 ไม่มีเสถียรภาพ มาจากรัฐประหารทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ ร้อยละ 63.47 ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น 

ปมขัดแย้งลด-ประเทศสงบ

     เมื่อเปรียบการเมืองไทยวันนี้กับก่อนมีรัฐประหาร ร้อยละ 63.55 ระบุบ้านเมืองดีขึ้นเพราะบ้านเมืองสงบเรียบร้อย นักการเมืองไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ปราบปรามการทุจริต จัดระเบียบสังคม ร้อยละ 26.04 เหมือนเดิม เพราะปัญหาการเมืองไทยแก้ไขยาก ประชาชนยังมีความเป็นอยู่ลำบาก ร้อยละ 10.41 แย่ลง เพราะปัญหาความขัดแย้งยังคงมีอยู่ เพียงแต่ยังไม่ปรากฏชัด ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจแย่ 

      ส่วนบทบาทของนักการเมือง ร้อยละ 76.32 ระบุถูกควบคุมและมีบทบาทลดลง อยู่ในช่วงที่มีคสช.เข้ามาดูแล ร้อยละ 75.67 เป็นที่จับตามองของสังคม มีทั้งนักการเมืองที่ดีและไม่ดี ร้อยละ 73.80 ต้องทำงานมากขึ้น พิสูจน์ตัวเอง มีผลงานเป็นรูปธรรม ร้อยละ 69.24 ยังคงใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ มีการทุจริต ร้อยละ 62.33 นักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนในพื้นที่

'บิ๊กตู่'พร้อมโชว์งาน 6 เดือน

     รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สำหรับการแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ในวันที่ 10 เม.ย.นี้จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากการแถลงผลงาน 3 เดือน โดยสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเตรียมการและส่งข้อเสนอรูปแบบในการแถลงให้กับพล.อ.ประยุทธ์พิจารณาแล้ว โดยจะมีเพียงพล.อ.ประยุทธ์แถลงคนเดียวเท่านั้น ไม่มีรองนายกรัฐมนตรี 5 คนแถลงเหมือนครั้งแถลงรอบ 3 เดือน เพราะประเมินว่าถ้ายังแถลงแบบเดิมทำให้เนื้อหายาวมาก ใช้เวลานาน ซึ่งพื้นที่ของสื่อมวลชนไม่สามารถเผยแพร่และตีพิมพ์หมดได้ภายในวันเดียว จึงเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์พูดเผาหัวเชิญชวนให้ประชาชนติดตามการแถลงผ่านรายการคืนความสุขในวันศุกร์ก่อนจะถึงวันแถลงจริง หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงทยอยแถลงผลงานของตัวเอง

    นอกจากนี้ ทีมงานยังมีข้อเสนอไปยังทุกกระทรวงถึงการแถลงข่าวของแต่ละกระทรวง เพื่อแก้ปัญหาการประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล โดยระบุว่าหากรัฐมนตรีเรียกประชุมอะไรก็ตาม หลังการประชุมรัฐมนตรีต้องแถลงข่าวด้วยตัวเอง ไม่ใช่เดินออกจากห้องประชุมแล้วไม่มีการแถลงข่าว หรืออาจมอบหมายให้ใครแถลง รวมทั้งเสนอให้ข้าราชการการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ช่วยให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนได้ เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลเชิญมาทำงานไม่ได้มานั่งกินเงินเดือนในตำแหน่งเฉยๆ

ได้ฤกษ์นำครม.สัญจร

      รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมนำคณะรัฐมนตรี(ครม.)เดินทางไปประชุมครม.นอกสถานที่ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก(สวนสนประดิพัทธ์) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ หลังเลื่อนมาจากกลางเดือนที่ผ่านมาว่า มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ของทุกหน่วยงาน เพราะถือเป็นครั้งแรกของการประชุมครม.นอกสถานที่ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่ครม.พร้อมกันลงพื้นที่ทุกกระทรวง โดยจะมีการทำกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละกระทรวง เพื่อให้เกิดผลผลิตตามที่ครม.ได้ทุ่มเทให้กับส่วนภูมิภาค ไม่แตกต่างจากการประชุมครม.ปกติที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯจะหยิบยกปัญหาในภูมิภาคมาหารือร่วมกับครม. ขณะที่คนในพื้นที่จะนำเสนอปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ต่อครม.เพื่อให้แก้ไขด้วย

     รอ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้นายกฯได้สั่งการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดนิทรรศการเรื่องงานนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานทางวิชาการของนักวิทยาศาสตร์กว่า 30 ผลงานที่เคยนำเสนอ เพื่อให้ไปออกบูธเป็นงานนิทรรศการที่ควรเผยแพร่ อาทิ เรื่องนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร ซึ่งทางสำนักเลขาธิการนายกฯกำลังประสานหน่วยงานอื่นๆ ให้มาออกบูธแสดงผลงานเพิ่มเติมอีกด้วย จึงขอเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน เข้าเยี่ยมชมนิทรรศ การดังกล่าวที่สวนสนประดิพัทธ์เพื่อนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปขยายประโยชน์ต่อไป

24 มี.ค.เยือนสิงคโปร์

     รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์เตรียมเดินทางเยือนสาธารณ รัฐสิงคโปร์ และเนการาบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค.นี้ โดยการเดินทางครั้งนี้จะมีการหารือถึงความร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งขณะนี้มีความร่วมมือทางทหารและความมั่นคง โดยจะมีการหารือในเรื่องการค้าการลงทุน ซึ่งสิงคโปร์ถือเป็นเจ้าแห่งการบริหารเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นายกฯ เคยระบุว่าจะนำแนวทางของสิงคโปร์มา ปรับใช้ เช่น การตั้งบริษัทเงินทุนต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลนี้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อดำเนินการให้ได้ 

      นอกจากนี้ ยังจะหารือถึงการซื้อขายของ เช่น ผลไม้ ข้าว ต่างๆ แต่เรื่องสำคัญคือเรื่องธุรกิจและการท่องเที่ยวที่จะต้องคุยกัน นอกจากนี้นายกฯ จะได้ขอบคุณรัฐบาลสิงคโปร์ที่ได้มีการประสานงานระหว่างกระทรวงกลาโหมแบบบูรณาการ ทั้งกองทัพที่สิงคโปร์ได้ร่วมฝึก coup tiger ด้วยกัน ส่วนการเดินทางเยือนบรูไนนั้นเป็นไปตามกลไกปกติ ที่จะต้องมีการเยือนและหารือกันอย่างเป็นทางการตามแนวทางบริหารราชการที่ปฏิบัติร่วมกันอยู่แล้ว

ยันนายกฯไม่ใช้ ม.44 พลการ

     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) เรียกร้องให้พล.อ. ประยุทธ์ใช้อำนาจเต็มตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกลุ่มผู้ชุมนุม เหมือนกับสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ เคยออกคำสั่งที่ 66/23 เพื่อประโยชน์สูงสุดในการสร้างปรองดอง ว่า นายกฯ เคยกล่าวแล้วว่าไม่อยากใช้อำนาจอย่างนั้น และไม่คิดตกลงใจใช้อำนาจที่มีทำอะไรเอง มิฉะนั้นจะกลายเป็นทุกอย่างอยู่ในการตกลงใจของนายกฯ เพียงคนเดียว และจะทำให้ท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกว่าคิดเองแล้วตัดสินใจเอง จึงเห็นว่าควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่โดยตรงไปคิดและดำเนินการไปก่อนในขั้นต้น แต่หากมาถึง ขั้นสุดท้ายที่นายกฯ จะต้องตกลงใจอะไร นายกฯ ก็พร้อมพิจารณาและตัดสินใจ แต่ท่านจะต้องมีข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาในเบื้องต้นก่อนว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นอย่างไร มีกฎกติกาอะไรอย่างไร 

    พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ส่วนที่พรรคเพื่อไทยหยิบยกคำสั่งที่ 66/23 ในสมัยพล.อ.เปรมมาใช้อ้างในเรื่องดังกล่าวนั้น มันใช้ด้วยกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน คนละสถานการณ์ ในขณะนั้นไม่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เหมือนกับสมัยปัจจุบัน ดังนั้น ตอนนี้ควรให้ สปช.ทำหน้าที่ของเขาก่อน ซึ่งเรื่องการนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งในบ้านเมือง สปช.จึงต้องคิดหาวิธีการ มุมมอง หรือแนวคิดของเขาก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร ควรทำอย่างไร เพราะอะไร และจะทำครอบคลุมกลุ่มใด อย่างไร

ลั่นกฎอัยการศึกยังจำเป็น

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ขณะนี้อาจมีความพยายามจะเชื่อมโยงเรื่องกฎอัยการศึก เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตนขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ สำหรับกฎอัยการศึกมีไว้เพื่อป้องกันเหตุร้าย และควบคุมคนคิดร้าย ซึ่งนอกจากจะไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของสุจริตชนแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยให้กับทุกคนในประเทศไทย ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดที่สุดประการหนึ่งคือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองมีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง มีจำนวน 11.47 ล้านคน ขณะที่ 6 เดือนหลังของปี 2557 หรือตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านคน เป็น 13.30 ล้านคน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 16.% ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ เพราะคิดเป็นเม็ดเงินที่เข้าประเทศประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

      "อยากทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่ากฎอัยการศึกยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นมาตรการที่เป็นคุณต่อประเทศโดยรวม อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐก็ควบคุมและบังคับใช้กฎอย่างระมัดระวัง และเท่าที่จำเป็น ไม่ได้สร้างความรู้สึกอึดอัดต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์แต่อย่างใด" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

ชงปฏิรูปสงฆ์เข้าสปช.

      นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. กล่าวว่าคณะกรรมการได้ส่งรายงานเรื่อง รายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาต่อสปช.แล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสปช.ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบความเห็นปฏิรูปประเทศไทยด้านอื่นๆ ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่าต้องมีการส่งเสริมให้ศาสนาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาคน สังคม และประเทศชาติให้มีความมั่นคง 

    นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการประชุมหารือกัน 5 ครั้ง พบ 4 ปัญหาสำคัญคือ 1.ทรัพย์สินของวัดหรือของพระสงฆ์ที่ไม่มีการตรวจสอบ หรือการเปิดเผยทรัพย์สิน จนทำให้พระสงฆ์จำนวนมากมุ่งแสวงประโยชน์เข้าสู่ตนเองมากกว่าศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา 2.ปัญหาของสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตาม พระธรรมวินัย จนกลายเป็นความเสื่อมศรัทธา ซึ่งมีสาเหตุจากปัญหาการปกครองของคณะสงฆ์ที่เป็นแบบรวมศูนย์ และการศึกษาคณะสงฆ์ 

     3.การทำให้พระธรรมวินัยให้วิปริตและการประพฤติปฏิบัติวิปริตจากพระธรรมวินัย เช่น กรณีของวัดพระธรรมกายที่มีแนวทางคำสอนที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยที่ร้ายแรง โดยชักจูงประชาชนให้เชื่อว่าบุญคือสินค้า รวมถึงยังมีพฤติกรรมรับเงินบริจาคที่มาโดยมิชอบ ดังนั้นประเด็นที่เกิดขึ้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อชำระการปฏิบัติที่เพี้ยนจากพระธรรมวินัย และ 4.ฝ่ายอาณาจักรต้องสนับสนุน ปกป้อง คุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร โดยการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มีความคล่องตัว

ออกกม.จัดระเบียบทรัพย์สิน

     นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการยังได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาต่อสปช.ดังนี้คือ 1.ให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ โดยอย่างน้อยต้องมีกลไกหลักในการดำเนินงาน คือการจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัด ทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นที่ได้มาจากการดำเนินงานภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล พระสงฆ์ หรือวัดใด การบริหารจัดการทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ของวัดและพระ ควรให้พุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส 


น้องเหลิม - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ทักทายอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นกันเอง ระหว่างเป็นประธานงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.ท.จารึก อยู่บำรุง น้องชาย ที่เมรุวัดบางบอน กทม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค.

      นอกจากนี้ แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะจำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม เพื่ออุดช่องว่างทางกฎหมาย และให้เป็นไปตามธรรมวินัย โดยให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นพระภิกษุให้ตกเป็นของวัดนับตั้งแต่ที่ ได้มา และไม่สามารถจำหน่าย โอน หรือ ทำพินัยกรรมยกให้บุคคลอื่นได้

เล็งรื้อกฎมหาเถรสมาคม

      นายไพบูลย์กล่าวว่า 2.เสนอให้แก้กฎหมายมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ หรือพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในสาระสำคัญคือ การกระจายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ แทนการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยคณะสงฆ์ที่อยู่ในวัดและพุทธ ศาสนิกชนรอบวัดร่วมกันดูแลและกิจการพุทธศาสนา รวมถึงปฏิรูปให้พระสงฆ์ทั่วประเทศมีส่วนร่วมแสดงความเห็นและร่วมกำหนดนโยบายบริหารและกระจายอำนาจจากระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ขณะที่การแต่งตั้งถอดถอนเจ้าอาวาส ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย

      3.ต้องมีกลไกนำหลักปฏิบัติตามพุทธบัญญัติที่ทรงไว้ซึ่งความดี ถูกต้อง และบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนหรือแอบอ้างพระธรรมวินัย และ 4.ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันเหตุการณ์ โดยราชการต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย ทั้งนี้พบว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะศึกษาปริยัติธรรม แผนกบาลี และแผนกธรรมไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขทำให้ค่านิยมในหมู่พระภิกษุ สามเณร และเยาวชนลดลง

'จ้อน'แจงขั้นตอนถกร่างรธน.

      นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.สปช.ทั้ง 18 คณะอยู่ระหว่างเตรียมประเด็นที่จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ ว่าจะอภิปรายในประเด็นไหนบ้าง เนื่องจากนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำชับและมอบหมายให้ กมธ.ปฏิรูป สปช.ทั้ง 18 คณะดูประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีความเห็นเป็นอย่างไรให้ครอบคลุม แต่ส่วนหนึ่งจะมีการอภิปรายเสนอให้บรรจุการปฏิรูปแต่ละด้านไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย 

      นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในชั้นพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรบ้าง เพราะตามรัฐธรรมนูญ สปช. 25 คนสามารถเสนอแปรญัตติเดียวกันได้ใน 1 เรื่องและสามารถเสนอแก้ไขในหลายประเด็น แต่ต้องอยู่ในเรื่องเดียวกัน จากนั้นวิป สปช.จะจัดกลุ่มให้ได้ 25 คนต่อ 1 คำแปรญัตติ

กมธ.การเมืองนัดประชุมที่พัทยา

      นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ในวันที่ 26-27 มี.ค. กมธ.จะไปสัมมนาที่พัทยา จ.ชลบุรี เพื่อสรุปว่าจะมี ข้อท้วงติงหรือมีความเห็นอย่างไรต่อเนื้อหารัฐธรรมนูญร่างแรกของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ไปเป็นแนวทางการอภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุมสปช. ระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย. ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะเซ็นชื่อแปรญัตติและแสดงความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน สอดคล้องกันทั้งหมด จะไม่มีการคัดค้านกันเอง 

     นายดิเรก กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกันประเด็นที่ กมธ.เห็นตรงว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรม นูญของ กมธ.ยกร่างฯ มี 3-4 ประเด็น ได้แก่ 1.การให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง 2.การเลือกตั้งระบบเยอรมัน 3.การมี ส.ว.สรรหาทั้งหมด 4.การไม่ให้ส.ส.ต้องสังกัด พรรคการเมือง เพราะประเด็นเหล่านี้ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองวิจารณ์กันมาก 

ค้านนายกฯคนนอก-ส.ว.ลากตั้ง 

      สมาชิก สปช.กล่าวว่า กรณีที่นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งนั้นถือว่าไม่อยู่ในรูปแบบการปกครองระบบประชาธิปไตยสากล 3 ระบบที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ คือ 1.ระบบรัฐสภา 2.ระบบประธานาธิบดี 3.ระบบกึ่งประธานาธิบดี จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ยาก จะไปบอกว่าเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบใด ขณะที่การเลือกตั้งระบบเยอรมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก สปช.เองก็ยังไม่เข้าใจ เอาเข้ามายิ่งเลอะเทอะใหญ่ อย่าไปทำให้วุ่นวาย จะไปกันใหญ่ เรื่องเหล่านี้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองไม่เอาด้วยเลย 

     นายดิเรกกล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองเป็นห่วงร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ หากรูปลักษณ์ยังออกมาในลักษณะเช่นนี้ และสุดท้ายแล้วมีการโหวตผ่านให้ออกมาบังคับใช้ ก็น่ากังวล เพราะจะเกิดปัญหาการไม่ยอมรับ มีการเรียกร้องและเคลื่อนไหวให้แก้รัฐธรรมนูญ และจะมีอีกกลุ่มคัดค้านไม่ให้แก้ไข จนเกิดความวุ่นวายตามมา ในที่สุดจะซ้ำรอยเข้าสู่วงจรเดิม มีการรัฐประหาร กันอีก ดังนั้น เมื่อมีการทักท้วงกันมากๆ กมธ.ยกร่างฯ ควรพิจารณาว่าอะไรที่แก้ไข ได้ก็ควรแก้ จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งตามมาในอนาคต กมธ.ปฏิรูปการเมืองไม่อยาก เห็นรัฐธรรมนูญเป็นตัวสร้างปัญหาความ ขัดแย้งอีก 

'วินธัย'โต้'จารุพงศ์'พูดลอยๆ

      ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเลขาธิการองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิไตย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่นั้นผิดหลักกติกาสากล เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญคือคนที่ คสช.ตั้งขึ้นมา แต่หลักการประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา ทำให้มีเจตนาจะกดขี่ประชาชนโดยอำนาจเผด็จการว่า ต้องทำความเข้าใจว่า คสช.เป็นผู้อนุมัติตามขั้นตอน นายจารุพงศ์พูดในลักษณะลอยๆ และไม่ศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะที่มาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรม นูญนั้นมีตัวแทนที่มาจากหลายภาคส่วนเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งรวมถึงตัวแทนจาก สปช.ที่คัดเลือกกันเอง ทั้งนี้ ต้องศึกษาว่าการคัดเลือก กมธ.ยกร่างฯ ก็มีรายละเอียดที่มา และเชื่อว่าสังคมให้การยอมรับ 

      "มุมมองของนายจารุพงศ์มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เช่น สปช.จังหวัด ก็เป็นตัวแทน ในส่วนของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มาจากองค์กรบริหารงานภายในจังหวัดที่มีความน่าเชื่อถือ และมีระบบการคัดเลือกเป็นที่ยอมรับได้ คสช.เป็นเพียงองค์กรสุดท้ายที่เป็นผู้อนุมัติตามขั้นตอนเท่านั้น และทุกกระบวน การการคัดเลือก กมธ.ยกร่างฯ ต้องผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนต่างๆ ที่สังคมให้การยอมรับ" พ.อ.วินธัยกล่าว

เด็กพท.หวังพึ่งแม่น้ำ 3 สาย

      นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่าขณะนี้ผู้มีสิทธิขอแปรญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีอยู่ 3 ส่วน คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ครม. และคสช. เชื่อแม่น้ำ 3 สายนี้คงได้สดับตรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งจากภาคการเมือง นักวิชาการ รวมถึงผู้สันทัดในระบอบการเมืองการปกครองแล้ว หากยังไม่รีบแก้ไข เชื่อว่าปัญหาจะเกิดขึ้นตามมาไม่รู้จบ เพราะเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แต่ยังจะนำกติกาที่คนไม่ยอมรับมาใช้ จะกระทบไปถึงการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจ ที่สำคัญภาวะความปรองดองของคนในชาติจะไม่เกิดขึ้น

      นายสามารถ กล่าวต่อว่า ขณะที่กมธ. ยกร่างฯก็อย่าดื้อรั้น ยอมให้เสียของเอง ดังนั้นอะไรที่ต้องแก้ไขก็ควรที่จะรับฟังและทำตาม เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะนำไปสู่การถามหาความรับผิดชอบของผู้ร่าง ทั้งนี้ เชื่อว่าแม่น้ำทั้ง 3 สายซึ่งมีอำนาจที่จะแก้ไขและทบทวน จะได้ทักท้วงและเสนอประเด็นที่จะแก้ไข ขอฝากความหวังไว้ที่แม่น้ำทั้ง 3 สายนี้ ที่จะช่วยสร้างความชุ่มฉ่ำให้เกิดขึ้นกับประเทศ หากยังฝืนกระแสต่อไป ปัญหาจะบานปลาย สุดท้ายการปฏิรูปที่ทุกฝ่ายคาดหวังคงจะไม่สำเร็จดังหวัง

จี้แก้ไขให้เป็นปชต.

      ส่วนนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณารัฐธรรมนูญครบทุกมาตราภายในเดือนมี.ค.นี้ว่า หากยังไม่มีการแก้ไขในหลายๆ ประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่องที่มาของนายกฯคนนอก หรือส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มีอำนาจล้นฟ้าเหนือประชาชน หรือแม้แต่การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ไปจนถึงสมัชชาพลเมือง ซึ่งจะกลายเป็นองค์กรซ้อนองค์กร อำนาจซ้อนอำนาจ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นจุดอ่อนของร่างรัฐธรรม นูญฉบับนี้ทั้งสิ้น หากกมธ.ยกร่างฯยังไม่แก้ไข รับรองว่าความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่มีทางจบสิ้น 

      "เราจะอยู่ได้ขึ้นกับความเชื่อมั่นของ นักลงทุนต่างชาติ แต่เมื่อประเทศยังไม่ กลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย แถม ยังร่างรัฐธรรมนูญที่ลิดรอนอำนาจประชาชน แบบนี้ เศรษฐกิจประเทศคงฟุบอีกนาน ดังนั้นต้องรีบกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจาก การทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว เหล่านี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ กลับเข้ามาค้าขาย มาลงทุนกับเราอีกครั้ง" นายวรชัยกล่าว

'เหลิม'รอชำแหละเป็นฉาก

      เวลา 17.00 น. ที่วัดบางบอน เขตบางบอน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานพระราชทานเพลิงศพพ.ต.ท.จารึก อยู่บำรุง สารวัตรจราจร สภ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทร สาคร น้องชายที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยในงานมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเดินทางมาร่วมงาน อาทิ นายอดิศร เพียงเกษ นายสมหวัง อัสราษี พร้อมแขกเหรื่อและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.สมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง ญาติและประชาชนจำนวนมาก

      ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงสถาน การณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า อย่าเพิ่งมาถามเรื่องทางการเมืองเลย ตนยังไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งนั้น ปล่อยให้รัฐบาลทำงานกันไป ตอนนี้ขออยู่นิ่งๆ ก่อน รอให้กมธ.ยกร่างฯออกมาเห็นเป็นรูปเป็นร่างก่อนแล้วตนจะออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญให้ฟังเป็นฉากๆ เลย สำหรับสุขภาพของตนในช่วงนี้ไม่มีปัญหาใดๆ สดชื่นดี ออกกำลังกายด้วยการเดินได้เป็นกิโลๆ เหมือนเดิม 

แขวะปชป.ไม่พัฒนา

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกพรรคประชา ธิปัตย์(ปชป.) วิจารณ์พรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่านพ.วรงค์ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ ตอนพรรคประชา ธิปัตย์เป็นรัฐบาล ไม่เคยทำให้เศรษฐกิจดีได้เลย จนประชาชนเบื่อหน่าย เลือกตั้งกี่ครั้งก็แพ้ตลอด จนสุดท้ายก็ไม่ยอมลงเลือกตั้ง และอาศัยขบวนการนอกประชาธิปไตยออกมาล้มรัฐบาล จึงเป็นสาเหตุของความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันนี้ อยากให้นพ.วรงค์และพรรคประชาธิปัตย์พัฒนาแนวคิดในเรื่องนโยบายให้เทียบเท่ากับพรรคเพื่อไทย จะได้ไม่ต้องอาศัยอำนาจนอกระบบอีก ประชาธิปไตยของไทยจะได้พัฒนา 

     นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะ ในประเทศเท่านั้นที่สงสัย ต่างประเทศ ก็ยังสงสัยเช่นกัน โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ จึง อยากให้สังคมพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ เช่น 1.คดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.)ที่เอาสมบัติของชาติไป ขายถูกๆ โดยมีการออกกฎหมายให้ผู้ทำ กำไรไม่ต้องเสียภาษี ทำไมปล่อยให้หมด อายุความ 

ข้องใจหลายโครงการเงียบ

      รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า 2.โครงการไทยเข้มแข็งกว่า 400,000 ล้านบาท มีใครจำได้บ้างว่าทำอะไรไปบ้าง เป็นความเสียหายหรือไม่ ทำไมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไม่ดำเนินการ และกระทรวงการคลังไม่ออกมาเรียกร้องความเสียหาย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเงินกู้มิยาซาว่าในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ประชาชนจำไม่ได้ว่าใช้ไปทำอะไรบ้าง

      3.คดีข้าวในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสมากกว่าสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ทำไมไม่มีการดำเนินการ 4.ความเสียหายด้านพลังงาน ทั้งโครงการปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย และออยล์ แซนด์ ในประเทศแคนาดา มูลค่าเป็นแสนล้าน ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใครจะต้องรับผิดชอบ 5.โรงพัก 396 แห่งที่สร้างไม่เสร็จ ทุจริตการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะ ทำไมยังไม่มีการดำเนินคดี นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น จึงอยากให้มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว เพื่อประเทศไทยจะได้ชื่อว่ามีกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!