WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สภาลูกเมียสปช.สูตรใหม่ ตั้งญาติไขว้ แลกโควตา'ผู้ช่วย-กุนซือ' ศรีสุวรรณปูด-เตรียมแฉ 'วิษณุ'ยันไร้เลือกตั้งปี 58 'บิ๊กป๊อก'รับพยานมาร์ค ดึงถวิลสู้คดีลุยม็อบแดง ปิดหมายศาลหน้าบ้านปู 19 พค.ไต่สวน'จำนำข้าว'

  มติชนออนไลน์ :

       'วิษณุ'ชี้'บิ๊กตู่'เข้าใจผิดเลือกตั้งปลายปี เผยแค่ รธน.บังคับใช้ กกต.ยกคำร้องปูทัวร์นกขมิ้นช่วงเลือกตั้ง ก.พ.57 'มาร์ค-กก.ประชาธิปัตย์'หลุดด้วยคดีขึ้นเวที กปปส. 'ศรีสุวรรณ'แฉอีก สปช.หาช่องเลี่ยงสภาครอบครัว ตั้งญาติเป็น'ผู้ช่วยฯ-กุนซือ'ไขว้กัน

@ เสธ.อู้ยันเลือกแบบเยอรมันไม่ยุ่ง

     เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทักท้วงถึงการนำระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมแบบเยอรมนีมาทำให้เข้าใจยาก ว่าระบบสัดส่วนผสมไม่ได้ใช้ในประเทศเยอรมนีเท่านั้นที่ใช้มา 66 ปีแล้ว มี 9 ประเทศทั่วโลกใช้ระบบนี้ ไม่ได้มีความซับซ้อน ข้อดีของระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.ตามความนิยมของประชาชนไม่เกิดความยุ่งยาก และยังไม่เห็นว่าระบบนี้จะไม่ดีอย่างไร เพราะการกำหนดเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นการซื้อเสียงก็ยากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยเพราะยังยึดติดเรื่องเดิมๆ พอเกิดการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ยอมรับ

     "อีกทั้ง ระบบบัญชีรายชื่อ 6 ภาคให้จัด 6 บัญชี มี ส.ส. 200 คน คล้ายกับการแบ่งบัญชีรายชื่อใน 8 กลุ่มจังหวัดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่การกำหนดให้ใช้บัญชีรายชื่อ 6 ภาคจะทำให้ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าใช้เขตประเทศ" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า ระบบนี้จะไม่ทำให้พรรคการเมืองใดเสียเปรียบ และทำให้พรรคขนาดเล็กได้ ส.ส. และเกิดรัฐบาลผสม แต่สิ่งที่น่ากังวลในระบบสัดส่วนผสม คือการกำหนดให้ได้คุณสมบัตินักการเมืองที่ดี ถ้านักการเมืองตั้งใจพัฒนาตนเองก็จะทำให้ประชาชนเลือกตามบัญชีที่ได้เลือกไว้ ทุกประเทศใช้ระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

@ กมธ.ยกร่างฯพร้อมปรับแก้รธน.

      พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิด หรือโอเพ่นลิสต์ ว่าระบบนี้ให้อำนาจประชาชนจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ลงในระบบบัญชีรายชื่อเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิจัดผู้สมัครมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาให้อำนาจพรรคการเมืองกำหนดตัวผู้สมัคร โดย กมธ.ยกร่างฯพร้อมรับฟังความเห็น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ประชาชนจัดบัญชีผู้สมัครก็พร้อมยกเลิกได้ 

     "ที่ สปช.เตรียมชำแหละระบบสัดส่วนผสมและระบบโอเพ่นลิสต์นั้น ขอยืนยันว่าไม่มี สปช.ชำแหละประเด็นนี้ จะมีแต่แสดงความเห็น ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯพร้อมจะรับฟังทุกความเห็น ถ้านำไปใช้แล้วล้มเหลวก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ กมธ.ยกร่างฯจะรับฟังความเห็น สปช.ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การปรับแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์กับประชาชน" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า กรณีที่พบว่าในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญมีพรรคการเมืองฝากประเด็นที่ต้องการแก้ไขมายัง สปช.ให้ช่วยอภิปรายและหวังผลให้แก้ไขหรือเสนอญัตติแก้ไขนั้น ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญรู้ทันอยู่แล้ว แต่ไม่มีปัญหาอะไร กมธ.ยกร่างฯพร้อมรับฟัง หากไม่ได้ฝากประเด็นมากับ สปช. และนำเสนอด้วยตนเองพร้อมรับฟัง และรับไปพิจารณาเช่นกัน

      "เชื่อว่าการฟังความเห็นของ สปช.และฝ่าย หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง กว่า 230 คน จะดีกว่าฟังเพียงความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯจำนวน 36 คน จะนำไปสู่การแก้ไขแน่นอน เพื่อเป็นประโยชน์และสร้างประชาธิปไตยของประชาชน" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

@ ปื้ดแนะ'ประสงค์'อย่ายึดติดรธน.เก่า 

     ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในทางลบว่า การแสดงความคิดเห็นทางคณะ กมธ.ยกร่างฯยินดีรับฟัง แต่ต้องชี้แจงว่าเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตนได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนและชื่นชม น.ต.ประสงค์ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางคณะ กมธ.ยกร่างฯต้องทำสิ่งที่เหมาะสมให้เข้ากับสถานการณ์ จะไปยึดติดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 ไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดเขียนบัญญัติเรื่องการปฏิรูปประเทศและการปรองดองเอาไว้เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น จำเป็นต้องเขียนเรื่องการปฏิรูปและการปรองดองเอาไว้ เนื่องจากปัญหาของประเทศในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ได้ร้ายแรงเท่ากับปัจจุบัน

     "ยืนยันว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงจากทุกภาคส่วน แต่ปรากฏว่าเสียงที่ดังมากที่สุดขณะนี้กลับเป็นเสียงของนักการเมืองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนผู้ได้ประโยชน์ คือ พรรคการเมืองขนาดกลางกลับไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไร ผิดกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ออกมาวิจารณ์ แต่ถึงอย่างไรเราก็รับฟังความคิดเห็น" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ ชี้เขียนรธน.กันระบบอุปถัมภ์ 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญมายังไม่เห็นมีใครสนใจและพูดถึงการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่และการปฏิรูปที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทุกคนสนใจแต่วิธีการเข้าสู่อำนาจของตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร มีบางฝ่ายแสดงความคิดเห็นว่าการให้ประชาชนจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้นเป็นการตัดสิทธิประชาชน คงต้องถามกลับไปว่าคิดอย่างนั้นได้อย่างไร

      เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ไขปัญหาการส่งนอมินีลงเลือกตั้งของพรรคการเมืองบางพรรคได้อย่างไร นายบวรศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ คือ วัฒนธรรมทางการเมือง การเขียนรัฐธรรมนูญจะไปแก้ไม่ให้คนยอมขายเสียงคงไม่ได้ เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ระบบอุปถัมภ์หมดไปก็คงไม่ได้ หรือเขียนให้คนชอบเลี่ยงกฎหมายไม่เลี่ยงกฎหมายก็คงไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและพฤติกรรมของนักการเมือง ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ต้องสร้างกระบวนการการเปลี่ยนแปลง

@ ย้ำโอเพ่นลิสต์สร้างพรรคเข้มแข็ง

     นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิด หรือโอเพ่นลิสต์ ยืนยันว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองฟังเสียงของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคการเมืองขาดความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ยอมรับหรือไม่ว่าพรรคการเมืองเป็นพรรคของหัวหน้าพรรค ที่มีอำนาจในการสั่งการให้ไปทางซ้ายหรือทางขวาก็ได้

       ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีความผูกพันกับทุกองค์กรจะถือว่าเป็นการซ่อนอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ไว้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็ย่อมต้องผูกพันทุกองค์กรอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศต้องให้มีการผูกพัน เพราะถ้าไม่ผูกพันแล้วเกรงว่ารัฐบาลในอนาคตอาจจะไม่ดำเนินการต่อ

@ ทบทวนวันที่ 12 ไร้แก้หลักการ

   เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุม กมธ.ยกร่างฯ โดยมีนายบวรศักดิ์เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ เป็นวันที่ 12 เริ่มพิจารณาในภาคที่ 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 4 การดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 256 รวมจำนวน 37 มาตรา ส่วนใหญ่ไม่มีการปรับแก้หลักการ มีเพียงปรับถ้อยคำเล็กน้อยเพื่อให้มีความเหมาะสม แต่ทั้งนี้มีบางมาตราที่คณะ กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาทบทวนอีกครั้งในช่วง 60 วันสุดท้าย หลังได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติม เช่น มาตรา 273 ว่าด้วยการดำรงวาระของ ป.ป.ช. ที่ให้ดำรงตำแหน่งได้ 9 ปีเพียงวาระเดียว ซึ่งคณะ กมธ.ยกร่างฯบางท่านต้องการกำหนดวาระของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้สามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 ปี เหมือนคณะกรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น โดยให้เหตุผลเพื่อป้องกันการเกิดระบบอุปถัมภ์และสืบทอดอำนาจ นอกจากนี้ ต้องการกำหนดให้ประธาน ป.ป.ช.ดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด 

    ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 17.20 น. นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 มีนาคม เพื่อพิจารณาทบทวนบทบัญญัติรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ต่อในภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มาตรา 293 

@ "พงศ์เทพ"หนุนทำประชามติ 

     นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีมีการเสนอให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เห็นด้วยที่จะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แม้แต่บุคคลในสภาปฏิรูปหลายคนก็ไม่เห็นด้วย หลายความเห็นบอกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ประเทศมีปัญหารัฐบาลอ่อนแอ เกิดผลเสียกับประชาชน 

     "หากจะทำประชามติควรไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ทางเลือกคืออะไร ต้องมีทางเลือกที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำประชามติเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ประชาชนถูกมัดมือชก หากไม่รับร่างฯคณะปฏิวัติสามารถจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ก็ได้ เป็นการขู่ประชาชนว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้ ก็ต้องมีทางเลือกให้ประชาชนด้วย" นายพงศ์เทพกล่าว และว่า การทำประชามติต้องเปิดให้สังคมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจอย่างอิสระ ส่วนกรณีที่โยนให้นายกฯตัดสินใจจะทำหรือไม่นั้น เข้าใจว่า

     นายกฯสวมหมวกหลายใบ ใบแรกคือนายกฯ ใบที่สองคือหัวหน้า คสช.จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องให้อำนาจการตัดสินใจ

@ "เต้น"ชี้คสช.ไม่อยากทำแต่ต้น

      นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการทำประชามติ ว่าสนับสนุนให้ทำประชามติ แม้ว่าบางฝ่ายจะอ้างว่าถ้าทำแล้วการเลือกตั้งอาจจะล่าช้าออกไปอีก การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ได้มีปัญหาต่อการเลือกตั้งล่าช้าเลย

      "แต่เท่าที่ดูเจตนาของ คสช. ไม่ต้องการให้ทำตั้งแต่ต้น เพราะไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และถ้าหากจะทำคำถามต้องชัดว่า ถ้ารับรัฐธรรมนูญนี้ คือบังคับใช้ แต่ถ้าไม่รับต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใดมาบังคับใช้ให้เกิดการเลือกตั้งไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่าจะไม่มีการทำประชามติ และหากสุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญออกมาในรูปแบบที่กำลังถกเถียงกันอยู่จะลงเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่นั้น มองว่าลงหรือไม่ลงเลือกตั้งนั้นเรื่องเล็ก แต่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่นั้นเรื่องใหญ่" นายณัฐวุฒิกล่าว

@ เชื่อนายกฯไม่กล้าปรับครม. 

     นายณัฐวุฒิ กล่าวถึงกระแสการปรับ ครม.ว่า สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล สิ่งที่ประชาชนรอคอยคือนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม แต่เท่าที่สังเกตรัฐบาลมักจะประกาศในเรื่องใหญ่ๆ แล้วไม่ได้เดินหน้าตามที่ประกาศไว้ อาทิ สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภาษีบ้านและที่ดิน ซึ่งกระทบกับความเชื่อมั่นโดยตรง ส่งผลให้การลงทุนของต่างประเทศมีข้อจำกัด ในประเทศเองไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ไม่มีกำลังในการบริโภค

     "หากพูดถึงการปรับคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นรัฐบาลปกติ ผมเชื่อว่าคงจะมีการปรับไปแล้ว แต่เนื่องด้วยเป็นรัฐบาลจากสถานการณ์พิเศษ ตัวนายกรัฐมนตรีก็คงจะมีโจทย์ให้คิดมากขึ้น เพราะถ้าหากปรับ ครม.ก็เหมือนกับว่ารัฐนาวาของตัวเอง ทำงานขาดประสิทธิภาพในช่วงแรก และผมไม่แน่ใจว่า ถ้าจะมีทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ผู้เชี่ยวชาญคนใดจะสนใจเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาลในยามนี้หรือไม่ เรื่องดังกล่าว แม้จะมีเสียงเรียกร้อง แต่ว่านายกฯคงยังไม่น่าจะปรับ ครม.ในช่วงนี้ หรือถ้าปรับก็คงเน้นหนักไปที่กระทรวงเศรษฐกิจมากกว่า" นายณัฐวุฒิกล่าว

@ ย้ำอัยการศึกไม่ป้องกันเหตุรุนแรง

     นายณัฐวุฒิ กล่าวถึงกฎอัยการศึกว่า ที่ผ่านมาก็เป็นตัวชี้ชัดว่าการมีกฎอัยการศึกไม่ใช่คำตอบว่าจะป้องกันเหตุรุนแรงได้ ดังกรณีระเบิดหน้าศาลอาญา แต่มาตรการที่เข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ในการติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มต้องสงสัยก็อาจจะได้ผลโดยไม่ต้องมีกฎอัยการศึก ทั้งนี้ เหตุที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวหรือลงมือของกลุ่มประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล เพราะว่าไม่มีประโยชน์ที่กลุ่มประชาธิปไตยต่างๆ จะไปสร้างความรุนแรง สร้างเสียงระเบิด สร้างเสียงปืน ให้เกิดขึ้นในยามนี้ 

     "แต่น่าสนใจขึ้นไปอีก ท่ามกลางกฎอัยการศึก ซึ่งรัฐบาลมั่นใจในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับปล่อยให้มีเหตุเกิดขึ้น และจับได้ทันที ขยายผลอย่างรวดเร็ว ก็น่าแปลกใจว่าเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นโดยมือของฝ่ายใดกันแน่ คงไม่กล่าวหาใคร แต่ประชาชนที่ติดตามข่าวสารเขามีสิทธิที่จะคิดแตกต่างจากรัฐบาลได้" นายณัฐวุฒิกล่าว 

      เมื่อถามว่า จากพยานหลักฐานบางส่วนค่อนข้างที่จะชัดเจนว่าเป็นในส่วนของแนวร่วม นปช. นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ยังไม่เห็นพยานหลักฐานใดๆ นอกจากคำกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ ประเภทเส้นทางการโอนเงิน การติดต่อทางไลน์ ไม่มีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันชัดเจนว่ามีน้ำหนัก เมื่อยิ่งเดินหน้าสอบสวนและอธิบายเท่าไหร่ ก็ยิ่งเต็มไปด้วยข้อสงสัย มีการจับกุม และใช้กำลังกับผู้ต้องหาหรือไม่ มีการดำเนินการโดยชอบตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ไปเกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นพยานในคดีหกศพที่วัดปทุมวนาราม

@ ญาติวีรชนค้านนายกฯคนนอก 

      เมื่อเวลา 11.30 น. วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติพฤษภา 35 พร้อมด้วยญาติวีรชนเข้ามายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ เพื่อขอให้ กมธ.ยกร่างฯทบทวนบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

     นายอดุลย์ กล่าวว่า ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่กำหนดผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องเป็น ส.ส. ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯได้ รวมทั้งเกิดความสงสัยของสังคมบางส่วนว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจนั้น ทางคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะเป็นกระทำที่สวนทางกับเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาคม 2535

     "แม้จะเห็นว่า มีความจำเป็น และเหตุผลของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าเพื่อเป็นการผ่าทางตันให้วิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือเป็นบันไดหนีไฟก็ตาม แต่การเปิดช่องกว้างไว้แบบนี้ อาจทำให้นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นได้" นายอดุลย์กล่าว และว่า ขอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนด้วย แต่หาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการวางทางออกสำหรับแก้วิกฤตก็ต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษสำหรับนายกฯที่จะมาจากคนนอก คือ การกำหนดให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ปกติและต้องมีคุณสมบัติที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย

      ด้าน นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ในขั้นตอนแรกยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด โดยยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้

@ บิ๊กป้อมลั่นรบ.ไม่แตกแยก

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวหลังหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เป็นการพูดคุยเรื่องบริหารราชการแผ่นดิน ตนทำงานให้ประเทศชาติ และประชาชน ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ดูแลงานด้านความมั่นคง รวมถึงการดูแลความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ อะไรที่มั่นคงและไม่เกิดความเสียหายก็ต้องช่วยกัน เพื่อให้ประชาชนอยู่อย่างสุขสบายมากขึ้น 

      "มีการเขียนไลน์อะไรต่างๆ โดยนึกตัวละครกันเอาเอง เช่น ให้ผมกับนายกฯมีปัญหากัน หรือผมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ว่าไม่ถูกกัน ทั้งนี้ ผมยืนยันว่าไม่มีอะไรกัน ไม่มีใครขัดแย้งกัน เพราะเราทำงานให้กับประเทศชาติ ขอให้จำไว้ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีแตกแยก มีการพูดคุยร่วมกันเสมอว่าอะไรที่เดินหน้าไปไม่ได้ก็มาดูร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ได้อย่างมีความสุข เกิดความสงบ พร้อมให้ประเทศชาติเจริญต่อไปข้างหน้า อีกทั้งรัฐบาลทำทุกอย่างไม่ได้เลือกทำ" พล.อ.ประวิตรกล่าว

@ ทนายยันมาร์คสั่งลุยม็อบถูกกม.

     เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ และนายราเมศ รัตนะเชวง ทีมทนายความนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. หลังจาก ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับนายอภิสิทธิ์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งใช้กำลังทหารตำรวจสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 เอกสารแก้ข้อกล่าวหามี 47 แผ่น และเอกสารประกอบคำชี้แจง 40 รายการ ประกอบด้วย เอกสารราชการ ภาพถ่าย และแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ชายชุดดำ ซึ่งบรรจุในลังกระดาษจำนวน 6 กล่อง

     นายบัณฑิต กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ขอยื่นคำแก้ข้อกล่าวหา เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่รับทราบข้อกล่าวหาซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 25 มีนาคม การแก้ข้อกล่าวหาจะเป็นการชี้แจงเรื่องการออกคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่าออกคำสั่งอย่างไร มีเหตุผลมาจากไหน 

      "ขอยืนยันว่าคำสั่งทุกคำสั่งออกถูกต้องตามกฎหมาย และระบุชัดเจนว่าการปฏิบัติหน้าที่จะต้องไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่การที่เกิดความรุนแรงเพราะมีกองกำลังติดอาวุธเข้ามา" นายบัณฑิตกล่าว 

@ ยื่นข้อ"บิ๊กป๊อก-ถวิล"เป็นพยาน

      นายบัณฑิต กล่าวถึงกรณีศาลอาญามีคำสั่งชี้สาเหตุการเสียชีวิตในคดีไต่สวนชันสูตร 6 ศพวัดปทุมวนาราม ว่าถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากทหารนั้น มีหลักฐานในเรื่องนี้ว่ากลุ่ม นปช.ได้ยึดกระสุนปืนของทางราชการไปยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐด้วย เพราะมีทหารบางคนที่ถูกยิงโดยกระสุนชนิดเดียวกับกระสุนที่ทหารใช้ 

     "ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ได้ยื่นขอให้ ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่มเติม 2 คนคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอฉ. และนายถวิล เปลี่ยนศรี ในฐานะเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเลขาธิการ ศอฉ. เป็นพยาน เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง สาเหตุที่ไม่ยื่นรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นพยานด้วยนั้น เนื่องจากขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรอง ผบ.ทบ. ซึ่งจะทับซ้อนกับ พล.อ.อนุพงษ์" นายบัณฑิตกล่าว และว่า เชื่อว่าพยานที่นายอภิสิทธิ์ยื่นไปเต็มใจที่จะมาเป็นพยานในคดี และมีความมั่นใจว่าจะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ได้

      ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีขอ พล.อ.อนุพงษ์ เพิ่มเป็นพยานซึ่งขณะนี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเอาคนที่มีอำนาจมาเป็นหลักประกันให้นายอภิสิทธิ์หรือ นายบัณฑิตกล่าวว่า ถ้าคิดอย่างนั้นขอเพิ่มพยานในชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ดีกว่าหรือ แต่ที่ต้องขอเพิ่มพยาน 2 คนนี้เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เมื่อถามว่านายอภิสิทธิ์จะมาชี้แจงด้วยตัวเองเมื่อใด นายบัณฑิตกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการนัดหมายของ ป.ป.ช. โดยนายอภิสิทธิ์ก็พร้อมที่จะชี้แจง ส่วนกรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เชื่อว่าทีมทนายความจะยื่นเอกสารแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ภายใน 1-2 วันนี้

     รายงานข่าวแจ้งว่าวันที่ 26 มีนาคมนายสุเทพ จะเดินทางเข้าชี้แจงต่อป.ป.ช.ด้วยตัวเอง

@ บิ๊กป๊อกพร้อมเป็นพยานให้"มาร์ค"

     พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ยื่นขอให้ ป.ป.ช. สอบพยานเพิ่มเติมในฐานะพยานว่ายังไม่เห็นหนังสือแจ้งมาให้เป็นพยาน และทางนายอภิสิทธิ์ก็ยังไม่มีการประสานมา แต่หากอะไรที่ต้องการความจริงก็พร้อมที่จะร่วมมือ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญคงไม่มีปัญหา

     "หากมีหนังสือเชิญให้ไปเป็นพยานก็พร้อมที่จะไปเพราะไม่มีความลับอะไรและจะพูดไปตามความจริง" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

@ มอบบัวแก้วแจงองค์กรตปท. 

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงองค์การสิทธิมนุษยชนสากลแสดงความเป็นห่วงกระบวนการสอบสวนผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดศาลอาญาว่า ส่งข้อมูลชี้แจงไปยังนายเสกข์ วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนายเสกข์จะแปลเนื้อหาสาระโดยรวมเพื่อส่งให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ การทำหนังสือชี้แจงไปยังองค์การต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการมาโดยตลอด 

      "สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ติดใจองค์กรต่างๆ เพราะทั้งสหประชาชาติ แอมเนสตี้ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามภารกิจ แต่ในเรื่องของข้อมูลข่าวสารอยากให้ให้เกียรติกัน เพราะทางรัฐบาลและทุกส่วนพยายามอธิบายชี้แจงว่ามาตรฐานกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องของกฎหมายเฉพาะใช้เท่าที่จำเป็น และไม่ได้ทำให้ประชาชนไทยรู้สึกอึดอัด ผู้ที่อึดอัดคือผู้ที่มีความคิดแอบแฝงในการกระทำความรุนแรง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว 

     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศาลทหารว่า ได้ชี้แจงไปแล้วว่ามาตรฐานไม่ได้แตกต่างไปจากกฎหมายของพลเรือน ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการของศาลทหารล้วนเป็นคดีใหญ่ ไม่ใช่เรื่องสัพเพเหระ แต่เป็นเรื่องที่มีการก่อเหตุรุนแรง การทำลายความรู้สึกของประชาชนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลเข้าใจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่ออกมาทักท้วง แต่องค์กรเหล่านี้ก็ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการของเราด้วยเหมือนกัน การชี้แจงต่างๆ ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน รัฐบาลและ คสช.พร้อมรับการตรวจสอบไม่มีปัญหาแต่ประการใด 

      "อยากเรียกร้องให้ทุกองค์กรหน่วยงานได้เคารพและให้เกียรติการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไทย และมั่นใจในข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ชี้แจงโดยรัฐบาล มากกว่าการให้ความสำคัญกับแหล่งข่าว หรือการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยที่ไม่อาจยืนยันความถูกต้องได้ ซึ่งหลายกรณีเป็นเรื่องที่เป็นเท็จ ที่หวังเพียงประโยชน์ส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล ดังนั้น องค์กรหรือหน่วยงานระดับโลก ควรระมัดระวังที่จะรับฟังหรือให้น้ำหนักกับข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้ เพราะอาจกระทบความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติ" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

@ "วิษณุ"ถกพลเรือนขึ้นศาลทหาร 

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีผู้เห็นต่างออกมาต่อต้านการที่นำพลเรือนไปขึ้นศาลทหารว่า ได้เชิญทางกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม มาสอบถาม ก็ได้ข้อมูลบางอย่าง และถ้าจำเป็นก็จะชี้แจงเพื่อความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว แต่เวลานี้กำลังดูข้อมูล สถิติ คดี ซึ่งกรมพระธรรมนูญได้จัดเตรียมข้อมูลมาให้ แต่ยังไม่ครบถ้วนจึงได้ให้ทางกรมพระธรรมนูญทำเพิ่มเติมในบางกรณี

     เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการศาลทหารกลับไปใช้ศาลพลเรือน นายวิษณุกล่าวว่า กำลังศึกษาข้อมูลอยู่ ว่าจะหาทางออก จะแก้ไขข้อสงสัยอย่างไร แต่ต้องดูข้อมูลก่อน เพราะได้มาแล้วแต่ไม่ครบ

@ ชี้บิ๊กตู่เข้าใจผิดเลือกปลายปี

      นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุเมื่อวันที่ 23 มีนาคมว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2558 ว่า ไม่ทราบ เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมายถึงรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ในปี 2558 เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงโรดแมปมาโดยตลอด เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรดแมป ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ในปีนี้แน่ 

     "ดังนั้น เวลาจะพูดเผื่อว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ต้องคำนวณถึงความเป็นจริง จะมโนเอาคงไม่ได้ ผมพยายามจะอธิบายให้ฟังแต่พอพูดมากก็บอกว่าทำไมถึงนาน ไม่รู้ เอาเป็นว่าผมจะบอกว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ในปีนี้" นายวิษณุกล่าว

@ วิปสปช.ลั่นเครือญาติต้องออก

     นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ในฐานะเลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิป สปช. กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่ามี สปช.ที่มีการแต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวกันทั้งหมดกี่คน เพราะเมื่อการประชุมวิป สปช.ครั้งที่ผ่านมา ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานว่าหลายฝ่ายยื่นเรื่องเพื่อขอข้อมูลในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่ได้แจ้งรายระเอียดต่อที่ประชุมว่ามีกี่คน แล้วมีใครบ้างที่แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาช่วยงานบ้าง 

       "แต่เมื่อปรากฏรายชื่อเพิ่มเติมมาอีก สปช.ก็ต้องยึดตามแนวทางที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.และมติวิป สปช.ที่ได้วางไว้ ทั้งนี้ ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวจะปรากฏว่ามีรายชื่อสมาชิกมากหรือน้อยก็กระทบต่อภาพลักษณ์ของ สปช.แน่นอน ต้องไม่ลืมว่า สปช.เป็นผู้นำในการปฏิรูป ดังนั้น ประชาชนจึงคาดหวังว่า สปช.จะมีมาตรฐานที่สูงกว่าสภาในอดีต แต่เมื่อมีข้อวิจารณ์ของสังคมสมาชิกก็ต้องปรับปรุงแก้ไข" นายอลงกรณ์กล่าว และว่า ถือว่าเป็นบทเรียนที่ สปช.จะต้องพึงระมัดระวังรวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย การประชุมในวันที่ 26 มีนาคม จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอบถามถึงข้อมูลที่แท้จริง รวมถึงความคืบหน้าหลังจากที่วิป สปช.มีมติออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วว่าสมาชิกได้ปฏิบัติตามมติวิปแล้วหรือไม่อย่างไร

@ สปช.แห่ให้ลูก-เมีย-ญาติลาออก 

       พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สปช.ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึงกรณีที่ปรากฏรายชื่อเป็นหนึ่งใน สปช.ที่แต่งตั้งเครือญาติเข้าดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำชาญการ และผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวจำนวน 4 คน ว่า ตั้งแต่มีข้อท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นผู้ช่วยประจำตัว และทางคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช.ก็ได้มีความเห็นร่วมเพื่อแนะนำให้ออกลาออก ซึ่งในเมื่อสังคมได้ท้วงติงและทาง สนช.ก็มีความเห็นเช่นนั้น ตนฐานะที่เป็น สปช.ก็ได้ให้ทั้ง 4 คนลาออกทั้งหมดไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้วก่อนที่วิป สปช.จะมีมติดังกล่าวออกมา 

     พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ได้ให้น้องชายลาออกตั้งแต่กรณีของ สนช.แล้ว ซึ่งการที่แต่งตั้งให้น้องชายเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เนื่องจากตนเป็น สปช.จังหวัด และยังต้องทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย จึงไม่มีเวลาลงพื้นที่ทำเวทีภาคประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปจึงต้องให้น้องชายที่มีความรู้ความสามารถและยังมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่เข้ามาทำงานดังกล่าวแทน อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ขัดระเบียบของ สปช.แต่ในเมื่อสังคมมองว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ขัดข้อง

      นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช.ด้านอื่นๆ กล่าวว่า แต่งตั้งภรรยาเป็นผู้ช่วยผู้ดำเนินงานประจำตัวคนที่ 3 แต่ในเมื่อสังคมมองไม่ดีได้ให้ภรรยาลาออกไปแล้วตั้งแต่กรณีของ สนช.แล้วเช่นกัน ซึ่งเห็นว่า หากการแต่งตั้งเครือญาติเข้ามาทำหน้าที่แล้วไม่เหมาะสม แม้จะไม่ผิดข้อบังคับแต่ควรจะบอกกันตั้งแต่แรก เพราะมาบอกภายหลังก็เกิดปัญหาเช่นนี้ เพราะทุกคนก็เข้าใจว่า การแต่งตั้งคนใกล้ชิดจะสามารถทำให้ทำงานได้คล่องตัว อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งดังกล่าวจะเหมาะสมหรือไม่ คิดว่าอยู่ที่การทำงานมากกว่า เพราะกรณีของตน ภรรยามาช่วยงานตลอดเวลา 

@ สอบอีกปม-แฉสปช.ตั้งญาติไขว้

      นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยกล่าวว่า นอกเหนือจาก สปช.นำญาติพี่น้อง สามี ภรรยาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน และผู้ชำนาญการประจำตัว ตามที่ส่งรายชื่อถึง ป.ป.ช.นั้น รายชื่อดังกล่าว ตรวจสอบจากนามสกุลที่เหมือนกัน ที่แสดงว่าเกี่ยวโยงเป็นญาติพี่น้องกัน แต่ยังสืบทราบมาว่า สปช.บางคนที่เป็นพรรคพวกกันรู้ถึงการตรวจสอบเช่นนี้ จึงใช้วิธีการแลกเปลี่ยนญาติพี่น้องให้ไปทำหน้าที่กัน ป้องกันการตรวจสอบ เช่น สปช. 2 คน รู้จักกัน คนนี้เอาญาติของของอีกคนมา และอีกคนเอาญาติของคนนี้ไป เรียกว่าแลกเปลี่ยน ไขว้ญาติกัน

      "วิธีการแบบนี้ นึกว่าคนอื่นจะไม่รู้ แต่ผมเริ่มสืบรู้มาแล้วว่ากรณีแบบนี้มีแน่ๆ ตอนนี้ยังรู้ไม่มากว่ามีกี่คน แต่ตรวจสอบไม่ยาก และเชื่อมโยงกันไม่ยาก แม้ว่าทางกฎหมายจะไม่ผิด แต่เป็นเรื่องของจริยธรรมสำคัญของนักการเมืองในยุคปฏิรูป ที่ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างในสังคม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนเขียนกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากยังทำพฤติกรรมแบบนี้ จะให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า สิ่งที่ตัวเองเขียนขึ้นมาจะไม่มีการสอดไส้ หรือวางหมากในเรื่อง

สภาลูกเมียสปช.สูตรใหม่ ตั้งญาติไขว้ แลกโควตา'ผู้ช่วย-กุนซือ'ศรีสุวรรณปูด-เตรียมแฉ

 



นายศรีสุวรรณ จรรยา

     นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยกล่าวว่า นอกเหนือจาก สปช.นำญาติพี่น้อง สามี ภรรยาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน และผู้ชำนาญการประจำตัว ตามที่ส่งรายชื่อถึง ป.ป.ช.นั้น รายชื่อดังกล่าว ตรวจสอบจากนามสกุลที่เหมือนกัน ที่แสดงว่าเกี่ยวโยงเป็นญาติพี่น้องกัน แต่ยังสืบทราบมาว่า สปช.บางคนที่เป็นพรรคพวกกันรู้ถึงการตรวจสอบเช่นนี้ จึงใช้วิธีการแลกเปลี่ยนญาติพี่น้องให้ไปทำหน้าที่กัน ป้องกันการตรวจสอบ เช่น สปช. 2 คน รู้จักกัน คนนี้เอาญาติของของอีกคนมา และอีกคนเอาญาติของคนนี้ไป เรียกว่าแลกเปลี่ยน ไขว้ญาติกัน

http://www.matichon.co.th/online/2015/03/14272515391427251547l.jpg

      "วิธีการแบบนี้ นึกว่าคนอื่นจะไม่รู้ แต่ผมเริ่มสืบรู้มาแล้วว่ากรณีแบบนี้มีแน่ๆ ตอนนี้ยังรู้ไม่มากว่ามีกี่คน แต่ตรวจสอบไม่ยาก และเชื่อมโยงกันไม่ยาก แม้ว่าทางกฎหมายจะไม่ผิด แต่เป็นเรื่องของจริยธรรมสำคัญของนักการเมืองในยุคปฏิรูป ที่ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างในสังคม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนเขียนกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากยังทำพฤติกรรมแบบนี้ จะให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า สิ่งที่ตัวเองเขียนขึ้นมาจะไม่มีการสอดไส้ หรือวางหมากในเรื่อง

     ผลประโยชน์ทับซ้อนของตัวเองเอาไว้ เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นนักการเมืองในภาวะปกติทำไม่ถือว่าแปลก แต่ถ้าเป็นยุคนี้ถือว่าไม่ปกติ" นายศรีสุวรรณกล่าว

      เมื่อถามว่า จะเริ่มตรวจสอบเมื่อใด นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ตรวจสอบอยู่ ต้องเก็บข้อมูลให้ได้มากกว่านี้ก่อน เมื่อพร้อมแล้วจะแถลงข่าวบอกประชาชนทันที

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!